Édouard Manet ศิลปินผู้เปิด ‘เปลือย’ ความ ‘โป๊’ และพาโลกศิลปะเคลื่อนสู่ยุคสมัยใหม่

Post on 24 January

‘อ๋อ พวกเขาอยากให้ฉันวาดรูปนู้ดใช่มั้ย? ได้ ฉันจะวาดให้ ...ฉันจะวาดมันออกมาในสภาพวาดล้อมที่แสนธรรมดาแบบนี้แหละ แบบผู้หญิงเหล่านั้นไง (หมายถึงผู้หญิงที่กำลังอาบน้ำในแม่น้ำ)’ - Édouard Manet

Édouard Manet และที่มาของภาพ Déjeuner sur l'herbe

ตลอดชีวิตการเป็นศิลปินกว่าสองทศวรรษศิลปินเจ้าลัทธิประทับใจที่ชื่อว่า เอดัวร์ มาแนต์ (Édouard Manet) ไม่มีช่วงไหนที่เขาว่างเว้นจากการตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ จนอาจเรียกได้ว่า วัฏจักรชีวิตการทำงานของมาแนต์คือการสร้างผลงาน โดนด่า ทำใหม่ โดนด่า แล้วก็วนซ้ำอยู่เช่นนั้นไปจนกระทั่งเขาสิ้นชีวิต

แต่การเป็นศิลปินอื้อฉาวแห่งยุคที่กระตุกต่อมศีลธรรมและทำลายขนบธรรมเนียมทางศิลปะนี่เองที่ทำให้ผลงานของมาแนต์มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการทางศิลปะให้ก้าวเข้าสู่ยุคของ ‘ศิลปะสมัยใหม่’ (Modern Art) ที่จะพลิกโฉมหน้าศิลปะตะวันตกไปตลอดกาล ผลงานเกือบทั้งชีวิตของมาแนต์มีสาระสำคัญที่ทำให้ผู้ชมต้องปรับโลกทัศน์ในการรับชมศิลปะใหม่ ศิลปะของมาแนต์หาใช่แค่ ‘ถ่ายทอดอะไร’ แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการ ‘ถ่ายทอดสิ่งสิ่งนั้นออกมาอย่างไร’

เหตุใดภาพนู้ดของมาแนต์จึงได้สั่นสะเทือนสังคมได้ระดับนั้น? ทั้งที่แต่ไหนแต่ไรมา ภาพหญิงเปลือยก็ปรากฏอยู่ในกระแสธารศิลปะมาตลอด และทั้งที่ฝีแปรงและเทคนิคของมาแนต์ก็สะท้อนบอิทธิพลที่ได้รับมาจากมาสเตอร์ของศิลปะคลาสสิกยุคก่อน ๆ ซึ่งตัวมาแนต์เองก็เคยกล่าวว่า เขาไม่เคยคิดจะสร้างเทคนิคศิลปะแบบใหม่ขึ้นมา แต่เหตุใดกัน ภาพหญิงเปลือยของเขาจึงได้กระตุกต่อมศีลธรรมและทำให้ชาวปาริเซียงในยุคนั้นต้องเบือนหน้าหนีด้วยความอุจาดตา?

The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ GroundControl จะขอพาทุกคนกลับไปย้อนรอยดูผลงานของ Édouard Manet ศิลปินผู้เป็นดังสะพานเชื่อมศิลปะของโลกเก่าและโลกใหม่เข้าด้วยกัน ผ่านการย้อนดูผลงานชิ้นสำคัญของมาแนต์ที่ ‘เปลือย’ แก่นของศิลปะเพื่อ ‘เปิด’ แง่มุมใหม่ในการชมศิลปะไปตลอดกาล

The barque of Dante (Copy after Delacroix), Edouard Manet (1854)

The barque of Dante (Copy after Delacroix), Edouard Manet (1854)

Old Master Fanboy

เอดัวร์ มาแนต์ (Édouard Manet) เกิดในครอบครัวชาวปาริเซียงมีฐานะ ในบ้านที่มีพ่อเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม ส่วนแม่ของเขาก็เป็นลูกอุปถัมภ์ของตระกูลขุนนางจากสวีเดน ด้วยความที่เกิดมาในครอบครัวชนชั้นสูง มาแนต์จึงถูกคาดหวังให้เติบโตขึ้นมาแล้วเข้าทำงานในสายอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคม โดยเฉพาะพ่อของเขาที่คาดหวังว่าเขาจะเดินตามรอยตัวเองด้วยการเป็นทนายหรือไม่ก็ทำงานในแวดวงกฎหมาย

แต่สุดท้ายแล้วมาแนต์ก็กระทำการขัดใจพ่อด้วยการสมัครเป็นทหารเรือ แต่ก็สอบไม่ผ่าน ซึ่งในช่วงที่พลาดฝันนี้เอง ลุงของเขาก็ได้แนะนำให้มาแนต์ไปเข้าเรียนในชั้นเรียนวาดภาพ และที่นั่นเองที่เขาได้พบกับ Antonin Proust ศิลปินฝรั่งเศสที่ในกาลต่อมาจะได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศิลปะของฝรั่งเศส และกลายเป็นเพื่อนสนิทผู้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจทางศิลปะของมาแนต์

ระหว่างปี 1850 - 1856 มาแนต์เริ่มศึกษาศิลปะอย่างจริงจังด้วยการเข้าเรียนในสถาบันสอนศิลปะของ Thomas Couture ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ชำนาญในงานจิตรกรรม Large-scale ที่ใช้เทคนิคศิลปะแบบยุคคลาสสิก ซึ่งด้วยอิทธิพลที่ได้รับจากอาจารย์นี้เองที่ทำให้มาแนต์ได้ฝึกเทคนิคศิลปะคลาสสิก โดยเฉพาะการฝึกลอกแบบจากผลงานของบรรดามาสเตอร์ทั้งหลายที่จัดแสดงอยู่ใน Louvre ทั้งของ Frans Hals, Francisco de Goya หรือ Diego Velazquez ซึ่งมาแนต์ก็จริงจังกับการฝึกฝีมือด้วยการลองเลียนแบบภาพวาดศิลปินดังมาก จนถึงขนาดที่ในปี 1857 มาแนต์ได้ไปพบกับ Eugène Delacroix เพื่อขอคัดลอกภาพ Dante and Virgil in Hell ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Musee du Luxembourg

ที่จริงแล้วเบื้องหลังความตั้งใจในการฝึกวาดภาพด้วยการลอกแบบจากผลงานของศิลปินดังเหล่านี้ ก็เพราะมาแนต์ตั้งใจที่จะศึกษาและแยกองค์ประกอบที่อยู่ในงานคลาสสิก เพื่อดูว่าแต่ละองค์ประกอบทำงานกับผู้ชมอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแสง สี หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดเงาในงานศิลปะ โดยมาแนต์มุ่งมั่นที่จะสกัดให้ได้ว่า องค์ประกอบเหล่านี้ทำงานกับผู้ชมอย่างไรในแวบแรกที่ตาเห็น

 A Bar at the Folies-Bergère (1882)

A Bar at the Folies-Bergère (1882)

ออกนอกกรอบ

ในตอนที่มาแนต์เริ่มวาดภาพในช่วง 1950s แวดวงศิลปะในยุคนั้นยังไม่คุ้นเคยกับงานศิลปะที่นำเสนอภาพชีวิตประจำวันและฉากเมืองของกรุงปารีสที่เห็นอยู่ในทุกวี่ทุกวัน ในยุคนั้น ศิลปินที่จะได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จในอนาคตจึงมุ่งมั่นวาดแต่ภาพที่นำเสนอเรื่องราวคลาสสิกในปกรณัมหรือภาพจากตำนาน ด้วยความหวังว่าจะได้จัดแสดงผลงานของตัวเองที่นิทรรศการ French Academy หรือที่เรียกว่า Salon ซึ่งเป็นเวทีการจัดแสดงผลงานที่คัดสรรเฉพาะผลงานของศิลปินที่ได้รับการยอมรับและเข้าเกณฑ์มาตรฐานสุนทรียะขั้นสูงของคณะกรรมการ

แต่มาตรฐานและชนชั้นทางศิลปะเหล่านั้นก็ถูกทำลายลงด้วยการมาถึงของศิลปินที่ชื่อว่ามาแนต์

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น มาแนต์และกลุ่มเพื่อนของเขาอย่าง Edgar Degas และ Henri Fantin-Latour ล้วนเป็นศิลปินที่เดินตามสุนทรียะและเทคนิคของเหล่า Old Master ยุคก่อน ๆ และก็ชื่นชอบในฝีแปรงและสไตล์คลาสสิกแบบนี้จริง ๆ ซึ่งด้วยความที่มาแนต์ศึกษาผลงานศิลปะชั้นสูงมามากมาย ทำให้เขามีเพื่อนอยู่ใน French Academy ซึ่งทำให้เขามีโอกาสสูงมากที่จะได้จัดแสดงผลงานในนิทรรศการอันทรงเกียรติแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม มาเนต์และผองเพื่อนเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้อื่น ๆ ในการถ่ายทอดประเด็นทางศิลปะ พวกเขารู้สึกจับใจกับภาพทิวทัศน์และสีสันของเมืองปารีส เห็นความงดงามในกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยากจะวาดภาพในหัวข้อตามขนบอย่างเดียว

และแม้ว่าจะสนใจเทคนิคศิลปะชั้นสูงตามขนบ แต่มาแนต์และเพื่อนก็อยากทดลองเทคนิคอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น แทนที่เขาจะผสมสีที่อยากได้ในจานสีให้เสร็จก่อนแล้วค่อยป้ายลงไปบนผ้าใบ เขากลับนำสีสองสีมาวางคู่กันในงานแบบตรง ๆ แล้วค่อยให้ตาของคนดูผสานสีนั้นเอง ซึ่งเทคนิคการทำแบบนี้ก็ทำให้นักวิจารณ์ศิลปะในยุคนั้นเหยียดหยัน และมองว่างานของมาแนต์คืองาน ‘ที่ยังไม่เสร็จ’ แต่กล้าที่จะเอามาจัดแสดง

หนักกว่าการใช้เทคนิคใหม่ สิ่งที่ทำให้มาแนต์ ‘โดนจวกยับ’ มากกว่านั้นก็คือการที่เขาถ่ายทอดภาพที่คนเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ของถนนในกรุงปารีสที่ทำให้คนงงว่า ‘วาดมาทำไม’ ไม่ว่าจะเป็นภาพของขอทาน คนร้องเพลงบนถนน คนงานก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งภาพสุภาพสตรีชั้นสูงนั่งจิบชาที่คาเฟ่ข้างทาง ซึ่งมาแนต์ได้รับอิทธิพลในการวาดภาพชีวิตประจำวันเหล่านี้มาจากนวัตกรรมการถ่ายภาพที่ ‘กำลังมา’ ในช่วงนั้น โดยผู้ชมจะเห็นได้ว่ามาแนต์นำเสนอภาพวาดของเขาในมุมมองของภาพถ่าย ทั้งการที่จู่ ๆ ก็มีคนเดินผ่านเข้ามาในซีน หรือการนำเสนอภาพแบบไม่เต็มตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการนำเสนอภาพในรูปแบบของภาพถ่ายทั้งสิ้น

ตัวอย่างของการนำเสนอภาพในมุมมองใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายของมาแนต์เห็นได้ชัดในผลงานที่ชื่อว่า A Bar at the Folies-Bergère (1882) ที่ตรงมุมซ้ายของภาพปรากฏขาของนักแสดงผาดโผน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะไม่มีวันได้เห็นในงานศิลปะชั้นสูง

 Concert in the Tuileries Gardens (1860-1)

Concert in the Tuileries Gardens (1860-1)

ความฉาวแห่ง Salon

ในปี 1859 มาแนต์ได้ส่งผลงานชื่อ Absinthe Drinker เพื่อเข้ารับการพิจารณาให้จัดแสดงที่ Salon แม้ว่างานชิ้นนี้จะอ้างอิงมาจากผลงานของ Delacroix แต่ในครั้งนั้นเขาก็ได้รับคำปฏิเสธ จนกระทั่งในปีถัดมานั่นเองที่งานของเขาได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการอันทรงเกียรติแห่งนี้ในที่สุด ซึ่งผลงานที่เขาส่งเข้าประกวดในครั้งนั้นอย่าง Artist's Parents (1860, ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Musee d'Orsay) และ Le Guitariste (1860, ปัจจุบันอยู่ที่ Metropolitan Museum of Art แห่งนิวยอร์ก) ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี และได้รับรางวัล "honorable mention" ด้วย

แต่แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จจากการได้จัดแสดงในนิทรรศการแห่งปีอย่าง Salon มาแนต์ก็ยังรู้สึกว่ามีสิ่งอื่นที่เขาอยากจะวาดนอกเหนือไปจากการวาดภาพจากปกรณัมตามที่กระบวนทัศน์ศิลปะชั้นสูงในสมัยนั้นนิยมกัน

ความต้องการลึก ๆ ในใจของมาแนต์ก็ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนคนสำคัญในชีวิตที่เขาได้รู้จักในอีกสองปีถัดมา นั่นก็คือ Charles Baudelaire กวีที่กลายมาเป็นเพื่อนและผู้สนับสนุนให้มาแนต์ยึดมั่นในแนวทางของตนเอง โดยตัว Baudelaire เองก็เป็นกวีที่มุ่งแหวกขนบงานเขียน และสนใจในการสะท้อนภาพความจริงแห่งยุคสมัย หรือชีวิตของคนในปัจจุบันมากกว่าที่จะนำเสนอเรื่องเล่าวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษหรือเทพในปกรณัม ซึ่ง Baudelaire ก็มองว่าสิ่งที่มาแนต์ต้องการจะทำในงานศิลปะนั้นก็เหมือนกับที่เขาตั้งใจจะทำกับงานวรรณกรรม ...พวกเขาต่างเห็นตรงกันว่า ภาพชีวิตของคนในยุคปัจจุบันก็ยิ่งใหญ่พอที่จะถูกบันทึกไว้ในภาพวาดหรืองานเขียน

การโคจรมาพบกันของสองศิลปินต่างแขนงนี้ปรากฏผลลัพธ์ออกมาเป็นภาพ Concert in the Tuileries Gardens (1860-1) ซึ่งนอกจากจะกลายเป็นผลงานที่สะท้อนความขบถต่อขนบของมาแนต์ในแง่ของเทคนิคการบิดฟอร์มในภาพให้ดูบิดเบี้ยวไม่สมจริงแล้ว (Disortion) นี่ยังเป็นภาพที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่เปิดศักราชของศิลปะสมัยใหม่ ด้วยการฉายภาพของทิวทัศน์คนเมืองแสนธรรมดาที่หาใช่เทพธิดาหรือวีรบุรุษในตำนานกรีก ซึ่งในภาพนั้นมาแนต์ก็ได้แอบวาดตัวเองและเพื่อนคนสนิทของเขาลงไปด้วย หนึ่งในเพื่อนที่ปรากฏในภาพนี้ก็คือ Baudelaire นั่นเอง

 Luncheon on the Grass (1862)

Luncheon on the Grass (1862)

ไม่ว่านักวิจารณ์ศิลปะและคนในแวดวงศิลปะจะ ‘จวกยับ’ ผลงานที่นำเสนอภาพคนเมืองของมาแนต์แค่ไหน แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า ‘ความฉาว’ ที่ยิ่งกว่านั้นกำลังจะมาเยือนพื้นที่ศิลปะอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาในไม่ช้า การมาถึงของภาพ Luncheon on the Grass (1862) ของมาแนต์ที่จัดแสดงที่ ‘นิทรรศการศิลปะตกรอบ’ (Salon des Refusés) ซึ่งเป็นนิทรรศการที่รวมผลงานที่ถูกปฏิเสธจาก Salon อันศักดิ์สิทธิ์ และจัดขึ้นโดยเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจกับการปิดกั้นตัวเองอยู่ในกรอบของขนบศิลปะดั้งเดิมอันเต็มไปด้วยชนชั้นและกรอบเกณฑ์ ซึ่งนิทรรศการศิลปะตกรอบนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก Napoleon III ที่ได้เห็นผลงานที่ถูกปฏิเสธจาก Salon และประกาศว่า ประชาชนควรมีสิทธิ์ตัดสินใจเองว่าจะเลือกดูผลงานศิลปะชิ้นไหน

ในแต่ละวันมีผู้เข้าชมนิทรรศการ Salon des Refusés ถึงวันละพันคน และหนึ่งในภาพที่ทำให้เกิดประเด็นดราม่าและกระตุ้นต่อมศีลธรรมของสาธารณชนก็คือภาพ Luncheon on the Grass นี่เอง โดยความฉาวใน Luncheon on the Grass ที่ทำให้ชาวปาริเซียงยุคนั้นต้องเมินหน้าหนีด้วยความอับอาย ก็คือการนำเสนอภาพของหญิงสาวในสภาพร่างเปลือยเปล่าที่ถูกล้อมรอบด้วยสุภาพบุรุษในชุดเครื่องแต่งกายเต็มยศ ยิ่งไปกว่านั้น หญิงสาวในภาพยังหันมาสบตากับผู้ชมอย่างไม่อับอายในสภาพอันโป๊เปลือยของตัวเอง จนทำให้ผู้ชมเองนั่นแหละที่ต้องเป็นฝ่ายเบือนหน้าหนี

ความแซ่บอีกประการหนึ่งของภาพปิคนิกบนผืนหญ้าแห่งนี้ก็คือการที่มาแนต์อ้างอิงองค์ประกอบในภาพมาจากภาพ The Pastoral Concert (1509) ของมาสเตอร์คนสำคัญแห่งยุคเรเนซองค์อย่าง Titian ซึ่งการอ้างอิงภาพศิลปะชั้นสูงนี้ก็ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความตั้งใจของมาแนต์ที่จะนำเสนอภาพ Sex Worker ในงานศิลปะ

Olympia (1863)

Olympia (1863)

เมื่อได้เปิดก็อกแล้ว ก็เหมือนความสร้างสรรค์และความมุ่งหมายที่จะทลายกรอบศิลปะดั้งเดิมของมาแนต์จะพรั่งพรูและไม่หยุดลงง่าย ๆ ต่อจากภาพ Luncheon on the Grass แล้ว มาแนต์ก็ทำการเขย่าต่อมศีลธรรมของคนปารีสอีกครั้งด้วยภาพ Olympia (1863) ที่คราวนี้อ้างอิงจากผลงานภาพนู้ด Nude Maja (1797) ของมาสเตอร์อย่าง Goya และ Venus of Urbino (1538) ของ Titian ซึ่งความฉาวของภาพนี้ก็ถึงกับที่นักวิจารณ์ศิลปะในยุคนั้นต้องออกมาเตือนว่า ภาพนี้ไม่เหมาะกับผู้หญิงท้องเพราะดูแล้วอาจจะทำให้ตกใจจนแท้งเลยก็ได้! (ว่าซั่น)

ความโป๊ของ Olympia ที่เกินจะรับได้ของคนในยุคนั้นก็มาจากการที่มาแนต์นำเสนอภาพของเทพธิดา Olympia ในรูปแบบของหญิงสาวปุถุชนคนธรรมดาที่แก้ผ้าเปลือยเปล่า แล้วหันมาสบตากับผู้ชมอย่างไม่กลัวเกรง (อีกแล้ว) นอกจากนี้องค์ประกอบและรายละเอียดในภาพยังทำให้เทพธิดาในภาพก้ำกึ้งระหว่างจะเป็นเทพหรือโสเภณี ทั้งรองเท้าดูหรูหราแฟนซีที่เธอสวม เครื่องประดับราคาแพงที่อยู่บนตัว รวมไปถึงช่อดอกไม้หรูหรา ที่ชวนให้ผู้ชมตีความว่า สิ่งของเหล่านี้น่าจะเป็นของขวัญที่เธอได้รับจากบรรดาลูกค้าที่รักใคร่และหลงใหลในตัวเธอ

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เป็นประเด็นมากที่สุดก็คือการที่มาแนต์นำเสนอภาพของหญิงรับใช้ผิวดำในภาพ ซึ่งในช่วงที่มาแนต์วาดภาพนี้ ฝรั่งเศสเพิ่งยกเลิกทาสได้เพียง 15 ปีเท่านั้น อคติทางเชื้อชาติจึงยังครุกรุ่นอยู่ในบรรยากาศของสังคมฝรั่งเศส และคนฝรั่งเศสก็ยังไม่คุ้นเคยกับการนำเสนอภาพของคนผิวดำในงานศิลปะชั้นสูงอย่างงานจิตรกรรม

A Studio in the Batignolles (Homage to Manet), Henri Fantin-Latour (1870) ในภาพนี้ มาแนต์นั่งอยู่หน้าขาตั้งวาดภาพ ล้อมรอบด้วย Zacharie Astruc, Otto Scholderer, Auguste Renoir, Émile Zola, Edmond Maître, Frédéric Bazille และ Claude Monet

A Studio in the Batignolles (Homage to Manet), Henri Fantin-Latour (1870) ในภาพนี้ มาแนต์นั่งอยู่หน้าขาตั้งวาดภาพ ล้อมรอบด้วย Zacharie Astruc, Otto Scholderer, Auguste Renoir, Émile Zola, Edmond Maître, Frédéric Bazille และ Claude Monet

ไอดอลของ Impressionists

ในช่วงก่อนที่มาแนต์จะสั่นสะเทือนสังคมด้วยภาพนู้ดทั้งสอง ศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ในยุคนั้นอย่าง Claude Monet, Pierre-Auguste Renoir, Camille Pissarro, Alfred Sisley และ Paul Cézanne ก็เริ่มเบื่อกับการถูกจำกัดขอบเขตในการทำงานศิลปะด้วยขนบดั้งเดิม ซึ่งการมาถึงของ Luncheon on the Grass และ Oympia ก็มาปลดล็อกจิตรกรหนุ่มเหล่านี้ และก่อความหวังในใจของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ว่า นี่คือสัญญาณการมาถึงของศิลปะยุคใหม่ที่พวกเขาเฝ้ารอ

ด้วยความชื่นชมในตัว Manet ศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้จึงได้ตั้งให้รุ่นพี่อย่าง Manet เป็นต้นแบบของกลุ่ม Impressionists ทั้งในแง่วิธีคิดและเทคนิคศิลปะแบบใหม่ โดยศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ชื่นชมในการใช้สีและการนำเสนอผลกระทบของแสงในภาพของ Manet มาก ๆ หนึ่งในศิลปินที่ยึดให้ Manet เป็นต้นแบบและผู้ส่งอิทธิพลในงานศิลปะของตัวเองมากที่สุดก็คือ Monet นั่นเอง

Monet Working in His Boat (1874

Monet Working in His Boat (1874

แม้ว่าจะได้รับการยกย่องจากกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่หัวขบถเหล่านี้เป็นอย่างมาก แต่ในช่วงแรก มาแนต์ก็ยังไม่ค่อยเข้าไปคลุกคลีกับศิลปินกลุ่มนี้เท่าไหร่นัก เพราะเขายังอยากที่จัดแสดงผลงานใน Salon อยู่ อย่างไรก็ตาม หลังปี 1872 เป็นต้นมา มาแนต์ก็เริ่มสนิทกับ Monet และ Renoir มากขึ้น ซึ่งศิลปินรุ่นน้องเหล่านี้ก็คือผู้ที่ชักชวนให้มาแนต์ออกไปวาดภาพข้างนอกสตูดิโอ (En plein air) โดยหลักฐานมิตรภาพของศิลปินต่างรุ่นก็ปรากฏในภาพ Monet Working in His Boat (1874) ที่เขาวาด Monet ขณะวาดภาพอยู่ในสตูดิโอลอยน้ำของเขา

The House at Rueil, Edouard Manet (1882)

The House at Rueil, Edouard Manet (1882)

การคลุกคลีกับศิลปินรุ่นใหม่และการออกไปหาแรงบันดาลใจนอกสตูดิโอก็ส่งผลให้มาเนต์เริ่มทำงานกับชุดสีที่สว่างขึ้น โดยในช่วงนี้มาแนต์ก็ได้สร้างผลงานที่ใช้สีสันสดใสและสว่างขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Railway (1873), On the River (1874), Argenteuil (1874) และ The Monet Family in the Garden (1874).

แต่แม้ว่าจะใกล้ชิดกับกลุ่ม Impresionnists มากเพียงใด แต่เมื่อทั้งกลุ่มได้จัดงานแสดงผลงานอย่างเป็นทางการในปี 1874 มาแนต์ก็กลับถอนตัวจากการจัดแสดง และปล่อยให้ Monet ได้ฉายแสงและกลายมาเป็นผู้นำของกลุ่มศิลปิน Impressionist ในกาลต่อมา

ในช่วงท้ายของชีวิต มาแนต์เริ่มป่วยและได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในบ้านของเขาที่เมือง Rueil และวาดแต่ภาพหุ่นนิ่งของดอกไม้และวิวทิวทัศน์สวนเท่านั้น มาแนต์เสียชีวิตด้วยโรคซิฟิลิสในวัย 51 ปี ซึ่งเขาติดมาในช่วงอายุ 40 ร่างของเขาถูกฝังที่ Cimetiere de Passy ในกรุงปารีส แต่มรดกจากการเชื่อมศิลปะยุคเก่ากับยุคใหม่ที่เขาริเริ่มไว้นั้นก็ได้รับการยกย่องไปตลอดกาล

อ้างอิง : Édouard Manet, Edouard Manet, Édouard Manet Is Considered the Father of Modernism. Here Are His Most Famous Works., Manet: The Difference Between Nude and Naked,

Neret, Gilles (2003). Manet. Taschen. ISBN 3-8228-1949-2.
Richardson, John (1992). Manet. Phaidon Colour Library. ISBN 0-7148-2755-X.