ทำความรู้จัก ‘พระตรีมูรติ’ พ่อสื่อและกูรูความรักที่ ‘มาแรง’ ที่สุดในวาเลนไทน์นี้

Post on 24 January

ไม่กี่วันที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์การรวมตัวของเหล่าคนโสดทั่วฟ้ากรุงเทพฯ ที่มารวมตัวกันโดย (มิได้) นัดหมาย เพื่อขอยืมพลังของเทพที่แกร่งกล้าที่สุด ในการทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นภารกิจที่กำหนดความเป็นความตายของมวลมนุษยชาติ... นั่นก็คือการหาคู่

แม้ปรากฏการณ์รวมตัวตนโสดทั่วหล้าฟ้ากรุงเทพฯ เพื่อกระทำการเล่นแร่แปรธาตุมูเตลูนี้จะตามมาด้วยกระแสวิพากษ์มากมาย ทั้งการตั้งคำถามว่า ไปหาเทพผิดองค์หรือเปล่าแกร? หรือเป็นคนไทยแต่ไหว้ขอพรเทพฮินดูเนื่องในการมาถึงของวันวาเลนไทน์ที่เป็นเทศกาลของทางตะวันตกเนี่ยนะ? แต่ถ้าเรามองปรากฏการณ์ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลด้านความเชื่อ ใครใคร่ไหว้อะไร ไหว้ ใครใคร่ขออะไร ขอ ใครใคร่จะเรียกพลังเทพจากตำราไหน ก็จะไม่มีเรื่องติดขัดใจอันใด เพราะที่จริงแล้วเรื่องของความเชื่อนั้นก็ล้วนมาจากการเคลื่อนไหวของกระแสวัฒนธรรมที่ไม่เคยหยุดยิ่ง และสามารถเคลื่อนเข้าหาหรือผสานกับความเชื่ออื่น ๆ จนเกิดเป็นวิถีหรือแนวทางความเชื่อใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะตะวันตกหรือตะวันออก จะจับมิกซ์พลังข้ามวัฒนธรรม เรียกเหล่าเทพทั้งสวรรค์มารวมตัวกันในภารกิจรถด่วนขบวนสุดท้ายนี้อย่างไร ถ้าเชื่อว่าพลังของเทพจะพาคนคนนั้นมาเจอเราได้ จัดไปเลยอย่าแผ่ว!

ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยความที่ชื่อของ ‘พระตรีมูรติ’ ได้ขึ้นแท่นเป็นกูรูความรักและพ่อสื่อพ่อชักที่มาแรงที่สุดประจำเทศกาลแห่งความรักนี้ เราเลยอยากจะขอพาชาว GroundControl ไปสำรวจที่มาที่ไปของเทพเจ้าที่กลายมาเป็นเทพแห่งความรักของคนไทยองค์นี้กันสักหน่อย

รูปสลักพระสทาศิวะจากถ้ำเอเลฟันตะ ประเทศอินเดีย

รูปสลักพระสทาศิวะจากถ้ำเอเลฟันตะ ประเทศอินเดีย

รูปสลักพระสทาศิวะจากถ้ำเอเลฟันตะ ประเทศอินเดีย

รูปสลักพระสทาศิวะจากถ้ำเอเลฟันตะ ประเทศอินเดีย

ก่อนจะพูดถึงพระตรีมูรติ คงต้องขอเริ่มต้นทำความเข้าใจกันก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่าพระตรีมูรติในศาสนาฮินดูนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการรวมตัวกันของพระเป็นเจ้าทั้ง 3 คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ โดยปกติแล้ว การนำรูปประติมากรรมของมหาเทพทั้งสามมาวางด้วยกันก็สามารถเรียกโดยรวม ๆ ว่าพระตรีมูรติได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำร่างมาฟิวชั่นกันแต่อย่างใด

ชื่อของพระตรีมูรติ ในศาสนาฮินดูก็ปรากฏครั้งแรก ๆ ในบทกวีของ กาลิทาส เรื่อง กุมารสมภพ โดยในบทกวีนั้นได้พรรณาไว้ว่า “ในช่วงก่อนสร้างโลก พระองค์มีเพียงหนึ่งเดียว จากนั้นจึงแบ่งภาคตัวเองตามคุณลักษณะทั้งสาม” แนวคิดนี้คล้ายกับที่พบในคัมภีร์เทวีภควัตปุราณะ ที่บรรยายว่า “ตรีมูรติ พระพรหม พระวิษณุ พระมเหศวร แท้จริงแล้วมีรูปเพียงหนึ่งเดียว”
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของแนวคิดกำเนิดพระเจ้าทั้งสามดังที่กล่าวมาน่าจะมีพัฒนาการมาจากคัมภีร์ในช่วงปลายสมัยพระเวทที่เรียกว่าอุปนิษัท โดยในไมตรีอุปนิษัท อธิบายไว้ว่า พระเจ้าสูงสุด คือ พรหมันซึ่งไม่มีรูปร่าง ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ส่วนเสี้ยวของพระองค์ถือกำเนิดเกิดเป็นเทพทั้งสาม คือพระพรหม พระวิษณุ และพระรุทระ(พระศิวะ) จากสามเทพก็กำเนิดเกิดเป็นสรรพสิ่งต่าง ๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน แนวคิดเช่นนี้เป็นรากฐานให้คัมภีร์ในศาสนาฮินดูยุคต่อมาใช้ในการอธิบายถึงการกำเนิดขึ้นของสรรพสิ่งในจักรวาลด้วย

พระสทาศิวะ ศิลปะเขมร คอลเลคชั่นของ The MET Museum

พระสทาศิวะ ศิลปะเขมร คอลเลคชั่นของ The MET Museum

ในคัมภีร์อย่างปุราณะก็ได้ถ่ายทอดแนวความคิดช่วงปลายยุคพระเวทนี้ออกมา โดยปุราณะแต่ละฉบับก็จะยกเอาเทพที่ตนนับถือว่าเป็นใหญ่ไปสวมทับเข้ากับตัวตนของพระพรหมันอันเป็นเทพสูงสุด อย่างเช่น ในภควัตปุราณะที่นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ ก็จะยกเอาพระวิษณุเป็นพรหมัน แล้วจากนั้นจึงสร้างเทพทั้งสามขึ้นมา ส่วนคัมภีร์ลิงคปุราณะที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ก็จะยกเอาพระศิวะเป็นพรหมันในทำนองเดียวกันนั่นเอง ฉะนั้นแล้วในมุมมองของศาสนาฮินดู ความสำคัญของพระวิษณุหรือพระศิวะไม่ได้อยู่ที่บทบาทของการเป็นส่วนหนึ่งในตรีมูรติ แต่สำคัญในบทบาทของการเป็นพระเจ้าสูงสุดเหนือตรีมูรตินั่นต่างหาก

A.L. Basham ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Wander that was India ว่า แนวคิดเรื่องตรีมูรติที่เทพทั้งสามมีศักดิ์เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นไม่ใช่ความจริง แต่เป็นมุมมองของนักวิชาการตะวันตกในยุคแรก ๆ ที่ใช้แนวคิดเรื่อง Trinirty มาจับกับศาสนาฮินดู ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว แต่ละนิกายมักมีแนวโน้มที่จะเข้าข้างเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งให้อยู่เหนืออีกสององค์อยู่เสมอ ฉะนั้นแล้ว ตรีมูรติในรูปของการรวมกันของเทพเจ้าทั้งสามจึงถูกสร้างขึ้นมาภายใต้แนวความคิดว่าใครคือจุดสูงสุดในกลุ่มนี้

ซึ่งจากดราม่าพระตรีมูรติที่ผ่านมา ก็มีหลายฝ่ายที่ออกมาอธิบายว่า จริง ๆ แล้วลักษณะทางประติมานวิทยาที่ปรากฏเป็นเทพเจ้ามีห้าพักตร์ สี่กร คือพระสทาศิวะหรือพระศิวะปัญจมุขี (พระศิวะปางที่มีห้าเศียร) ต่างหาก ซึ่งในแง่ของการสร้างรูปพระสทาศิวะก็ดี หรือรูปพระทัตตาเตรยะก็ดี หรือพระวิศวรูปก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการสื่อความหมายไปถึงตรีมูรติทั้งสิ้น อย่างพระสทาศิวะ คือการประกาศความเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุดที่รวมเอาตรีมูรติมาไว้ในตัวพระศิวะนั่นเอง นัยยะของรูปเคารพนี่ก็ไม่ต่างจากการบอกว่า “ฉัน (พระศิวะ) นี่แหละคือพระตรีมูรติ ไม่ใช่ใครอื่น” ในทำนองเดียวกันการสร้างรูปพระทัตตาเตรยะหรือพระวิศวรูปก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ เพียงแต่เปลี่ยนตัวจากพระศิวะเป็นพระวิษณุก็เท่านั้นเอง ฉะนั้นแล้ว บทบาทของการเป็นตรีมูรติจึงมีอยู่เพื่อสื่อถึงเทพเจ้าที่อยู่เบื้องหลังอีกต่อหนึ่งนั้นเอง อยู่ที่ว่าสาวกเหล่านั้นจะภักดีกับเทพองค์ใด

พระสทาศิวะ ศิลปะอินเดีย ราวศตวรรษที่ 11-12 คอลเลคชั่นของ LACMA

พระสทาศิวะ ศิลปะอินเดีย ราวศตวรรษที่ 11-12 คอลเลคชั่นของ LACMA

พระสทาศิวะ ศิลปะอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระสทาศิวะ ศิลปะอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ส่วนการจะขอพรอะไรนั่นก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นองค์นั่นองค์นี้เท่านั้น จริง ๆ แล้วการขอพรจากเทพเจ้าสามารถขอเทพองค์ใดก็ได้ เรื่องใดก็ได้อยู่แล้ว แล้วแต่ความศรัทธา ซึ่งเราจะเห็นได้จากปกรณัมต่าง ๆ อย่างนางเทราปตีในชาติปางก่อนก็ขอสามีจากพระศิวะ เหล่าอสูรของสารพัดพรจากพระเจ้าทั้งสาม ก็ไม่ได้จำกัดว่าองค์นี้ให้พรนี้ได้ ให้พรนั้นไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องความศรัทธาล้วน ๆ เลยจ้า

ส่วนพระตรีมูรติหน้าเซนทรัลเวิร์ลด์ กลายมาเป็นเทพเจ้าแห่งความรักตั้งแต่เมื่อใดนั้นดูเหมือนจะไม่มีข้อมูลเลย เดิมทีแล้วการตั้งศาลแห่งนี้ดูจะเกี่ยวข้องกับการล้างอาถรรพ์ซะด้วยซ้ำ คงเป็นการลือกันในหมู่ผู้ศรัทธาก็ได้ คิดว่าไม่ต่างจากการขอหวยที่ลือกันว่าที่นั้นที่นี่ให้หวยแม่นอะไรประมานนั้น คงมีสักคนที่เข้ามาขอพรเรื่องความรักแล้วสมหวังก็เล่ากันปากต่อปากไป (อันนี้เดาเอาล้วนๆ อย่าถามหาข้อเท็จจริง) และเมื่อถูกสถาปนาให้เป็นเทพผู้ประทานความรัก ออฟชั่นเสริมที่ตามมาก็คือของบูชาอย่างดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักในวัฒนธรรมตะวันตกเสียด้วย เรียกว่า East meet Wast จบครบในที่เดียว ส่วนใครรู้ข้อเท็จจริง ใครเกิดทันสมัยที่ไหว้ขอพรความรักช่วงแรก ๆ ได้ยินได้ฟังมาจากไหนก็เอามาแชร์กันได้เลยนะอยากรู้เหมือนกัน

อ้างอิง: ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระตรีมูรติ ในอินเดีย ไม่ใช่รูปรวมเทพเจ้าทั้งสาม เหมือนที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์, The S'rîmad Devî Bhâgawatam,

อินเดียมหัศจรรย์ โดย A.L. Basham
ปัญจเวทานตะ โดย ร.ศ.วรลักษณ์ พับบรรจง
เทวีภควัตปุราณะ