ประวัติย่อของ ‘ภาพในเพลง’ อรรถรสใหม่ที่ไม่หยุดนิ่งตามกาลเวลา

Post on 24 January

หากบอกว่าดนตรีคือชีวิต การได้เห็นภาพในเพลงที่ชอบก็คงให้ความรู้สึกทวีคูณขึ้นเป็นสองเท่า!

ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงที่ทุกข์ สุข เหงา เศร้า เซ็ง หรือโหมดธรรมดาทั่วไป ‘เพลง’ ได้กลายมาเป็นตัวเลือกที่ใครหลายนึกถึงอันดับแรก ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งเวลาได้ดูมิวสิควิดีโอที่มีเนื้อหาภาพโดนใจแล้ว เพลงนั้นยิ่งดูจะมีความหมายขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งความรู้สึกอันเอ่อล้นมากมายนี้ ก็ได้ย้ำให้เห็นชัดเจนว่ามิวสิควิดีโอแต่ละตัวนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อการโปรโมตศิลปินเท่านั้น แต่ยังก้าวเข้าถึงระดับความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมด้วย

แน่นอนว่ามิวสิควิดีโอที่เรารู้จักกัน ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในชั่วพริบตา ดังนั้นกว่าจะมาเป็นมิวสิควิดีโออย่างที่เห็นในทุกวันนี้ เจ้าวิดีโอขนาดสั้นนี้ต่างได้รับการพัฒนาผ่านช่วงเวลามาอย่างยาวนานไม่แพ้การเกิดขึ้นของสื่ออื่น ๆ และแม้ว่ามิวสิควิดีโอจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับสภาพสังคมเลยแม้แต่น้อย แต่ส่ิงนี้กลับเติบโตมาพร้อมกับบริบททางสังคม รวมถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดยั้ง แถมยังมีส่วนสำคัญในการบันทึกช่วงเวลาหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไม่ต่างจากภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์เลยแม้แต่น้อย

History of ประจำสัปดาห์นี้ GroundControl ขอพาทุกคนนั่งทามแมชชีนกลับมาย้อนดูเรื่องราวของสื่อที่ชาวเราเปิดกันอยู่ทุกวัน แต่อาจไม่ทันได้สังเกตถึงที่มาที่ไปกัน เพราะมิวสิควิดีโอแต่ละตัว มีเรื่องราวมากมายให้ได้ค้นหาไม่ต่างจากตัวเพลงเลยทีเดียว!

(เนื้อหาส่วนใหญ่ในบทความ อ้างอิงตามวงการเพลงในสหรัฐอเมริกา)

Music Video มาจากไหนกัน?

อย่างที่เห็นกันว่า ‘มิวสิควิดีโอ’ เป็นส่วนผสมระหว่างความบันเทิงสองสิ่งนั่นคือ ‘เสียงเพลง’ และ ‘ภาพเคลื่อนไหว’ ซึ่งแน่นอนว่าวิวัฒนาการของทั้งสองสิ่งนี้ ล้วนเชื่อมโยงกับการเกิดขึ้นของมิวสิควิดีโอทั้งสิ้น แต่หากย้อนรอยกลับไปถึงต้นกำเนิดของทั้งเพลงและภาพ ก็อาจต้องใช้เวลาในการอธิบายยาวเกินไป ดังนั้น สื่อหนึ่งประเภทที่เป็นส่วนผสมของทั้งภาพและเสียงที่ใกล้เคียงกับมิวสิควิดีโอมากที่สุดคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการมาของ ‘ภาพยนตร์’

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาพยนตร์เกิดขึ้นจากภาพเคลื่อนไหว ในช่วงแรกเริ่มภาพที่ออกมาสู่สายตาผู้ชม จึงเป็นไปในลักษณะหนังเงียบ ก่อนที่ผู้สร้างภาพยนตร์จะเล็งเห็นว่า การใช้ ‘เสียง’ โดยเฉพาะเพลงประกอบ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างบรรยากาศและเพิ่มอรรถรสในการรับชมมากขึ้น แต่เนื่องจากในช่วงแรกเริ่มของการสร้างภาพยนตร์ เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าถึงขั้นที่สามารถใส่เสียงลงบนแผ่นฟิล์มได้ ดังนั้น ผู้กำกับหลายต่อหลายท่าน อาทิ จอร์จ เมอริแยร์ (Georges Méliès) จึงเลือกใช้การเล่นดนตรีสดประกอบการฉายภาพยนตร์แทน

เมื่อเทคโนโลยีด้านภาพพัฒนาไปอย่างก้าวหน้าแล้ว เทคโนโลยีด้านเสียงจะหยุดนิ่งได้อย่างไร ..

ในปี 1927 ภาพยนตร์ละครเพลงสัญชาติอเมริกันอย่าง The Jazz Singer ซึ่งกำกับโดย อลัน ครอสแลนด์ (Alan Crosland) ปรากฏสู่สายตาผู้ชมครั้งแรก สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมจำนวนมาก เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มีการเปิดเพลงให้นักแสดงได้ร้องเพลงและพูดลิปซิงก์เชื่อมกับภาพยนตร์ (Synchronize) เป็นครั้งแรก ซึ่งหมายความว่า ผู้ชมจะได้เห็นการแสดงที่ตรงกันทั้งทางภาพและเสียง สร้างความเหมือนจริงขึ้นอีกขั้น เทคนิคที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของเสียงในภาพยนตร์กระแสหลักเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบด้วยซีเควนซ์การซิงก์เสียงเพลงที่มีความยาวเพียง 2 นาทีเท่านั้น ส่วนบทสนทนาที่เหลือยังคงทำผ่านการ์ดเสียงตามแบบภาพยนตร์เงียบดั้งเดิม

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์กับมิวสิควิดีโอมีความแตกต่างกันอยู่ก็คือ เพลงที่นำมาใช้ในภาพยนตร์ มักจะเป็นส่วนเสริมเพื่อสร้างบรรยากาศในฉาก ช่วยดึงความสนใจให้ผู้ชมโฟกัสไปยังองค์ประกอบที่ผู้สร้างต้องการ สร้างความหนักแน่นให้การเล่าเรื่อง อีกทั้งยังมีผลต่อกระทำของตัวละคร รวมถึงช่วยสร้างสร้างความรู้สึกร่วมให้ผู้ชม ดังนั้น เพลงจึงเป็นเหมือนกับส่วนหนึ่งของภาพรวมใหญ่มากกว่าเป็นเสาหลักที่ดึงทุกองค์ประกอบมาไว้รอบ ๆ ตัวเอง แล้วถ้าเป็นแบบนี้ มิวสิควิดีโอมาได้อย่างไรล่ะ?

หมุดหมายทางภาพยนตร์อีกอย่างที่มีความสำคัญต่อการพัฒนามาเป็นมิวสิควิดีโอคือ การมาของสิ่งที่เรียกว่า ‘Musical Short Film’ หรือ ‘หนังเพลงขนาดสั้น’ ที่มักจะฉายคั่นเวลาก่อนภาพยนตร์ขนาดยาวเริ่ม ความละม้ายคล้ายคลึงของหนังเพลงขนาดสั้นและมิวสิควิดีโออยู่ตรงที่ทั้งสองสิ่ง เป็นไปเพื่อการโปรโมตเพลงและ ดารา นักร้อง แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสั้น ความแตกต่างก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ตรงที่ จุดโฟกัสของหนังเพลงขนาดสั้นให้ความสำคัญกับเนื้อเรื่องในภาพยนตร์มากกว่าตัวเพลง อีกทั้งยังเป็นไปเพื่อเพิ่มอรรถรสให้ผู้ชม แม้ว่าจะมีฉากการร้องเพลงอันโดดเด่นมาให้เห็นก็ตาม

ตัวอย่างภาพยนตร์ที่มีความสำคัญต่อ Musical Short Film คือภาพยนตร์เพลงความยาว 16 นาที ของเบสซี่ สมิธ (Bessie Smith) ที่ชื่อ St. Louis Blues (1929) และภาพยนตร์สั้นของ ลูอิส จอร์แดน (Louis Jordan) ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940s ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมิวสิควิดีโอเลยก็ว่าได้

แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามิวสิควิดีโอชิ้นแรกของโลกคือผลงานของใคร แต่ โทนี่ เบ็นเน็ตต์ (Tony Bennett) นักร้องชาวอเมริกัน ได้อ้างว่าเขาถ่ายทำ ‘มิวสิควิดีโอเพลงแรก’ ของตัวเองขึ้นที่ Hyde Park ประเทศอังกฤษในปี 1956 และภาพดังกล่าวถูกใช้สำหรับโปรโมตเพลงใหม่ (ในเวลานั้น) อย่าง Stranger in Paradise

กระแสเพลง Rock and Roll ที่เปลี่ยนวงการเพลงไปตลอดกาล

เทคโนโลยีที่นับวันยิ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รูปแบบการเสพสื่อของผู้คนเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ก่อนหน้าการมาของมิวสิควิดีโอ ผู้คนมากมายมองหาความบันเทิงผ่านภาพยนตร์และตู้กดเพลงที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘Jukebox’ ซึ่งมักจะถูกตั้งไว้ตามห้างร้านต่าง ๆ เห็นได้ชัดว่าเจ้าตู้เพลงนี้ มีบทบาทอย่างมากต่อวงการเพลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อเพลงเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ผู้คนแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเพลง จึงเริ่มมีอิทธิพลแพร่ไปในวงกว้าง

การปรากฏตัวของ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) หนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เพลงร็อกแอนด์โรล ได้สร้างหมุดหมายใหม่มากมายให้กับวงการเพลง ทั้งทำนองเพลงและแนวดนตรีอันแปลกใหม่ เสียงที่นุ่นนวล สไตล์การแต่งตัวเป็นเอกลักษณ์ และท่วงท่าลีลาระหว่างการแสดงชวนให้ใจเต้น ทำให้เขาไม่ใช่แค่นักร้องและนักแสดงชาวอเมริกันที่โด่งดังในบ้านเกิดตัวเองเท่านั้น แต่ยังส่งต่ออิทธิพลไปทั่วโลก รวมถึงในไทยเราด้วย!

กระแสความนิยมของศิลปินในช่วงเวลานั้น ทำให้พวกเขามีฐานแฟนคลับหนาแน่น จนเกิดการเดินสายแสดงคอนเสิร์ตขึ้น ศิลปินมากมายได้รับการตอบรับจากแฟน ๆ ของพวกเขาเป็นอย่างดีจนทำให้อุตสาหกรรมเพลงในอเมริกาขณะนั้นเรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟูเลยก็ว่าได้ และเมื่อกระแสทางดนตรีได้รับความสนใจถึงขีดสุด การบันทึกเทปการแสดงจึงเกิดขึ้นตามมา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชม และเป็นเหมือนการเก็บบันทึกประวัติศาสตร์อันสวยงามไว้ด้วยในตัว

อิทธิพลของศิลปิน ได้ขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเพลงจนผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงเพลงต่าง ๆ ได้ แม้ว่าจะอยู่กันคนละซีกโลก กระแสเพลงร็อกแอนด์โรล กลายมาเป็นแรงบันดาลให้เด็กหนุ่มมากมาย เริ่มที่จะมองหาเส้นทางดนตรีและฟอร์มวงของตัวเองขึ้น ซึ่งหนึ่งในวงที่ไม่มีใครไม่รู้จักก็คือ The Beatles หรือสี่เต่าทองแห่งเกาะอังกฤษนั่นเอง ความโด่งดังของ The Beatles ส่งผลให้เกิดภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องนับตั้งแต่ A Hard Day's Night ออกฉายในปี 1964

ความเชื่อมโยงของ The Beatles ต่อวิวัฒนาการของมิวสิควิดีโอ เกิดขึ้นเมื่อภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ของพวกเขาในชื่อ Yellow Submarine (1968) ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบแอนิเมชันสีสันสดใส แถมยังเป็นการผูกเรื่องราวทั้งหมดด้วยเพลงดังหลายต่อหลายเพลง ซึ่งก็นับได้ว่านอกจากจะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แฟน ๆ แล้ว การที่เนื้อเรื่องถูกยึดโยงกับเพลง และองค์ประกอบทั้งหมดในเรื่องล้วนแต่หมุนรอบตัว The Beatles ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการนำเอาหัวใจหลักของการสร้างมิวสิควิดีโอมาไว้รวมกันอย่างสมบูรณ์แบบ

กุญแจสำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบันทึกภาพคอนเสิร์ตมาเป็นมิวสิควิดีโอ คือการเกิดขึ้นของอุปกรณ์บันทึกภาพและตัดต่อวิดีโอราคาย่อมเยา เนื่องจากในยุคสมัยนั้น เทคโนโลยีการถ่ายทำยังไม่รุดหน้าทันสมัยเท่าทุกวันนี้ ทำให้การ DIY กลายมาเป็นแนวคิดหลัก ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานมากมายแทน

วงร็อกในตำนานอย่าง Queen เปิดตัวด้วยมิวสิควิดีโอเพลง Bohemian Rhapsody ที่เผยให้เห็นใบหน้าของสมาชิกวงทั้งสี่สลับกันคล้ายรูปทรงของเพชร ซึ่งหากใครพอจำได้ จะเห็นว่าตัวมิวสิควิดีไม่ได้บอกเล่าอะไรเป็นพิเศษนอกจากเน้นไปที่ตัวศิลปิน การจัดแสงเงา และภาพการแสดงโชว์ แต่ด้วยความโดดเด่นของทำนองเพลง ตัวศิลปิน และการจัดฉากที่เรียบง่ายแต่สร้างภาพจำ ทำให้ Bohemian Rhapsody กลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของควีน รวมถึงเป็นหนึ่งในเพลงร็อคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลเลยก็ว่าได้

การมาของ MTV

‘Ladies and Gentlemen, Rock and Roll’
‘สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ร็อคแอนด์โรล’

คำพูดของ จอห์น แล็ก (John Lack) หนึ่งในผู้สร้าง MTV ประกาศขึ้นในการออกอากาศครั้งแรก โดยไม่มีใครคิดว่ามิวสิควิดีโอเพลง ‘Video Killed the Radio Star’ ของ The Buggles จะเป็นเพลงแรกที่ได้เปิดตัวในช่องใหม่นี้ แม้เพลงดังกล่าวจะมีเนื้อหาที่เข้าใจยากไปสักหน่อย แต่ก็นับได้ว่าภาพรวมการมาของ MTV หรือ Music Television ช่องเคเบิลของอเมริกา ในปี 1981 ถือว่าเป็นการพลิกโฉมวงการเพลงเลยก็ว่าได้

ด้วยแนวคิด ‘Visual Radio’ ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเพลงโดยเฉพาะ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นเพลงแนวไหนหรือของศิลปินคนใด หากส่งมาที่ MTV ก็สามารถการันตีได้ว่าผลงานเหล่านั้น จะต้องได้รับการฉายอย่างแน่นอน ดังนั้นวิดีโอจำนวนมากจึงถูกส่งมาที่ MTV ประหนึ่งว่าช่องนี้เป็นเหมือนประการด่านแรกของศิลปินหลาย ๆ ท่าน แม้ในช่วงแรกเริ่ม MTV จะมีให้บริการเฉพาะบางพื้นที่ของนิวเจอร์ซีย์ และเร่ิมการฉายมิวสิกวิดีโอตามที่วีเจ (ผู้จัดรายการ) จัดหาให้ แต่แนวคิดการช่วยโปรโมตแผ่นเสียงให้แบบฟรี ๆ ยิ่งดึงดูดผู้ค้าแผ่นเสียงจำนวนมากให้เข้ามามีส่วนร่วมกับทางช่อง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นความคิดที่ถูกต้องตามคาด เพราะฝั่งอุตสาหกรรมแผ่นเสียงเองก็มองว่า MTV เป็นเหมือนช่องทางส่งเสริมการขายที่สร้างกำไรได้อย่างมหาศาล ดังนั้น เงินทุนในการโปรโมตจึงถูกนำไปใช้เพื่อสร้างมิวสิควิดีโอที่ล้ำสมัยตามไปด้วย และนี่คือโอกาสสำคัญที่ทำให้ผู้กำกับหลายคนรวมถึง สไปค์ จอนซ์ (Spike Jonze) จาก Her และ มิเชล กอนดรี (Michel Gondry) จาก Eternal Sunshine of the Spotless Mind ถือแจ้งเกิดขึ้นจากการทำมิวสิควิดีโอด้วยเช่นกัน

MTV เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและดินหน้าปฏิวัติวงการเพลงอย่างไม่หยุดยั้ง จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมป๊อปและความบันเทิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดทั้งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ละตินอเมริกา หรือแม้กระทั่งเอเชียเองก็ตาม

ติดตามเพลลิสวันแรกหลังจากที่ MTV เปิดตัวกันได้ตลอด ได้ที่ Spotify

Music Video กับงบประมาณที่สูงจนหน้ามืด

การลงทุนมีความเสี่ยง.. แต่ก็คุ้มที่จะเสี่ยงนะ!

เมื่อช่องทางการโปรโมตส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมายแล้ว โปรดักชั่นในการถ่ายทำมิวสิควิดีโอจึงยิ่งใหญ่ขึ้นตามไปด้วย เหล่าศิลปินและค่ายเพลงมากมายกล้าที่จะลงทุนสร้างมิวสิควิดีโอในงบประมาณที่สูงมากขึ้น เพราะพวกเขาเล็งเห็นว่าเมื่อผลงานปล่อยออกไป สิ่งที่ได้กลับมาจะคุ้มค่าและคงอยู่ตลอดไป ดังนั้น ในการทำมิวสิคเพลงหนึ่ง จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่ศิลปินและเพลง แต่ยังรวมถึงการเลือกผู้กำกับมาร่วมงาน การออกแบบฉาก เสื้อผ้า รวมถึงงบประมาณที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ในปี 1983 ซึ่งเป็นช่วงที่ราชาเพลงป๊อบ ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) โด่งดังเป็นพลุแตก เขาได้ปล่อยอัลบั้มชุดใหม่อย่าง ‘Thriller’ จนเพลงติดชาร์ตหลายอันดับ ความคิดของไมเคิลที่อยากจะทำมิวสิควิดีโอเริ่มขึ้นเมื่อเขาได้ชมภาพยนตร์เรื่อง An American Werewolf (1981) ของผู้กำกับ จอห์น แลนดิส (John Landis) หลังจากนั้น เขาจึงติดต่อกับแลนดิสสำหรับการถ่ายทำมิวสิควิดีโอเพลง ‘Thriller’ ซึ่งก็แน่นอนว่าการที่ผู้กำกับชื่อดัง ก้าวเข้ามารับทำงานมิวสิควิดีโอ ภาพที่ออกมาต้องมีทั้งเรื่องราวและฉากที่แตกต่างไปจากมิวสิควิดีโอทั่วไป

แนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ ถูกนำมาใช้ในงานมิวสิควิดีโออีกครั้ง โดยเนื้อเรื่องในเพลงของไมเคิล ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง An American Werewolf ที่เขาชื่นชอบแบบตรง ๆ โดยความยาวของมิวสิควิดีโอกินเวลาถึง 14 นาที คล้ายคลึงกับการทำหนังสั้น นอกจากนี้ งบประมาณในการสร้างยังทุ่มทุนกันสูงถึง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยกว่า 60 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ แม้ไมเคิลจะลงทุนในมิวสิควิดีโอสูงขนาดนี้ ผลตอบรับกลับยอดเยี่ยมเกินความคาดหมาย เพราะการเปิดตัวมิวสิควิดีโอ ทำให้ยอดขายอัลบั้ม Thriller ของเขาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า! ความเฉียบแหลมของไมเคิลไม่จบเท่านั้น เขายังได้ถ่ายทำเบื้องหลังมิวสิควิดีโอออกมาเป็นสารคดีชื่อ ‘Making Michael Jackson's Thriller’ ซึ่งผลงานดังกล่าว ถูกขายให้กับช่องโทรทัศน์อื่น ๆ เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางด้วยเช่นกัน

แม้ว่าเพลง Thriller จะมีงบประมาณในการถ่ายทำแพงจนหลายคนอ้าปากค้างไปตาม ๆ กัน ขอบอกเลยว่านี่ยังไม่ใช่มิวสิควิดีโอที่ทุ่มทุนในการสร้างสูงท่ีสุด เพราะมิวสิควิดีโอเพลง Scream ในอัลบั้มชุดที่ 9 อย่าง HIStory: Past, Present and Future, Book I (1995) ไมเคิลได้ใช้งบประมาณทั้งหมดในการสร้างสูงถึง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 210 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมิวสิควิดีโอที่แพงที่สุดในโลกจวบจนปัจจุบัน!

พูดถึงเพลงในกระแสหลักกันไปแล้ว หลายคนอาจสงสัยขึ้นมาว่า แล้วเพลงแนวอื่น ๆ ในกระแสรองหรือวัฒนธรรมย่อยเป็นอย่างไรกันบ้าง แน่นอนว่าโลกของ ‘เพลง’ เป็นพื้นที่ที่อิสระไร้พรมแดน ดังนั้น MTV จึงไม่ใช่หมุดหมายเดียวของศิลปิน และเพลงแต่ละแนวเองก็ต่างมีที่ทางที่แตกต่างกันออกไป อย่างเพลงคันทรี่ ที่มีช่องทางเฉพาะกลุ่มของตัวเองชื่อ CMT นั่นเอง

เกร็ดความรู้เล็ก ๆ :
Scream เป็นเพลงที่ไมเคิลใช้เพื่อตอบโต้กับสื่อแท็บลอยด์และการรายงานข่าวที่มีการกล่าวหาว่าเขาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

การมาของ Youtube และกระแสการสร้าง Music Video ที่ไปไกลกว่าแค่การตลาด

การเปิดตัวของ YouTube ในปี 2005 ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่เปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคไปตลอดกาล สิ่งนี้ส่งผลตรงถึงการสร้างมิวสิควิดีโออย่างมาก เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งคนในอุตสาหกรรมเพลง รวมถึงศิลปินยังติดตามกระแสตอบรับได้ในทันที ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ที่มาพร้อมกับวิธีการสร้างงานอันแปลกใหม่ จึงได้เกิดขึ้นในที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือมีการคิดคำนึงถึงสไตล์งาน ความหมายเพลง และตัวตนของศิลปินมากขึ้น ทำให้นับวันเข้า งานมิวสิควิดีโอยิ่งไปไกลกว่าแค่การปล่อยผลงานเพื่อการตลาด

หนึ่งในศิลปินยุคหลังที่ใช้การออกแบบมิวสิควิดีโอเป็นจุดขายคงเป็นวงอะไรไปไม่ได้นอกจาก ‘OK Go’ วงดนตรีร็อกสัญชาติอเมริกันที่ไม่ว่าจะปล่อยเพลงไหนมา ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมได้เสมอ โดยความโดดเด่นในมิวสิควิดีโอของ OK Go อยู่ตรงที่การออกแบบงานสร้างที่แม้จะดูเรียบง่าย แต่ใครเห็นเป็นต้องรู้ได้ทันทีว่างานแต่ละชิ้นล้วนผ่านกระบวนการคิดและซ้อมมาเป็นอย่างดี เช่นในเพลง Here It Goes Again ที่ตั้งกล้องนิ่ง แล้วปล่อยให้สมาชิกทั้ง 4 ขยับท่วงท่าบนลู่วิ่งออกกำลังกายไปตามจังหวะเพลง ซึ่งก็นับว่าเป็นจุดที่สร้างภาพจำให้กับผู้ชมมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากงานสร้างที่เน้นคอนเซ็ปต์ไปในทางสร้างสรรค์แล้ว รูปแบบของมิวสิควิดีโอในคอนเซ็ปต์อื่น ๆ ก็มีมาให้เห็นอย่างหลากหลาย เช่น Fashion Icon อย่าง Madonna หรือ Lady Gaga ซึ่งแต่ละเพลงล้วนมีที่ทางและวัตถุประสงค์ในการสร้างแตกต่างกันออกไปจนยากจะแบ่งลักษณะได้ แต่หนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ มิวสิควิดีโอหลายชิ้น มีแนวโน้มเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมการเมือง (ทั้งในทางบวกและทางลบ) มากขึ้น อาทิ มิวสิควิดีโอเพลง Bad Girls ของ M.I.A ในปี 2012 ที่เป็นเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์สังคมตะวันออกกลางที่ผู้หญิงไม่สามารถขับรถตามท้องถนนได้อย่างอิสระเท่าผู้ชาย หรืออย่างในปี 2018 Childish Gambino ได้ปล่อยมิวสิควิดีโอเพลงใหม่ชื่อ This is America ซึ่งแฝงไปด้วยสัญลักษณ์แทนความรุนแรงมากมายในสังคมอเมริกา

Music Video ก้าวล้ำนำเทรนด์

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัยขนาดนี้ การต่อยอดผลงานมิวสิควิดีโอจึงไม่ได้มีแค่การขยายขอบเขตเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการแข่งขันด้านนวัตกรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโลกของหุ่นยนต์โดยสมมติตัวศิลปินเป็นเหมือนหุ่นยนตร์ AI อาทิ มิวสิควิดีโอเพลง All Is Full of Love ของศิลปินชาวไอซ์แลนด์ในตำนานอย่าง Björk หรือวง Perfume เกิร์ลกรุ๊ปจากญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับการแสดงที่ตรงตามจังหวะเพลงทุกระเบียบนิ้ว นอกจากนี้ในมิวสิควิดีโอบางตัว ยังมีการสร้างโลกเสมือนจริงหรือ Virtual Reality ให้ผู้ชมสามารถรับชมกันได้แบบ 360 องศาด้วยเช่นกัน

เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่จุดแรกเริ่มของมิวสิควิดีโอแล้ว เรายิ่งเห็นภาพชัดเจนว่าอุตสาหกรรมเพลงพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากเพียงใด ซึ่งไม่ว่าความชอบของผู้ชมอย่างเราจะเป็นไปในทิศทางไหน สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนเสมอคือ เพียงแค่มิวสิควิดีโอความยาวไม่กี่นาที สามารถสร้างโลกที่ไม่มีขอบเขตจำกัดได้มากมาย แถมยังมีส่วนในการบอกเล่าเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ ประกาศจุดยืนของศิลปิน และเป็นแรงสำคัญในการเคลื่อนไหวทางสังคม สะท้อนถึงวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อ้างอิง :