จักรวาลได้เปิดให้คุณแล้ว
เวลาที่เราทุกข์ เศร้า เสียใจ กระสับกระส่าย หน่ายเหนื่อย เป็นกังวล กรดไหลย้อน (อันหลังอาจไม่ต้องก็ได้) ใครกันที่เราจะหันหน้าไปหาเพื่อขอคำปลอบประโลมใจ และเพื่อให้เขาบอกกับเราให้มั่นใจว่า ‘This too shall pass’ หรือทุกอย่างจะผ่านพ้นไป และวันฟ้าใหม่ที่สดใสกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า
ใช่แล้ว หมอดูอย่างไรล่ะ?
เชื่อว่าหลายคนต้องเป็นแบบเราที่เวลาพอมีเรื่องอะไรอึดอัดคับข้องใจ ก็ขอหันหน้าพึ่งพลังแห่งจักรวาลและดวงดาวเอาไว้ก่อน แบบว่าที่จริงแล้วคำปลอบใจจากครอบครัว เพื่อน หรือแฟน ก็ทำให้เราสบายใจได้ประมาณหนึ่งแหละ แต่คำปลอบใจของแม่หมอพ่อหมอกลับนั้นทำให้เราอุ่นใจยิ่งกว่า เพราะอย่างน้อยเราก็บอกตัวเองได้ว่า นี่คือคำทำนายจากอนาคตข้างหน้าที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงได้ เราก็เลยอยากฟังคำทำนายจากผู้สื่อสารกับจักรวาลและดวงดาวมากกว่า แบบว่าเชื่อไว้ก่อน ปลอบใจตัวเองน่ะ
การทำนายโชคชะตานั้นเป็นศาสตร์ที่อยู่คู่กับมนุษย์เรามาตั้งแต่เริ่มมีภาษาและอารยธรรม ซึ่งที่เราหยิบยกความยาวนานข้ามกาลเวลาของประวัติศาสตร์การทำนายทายทักขึ้นมาพูดนั้นก็ใช่ว่าเราพยายามจะบอกว่าสิ่งนี้เป็นของขลังหรือศักดิ์สิทธิ์อันใด เพียงแต่ต้องการที่จะชี้ให้เห็นถึงที่ทางของ ‘ความเชื่อ’ เรื่องโชคชะตาในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมมนุษย์เรา ซึ่งสิ่งใดที่กลายเป็นความเชื่อ สิ่งนั้นย่อมมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมที่สะท้อนอยู่ในสิ่งสิ่งนั้น ...และนั่นเองคือแง่มุมเกี่ยวกับศาสตร์แห่งโชคชะตาที่เราอยากชวนชาว GroundControl ให้มารู้จักกันมากขึ้นในวันนี้
จักรวาลได้เปิดให้คุณแล้ว… History of ประจำสัปดาห์นี้ เราจะขอพาทุกคนกลับไปย้อนสำรวจที่มาที่ไปของหนึ่งในการทำนายทายทักที่อาจจะไม่ยาวนานที่สุด แต่เป็นศาสตร์การทำนายที่ผสานตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและศิลปะจนกลายเป็นศาสตร์ที่ฮิตที่สุดในหมู่คนรุ่นปัจจุบัน นั่นก็คือ ‘ไพ่ทาโรต์’ ศาสตร์การทำนายดวงที่เริ่มต้นมาจากเกมไพ่ธรรมดา จนมาสู่การเป็นศาสตร์การทำนายโชคชะตาที่ฮิตที่สุดในปัจจุบัน
Playing Card
ก่อนจะไปพูดกันถึงเรื่องไพ่ทาโรต์ เราต้องย้อนทำความเข้าใจเรื่องที่มาที่ไปของสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘ไพ่’ กันเสียก่อน โดยเกมไพ่นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในภูมิปัญญาของอารยธรรมจีน ซึ่งชนชาติจีนก็เป็นผู้คิดค้นวิธีการทำกระดาษด้วย
การละเล่นเกมไพ่จากจีนแพร่หลายเข้าไปในโลกอาหรับจนกลายเป็นเกมไพ่ที่เรียกว่า ไพ่มัมลุค (Mumluk Card) ซึ่งตั้งตามชื่อรัฐสุลต่านมัมลุคที่เป็นเจ้าผู้ครองดินแดนอาณาจักรอาหรับในเวลานั้น หนึ่งสำรับประกอบด้วยหน้าไพ่สี่แบบคือ โพดำ, โพแดง, ข้าวหลามตัด และดอกจิก ตามด้วยไพ่ตัวเลข 1-10 และไพ่ตัวละครสามใบ คือ พระราชา, อุปราช และรองอุปราช แต่เนื่องจากวัฒนธรรมของโลกอิสลามนั้นห้ามไม่ให้นำเสนอภาพของมนุษย์บนงานศิลปะหรือสิ่งของ ไพ่พระราชา อุปราช และรองอุปราชจึงต้องใช้สัญลักษณ์แทน นั่นก็คือ ดาบโค้ง, ไม้โปโล, เหรียญ และถ้วย
วัฒนธรรมเกมไพ่แพร่เข้ามาในดินแดนยุโรปในช่วง 1375-1378 ผ่านการติดต่อกับโลกอาหรับและในช่วงสงครามครูเสด และชาวยุโรปก็ใช้สัญลักษณ์บนไพ่ตามชาวอาหรับ ยกเว้นเพียงไม้โปโลที่ชาวยุโรปมองเป็นไม้เท้าจึงเรียกว่าไพ่ไม้เท้าแทน
จุดกำเนิดไพ่ทาโรต์ในมิลาน
ไพ่สำหรับแรกที่ถูกออกแบบให้มีไพ่ Trump หรือไพ่ใบพิเศษที่ฉีกไปจากสัญลักษณ์บนไพ่แบบเดิม ๆ คือสำรับไพ่ของ ดยุกฟิลิปโป มาเรีย วิสเคานต์แห่งมิลาน ที่เขาได้สั่งให้ออกแบบขึ้นใหม่ในปี 1425 โดย ดยุกฟิลิปโปได้สั่งให้เลขานุการของเขาคือ มัวริซิโอ ดา ทอร์โทนา ที่เป็นปราชญ์ด้านโหราศาสตร์ ช่วยออกแบบไพ่ที่ทำออกมาเป็นภาพสอนสั่งด้านศีลธรรมจรรยา
ไพ่สำรับของดยุกฟิลิปโป มาเรีย ประกอบด้วยไพ่ 60 ใบ ในจำนวนนั้นเป็นเป็นไพ่พิเศษหรือไพ่ Trumps 16 ใบที่วาดออกมาเป็นรูปเทพเจ้ากรีก ส่วนไพ่ตัวละครนั้นถูกวาดออกมาเป็นรูปนกสี่สายพันธุ์ ไพ่สำรับพิเศษนี้ได้ศิลปิน มิเชลลิโน ดา เบซอสโซ มาเป็นผู้วาดและลงสีให้ และเมื่อผลิตออกมาเรียบร้อยแล้ว ทอร์โทนาก็ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเพื่อเป็นคู่มืออธิบายความหมายของไพ่ใบต่าง ๆ จนทำให้ไพ่สำรับของดยุกฟิลิปโป มาเรีย กลายเป็นชุดไพ่พร้อมคู่มือประกอบการใช้ชุดแรกของโลก ซึ่งในกาลต่อมา ไพ่ชุดนี้ก็จะกลายเป็นบรรพบุรุษของไพ่ทาโรต์ในยุคถัดไป
นอกจากชุดที่วาดโดยเบซอสโซแล้ว ดยุกแห่งมิลานยังได้สั่งทำไพ่สำรับพิเศษตามมาอีกสองสำรับ โดยคราวนี้เขาได้ให้ศิลปินคนโปรดของเขาคือ โบนิฟาซิโอ เบมโบ เป็นผู้วาดให้ ซึ่งไพ่ทั้งสองสำรับนั้นในเวลาต่อมาก็เป็นที่รู้จักในชื่อสำรับไพ่ Brera-Brambilla และ Cary-Yale โดยความโดดเด่นของไพ่ทั้งสองสำรับนี้ก็คือการใช้สีทองอร่ามเป็นสีหลักของไพ่ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ไพ่ทั้งสองสำรับนี้ก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นไพ่ทาโรต์ที่สวยที่สุด
Tarocchi
แม้ว่าสำรับไพ่ของดยุกฟิลิปโป มาเรีย จะเป็นจุดกำเนิดของไพ่ทาโรต์ที่ฉีกมาจากเกมไพ่แบบเดิม ๆ แต่ต้นแบบของไพ่ทาโรต์ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีต้นแบบมาจากสำรับ Visconti-Sforza ที่เป็นการร่วมกันออกแบบระหว่างดยุกฟิลิปโป มาเรีย และลูกเขยของเขา ฟรานเซสโก ฟอร์ซา ในปี 1450 โดยไพ่สำรับนี้ถูกออกแบบมาสำหรับเกมไพ่ที่แตกต่างไปจากที่เล่นกันดั้งเดิม เกมไพ่แบบใหม่นี้เรียกกันว่า “Game of Triumphs” ซึ่งมีกติกาการเล่นคล้าย ๆ กับไพ่บริดจ์ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศอิตาลีและทางตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส โดยความแตกต่างของไพ่ Trumps นี้ก็คือการที่บนไพ่นี้ไม่มีตัวเลข และเริ่มปรากฏแคแรกเตอร์บนไพ่ที่คล้ายกับที่เราเห็นบนไพ่ทาโรต์ในปัจจุบัน
ในช่วงปี 1539 คำว่า Tarocchi เริ่มถูกนำมาใช้แทนคำว่า Trumps ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเกมไพ่ที่กำลังฮิตสุด ๆ ในกลุ่มสังคมคนชั้นสูง โดยสาเหตุที่ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเกมก็เพราะเกม Trumps แบบดั้งเดิมนั้นได้ถูกปรับเปลี่ยนกติกาการเล่นจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม กลุ่มคนที่เล่นเกม Trumps แบบดั้งเดิมจึงเปลี่ยนการเรียกชื่อเกมนี้ใหม่ เพื่อเป็นการแยกตัวออกจากการเล่นวิถีใหม่
ส่วนที่มาความหมายของคำว่า Tarocchi นั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะคำคำนี้ไม่ได้อยู่ในภาษาอียิปต์ ฮีบรู หรือแม้กระทั่งละติน ในเวลาต่อมาเมื่อการเล่นเกมไพ่นี้แพร่หลายเข้าไปในประเทศเยอรมันนี มันก็ถูกเรียกว่า Tarock กระทั่งเมื่อเกมนี้เดินทางเข้าสู่ประเทศฝรั่งเศส คนฝรั่งเศสจึงได้เรียกเกมไพ่ชนิดนี้ว่า Tarot
The Oracles
ในช่วงศตวรรษที่ 16 ได้เกิดวิธีการเล่นไพ่ Tarocchi แบบใหม่ขึ้นมาอีกในกลุ่มชนชั้นสูง โดยผู้เล่นจะต้องหยิบไพ่ขึ้นมาใบหนึ่ง แล้วต้องแต่งกลอนสดที่เกี่ยวข้องกับแคแรกเตอร์บนไพ่นั้น ๆ ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็เป็นต้นเค้าของการอ่านไพ่ทาโรต์ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
การอ่านไพ่ทาโรต์ในฐานะศาสตร์แห่งการทำนายโชคชะตาหรือโหราศาสตร์นั้นเริ่มปรากฏเค้าลางในช่วงเวลานี้ ซึ่งตรงกับช่วงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการแห่งอิตาลี หลังจากที่ดินแดนตะวันตกต้องตกอยู่ภายใต้ช่วงเวลาอันมืดมนจากการถูกศาสนาครอบงำมาอย่างยาวนาน เหล่านักคิดนักปรัชญาในยุคแห่งความเจริญทางปัญญาก็เริ่มสนใจในศาสตร์ต่าง ๆ ที่เคยถูกกีดกันออกไปจากความรับรู้ของผู้คนโดยศาสนจักร โดยเฉพาะเหล่าศาสตร์ความรู้ที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งนอกรีต ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงโหราศาสตร์และการทำนายอนาคต
ในช่วงแรก การอ่านไพ่ทาโร์ยังไม่ได้พัฒนากลายเป็นการทำนายอนาคตแบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน แต่ด้วยความที่ในตอนนั้นไพ่ทาโรต์สามารถออกแบบเป็นภาพหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้ตามความพอใจของผู้ออกแบบ ไพ่ทาโรต์ในยุคนั้นจึงมักถูกออกแบบมาให้เป็นภาพที่นำเสนอปรัชญาหรือเรื่องราวปกรณัม โดยเฉพาะแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความตายอันเป็นวัฏจักรของมนุษย์ โดยไม่ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดตรง ๆ แต่นำเสนอผ่านสัญญะต่าง ๆ จนทำให้ไพ่ทาโรต์ในยุคนั้นมีลักษณะเหมือนกับเครื่องมือทดสอบจิตวิทยาแบบโบราณที่ผู้ที่หยิบไพ่ขึ้นมาต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการตีความเอาเองว่าเห็นภาพนั้นแล้วนึกถึงเรื่องใดหรือสิ่งใด
จากการละเล่นเปิดไพ่แล้วแต่งกลอนสด หรือเปิดไพ่แล้วอ่านภาพสัญญะตามความเข้าใจของผู้หยิบไพ่ ชื่อเสียงของไพ่ทาโรต์เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะเครื่องมืออ่านอนาคต โดยหลักฐานการกล่าวถึงไพ่ทาโรต์ที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏในงานเขียนที่ชื่อว่า The Fame and Confession of the Rosicrucians ที่ตีพิมพ์ในปี 1612 โดยได้อ้างอิงถึงไพ่ทาโรต์ในฐานะเครื่องมือที่ใช้ในการ ‘ปรึกษาหารือ’ เกี่ยวกับ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต และในปี 1781 ก็มีบทความขนาดสั้นของ อองตวน คอร์ต หรือ Antoine Court de Gebelin ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องไพ่ทาโรต์ โดยเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมโยงไพ่ทาโรต์กับศาสตร์เวทมนตร์ของคับบาลาห์ (Kabbalah คือนิกายหนึ่งในศาสนายิว) โดยให้เหตุผลว่าคำว่า Tarot น่าจะมาจากภาษาฮีบรู และแม้ว่าจะไม่มีการพิสูจน์ได้ว่าสมมติฐานนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ความสำคัญของข้อเขียนทั้งสองชิ้นนี้ก็คือการยืนยันว่า ความเกี่ยวโยงระหว่างไพ่ทาโรต์กับศาสตร์เหนือธรรมชาตินั้นน่าจะเริ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17-18 นี้เอง
Etteilla
นอกจากจะเขียนบทความเกี่ยวกับไพ่ทาโรต์โดยเชื่อมโยงไพ่ทาโรต์เข้ากับอักษรฮีบรูโบราณและต้นกำเนิดของไพ่ทาโรต์ในฐานะภูมิปัญญาของชาวอียิปต์แล้ว อองตวน คอร์ต ยังได้ทำการออกแบบสำรับไพ่ทาโรต์ในแบบของตัวเองขึ้นมา แล้วเรียกไพ่นั้นว่า Major Arcana พร้อมกับเขียนหนังสืออธิบายการอ่านไพ่ Major Arcana ที่เชื่อมโยงเข้ากับศาสตร์การทำนายอนาคตของชาวอียิปต์ ไพ่ Major Arcana กลายเป็นไพ่ที่ทรงอิทธิพลในหมู่นักทำนายโชคชะตามาก กระทั่งในอีก 60 ปีต่อมา ได้มีนักเล่นแร่แปรธาตุชาวฝรั่งเศสนามว่า ฌอง-บาสติสต์ เอลเลียต (Jean-Baptiste Alliette) นำไอเดียของคอร์ตไปเผยแพร่ในวงกว้าง จนทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นนักพยากรณ์ไพ่ทาโรต์คนแรกในประวัติศาสตร์ และเขาก็ได้เรียกตัวเองว่า เอตเตญา (Etteilla นำนามสกุลมาเรียงกลับหลังไปหน้า)
เอตเตญาอ้างว่า ไพ่ทาโรต์ของเขาเป็นการย้อนกลับไปนำดีไซน์ดั้งเดิมของอียิปต์มาใช้ โดยเขายกเลิกการใช้แม่แบบแคแรกเตอร์หรือสัญญะบนไพ่ทาโรต์ที่สืบทอดมาจากสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ทำให้ไพ่ทาโรต์ของเอตเตญามีความเป็นสากลและเห็นภาพแล้วตีความง่ายกว่าแบบเดิมที่อ้างอิงกับสัญญะทางศาสนา โดยเอตเตญายังเป็นนักพยากรณ์ไพ่ทาโรต์คนแรกที่ริเริ่มการอ่านไพ่ทั้งหมดแบบเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน ซึ่งก็เป็นวิธีการอ่านไพ่ทาโรต์ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันแบบที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้
เอตเตญามีสาวกติดตามและขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของเขามากมาย แต่ในท้ายที่สุดแล้วความนิยมในวิธีการอ่านไพ่แบบเอตเตญาก็ค่อย ๆ เสื่อมมนต์ขลังลง เนื่องจากการอ่านของเขานั้นค่อนข้างเป็นส่วนตัว คืออิงจากการตีความของเขาเอง จนทำให้ยากที่จะส่งต่อหรือถ่ายทอดให้คนอื่นได้ อย่างไรก็ตามวิธีการอ่านไพ่ด้วยการตีความจากมุมมองของนักพยากรณ์แต่ละคนที่เอตตาญาริเริ่มนั้นก็ส่งแรงบันดาลใจให้นักอ่านไพ่ทาโรต์มากมายจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง: https://tarot-heritage.com/
https://joshuashawnmichaelhehe.medium.com/the-real...