หลังจากหลอนสั่นประสาทเมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่อง 'ร่างทรง' เสร็จ หนึ่งคำถามใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในใจเรา (และเชื่อว่าอีกหลาย ๆ คน) คือภาพแนวสารคดีในหนังที่ดึงอารมณ์ได้ขนาดนี้ แท้จริงแล้วเกิดขึ้นอย่างไรกันแน่ แต่ความสงสัยนี้ก็อยู่ไม่นานเลย เพราะเมื่อได้ดูเครดิตหนัง เราก็ได้เห็นชื่อผู้ที่จะให้คำตอบ นั่นคือ ‘สีบาน–นฤพล โชคคณาพิทักษ์’ ผู้กำกับภาพมือดีที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วมากมาย
เมื่อทราบดังนั้น GroundControl จึงไม่รอช้าติดต่อไปหาสีบานเพื่อชวนเขาคุยถึงเบื้องหลังงานภาพของ ร่างทรง แต่นอกเหนือจากความสงสัยขั้นต้นนั้น ไหน ๆ คุยกันทั้งทีเราจึงชวนสีบานคุยต่อไปถึงประสบการณ์ที่จำไม่ลืมจาก ร่างทรง ด้วย จนเราได้พบความจริงจากปากสีบานว่าในการทำงานเรื่องนี้ ตัวเขาเองก็รับบทเป็นร่างทรงของบางสิ่งเช่นกัน
จงลืมการถ่ายทำ 13 เรื่องก่อนหน้า
ตั้งแต่ พี่มาก.. พระโขนง, แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว มาจนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง ร่างทรง นี่เป็นงานหนังเรื่องที่สามแล้วที่สีบานร่วมงานกับโต้ง–บรรจง ปิสัญธนะกูล แต่ถึงจะผ่านการร่วมงานกันมาจนรู้ใจ แต่สีบานก็ยืนยันกับเราว่าจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้แปรผันตรงกับความง่าย เพราะไม่ว่าจะเรื่องไหน บรีฟแรกจากโต้งก็ทำให้สีบานเหงื่อตกได้เสมอ
สีบาน–นฤพล : “เวลาทำงานกับโต้ง บรีฟแรกไม่เคยเหมือนกันเลยสักครั้ง เพราะเขาเองไม่ใช่คนที่ทำอะไรเหมือนเดิมอยู่แล้ว กับ ร่างทรง เองก็เป็นแบบนั้น เพราะบรีฟแรกที่ผมได้จากโต้งคือภาพที่มีความเป็นสารคดี
“ผมเคยถ่ายหนังมาทั้งหมด 13 เรื่อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 14 แต่พอได้บรีฟว่าต้องเป็นภาพแบบสารคดี สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวคือผมต้องลืมการถ่ายหนังที่เคยทำมาทั้งหมด การใช้เลนส์ กล้อง หรือไฟใดๆ ผมต้องทิ้งมันไป แม้กระทั่งความเข้าใจว่าโต้งชอบภาพแบบไหน ผมก็ต้องทิ้ง เพราะด้วยงานภาพที่ต้องออกมาเป็นแนวสารคดี ผมไม่ควรมีหรือใช้ความรู้อย่างที่เคยทำ ผมต้องเริ่มใหม่ไปพร้อมๆ กับหนัง
“ซึ่งต้องขอบคุณโต้งมากที่ช่วยชี้แนะในจุดนี้นะ เพราะในความคาดหวังของเรื่องแล้ว ผมยังต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวแสดงคนหนึ่งด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริงผมแสดงหนังไม่เป็น ทั้งหมดล้วนเป็นข้อจำกัด แต่โต้งก็ช่วยยืนยันกับผมตั้งแต่แรกว่าสุดท้ายสิ่งที่ผมถ่าย ถ้าทำให้เขารู้สึกได้ นั่นถือว่าถูกต้อง ผมไม่ต้องสนโลจิกอะไรทั้งสิ้น ความแม่นตรงนี้ของโต้งช่วยผมได้มากจนสามารถทำงานออกมาได้”
เมื่อความรู้-ไม่รู้และพลังของนักแสดงทำให้เกิดความจริง
พอในภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง เลือกถ่ายทอดในรูปแบบสารคดี แน่นอนว่างานด้านภาพนั้นเรียกร้อง ‘ความสมจริง’ ให้กับคนดูสูงมาก ซึ่งถึงแม้นี่จะเป็นเรื่องใหม่ของสีบาน แต่จากการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายก็ทำให้เขาตกตะกอนได้ว่า ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นในภาพสามารถมาได้จากหลายปัจจัย และมันคือการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างแท้จริง
สีบาน–นฤพล : “สำหรับผม การถ่ายหนังเรื่องนี้คือการหาจุดที่พอดีระหว่างความรู้และความไม่รู้ ลองคิดตามง่ายๆ ก็ได้ว่าถ้าผมรู้เหตุการณ์ล่วงหน้ามากไป ภาพที่เกิดขึ้นจากผมคงทำให้คนดูเชื่อยากแน่ๆ แต่ในขณะเดียวกันจะให้ผมไม่รู้อะไรเลยก็ไม่ได้อีก เพราะภาพที่ออกมาคงทำให้คนดูเชื่อได้ยากเหมือนกัน ดังนั้นจุดสมดุลคือความยาก ยิ่งตอนถ่ายจริงต่อให้พยายามไม่รู้ขนาดไหน ผมก็ไม่สามารถลืมคิวที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ นั่นยิ่งทำให้ยากไปใหญ่ แต่ก็ตรงนี้แหละที่พลังของนักแสดงช่วยผมไว้มากๆ
“ถึงแม้รู้ว่าเหตุการณ์ไหนกำลังจะเกิด แต่ในการถ่ายทำผมจะไม่รู้ว่านักแสดงจะนำเสนอเหตุการณ์นั้นออกมายังไง ไอ้ความตื่นเต้นตรงนี้เองที่ทำให้ผมรับรู้และถ่ายทอดมันออกมาด้วยกล้องจนเกิดเป็นภาพ ยกตัวอย่างเช่นพลังงานของมิ้งในหลายๆ ฉาก ผมถามโต้งก่อนเข้าฉากนะ ว่าฉากต่อไปต้องเล่นเบอร์นี้เลยเหรอ โต้งก็บอกว่าใช่ ซึ่งถึงแม้จะรู้ แต่นักแสดงก็ทำให้ผมคาดไม่ถึงได้ทุกครั้ง พวกเขาพุ่งทะยานทะลุมิติ เช่น ฉากที่มานิตตามหามิ้ง ผมมองว่าตัวเองมีหน้าที่แค่ขยับกล้องด้วยจังหวะที่พอดีกับที่โต้งต้องการเท่านั้นเอง เพราะพอขยับไปเจอมิ้ง ที่เหลือหลังจากนั้นเป็นเรื่องของการตอบรับในฐานะตัวละครแล้ว”
ร่างทรงช่างภาพ จากหนึ่งไปถึงสี่
ในภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง กว่าเก้าสิบเปอร์เซนต์ของหนังถูกเล่าผ่านสายตาที่มองผ่านกล้องของตัวละครช่างภาพสารคดีทั้ง 4 คน แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่เก็บภาพจากทั้ง 4 ตัวละครคือสีบาน เพราะเหตุนี้เองนี่จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากสำหรับเขา เพราะนอกจากจะต้องถ่ายทอดออกมาให้ดูสมจริงให้เป็นภาพแนวสารคดีที่สุด สีบานยังต้องสวมบทเป็นตัวละครที่แตกต่างกันถึง 4 ตัวละครด้วย
สีบาน–นฤพล : “ถ้าพูดถึงโจทย์ที่หินกับ ร่างทรง ผมว่ามันคือช็อต POV (ช็อตมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ด้วยความที่ตัวละครช่างภาพในเรื่องนี้มี 4 คน แม้ในหนังจะไม่ได้บอกว่าเป็นใคร แต่ในบทล้วนมีอธิบายหมด ว่าพวกเขามีคาแรกเตอร์ยังไง อายุเท่าไหร่ มีนิสัยแบบไหน ตั้งแต่คนที่เป็นผู้นำ คนที่ไม่กลัวผี ไปจนถึงคนที่กลัวผีมาก ดังนั้นเวลาผมถ่าย สีบานจึงไม่มีตัวตนในเรื่องนี้ แต่จะเป็นพวกเขาทั้ง 4 คนที่เข้ามาสิงร่างทรงอย่างผม
“ผมต้องรู้หมดว่าผมกำลังเป็นช่างภาพคนไหน และเขาชอบถ่ายภาพยังไง ซึ่งเอาเข้าจริงเป็นโจทย์ที่ยากเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกว่าผมไม่ใช่นักแสดง แต่โชคดีที่ผมมีที่ปรึกษาในเรื่องนี้อย่างเอ็มยศ (ยศวัศ สิทธิวงศ์) ที่มาคอยช่วยชี้แนะว่าในความเป็นจริงคนทำสารคดีที่อายุประมาณนี้ เวลาเจอสถานการณ์เขาน่าจะถ่ายแบบไหน ผมก็ค่อยๆ ได้เรียนรู้จากตรงนั้น ซึ่งผมชอบกระบวนการนี้มาก ถ้าไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้ผมคงไม่ได้รู้เรื่องนี้แน่ๆ
“หรืออย่างมีอยู่ซีนนึงตอนท้ายเรื่อง ที่ช่างภาพคนที่กลัวผีที่สุดต้องถ่ายภาพโดยที่ตัวเองกำลังกลัวมาก ๆ นี่เป็นอีกหนึ่งฉากยาก ที่ผมถ่ายยังไงก็ยังดูไม่กลัวสักที สุดท้ายเราก็คุยกันจนโต้งเลือกแก้ปัญหาโดยการให้นักแสดงที่เล่นเป็นตากล้องมาหายใจอยู่หลังกล้องใกล้ผม เพื่อให้ผมรู้ว่าคนที่กำลังกลัวถึงขีดสุดเขาหายใจและรู้สึกแบบไหน ผมจะได้ถ่ายตามจังหวะหายใจนั้น สุดท้ายซีนนี้ก็ผ่านจริงๆ ดังนั้นต้องให้เครดิตทุกคนเลยกับการที่ผมสามารถเป็นทั้ง 4 คนในเรื่องได้แบบนี้นะ”
ทำให้ 15 กิโลกรัม เหลือ 1 กิโลกรัม
ถ้าลองสังเกตุดูดีๆ จะเห็นว่าตัวละครช่างภาพใน ร่างทรง นั้นใช้กล้อง Handycam ในการบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมด และเหตุการณ์ที่พวกเขาบันทึกก็คือภาพที่เราได้ชมในภาพยนตร์ ดังนั้นในแง่ของการถ่ายทำ ถ้าคิดถึงความสมจริงสีบานก็น่าจะใช้กล้อง Handycam ด้วย แต่กลายเป็นว่าสุดท้ายเพื่อจะให้ได้ภาพที่สมจริงและมีคุณภาพ เขาต้องไปไกลกว่านั้นมาก
สีบาน–นฤพล : “มันเป็นคำถามแรกๆ ที่ผมถามตัวเองนะ ว่าผมต้องใช้กล้องแบบไหนถ่าย ซึ่งสิ่งที่ผมทำอย่างแรกคือลองเอากล้องแบบที่ช่างภาพในเรื่องใช้มาถ่ายจริง เพราะมันคือการยึดตามความจริงที่เกิดขึ้นในเรื่องให้ได้มากที่สุด แต่ปรากฎว่าคุณภาพภาพที่ออกมาไม่รอดเลย ผมต้องไปหาและทดลองกับโต้งหลังจากนั้นอยู่นาน จนได้กล้องที่คุณภาพโอเค แต่ติดปัญหาที่ว่ากล้องตัวนั้นมีน้ำหนักมากเกินไป
“จากกล้อง Handycam ที่หนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม แต่กลายเป็นว่ากล้องที่ผมใช้มีน้ำหนักประมาณ 15-20 กิโลกรัม นี่เป็นน้ำหนักที่แตกต่างกันซึ่งจะส่งผลต่อการถ่ายทำแน่ๆ เพราะการเคลื่อนที่ของตัวละครที่ถือกล้องหนัก 1 กิโลกรัม กับกล้อง 20 กิโลกรัม ยังไงก็ไม่เหมือนกัน แต่ในเมื่อผมลดน้ำหนักกล้องน้อยที่สุดได้แค่นี้ ผมเลยต้องแก้ไขที่ตัวเองแทนเพื่อซัพพอร์ตกล้องให้สมจริงที่สุด นั่นคือการออกกำลังกาย
“ผมวิ่งทุกวัน วันละ 5 กิโลเมตร เป็นเวลา 3-4 เดือนก่อนออกกอง เพราะผมเชื่อว่าร่างกายที่แข็งแรงขึ้นจะทำให้ผมยืนทนทานแบกกล้องได้ ซึ่งสุดท้ายมันก็ออกมาเป็นอย่างที่คิด ที่น่าตลกคือหลายคนสงสัยว่าช่วงท้ายๆ ของหนังผมแบกกล้องถ่ายติดกันนานขนาดนั้นได้ยังไง แต่ในความเป็นจริงคือหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ถ่ายเรียงเรื่อง ดังนั้นช่วงท้ายๆ ของหนังผมแบกกล้องมาจนแข็งแรงพอแล้ว ฉากที่ยากกลับเป็นฉากในบ้านมิ้งที่ถ่ายคิวแรกๆ มากกว่า ที่พอดูรอบสื่อในโรง ผมยังจำความหนักของกล้องได้อยู่ รู้สึกเมื่อยไหล่ขึ้นมาจริงๆ ในโรงเลยล่ะ (หัวเราะ)”
เมื่อคนไม่กลัวผี ต้องมาสร้างความกลัวผ่านภาพในหนัง
แม้ ร่างทรง จะเต็มไปด้วยเรื่องราวสุดหลอนที่เกี่ยวกับภูติผีวิญญาน แต่แท้จริงแล้วตากล้องประจำเรื่องอย่างสีบานกลับสารภาพกับเราว่าโดยพื้นฐาน เขาไม่ใช่คนกลัวผีเลย ถ้าเห็นผีเขาอยากวิ่งใส่ด้วยซ้ำ นั่นเองจึงทำให้เกิดขั้นตอนที่สีบานต้องถามตัวเองว่าถ้าต้องถ่ายภาพที่ทำให้คนกลัว คนไม่กลัวผีอย่างเขาต้องทำอย่างไร
สีบาน–นฤพล : “ด้วยอาชีพที่ผมทำ ผมมองตัวเองเป็นช่างเทคนิค ดังนั้นผมเชื่อในวิทยาศาสตร์ร้อยเปอร์เซนต์ ในมุมหนึ่งมันเลยทำให้ผมไม่กลัวผี เพราะผมคิดง่ายๆ ว่าถ้าเพื่อนผมตายไปแล้วกลับมาหา ผมคงอยากสื่อสารกับเขามากกว่าวิ่งหนี ผมคงวิ่งเข้าใส่มากกว่าหลีกเลี่ยงสถานการณ์ ดังนั้นพอต้องมาดูเรื่องภาพในร่างทรง ผมจึงตั้งคำถามกับตัวเองหนักมากว่าถ้าผมต้องกลัวอะไรสักอย่าง ผมจะกลัวอะไร
“ซึ่งคิดไม่นานผมก็ได้คำตอบ ว่าถ้าเห็นผี ผมไม่กลัวแน่ๆ แต่ถ้าไม่เห็นนี่สิ (นิ่งคิด) อันนี้ผมว่าผมกลัวนะ
“ผมเริ่มย้อนคิดจนสังเกตุเห็นว่าแม้ตัวเองจะเชื่อในวิทยาศสตร์ แต่ในอีกมุมผมกลับเชื่อในเจ้าที่เจ้าทาง เชื่อในกลไกการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เหล่านี้มันคือบางอย่างที่ผมมองไม่เห็น และผมก็กลัวมันอยู่ลึกๆ ซึ่งจากตรงนี้เองผมก็ค่อยๆ เริ่มเอามาต่อขยายเป็นงานภาพใน ร่างทรง จนออกมาเป็นงานภาพที่ผมนิยามว่าเป็น ‘ความเคว้งคว้าง’
ภาพสถานที่ใหญ่ ๆ ที่ไม่มีผู้คน ภาพภูเขาที่มีหมอกลอย ภาพหมู่บ้านที่มีถนนตัดผ่านแต่ไม่มีรถ หรือภาพบ้านนิ่งๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ใหญ่มากๆ เหล่านี้คือความเคว้งคว้างที่ผมรู้สึกว่ามันน่ากลัว มันทดแทนความไม่เห็น ความไม่รู้ และบ่งบอกว่ายังมีธรรมชาติที่ใหญ่กว่าตัวเรามากๆ มันทำให้ผมรู้สึกว่าถ้ามีอะไรสักอย่างในภาพนี้คิดไม่ดีกับเรา เราคงเสร็จมันแน่”
คนไม่ได้กลัวความมืดหรอก แต่คนกลัวสิ่งที่อยู่ในความมืด
หนึ่งในฉากที่เป็นที่พูดถึงในวงกว้างของหนังเรื่อง ร่างทรง คือฉากที่ถ่ายจากกล้องวงจรปิด ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเทรลเลอร์หรือหนังฉบับเต็ม เรียกได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งภาพจำที่ทำให้ใครหลายคนกรี๊ดลั่นโรงและเก็บเอาไปนอนฝันร้าย แต่นอกจากความตกใจแล้ว ซีนภายใต้ความมืดนั้นก็ล้วนผ่านการออกแบบมาเช่นกัน
สีบาน–นฤพล : “ฉากที่หลายคนพูดถึงอย่างกล้องวงจรปิด ผมว่านี่คือฉากที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งโต้ง ทีมภาพ ไปจนถึงพี่เบิ้มที่เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ แต่ในมุมมองผมคิดว่าคนที่ควรกล่าวถึงมากที่สุดคือพี่เบิ้ม เพราะเขาเซ็ทบ้านได้เหมาะสม เหมือนจริงและให้อารมณ์อย่างมาก
“ถ้าลองดูภาพกล้องวงจรปิด จะเห็นว่าภาพนี้มันน่ากลัวตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ต้องมีอะไรมาขยับให้เราตกใจก็ได้ ซึ่งหลักๆ ผมว่าเรื่องนี้เกิดจากทุกองค์ประกอบในบ้าน อย่างที่จุดที่ผมชอบมากที่สุดเลยคือเสื่อน้ำมัน เพราะมันบ่งบอกถึงความเป็นบ้าน และมันก็ยังทำหน้าที่สะส้อนแสงออกมาเป็นลายๆ ได้ตลอดเวลา ทำให้เราที่เห็นภาพรู้สึกว่าภาพนี้ไม่อยู่นิ่ง มันไม่ปลอดภัย คล้ายมีอะไรเคลื่อนไหวแต่มองไม่เห็น ผมว่านี่แหละคือเทคนิกที่สร้างอารมณ์ได้
“หรืออย่างคำถามที่ว่าห้องน้ำในบ้านมิ้งควรมีหลอดนีออนกี่หลอด ส่วนนี้ก็เป็นพี่เบิ้มอีกเช่นกัน เพราะถ้ายึดตามการทำงานแบบเก่า ผมสามารถเซ็ทให้มีเท่าไหร่ก็ได้เพื่อให้ถ่ายออกมาได้ดีที่สุด แต่กับหนังเรื่องนี้คือไม่ใช่ ผมไม่ได้ใช้ไฟในอุตสาหกรรมกองถ่ายใดๆ มีแค่พี่เบิ้มกับผมที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาว่าไฟควรอยู่ตรงไหน สมจริงหรือเปล่า และสามารถเป็นภาพที่ออกมาแล้วได้คุณภาพหรือไม่ ทั้งหมดนี้ล้วนผ่านการออกแบบทั้งนั้น ต้องให้เครดิตทีมงานทุกคนเลยนะ ผมมีหน้าที่แค่วางเฟรมให้เห็นองค์ประกอบทั้งหมดแค่นั้นเอง”
การงานเปลี่ยนความเชื่อ
ปัจจุบัน ร่างทรง ยังคงทำงานส่งต่อความหลอนในโรงภาพยนตร์และเป็นที่พูดถึงอย่างหนาหู แน่นอนว่าผลกระทบของหนังล้วนสร้างการถกเถียงและให้อะไรกับคนดูแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่สำหรับคนเบื้องหลังอย่างสีบานเอง ประสบการณ์จากหนังเรื่องนี้ก็ให้อะไรกับเขาเช่นกัน และมันเป็นอะไรที่เขาคาดไม่ถึงด้วย
สีบาน–นฤพล : “ตามปกติผมเป็นคนที่ลืมงานที่ตัวเองเคยทำ ทำให้กับตอนที่ได้ดู ร่างทรง ในโรงภาพยนตร์ ผมก็เพลิดเพลินเหมือนผู้ชมท่านอื่นนะ เอาง่ายๆ ว่าผมดูมา 2 รอบแล้ว อีกไม่กี่วันจะกลับกรุงเทพฯ ก็ว่าจะไปดูรอบที่ 3 เพราะสำหรับผมในฐานะคนดู นี่คือหนังที่สนุกและพิเศษ ที่สำคัญคือผมว่าตัวเองเริ่มรู้สึกกลัวผีขึ้นมาบ้างแล้วล่ะ (หัวเราะ)
“เหมือนก่อนหน้านั้นผมไม่ได้คำตอบมั้ง ว่าถ้าเรามองไม่เห็นผี ผีมองไม่เห็นเรา แล้วมันจะทำอะไรเราได้ยังไง แต่ตอนนี้ผมเจอแล้วว่าถ้าผีอยู่ในคน จากที่มันบีบคอเราไม่ได้ ตอนนี้มันทำได้ ดังนั้นจะบอกว่านี่เป็นความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปที่เกิดขึ้นจากหนังเรื่องนี้ก็ได้
“แต่ถ้าพูดถึงในมุมของการงาน ร่างทรง ก็ให้อะไรกับผมเช่นกัน เพราะพอมาย้อนคิดดูแล้ว นี่คืองานที่เข้ามาเตือนผมว่าทำไมถึงชอบถ่ายหนัง มันทำให้ผมจำได้ว่าเพราะความยากของงานถ่ายหนังนี่แหละที่ทำให้ผมสนุกได้เสมอ ยิ่งพอเวลาผ่านไปแล้วได้เห็นว่ามันออกมาหน้าตายังไง มันยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่านี่แหละคือเหตุผลที่ยังทำอาชีพนี้
"อยู่เพื่อทำสิ่งยากๆ ให้สำเร็จและส่งมันออกฉายโรงแบบที่ทุกคนได้ดูกันนี่แหละครับ”