ในตอนที่สถาปนิก แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ เปิดตัวพิพิธภัณฑ์ Guggenheim แห่งกรุงนิวยอร์กในปี 1959 อาคารทรงโค้งสีขาวแห่งนี้ก็สร้างความขัดแย้งและทำให้เสียงของคนในวงการออกแบบแตกสถาปัตยกรรมแตกออกเป็นสองฝ่าย ข้างหนึ่งคือคนที่ชื่นชมในความล้ำทันสมัยที่พลิกภาพจำเดิม ๆ ที่คนทั่วไปมีแต่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็คือเหล่าคนที่เบือนหน้าหนี และถึงกับมีการตั้งชื่อเล่นให้อาคารแห่งนี้ว่า ‘เครื่องซักผ้าของไรต์’
แต่ไม่ว่าจะรักหรือชังผลงานการออกแบบของไรต์ชิ้นนี้ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ Guggenheim แห่งกรุงนิวยอร์ก ได้กลายเป็นหมุดหมายแรกของการพลิกการออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์หน้าตาเดิม ๆ ซึ่งตลอดทศวรรษถัดที่ตามมา อาคารพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นใหม่ทั่วโลกก็ได้เดินตามการออกแบบสไตล์โมเดิร์นของไรต์ จนทำให้ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เองได้กลายมาเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ
“ในอดีต การออกแบบพิพิธภัณฑ์มักใช้ต้นแบบเป็นวิหารกรีกโบราณ หรือไม่ก็โครงสร้างที่ทำให้นึกถึงวิหารแพนธีออนของกรุงโรม” คือความเห็นของ แพทริซิโอ เดล เรียล (Patricio del Real) ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเดอ เรียล ยังเสริมอีกว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะในอดีตมักยึดโยงต้นแบบจากสถาปัตยกรรทยุโรปดั้งเดิมมากกว่าจะสะท้อนมุมมองใหม่ ๆ หรือผสานรูปแบบศิลปะท้องถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ “แต่เมื่อสังคมมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากขึ้น ผู้คนก็เริ่มต้องการภาพแทนของสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเหมือนตัวแทนของเมืองหรือประเทศนั้น ๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและภาพจำของตัวเองด้วย”
นั่นจึงเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์ในยุคหลังที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สะท้อนแนวคิดและวิธีการออกแบบอันแสนล้ำและเปี่ยมด้วยจินตนาการของสถาปนิกยุคใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทลายกรอบภาพจำของพิพิธภัณฑ์แบบเดิม ๆ โลกของเราจึงได้ต้อนรับพิพิธภัณฑ์รูปทรงลดเลี้ยวเคี้ยวคดอย่าง Guggenheim Museum Bilbao แห่งสเปนในปี 1997 จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ในแวดวงการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า ‘Bilbao Effect’ ที่สถาปนิกแห่งศตวรรษที่ 21 พากันออกแบบอาคารที่มีรูปทรงและฟาซาดคดเคี้ยวบิดเกลียวไม่สมมาตรตามผลงานการออกแบบของสถาปนิก แฟรงก์ เกห์รี จนทำให้ทั่วโลกเต็มไปด้วยอาคารสุดไอคอนิกที่กลายเป็นแลนด์มาร์กหลักของเมือง
แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมือนกับว่าทุกอย่างในโลกล้วนหยุดชะงัก แต่ 2021 ก็เป็นปีที่มีพิพิธภัณฑ์ใหม่ ๆ เปิดทำการขึ้นในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งนอกจากของที่จัดแสดงในแต่ละพิพิธภัณฑ์แล้ว ตัวพิพิธภัณฑ์เองในแต่ละที่ก็ล้วนสะท้อนมุมมองการสร้างสรรค์และการออกแบบที่น่าสนใจของสถาปนิกเช่นกัน
ก่อนทัองฟ้าจะกลับมาสดใส ก่อนที่เราจะสามารถท่องเที่ยวกันได้อย่างอิสระ GroundControl จึงขอรวบรวม 8 พิพิธภัณฑ์ศิลปะสุดสวยทั่วโลกที่นอกจากจะน่าไปเยี่ยมชมของที่ถูกจัดแสดงอยู่ภายในแล้ว ภายนอกเองก็น่าไปเดินสำรวจควาทงดงามของสถาปัตยกรรมเช่นกัน
เอาเป็นว่าเก็บเข้าลิสต์ไว้ก่อน พอโลกพร้อม สถานการณ์พร้อม เงินพร้อม หมอพร้อม (โถ…) เราค่อยไปตามเก็บเช็กบิลกันนะ!
Bourse de Commerce — Pinault Collection, Paris
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่ล่าสุดกลางกรุงปารีสแห่งนี้คือพิพิธภัณฑ์ที่ดัดแปลงมาจากอาคารเก่ามัยศตวรรษที่ 18 ซึ่งเคยถูกใช้เป็นที่ทำการตลาดหุ้นมาก่อน Bourse de Commerce ได้รับการออกแบบใหม่โดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นคนดัง ทาดาโอะ อันโดะ ที่ตั้งใจจะผสานความร่วมสมัยเข้ากับความงามของสถาปัตยกรรมในอดีต
ด้วยทุนสร้างกว่า 195 ล้านดอลลาร์ และพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร Bourse de Commerce จะกลายเป็นพื้นที่จัดแสดงคอลเลกชันศิลปะส่วนตัวแสนล้ำค่าของ ฟรังซัวส์ ปิโนต์ มหาเศรษฐีพันล้านชาวฝรั่งเศสเจ้าของธุรกิจสินค้าแบรนด์หรูที่ประกอบด้วย Gucci และ Saint Laurent
20 ปีคือเวลาที่ปิโนต์อุทิศให้กับการวางแผนและดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อที่จะเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะล้ำค่าที่เขาสะสมมาทั้งชีวิต โดย Bourse de Commerce แห่งปารีสก็คือฝันที่เป็นจริงของปิโนต์ หลังจากที่เขาเคยวาดฝันที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงคอลเลกชันของตัวเองในกรุงเวนิซ ประเทศอิตาลี แล้วก็ทำสำเร็จไปแล้ว Bourse de Commerce จึงเป็นเสมือนยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ปิโนต์ในวัย 85 ปีสามารถพิชิตจนได้
“มันเริ่มต้นมาจากความฝัน ความฝันที่ดูไกลเกินเอื้อม ก่อนที่ความฝันนั้นจะกลายเป็นความมุ่งมั่น” ปิโนต์เคยกล่าวไว้
“วันนี้ ความมุ่งมั่นนั้นกลายเป็นความจริงแล้ว ผมเฝ้ารอที่จะได้นำคอลเลกชันของผมออกมาจัดแสดงในกรุงปารีส… เมืองสุดแสนรักของผม”
Frick Madison, New York
แม้ว่าจะไม่ใช่อาคารสร้างใหม่ แต่เป็นการ ‘ขอยืม’ อาคารเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1966 ของ Metropolitan Museum of Art (ซึ่งเช่าต่อมาจาก Whitney Museum of American Art อีกที) มาใช้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะเก่าแก่ทรงคุณค่าใน Frick Collection ระหว่างที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Frick Madison ปิดปรับปรุงเพื่อรีโนเวท แต่อาคาร 945 Madison Avenue หรือที่รู้จักกันในชื่อ Met Breuer แห่งนี้ก็นับเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่ควรค่าแก่การไปชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลงานศิลปะคลาสสิกจากศควรรษก่อน ๆ จะถูกนำมาจัดแสดงในอาคาร Bauhaus แห่งกรุงนิวยอร์กแห่งนี้เป็นเวลา 2 ปี ความคอนทราสต์นี้ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นและน่าเข้าไปชมอย่างยิ่ง ซึ่งจะมีเวลาให้เราไปชมกันในปีนี้จนถึงปี 2023 เท่านั้น ก่อนที่คอลเลกชันทั้งหมดจะถูกย้านกลับบ้านเดิม
Met Breuer ได้ชื่อเล่นนี้มาจากการที่มันเป็นผลงานการออกแบบของ มาร์เซล บรูเออร์ (Marcel Breuer) ศิษย์ก้นกุฏิแห่งสถาบันการออกแบบสัญชาติเยอรมันอย่าง Bauhaus โดยเป็นผลงานการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในชีวิตของบรูเออร์ ซึ่งแน่นอนว่าย้อนกลับไปในวันวานที่อาคารสไตล์ Brutalism แห่งนี้เปิดตัวต่อสายตาประชาชน มันก็ได้รับเสียงตอบรับในแง่ลบแบบท่วมท้น โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ามันดูเป็นแท่งคอนกรีตมหึมาที่ดูเทอะทะ ชวนให้นึกถึงบังเกอร์ขนาดยักษ์ที่มาตั้งอยู่กลางเมือง ก่อนที่มันจะค่อย ๆ ได้รับการยอมรับเมื่อเวลาล่วงเลยมาในยุคปัจจุบัน
บรูเออร์ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบอาคารคอนกรีตนี้มาจาก ‘ซิกกูรัต’ หรือวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมเมโสโปเตเมีย นอกจากนี้บรูเออร์ยังได้รับต้นแบบความใจกล้าและอิทธิพลในการออกแบบมาจาก Guggenheim Museum ที่เพิ่งเปิดตัวไป 7 ปีก่อนหน้า โดยเป้าหมายของการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม แทนที่จะคงเสาโรมันหรือศิลปะสถาปัตยกรรมคลาสสิก ก็มาจากความตั้งใจของบรูเออร์ที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะมีความ ‘ติดดิน’ และเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น
Humboldt Forum, Berlin
อีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่ถูกดัดแปลงจากสถาปัตยกรรมเก่าแก่คู่เมืองให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะคู่ประเทศ Humboldt Forum คือพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ล่าสุดของประเทศเยอรมันที่รีโนเวทจากพระราชวังเบอร์ลินซึ่งยืนหยัดอยู่ยั้งมาตั้งแต่ปี 1443 โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นเหมือนกุบ British Musem แห่งประเทศเยอรมัน
แม้ว่าจะดัดแปลงมาจากพระราชวังเก่าแก่ แต่ภายในก็ถูกรีโนเวทใหม่หมดเพื่อให้ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมสไตล์บาโรกและความร่วมสมัย โดยผู้ที่รับผิดชอบการรีโนเวทครั้งมโหฬารนี้ก็คือ ฟรังโก สเตลลา (Franco Stella) สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้ได้รับโจทย์การปรับปรุงวังปรัสเซียเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่
สเตลลาผู้ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมโปรเจกต์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นโปรเจกต์ ‘การปรับปรุงด้านศิลปวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรป’ เผยว่า แนวคิดในการดัดแปลงวังให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของเขานั้นมาจากการ ‘สร้างเมืองในรูปแบบของวัง’ โดยเขามองว่าพื้นที่ของวังเบอร์ลินแห่งนี้กำลังจะกลายเป็นเมืองแห่งใหม่ที่ด้านในเต็มไปด้วยผลงานการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้เขาจึงสร้างทางเข้าทั้ง 6 ด้านให้เป็นดังประตูเมือง ส่วนสนามหญ้าทั้งสามจุดหลังกำแพงนั้นก็เป็นดังจัตุรัสกลางเมืองที่คนแห่งเมืองศิลปะสามารถมารวมตัวกันได้
“ในแง่ของสถาปัตยกรรม คอนเซปต์การออกแบบวังกับปิอาซา (ลานสาธารณะของเมืองตามแบบศิลปะโรมัน) นั้นเอื้อให้เราสามารถผสมผสานความเก่าและความใหม่ไว้ด้วยกันได้ โดยที่แต่ละส่วนก็ยังคงเอกลักษณ์และรูปแบบ รวมไปถึงภาษาทางสถาปัตยกรรมของตัวเองเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์”
The Munch Museum, Oslo
พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ที่ออกแบบโดย Estudio Herreros สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมสัญชาติสเปนแห่งนี้ คือพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) คนดังชาวนอร์สอย่าง เอ็ดวาร์ด มุงค์ ซึ่งที่นี่ก็จะเป็นสถานที่จัดแสดงคอลเลกชันศิลปะของมุงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นที่จัดแสดงผลงานก้องโลกอย่าง The Scream ด้วย
Munch Museum มีพื้นที่ถึง 26,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าพิพิธภัณฑ์เอ็ดวาร์ด มุงค์ ที่เดิมถึง 5 เท่า มีความสูงถึง 13 ชั้น โดยชั้นบนสุดจะเป็นจุดชมวิวที่เปิดให้เห็นทัศนียภาพอันงดงามของกรุงออสโลที่เป็นแรงบันดาลใจให้มุงค์สร้างผลงานออกมา โดยสามารถมองเห็นภูเขาและ Oslo fjord ที่เป็นฉากหลังในภาพ The Scream ฉบับต้นกำเนิดด้วย
GES-2 Arts Center, Moscow
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยและศูนย์วัฒนธรรมแห่งใหม่กลางกรุงมอสโก ประเทศรัสเซียแห่งนี้คือพิพิธภัณฑ์ที่ดัดแปลงมาจากอาคารที่ตั้งสถานีพลังงานเก่าแก่ของกรุงมอสโก และแม้จะถูกดัดแปลงและปรับเปลี่ยนฟังก์ชันให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม แต่ยังคงใช้ชื่อ GES-2 ที่เป็นชื่อสถานีพลังงานไว้ดังเดิม
GES-2 Art Center จะได้รับการบริหารจัดการโดย V-A-C Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อโปรโมตศิลปะรัสเซีย โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญในการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยระดับโลก รวมทั้งเป็นพื้นที่โชว์เคสของศิลปินรัสเซียรุ่นใหม่ด้วย
ความโดดเด่นของอาคาร GES-2 ก็คือการสะท้อนสถาปัตยกรรมต้นยุคศตวรรษที่ 20 และการใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ซึ่งแม้จะถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว แต่ทางคณะกรรมการก็ยังคงลักษณะสถาปัตยกรรมและโครงสร้างเหล็กแบบดั้งเดิมไว้เพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เคยเป็นสถานีผลิตพลังงานหลักของเมืองมอสโก และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพลังงานรูปแบบใหม่ที่จะถูกส่งไปหล่อเลี้ยงทั้งเมืองนั้นก็คือพลังงานแห่งศิลปะและความสร้างสรรค์นั่นเอง
นอกจากพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการศิลปะแล้ว GES-2 Art Center ยังประกอบด้วยพื้นที่สวนประติมากรรม (Sculpture Garden), พื้นที่สันทนาการกลางแจ้ง, พื้นที่ฉายหนังกลางแจ้ง และห้องสมุด โดยความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของการออกแบบฟังก์ชันของพื้นที่ก็คือการที่ผู้มาเยือนสามารถเดินทะลุไปยังจุดต่าง ๆ ได้แบบไม่หลงและไม่ต้องใช้แผนที่ด้วย
Museum of the Future, UAE
Museum of the Future คือพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ล่าสุดกลางกรุงดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือการจัดแสดงนิทรรศการงานออกแบบและนวัตกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่จะดันให้ดูไบเป็น Hub ของเทคโนโลยีของโลกในอนาคต
ทันทีที่เผยโฉมต่อสายตาสาธารณชนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา Museum of the Future ก็ได้รับเสียงฮือฮาด้านการออกแบบเป็นอย่างมาก เพราะจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตแห่งนี้ก็คือด้านนอกตัวอาคารที่ถูกปกคลุมด้วยตัวอักษรในภาษาอาหรับ ซึ่งที่จริงแล้วลวดลายทั้งหมดที่เห็นนั้นคือการเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปตัวอักษรที่มาจากบทกวีของมกุฎราชกุมารฮัมดาน บิน มุฮัมมัด อาล มักตูม ที่บรรยายถึงเมืองดูไบในอนาคตนั่นเอง
นอกจากจะสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการออกแบบภายนอกตัวอาคารแล้ว รูปทรงของตัวอาคาร Museum of the Future ที่เป็นรูปทรงที่ดูไม่แน่ชัดว่าเป็นรูปอะไรนี้ยังสะท้อนถึงการเปิดพื้นที่ให้ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในอนาคต ที่เราอาจไม่รู้เลยว่าจะได้ค้นพบนวัตกรรมหรือความรู้ใหม่ ๆ อันใดบ้าง
Hans Christian Andersen Museum, Odense
ใครที่เติบโตมากับเรื่องเล่านิทานก่อนนอนอย่าง ‘เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ’ (The Little Match Girl), ‘เจ้าหญิงกับเมล็ดถั่ว’ (The Princess and the Pea), ‘ทหารดีบุก’ (The Tin Soldier) หรือแม้กระทั่งเทพนิยายตำนานรักสุดขึ้นหิ้งอย่าง ‘เงือกน้อยแสนสวย’ (The Little Mermaid) ที่กลายมาเป็นหนังแอนิเมชั่นสุดฮิตของดิสนีย์ ก็น่าจะคุ้นเคยกับชื่อของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (1805-1875) เป็นอย่างดี เพราะนักเขียนชาวเดนิชผู้นี้ก็คือผู้ที่นำตำนวนพื้นบ้านของแถบสแกนดิเนเวียนมาเล่าใหม่ จนกลายมาเป็นนิทานเด็กสุดอมตะที่กล่าวมาข้างต้น
และในปีนี้ เหล่าผู้หลงใหลในโลกนิทานของแอนเดอร์เซนก็จะสามารถไปสำรวจโลกแห่งจินตนาการของผู้แต่งนิทานสุดคลาสสิกกันได้ผ่าน H.C. Andersen House พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้แต่งนิทานคนดัง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นสุดป็อปแห่งยุคอย่าง เก็งโกะ คุมะ
H.C. Andersen Hous ตั้งอยู่ที่เมืองโอเดนเซ บ้านเกิดของแอนเดอร์เซน โดยเก็งโกะ คุมะ เคยอธิบายว่า แนวทางในการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องเกี่ยวกับแอนเดอร์เซน แต่เป็นการ ‘เล่าเรื่องแบบแอนเดอเซน’ ทำให้พิพิธภัณฑ์ถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ข้างในกับพื้นที่ข้างนอก สะท้อนการที่แอนเดอร์เซนได้รับแรงบันดาลใจจากโลกธรรมชาติภายนอก แล้วนำมาสร้างเป็นเรื่องราวผ่านจินตนาการในหัว แล้วค่อยถ่ายทอดออกมาอีกทีนั่นเอง
โดยทางทีมสถาปนิกได้ออกแบบให้สองในสามของพื้นที่ขนาด 5,000 ตารางเมตรเป็นตัวอาคารที่ถูกฝังอยู่ใต้สวนที่ถูกถอดแบบมาจากเทพนิยาย เพื่อที่จะให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลมกลืนไปกับธรรมชาติป่าเขาซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องราวของแอนเดอร์เซน
นอกจากนี้การออกแบบพื้นที่ภายในยังสะท้อนมุมมองของตัวละครในนิทานของผู้แต่ง ตัวอย่างเช่นบริเวณพื้นที่ใต้ดินของตัวอาคารที่สามารถมองทะลุขึ้นมาเห็นท้องฟ้าผ่านบึงน้ำที่ถูกขุดไว้ด้านบน เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองของเงือกน้อยที่มองโลกภายนอกผ่านผิวน้ำ เป็นต้น
LUMA Arles, Provence
แม้ว่าจะพบเจอกับมรสุมคำสาปแช่งจากชาวเมืองมามากมายเพียงใด แต่ในที่สุด อาคารกรอบเกลียวสะท้อนแสงที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Luma Foundation ณ เมืองอาร์ล เมืองมรดกโลกที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของของฝรั่งเศส ก็สามารถฝ่าฟันทุกคำสาปแช่งและเริ่มเปิดทำการแล้วในปีนี้
อาคารสุดล้ำสูงตระหง่านสะดุดตา แทงยอดทะลุแนวหลังคาบ้านเรือนในเขตเมืองเก่าแห่งนี้ก็เป็นผลงานการออกแบบของ แฟรงก์ เกห์รี สถาปนิกชาวแคาเดียน-อเมริกันชื่อดังวัย 92 ปี ผู้เคยฝากผลงานเป็นอาคารแนว Futuristic ให้โลกประจักษ์มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาคาร Guggenheim Museum Bilbao แห่งสเปน หรือ Walt Disney Concert Hall แห่งลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา
และสำหรับอาคารที่ทำการของ Luma Foundation แห่งเมืองอาร์ลนี้ เกห์รีก็ได้ใช้แผ่นสแตนเลสกว่า 11,000 แผ่นมาหุ้มรอบตัวอาคาร 9 ชั้นที่ดูเหมือนกับถูกจับบิดเกลียว โดยแผ่นสแตนเลสส่องประกายเหล่านี้ก็เป็นภาพแทนของแรงบันดาลใจที่เกห์รีได้มาจากบรรดาดวงดาวพร่างพรายในภาพ Starry Night ของ วินเซนต์ แวนโกะห์ นอกจากนี้เกห์รียังตั้งใจที่จะใช้สแตนเลสเหล่านี้ในการสะท้อนภาพวิวเมืองอาร์ล เพื่อสะท้อนความสวยงามของเมืองที่ดึงดูดให้แวนโกหะห์มาใช้ชีวิตและสร้างผลงานที่เมืองนี้
อาคาร Luma Foundation แห่งเมืองอาร์ล จะถูกใช้เป็น ‘Creative Campus’ ที่เชื้อชวนศิลปินจากทั่วโลกให้มาพำนัก สร้างสรรค์ผลงาน และจัดแสดงผลงานที่นี่ ภายใจจึงประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการศิลปะของศิลปินร่วมสมัย ห้องสมุด สำนักงาน ห้องจัดประชุมสัมนา และพื้นที่สำหรับทำการแสดงสดต่าง ๆ
นอกจากเกห์รีแล้ว อีกหนึ่งคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสถาปัตยกรรมที่สะท้อนภาพอนาคตของเมืองมรดกแห่งนี้ก็คือ มาญา ฮอฟมานน์ ประธานมูลนิธิ Luma Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไรแห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนศิลปินร่วมสมัยและผู้คนที่ทำงานในศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่งฮอฟมานน์ก็เคยกล่าวถึงเหตุผลในการเลือกเมืองอาร์ลให้เป็นศูนย์กลางการทำงานขององค์กรว่า
“ฉันไม่ได้เลือกอาร์ล แต่เป็นอาร์ลต่างหากที่เลือกฉัน”