“เมืองที่เอื้อให้ประชากรเป็นเจ้าของทุกพื้นที่ในเมือง ไม่ใช่แค่ในเชิงอุดมคติ แต่เป็นไปในวิถีของทุนนิยม” คือคำจำกัดความของ มาร์ก ลอร์ (Marc Lore) มหาเศรษฐีเจ้าของเมกาโปรเจกต์ Telosa ยูโทเปียแห่งโลกอนาคตที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทะเลทรายกว่าแสนเอเคอร์
ชื่อของ มาร์ก ลอร์ ไม่ใช่ชื่อใหม่ในแวดวงการลงทุน ลอร์เป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพมูลค่า 550 ล้านดอลลาร์ และ 3.3 พันล้านดอลลาร์ และหลังจากที่ขายธุรกิจทั้งสองไปแล้ว ลอร์ก็กระโดดมาบริหารส่วนงานชอปปิงออนไลน์ของ Walmart ก่อนที่จะประกาศลาออกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาหลังรันวงการนี้มาได้ห้าปี และหลังจากนั้นชื่อของลอร์ก็เข้าไปมีส่วนในธุรกิจและกิจกรรมบ้าคลั่งมากมายตามประสาเศรษฐีมันมือ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นในทีมบาสเกตบอล ประกาศสร้างเรียลลิตีเป็นของตัวเอง รวมไปถึงการยิงตัวเองขึ้นไปสู่อวกาศ!
และล่าสุด ลอร์ก็ค้นพบโปรเจกต์ที่ในฝันที่จะทำให้ชื่อของเขาถูกจรดจารในหน้าประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกับ อีลอน มัสก์ และโปรเจกต์นั้นก็คือการสร้างเมืองแห่งโลกอนาคตที่ไม่เพียงตั้งเป้าเป็นเมืองที่ยั่งยืน (Sustainability) ที่สุดในโลก แต่จะเป็นเมืองที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นเพียงซากอารยธรรมไปเลย “ทุกอารยธรรมในประวัติศาสตร์ล้วนมีจุดสิ้นสุดใช่มั้ยล่ะ? และเมืองนี้ล่ะที่จะมาเพื่อโค่นอเมริกา!”
แล้ว Telosa มีดีอย่างไร? เหตุใดทุกคนตั้งแต่แวดวงการลงทุนไปจนถึงแวดวงการออกแบบจึงหันมาให้ความสนใจและพูดถึงโปรเจกต์นี้กันไม่หยุด ตามไปดูกันเลย!
จุดเริ่มต้นของ Telosa เมืองแห่งความเท่าเทียมที่สุดในโลก
จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ย้อนกลับไปประมาณสองสามปีก่อนหน้า เมื่อลอร์ได้อ่านหนึ่งในตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลที่สุดในโลกอย่าง Progress and Poverty โดย เฮนรี จอร์จ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1879 โดยหัวใจหลักของข้อเขียนชิ้นนี้ก็คือการประกาศว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นมีสาเหตุมาจากการครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินโดยภาคเอกชน จอร์จชี้ว่า ที่ดินที่ไร้ผู้ครอบครองนั้นถูกตีค่าว่าไร้มูลค่า จนกระทั่งผู้คนเริ่มอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว ที่ดินผืนนั้นจึงเริ่มมีมูลค่าขึ้นมา ซึ่งจุดนี้เองที่จอร์จมองว่า คนในสังคมล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ แต่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์กลับกลายเป็นผู้มีชื่อครอบครองที่ดินเท่านั้น และก็มีแต่เจ้าของที่ดินเหล่านี้ที่รวยขึ้นโดยไม่ได้มอบอะไรกลับคืนสู่คนในสังคมที่มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าให้ที่ดินผืนนี้เลย
นั่นจึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะของจอร์จที่สะท้านสะสังคมและแวดวงเศรษฐศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 19 มากที่สุด นั่นก็คือการเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการจัดเก็บภาษีประเภทอื่น ๆ และเก็บเฉพาะภาษีที่ดินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยจอร์จเชื่อว่าแนวคิดนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและเศรษฐกิจ และในยุคนั้นก็มีคนออกมาสนับสนุนแนวคิดของจอร์จมากมาย โดยส่วนใหญ่ก็คือเหล่ากรรมกรและคนชนชั้นแรงงานที่เรียกตัวเองว่า ‘Single Taxers’ หรือผู้สนับสนุนนโยบายภาษีเดียว นั่นก็คือภาษีที่ดิน
แนวคิดของจอร์จสะเทือนความคิดของลอร์เป็นอย่างมาก ลอร์อธิบายว่า ในแต่ละปีเขาต้องจ่ายค่าภาษีการครอบครองอพาร์ตเมนต์ในกรุงนิวยอร์กเพียงแห่งเดียวก็ 270,000 ดอลลาร์ขึ้นไปแล้ว แต่เขาไม่เคยมั่นใจเลยว่ารัฐบาลจะนำเงินภาษีจากเขาไปใช้ในการพัฒนาเมืองและประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลอร์จึงเชื่อมั่นว่า ผู้จ่ายภาษีควรมีสิทธิ์ในการโหวตว่าภาษีของตนนั้นจะถูกนำไปใช้ในโครงการใดของรัฐ เพื่อให้ผู้เสนอในแต่ละโครงการ ‘ไฟต์’ กันเพื่อให้โปรเจกต์ของตนได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุด
และนั่นคือที่มาของแผนการสร้าง Telosa เมืองยูโทเปียที่ตั้งขึ้นบนแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สาย Georgism เมืองที่ตั้งขึ้นบนระบบกองทุนเมืองที่ทุกคนที่ครอบครองพื้นที่ในเมืองต่างมีส่วนร่วมในกองทุนนี้ และเงินที่ได้จากกองทุนนี้ก็จะนำไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและบริการต่าง ๆ โดยไม่พึ่งพาเงินจากรัฐ โดยปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในขั้นตอนของการมองหาพื้นที่ 200,000 เอเคอร์ในบริเวณภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับสร้างเมืองที่รองรับประชากรได้ถึง 5 ล้านคน! โดยลอร์ตั้งปณิธานว่าเมืองแห่งนี้จะเป็นรุ่งอรุณใหม่และโฉมหน้าใหม่ของลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
ระบบเมืองในฝัน
ลอร์อธิบายว่าเขาตั้งใจที่จะบริหารเมืองด้วยระบบเดียวกับที่เขาบริหารธุรกิจ โดยประชากรผู้ครอบครองที่อยู่อาศัยในเมืองและเป็นผู้จ่ายภาษีจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนไปในรูปแบบของสวัสดิการและระบบสาธารณูปโภคที่ดีที่สุด โดยชื่อเมือง ‘Telosa’ ก็มาจากการโหวตของบรรดาผู้ติดตามลอร์บนเว็บไซต์ LinkedIn ซึ่งคำว่า Telosa นั้นมาจากภาษากรีกที่แปลว่า ‘จุดมุ่งหมายสูงสุด’ (highest purpose) โดยนอกจากจะจ้างทีมงานเพื่อออกแบบโลโก้เมืองแล้ว ตอนนี้ลอร์ก็ได้เริ่มประชุมกับทีมนักออกแบบสาธารณูปโภคในส่วนต่าง ๆ ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ, ทีมวิศวกร ไปจนถึงทีมนักประวัติศาสตร์เมือง
และล่าสุดลอร์ก็ได้ดึงตัว บีอาร์ก อินเกิลส์ (Bjarke Ingels) หนึ่งในสถาปนิกที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งโลกสมัยใหม่ ให้มานั่งตำแหน่งประธานการออกแบบสถาปัตยกรรมเมือง Telosa โดยหัวใจหลักของการออกแบบ Telosa ที่ทั้งลอร์และทีมดีไซเนอร์ BIG (Bjarke Ingels Grop) ยึดถือก็คือ ‘การสร้างเมืองที่ไม่ใช่แค่เมือง แต่เป็นเมืองที่เป็นต้นแบบของสังคมรูปแบบใหม่’
หนึ่งในแพลนที่ทีมนักออกแบบภูมิใจนำเสนอก็คือการออกแบบเมืองด้วยวิถี ‘อุทยานนคร’ หรือ Garden City Movement ซึ่งเป็นไอเดียที่ได้รับการนำเสนอครั้งแรกในปี 1898 โดย อีเบเนเซอร์ ฮาวเวิร์ด (Ebenezer Howard) นักวางผังเมืองและผู้ก่อตั้งขบวนการเมืองในสวน โดยแนวคิดหลักของการวางผังเมืองแบบอุทยานนครก็คือการล้อมชุมชนที่สามารถรันได้ด้วยตัวเองด้วย ‘แถบสีเขียว’ (Green Belts - พื้นที่ป่าหรือพื้นที่ที่ปล่อยตามธรรมชาติโดยไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ) และจัดสรรปันส่วนพื้นที่เมืองให้มีประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งเป็น บริเวณที่พักอาศัย บริเวณอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรม โดยฮาวเวิร์ดได้แรงบันดาลใจในการสร้างรูปแบบการวางผังเมืองลักษณะนี้จากนวนิยายยูโทเปีย Looking Backward (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า มองกลับ โดยสำนักพิมพ์สมมติ) โดยผู้เขียน เอ็ดเวิร์ด เบลามี ที่ตีพิมพ์ในปี 1888 ซึ่งตัวอย่างของเมืองอุทยานนครที่ฮาวเวิร์ดเคยสร้างไว้ก็คือเมืองเลทช์เวิร์ธ ประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยถึง 34,000 คน โดยมีระบบการบริหารเมืองที่เงินที่ได้จากค่าเช่าอยู่อาศัยจะถูกนำกลับมาพัฒนาสาธารณูปโภคของเมืองอีกที
นอกจากนี้แผนการออกแบบเมือง Telosa ยังตั้งอยู่บนโจทย์ที่ว่า ‘15-Minute City Design’ นั่นหมายความว่าระบบการขนส่งและถนนต่าง ๆ จะต้องถูกออกแบบมาให้ประชากรในเมืองสามารถเดินทางออกจากบ้านไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที! และที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางของเมืองก็คือตึกระฟ้าที่มีชื่อว่า ‘Equitism Tower’ ซึ่งจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรมแนวตั้ง หอกักเก็บน้ำ และหลังคาพลังงานโซลาร์เซลที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อแจกจ่ายไปยังครัวเรือนต่าง ๆ ของเมือง นอกจากนี้ทีมยังตั้งใจที่จะปั้น Telosa ให้เป็นเมืองที่มีความสะอาดเทียบเท่าโตเกียว มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติเช่นเดียวกับนิวยอร์ก และมีระบบสวัสดิการที่ดีเทียบเท่ากับเมืองสตอกโฮล์ม!
ทีม BIG วางแผนว่าส่วนต่าง ๆ ของ Telosa จะค่อย ๆ ทยอยเสร็จใน 40 ปีข้างหน้า โดยเฟสแรกจะเสร็จในปี 2030 และจะเปิดให้ผู้อยู่อาศัย 50,000 คนแรกสามารถเริ่มย้ายเข้ามาอยู่บนพื้นที่ 1,500 เอเคอร์ที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งพื้นที่ในบริเวณนี้จะครบครันด้วยส่วนสาธารณูปโภคและสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในระยะเดินเท้าถึง โดยคาดการณ์ว่าความหนาแน่นของประชากรจะอยู่ที่ 34 คนต่อหนึ่งตารางเอเคอร์ หรือเทียบเท่ากับความหนาแน่นต่อพื้นที่ของประชากรในสิงคโปร์
Utopianism
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คำถามที่ติดอยู่ในใจของใครหลายคนก็น่าจะเป็นคำถามว่า แล้วเมืองยูโทเปียในฝันที่ดูตัดขาดแยกเป็นเอกเทศจากการบริหารของรัฐเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? การที่จะตอบคำถามนี้ได้อาจต้องย้อนกลับไปดู ‘กระแส’ การสร้างเมืองใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง โดย ซาราห์ โมเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ที่ศึกษาการวางผังเมืองได้อธิบายว่า ณ ขณะนี้ทั่วโลกมีโครงการสร้างเมืองใหม่ถึง 150 โครงการด้วยกัน ทั้งที่เป็นของภาคเอกชนและภาครัฐเอง โดยประเทศที่มีโครงการสร้างเมืองใหม่มากที่สุดในโลกก็คือสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างเมืองใหม่ก็คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนมากมายต้องการที่จะทดสอบระบบเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมา จนนำมาสู่ความต้องการที่จะสร้างพื้นที่ในการทดลองระบบที่ไม่อาจทดลองได้ในเมืองที่ตั้งอยู่มานานแล้ว โดยหนึ่งในโปรเจกต์เมืองใหม่ของโลกที่ ‘ทะเยอทะยาน’ ที่สุด ณ ขณะนี้นอกจาก Telosa ก็คือ Neom เมืองแห่งอนาคตในประเทศซาอุดีอาระเบียที่เป็นโครงการของเจ้าฟ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน นั่นเอง
และแม้ว่าจะดูเป็นไอเดียที่สดใหม่ แต่ที่จริงแล้วกระแสการสร้างเมืองยูโทเปียในฝันก็เริ่มจุดติดมาตั้งแต่ยุค 1960s-1970s แล้ว ซึ่งก็มีนักล่าท้าฝันมากมายที่มาพร้อมกับโปรเจกต์ที่มีอันต้องพับไปในท้ายที่สุด ตัวอย่างเช่น เมืองทดลองที่ครอบด้วยโดมอย่าง Minnesota Experimental City ของ อาเธลสตัน สปิลฮอส (Athelstan Spilhaus) นักธรณีวิทยาและนักสมุทรศาสตร์ชาวแอฟริกาใต้, Soul City ของทนายและนักเคลื่อนไหวเพื่อนสิทธิ์ของชาวผิวดำ ฟลอยด์ แม็คคิสซิค (Floyd McKissick) ที่ตั้งใจจะสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่ที่เคยเป็นไร่ทาสผิวดำ และ Rose Island เมืองบนแพลตฟอร์มยกสูงกลางทะเลที่ถูกรัฐบาลอิตาลีระเบิดทิ้งไป
อแลง เบอร์โทด์ นักวางผังเมืองคนสำคัญของโลกให้ความเห็นว่า ไอเดียการสร้างเมืองใหม่ในสหรัฐอเมริกามักมีจุดเริ่มต้นอยู่สองแบบ แบบแรกคือการสร้างพื้นที่ปลอดภาษีที่ตั้งอยู่ในทะเล เพื่อหลบเลี่ยงการจับตามองจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะที่อีกรูปแบบหนึ่งคือการมองเห็นความจำเป็นของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีต่อการใช้ชีวิตเมือง เบอร์โทด์ยังให้ความเห็นว่า การสร้างเมืองใหม่นั้นมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าหากผู้สร้างเริ่มจากพื้นที่ที่มีประชากรอยู่บ้างแล้ว เพื่อจูงใจให้คนย้ายมาอาศัยอยู่ได้ง่ายขึ้น โดยยังสามารถเดินทางไปทำงานในเมืองที่อยู่ถัดไปได้ แต่การสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาบนพื้นที่ที่ไม่มีอะไรเลยนั้น “มีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่ทำได้”
ซึ่ง Telosa เมืองในฝันของลอร์ก็เป็นเมืองที่ตัดขาดตัวเองจากการบริหารของรัฐบาล แต่ก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ระบบการบริหารจัดการเมืองของ Telosa ก็ไม่ต่างอะไรกับการจัดการของรัฐบาลเท่าใดนัก ก่อให้เกิดคำถามที่ยิงตรงไปถึงลอร์ว่า ลอร์ตั้งใจที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาสำหรับเมืองนี้โดยเฉพาะใช่หรือไม่? หรือพูดง่าย ๆ ว่านี่เขากำลังจะสร้างประเทศใหม่หรือเปล่า แต่ลอร์ก็ปฏิเสธว่า เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างรัฐบาลแยกออกมาจากรัฐบาลอเมริกา เพียงแต่จะมีมูลนิธิที่คัดเลือกและจัดตั้งขึ้นมาโดยประชาชนในเมือง เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเมือง นอกจากนี้ลอร์ยังปฏิเสธว่า เขาไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างระบบการปกครองรูปแบบใหม่ แต่ต้องการจะสร้างส่วนขยายออกมาจากระบบที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นระบบการปกครองทางเลือกที่ทำให้คนกลับมามีศรัทธาในสถาบันรัฐอีกครั้ง
มาถึงคำถามที่ค้างไว้ว่าโอกาสที่ Telosa จะประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่เท่าไหร่ คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการวางผังเมืองและแวดวงเศรษฐศาสตร์นั้นมีตั้งแต่ 100% ถึง 0% โดยคนที่เชื่อในศักยภาพของลอร์ก็กล่าวว่า เขาจะเป็นผู้สร้างระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ในขณะที่บางส่วนก็ให้เครดิตลอร์ในฐานะนักฝันที่พยายามนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ แต่ก็มองว่านี่อาจจะเป็นแค่โปรเจกต์แก้เบื่อของเศรษฐีคนหนึ่ง และอาจจะเป็นแค่โปรเจกต์ของเหล่าคนรวยอิกนอแรนต์ที่หาได้สนใจปัญหาด้านที่อยู่อาศัยที่กำลังรุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ของโลก รวมถึงปัญหาโลกร้อนและปัญหาด้านสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย
อ้างอิง: The Diapers.com Guy Wants to Build a Utopian Megalopolis, Plans for $400-billion new city in the American desert unveiled, Bjarke Ingels designing "new city in America" for five million people