สำรวจการ ‘เล่นกับไฟ’ ที่เป็นมากกว่าการทำลาย ของ Chayood Ngamekudomphong

Post on 4 December

เราต่างก็เคยมีของเล่นชิ้นโปรดเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาบาร์บี้, รถบังคับวิทยุ, โมเดลทหาร, ชุดเซตคุณหมอตัวน้อย หรือแม้แต่การเล่นหม้อข้าวหม้อแกงที่ทำแกงจากดินและทำเส้นก๋วยเตี๋ยวจากต้นหญ้า ก็ถือว่าเป็นของเล่นด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าเราจะบอกว่าเบื้องหลังความสนุกไร้เดียงสาที่เราเล่นกันเป็นประจำทุกวันในตอนเด็ก คือหนึ่งในกระบวนการชี้นำจิตใจจากระบบทุนนิยม ที่เตรียมปูทางให้เราเติบโตขึ้นมาเพื่อสานต่อระบบนี้ต่อไปอย่างไม่ขาดตอนล่ะจะเป็นอย่างไร?

‘ชยุตม์ งามเอกอุดมพงศ์’ เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่สนใจในแนวความคิดที่ว่านี้เหมือนกัน การเริ่มต้นค้นหานัยเหลือบเร้นที่แฝงอยู่ในของเล่นทั้งหลาย ได้จุดประกายให้เขาตัดสินใจสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับของเล่นและเปลวไฟขึ้นมา เพื่อเชิญชวนและกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถาม พร้อมกับเดินทางไปสำรวจภาพมายาคติของอำนาจ บทบาททางเพศ และการตั้งใจปลูกฝังความคิดของผู้ใหญ่ใส่ลงไปใน ‘ของเล่น’ ไปด้วยกัน

**Burning Childhood**

Burning Childhood

ชยุตม์บอกกับเราถึงจุดเริ่มต้นของภาพของเล่นและเปลวไฟทั้งหมดที่เขาตั้งใจทำขึ้นมาว่า “สิ่งที่ทำให้ผมสนใจการทำงานสไตล์นี้เริ่มมาจากความสนใจในประวัติศาสตร์ของเล่นในยุคต่าง ๆ ครับ”

“ผมสังเกตว่าประวัติศาสตร์ของเล่นในยุคต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น เรียกว่าการที่จะสร้างของเล่นหรือสื่อสำหรับเด็กขึ้นมานั้น ไม่ใช่การนึกอยากจะสร้างก็สร้าง แต่เหมือนเป็นการหยิบเอาแนวคิดหรือชุดข้อมูลบางอย่างที่สังคมในเวลานั้นยึดถือหรือเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าดี มาสอดแทรกลงไปในของเล่นด้วย เพื่อส่งต่อให้กับเด็ก ๆ ซึ่งจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ในรุ่นถัดไปอย่างมีนัยสำคัญ”

“อย่างเจ้าหนูอะตอมที่หลายคนรู้จัก ก็มีการสอดแทรกเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติเอาไว้ด้วย หรือ Godzilla เองก็มีเรื่องของผลกระทบในแง่ลบที่เกิดจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์แฝงอยู่เช่นกัน และเมื่อผมมองเห็นการส่งต่อชุดความคิดและย่อยข้อมูลในสังคมเพื่อป้อนสู่เด็กผ่านของเล่นแบบนี้ ผมเลยสนใจอยากจะสร้างงานศิลปะขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามต่อประเด็นเหล่านี้ เพราะผมมองว่ามันส่งผลต่อสังคมได้มากกว่าที่คิด และแม้กระทั่งตัวผมเองในปัจจุบัน ก็เป็นผลผลิตที่เกิดจากการหล่อหลอมของของเล่นและสื่อเหล่านี้ด้วย”

**Smiley stress bomb**

Smiley stress bomb

**Savety**

Savety

“พอผมได้ไอเดียแล้ว ผมก็เริ่มหาแรงบันดาลใจในการสร้างงาน ซึ่งสไตล์การทำงานศิลปะแบบ ‘LowBrow’ คือสิ่งที่ผมสนใจมาก ๆ โดยศิลปะสไตล์นี้เป็นขบวนการทัศนศิลป์ใต้ดินที่รุ่งเรืองอยู่ในประเทศอเมริกา ในช่วงปลายยุค 60 - 90 มันจะมีความป็อป ความพังก์ และความเป็นการ์ตูนอยู่อย่างชัดเจน ศิลปินที่ทำงานสไตล์นี้เขามักจะหยิบเอาตัวการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือหยิบมาเล่าเรื่องทางสังคม การเมือง และความเชื่อให้ย่อยง่าย ผ่านการสร้างผลงานจิตรกรรมแบบตลกร้าย เช่น Todd Schorr และ Robert Williams นอกจากนี้ก็ยังมีสไตล์แบบภาพประกอบในยุค 1970 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของนิยายไซไฟ เช่น Greg Hildebrandt และ Kaida Yuji ที่ทำให้ออกมาเป็นผลงานจิตรกรรมของผมในปัจจุบันด้วยครับ” ชยุตม์อธิบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าถึงที่มาของแนวความคิดและแรงบันดาลใจต่าง ๆ แล้ว ก็ทำให้เรามองเห็นรูปแบบในงานของเขาได้ชัดเจนมากขึ้นว่า เพราะของเล่นน่ารักใส ๆ ที่เรามองว่าเป็นสิ่งไร้เดียงสาธรรมดา แท้จริงแล้วกลับเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่กำลังปลูกฝังความคิดหลาย ๆ อย่างให้กับเรามาตั้งแต่เด็ก เช่น ตุ๊กตาบาร์บี้และหุ่นทหาร G.I. Joe ที่สร้างขึ้นในยุค 40 ก็มีการสอดแทรกบทบาททางเพศของชายและหญิงลงไป เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเด็กทั้งหลายได้มีไอดอล เป็นของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นการนำเอา ‘ของเล่น’ มาเป็นวัตถุดิบในการเล่าเรื่องในผลงาน จึงให้ความเข้มข้นถึงสารที่เขาจะสื่อได้มากขึ้นด้วย และแน่นอนว่าในฐานะศิลปินคนหนึ่งแล้ว นอกจากจะมีแรงบันดาลใจ ก็ต้องมีเอกลักษณ์ในงานของตัวเองที่เด่นชัดไม่แพ้กัน

ชยุตม์บอกกับเราถึงสิ่งที่เขามองว่าเป็นเอกลักษณ์ในผลงานของตัวเองว่า “ผมมองว่าจุดเด่นในงานของผมคือไฟครับ และไฟในผลงานแต่ละชิ้นก็จะต่างกันออกไปด้วย เพราะสำหรับผมแล้ว ไฟคือสิ่งที่มีความหมายยืดหยุ่นมาก เราจะใช้ไฟเพื่อพูดถึงการสูญเสียก็ได้ จะใช้ไฟเพื่อพูดถึงการเกิดใหม่ หรือถ้าเราจะมองว่าไฟคือสัญลักษณ์ของความรื่นเริงจำพวกพลุ ผมก็ว่าได้ หรือถ้ามองว่ามันคือระเบิดและไฟสงคราม มันก็สามารถตีความไปทางนั้นได้เช่นกัน ผมว่านี่แหละคือความสนุกของผลงานจิตรกรรมของผม”

“รวมไปถึงรูปแบบการเล่าเรื่องของผมด้วย ทุกครั้งที่ผมจะหยิบของเล่นชิ้นไหนมาใช้ในผลงาน ผมมักจะคำนึงถึงความเป็นมาของของเล่นชิ้นนั้นเสมอ เรียกง่าย ๆ ว่าผมจะต้องทำความเข้าใจบริบททางสังคมของมันก่อน รวมถึงสัญญะในตัวมันด้วย เพื่อหาจุดร่วมทางสังคมที่ผมจะอธิบายมันออกมาได้ เช่น จมูกยาว ๆ ของพิน็อคคิโอ ที่เราทุกคนเข้าใจร่วมกันว่าสื่อถึงการโกหก เมื่อหยิบเอาสิ่งนี้มาใส่ในผลงาน มันก็สามารถเล่าเรื่องราวออกมาได้แยบยลมากขึ้น และในขณะเดียวกันผู้ชมก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีเช่นกัน”

**play with fire**

play with fire

“อย่างชิ้นงาน ‘play with fire’ ผมก็ได้ทำการดัดแปลงมาสคอตของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อว่า ‘Big Boy’ มาใช้งาน โดยร้านนี้เป็นร้านแรก ๆ ของโลก ที่ใช้ตัวละครมาสคอตในเชิงการตลาด ด้วยภาพลักษณ์ที่มีความการ์ตูนมีความน่ารัก เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ และสร้างภาพจำ สร้างภาพความเข้าใจร่วมกันทางสังคมอย่างนึง ซึ่งทำให้ผมสนใจลักษณะการชี้นำทางความคิดในรูปแบบนี้มากขึ้น และตั้งคำถามถึงสื่อต่าง ๆ รอบตัวว่าจุดมุ่งหมายหลักอะไรที่อยู่เบื้องหลังภาพลักษณ์ภายนอกของสื่อต่าง ๆ”

นอกจากไฟจะสื่อถึงการทำลาย การเกิดใหม่ ความรื่นเริง และสงครามแล้ว ไฟที่เผาไหม้ของเล่นต่าง ๆ ในภาพของศิลปินยังสื่อถึงการแผดเผาความสุขและความฝัน ที่ค่อย ๆ สลายไปเมื่อเราเติบโตขึ้นด้วย ซึ่งชยุตม์ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “ผมคิดว่าช่วงโควิดเป็นช่วงที่ใครหลายคนประสบกับปัญหามากมาย การหมดไฟในการทำงานคงเป็นสิ่งที่คนทำงานศิลปะต้องพบเจอกันทุกคน การเริ่มเพนต์งานสไตล์นี้ ก็เริ่มต้นมาจากความรู้สึกหมดไฟที่ว่านั้นเหมือนกันครับ”

“ความรู้สึกหมดหวังในการทำงานศิลปะ กับตัวผมที่มีความฝันยิ่งใหญ่แต่กลับกลัวที่จะต้องละทิ้งความฝันในวันหนึ่ง จึงได้เอาความรู้สึกตรงนี้มาตีความสร้างผลงานศิลปะ เป็นเหมือนการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสขึ้นมาอีกครั้ง”

และในฐานะศิลปินผู้ใช้ไฟกับของเล่นเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในผลงาน เหมือนกับที่เขาได้บอกเราไว้ในตอนต้นว่าไฟนั้นมีความหมายยืดหยุ่น เมื่อไฟทำลายความหวังและความหวังได้ มันก็สามารถเป็นผู้สร้างได้ เหมือนกัน

**Burning sink**

Burning sink

“ผมมองชีวิตให้เป็นเหมือนโจทย์ปัญหา ที่เราต้องสร้างสมการเพื่อตอบโจทย์ในชีวิตอยู่ตลอดเวลา การหาช่องทางที่จะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญในการหาแรงบันดาลใจ และการคิดว่าการสร้างงานศิลปะเป็นเหมือนการเล่นของเล่นชิ้นหนึ่ง ที่เราได้เล่นกับมัน ได้สนุกกับมัน จินตนาการกับมันทำให้เราสามารถเปิดมุมมองใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอ และผมเชื่อว่าผู้ชมงานก็จะสามารถรู้สึกถึงความสนุกที่ผมต้องการจะส่งต่อไปได้ครับ”

**Hot Head**

Hot Head

เป็นผลงานที่เล่าเรื่องของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจอย่างไร้ขีดจำกัดเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตนเองโดยที่ไม่สนว่าจะต้องทำด้วยวิธีไหนเพื่อให้ได้สิ่งนั้น ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจในทางสงครามหรือ การแย่งชิงทรัพย์ยากร การควบคุมสื่อในสังคม ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

**Lies of solidarity**

Lies of solidarity

เป็นผลงานที่เล่าถึงอำนาจของกลุ่มนายทุนในสังคมที่ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจและดูเหมือนจะมีการผูกขาดทางการตลาดมากขึ้น รวมถึงรูปแบบการผูกขาดที่แปลกประหลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

**Lost victory**

Lost victory

ความดีใจและความรู้สึกแห่งชัยชนะ เมื่อเราสามารถแก้ปัญหาบางอย่างในชีวิตได้ มันจะเป็นความรู้สึกดีได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น เพราะชีวิตพร้อมจะโยนปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายมาให้แก้เสมอ และจะโยนเข้ามาเพิ่มอีกเรื่อย ๆ ด้วย

**Burning play ground**

Burning play ground

ข่าวสารของตำรวจในสังคมไทยที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดสามารถมีให้เห็นอยู่เสมออย่างไม่ขาดสาย

**Burning dream**

Burning dream

เป็นผลงานชิ้นแรกที่ผมเริ่มเพนต์ภาพไฟในผลงาน เป็นผลงานที่พูดถึงความกลัวที่จะต้องละทิ้งความฝันไปในวันหนึ่ง และความเครียดในการใช้ชีวิตที่มีมากขึ้นเมื่อต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ถ้าใครชื่นชอบผลงานและการตีความสัญญะต่าง ๆ ของ Chayood Ngamekudomphong ก็สามารถติดตามเขาได้ที่

Facebook :chayood Ngamekudompong
Instagram: coma_chayood
Tik tok :coma@chayood
Twitter :art of coma

RELATED POSTS

ศิลปะแห่งการออกแบบสัตว์ประหลาด ความเป็นมนุษย์ และสงครามเย็น คุยกับ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ’ และ ‘เอก-เอกสิทธิ์’ จาก 13 เกมสยอง สู่ Taklee Genesis: ตาคลี เจเนซิส
In Focus
Posted on Sep 16
คุยกับ ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ และ ‘มายน์-ชญานุช เสวกวัฒนา’ ว่าด้วยเบื้องหลังการรีเสิร์ชเพื่อสร้าง ‘วิมานหนาม’ ผ่านสถานที่และดีไซน์เสื้อผ้าในหน้าจอ
In Focus
Posted on Sep 11
สำรวจภาวะ​​ ’คนนอก’ ของตัวเองและของตัวละครแซฟฟิกอมนุษย์ต่างชนชั้น ใน ‘ฝนเลือด’ ของศิลปินคนทำหนัง อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
In Focus
Posted on Sep 9
‘เอ๋ - ปกรณ์ รุจิระวิไล’ กับการบอกลาศิลปะแบบเมืองใหญ่ และความท้าทายของอาร์ตสเปซในเมืองเล็ก ๆ
In Focus
Posted on Aug 15