ภาพที่เห็นนี้หาใช่ภาพในอดีตของแดนเนรมิต (บอกอายุมาก) หรือภาพเก่าของดิสนีย์แลนด์ที่ไหน แต่เป็นหนึ่งในพาวิลเลียนของงาน World’s Fair ปี 1939 ที่นิวยอร์กเป็นเจ้าภาพ โดยผลงานการออกแบบพาวิลเลียนชวนหลอนนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากเจ้าพ่อเซอร์เรียลลิสต์อย่าง ซัลบาโด ดาลี นั่นเอง!
ย้อนกลับไปในปีนั้น ธีมการจัดงาน World’s Fair ในครั้งนั้นก็คือ “The World of Tomorrow” ซึ่งสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งฟื้นตัวจากสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำหรือ Great Depression ก็ต้องการที่จะแสดงแสนยานุภาพด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและศิลปะให้โลกได้ประจักษ์ ภายในงานจึงเต็มไปด้วยการโชว์เคสของคอนเซปต์สิ่งประดิษฐ์แห่งโลกอนาคต ไล่ตั้งแต่รถบินได้ ไปจนถึงสถาปัตยกรรมแนว Futuristic
แต่สิ่งที่แทรกตัวอยู่ท่าทกลางสิ่งประดิษฐ์แห่งโลกยูโทเปียก็คือสวนสนุกแห่งความหฤหรรษ์ที่กลั่นกรองมาจากจินตนาการของศิลปินชาวสเปน Dream of Venus คือแนวคิดเบื้องหลังในการสร้างสรรค์โลกแห่งคาร์นิวัลและงานรื่นเริงของดาลี โดยคนที่สนับสนุน (ให้ท้าย) ในการสร้างสวนสนุกจากฝันสุดประหลาดนี้ก็คือ จูเลียน เลอวี นายหน้าขายงานศิลปะตัวพ่อแห่งกรุงนิวยอร์กที่ได้ไปเห็นนิทรรศการงานเหนือจริงหรือ Exposition Internationale du Surréalisme ที่จัดขึ้นที่กรุงปารีสในปี 1938 แล้วเกิดความประทับใจจนอยากเผยแพร่แนวคิดและศิลปะเซอร์เรียลสม์ให้เป็นที่แพร่หลายในนิวยอร์กบ้านเกิดบ้าง เลอวีจึงไปดึงตัวเจ้าพ่อเซอร์เรียลลิสต์อย่างดาลีมาช่วยเนรมิต ‘Surrealist House’ สำหรับงาน World’s Fair นี้
ครั้งแรกที่คณะกรรมการงาน World’s Fair ได้เห็นบ้านหลอนเซอร์เรียลของดาลี งานก็เข้าศิลปินและคนให้ท้ายแบบเต็ม ๆ เพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในบ้านหลอนนั้นก็คือบรรดาภาพนู้ดของหญิงสาวที่เป็นตัวแทนของเทพีวีนัสของดาลี โดยเฉพาะภาพหญิงสาวถ่างขากว้างและให้กำเนิดโลโก้งาน World’s Expo ออกมา!
แม้ว่าจะถูกคัดค้านจากคณะกรรมการอย่างหนัก แต่ด้วยแรงโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ที่เลอวีลงทุนซื้อโฆษณาบนหน้าปกนิตยสาร Vogue และ The New Yorker ทำให้มีผู้สนใจในบ้านหลอนเหนือจริงของดาลีเป็นจำนวนมาก และดาลีเองก็ยืนกรานที่จะเปิดบ้านหลอนของเขาให้สาธารณชนได้เข้าชม โดยยกคำประกาศอิสรภาพและการเชิดชูสิทธิเสรีภาพของชนชาวอเมริกันมาอ้าง และตบท้ายด้วยการประกาศ ‘คำประกาศอิสรภาพแห่งจินตนาการและสิทธิของคนบ้าที่มีต่อความบ้าของตัวเอง’ (Declaration of the Independence of the Imagination and the Rights of Man to His Own Madness) บ้านหลอนของดาลีจึงได้เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชม และผู้ชมชาวอเมริกันก็ได้เดินเข้าไปสำรวจภาพฝันและความคิดของเจ้าแห่งลัทธิเซอร์เรียลสม์ในที่สุด
อ้างอิง: Salvador Dali's Dream of Venus