แนะนำ 12 ศิลปินไทยน่ารู้จัก ใน Bangkok Art Biennale 2024

Art
Post on 18 November

เรียกว่าเปิดตัวมาได้เพียงสามอาทิตย์ก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามเลยทีเดียว สำหรับ ‘Bangkok Art Biennale 2024’ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติประจำเมือง ที่เวียนมาบรรจบ ณ กรุงเทพมหานครทุก ๆ สองปี โดยในปีนี้ นอกจากทีมภัณฑารักษ์เขาจะคัดงานดัง ๆ และศิลปินเจ๋ง ๆ จากทั่วโลกมาจัดแสดงในคอนเซปต์ ‘รักษา กายา’ (Nature Gaia) ฟากฝั่งลิสต์รายชื่อของศิลปินไทยเองก็ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน

ซึ่งหลังจากที่หลาย ๆ คนได้ลองไปชมผลงานของศิลปินไทยในงานนี้มาแล้ว ก็น่าจะอยากรู้จักกับเจ้าของผลงานที่ตัวเองเพิ่งเห็นไปมากขึ้น วันนี้ GroundControl เลยขอคัดสรร 12 ศิลปินไทยน่ารู้จัก ใน Bangkok Art Biennale 2024 มาแนะนำให้ทุกคนได้ลองทำความรู้จักพวกเขา เพื่อสำรวจไปพร้อมกันว่า พวกเขาเป็นใคร มาจากไหน และมีแนวทางการทำงาน และเอกลักษณ์เฉพาะตัวอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ตามมาทำความรู้จักพวกเขาไปพร้อมกันเถอะ!

ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ คือศิลปินไทยร่วมสมัยรุ่นใหม่ ผู้มักสร้างงานศิลปะที่เชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ตำนานเก่าแก่ และโลกไซเบอร์ ด้วยสุนทรียศาสตร์แบบดิจิทัล เขาสำรวจจิตวิญญาณและความไม่สิ้นสุด ผ่านการใช้สัญลักษณ์และตำนานเก่าควบคู่กับความเป็นโลกเสมือนจริง ผลงานของศุภวิชญ์สะท้อนถึงความผันผวนของสภาพแวดล้อมและโลกภายในของมนุษย์ สร้างรูปร่างให้กับสิ่งที่ไร้ตัวตนผ่านจิตรกรรมสีน้ำมัน โดยนำเสนอความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนของการดำรงอยู่ในยุคดิจิทัล

ใน Bangkok Art Biennale 2024 ศุภวิชญ์นำเสนอผลงานที่ขยายขอบเขตจากจิตรกรรมสู่สื่ออื่น ๆ โดยผลงานชิ้นสำคัญประกอบไปด้วย ‘Starry Web Regeneration’ ที่เน้นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับโลกดิจิทัลและธรรมชาติ ผ่านการผสมผสานภาพของท้องฟ้า พื้นโลก และเทคโนโลยี ผลงานนี้สะท้อนถึงการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างหนักหน่วง และผลกระทบต่อการรับรู้ทางกายภาพและจิตใจของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ ‘Thumb Centric Cosmology (2024)’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตำนานของชาวไท เล่าเรื่องการถักท้องฟ้าของแมงมุม ซึ่งเชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ ในการสำรวจมุมมองใหม่ของการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบัน

ถวิกา สว่างวงศากุล
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ถวิกา สว่างวงศากุล เป็นศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่เริ่มต้นทำงานศิลปะจากการทำงานจิตรกรรม ก่อนจะต่อยอดสู่ศิลปกรรมแขนงอื่น ๆ เช่น ศิลปะจัดวาง โดยเธอจะเน้นการใช้สื่อผสมที่หลากหลายซึ่งสะท้อนถึงรากฐานจิตรกรรมที่ทรงพลังและเป็นเอกลักษณ์ของเธอ จุดเด่นของเธอคือเรื่องของฝีแปรงลายเส้นชัด หนักแน่น และท้าทายการรับรู้แบบดั้งเดิม สร้างสภาวะให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและกระตุ้นบทสนทนาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

ใน Bangkok Art Biennale 2024 ถวิกานำเสนอผลงานที่สำรวจแนวคิดเรื่อง ‘Girlhood’ ผ่านการใช้ศิลปะจัดวางและการเล่าเรื่อง ซึ่งเน้นความสนุกสนานและการผจญภัยในโลกที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด เธอนำเสนอการค้นหาความสมดุลระหว่างความไร้เดียงสากับความกดดันทางสังคมอย่างลึกซึ้ง ผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังและเสรีภาพของเด็กสาวในการเติบโตและการแสดงออก

ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ คือผู้กำกับภาพยนตร์และศิลปินร่วมสมัยผู้ทำงานศิลปะที่มุ่งเน้นไปยังการสำรวจความตึงเครียด ความขัดแย้ง และความคาดหวังที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัย ผ่านการนำเทคนิคการจัดการภาพและเสียงมาใช้ในการสร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสอย่างแม่นยำ เขายังใช้ประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์มาเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายและทำความเข้าใจอดีตที่ซับซ้อนของประเทศไทยด้วย

สำหรับ Bangkok Art Biennale 2024 ไทกิได้นำเสนอผลงานภาพยนตร์ ‘ฝันทิพย์’ ที่สำรวจจิตวิญญาณของมนุษย์และความเข้าใจร่วมกันในบริบทของประเทศไทย ผ่านการเล่าเรื่องเชิงอภิปรัชญา โดยใช้ภูมิทัศน์แบบความฝันและความทรงจำที่พัวพันกับความบอบช้ำทางจิตใจและการลี้ภัยทางการเมือง ภาพยนตร์ของเขาสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ชมให้ตั้งคำถามต่อเส้นแบ่งที่เลือนลางระหว่างความเป็นจริง ประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณของประเทศ

จิตติ เกษมกิจวัฒนา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

จิตติ เกษมกิจวัฒนา เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปิน ภัณฑารักษ์ และนักการศึกษาอิสระ ผู้ใช้การวิจัยเป็นพื้นฐานในการทำงานศิลปะเป็นหลัก โดยเน้นไปที่การนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์และการเชื่อมโยงกับพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาสร้างผลงานศิลปะผ่านมุมมองแนววัตถุนิยมใหม่

ผลงานของเขามุ่งสำรวจความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความไม่ชัดเจนและการเปลี่ยนแปลงของขอบเขตทางความคิด กระบวนการทำงานของเขาใช้วัตถุและอุปกรณ์กลในการแปลงข้อมูล เพื่อสร้างความทรงจำร่วมและพิจารณาการผสมผสานทางวัฒนธรรมผ่านบทสนทนาและการปะทะขององค์ความรู้ต่าง ๆ

ใน Bangkok Art Biennale 2024 จิตติได้นำเสนอผลงานที่มีชื่อว่า ‘ถักโลกทอแผ่นดิน’ ที่ทำร่วมกับนักรบ มูลมานัส เพื่อพาผู้ชมไปสำรวจช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์สยาม ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อชนชั้นนำและสามัญชนได้เดินทางข้ามสมุทรสู่โลกตะวันตก เพื่อนำสยามเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ผลงานนี้เน้นการเล่าประวัติศาสตร์กระแสหลักควบคู่กับประวัติศาสตร์บอกเล่าของสามัญชน ผ่านการร้อยเรียงเศษเสี้ยวของความทรงจำและเรื่องราวที่ถูกลืมเข้าด้วยกัน

นักรบ มูลมานัส
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

นักรบ มูลมานัส เป็นศิลปินร่วมสมัยผู้ทำงานศิลปะที่ได้แรงบัลดาลใจจากประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย และนำมาผสานเข้ากับเรื่องเล่าระดับโลกผ่านวิธีการคอลลาจ นักรบมักสำรวจและสร้างภาพความทรงจำใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยการนำภาพและถ้อยคำจากอดีตมาต่อกันเป็นเรื่องราวทางเลือกที่ซับซ้อน ผลงานของเขามุ่งชวนผู้ชมให้กลับมาพิจารณาประวัติศาสตร์อีกครั้งในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น สะท้อนถึงการก่อร่างประวัติศาสตร์และความหลากหลายของอดีตในแบบที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

ใน Bangkok Art Biennale 2024 นักรบได้นำเสนอผลงานสองชิ้น ได้แก่ ‘สีทันดรสันดาป’ ที่จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผลงานนี้ได้นำประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์มาผสมผสานกับแนวคิดไตรภูมิและประเด็นสิ่งแวดล้อมในยุค Anthropocene ผ่านประติมากรรมปลาและสื่อผสม อีกชิ้นคือ ‘คางหมู, โลกา, ราหู’ จัดแสดงที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากจารึกและภาพวาดสมัยรัชกาลที่ 3 ในวัดโพธิ์ ผลงานนี้ใช้ภาพเคลื่อนไหวและเสียงร้องจากอุปรากรที่สะท้อนมุมมองของชาวตะวันตกเกี่ยวกับโลกตะวันออก

บู้ซือ อาจอ
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

บู้ซือ อาจอ เป็นจิตรกรชาวไทยเชื้อสายอาข่าที่ศึกษาเรียนรู้การทำงานศิลปะด้วยตนเอง เธอเกิดและเติบโตในครอบครัวคนทรงและช่างฝีมือ และอาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง ของประเทศเมียนมา ก่อนจะต้องหนีออกจากบ้านเกิดเนื่องจากการบุกรุกของทหารและมาเติบโตที่เมืองไทย และนับตั้งแต่อายุ 15 ปี บู้ซือก็เริ่มทำงานศิลปะ เพื่อสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ตำนาน และความเชื่อมโยงทางจิตวิทยาที่ลึกซึ้งระหว่างผู้คนและสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้หญิงในสังคมร่วมสมัย บทบาทของความเป็นแม่ และรากเหง้าของความเป็นชาวอาข่า

เนื่องจากบู้ซื้อมักทำงานจากประสบการณ์ส่วนตัวเป็นหลัก ผลงานของเธอจึงมักจะมีรายละเอียดที่สะท้อนถึงชีวิตส่วนตัว และการสำรวจความทรงจำของชาวอาข่าผ่านการเล่าเรื่องแบบปากต่อปากจากผู้อาวุโสในหมู่บ้านเป็นแกนกลาง และมักสื่อถึงความลึกซึ้งทางอารมณ์และการบันทึกประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชาวอาข่าอย่างลึกซึ้งเอาไว้ด้วย

สำหรับผลงานที่บู้ซื้อทำขึ้นมาเพื่อนำเสนอใน Bangkok Art Biennale 2024 มีชื่อเรียกว่า ‘Amamata the First Mom’ เป็นผลงานจิตรกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นแม่และพลังของผู้หญิงจากตำนานพื้นบ้านของชาวอาข่า โดย Amamata คือชื่อของ ‘แม่คนแรก’ ในความเชื่อของชาวอาข่า ซึ่งถูกยกย่องในฐานะเทพเจ้าแห่งภาวะเจริญพันธุ์และการปกป้องผู้หญิง ผลงานชิ้นนี้จัดแสดงคู่กับงานศิลปะจัดวางที่เล่าเรื่องครัวอาข่า อันเป็นพื้นที่สำคัญที่มีแต่ผู้หญิงชาวอาข่าเท่านั้นที่เข้าไปใช้งาน

ดุษฎี ฮันตระกูล
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ดุษฎี ฮันตระกูล เป็นศิลปินร่วมสมัยที่ทำงานศิลปะในหลากหลายสื่อ ทั้งประติมากรรม เซรามิก ภาพลายเส้น จิตรกรรม และการใช้ข้อความ โดยมักจะสำรวจความสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านกาลเวลา และมีเนื้อหาครอบคลุมในเรื่องของโบราณคดี มานุษยวิทยา ประเด็นทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม รวมถึงการสังเกตระบบนิเวศภายในเมือง ผลงานของเขามักจะมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันและประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งแสดงออกมาอย่างเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความซับซ้อนทางแนวคิด

แรงบันดาลใจในการทำงานของดุษฎีเริ่มต้นจากการเห็นน้องชายผู้ล่วงลับนำไหเซรามิกกลับมาจากวิทยาลัยในสหรัฐฯ เหตุการณ์นั้นทำให้เขารู้สึกถึงพลังของศิลปะและเริ่มทำงานกับดินเหนียวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในปี 2556 เขาก็ได้พัฒนาการใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น ดินเผาและภาษา เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่เชื่อมโยงประสบการณ์ในชีวิตประจำวันกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรม โดยผลงานของดุษฎีได้รับการจัดแสดงในงานนิทรรศการระดับนานาชาติมากมาย

Bangkok Art Biennale 2024 ดุษฎีได้นำเสนองานผลงานที่มีชื่อว่า ‘A Verse for Nights’ ผลงานศิลปะจัดวางที่ตั้งใจจัดวางงานร่วมสมัยสลับกับวัตถุโบราณในตู้จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ โดยมีฟอสซิล เปลือกหอย และชิ้นส่วนเครื่องมือโบราณที่สะท้อนถึงการเดินทางของมนุษยชาติผ่านกาลเวลา การจัดวางเช่นนี้ทำให้เกิดบทสนทนาที่ต่อเนื่องระหว่างประวัติศาสตร์กับปัจจุบัน ซึ่งช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้แก่ผู้ชมในการสำรวจความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเคยถูกมองข้ามในอดีต

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘MARSI’ เป็นศิลปินหญิงชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในผลงานศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสต์-แฟนตาสติก โดยเคยศึกษาด้านวรรณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสและสเปน และทรงได้รับอิทธิพลจากศิลปะยุโรปโดยเฉพาะศิลปะเหนือจริง (Surrealism) ซึ่งส่งผลให้เนื้องานของพระองค์มักจะเน้นความลึกลับและสัจธรรมแห่งชีวิต ความรัก ความชรา และความตาย อันสะท้อนถึงจินตนาการ ความฝัน และตำนานเทพปรัมปรา

หม่อมเจ้ามารศีฯ ได้ร่วมงานกับศิลปินสำคัญอย่างซัลบาดอร์ ดาลี และได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินหญิงเช่น โดโรธีอา แทนนิง และเลโอนอร์ ฟีนี โดยผลงานของท่านมักสื่อถึงบทบาทของผู้หญิง ความสุขทางเพศ และความโดดเดี่ยว ซึ่งผสานกับภาพสัตว์ในตำนานและสิ่งมีชีวิตเหนือจริงที่สวมหน้ากาก ผลงานศิลปะที่นำเสนอในงาน Bangkok Art Biennale 2024 จะเน้นธีมเรื่องการเคารพบูชาพระแม่ธรณีและเทพีไกอา ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของธรรมชาติและการให้กำเนิดในมุมมองเชิงจิตวิญญาณ

ประสงค์ ลือเมือง
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ประสงค์ ลือเมือง คือศิลปินไทยรุ่นเก๋าผู้เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในจังหวัดลำพูน จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเขาได้เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานด้วยแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตชนบท วัฒนธรรมพื้นบ้าน และการใช้ชีวิตในชุมชน และเน้นการแสดงออกทางใบหน้าและลายเส้นเฉพาะตัว พร้อมกับนำมาประกอบกับแนวคิดปรัชญาพุทธศาสนาและความเชื่อพื้นถิ่น

ต่อมาประสงค์เริ่มหันมาสนใจการสำรวจตัวตนภายใน สะท้อนเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และธาตุทั้งสี่ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิบัติสมาธิที่เข้มข้น เขาใช้กระบวนการทำงานที่ปล่อยให้อารมณ์เป็นตัวนำ ทำให้ผลงานมีความหลากหลาย ทั้งในด้านรายละเอียดที่ปราณีตและอารมณ์ที่ดุเดือดรุนแรง

หนึ่งในชิ้นงานสำคัญที่ประสงค์นำมาจัดแสดงที่ Bangkok Art Biennale 2024 คืองานชุด ‘สังสารวัฏ’ ซึ่งใช้สีขาวดำเป็นหลัก เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความดุดัน แต่ยังคงแฝงความละเอียดอ่อนในทุกองค์ประกอบ งานนี้สะท้อนถึงแนวคิดเรื่องการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสรรพสิ่งในจักรวาล โดยกล่าวถึงการเวียนว่ายในวัฏฏสงสารที่เกิดจากตัณหาและอุปาทาน ซึ่งปิดบังจิตวิญญาณ ประสงค์นำเสนอการฝึกกาย วาจา ใจ เพื่อสร้างความสงบและสว่างในจิตวิญญาณ ช่วยนำพาสู่ความหลุดพ้น

ส้ม ศุภปริญญา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

ส้ม ศุภปริญญา คือศิลปินไทยร่วมสมัยจากเชียงใหม่ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้งศิลปะจัดวาง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ซึ่งมักเป็นงานทดลองเชิงสารคดีที่สะท้อนโครงสร้างสังคมและการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิศาสตร์

ใน Bangkok Art Biennale 2024 ส้มได้สร้างผลงาน ‘แม่น้ำที่เขาไม่เห็น’ ซึ่งเป็นวิดีโอเชิงสารคดีที่พาผู้ชมสำรวจสายน้ำตั้งแต่ลุ่มน้ำสาละวินจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำและถูกบังคับให้ย้ายถิ่นเพราะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่แทรกแซงสภาพแวดล้อมโดยมนุษย์ งานนี้ตั้งคำถามถึงผลกระทบเชิงนิเวศ วิถีชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรธรรมชาติกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ คือศิลปินร่วมสมัยผู้เน้นไปที่การบันทึกสภาพแวดล้อมและปรากฏการณ์ธรรมชาติในชีวิตประจำวัน เช่น ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น และมลภาวะ ผ่านการถ่ายภาพและวิดีโอเพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่มักถูกมองข้าม

สำหรับผลงานใน Bangkok Art Biennale 2024 วิริยะได้นำเสนอผลงานชุด ‘Inhale Exhale’ ซึ่งเป็นภาพถ่ายและวิดีโอที่จัดแสดงในลักษณะจำลองพื้นที่ ให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างละเอียดอ่อน โดยมีองค์ประกอบที่เชื้อเชิญให้ตระหนักถึงสิ่งเล็ก ๆ ที่มองข้ามในชีวิตประจำวัน ทั้งยังจัดวางพื้นที่ให้ผู้ชมรู้สึกสงบและตัดขาดจากโลกภายนอก จนได้ยินแม้กระทั่งเสียงลมหายใจของตนเอง ผลงานนี้เชิญชวนผู้ชมให้เผชิญหน้ากับความทรงจำและความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันที่เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของโลกกว้าง

ณัฐพล สวัสดี
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ณัฐพล สวัสดี คือศิลปินทัศนศิลป์ชาวไทย ที่เริ่มทำงานศิลปะในช่วงแรก ๆ ด้วยการสะท้อนบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของไทย ผ่านการใช้สัญญะและสัญลักษณ์ที่ส่งผลต่อความเชื่อและจิตสำนึกของผู้คน ก่อนจะค่อย ๆ ขยายผลงานให้ครอบคลุมถึงค่านิยมและความเชื่อส่วนบุคคลในประเด็นสังคมปัจจุบัน สำหรับรูปแบบการสร้างงาน ณัฐพลได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยสื่อหลากหลาย ทั้งภาพยนตร์ เสียง ศิลปะจัดวาง และการแสดง

ณัฐพลนำเสนอผลงาน ‘March of the Termite’ ใน Bangkok Art Biennale 2024 เพื่อเปรียบเทียบโครงสร้างทางสังคมของปลวกกับสังคมมนุษย์ ผ่านการศึกษาระบบวรรณะและการสื่อสารของปลวกในโพรงที่ต้องพึ่งพาฟีโรโมนและการโขกหัว ณัฐพลบันทึกเสียงการเคลื่อนไหวของปลวก และนำมาผสมผสานกับบทเพลงมาร์ชกรรมกร ของจิตร ภูมิศักดิ์ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดเรื่องแรงงานและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ในการแสดงสด เขาสวมชุดที่มีลักษณะคล้ายปลวก ตัวทาสีดำและโกนผม ทำท่าโขกหัวเป็นจังหวะ เสมือนปลวกทหาร ที่สื่อถึงการเรียกร้องความเสมอภาคและความหมายใหม่ของเพลง