อาจารย์จุ้ย–ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ : อาจารย์ศิลปะมช.ผู้อยู่ข้างนักศึกษาในการทวงคืนหอศิลป์

Post on 24 January

จริงอยู่ที่เหตุการณ์ทวงคืนหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของนักศึกษามช.ผ่านมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องก็ยังไม่จบ ในแง่ของกฎหมายและประเด็นถกเถียงยังคงดำเนินต่อเนื่องกับคำถามสำคัญที่ว่าอิสระภาพของศิลปะนั้นอยู่ที่ใดภายใต้รัฐเผด็จการ

แต่ถ้าถอยมามองไกลกว่านั้น ผลกระทบจากประเด็นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รั้วมช.อีกต่อไป เพราะกระแสที่เกิดขึ้นทำให้นักศึกษาทั่วประเทศต่างตั้งคำถามถึงเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงยังเป็นเชื้อไฟทำให้เกิดการผลิตงานศิลปะมากมายเพื่อสื่อสารประเด็นดังกล่าวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จากแรงกระเพื่อมนี้เอง GroundControl จึงตัดสินในเดินทางย้อนกลับไปที่จุดเริ่มเรื่องพร้อมพูดคุยกับ ‘อาจารย์จุ้ย–ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ’ หนึ่งในคณาจารย์ที่ยืนข้างนักศึกษาในวันนั้น เพื่อถามความคิดเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด ก่อนที่ต่อมาบทสนทนาจะพาเราไปไกลจนถึงเรื่องเสรีภาพ ศิลปินที่พ่ายแพ้ต่อกาลเวลาและศิลปะแห่งจิตวิญญานกับการต่อต้านรัฐเผด็จการแห่งยุคสมัย

“มหาวิทยาลัยควรเป็นบ่อน้ำแห่งปัญญา ไม่ใช่สิ่งที่พาสังคมลงเหว”

เท้าความกันสักหน่อย ที่จริงแล้วประเด็นวิวาทะในคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดขึ้นและเป็นที่สนใจครั้งแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนปะทุเดือดอีกครั้งเมื่อเดือนที่แล้วหลังจากมีการตัดน้ำ ตัดไฟ และล็อกประตูรั้วหอศิลปวัฒนธรรมขังนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ราวครึ่งร้อยไม่ให้แสดงงานที่ฝ่ายบริหารลงความเห็นว่ามีเนื้อหาทางการเมือง จนนำมาสู่การที่คณาจารย์และเพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่งต้องนำคีมมาตัดโซ่และดำเนินการแสดงงานต่อ

สุดท้ายเรื่องเกิดการฟ้องร้องและจบที่คำสั่งศาลว่าเด็กวิจิตรศิลป์สามารถเข้าใช้หอศิลป์มช. ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนฝ่ายผู้บริหารที่ทำพยายามเซนเซอร์นั้นเข้าข่ายการ ‘ลิดรอนสิทธิ์’ โดยหนึ่งในคณาจารย์ที่ช่วยดำเนินการทางฝั่งนักศึกษาคืออาจารย์จุ้ย ผู้เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยตรงนั่นเอง

อาจารย์จุ้ย–ศรยุทธ : “ผมเข้าใจว่าระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทยทวีความรุนแรงขึ้นทุกครั้งตั้งแต่มีการรัฐประหาร โดยเฉพาะหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ส่งผลให้พื้นที่สาธารณะถูกกีดกันไม่ให้ประชาชนเข้าถึงหรือแสดงเจตจำนงทางการเมือง หอศิลป์มช.เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะถ้าย้อนกลับไป อธิการบดีของมหาวิทยาลัยก็เป็นหนึ่งในคณะสนช. รวมถึงผู้บริหารหลายคนก็เคยออกมาเป่านกหวีด ดังนั้นกับเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าพูดให้สุภาพผมคิดว่านี่คือความพยายามที่คณะผู้บริหารอยากเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการนะ

“พวกเขาพยายามเป็นหูเป็นตา สอดส่องกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างเข้มข้น ทำให้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาเป็นเหมือนปฏิสภาวะสะท้อนกลับ ยิ่งมหาวิทยาลัยถูกควบคุมอย่างเข้มข้นโดยรัฐมากเท่าไหร่ การใช้พื้นที่เพื่อแสดงออกทางการเมืองโดยนักศึกษาก็มีมากขึ้นเท่านั้น เหมือนหน่ออ่อนที่ค่อยๆ กระพือสะสมฐานจนนำมาสู่กรณีหอศิลป์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้นในมุมผมเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์อย่างเดียวครับ มันรวมถึงนักศึกษาส่วนใหญ่และประชาชนคนนอกที่รู้สึกว่านี่คือพื้นที่ของพวกเขาด้วย ไม่ใช่ของรัฐราชการหรือมหาวิทยาลัยที่อยากเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการไปเสียทุกเรื่อง

“ทุกคนคาดหวังให้มหาวิทยาลัยคือบ่อน้ำแห่งปัญญา ไม่ใช่อะไรที่พึ่งพาไม่ได้ ซ้ำร้ายยังพาสังคมดิ่งลงเหว ยิ่งมหาวิทยาลัยคือจักรวาลย่อยของสังคมที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกัน การเป็นนักศึกษาก็ยิ่งทำให้พวกเขาได้เห็นว่าปัจจุบันโครงสร้างมันบิดเบี้ยว ดับฝันและปิดกั้นจินตนาการขนาดไหน ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ในตอนนี้นักศึกษาต่างตระหนักได้แล้วว่าปัญหาที่พวกเค้าเผชิญอยู่มันเชื่อมโยงกับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ส่งผลให้พวกเขาแสดงออกและทำงานที่พูดเรื่องเหล่านี้อย่างที่เห็น”

“วันใดที่ศิลปินสยบยอม จะเกิดเป็นหน่ออ่อนที่ชื่อว่าความเชื่อง”

ไม่ใช่แค่นักศึกษาหรอก แรงกระเพื่อมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราเช่นกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเหมือนตัวอย่างที่ทำให้คนได้ขบคิดต่อว่าพื้นที่ศิลปะควรเชื่อมต่อกับสังคมอย่างไรกันแน่ ซึ่งกับประเด็นนี้ อาจารย์จุ้ยได้แสดงทรรศนะของตัวเองไว้ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปิน แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่สามารถแก้ไขได้

อาจารย์จุ้ย–ศรยุทธ : “ถ้ามองแค่เฉพาะหอศิลป์มช. สถานที่แห่งนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความต้องการพื้นที่สาธารณะสำหรับการเรียนรู้ของประชาชน ดังนั้นผู้คนต่างรู้สึกผูกพันกับที่นี่อยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่พอเกิดเหตุการณ์ทวงคืนหอศิลป์ ลุงๆ ป้าๆ ชาวเชียงใหม่ต่างนำข้าวปลาอาหารไปสนับสนุนนักศึกษา เพราะพวกเขาต่างมองว่านี่เป็นเหมือนการมอบชีวิตให้กับสถานที่แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ราวกับพวกเขาได้เห็นแสงสว่างส่องออกมาจากอุโมงค์ที่กำลังมืดมิด

“และถ้าถอยออกมามองภาพใหญ่ ผมว่านี่แหละคือนิยามความหมายของคำว่า ‘พื้นที่ศิลปะ’ มันคือพื้นที่ในปริมณฑลชีวิตของใครก็ตามที่สามารถแสดงออกทางความคิดและสุนทรียศาสตร์ได้ ดังนั้นถ้าคิดตามหลักการ ผู้คนก็ควรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จุดนี้เองที่ทำให้หอศิลป์มช.มีความลักลั่น เพราะที่นี่กลับเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย แม้ประชาชนจะรู้สึกเป็นเจ้าของเจ้าของขนาดไหนก็ไม่เคยมีส่วนร่วม ทำให้ระบบระเบียบราชการสามารถเข้ามาคุมความคิดสร้างสรรค์ได้ในที่สุด

“ลองนึกภาพศิลปินที่ต้องทำงานกับจดหมายราชการดู นี่คือขั้นตอนที่ทำให้จินตนาการและชีวิตของผู้คนมอดไหม้จนแทบไม่เหลือ กระดาษแผ่นเดียวที่ประทับตราครุฑกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่ทำให้ศิลปินบางคนสยบยอมจนเกิดเป็นหน่ออ่อนที่ชื่อว่าความเชื่อง ในมุมผมเรื่องนี้ควรเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ศิลปินควรตั้งคำถามตรงไปตรงมาต่อระบอบอำนาจนิยมที่เข้ามากระทบชีวิต รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาคมหรือเครือข่ายของศิลปินเข้ามามีส่วนร่วมจัดการพื้นที่ทางศิลปะ มากกว่าจะให้ตกอยู่ในมือของใครเพียงคนเดียวแบบนี้

“หรืออย่างเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมตระหนักถึงเรื่องนี้มากๆ คือช่วงที่ผมมาเป็นอาจารย์อยู่ที่มช.ใหม่ๆ ตอนนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่อาจารย์หลายคนไปเป่านกหวีด เชื่อไหมว่าช่างซ่อมบ้านไม่ยอมมาทำงานกับผมให้นะ เพราะเขารู้ว่าผมเป็นอาจารย์มช.และคิดว่าผมไปเป่านกหวีดด้วย ผมต้องนั่งคุยกับช่างพักใหญ่เพื่อบอกว่าผมไม่ได้เป็นแบบนั้น สำหรับผมนี่คือหลักฐานอย่างดีเลยว่ามหาวิทยาลัยหรือพื้นที่ศิลปะมีประชาชนเฝ้ามองและคาดหวังอยู่เสมอ มันไม่ใช่แค่เรื่องภายใน แต่มันเชื่อมกับภายนอกอยู่ตลอดเวลา”

“ปัญหาไม่ได้เกิดจากศิลปะแบบจารีต แต่เกิดจากการเอาความเชื่อตัวเองไปทำร้ายคนอื่น”

สำหรับเราอย่างหนึ่งที่น่าสนใจกับเหตุการณ์ทวงคืนหอศิลป์มช. คือการที่ผู้บริหารบางส่วนต่างก็เรียนและทำงานด้านศิลปะ นั่นทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าเหตุใดมุมมองศิลปะของบางคนถึงคับแคบได้ถึงเพียงนี้ ซึ่งความสงสัยดังกล่าวเราก็ได้หยิบยกขึ้นมาสอบถามอาจารย์จุ้ย จนทำให้ได้คำตอบที่ครอบคลุมและเห็นภาพมากขึ้น

อาจารย์จุ้ย–ศรยุทธ : “ต้องเกริ่นก่อนว่าผมโตที่ต่างจังหวัด ตอนเด็กถูกส่งไปอยู่วัดเลยทำให้มีโอกาสได้ซึมซับและเรียนรู้ศิลปะแบบจารีตอย่างจิตรกรรมฝาผนัง เพราะช่วงนั้นมีพระจากที่อื่นมาวาดผนังศาลาวัดให้ เด็กวัดอย่างผมจึงได้ไปเรียนกับท่านด้วย ดังนั้นในมุมมองส่วนตัว ผมคิดว่าศิลปะแบบจารีตมีคุณค่าในตัวเองนะ

"ถึงแม้องค์ประกอบและโครงสร้างทางความคิดของมันจะผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างการวางเฟรมเพื่อแสดงความสูง-ต่ำของชนชั้น การใช้สีหรือสัญลักษณ์ต่างๆ แต่กับตัวเนื้องานถ้าเข้าใจวิธีการมองภาพ เราก็จะทราบว่ามันถูกวางอยู่ในสังคมประเภทไหน แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือรูปแบบการใช้งานของคนบางคนมากกว่า

“ทุกวันนี้กลุ่มศิลปินที่เป็นผู้บริหาร ได้รับการนับหน้าถือตาหรือได้รับการเชิดชูว่าเป็น ‘แห่งชาติ’ มักใช้ศิลปะแบบจารีตในการพิทักษ์โลกใบเดียวของเขาที่คับแคบ โลกที่มีการจัดลำดับความสูง-ต่ำทางชนชั้นผ่านอุดมการณ์แบบชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันเลยเกิดเหตุการณ์ที่คนเหล่านั้นมักเอาความเชื่อของตัวเองไปกีดกันความเชื่อของผู้อื่น ลามไปถึงการใช้ความเชื่อของตัวเองในการสร้างความชอบธรรมและทำร้ายคนที่คิดต่าง นี่แหละคือปัญหาที่จะสังเกตุได้เลยว่ามันไม่เกี่ยวกับศิลปะแบบจารีต แต่เป็นเพราะการนำศิลปะแบบจารีตไปให้ความชอบธรรมกับระบบอุปถัมภ์ มันจึงเกิดเป็นกลไกที่บิดเบี้ยวขึ้นมา

“ในมุมมองผม สิ่งที่สยบความกบฎของศิลปินได้ดีที่สุดคือการให้รางวัลหรือการอุปถัมภ์นี่แหละ นี่คือกลเม็ดของรัฐที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการ สังคมนิยม หรือรัฐใดๆ ที่ต้องการควบคุมจินตนาการทางสังคมของผู้คนมักใช้ อย่างคำว่า ‘แห่งชาติ’ เป็นต้น สุดท้ายพอเวลามันผ่าน ทุกอย่างเลยออกมาบิดเบี้ยวจนเป็นแบบที่เห็นกันในตอนนี้”

“บางงานศิลปะก็ไม่ได้มีศักยภาพในการอยู่ร่วมกับวันเวลาอีกแล้ว”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์การทวงคืนหอศิลป์มช.ของนักศึกษานั้นสร้างผลกระทบต่อวงการศิลปะในหลายๆ ด้าน ซึ่งนอกจากแรงกระเพื่อมเชิงปฏิบัติแล้ว ปฏิกิริยาของศิลปินในวงการต่อเหตุการณ์นี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเช่นกัน เพราะในขณะที่บางคนยึดถือเป็นเรื่องสำคัญและมองว่าการส่งเสียงเพื่อสิ่งที่ถูกนั้นคือสิ่งจำเป็น ศิลปินบางคนกลับเลือกเงียบเฉยหรือไม่เห็นด้วยกับนักศึกษา ในฐานะของครูที่สอนศิลปะ อาจาร์ยจุ้ยจึงตั้งข้อสังเกตุกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อยู่ 2 ประเด็น

อาจารย์จุ้ย–ศรยุทธ : “ประเด็นแรกที่ผมสังเกตุคือศิลปินรุ่นใหญ่หลายท่านมีวิธีคิดแบบหลงยุค แม้พวกเขาผ่านยุคที่ต้องการการยอมรับและผลิตงานเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ แต่พอตัดภาพมาปัจจุบัน บางคนกลับคิดว่าพลังของนักศึกษาตอนนี้เป็นแค่เครื่องมือของผู้ใหญ่ที่ทะเลาะกันเสียอย่างนั้น สิ่งนี้แสดงออกถึงแนวคิดว่าไม่ได้มีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของสังคมในภาพรวมเลย

“คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่ได้เหมือนกับเมื่อก่อนแล้ว เขาไม่ได้จำกัดการรับรู้ของตัวเองอยู่แค่เรื่องเดียว เขาตระหนักแล้วว่าในสิ่งที่เขาสนใจแท้จริงมันเชื่อมโยงกับโครงสร้างภาพรวม มันทำให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่เป็นปัญหามีมากกว่าแวดวงตัวเอง สิ่งเหล่านี้ก็เก็บสะสมมา พร้อมกับความรุนแรงที่ทวีความเข้มข้นขึ้นจากความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคม ทั้งหมดปลุกเร้าให้พวกเขาแสดงออก มันไม่ได้เกิดจากการเป็นเครื่องมือของใครที่ไหน

“ส่วนอีกประเด็นที่ผมสังเกตุในศิลปินรุ่นใหญ่หลายท่านคือช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับปรากฎการณ์ในสังคมไทย เพราะถ้าย้อนดู ศิลปินจำนวนไม่น้อยเลยที่ทำงานศิลปะที่มีกลิ่นไอของสังคมนิยมและแนวทางที่ก้าวหน้า มันคือความโดดเด่นของทศวรรษที่ 90 ที่ศิลปินทำงานเพื่อปากเสียงของชาวบ้าน ซึ่งนั่นทำให้ผมสงสัยนะ ว่าทำไมศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ที่เติบโตมาจากยุคนั้นถึงกลายเป็นกปปส.กัน

“ถ้าถามในมุมผม ผมคิดว่า ‘มันมีความเป็นไปได้’ ที่แท้จริงแล้วงานพวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะเป็นปากเสียงหรือสื่อสารกับชาวบ้านตั้งแต่ต้น ที่พวกเขาทำเพราะแค่อยากสื่อสารกับกลุ่มศิลปะด้วยกันเอง ทำให้พอบริบทเปลี่ยน จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะใช้รูปแบบศิลปะสังคมนิยมในการเชียร์ทหาร มันเลยน่าตั้งคำถามว่าก่อนหน้านี้คนที่ทำงานศิลปะโดยอ้างว่าเพื่อความก้าวหน้า แท้จริงเขาต้องการความก้าวหน้าในมุมของตัวเองผ่านการอุปถัมภ์หรือเปล่า เพราะเท่าที่เห็นมันไม่เคยเป็นความก้าวหน้าของยุคสมัย คุณย่ำอยู่กับที่ด้วยซ้ำ

“พอเป็นแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันศิลปินรุ่นใหม่ Counter Attack ศิลปินยุค 90 จำนวนมาก พวกเขากล้าท้าทายและตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่สื่อสารกับผู้คนในสังคม อะไรกันแน่คือศิลปะที่คุณพร่ำบอกว่าร่วมสมัย ซึ่งในมุมมองส่วนตัว ผมพบว่าศิลปะของคนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการอยู่ร่วมกับวันเวลามากกว่ายุคก่อนนะ หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น ผมคิดว่างานศิลปะจากศิลปินยุคก่อนนี่แหละที่มีส่วนในการฉุดรั้งคนไม่ให้เดินไปข้างหน้า ปัจจุบันมันเลยมีศักยภาพแค่เอาไว้แขวนบนผนังแกลอรี่อย่างเดียวแล้ว”

“งานศิลปะทำให้จิตวิญญานมนุษย์คงอยู่”

ถ้าลองหันไปมองรอบตัวในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อทางการเมืองอย่าวเดียวที่เรียกร้องให้คนเรียนรู้และปรับตัว เพราะไม่ว่าจะเรื่องไหนๆ หรือในวงการอะไร การเรียนรู้ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงล้วนเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นผ่านยุคสมัยทั้งนั้น แต่กับวงการศิลปะเอง อาจารย์จุ้ยมีความเห็นอย่างไรบ้าง นี่คือประเด็นสุดท้ายที่เราหยิบขึ้นมาให้อาจารย์ได้แสดงทรรศนะและสรุปแนวคิด

อาจารย์จุ้ย–ศรยุทธ : “ผมมองว่าโลกหลังปี 2000 มีความเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีค่อนข้างมาก มันเข้ามามีบทบาทสูงในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือการแยกประเภทผู้คนตามวิชาชีพที่น้อยลงไป หลายอาชีพเริ่มไม่ใช่ความถนัดเฉพาะทางอีกแล้วเพราะเทคโนโลยีทำให้ทุกคนมีศักยภาพในการเข้าถึงและทดลองจนสามารถสลายเส้นแบ่งทางความชำนาญการ พรมแดนเดิมเริ่มพล่าเรือน จนสุดท้ายก็ส่งผลการรับรู้และความเชื่อที่มีต่อโลกของบุคคลเปลี่ยนแปลงไป

“จากก่อนหน้าที่มนุษย์ยึดเอาการหาความหมายของชีวิตและการดำรงอยู่เป็นแกนกลางในการรับรู้ความจริง ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายและไม่ยึดติดกับตัวตนเดิมที่สังคมตั้งกรอบไว้ล่วงหน้า ความหมายในการเป็นมนุษย์จึงเริ่มเปลี่ยน มันกลายเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากบุคคลมากขึ้น ทุกคนจึงสามารถเลือกได้แล้วว่าจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งและสร้างสังคมใหม่ได้หรือเปล่า ตรงนี้แหละที่ผมว่าสำคัญ เพราะถ้าคนยุคเก่ายังตามไม่ทัน หรือยังหลงคิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษที่มีดวงตาที่สามในการรับรู้ความงามมากกว่าชาวบ้าน คุณจะกลายเป็นแค่คนที่พยายามบริกรรมคาถาอยู่ในถ้ำเพื่อเสกไฟ ทั้งที่ข้างนอกถ้ำเขาจุดไฟกันได้หมดแล้ว โลกเคลื่อนไหวไปแล้วแต่คุณกลับไม่รู้ตัวเลย

“ผมคิดว่ามันสำคัญมากนะ ที่คนรุ่นเก่าจะต้องเข้าใจว่าโลกมีหลายใบ ไม่ได้มีแค่ใบเดียวเล็กๆ ที่เขากำลังมีอำนาจ ฐานันดรและอภิสิทธิ์ ในความเป็นจริงเราต่างเป็นคนธรรมดาในโลกของคนอื่นทั้งนั้น ดังนั้นความพยายามจะรื้อฟื้นความเชื่อที่ตามหลอกหลอนหรือพยายามปกป้องโลกของตัวเองเพื่อเกียรติยศศักดิ์ศรี สุดท้ายมันจะเสื่อมสลายไปอยู่ดี เพราะนี่ไม่ใช่โลกใบเดียวที่คุณต้องอยู่

“สำหรับผม ศิลปะมีเสน่ห์ตรงนี้แหละ มันทำให้เราสามารถรักษาจิตวิญญานของตัวเองไว้ได้ เพราะกับชีวิตมนุษย์ด้านหนึ่ง พวกเราต้องอยู่กับระบบระเบียบของสังคมและกฏเกณฑ์ตลอดเวลา พร้อมถูกทำให้สยบยอมและมีแง่มุมในชีวิตที่เชื่องโดยอัตโนมัติ แต่ศิลปะจะเป็นเครื่องมือที่เข้ามากระตุ้นจิตวิญญานของเราเสมอให้โหยหาเสรีภาพ ดังนั้นการที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่แสดงออกอยู่ตอนนี้ มันจึงเป็นการส่งพลังงานแบบนั้นมากระตุ้นจิตใจผมเช่นกัน ทำให้จิตวิญญานที่เคยเหือดแห้งถูกปลุกขึ้นมาและเติบโตไปพร้อมกับพวกเขาโดยไม่มีกำแพงของอายุมากั้น มันเป็น Spiritual Union ที่ข้ามผ่านเจเนอเรชั่นเพื่อการตั้งถามต่อสังคมอย่างแท้จริง

“ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่รัฐเผด็จการกลัว และเราควรรักษาไว้ให้ได้ตราบนานเท่านาน”

เครดิตภาพจาก: ประชาคมมอชอ - Community of MorChor และ artn't