ช่วงเดือนกุมภาฯ - มีนาฯ ที่ผ่านมา ดอกลำไยส่งกลิ่นหอม และนักร้องลำไย ไหทองคำ ก็มีข่าวเรื่องความสัมพันธ์อยู่เต็มอินเตอร์เน็ตเมืองไทย เรารับรู้เรื่องราวของเธอแบบผสมปนเประหว่างความเป็น “ข่าว” กับ “ความบันเทิง” จนแทบจะแยกไม่ออก และช่วงนั้นเองเราก็ได้คุยกับ ‘อุบัตย์สัตย์’ ศิลปินจากเชียงใหม่ ผู้ทำนิทรรศการว่าด้วยปัญหาแม่น้ำโขงที่ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ผู้นิยามตัวเองว่าเด็กวัด และชาวสวนคนหนึ่ง (ซึ่งเขาบอกว่ายังไม่ถึงขั้นเป็นเกษตรกรรายย่อยด้วยซ้ำ) ว่าด้วยผลงานชุดหนึ่งของเขา ซึ่งมีชิ้นเด่นเป็นภาพเรื่องแตงโมในข่าว — ใช่ แตงโมทั้งที่เป็นผลไม้ และในข่าวการเสียชีวิตอย่างปริศนาของดาราสาว แตงโม ซึ่งสำหรับเขา เผยให้เห็น “ความจริง” อีกแบบ ลึก ๆ ในสังคมไทย
ภาพของเขาเหมือนจะนามธรรม แต่เขามีวิธีอธิบายที่ทำให้เราเห็นถึงความสมจริงในนั้นได้ มุมมองวิธีคิดที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาอาจมาจากทั้งวิถีชีวิตของคนที่ติดตามข่าวสารใกล้ชิดคนหนึ่งในสายตาเรา ผสมกับ “จินตนาการ” ที่สำหรับเขาไม่ได้หมายถึงเรื่องเพ้อฝัน นี่คือศิลปินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงคนหนึ่งของไทยในปัจจุบัน ผู้ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ซึ่งมองขาด ในเรื่องเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม และนำมันมาเชื่อมโยงข้ามไปข้ามมากับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างน่าติดตาม
ในบทสัมภาษณ์นี้ GroundControl พยายามผสมเรื่องศิลปะเข้ากับเรื่องการเกษตร แบบเดียวกับที่เขาทำ พยายามมองเข้าไปให้เห็นว่า “ปัญหาพืชผักในตลาด” มันเกี่ยวข้องกับคนเมืองอย่างไร และมองว่าเบื้องหลังความเป็นจริงระดับที่สัมผัสกันได้จากข่าวสารทั่วไป ยังมีนโยบาย มีอารมณ์ มีการปิดบังซ่อนเร้นอะไรอยู่อีก กับศิลปินผู้ลึกลับแต่คุยสนุกคนนี้
จากสวนสู่เมือง
เรื่องราวที่เขาเล่าในภาพวาดฝีแปรงรุนแรงขนาดใหญ่ที่ จะว่าใกล้ตัวก็เหมือนจะใกล้ แต่คนเมืองที่ไม่ได้เดินตลาด ไม่ได้รับรู้เรื่องการเกษตรเลย อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด ว่าการปลูกผักมันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร์ อุบัติสัตย์บอกเราว่า
“เราปลูกผักก็ส่งไปให้คนในเมืองกินนะ พืชผักเนื้อสัตว์หรือผลผลิตทางการเกษตรมันป้อนเข้าเมืองตลอด ซึ่งถ้าเกิดมันปนเปื้อน คนที่จะป่วยขึ้นมาก็คือคนเมืองด้วย บางทีเราพูดว่าผลผลิตเราซื้อกินจากเกษตรอินทรีย์มันอาจจะไม่ได้อินทรีย์ในแบบที่เราคิดก็ได้”
และในทางกลับกัน ชีวิตในเมืองเองก็ส่งผลกลับไปหากระบวนการทั้งหลายก่อนที่จะกลายเป็นพืชผลที่เรากินกันด้วย “เรามีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมหาวิทยาลัยทางการเกษตร แต่ชนบทก็ยังลำบากมาก ผักเคยซื้อได้ห้าบาท เขาไปกรุงเทพฯ กลายเป็น 20 บาทก็มี ที่นี่ไปเก็บเอาอะไรมากินได้ตลอดทั้งปีเลย แต่เราก็เข้าใจว่ามันเป็นระบบตลาด เรื่องพ่อค้าคนกลาง มีห้างสรรพสินค้ามาจัดการ แต่ทั้งหมดนี้ถ้ามองย้อนไปจะทำให้เห็น ว่ามันเกี่ยวข้องกันหมดจริง ๆ” เขาบอก
“ถ้าที่กาญจนบุรีมีเผาอ้อย ควันก็อาจจะลอยไปถึงกรุงเทพฯ แล้วคนกรุงเทพฯ เองก็ลำบาก แต่นโยบายหรือระบบต่าง ๆ ที่ไปกดให้ชาวไร่อ้อยเดือดร้อนมันมาจากกรุงเทพฯ”
“ปีที่แล้วที่มีดินถล่มที่แม่สาย ก็มาจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือการปลูกข้าวโพด ซึ่งต้องถางป่า ทำลายดิน พอน้ำมามันก็พัดหมดแบบไม่มีพรมแดน ไม่สนว่าฝั่งพม่าหรือฝั่งไทย มันเป็นประเด็นระดับโลกด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่เมืองไทย อย่างเรื่องสภาวะเรือนกระจกนี่ชาวบ้านก็รู้ ถ้าทำเกษตรจริงจังจะรังดินรักน้ำมากเลย ไม่อยากให้มันพัง”

จากตลาดสู่งานศิลปะ
แต่ทำไมเขาถึงเลือกนำข่าวทั่วไปมาถ่ายทอดเป็นศิลปะ? เราถาม
“งานชุดนี้ผมเริ่มทำประมาณห้าปีก่อน ในช่วงรัฐบาลคสช. ซึ่งปัญหาชาวบ้านมีเยอะมาก เรื่องพืชพันธุ์ ผักผลไม้ ข้าวปลาอาหาร มันได้ยินทุกวัน แล้วก็เลยคิดว่าจะเอามาผสมผสานกันง่าย ๆ เลย — มันเหมือนกับเราไปเดินตลาดแล้วป้าก็บ่น พริกแพงเหลือเกินช่วงนี้ ไอ้นี่ก็แพงไอ้นั่นก็แพง แพงเกือบทุกวันเลย มันรู้สึกเหมือนวิกฤตชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ตัวมาก”
“ดูข่าวทุกวันนี้ก็เห็นแต่ลำไย (ไหทองคำ นักร้อง; ช่วงที่สัมภาษณ์กำลังมีกระแสข่าวเรื่องความสัมพันธ์) แล้วก็นึกถึงเรื่องลำไย (ผลไม้) ช่วงนี้กำลังจะออกดอกกำลังหอมเลย” เขาพูด (เราไม่แน่ใจว่าแบบติดตลกหรือเปล่า)
คำอธิบายของเขาอิงไปถึงข้อถกเถียงทางทฤษฎีศิลปะ และอาจรวมไปถึงปรัชญาว่าด้วยความเป็นจริง เพราะสิ่งที่เขาบันทึก คือภาพของ ‘ความรับรู้’

คำอธิบายของเขาอิงไปถึงข้อถกเถียงทางทฤษฎีศิลปะ และอาจรวมไปถึงปรัชญาว่าด้วยความเป็นจริง เพราะสิ่งที่เขาบันทึก คือภาพของ ‘ความรับรู้’
“ภาพนามธรรมแบบนี้มันเหมือนมาจากเรา เวลาที่รับเรื่องราวต่าง ๆ เข้ามาก็มีความโกรธ ความกลัว ซึ่งความรู้สึกมันก็เป็นความจริงชนิดหนึ่ง เป็นพลัง เป็นอารมณ์ แล้วถ้าอารมณ์เหล่านี้มันเป็นความจริง ภาพที่ดูนามธรรมของมันก็คือภาพแบบเหมือนจริงอยู่เหมือนกัน — ภาพจริงที่เป็นไปในบ้านเมืองนี้ในสังคมนี้ ภาพนามธรรมของ “แตงโม” มันอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่างก็ได้ในสังคมไทย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราฟังข่าวแตงโม (นักแสดงผู้เสียชีวิตอย่างปริศนา) ก็เป็นการบันทึกความจริงในแง่อารมณ์ ความรู้สึก หรือความจริงอื่น ๆ ในช่วงเวลานั้นเอาไว้เท่านั้นเอง”
“เราแสดงความเป็นจริงของเราที่เราประสบเอง แต่มันสามารถเอามาแบ่งปันกันกับคนอื่นด้วย ปริศนาเรื่องแตงโมทุกคนก็พูดคุยกันอยู่ใต้ดินว่ามีใครเป็นใครน่าสงสัยอยู่บ้าง แต่เราไม่พูดกันมาตรง ๆ — เป็นความจริงอีกแบบ — เรื่องกองทัพ เรื่องงบประมาณ เรื่องอื่น ๆ เราก็รับรู้ต่อจากเรื่องแค่ที่พูด ๆ กัน
สำหรับผม อย่างน้อยที่เรามานั่งคุยกันอย่างนี้มันก็สำเร็จแล้ว ในการถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้ออกไป”

จากความรู้สึก สู่สีสันแห่งจินตนาการ และความฝันถึงสังคมที่ดีกว่านี้
“เวลาวาดรูปบางทีผมยืนอยู่หน้าเฟรมสามชั่วโมงไม่ทำอะไรก็มีนะ ยืนดูมัน แต่พอมันลงฝีแปรงแล้วก็จบเลย มันเหมือนเราพิจารณาอารมณ์อะไรสักอย่างก่อน ในเงื่อนไขว่าภาพมันต้องมีจินตนาการ” อุบัติสัตย์เล่ากระบวนการสร้างงานศิลปะในแบบของเขา “สีมันมาก่อน เช่นถ้าพูดถึงลำไยสีมันก็เป็นน้ำตาลข้างนอก ไปดูในข่าวว่ามันมีอะไรในนั้นบ้าง แล้วเดี๋ยวรูปร่างรูปทรงมันก็ตามมาเอง”
“ถ้าพูดคำว่าจินตนาการมันฟังดูเหมือนผมเพ้อฝัน แต่ถ้าไปดูรากคำมันจะเห็นว่าคือการคิดวิเคราะห์ และแยกแยะมันออกมาว่ามีอะไรในความคิดนั้นบ้าง ในงานมันเลยต้องมีทั้งข้อมูล ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วย เราทำแบบนี้มันก็มีเนื้่อหาที่อยากส่งไปตลอด แต่ถ้าถามว่ามันจะเปลี่ยนสังคมได้ไหม ผมว่ามันก็ค่อย ๆ เป็นไปนะ เป็นการแชร์ความรู้ความคิดกัน”
“แม้แต่ปลาฉลามที่มีดวงตาฝ้าฝางยังรู้เลย… กับสภาพสังคมที่เป็นอยู่” เขาทิ้งท้าย