จาก Little Mermaid ถึง Frozen สำรวจงานศิลปะที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชั่น Disney

Art
Post on 24 January

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแอนิเมชั่นที่เป็นผลผลิตมาจากสตูดิโออายุเกือบ 100 ปีอย่าง Disney หาใช่แค่การ์ตูนหรือเรื่องเล่าในนิทานที่มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น แต่บรรดาหนังแอนิเมชั่นของ Disney แต่ละเรื่อง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ล้วนเป็นเหมือนดังงานคราฟต์หรือศิลปะชิ้นหนึ่ง ทั้งในแง่ของสตอรีและงานภาพ ที่เสพได้ทุกเพศทุกวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ซึ่งสิ่งที่แฟนดิสนีย์หลายคนอาจจะรู้กันดีอยู่แล้วก็คือ ในความเป็นงานศิลปะของแอนิเมชั่น Disney ผู้สร้างเขาก็ยังหาทางสอดแทรกงานศิลปะที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์เข้าไปอีก จะเป็นเรื่องราวใต้โลกบาดาล ในดินแดนหนาวเหน็บอันห่างไกล ผู้ชมก็มักจะได้เห็นบรรดางานศิลปะทั้งภาพวาดและงานประติมากรรมชื่อดังถูกสอดแทรกเข้าไป เพื่อช่วยขับเน้นความหมายหรือเรื่องราวของตัวละครให้เด่นชัดขึ้น

ว่าแต่ในแอนิเมชั่นเรื่องใดมีงานชิ้นไหนแอบซ่อนอยู่บ้าง? เราลองย้อนกลับไปสำรวจตัวอย่างบางส่วนกัน!

Hercules (1997)

ในแอนิเมชั่นที่ดึงเรื่องราวของวีรบุรุษ Hercules ในปกรณัมตำนานกรีกมาเล่าใหม่เรื่องนี้ ผู้สร้างได้แอบซ่อนงานศิลปะต่าง ๆ ที่ก็บอกเล่าเรื่องราวของเทพกรีกมาไว้ในฉากต่าง ๆ โดยหนึ่งในชิ้นงานที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ รูปปั้น Venus de Milo ที่ปรากฏในฉากที่ Hercules และ Meg เกี้ยวพากันอยู่ในสวน จนเป็นที่มาของฉากต่อไปที่เหล่าคณะ Muse สาวเสียงดีทั้งห้าจะมาเกลี้ยกล่อมให้ Meg เผยความในใจกับ Hercules จนเป็นที่มาของเพลง I Won't Say I'm In Love นั่นเอง

Venus de Milo คือหนึ่งในประติมากรรมชิ้นเอกของโลกที่ใครก็ต้องคุ้นตา โดยรูปปั้นของวีนัสแขนกุดที่สะกัดขึ้นจากหินอ่อนนี้ถูกค้นพบครั้งแรกที่เกาะ Milo ในกรีซ เมื่อปี 1820 และสันนิษฐานว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นเมื่อช่วงปี 130 - 100 โดยประติมากรยุคเฮลเลนิสต์อย่าง Alexandros of Antioch

ส่วนเหตุผลที่ว่า เหตุใดแขนทั้งสองข้างของเทพธิดาแห่งความรักความปรารถนาผู้นี้ถึงขาดหายไปนั้น… จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่ในแอนิเมชั่นปี 1997 เรื่องนี้ ทางผู้สร้างก็ให้คำตอบไว้ว่า รูปปั้นวีนัสชิ้นนี้เคยมีแขนครบทั้งสองข้าง กระทั่ง Hercules ของเราเป็นผู้พลั้งมือทำแขนหักไปด้วยความเขินสาวนั่นเอง

The Little Mermaid (1989)

ในฉากขุมทรัพย์ใต้สมุทรของเงือกสาวที่ฝันอยากมีขานั้น คนที่ตาดีก็จะสังเกตเห็นว่านอกจากบรรดาชุดคอลเลกชันถ้วยชามช้อนส้อมของเธอแล้ว Ariel ยังแอบเก็บงานศิลปะชิ้นเอกของโลกอย่าง Magdalene With the Smoking Flam (1640) ของ Georges de La Tour ไว้ด้วย

Mary Magdalene ผู้เป็นหนึ่งในสาวกที่ติดตามพระเยซูนั้นเป็นหนึ่งในบุคคลที่ปรากฏในงานศิลปะมาแทบทุกยุคสมัย ซึ่งตัวตนของเธอก็ถูกตีความและนำเสนอในหลากหลายรูปแบบ บ้างก็ว่าเธอเป็นโสเภณี เป็นแม่หมด ไปจนถึงเป็นคู่รักของพระเยซู ซึ่งในผลงานของ de La Tour ชิ้นนี้ สิ่งที่น่าสนใจหาใช่การตีความสถานะหรือตัวตนของ Mary Magdalene หากแต่เป็นวิธีการที่ศิลปินยุคบาโรกผู้นี้นำเสนอภาพของ Mary Magdalene มากกว่า

ก่อนหน้านั้น การนำเสนอภาพของ Mary Magdalene ศิลปินก็มักจะถ่ายทอดเธอออกมาในฉากจากพระคัมภีร์ โดยเฉพาะในฉากสำคัญที่เธอรับร่างของพระเยซูจากไม้กางเขน แต่ Mary Magdalene ของ de La Tour ในภาพนี้กลับถูกนำเสนอในแง่มุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในศาสนา ในภาพนี้เธอเป็นเพียงหญิงสาวที่นั่งอยู่ใต้แสงเทียน โดยการนำเสนอแสงนั่นเองที่เป็นจุดเด่นของภาพนี้ ผู้ชมที่จ้องมองภาพแทบจะรู้สึกได้ถึงแสงเทียนที่ส่องมากระทบผิวของ Mary Magdalene แล้วสะท้อนกลับมาที่ผู้ชม

ไม่เพียงเท่านั้น การเปิดเปลือยเนื้อหนังของ Mary Magdalene ในภาพนี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเห็นนักในการนำเสนอภาพของ Mary Magdalene ในงานอื่น ๆ นอกจากนี้ศิลปินยังได้ใส่สัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้าไปในภาพ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือหัวกระโหลกที่ถูกประคองไว้ในมือของ Mary Magdalene โดยในโลกศิลปะตั้งแต่โบราณมา หัวกระโหลกคือสัญลักษณ์สื่อถึงความตาย และการใช้หัวกระโหลกในงานศิลปะก็มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Memento mori (เป็นภาษาละตินที่แปลว่า Remember you will die หรือ ระลึกไว้ว่าทุกคนย่อมต้องตาย) การที่ผู้สร้างจงใจใส่ภาพ Mary Magdalene และหัวกระโหลกใต้แสงเทียนนี้เข้ามาก็อาจเป็นการเน้นย้ำถึงโลกใต้บาดาลที่ไร้แสงไฟของเงือกสาว และการที่เธอใฝ่ฝันอยากจะเป็นมนุษย์แบบสุดใจจนไม่หวาดหวั่นแม้ว่าอายุขัยของมนุษย์จะแสนสั้นก็ตาม

Beauty and the Beast (1991)

หลังจากแอบหย่อนงานศิลปะลงไปในขุมทรัพย์ใต้ทะเลแล้ว การมาถึงของแอนิเมชั่นโฉมงามกับเจ้าชายอสูรหรือ Beauty and the Beast (1991) ก็เปิดโอกาสให้ผู้สร้างได้แอบหยอดศิลปะลงไปในห้องแกลเลอรีส่วนตัวของเจ้าชายอสูร ซึ่งถ้าใครตาดีก็จะเห็นว่า ในกรุศิลปะของเจ้าชาย เขาแอบครอบครองภาพวาดจากยุค Dutch Golden Age ที่โด่งดังที่สุดอย่างหญิงสาวกับต่างหูมุก หรือ Girl with a Pearl Earring (1665) ของ Johannes Vermeer ไว้ด้วย! ซึ่งก็น่าสนใจเหมือนกันว่าเจ้าชายแห่งฝรั่งเศสไปทำอีท่าไหนถึงได้มีผลงานขึ้นหิ้งจากเนเธอร์แลนด์ชิ้นนี้ไว้ในครอบครอง

Frozen (2013 film)

จากปราสาทของเจ้าชายฝรั่งเศส มาสู่ปราสาทแห่งดินแดนอันหนาวเหน็บในแถบสแกนดิเนเวียน ณ ที่ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงสองพี่น้องอย่าง Elsa และ Anna แห่งเมือง Arendelle นี้ ใครที่ตาดีก็จะสังเกตเห็นงานศิลปะมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ในฉากที่ Anna ต้องวิ่งเล่นในปราสาทคนเดียวอย่างโดดเดี่ยว หลังจากที่ Elsa เก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพราะกลัวในพลังน้ำแข็งของตนเอง

หนึ่งในภาพวาดชื่อดังที่ซ่อนอยู่ใน Frozn ก็คือภาพวาดแห่งยุคโรโกโกชื่อดังอย่าง The Swing ที่วาดโดย Jean-Honoré Fragonard ซึ่งภาพของหญิงสาวที่ลอยอยู่กลางห้วงอากาศด้วยแรงเหวี่ยงจากชิงช้านี้ก็ได้รับการยกย่องในฐานะภาพที่สะท้อนมูฟเม้นต์เหินหาวกลางเวลาออกมาได้อย่างรุ่มรวยและงดงาม จนผู้ชมแทบจะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวในภาพ นอกจากนี้ ภาพวาดชิ้นนี้ยังสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเปี่ยมสุขและสนุกสนานออกมาได้อย่างชัดเจน สมกับที่ชื่อดั้งเดิมของภาพในภาษาฝรั่งเศส ( Les Hasards Heureux de l’Escarpolette) มีความหมายว่า The Happy Coincidence of the Swing

อ้างอิง: Beautiful Art References in Disney Movies