Beijing Silvermine คือโปรเจกต์ภาพถ่ายของช่างภาพชาวฝรั่งเศส Thomas Sauvin ที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนมานานถึง 12 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการไปได้กรุฟิล์มเนกาทิฟเก่าแบบขายยกโหลจากโรงงานแยกขยะ ซึ่งเมื่อนำฟิล์มเหล่านั้นไปล้างและอัดรูป สิ่งที่ได้ออกมาก็คือภาพเก่าตั้งแต่ยุค 1980s - 200s ที่เผยให้เห็นภาพชีวิตประจำวันของผู้คนแห่งแดนมังกรกว่าล้านภาพ!
“โปรเจกต์ Beijing Silvermine เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2009 จากการที่ผมได้พบกับ Xiao Ma ผู้ชายคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในจุดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของปักกิ่ง” Sauvin เล่า “Ma อยู่ในส่วนที่รับผิดชอบขยะที่มีส่วนผสมของซิลเวอร์ไนเตรท ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นฟิล์ม X-ray จากโรงพยาบาล แต่ก็มีฟิล์มเนกาทิฟติดมาด้วย
“ก่อนที่จะนำขยะฟิล์มทั้งหมดเทลงไปในบ่อสารละลายเพื่อแยกเอาแร่เงินออกมา เขาก็ยอมขายฟิล์มเนกาทิฟให้ผมในราคาแบบยกกิโลฯ และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของ Beijing Silvermine”
เมื่อ Sauvin นำฟิล์มนากาทิฟที่ได้มาเป็นกระสอบไปสแกน เขาก็เจอเข้ากับขุมทรัพย์ภาพถ่ายเก่าที่เผยให้เห็นวิถีชีวิตในชีวิตประจำวันของผู้คนในดินแดนจีนแห่งนี้ ที่เมื่อนำภาพกว่าล้านภาพนั้นมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ก็จะได้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าวิถีชีวิตของคนจีน
ภาพที่ Sauvin ได้มา มีตั้งแต่ภาพของผู้คนที่มาโพสท่าถ่ายรูปกับทีวีและตู้เย็น (ซึ่งเป็นของมีราคาในยุคนั้น), ภาพถ่ายหญิงสาวกับดอกไม้, คนโพสท่าถ่ายรูปกับอนุสาวรีย์ รวมไปถึงภาพถ่ายในพิธีแต่งงานที่บ่าวสาวสูบบุหรี่ร่วมกันตามธรรมเนียม
“Silvermine เผยให้เห็นภาพชีวิตของคนจีนในเมืองหลวงที่มีพีเรียดยาวนานถึง 20 ปี ตั้งแต่ช่วงปี 1985 ที่กล้องฟิล์มเป็นที่แพร่หลายในประเทศจีน ไปจนถึงปี 2005 ที่ภาพถ่ายดิจิทัลเริ่มเข้ามามีบทบาทแทน ความสำคัญของบรรดาภาพถ่ายอันแสนล้ำค่าที่ถ่ายโดยเหล่าผู้คนธรรมดาที่เราไม่รู้ชื่อนี้ ก็คือการที่มันเผยให้เห็นรุ่งอรุณแห่งสังคมนิยมในประเทศจีน”
อ้างอิง : Beijing Silvermine: Discarded, Unseen Photos of China in the 80s and 90s