เลาะผังส่องเมือง ‘ย่านสุขุมวิท’ กับปัญหารถติดอันไร้ทางออก ใน ‘Sukhumvit Dead Ends’ ของ CallSh0tgun

Post on 6 February

กรุงเทพมีวัด! กรุงเทพมีสตรีทฟู้ด! และกรุงเทพก็มีบรรยากาศสวยงาม! แต่ในขณะเดียวกันกรุงเทพก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘รถติด’ เป็นซิกเนเจอร์ดังระดับโลก ที่สร้างความเหนื่อยหน่ายและเอือมระอาใจในการใช้ชีวิตให้กับชาวกรุงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งในช่วงหน้าฝนที่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังและอุบัติเหตุเข้ามาสุมไฟเพิ่มดีกรีความ ‘ติดหนึบ’ เข้าไปอีกแบบนี้ ก็ยิ่งสร้างความเดือดร้อนจนใจลุกเป็นไฟได้อย่างง่ายดาย

ซึ่งเราก็เชื่อเหลือเกินว่า ทุกคนที่เคยประสบกับปัญหารถติดแบบนี้ จะต้องนึกตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมรถถึงติดขนาดนี้? เพราะเราออกมาช้าไปหรือเปล่า? หรือว่ามีอุบัติเหตุ? แต่นอกเหนือจากคำถามเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนที่สืบเสาะหาคำตอบลงไปในระนาบที่ลึกยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในคนที่ทำแบบนั้น ก็คือ แพรวา-สโรชา ลิ้มสวัสดิ์ นักศึกษาปีสามจาก ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เพราะเธอมองว่าต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เหล่าชาวกรุงต้องทุกข์หนักขนาดนี้ ก็คือ ‘การวางผังเมือง’

เมื่อโจทย์ที่อยากรู้พร้อม ใจพร้อม เธอก็เริ่มต้นโปรเจกต์ ‘Sukhumvit Dead Ends’ ขึ้นมาทันที เพื่อศึกษาผังเมือง ‘ย่านสุขุมวิท’ หนึ่งในย่านสำคัญใจกลางเมืองที่มีรถและผู้คนพลุกพล่านมากที่สุดย่านหนึ่ง เพื่อศึกษาว่าเพราะอะไรกันแน่ถนนกรุงเทพถึงได้ใช้งานยากขนาดนี้

“ก่อนจะเริ่มโปรเจกต์นี้ เราได้โจทย์กว้าง ๆ มาก่อนว่า ให้ลองตีความและเลือกเรื่องที่อยากจะเล่าเกี่ยวกับ ‘กรุงเทพ’ ดู ซึ่งเราก็คิดอยู่นานว่าจะเล่าเรื่องอะไรดี เพราะเราอยากจะเล่าเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ต้องไม่ใช่เรื่องที่คนพูดกันจนหนาหู และรู้ ๆ กันดีอยู่แล้ว” แพรวาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอหันมาให้ความสนใจกับผังเมืองกรุงเทพ

“จนวันหนึ่งเราก็ได้แรงบันดาลใจขึ้นมาระหว่างที่ขับรถ เรามาสังเกตว่า ปกติเราต้องขับรถไป-กลับมหาวิทยาลัยทุกวัน เท่ากับว่าต้องใช้ชีวิตบนท้องถนนถึงวันละสามชั่วโมง เราเลยสงสัยว่าทำไมรถมันถึงติดได้ขนาดนี้ แล้วถ้าสาเหตุที่ติดไม่ได้มาจากปริมาณคนและปริมาณรถเพียงอย่างเดียวล่ะ จะมีสาเหตุมาจากอะไรได้อีกบ้างไหม พอคิดได้แบบนั้นเราก็เลยลองหาบทความและพอดแคสต์เกี่ยวกับเรื่องรถติดฟัง จนได้บทสรุปว่าที่จริงแล้วมันเป็นเพราะผังเมืองกรุงเทพมันพังตั้งแต่แรกเริ่ม”

“ถ้าเล่าโดยสรุปก็คือ ทุกอย่างมันเริ่มมาตั้งแต่ยุคสร้างเมืองใหม่ ๆ ที่ผู้คน เมือง และสถานที่ ต่างพัฒนาไปพร้อม ๆ กันเลยทำให้เกิดตัวเมืองที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของเมืองหลายจุดในเมืองเดียว และเป็นเพราะว่าผังเมืองไม่ได้ถูกออกแบบมาแต่แรกว่าจะให้คนใช้งานอย่างไร แล้วเอาแต่พัฒนาไปเรื่อย ๆ ทั้งตัดถนน ทำซอย ทะลุซอย เลยทำให้เรามีถนนรูปแบบก้างปลาที่เยอะมาก ๆ ส่งผลให้การเข้าถึงถนนเส้นหลักเป็นไปได้ยากและใช้เวลามาก ดังนั้นถนนเส้นหลักก็เลยมีน้อย เมื่อเทียบกับถนนเส้นเล็ก ซอย และซอยตัน จึงทำให้เวลาคนจะเดินทางต้องออกจากบ้านในซอยลึกมารวมกันที่ถนนเส้นหลัก”

“และตัวแปรสำคัญอีกอย่าง ก็คือจำนวนของซอยตันที่ขัดขวางการจราจรเพราะเข้าออกได้แค่ทางเดียว แต่กลับมีปริมาณเยอะมาก ถ้าทุกคนมองในงานของเราจะเห็นจุดสีชมพู ซึ่งนั่นคือจำนวนซอยตันในย่านนั้น พอเราเห็นเราก็ตกใจมาก เลยอยากเซอร์ไพร์สคนดูให้ตกใจเหมือนกันกับเรา ซึ่งเราใช้เวลาทำทั้งหมดสามสัปดาห์ด้วยกัน”

“ส่วนเหตุผลที่เราเลือกย่านสุขุมวิท ก็เพราะที่นี่มีซอยย่อยเยอะมาก และมีถนนเส้นหลักน้อยมาก ๆ แถมปริมาณคนในพื้นที่ยังหนาแน่นอีก เลยเป็นเคสที่น่าสนใจในการเลือกมาศึกษา ประกอบกับเราคิดว่าเป็นพื้นที่ที่คนดูแล้วน่าจะพอเข้าใจ และคุ้นตากับความซอกแซก ยุบยิบ และยุ่งเหยิงด้วย”

พอเห็นความละเอียดยิบของผังเมืองที่แพรวาออกแบบขึ้นมาแล้ว ก็ต้องยอมรับในความตั้งใจเรื่องเก็บรายละเอียด รวมถึงความแม่นยำของข้อมูลที่พูดถึงเรื่องผลกระทบจากการวางผังเมืองแบบไม่คำนึงถึงผู้ใช้งาน และเมื่อเราเอ่ยชมเธอขึ้นมา เธอก็ได้แบ่งปันเคล็ดลับและวิธีการเก็บข้อมูลของเธอให้เราฟังด้วย

“เราเริ่มหาข้อมูลจากบทความที่เล่าถึงรูปแบบผังเมืองกรุงเทพ และรวมรวบแผนที่ของซอยในสุขุมวิทมานั่งทำความเข้าใจ และพลอตจุดของซอยตันในพื้นที่ ในส่วนของการวิเคราะห์ว่ามีจุดไหนเป็นปัญหาบ้าง เราก็เก็บข้อมูลจากการฟังพอดแคสต์”

“พอดแคสต์ที่เราฟังเขาจะเล่าโดยเปรียบเทียบผังเมืองกรุงเทพ เข้ากับผังเมืองอื่น ๆ เช่น โตเกียว บาเซโลนา ปารีส ว่าแต่ละเมืองมีการวางผังเมืองอย่างไร เอื้อประโยชน์อะไรให้กับคนเมืองบ้าง เช่น ญี่ปุ่นจะวางให้คนสามารถเดินจากจุดหนึ่งไปยังจุดที่มีรถสาธารณะได้ภายในไม่กี่นาที หรือผังเมืองฝรั่งเศสที่ทำให้การเดินในเมืองสนุกขึ้น เพราะวางไว้แล้วว่าในรูทการเดินจะเจออะไรบ้างแบบนี้ค่ะ”

ในฐานะคนที่ศึกษาผังเมืองย่านสุขุมวิทอย่างละเอียด แพรววายังให้ความคิดเห็นเรื่องความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหารถติดในย่านนี้ให้เราฟังด้วยว่า

“สำหรับวิธีการแก้ปัญหาผังเมือง เราคิดว่ามันเป็นไปได้ยากมากเลยนะ เพราะกรุงเทพยังคงเป็นเมืองที่พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ คือเราไม่สามารถแก้ผังเมืองทั้งหมดได้จริง ๆ เช่น เราไม่สามารถเปลี่ยนถนนให้เป็นบล็อกได้เหมือนอเมริกา สเปน หรือ ฝรั่งเศส ดังนั้นตัวเลือกในการแก้ไขก็เลยน้อย”

“หรือถ้าเราเลือกจะทะลุซอยตันทั้งหมดเพื่อแก้จุดที่ขัดขวางการจราจร ก็อาจช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงทำได้น้อยมาก เพราะซอยตันส่วนมากก็คือบ้านคน หรือพื้นที่ของนายทุนต่าง ๆ ดังนั้นจะปรับแก้ทั้งหมดเลยยังเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ และต่อให้ไม่มีซอยตันเลย ระยะทางการเดินทางจากบ้านคนบนถนนย่อยเพื่อออกมาใช้บริการรถสาธารณะหรือใช้ถนนเส้นหลักก็ยังมากอยู่ดี”

“เราเลยขอตอบว่าเรื่องรถติด-ซอยตัน-ผังเมือง มันไม่ใช่เรื่องพื้นผิว เพราะเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง เลยยากที่จะแก้เพราะในขณะเดียวกันก็มีปัญหาอื่นทับซ้อนอีกด้วย เช่น จะให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่กว่าคนจะเดินทางมาใช้ได้ก็ไม่ได้สะดวก หรือจะบอกว่าให้คนเดินบนถนน ก็ไม่ได้สร้างความปลอดภัยให้มากนัก เช่นฟุตบาทพัง ๆ และหลุมมากมายบนถนน ซึ่งทุกคนก็น่าจะนึกภาพออกได้ดี”

นอกเหนือจากผลงาน ‘Sukhumvit Dead Ends’ แล้ว แพรวาก็ยังได้สร้างผลงานอีกหลากหายโปรเจกต์ที่พูดถึงเรื่องปัญหาต่าง ๆ ภายในสังคม อย่างการเหยียดเชื้อชาติ การวิเคราะห์เรื่องราวในภาพยนตร์ รวมถึงการใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมาสร้างเป็นงานด้วย ซึ่งเธอก็ได้ยอมรับกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า ทั้งหมดนี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการทดลองและค้นหาตัวตนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็เชื่อว่าเธอได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ และเมื่อกล้าที่จะทำในเรื่องที่ชอบ สนุกกับงานที่ทำ การไม่มีภาพจำหรือสไตล์ที่ชัดก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร และสักวันเธอจะต้องเจอทางของตัวเองแน่นอน

Sukhumvit Dead Ends

“มันเริ่มมาตั้งแต่ยุคสร้างเมืองใหม่ ๆ ที่คน เมือง และสถานที่พัฒนาไปพร้อม ๆ กันเลยทำให้เกิดตัวเมืองที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของเมืองหลายจุดในเมืองเดียว และเป็นเพราะว่าผังเมืองไม่ได้ถูกออกแบบมาแต่แรกว่าจะ ให้คนใช้งานอย่างไร แล้วเอาแต่พัฒนาไปเรื่อย ๆ ตัดถนน ทำซอย ทะลุซอย เลยทำให้เรามีถนนรูปแบบก้างปลาที่เยอะมาก ๆ ส่งผลให้การเข้าถึงถนนเส้นหลักเป็นไปได้ยากและใช้เวลามาก ดังนั้นถนนเส้นหลักก็เลยมีน้อย เมื่อเทียบกับถนนเส้นเล็ก ซอย และซอยตัน จึงทำให้เวลาคนจะเดินทางต้องออกจากบ้านในซอยลึกมารวมกันที่ถนนเส้นหลัก”

และตัวแปรสำคัญอีกอย่าง ก็คือจำนวนของซอยตันที่ขัดขวางการจราจรเพราะเข้าออกได้แค่ทางเดียว แต่กลับมีปริมาณเยอะมาก ถ้าทุกคนมองในงานของเราจะเห็นจุดสีชมพู ซึ่งนั่นคือจำนวนซอยตันในย่านนั้น พอเราเห็นเราก็ตกใจมาก เลยอยากเซอร์ไพร์สคนดูให้ตกใจเหมือนกันกับเรา ซึ่งเราใช้เวลาทำทั้งหมดสามสัปดาห์ด้วยกัน

Anti-Ai bias

ผลงานชิ้นนี้เป็นแคมเปญที่เราทำร่วมกับเพื่อน เพราะเราอยากพูดถึงปัญหาในยุค ‘Artificial Intelligence’ ที่ต่อให้จะเป็นเทคโนโลยีล้ำยุค มีประโยชน์ และสามารถนำพามนุษย์ไปสู่โลกอนาคตได้ แต่กลับมีความบกพร่องในระบบและแสดงถึงความลำเอียง ผ่านการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ เพศสภาพ รวมถึงอาชีพ โดยมีการสเตอริโอไทป์เสมือนกับสังคมบนโลกจริง

เราจึงสร้างแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ล้อเลียน และสะท้อนภาพความมืดมนอันไร้จริยธรรมของสังคม ที่ถูกยัดเยียดและถ่ายทอดออกมา ผ่านการใช้ Midjourney เพื่อสร้างภาพตามคำสั่ง ชิ้นนี้เราชอบเพราะเรื่องที่นำมาพูดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่แล้ว เพียงแต่มันถูกส่งเสริมด้วยเทคโนโลยี เลยทำให้เราอินมากขึ้น

Serial Killers

ผลงานชิ้นนี้เป็น Infographic ที่สร้างมาจากความสนใจเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง (ฟังจากพอดแคสต์) โดยเรานำเรื่องราวเหล่านั้นมาจัดเรียง และรวบรวมเป็นสถิติการเกิดคดีต่าง ๆ ทั้งจำนวนคดีที่เกิดขึ้น สถานที่เกิดเหตุ และปัจจัยด้านจิตใจกับสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้คนคนหนึ่งกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง

เราได้เลือกฆาตกรขึ้นมาสามคน เพื่อศึกษาทำความเข้าใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่ได้มีเจตนาให้แสงหรือยกย่องผู้ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่เพื่อแสดงกราฟิกให้คนดูได้รับรู้ถึงความอันตรายและความหดหู่ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยความจำกัดของข้อมูลบางส่วนที่เข้าถึงไม่ได้ จึงทำให้ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง

เหตุผลที่เราชอบงานชิ้นนี้ เพราะการเล่าเรื่องอะไรก็ตามที่ซีเรียสและเซนซิทีฟมาก ๆ แบบนี้มันท้าทายมาก เพราะเราต้องออกแบบและสื่อสารผ่าน Infographi โดยไม่กระทบใคร และต้องไม่สร้างความเสียให้ใครด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องเล่าเรื่องได้ดีและมีประเด็นที่ต้องการจะสื่อครบถ้วน

Amelie

ผลงานชิ้นนี้เป็นงานภาพประกอบที่เราใส่การเล่าเรื่องในแบบของตัวเองลงไปด้วย แรงบันดาลใจของผลงานชิ้นนี้มาจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง Amelie (2001)

หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ เราก็มานั่งวิเคราะห์ใหม่ว่า ถ้าเราจะวาดรูปขึ้นมา มุมมองไหนที่เราอยากจะสื่อถึงหนังเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งเราก็เลือกซีนที่อิงจากสถานที่จริงในปารีส โดยตัวนางเอกอาศัยอยู่ในโลกแฟนตาซีกึ่งจริงของตัวเอง เราเลยเลือกจุดที่เล่นกับความกึ่งจริงกึ่งวิเศษผ่านมุมมองของนางเอกมาเล่า เมื่อประกอบเข้ากับคาแรกเตอร์ที่มีสีสัน อารมณ์ขัน และความเพี้ยน ๆ ก็เลยออกมาเป็นงานชิ้นนี้ เราสนุกกับงานชิ้นนี้มาก ได้ลองคู่สีและเชดสีใหม่ ๆ ได้ออกจาก comfort zone ของตัวเองนิดหน่อยด้วย

What Do You See When You Almost Die?

ผลงานชิ้นนี้เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เราพูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวตอนไปฮาวาย และเกือบจมน้ำในวันที่พายุเข้าระหว่างเล่นเซิร์ฟ ตอนนั้นเราจมลงไปใต้น้ำและติดอยู่ใต้บอร์ดเซิร์ฟ เพราะบอร์ดปิดผิวน้ำทำให้เราขึ้นมาหายใจไม่ได้

ตอนนั้นเราแพนิคอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะรู้สึกว่าหรือเราจะเป็นผีที่ฮาวายจริง ๆ นะ ขณะที่ยังคิดไม่ทันจบ เราก็เห็นภาพแฟลชแบ็คของตัวเองสับไปมาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันเหมือนในหนัง เหมือนเราได้ย้อนกลับไปในทุกโมเมนต์ และทุกอย่างรอบตัวไม่ได้มีความหมาย ไม่มีเวลาว่าช้าหรือเร็ว ไม่มีความเจ็บปวดหรือทรมานเลย

รู้ตัวอีกทีคลื่นก็ซัดเรามาที่น้ำตื้นแล้ว เรารู้สึกเคว้ง ๆ ไม่ได้กลัวหรือเศร้า แต่แค่กำลังประมวณผลว่าเกิดอะไรขึ้น เลยกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เราค้นคว้าเรื่องนี้ และค้นพบว่าหลาย ๆ คนก็เจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กันก่อนตาย หรืออย่างน้อยขณะที่สมองคิดว่าเรากำลังจะตายก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

เราเลยหยิบเรื่องนี้มาแชร์ต่อ และตั้งคำถามกับคนดูว่า คุณเชื่อหรือไม่ว่าเราจะเห็นภาพแฟลชแบ็คก่อนตาย พร้อมกับเสนอมุมมอง ความทรงจำ และถ่ายทอดภาพออกมาพร้อมความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของเรา

ชิ้นนี้ค่อนข้างเฉพาะตัวมาก ๆ เพราะเราอยากจะสร้างช่วงเวลานั้นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คนอื่นสัมผัสตามได้ เลยเลือกใช้รูปแบบหนังสือกรีด (flipbook) ที่ให้คนเปิดผ่านเร็ว ๆ เหมือนกับภาพในความทรงจำกำลังสลับอยู่ต่อหน้า และเรายังซ่อนข้อความไว้ตามหน้าต่าง ๆ หากคนสงสัยในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก็จะแง้มดูได้

Tuna Consumption

ผลงานชิ้นนี้เป็นโปสเตอร์ที่พับได้ เราได้โจทย์เรื่อง Climate Change มา เลยลองหาสาเหตุใกล้ ๆ ตัวที่คนไม่ได้ให้ความสนใจว่า นอกจากการใช้พลาสติก หรือ การใช้พลังงาน หรือ fast fashion แล้ว ยังมีเหตุผลไหนได้อีกบ้าง

ซึ่งเราก็นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘Seaspiracy’ ที่พูดถึงการกินปลาและอาหารทะเล เป็นการโปรโมทแรงงานเถื่อน และยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็นและยังทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่เราบริโภคอยู่ในจุดเสี่ยงที่อาจทำให้ระบบนิเวศล่มได้ เราเลยผูกโยงเข้ากับความนิยมในการบริโภคปลาทะเลอย่าง ‘ทูน่า’ เพราะเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้นายทุนทำการประมงทั้งแบบที่ถูกและผิดกฎหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการนี้

การล่าทูน่าอย่างบ้าคลั่ง นอกจากจะใช้พลังงานและแรงงานที่ไร้สมดุลแล้ว ยังทำให้เกิดการ ‘ตกปลาแบบไม่จงใจ’ หรือ ‘Bycatch’ ที่เหมารวมทั้งแมวน้ำ ฉลาม วาฬ โลมาและสัตว์อื่น ๆ ที่บังเอิญถูกจับมาเพียงเพราะต้องการจับปลาทูน่าจำนวนมากในหนึ่งครั้ง เราจึงอยากเล่าเรื่องที่ทุกคนมองข้ามเพราะใคร ๆ ต่างก็กินทูน่า แต่ไม่ได้คิดถึงที่มาที่ไปรวมถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว

ในงานชิ้นนี้เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนแบนการบริโภคปลาทูน่า แต่เพียงอยากแสดงให้เห็นว่าการตกปลาทูน่า มีผลกระทบรุนแรงที่ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ อาจต้องสูญพันธุ์ และทำให้ทรัพยากรอาหารของเราไม่มั่นคงอีกต่อไป เราเลยเลือกใช้โทนสีและไดเรกชั่นที่ค่อนข้างรุนแรงและโดดเด่น เพื่อเรียกร้องให้คนสนใจปัญหาเล็ก ๆ ที่แท้จริงแล้วไม่เล็กเลยเรื่องนี้

ถ้าใครอยากติดตามผลงานชิ้นอื่น ๆ ของ ‘แพรวา-สโรชา ลิ้มสวัสดิ์’ หรือ ‘CallSh0tgun’ ก็สามารถติดตามเธอได้ที่: Instagram: https://www.instagram.com/callsh0tgun/