คุยกับ ‘OLE’ ศิลปินผู้เชื่อมั่นในจังหวะเวลาและการเบ่งบานของดอกไม้

Post on 14 February

“การที่กระเป๋าของคุณขายไม่ได้ บางทีถ้าเราทำใหม่ให้มันกลายเป็นเสื้อยืด มันอาจจะขายดีมากก็ได้ หรือการที่แก้วมันขายไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่ามันเป็นจานไม่ได้นะ ทุกอย่างมันอยู่ที่จังหวะเวลาและที่ทางของมัน”

คือประโยคที่เราชอบมากหลังจากได้พูดคุยกับ ‘OLE’ หรือ ‘อนุสรณ์ ผสมกิจ’ ศิลปินภาพประกอบผู้ออกตัวว่าทำงานมาหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเป็นครีเอทีฟ ช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ ศิลปิน คนขายของมือสอง เจ้าของร้านกาแฟ และบาริสตา แต่จากอาชีพทั้งหมดที่ว่ามานี้เขาค้นพบว่า การได้เป็นนักวาดภาพประกอบคือสิ่งที่ชอบมากที่สุดและอยากจะทำมันไปตลอดชีวิต

ศิลปินได้บอกกับเราว่า เขามักจะวาดภาพ ‘ดอกไม้’ อยู่เสมอ ถึงแม้ว่าบางทีมันจะเป็นดอกไม้ที่ไม่เหมือนดอกไม้ แต่ก็ยังคงมองออกว่าเป็นดอกไม้อยู่ดี ซึ่งเหตุผลที่เขาเลือกวาดสิ่งนี้เพราะมันทำให้เขานึกถึง ‘มนุษย์’ เขามองว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็มีช่วงเวลาเป็นของตัวเองไม่ต่างจากดอกไม้ มีเกิด มีเบ่งบาน และมีร่วงโรย แต่ละพันธุ์ แต่ละดอก ก็ล้วนแล้วแต่มีเวลาที่เฉพาะตัวออกไป การนำดอกไม้มาใส่เป็นสัญลักษณ์ในภาพจึงบอกเล่าอารมณ์ที่เขาต้องการได้เป็นอย่างดี และนอกเหนือจากเรื่องนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เขาตั้งใจออกแบบเป็นพิเศษในผลงาน ก็คือเทคนิคที่ใช้

OLE เล่า “แรงบันดาลใจในการทำงานของผม เริ่มต้นจากมุมมองเล็ก ๆ ของตัวเอง อย่างการค้นหาตัวตน ความรัก ความสำเร็จ ผมเชื่อมั่นว่าการตั้งคำถามกับตัวเอง และการทำความเข้าใจตัวเอง เป็นสิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับการสร้างงานที่สะท้อนภาพใหญ่ ๆ เชิงสังคม เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นส่วนประกอบของสังคม การหาความหมายของตัวเองแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาด จึงได้สื่อสารและส่งต่อคำถามใหม่ ๆ ต่อไปเสมอ”

“เอกลักษณ์ในงานผมคือการวาดภาพสองมิติที่ดูเหนือจริง เน้นรูปร่างของวัตถุ และใช้สีที่มีน้ำหนักมาก ๆ เช่น ถ้าเป็นสีสดก็สดไปเลย สีเข้มก็จะดูคมเข้มลึกซึ้ง ถ้าลองดูในงานผมคุณจะเห็นดอกไม้ที่ไม่เหมือนดอกไม้ แต่ก็รู้ว่ามันคือดอกไม้ งานของผมเป็นแบบนั้น โดยผมเลือกสร้างสรรค์งานส่วนใหญ่ที่ว่ามานั้นด้วยปากกา Posca”

“เหตุผลที่ผมเลือกใช้ปากกาชนิดนี้เพราะเนื้อสีเรียบแห้งง่าย เนื้อสีมีคุณภาพและติดทนนาน เหมาะกับงานภาพสองมิติของผม อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าอยากทำลายกรอบการให้คุณค่าภาพวาด ที่มักจะมองว่าภาพวาดจากปากกาเป็นเหมือนภาพวาดชั้นสองที่มีคุณค่าและมูลค่าน้อยกว่างานที่ใช้สีแพง ๆ ซึ่งศิลปินหน้าใหม่แทบเอื้อมไม่ถึง อยากบอกคนทั่วไปเหมือนกันว่าผมใช้ปากกาเริ่มทำงานได้ คุณก็ทำได้เหมือนกัน แค่เราต้องหาสิ่งที่เหมาะกับงานของเราเจอ”

เมื่อเห็นว่าศิลปินเชื่อมั่นในเรื่องของจังหวะเวลาแบบนี้ แต่เขาก็ไม่ได้เฝ้าคอยรอจังหวะที่ว่าให้เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะเขายังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกฝนฝีมือด้วย ซึ่ง OLE ก็ได้เล่าให้เราฟังถึงช่วงเวลาเหล่านั้นเหมือนกันว่า “ผมเป็นคนวาดภาพช้าครับ ช้าถึงช้ามาก ย้ำคิดย้ำทำ ค่อย ๆ วาดออกมาทีละเส้น ลบแล้วลบอีก ผสมสีเป็นสิบ ๆ เฉดกว่าจะเจอสีที่ใช่ ผมจึงตั้งกฎให้ตัวเองว่าต้องวาดภาพเร็วทุกวัน แบบว่าจับเวลาเลย 10 นาทีต่อหนึ่งภาพอะไรแบบนี้ ซึ่งใน 10 นาทีนั้นผมต้องวาดอะไรออกมาก็ได้ โดยไม่คิด ไม่ร่าง ไม่วางแผนก่อน เพื่อฝึกให้มือและสมองทำงานออกมา”

“จาก 10 นาทีที่ตั้งใจไว้จนถึงตอนนี้ มันก็ผ่านมาเป็นพัน ๆ นาทีแล้วครับ และผมก็มีภาพวาดในชุดนี้หลายร้อยภาพ มันเป็นการฝึกฝนที่สนุก เพราะผมจะเจอลายเส้นใหม่ ๆ รูปทรงและสีสันใหม่ ที่บางครั้งก็หยิบมาปรับใช้ในงานสเกลใหญ่ ๆ ได้ และกล้ามเนื้อที่มือก็จะแข็งแรงจากการฝึกซ้ำในทุก ๆ วัน”

ศิลปินยกตัวอย่างผลงานที่เขาทำแล้วชอบที่สุดขึ้นมาให้เราฟังด้วยว่า "มันมีงานอยู่ชุดหนึ่ง เป็นงานชุดแรก ๆ ที่ผมผลิตขึ้นในช่วงปี 2020 ยังเป็นช่วงเวลาที่ผมค้นหาลายเส้นของตัวเองอยู่ งานที่ว่านั้นเป็น Zine ชื่อว่า ‘not flower it’s love’ และทำอาร์ตปริ้นภาพแยกแต่ละภาพ เป็นงานที่ผมนำดอกไม้มาแทนความรักแล้วใส่สัญลักษณ์ต่าง ๆ ลงไป”

“เอาจริง ๆ นะ ผมไม่เคยมั่นใจเลยว่างานนี้มันดีหรือเปล่า ผมพยายามไม่พูดถึงงานนี้ จนหลาย ๆ ปีผ่านมา ผมพบว่ามีคนมากมายชื่นชอบงานชุดนี้ หลายคนมาขอนำภาพไปสักบนร่างกายของเขา ผมได้งานจ้างหลายงานเพราะผู้จ้างเห็นภาพนี้ มีชาวต่างชาติยอมซื้อ Zine เล่มตัวอย่างทั้งที่สภาพเยินมากเพราะว่ามันหมดสต็อกแล้วเขาต้องกลับประเทศแล้ว และมันกลายเป็นภาพที่อยู่ในสตูดิโอของศิลปินที่ผมชื่นชอบและผมก็มีงานของเขาที่บ้านเหมือนกัน”

“มันเหมือนเป็นคำตอบของการทำงานว่า ดีหรือไม่ดีบางครั้งต้องใช้เวลา และผมก็รู้สึกว่าช่วงนี้งานชุดเก่า ๆ ที่ผ่านมา มันมีความหมายกับผมมาก” OLE กล่าวเสริมอย่างอารมณ์ดี

นอกเหนือจากการเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบแล้ว OLE ก็ยังเปลี่ยนผลงานของตัวเองให้กลายเป็นสินค้า Merchandise ออกวางขายด้วย เราเลยขอให้เขาปิดท้าย ด้วยการเล่าถึงความท้าทายในการทำทั้งสองอย่างนี้ไปพร้อม ๆ กันให้ฟังหน่อยว่าคืออะไร

“สำหรับผมแล้ว สิ่งที่เรียกว่า Merchandise มันมีความน่าสนใจตรงความสนุก มันสนุกที่ผมได้เห็นงานวาดของตัวเองกลายเป็นสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายเหลือเกิน แต่มันมีความท้าทายตรงที่ผมต้องต่อสู้กับใจของตัวเองพอสมควรในเรื่องการตัดสินคุณค่าของงานวาด”

ศิลปินขยายความ “คือพองานศิลปะของเรามันไปผสมผสานกับสิ่งอื่น แสดงว่าในตอนนี้มันจะไม่ใช่แค่ศิลปะแล้ว แต่มันจะมีเรื่องของฟังก์ชั่นเข้ามาเกี่ยวด้วย ถ้ามันขายได้ก็ดีไป แต่บางครั้งงานของผมก็ขายไม่ได้ พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผมก็ต้องมาเตือนตัวเองว่า การที่ขายไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่างานของผมไม่มีคุณค่านะ และผมก็อยากบอกคนอื่นด้วยเหมือนกันว่า การที่กระเป๋าของคุณขายไม่ได้ บางทีถ้าเราทำใหม่ให้มันกลายเป็นเสื้อยืด มันอาจจะขายดีมากก็ได้ หรือการที่แก้วมันขายไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่ามันเป็นจานไม่ได้นะ ทุกอย่างมันอยู่ที่จังหวะเวลาและที่ทางของมัน”

สามารถเฝ้ามองการเบ่งบานของดอกไม้ ในจังหวะเวลาแบบ OLE ได้ที่เพจ OLE
Instragram: ole.goods
Twitter: OLE Anusorn Phasomkit