GC_beingartist_René Magritte.jpg

René Magritte : ศิลปินที่ทรยศต่อภาพวาดด้วยภาพวาด

Post on 24 January

“เมื่อใครคนหนึ่งเห็นภาพของฉัน เขาจะถามฉันด้วยประโยคง่าย ๆ ว่า ‘สิ่งนี้หมายความว่าอะไร’ ความจริงแล้วมันไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะความลึกลับก็คือความว่างเปล่า มันเป็นสิ่งที่เกินจะรับรู้ได้”

  • René Magritte (1898-1967)

ไม่ว่าจะเป็นร่างกายผู้ชาย ผู้หญิง หมวก กะลา แอปเปิล หิน หน้าต่าง หรือสิ่งของทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำ ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจและส่วนผสมหลักในงานของศิลปิน Surrealism ในตำนานชาวเบลเยี่ยมอย่าง เรอเน มากริต (René Magritte) ที่พาภาพวาดก้าวข้ามสิ่งที่ไม่มีความหายตายตัวตามที่เราเข้าใจอีกต่อไป..

เรอเน มากริต (René Magritte) คือศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ชั้นแนวหน้าที่ฝากผลงานศิลปะไว้มากมาย ความสัมพันธ์ระหว่างจินตนาการกับสิ่งของใกล้ตัวที่คุ้นเคย ถูกนำมาวางในตำแหน่งที่ผิดไปจากการรับรู้เดิม จนไม่ว่าใครได้เห็นเป็นต้องประหลาดใจไปตาม ๆ กัน มากริตเล่นแร่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความหมาย’ อย่างต่อเนื่องในผลงานของเขา เบื้องหลังภาพวาดแต่ละชิ้น กลายเป็นพื้นที่ปริศนาที่เปิดกว้างให้ผู้ชมได้ถกเถียงกันอย่างเป็นอิสระเรื่อยมา เพราะภาพวาดเหล่านั้นไม่ได้มีความหมายตายตัว แม้แต่ผู้สร้างงานอย่างมากริตเองก็ตอบไม่ได้เช่นกันว่าภาพวาดของเขาหมายความว่าอะไร

แม้ว่าเส้นทางชีวิตของมากริตในฐานะศิลปิน จะตะกุกตะกักและผ่านช่วงทดลองสไตล์ภาพมาหลายครั้ง เนื่องจากบริบททางการเมืองและสังคม แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งต่าง ๆ ซึ่งประกอบรวมกันเป็นภาพวาดหนึ่ง ต่างเกิดขึ้นผ่านปลายพู่กันทั้งสิ้น เขายังคงยืนยันแนวคิดในการสร้างงานโดยบอกว่า ไม่มีใครจับต้องวัตถุบนผืนผ้าใบได้โดยแท้จริง มากริตยังกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความคิดเหนือความจริงเพิ่มขึ้นอีกขั้นในผลงานหลาย ๆ ชิ้น ด้วยการตั้งชื่อภาพขัดแย้งกับตัวภาพอีกทีหนึ่ง จนสร้างได้รับการตอบรับทั้งในเชิงบวกและลบไม่น้อยตลอดการทำงาน แต่ไม่ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นอย่างไร ส่ิงหนึ่งซึ่งการันตีความสามารถของเขาได้คือ งานของเขามักกลายมาเป็นกระแสข้อถกเถียงเสมอ

ด้วยแนวคิดหัวขบถอันเฉียบคม จินตนาการล้ำเลิศของมากริตที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดแต่ก็เข้าไม่ถึงภาพวาด รวมทั้งการจัดวางองค์ประกอบภาพที่ดูเรียบง่ายแต่มีสีสันดึงดูดตา ทำให้ภาพวาดของมากริตส่งอิทธิพลถึงลัทธิทางศิลปะ และผลงานด้านอื่น ๆ ในยุคหลังมากมายโดยเฉพาะนักสร้างหนัง ผลงานที่เข้าตาเหล่านี้ ทำให้ชื่อของมากริตยังคงเป็นที่รู้จักมาถึงปัจจุบัน The Art of Being An Artist ในสัปดาห์นี้ GroundControl จึงขอพาทุกคนย้อนกลับไปสืบต้นเรื่องของจินตนาการอันล้ำเลิศ.. กว่าจะมาเป็น เรอเน มากริต ศิลปินในดวงใจของใครหลายคน ว่าที่จริงแล้วลายเส้นในภาพวาด และเส้นทางชีวิตของมากริต ส่งต่อความเหนือจริงถึงกันและกันได้อย่างน่าทึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว !

René François Ghislain Magritte เกิดที่ Lessines, Hainaut ประเทศเบลเยียม ในปี 1898 เขาเป็นพี่คนโตของครอบครัวที่พ่อดำเนินกิจการสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า แม้ว่าจะไม่ค่อยมีใครรู้ภูมิหลังชีวิตในวัยเด็กของมากริตมากนัก จนเดาได้ยากว่าโลกของเขาในเวลานั้น ส่งผลถึงงานศิลปะอย่างไรบ้าง แต่มีการบอกเล่ากันว่า เขาเริ่มเรียนวาดรูปในช่วงปี 1910

หลังจากนั้นเพียง 2 ปี เหตุการณ์สำคัญที่สร้างบาดแผลให้ตัวมากริตจนยากจะปิดได้ก็เกิดขึ้น เมื่อแม่ของเขาตัดสินใจปลิดชีพตัวเองด้วยการจมดิ่งลงแม่น้ำแซมเบอร์ (Sambre) ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แม่ของเขาพยายามจะฆ่าตัวตาย สิ่งนี้คือเหตุผลทำให้สามีของเธอ (พ่อของมากริต) จำเป็นต้องขังเธอไว้ในห้องนอน แต่แล้ววันหนึ่งเธอกลับหนีออกไปได้ นำมาสู่ความน่าสลดใจในหลายวันต่อมา อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตในช่วงหลังได้ออกมาค้านสาเหตุการณ์ตายของแม่มากริต เพราะคำบอกเล่าเรื่องการตายนี้ มาจากพยาบาลประจำครอบครัวเท่านั้น จึงไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเธอเสียชีวิตไปเพราะอะไรกันแน่ แต่ส่ิงหนึ่งที่สามารถยืนยันได้ก็คือ มากริตเจอแม่ของเขาครั้งสุดท้ายในร่างที่ถูกหุ้มด้วยผ้า ซึ่งหลาย ๆ คนเชื่อว่าสิ่งนี้คือที่มาของภาพวาดคนที่ถูกผ้าขาวคลุมปิดใบหน้า

แต่เมื่อยังมีลมหายใจ มากริตก็คงต้องใช้ชีวิตต่อไป.. เขาปลอบประโลมใจจากความเจ็บปวดด้วยการพาตัวเองก้าวเข้าสูโลกของภาพยนตร์ นวนิยาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘การวาดภาพ’ ผลงานชิ้นแรกเริ่มของเขา ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบอิมเพรสชันนิสต์ (Impressionism)
.มากริตย้ายจากบ้านเกิดของตัวเองมาอยู่บรัสเซลส์ (Brussels) ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นอีกสองปี เขาก็เข้าเรียนที่ Académie Royale des Beaux-Arts ภายใต้การดูแลของศิลปินชาวเบลเยียม คอนสแตนต์ มองตาลด์ (Constant Montald) แม้ว่าเขาจะรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนอยู่นั้น ดูไม่น่าสนใจเอาเสียเลย แต่เขาก็ได้เปิดโลกศิลปะของตัวเองผ่านการเรียน งานของเขาในช่วงหลังจึงมีกลิ่นอายของลัทธิอนาคต (Futurism) และลัทธิคิวบิสม์ (Cubism) ที่เน้นรูปทรงเรขาคณิตเป็นส่วนผสมหลักในการวาดรูปร่างคน และจัดองค์ประกอบภายในภาพ อันที่จริง ภาพวาดของมากริตหลายชิ้นในช่วงต้นปี 1920 เห็นได้ชัดเจนว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจ้าพ่อแห่งลัทธิคิวบิสม์อย่าง ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) มาแบบเต็ม ๆ

มากริตเข้ารับราชการทหารในปี 1920 เป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะกลับมาแต่งงานกับ Georgette Berger เพื่อนในวัยเด็กของเขา และเร่ิมทำงานในโรงงานวอลเปเปอร์ เขาได้รับงานนอกอย่างการออกแบบโปสเตอร์และโฆษณาอิสระควบคู่ไประหว่างการทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าเขายังคงหาเวลาแต่งแต้มสีสันลงบนผืนผ้าใบแบบที่เขาชอบด้วยเช่นกัน

ช่วงเวลานี้ มากริตได้เจอกับกวีที่ชื่อ มาร์เซล เลอคอมต์ (Marcel Lecomte) ซึ่งพาเขาให้ได้รู้จักกับภาพวาด The Song of Love (1914) ของ จิออร์จิโอ เด คิริโก (Giorgio de Chirico) ศิลปินลัทธิเหนือจริงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิตาลี งานนี้ทำให้เขาถึงกลับกลั้นอาการปลาบปลื้มไว้ไม่อยู่จนพูดออกมาทำนองว่า ตอนที่เขามองภาพวาดของคีริโก เป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกว่า ‘ตาของเขาเห็นความคิดในหัวเป็นครั้งแรก’ ภาพวาดชิ้นนี้ ส่งผลถึงทิศทางในงานต่อจากนั้นของมากริต ที่กำลังจะนำมาสู่สไตล์อันโดดเด่นในเวลาถัดมา

มากริตขายงานศิลปะชิ้นแรกของเขา ซึ่งเป็นภาพวาดนักร้องที่ชื่อ เอเวลีน เบอร์ลิน (Evelyn Brelin) ในปี 1923 นำมาสู่การเซ็นต์สัญญากับ Galerie la Centaure ในกรุงบรัสเซลส์ ปี 1926 มากริตผันตัวมาเป็นศิลปินเต็มเวลา หลังจากนั้นเขาก็ได้สร้างภาพวาดเหนือจริงรูปแรกขึ้นในปีเดียวกัน โดยตั้งชื่อผลงานว่า ‘The Lost Jockey’ (Le Jockey Perdu) แต่น่าเสียดายที่งานของเขาไม่ต้องตาผู้ชมและเหล่านักวิจารณ์เท่าไรนัก ทำให้มากริตถึงกับท้อแท้ และตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดไปอยู่ปารีส ที่ซึ่งเขาได้พบกับเพื่อนสายเซอร์เรียลอย่าง อ็องเดร เบอร์ตง (André Breton)

ช่วงที่อยู่ฝรั่งเศส มากริตอาศัยแถบย่านชานเมืองของ Perreux-sur-Marne ในปารีสร่วมกับ อ็องเดร เบอร์ตง (André Breton), ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí), มากซ์ เอิร์นส์ (Max Ernst), โจอัน มิโร (Joan Miró) รวมถึงกวีอย่าง พอล เอลาร์ด (Paul Éluard) สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนประเภทเดียวกัน ส่งผลให้ไฟการสร้างงานเหนือจริงของมากริตพลุ่งพล่านจนสไตล์งานของเขาเริ่มชัดเจนมากขึ้น

มากริตเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการนำสิ่งของใกล้ตัวที่ทุกคนรู้จักในชีวิตประจำวัน มาหา ‘ความหมายใหม่’ โดยใส่ภาพเหล่านั้นเข้าไปในสภาพแวดล้อมที่ดูผิดที่ทาง เขาต่อยอดความคิดของตัวเอง จนในปีต่อมา ภาพวาดชิ้นสำคัญที่ปรากฏคู่รักปริศนาที่จูบกันใต้ผ้าคลุมหัวสีขาวในชื่อ ‘The Lovers’ (1928) ก็เกิดขึ้น ผ้าสีขาวนี้เชื่อกันว่าตัวศิลปินได้รับอิทธิพลมาจากความเจ็บปวดที่แม่ของเขาปลิดชีพตัวเองเมื่อเขายังเด็ก

ในทางจิตวิทยา การเล่นกับความเป็นจริงและภาพลวงตา ที่เราเห็นกันในงานของมากริตมาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้ว่าการจากไปของแม่ ส่งผลต่อความรู้สึกภายในตัวมากริตมากน้อยเพียงใด นักจิตวิเคราะห์ได้ตั้งสมมติฐานว่า มากริตกำลังสะท้อนความจริงและภาพที่ติดอยู่ในจิตใจของเขา ผ่านฝีแปรงบนผืนผ้าใบ เปรียบง่าย ๆ ก็คือ ความจริงในภาพวาดของเขาอาจเป็นเหมือนสิ่งที่เขารู้ที่ว่า ‘แม่ตายไปแล้ว’ กับการจินตนาการถึงสิ่งที่เขาต้องการนั่นคือ ‘แม่ยังมีชีวิตอยู่’

นอกจากภาพ The Lovers แล้ว เวลาเดียวกันนี้ เรายังได้เห็นงานชิ้นสำคัญอย่าง ‘The False Mirror’ กระจกนัยย์ตาขนาดยักษ์ที่เผยให้เห็นภาพท้องฟ้าสดใสแต่แฝงไปด้วยความลับเกินรับรู้ด้วยเช่นกัน

มากริตพาภาพวาดของเขาไปไกลกว่าแค่การแต่งแต้มสีลงบนผืนผ้าใบโดยเริ่มลองใส่ข้อความลงในภาพวาด เกิดเป็นผลงานชิ้นสำคัญอย่าง ‘The Treachery of Images’ (1929) หรือที่แปลกันว่า ‘การทรยศต่อภาพ’

ตัวภาพปรากฏเพียงบ้องยาสูบโบราณ และคำใต้ภาพเขียนว่า ‘Ceci n'est pas une pipe - นี่ไม่ใช่บ้องยาสูบ’ ซึ่งถือว่าต่างออกไปจากงานศิลปะในสมัยนั้นโดยสิ้นเชิง ทำเอาผู้พบเห็นเป็นงงตามกันเป็นแถว เพราะภาพที่เห็นกับประโยคด้านล่างขัดกันกับความหมายเดิมที่พวกเขารับรู้ ส่งผลให้งานชิ้นนี้สร้างชื่อเสียงโด่งดังจนชื่อของมากริตเริ่มได้รับความสนใจ

ทำไมภาพตรงหน้าที่เห็นบ้องยาสูบกันชัด ๆ แบบนี้ ถึงไม่ใช่บ้องยาสูบ?

เมื่อมากริตถูกถามเกี่ยวกับภาพวาดสำคัญ เขาตอบกลับไปเพียงว่า “ที่ไม่ใช่บ้องยาสูบเพราะคุณเติมยาสูบลงไปไม่ได้ยังไงล่ะ” แม้ว่าพอฟังแล้ว เราอาจสงสัยเหมือนว่าศิลปินคนนี้กำลังกวนใจผู้ชมอยู่หรือไม่ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริง ภาพของมากริตชิ้นนี้ไม่ได้ตอบสนองผู้ชมทางอารมณ์ แต่กระตุ้นให้เกิดความคิดฉงนใจแทน และแน่นอนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเห็นผลงอกงามไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม การเป็นคนดังก็ใช่ว่าจะการันตีรายได้เสมอไป มากริตยังคงไม่พบหนทางสู่ความสำเร็จด้านการเงิน หลังจากที่แกลเลอรี่อย่าง Galerie la Centaure ปิดตัวลงในปี 1929 รายได้ของเขาที่ได้รับจากสัญญาว่าจ้างก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย และเนื่องจากตัวเขาไม่มีส่วนได้เสียกับขบวนการทางศิลปะในปารีส มากริตจึงตัดสินใจย้ายกลับมาบรัสเซลส์ในปี 1930 ที่ซึ่งเขากับน้องชายเริ่มก่อร่างสร้างธุรกิจโฆษณาเชิงพาณิชย์ด้วยกัน ซึ่งก็ได้กำไรมาพอประรายเท่าที่สามารถเลี้ยงชีพได้

ระหว่างนั้น มากริตเริ่มทำงานให้กับ เอ็ดเวิร์ด เจมส์ (Edward James) นักสะสมชาวอังกฤษผู้ที่สนับสนุนงานศิลปะเหนือจริงของเขาสองชิ้นในปี 1937 นั่นคือ The Pleasure Principle (Portrait of Edward James) และผลงานดังอย่าง Not to Be Reproduced (La reproduction interdite) มากริตยังคงถ่ายทอดปริศนา ไม่เปิดเผยใบหน้าคนในภาพวาด แถมตั้งชื่อภาพขัดกับสิ่งที่ปรากฏบนผื้ผ้าใบ สร้างความสงสัยใคร่รู้ให้ผู้ชมเช่นเคย

การตัดสินใจอยู่ในเบลเยียมระหว่างเยอรมนีเข้ายึดครองบรัสเซลส์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มากริตถึงขั้นแตกหักกับเพื่อนร่วมขบวนการอย่าง อ็องเดร เบอร์ตง เขาเปลี่ยนวิธีการทำงานจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยหันกลับไปวาดภาพสไตล์ เรอนัวร์ (Renoir) ซึ่งแปลว่า แสงแดด เพื่อพาตัวเองออกห่างจากอารมณ์ด่ำดิ่งจากสภาวะสงครามและความคิดเซอร์เรียลที่แสนวุ่นวาย

“เราไม่มีเวลาหรืออารมณ์ที่จะเล่นสนุกกับศิลปะตามแบบ Surrealist เรามีงานใหญ่รออยู่ข้างหน้า เราต้องจินตนาการถึงวัตถุที่มีเสน่ห์พอจะปลุกสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในตัวเรา ซึ่งเรียกว่าสัญชาตญาณแห่งความสุข ออกมา” - แถลงการในปี 1946 ของ เรอเน มากริต ต่อขบวนการ Surrealism

แม้ว่าภาพวาดของมากริตจะมีกลิ่นอายชวนเคลิบเคลิ้มคล้ายงานอิมเพรสชั่นนิสม์ แต่ฝีแปรงของเขาก็ไม่ได้ถ่ายทอดความประทับใจ ซึ่งเป็นแก่นหลักของงานอิมเพรสชั่นนิสม์ไปซะทีเดียว ภาพของเขาถูกเรียกว่าเป็นลูกครึ่งระหว่างสัจนิยมกับอิมเพรสชันนิสม์มากกว่า ตัวอย่างเช่น The Intelligence (1946)

ช่องโหว่ในสภาวะหลังสงคราม ทำให้มากริตร่วมมือกับน้องชายของเขาทำสิ่งที่ผิดต่อตัวเองอย่างมหันต์ ถึงแม้เขาจะเชื่อในขบวนการทางการเมือง ‘ฝ่ายซ้าย’ และสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เรื่อยมา แต่สุดท้ายแล้วเขาก็เลือกที่จะสร้างภาพวาดปลอมของศิลปินดังมากมาย อาทิ งานของปิกัสโซ สำหรับขายให้กับชาวเยอรมันในตลาดมืด รวมถึงปลอมแปลงธนบัตรปลอมเพื่อเอาชีวิตรอดในช่วงหลังสงคราม มากริตยอมรับในเวลาต่อมาว่า แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ แต่ความเยือกเย็นและโหดร้ายของสภาพแวดล้อมในตอนนั้น ได้ผลักให้เขาอยู่ในจุดที่ไร้ซึ่งทางเลือก และนั่นทำให้เขายังเสียใจอยู่เรื่อยมา เพราะสิ่งที่เขาทำคือ ‘การทรยศต่อศิลปะ’ โดยแท้จริง

หลังสงคราม มากริตได้รับเชิญให้ไปแสดงผลงานที่ Galerie du Faubourg ในปารีส ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มเตรียมชุดภาพวาดชวนตลกขบขัน ปนจิกกัดต่อโลกศิลปะในฝรั่งเศส โดยหยิบเอาแรงบันดาลใจจากลัทธิโฟวิสต์ (Fauvism) ซึ่งเน้นสีสันฉูดฉาดมาเป็นส่วนประกอบหลักของเรื่อง ก่อนที่เขาจะเริ่มเปลี่ยนมาขนานนามภาพสไตล์ใหม่ของตัวเองว่า ‘Vache’ หรือ ‘วัว’ มีการวิเคราะห์กันถึงนัยยะของวัว และการวาดภาพของมากริตในช่วงนี้ว่าเปรียบได้กับเส้นแบ่งระหว่างความหยาบคายและความหยาบ เขาถอดความเป็นกลางออกจากภาพวาดทิ้งจนเกิดเป็นภาพที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและสุดโต่ง งานของมากริตทำเอาการจัดแสดงงานครั้งนั้นสร้างความขุ่นเคืองใจให้ชาวฝรั่งเศสพอสมควร แต่เขากลับไม่สนคำครหานั้นเหมือนครั้งที่แล้ว ๆ มา เขายังคงต่อต้านความเย่อหยิ่งของนักปรัชญาในอุดมการณ์เรียลลิสม์ที่ขับเคลื่อนโดย อ็องเดร เบอร์ตง เพื่อนเก่าของเขา ด้วยข้อความว่า “ถึงเวลาปะทะกันทางความคิดแล้ว ! ”

อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมาภรรยาของมากริต และอเล็กซานเดอร์ โลลาส (Alexander Lolas) พ่อค้าชาวนิวยอร์ก ได้แนะนำให้เขาลืมสไตล์ภาพช่วงนี้ทิ้งไป และเริ่มสร้างผลงานใหม่ที่เป็นตัวของตัวเองและสามารถดึงดูดใจผู้ชมได้ ในที่สุด มากริตก็หันกลับมาวาดภาพในแนวทางเดิม นั่นคือ การวาดภาพที่สื่อถึงความเหนือจริง เขาเริ่มวาดภาพตั้งแต่ช่วงปี 1948 เป็นต้นมา

ชื่อเสียงของมากริตดังเฉิดฉายจนได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ ทำให้เขากลายเป็นศิลปินมือทองที่มีงานมาไม่ขาดสายทั้งงานจ้างและการจัดแสดงสำคัญในบรัสเซลส์ และ Sidney Janis Gallery ที่มหานครนิวยอร์กจากการทำสัญญากับ อเล็กซานเดอร์ โลลาส ซึ่งตกลงว่าจะเป็นตัวแทนจำหน่ายผลงานศิลปะให้มากริตในสหรัฐอเมริกาให้กับมากริต

เวลานั้นเขาได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญมากมายไม่ว่าจะเป็น Shéhérazade ซึ่งอิงจากเรื่องสั้นของ เอ็ดการ์ อัลลัน โพ (Edgar Allan Poe) ที่ชื่อ The Thousand-and-Second Tale of Scheherazade รวมถึงภาพที่เราเห็นจนชินตาอย่าง Golconda ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากชื่อเมืองในประเทศอินเดีย ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการบอกเล่าของเพื่อนกวีอย่าง หลุยส์ สคูเตอแนร์ (Louis Scutenaire) มากริตไม่ลืมใส่ใบหน้าของสคูเตอแนร์ไว้ในภาพด้านขวา เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างตัวเขาและเพื่อนด้วยเช่นกัน

กระแสของเวลา และประสบการณ์ทั้งหมดที่มากริตได้สั่งสมมา นำมาสู่ผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตกจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ‘The Son of Man’ (1964) ซึ่งปรากฏภาพวาดชายสวมหมวก ที่บนใบหน้าถูกบดบังด้วยแอปเปิลสีเขียวลอยคว้างกลางท้องฟ้าครึ้มเบื้องหลัง มากริตยังคงตอกย้ำแนวคิดเดิมที่เขาเคยทิ้งไว้ใน The Treachery of Images พูดง่าย ๆ คือ ไม่ว่าภาพวัตถุจะถูกวางอยู่อย่างเป็นธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็ยังไม่สามารถแตะต้องวัตถุนั้นได้อยู่ดี ด้วยความคิดที่ว่ามา ทำให้ผลงานของมากริตชิ้นนี้ ถือเป็นภาพวาดที่สร้างความสับสนให้ผู้ชมมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเขา ซึ่งก็แน่นอนว่า ภาพวาดของมากริตยังเป็นปริศนาที่เปิดกว้างในการตีความให้ผู้พบเห็นมาจนถึงทุกวันนี้

โลลาสยังคงเป็นเพื่อนที่ดีและตัวแทนจำหน่ายภาพของมากริตจนกระทั่งเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนในวัย 68 ปี

ความงามในภาพวาดของมากริตที่ทั้งพิเศษ แปลก ชวนสงสัย ขบขัน แต่ก็บาดลึก กลายมาเป็นมุมมองใหม่ที่กระตุ้นให้ผู้ชมได้มองกลับไปถึงรากเหง้าในความคิดของตัวเอง ภาพวาดมากมาย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมากริตในการเผชิญหน้ากับผู้ชม ผ่านท่าทีที่ลึกลับจนไม่อาจเข้าใจได้โดยแท้จริง ผลงานของเขาตอกย้ำว่าผืนผ้าใบไม่ได้เป็นแค่ภาษาที่สื่อความหมายถึงผู้ชม แต่ยังเป็นสิ่งอื่นที่ไปไกลกว่านั้น เขาหักล้างแนวคิดเรื่องความจริงแท้ด้วยการปิดทับความหมายของสิ่งที่เราทุกคนคุ้นชิน โดยนำวัตถุที่แตกต่างกันไปวางในตำแหน่งอันขัดต่อการรับรู้ของผู้ชม

ผลงานของมากริต ได้ส่งต่ออิทธิพลให้กับลัทธิทางศิลปะในยุคหลังมากมายไม่ว่าจะเป็นศิลปะกระแสนิยม (Pop Art) ที่นำทีมโดย แอนดี วอร์ฮอล์ (Andy Warhol) และงานสไตล์มินิมอล (Minimalism) ที่ต่อยอดความคิดจากองค์ประกอบภาพอันเรียบง่ายของมากริต นอกจากนี้ ศิลปินแนวความคิด (Conceptual Art) รวมถึงแวดวงศิลปะแขนงอื่นอย่างภาพยนตร์เองก็ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดของมากริตไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งก็ปฏิเสธได้ยากว่า แม้คนรุ่นหลังอย่างเราจะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ศิลปะของเขาเฟื่องฟู แต่เมื่อเรามองภาพเหล่านั้น เราก็จะยังเชื่อมโยงกับภาพวาดได้ เพราะเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ภาพวาดของเขาติดตาจนเป็นภาพจำ และยังคงสดใหม่แม้เขาจะจากไปนานแล้วก็ตาม
.

อ้างอิง :