ตื่นเช้า / อัดกาแฟ / อ่านหนังสือ ส่องกิจวัตรประจำวันของศิลปินดัง ตั้งแต่ Andy Warhol ถึง Salvador Dalí

Post on 24 January

เริ่มต้นปีใหม่ ก็ถึงเวลาสำหรับ New Year Resolution หรือปณิธานปีใหม่กันอีกหน ซึ่งถ้าใครยังนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรใหม่ ๆ หรือจะปฏิวัติตัวเองกันยังไงดี GroundControl ก็ได้แอบรวบรวมกิจวัตรประจำวันของเหล่าศิลปินคนดังให้ลองก็อปไปใช้เพื่อความ Productive ของทุกวันในปีหน้า

ลองมาดูกันซิว่า แต่ละวันของนักสร้างสรรค์งานศิลปะ เขาทำอะไร กินนอนยังไง ถึงได้มีพลังสร้างสรรค์กันขนาดนึ้ และมีอันไหนที่น่าก็อปน่าหยิบไปลองทำกันบ้าง

Salvador Dali

คุณ Salvador Dali ศิลปินเจ้าลัทธิศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ที่เป็นหนึ่งในขาประจำของเพจเรา เขามีกิจวัตรประจำวันในยามเช้าที่อาจจะดู ‘หลงตัวเอง’ แต่ดูเป็นเคล็ดลับเสริมความมั่นใจของตัวเองในแต่ละวันได้ดีทีเดียว โดย Dali ได้เคยบันทึกถึงกิจวัตรประจำวันไว้ในบันทึกปี 1953 ของตัวเองว่า

“ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา ฉันรู้สึกได้ถึงความสุขล้นปรี่ในการที่ได้เป็น Salvador Dali ทุกเช้าฉันจะถามตัวเองว่า ‘วันนี้คุณ Dali จะรับโจ๊กแบบไหนกันนะ’”

และเนื่องจากแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเขามาจาก ‘ภาพฝัน’ หรือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกซึ่งจะปรากฏให้เห็นในความฝัน Dali จึงจะมีช่วงงีบในแต่ละวันเพื่อที่จะดำดิ่งสู่ความฝันของเขา แต่เพื่อที่จะไม่ให้หลับยาวเกินไปแล้วตื่นมาก็ลืม การไปทัวร์ความฝันในแบบของ Dali จึงจำเป็นต้องมีทริคเล็กน้อย โดยเมื่อใดก็ตามที่ Dali จะงีบ เขาจะกำกุญแจดอกหนึ่งไว้มือ แล้วยื่นมือออกไปนอกที่นอนซึ่งเบื้องล่างมีถาดเหล็กรองรับอยู่ เพื่อที่ว่าเมื่อเขาเลื่อนตัวเข้าสู่ห้วงนิทรากระทั่งอยู่ในขั้นที่ร่างกายผ่อนคลายหลับลึก มือของเขาจะคลายออกแล้วปล่อยกุญแจตกลงในถาด เสียงกระทบของกุญแจกับถาดจะช่วยปลุกเขาขึ้นมาไม่ให้หลับนานเกินไปจนลืมความฝัน จากนั้นเขาจึงเริ่มกลับไปทำงาน

Andy Warhol

กิจวัตรประจำวันของศิลปินเซเลบตัวพ่ออย่าง Andy Warhol จะเริ่มด้วยการยกหูโทรศัพท์เพื่อโทรหาเพื่อนสนิท Pat Hackett ประมาณ 9 โมงเช้า เพื่อตามรอยว่าเมื่อวานตัวเองไปที่ไหน กินอะไร และทำอะไรมาบ้าง ทั้งหมดนี้เพื่อที่เจ้าตัวจะได้รู้ว่าเมื่อวานตัวเองใช้จ่ายเงินไปเท่าไหร่ ซี่งการโทรเช็คเงินที่ตัวเองจ่ายไปในแต่ละวันก็กลายเป็นเสมือนบันทึกประจำวันของ Warhol ที่ทำให้เราสามารถสรุปกิจวัตรประจำวันของเขาได้คร่าว ๆ ดังนี้

หลังจากคุยโทรศัพท์ที่บางครั้งก็ยืดยาวถึง 2 ชั่วโมงเสร็จเรียบร้อยในแต่ละเช้า Warhol ก็จะไปอาบน้ำ แต่งตัว แล้วพาลูก ๆ สุนัขดัสชุนของตนลงมารับประทานอาหารเช้าในครัวกับแม่บ้าน จากนั้นเขาจะใช้เวลาในช่วงเช้าทั้งหมดไปกับการชอปปิง โดยที่ที่ไปประจำมีอยู่ 2 แห่ง คือ สถานที่ประมูลของเก่าในย่าน Madison Avenue, ย่านขายเครื่องเพชรชื่อดังแห่งลอสแองเจลิสอย่าง Jewelry Distric และร้านขายของแอนทีคร้านประจำ โดยทุกที่ที่ไป Warhol จะพกนิตยสาร Interview ที่ตัวเองเป็นผู้ก่อตั้งติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อที่จะได้ตะล่อมขายพื้นที่โฆษณาให้กับบรรดาเจ้าของร้านที่เขาแวะไปเยี่ยมเยียน หรือไม่ก็แจกให้แฟน ๆ ที่มารุมล้อม

Leonardo da Vinci

ในช่วงปี 1490s บาทหลวงและนักเขียนชาวอิตาเลียน Matteo Bandello ได้ไปสังเกตการณ์กิจวัตรประจำวันของ Leonardo da Vinci ในช่วงที่วาด The Last Supper บนผนังโบสถ์ Santa Maria delle Grazie และบันทึกไว้ว่า

“เขาจะมาถึงโบสถ์ตั้งแต่เช้าตรู่ ปีนขึ้นนั่งร้าน และเริ่มทำงาน บางครั้งเขานั่งทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็นโดยไม่วางพู่กัน ลืมดื่มลืมกิน วาดไปอย่างนั้นไม่มีหยุดพัก บางครั้งเขาก็ปล่อยให้เวลาผ่านไปสอง สาม หรือสี่วันโดยไม่จับพู่กันเลย แต่เขาจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในแต่ละวันไปกับการยืนอยู่หน้าผลงานของตัวเอง กอดอก สำรวจและวิพากษ์วิจารณ์งานของตัวเอง บางครั้งฉันเห็นเขาผลุนผลันเข้ามาในตอนกลางวัน ตอนที่ตะวันอยู่ตรงหัวพอดี ทิ้งงานปั้นม้าที่ Corte Vecchia เพื่อมาที่ Santa Maria delle Crazie ปีนขึ้นนั่งร้าน หยิบพู่กันมาป้ายสีสองสามครั้ง แล้วก็จากไป”

Willem and Elaine de Kooning

สองสามีภรรยาเจ้าศิลปินลัทธินามธรรมไม่ใช่คนตื่นเช้า สำหรับ Willem de Kooning ตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่ม เขาจะตื่นประมาณ 10 - 11 โมง แล้วจะรีบซดกาแฟเข้ม ๆ เพื่อปลุกให้ตัวเองตื่นเต็มตา จากนั้นเขาจะตั้งหน้าตั้งตาวาดภาพทั้งวัน จะหยุดก็ต่อเมื่อไปทานมื้อค่ำหรือมีนัดกับเพื่อนในตอนเย็นเท่านั้น

แม้กระทั่งเมื่อแต่งงานแล้ว สองสามีภรรยา de Kooning ก็ยังคงวิถีการตื่นสายไว้เช่นเดิม และเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็จะซดกาแฟเป็นมื้อเช้า แต่เปลี่ยนจากกาแฟเข้ม ๆ เป็นกาแฟจากเหยือกนมที่ทั้งคู่ตั้งไว้ข้างหน้าต่างในคืนหนาวจัดเพื่อให้นมเย็นโดยไม่ต้องพึ่งตู้เย็น (เพราะสมัยนั้นตู้เย็นแพงมาก และทั้งคู่ไม่มีเงินซื้อ) หลังจากได้รับพลังคาเฟอีนเต็มที่ ทั้งคู่จะตรงไปทำงานด้วยกันในสตูดิโอ และหยุดพักเพียงเพื่อเติมคาเฟอีนหรือไปสูบบุหรี่เท่านั้น

Georgia O’Keeffe

เจ้าแม่ศิลปะโมเดิร์นแห่งอเมริกาเคยกล่าวว่า “ยามเช้าเป็นเวลาที่ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ปราศจากผู้คน ฉันชอบโลกที่ไร้ผู้คน”

หลังจากที่ย้ายมาพำนักอยู่ที่นิวเม็กซิโกแบบถาวรในปี 1949 O’Keeffe จะตื่นขึ้นพร้อมกับที่ดวงอาทิตย์ปรากฏที่ขอบฟ้า เธอจะก่อไฟและต้มชา จากนั้นจึงกลับไปที่เตียงเพื่อนั่งมองการปรากฏตัวของรุ่งอรุณ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นเต็มที่ เธอจะออกไปเดินเล่นในทะเลทรายประมาณครึ่งชั่วโมงพร้อมกับไม้เท้าเพื่อเอาไว้ไล่งูทะเลทราย

ถึงเวลา 7 โมงเช้า เธอจะนั่งลงทานมื้อเช้าที่ประกอบด้วยไข่ต้มหรือไข่คน ขนมปังกับแยม พริกกับน้ำมันกระเทียม ผลไม้หั่นชิ้น และกาแฟหรือชา บางเช้า เธออาจจะออกไปทำสวนหรือไปเยี่ยมเพื่อนบ้านเรือนเคียง แต่ช่วงเวลาที่เธอชอบที่สุดก็คือตอนที่ได้ทำงานในสตูดิโอหลังจากนั้น

Louise Bourgeois

สำหรับศิลปินคอนเซปชวลตัวแม่อย่าง Louise Bourgeois เธอจะเริ่มต้นวันด้วยการดื่มกาแฟคู่กับแยมที่ตักกินโดยตรงจากโหล หลังจากเติมน้ำตาลจนกระปรี้กระเปร่าได้ที่ Bourgeois จะรอให้ผู้ช่วย Jerry Gorovoy ขับรถมารับไปสตูดิโอที่บรูคลินในเวลา 10 โมงเช้า จากนั้นทั้งคู่จะทำงานด้วยกันในสตูดิโอ ซึ่งกิจวัตรยามเช้านี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานที่ชื่อว่า 10 am is When You Come to Me (2006) ที่เป็นภาพมือของ Gorovoy และ Bourgeois ที่กำลังสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน

Bourgeois เป็นคนที่เคร่งครัดในเรื่องสมาธิในการทำงานมาก เธอชอบทำงานเงียบ ๆ แบบเงียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เสียงแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เธอหงุดหงิดสมาธิหลุดได้ นอกจากนี้เธอยังแบ่งภาคทำงานเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย โดยช่วงเช้าเธอจะทำงานที่ต้องออกแรง เช่น การทำงานกับช่างเชื่อมหรือช่างเทคนิคที่มาช่วยเธอสร้างงานประติมากรรม และหลังจากมื้อกลางวัน เธอจะทำงานที่ใช้สมาธิอย่างการวาดรูป เพื่อที่จะให้ตัวเองจิตใจสงบก่อนไปปั้นประติมากรรมในช่วงเวลาที่เหลือของวัน

Marina Abramović

ในการสร้างสรรค์การแสดงสด (Performance Art) ที่แต่ละครั้งล้วนเป็นการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น The Artist Is Present (2010) ที่เจ้าแม่ Marina Abramović นั่งเฉย ๆ ไม่เคลื่อนไหวอยู่ใน Museum of Modern Art เป็นเวลา 7 ชั่วโมงต่อวัน (10 ชั่วโมงในวันศุกร์) 6 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 11 สัปดาห์ติดต่อกัน การเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการแสดงสุดทรหดที่จะไม่ได้แตะน้ำ อาหาร หรือลุกไปเข้าห้องน้ำเลย จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเจ้าแม่มาก ๆ ด้วยเหตุนี้ ในเวลากลางคืน Abramović จะตื่นขึ้นมาทุก 45 นาทีเพื่อดื่มน้ำ 1 แก้ว ในวันที่มีการแสดง เธอจะตื่นเวลา 6 โมงครึ่ง และดื่มน้ำแก้วสุดท้ายตอน 7 โมงเช้า และทานมื้อเช้าที่ประกอบด้วยข้าว ถั่วเลนทิล และชาดำ 1 ถ้วย

รถที่จะพาเธอ ผู้ช่วย และช่างภาพเดินทางไปยัง MoMA จะมาถึงในเวลา 9 โมงเช้า เมื่อถึงสถานที่แสดง เธอจะเข้าห้องน้ำ 4 ครั้ง จากนั้นเธอจะนั่งคนเดียวเป็นเวลา 15 นาทีก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะเปิดประตูต้อนรับผู้ชม

Joan Miró

ศิลปินนามธรรมผู้นี้เป็นหนึ่งในคนที่เคร่งครัดในกิจวัตรประจำวันของตัวเองมาก ๆ เนื่องมาจากความกังวลว่าอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงที่เขาเคยเผชิญก่อนจะเริ่มต้นอาชีพศิลปินจะย้อนกลับมาหาเขาหากว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป (Miró เริ่มต้นวาดภาพตอนอายุ 18 ปี)

ตลอดช่วงยุค 1930s Miró อาศัยอยู่ในเมืองบาร์เซโลนากับภรรยาและลูกสาว เขาจะตื่นตอน 6 โมงเช้าเป็นประจำทุกวัน ก่อนจะไปอาบน้ำและทานมื้อเช้าเบา ๆ ที่เป็นกาแฟกับขนมปัง และตั้งแต่ 7 โมงเช้าเป็นต้นไป เขาจะนั่งอยู่หน้าผืนผ้าใบและวาดรูปแบบไม่หยุดพัก กระทั่งเวลาบ่ายโมงที่เขาจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายประมาณ 1 ชั่วโมง

Miró เป็นคนที่เคร่งครัดในเรื่องการออกกำลังกายมาก โดยเขามองว่าการออกกำลังกายนั้นเป็นยาต้านอาการซึมเศร้าที่ดีที่สุด เมื่ออยู่ที่บ้านเกิด เขาจะออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือกและเล่นยิมนาสติกแบบสวีดิชที่ยิม เมื่ออยู่ที่ปารีส เขาจะต่อยมวย และหากไปพักผ่อนตากอากาศที่กาตาลุญญา เขาจะว่ายน้ำและวิ่งจ็อกกิงบนชายหาด

Haruki Murakami

ในปี 2004 Haruki Murakami ได้ให้สัมภาษณ์กับ Paris Review ถึงกิจวัตรในแต่ละวันของเขาไว้ดังนี้

“ในช่วงที่ผมเขียนนวนิยายขนาดยาว ผมจะตื่นขึ้นมาตอนตีสี่และทำงานไป 5-6 ชั่วโมง ในตอนบ่าย ผมออกไปวิ่ง 10 กม. หรือไม่ก็ไปว่ายน้ำ 1,500 เมตร (หรือไม่ก็ทำทั้งสองอย่าง) จากนั้นจึงอ่านหนังสือหรือไม่ก็ฟังเพลง ผมเข้านอนตอน 3 ทุ่ม ผมทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน การทำซ้ำ ๆ กลายเป็นเรื่องสำคัญ มันคือการสะกดจิต ผมสะกดจิตตัวเองเพื่อไปแตะส่วนที่ลึกลงไปในความคิด แต่การทำซ้ำ ๆ แบบนั้นติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนหรึอหนึ่งปีต้องอาศัยความเข้มแข็งทางจิตใจและร่างกายมาก ๆ ด้วยเหตุนี้ การเขียนนวนิยายขนาดยาวจึงเป็นเหมือนการฝึกเอาชีวิตรอด ที่ความเข้มแข็งของร่างกายสำคัญพอ ๆ กับเซนส์ทางศิลปะ”

Pablo Picasso

ตลอดชีวิตของ Pablo Picasso เขาเป็นคนนอนดึกและตื่นสาย ตอนบ่ายสองโมงตรง เขาจะล็อกตัวเองอยู่ในสตูดิโอและทำงานต่อเนื่องไปจนพลบค่ำ ในระหว่างนั้น แฟนสาวที่เขามีความสัมพันธ์อยู่ด้วยเป็นเวลา 7 ปีอย่าง Fernande จะทำธุระของตัวเองไป หรือไม่ก็แกร่วรอในสตูดิโอ รอให้ Picasso ทำงานจนเสร็จและออกมาทานมื้อค่ำร่วมกัน ซึ่งเมื่อปลีกตัวจากงาน Picasso ก็เป็นเพื่อนร่วมโต๊ะที่ดี ตามที่ Fernande เคยให้สัมภาษณ์ไว้ แต่ข่วงไหนที่เขาไดเอทและต้องกินแต่น้ำแร่ ผัก ปลา พุดดิ้งข้าว และองุ่น เขาจะโมโหหงุดหงิดง่าย และทำตัวไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่

บางครั้ง Picasso ก็จะเชิญเพื่อน ๆ มาสังสรรค์ที่บ้านบ้าง เพื่อดึงความสนใจของตัวเองออกจากงาน Picasso ชอบที่จะสังสรรค์หลังจากคร่ำเครียดกับงานมาทั้งวัน แต่บางครั้งเขาก็รู้สึกว่าแขกรบกวนสมาธิของเขามากเกินไป ด้วยเหตุนี้ Fernande จึงกำหนดวันอาทิตย์ให้เป็นวันพบเพื่อน ที่เธอและ Picasso จะยกช่วงเวลาตอนบ่ายเป็นช่วงเวลาพบปะเพื่อน ๆ

แต่สิ่งที่ Picasso ไม่เคยเบื่อเลยก็คือการวาดภาพ เขาสามารถยืนอยู่หน้าผ้าใบได้หลายชั่วโมงโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ซึ่ง Picasso เคยให้สัมภาษณ์ว่า การยืนวาดภาพนาน ๆ นี่ล่ะที่ทำให้ “จิตรกรมีอายุยืนยาว เวลาที่ผมทำงาน ผมทิ้งกายเนื้อไว้นอกห้อง เหมือนที่ชาวมุสลิมถอดรองเท้าก่อนเดินเข้ามัสยิด”

Robert Rauschenberg

ศิลปินกราฟิกชื่อดัง Robert Rauschenberg เริ่มวันด้วยการกินอาหารเช้าที่เน้นสุขภาพ อัดวิตามินต่าง ๆ และดื่มเอสเปรสโซ่ช็อตแบบเข้มโหด 2-3 ช็อตที่พอจะช่วยกระตุ้นให้เขาตื่นเต็มตา ...เพื่อที่จะไปดูรายการโทรทัศน์สุดโปรดอย่าง The Young and the Restless โดยเขาจะเปิดรายการนี้ไว้เพื่อให้เสียงจากรายการดังเค้าคลอระหว่างที่เขาทำงานในสตูดิโอ

ที่จริงแล้ว Rauschenberg เป็นคนติดโทรทัศน์มาก ๆ หรือที่จริงควรเรียกว่าเขาเสพติดวิชวลจากมีเดียต่าง ๆ นอกจากโทรทัศน์แล้ว ในแต่ละวันของศิลปินอเมริกันผู้นี้จะหมดไปกับการตัดเก็บภาพจากหนังสือพิมพ์และแม็กกาซีนต่าง ๆ ซึ่งภาพต่าง ๆ ที่เขาเก็บไว้นี้จะกลายเป็นวัตถุดิบในผลงานของเขาที่เรียกว่า Combine ซี่งเป็นการนำภาพต่าง ๆ จากสื่อต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน หรือภาพคอลลาจยุคแรก ๆ นั่นเอง

อ้างอิง: The Morning Routines of Famous Artists, from Andy Warhol to Louise Bourgeois, หนังสือ Daily Rituals: How Artists Work