ZilluStation นักวาดภาพเมือง ผู้อยากให้เมืองที่ดีไม่ได้มีแต่เมืองในจินตนาการ

Post on 24 January

จากเด็กต่างจังหวัดผู้ตื่นตาตื่นใจไปความศิวิไลซ์ในเมืองใหญ่ สู่การเป็นนักวาดภาพเมืองมือฉมังที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด “ชิว-การุญ เจียมวิริยะเสถียร” ศิลปินเจ้าของนามปากกาและเพจ Z i l l u S t a t i o n . ชิว บันทึกความหลงใหลที่มีต่อเมืองที่รักลงบนหน้ากระดาษ จุดเริ่มต้นจากภาพสถานที่เพียงไม่กี่แห่งอย่างวัดพระแก้ว หัวลำโพง เยาวราช ขยายกลายมาเป็นภาพกรุงเทพสุดอลังการ สอดแทรกเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในแต่ละมุมเมืองผ่านลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์

คอลัมน์ IN FOCUS ชวนทุกคนไปรู้จักเรื่องราวของนักวาดภาพเมืองผู้นี้ ผ่านเรื่องราวระหว่างลายเส้นสร้างเมืองที่มากด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ที่แอบชวนให้ทุกคนตั้งคำถามถึงความเป็นไปกับเมืองหลวงของประเทศที่เราอาศัยอยู่

วาดเพื่อความทรงจำ

“เราเป็นชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ เห็นอะไรรอบตัวที่สนใจก็จะพยายามวาดสิ่งที่เห็นเก็บไว้เรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่าอยากจะบันทึกสิ่งรอบตัวเอาไว้ แต่ตอนนั้นไม่มีกล้องถ่ายรูป การวาดรูปเลยเป็นสิ่งเดียวที่บันทึกความทรงจำได้มากที่สุด

เราเป็นคนบ้านนอกมาจากเมืองเล็กๆ ภาคใต้ (จ.ชุมพร) สิ่งรอบตัวคือชนบท ต้นไม้ใบหญ้า บ้านเล็กๆ ไม่กี่หลัง ซึ่งอาจจะไม่น่าสนใจสำหรับเราในเวลานั้น จนได้มากรุงเทพกับครอบครัว จำได้เลยว่าครั้งแรกที่ได้เห็นตึกสูงๆ ของเมืองใหญ่คือตื่นเต้นมาก มันเป็นสิ่งใหม่ในชีวิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บรรยากาศมันแตกต่างจากบ้านเกิดอย่างชัดเจน เราไม่อยากให้ความรู้สึกเหล่านั้นหายไป เลยวาดภาพเมืองที่เห็นตอนนั้นลงไปตามประสาเด็ก เรื่องมุมมองสเกลตอนนั้นคือไม่รู้จักเลย ขอแค่ให้ได้วาดเมืองที่เห็นด้วยตาตอนนั้นให้ได้มากที่สุดก็พอ ความสนใจเรื่องเมืองก็เริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น”

วาดเพื่อค้นหาตัวตน

“สมัยเรียนประถม-มัธยม เพื่อนๆ ก็จะชมว่าเราเป็นคนวาดรูปสวย เหมือนจะมีพรสวรรค์และความสามารถในด้านนี้ และเราเองในเวลานั้นก็รู้ว่าใจมันอยู่แต่กับเรื่องวาดภาพอย่างเดียวแล้ว เลยมุ่งมั่นจะเอาดีทางนี้ให้ได้ จนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ที่ศิลปากร มันก็เลยเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักวาดภาพตั้งแต่ตอนนั้น

แต่พอเอาเข้าจริงๆ เราก็ไปทำงานด้านแอนนิเมชั่นอยู่หลายปี เพราะงานวาดที่เราอยากทำมันหาเลี้ยงชีพได้ยาก ตอนนั้นเลยต้องทำงานในสายอื่นไปก่อน เพื่อหาเงินเป็นทุนตั้งตัวสำหรับตัวเองในอนาคต แต่ก็ยังรับงานวาดภาพประกอบไปด้วย ให้เรายังคงได้อยู่กับสิ่งที่รัก ตัวตนของเราจะได้ไม่หายไป”

วาดเมือง (ในฝัน)

“ในงานวาดภาพเมืองของเรา เราไม่ได้วาดภาพเมืองแค่จากภาพถ่าย เพราะถ้าทำแบบนั้นเราจะวาดได้แค่สิ่งที่เห็นตามความเป็นจริง แต่การวาดภาพของเรานั้นถือว่าเป็นการสร้างเมืองด้วย เพราะว่าเราอยากสร้างเมืองที่น่าอยู่ในแบบของเราให้ทุกคนได้เห็น

เราคิดว่ากระดาษที่เราวาดก็เหมือนกับที่ดินเปล่า เวลาวาดลงไปก็เหมือนเมืองกำลังถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งกว่าที่งานวาดเมืองของเราจะเสร็จก็ต้องใช้ระยะเวลา ก็เหมือนกับเมืองที่จะเติบโตได้ดีก็ต้องใช้ระยะเวลาเช่นกัน งานวาดภาพของเรากับการเกิดขึ้นของเมืองเลยมีกระบวนการที่คล้ายๆ กัน

การวาดของเรามันจะเหมือนการสร้างเมือง หลายๆ อย่างที่เราวาดให้กับเมืองมันก็จะมีจินตนาการของเราผสมลงไป อย่างพวกถนนในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ได้กว้างขนาดนั้น เวลาเรามองด้วย Google Map ถนนเส้นหนึ่งมันเล็กมากๆ จนแทบจะมองไม่เห็น ในงานเราก็จะโอเวอร์สเกลให้ถนนมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำถนนให้ดูโล่งเหมือนรถไม่ติด ให้ผู้ชมมองเห็นว่าหากถนนในกรุงเทพทั้งหมดดูสะอาดตาเป็นระเบียบขึ้นล่ะ จะมีหน้าตาแบบไหน? หรือบ้านบางหลัง ตึกบางแห่ง ที่อาจจะถูกปรับรูปร่างอาคารใหม่ ให้เป็นทิวทัศน์เมืองที่สวยงาม หรือแลนด์มาร์กเด่นๆ ของเมือง เราก็ขยายสเกลให้ดึงดูดสายตาผู้ชม ซึ่งถึงแม้สิ่งเราทำมันจะเป็นการจัดระเบียบเมืองขึ้นมาใหม่ที่ผสมไปกับจินตนาการ แต่มันก็ยังมีความถูกต้องของข้อมูลเรื่องตำแหน่งสถานที่ต่างๆ”

วาดเมืองที่รัก

“ทุกครั้งที่เราไปเห็นเมืองอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ความรู้สึกตื่นเต้นกับที่ได้เห็นผู้คน บ้านเรือนหนาแน่น ตึกสูงๆ ภาพพวกนั้นยังคงเด่นชัดในตัวเราอยู่เสมอ มันเป็นความรู้สึกเดียวกันกับเราในวัยเด็กตอนที่เห็นกรุงเทพครั้งแรก และยังอยู่กับตลอดมา เราก็จะบอกกับตัวเองว่า สักวันจะวาดภาพกรุงเทพให้ได้ แม้ว่าใช้เวลานานแค่ไหนเราก็จะวาด

งานวาดภาพกรุงเทพตอนแรกมันก็เป็นงานที่ไม่ได้มีกำหนดตายตัว เราเริ่มจากวาดสถานที่สำคัญ ในกรุงเทพก่อน อย่าง วัดพระแก้ว หัวลำโพง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วค่อยๆ ขยายออกไปเป็นย่าน เช่น เยาวราช สาทร สิ่งที่ตามมาจากการขยายคือเราต้องทำงานหาข้อมูลมากขึ้น เพราะมันไม่ใช่แค่การวาดสถานที่หนึ่งแบบโดดๆ อีกต่อไปแล้ว บริบทรอบๆ ของสถานที่ก็จะเริ่มมีความสำคัญต่อการวาด ซึ่งตอนทำงานมันมีตั้งแต่หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตไปจนถึงลงไปสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเอง ออกไปถ่ายรูปในย่านนั้น หรือพวกตึกรามบ้านช่องที่เราต้องการเห็นภาพเพื่อช่วยในการวาด พอทำไปเรื่อยๆ เราก็เริ่มนำภาพย่านต่างๆ ที่วาดมารวมกัน ก็กลายเป็นว่าเรากำลังวาดภาพกรุงเทพจริงๆ แล้ว กรุงเทพของเรามันเลยเหมือนจิ๊กซอว์ของงานวาดที่มาจากการวาดทีละแผ่น จากตึก ย่าน บ้าน สถานที่ ค่อยๆ ประกอบเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ของกรุงเทพในปี 2021”

วาดเมือง เพื่อรู้จักเมือง

“ตอนเด็กๆ เราเคยคิดว่ากรุงเทพมันดูเพอร์เฟ็กต์ไปหมด หลายๆ สิ่งที่กรุงเทพมี มันเป็นสิ่งที่ต่างจังหวัดไม่มี แต่พอโตขึ้นแล้วย้ายมาอยู่กรุงเทพ เราว่ากรุงเทพก็มีหลายสิ่งที่ขาดอยู่เหมือนกันเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในต่างประเทศที่เราเคยไปมา ซึ่งการได้วาดภาพกรุงเทพทำให้เรามองเห็นรายละเอียดตรงนี้มากขึ้นกว่าเดิม หลายๆ ครั้งเราก็เกิดคำถามตอนวาดว่า จริงๆ กรุงเทพมันดีขึ้นกว่านี้ได้ไหม ถ้าปรับตรงนั้นหรือแก้ไขตรงนี้ มันอาจจะน่าอยู่กว่าที่เป็นอยู่ก็ได้นะ อย่างภาพจินตนาการที่ใส่ลงไปในภาพวาดเมืองของเราก็สะท้อนที่มาจากคำถามพวกนี้ ซึ่งพอมันมาจากจินตนาการเราจะใส่อะไรเพิ่มเติมลงไปก็ได้แล้วแต่ผู้วาด แต่ลึกๆ เราอยากให้มันเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขหรือลงมือทำได้จริง เพื่อการเปลี่ยนแปลงเมืองที่ดีขึ้นด้วย”

“เราเชื่อว่ากรุงเทพดีขึ้นกว่านี้ได้ ถ้าได้การสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน มีการวางแผนที่ดี เห็นคุณค่าและประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ เพราะทุกวันนี้ถึงแม้ว่ากรุงเทพจะเป็นเมืองหลวงของประเทศ ที่ทุกคนคิดว่าเจริญที่สุด ดีที่สุดในประเทศแล้ว แต่มันก็ยังมีปัญหาอีกมากที่รอการแก้ไข เมืองควรได้รับการพัฒนาให้ดีไปพร้อมกับประชาชนด้วย เราเชื่อว่าถ้าเมืองดีขึ้น คุณภาพชีวิตทุกคนก็จะดีขึ้นตามไปด้วย”