‘สีน้ำเงิน’ เป็นหนึ่งในสีหลักที่ศิลปินมากมายนิยมหยิบนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น ลูอีซ เบอร์ชัว, อีฟว์ แกล็ง หรือ วาซีลี คันดินสกี โดยในทางจิตวิทยา ความนิยมชมชอบในสีน้ำเงินนั้นถูกแฝงฝังไว้ในมนุษย์ตั้งแต่ในขั้นของวิวัฒนาการแล้ว ย้อนกลับไปในวันวานที่เรายังเป็นมนุษย์ถ้ำและใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เมื่อเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า เราก็ซึมซับโทนสีนี้ไว้ในความรับรู้ เมื่อเดินผ่านลำธาร เรามองเห็นสายน้ำไหลสีฟ้าสะอาด และจดจำเฉดนี้ไว้กับตัว จนกระทั่งมนุษย์กับสีน้ำเงินนั้นมีความผูกพันจนไม่อาจสืบสาวราวเรื่องได้ว่า มนุษย์เรารู้จักสีฟ้าน้ำเงินครั้งแรกเมื่อใด
จวบจนล่วงเลยมาถึงยุคที่มนุษย์เริ่มสร้างประดิษฐกรรมที่เรียกว่า ‘ศิลปะ’ มนุษย์ก็พบว่าสีน้ำเงินนั้นหาได้เป็นสีน้ำเงินในตัวมันเอง แต่เป็นเพราะแง่มุมของแสงที่ส่องลงมากระทบ นอกจากนี้มนุษย์ยังพบว่า เราไม่สามารถหยิบยืมสีน้ำเงินจากท้องฟ้าหรือแผ่นน้ำมาป้ายลงบนผนังถ้ำหรือผืนผ้าใบได้ ไม่เหมือนกับสีแดง น้ำตาล หรือสีเหลือง ที่เป็นสีตามธรรมชาติ
ด้วยความที่สีน้ำเงินนั้นเป็นสีที่มนุษย์ต้อง ‘ประดิษฐ์’ ขึ้นมานี่เอง ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของสีน้ำเงินสามารถสะท้อนแง่มุมของมนุษยชาติได้มากมาย ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นับพันนับหมื่นปี สีน้ำเงินกลายเป็นสีที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรม สังคม ชนชั้น พัฒนาการความคิดของมนุษย์ ไปจนถึงนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ หรือไอโฟนรุ่นใหม่ที่กำลังจะออกในปีนี้ที่มีสีน้ำเงินสนิทอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน (พื้นที่โฆษณา)
แล้วเราสามารถอ่านสีน้ำเงินในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง? ลองเลื่อนดูเลย
Egyptian Blue
สีน้ำเงินถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ครั้งแรกโดยชนชาติอียิปต์เมื่อราว 2,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในยุคเดียวกับที่มีการสร้างมหาพีระมิดนั่นเอง
ชาวอียิปต์ประดิษฐ์สีน้ำเงินโดยใช้หินปูนผสมกับทรายและทองแดงที่มีส่วนผสมของแร่ธรรมชาติ (เช่น อะซูไรต์ หรือ มาลาไคต์) แล้วนำไปถูกความร้อนที่อุณหภูมิ 1470 - 1650 ฟาเรนไฮต์ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็คือวัตถุทึบสีน้ำเงินคล้ายแก้ว ที่ต้องนำมาบดแล้วผสมกับไข่ขาว กาวหรือน้ำยาง เพื่อที่จะนำไปใช้เป็นสีสำหรับตกแต่งหรือเคลือบบนผิวเซรามิก ซึ่งแม้จะเป็นกรรมวิธีที่ดูไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่นักวิจัยผู้ทดลองผสมสีน้ำเงินตามตำรับของชาวอียิปต์ดั้งเดิมออกปากแล้วว่า ถ้าผสมผิดนิดเดียว สิ่งที่จะได้ก็คือสสารหนืดเหนียวสีเขียว ซึ่งกรรมวิธีการประดิษฐ์สีน้ำเงินของชาวอียิปต์นั้นก็ยากเข็ญเสียจนสีน้ำเงินถูกใช้เพียงในกลุ่มชนชั้นสูงของสังคมเท่านั้น
Ultramarine
สีน้ำเงินอัลตรามารีน หรือเรียกอีกแบบหน่ึงว่า สีน้ำเงินแท้ เป็นสีที่เกิดจากการผสมอัญมณีสีน้ำเงินที่ชื่อ ลาพิส ลาซูลี ซึ่งในอดีต แหล่งที่มาของอัญมณีชนิดนี้พบได้ในเทือกเขาแถบอัฟกานิสถานเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อ 6,000 ปีก่อน พ่อค้าชาวอียิปต์จึงเริ่มนำเข้าอัญมณีชนิดนี้เพื่อนำมาใช้ประดับเครื่องจิวเวลรี และเครื่องหัวของชนชั้นสูง แต่คนในยุคนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะสกัดสีน้ำเงินจากหินธรรมชาติชนิดนี้ได้อย่างไร เพราะเมื่อนำมาบดละเอียด หินลาพิสก็จะกลายเป็นเพียงสีเทาทึม ๆ
แต่แล้วลาพิสก็ได้ถูกนำมาสกัดเป็นสีน้ำเงินแท้ครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 6 ซึ่งถูกใช้แต่งแต้มภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดในจังหวัดบามียาน ประเทศอัฟกานิสถาน และอีก 700 ปีต่อมา ผงสีน้ำเงินนี้ก็ถูกนำข้ามน้ำข้ามทะเลไปใช้อย่างแพร่หลายในจิตรกรรมยุคกลางในแถบยุโรป จนทำให้ราคาของลาพิสในกาลต่อมาพุ่งสูงเทียบเท่ากับทองเลยทีเดียว จึงทำให้สีน้ำเงินราคาแพงเช่นนี้ถูกใช้ในแวดวงคนชนชั้นสูง และงานศิลปะชั้นสูงที่อยู่ในโบสถ์เท่านั้น
มีเรื่องเล่าว่า มีเกลันเจโล ได้ทิ้งให้ภาพ The Entombment (1500–01) อยู่ในสภาพที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากไม่สามารถหาทุนมาจัดซื้อสีน้ำเงินแท้ที่มีราค่าสูงได้ ในขณะที่ ราฟาเอล ก็เจียดสีน้ำเงินแท้เพียงเล็กน้อย เพื่อนำมาแต้มในส่วนของเสื้อคลุมของ พระแม่มารี ซึ่งวาดบนพื้นสีน้ำเงินที่สกัดมาจากผงอซูไรต์ แล้วค่อยใช้สีน้ำเงินแท้อันล้ำค่าทาบทับลงไปเบา ๆ ส่วนทางด้านของ โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ นั่นก็ทุ่มทุนซื้อสีน้ำเงินแท้มาใช้ในงาน จนทำให้ครอบครัวมีหนี้สินล้นพ้นตัว
และด้วยความต้องการในการใช้สีน้ำเงินที่พุ่งสูง ในปี 1824 องค์กรการสนับสนุนอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสจึงได้ประกาศให้รางวัล 6,000 ฟรังก์ แก่ผู้ใดก็ตามที่สามารถคิดประดิษฐ์สีน้ำเงินขึ้นมาใช้แทนสีน้ำเงินแท้ได้ จนในที่สุดก็มีนักเคมีที่สามารถประดิษฐ์สีน้ำเงินเทียมมาใช้แทนน้ำเงินแท้ และสีน้ำเงินเทียมนั้นก็ได้รับการตั้งชื่อว่า French Ultramarine นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Indigo
Indigo หรือ สีน้ำเงินคราม เป็นสีที่ถูกตั้งคำถามมาเนิ่นนาน เนื่องจากมีการถกเถียงกันว่า ที่จริงแล้วสีครามก็เป็นเพียงแค่อีกเฉดหนึ่งของสีน้ำเงิน แล้วฉไนเลยจึงต้องมีการตั้งชื่อเรียกเฉพาะให้กับโทนสีนี้ แต่ถึงจะถูกจัดให้เป็นเพียงเฉดหนึ่งของสีน้ำเงิน แต่สีครามนี่ล่ะที่นำไปสู่สงครามและการช่วงชิงดินแดนของคนโบราณในยุคศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยเฉพาะชนชาติยุโรปกับอเมริกันที่สู้รบกันเพื่อที่จะช่วงชิงสิทธิ์ในการเป็นผู้นำเข้าสีครามแต่เพียงผู้เดียว
เหตุที่คนในยุคนั้นช่วงชิงครามกันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ก็เพราะครามนั้นเป็นสีที่สามารถย้อมเส้นใยผ้าได้ ทำให้คนในยุคนั้นสามารถผลิตผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงผ้าแขวนประดับสีน้ำเงินแพง ๆ ได้นั่นเอง และต่างจากหินลาพิสที่มีแหล่งผลิตในธรรมชาติเพียงแห่งเดียว ครามเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั่วไป ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงรัฐแคโรไลนาตอนใต้ นั่นจึงทำให้ประเทศมหาอำนาจในยุคนั้นต่างมุ่งหมายที่จะเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ในการปลูกครามแต่เพียงผู้เดียว
สีย้อมครามยังเป็นที่นิยมอย่างยิ่งยวดในอังกฤษ โดยเฉพาะหลังจากที่ คุณไอแซค นิวตัน นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ได้จำแนก ‘แสงสีที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า’ (Color Spectrum) ซึ่งประกอบด้วย ม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, ส้ม และ แดง และทำลายความเชื่อเดิมที่ว่าสายรุ้งมี 5 สี ด้วยการเพิ่มสีส้มและสีครามเข้าไป
น้ำครามเทียมได้รับการประดิษฐ์ขึ้นในปี 1880 จนเข้ามาแทนที่การใช้งานสีครามแท้อย่างแพร่หลายสุด ๆ ในช่วงปี 1913 ซึ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดก็คือสียีนส์ของเรานั่นแล
Prussian Blue
1 ปีก่อนที่ไอแซค นิวตัน จะตีพิมพ์ทฤษฎี 7 แสงของสีที่มนุษย์สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า สีน้ำเงินเฉดใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดย โยฮันน์ เยคอบ ดีซบาค ขณะที่เขากำลังทดลองผสมสีเพื่อให้ได้สีแดงเข้ม ด้วยการนำแร่โปแตซสัมผัสกับเลือดของสัตว์ โดยความตั้งใจแรกเดิมคือคิดว่า เมื่อสีแดงผสมกับสีแดง ก็จะได้สีแดงเข้มขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ผลลัพธ์ของส่วนผสมนี้กลับทำให้ได้สีเหลือบน้ำเงิน และนั่นก็คือต้นกำเนิดของสี Berliner Blau หรือที่เรารู้จักกันในนาม Prussian blue หรือสีน้ำเงินปรัสเซียส นั่นเอง
สีน้ำเงินปรัสเซียนเป็นที่นิยมในหมู่ศิลปินอย่างมาก โดยขาประจำที่ใช้สีนี้บ่อย ๆ ก็คือ ศิลปินภาพพิมพ์ไม้อย่าง คัตสึชิกะ โฮกูไซ และมาสเตอร์ชาวสเปนอย่าง ปาโบล ปิกาโซ อย่างไรก็ตาม เส้นทางของสีน้ำเงินปรัสเซียนก็ไปไกลกว่านั้น โดยในปี 1842 นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ เซอร์จอห์น เฮอร์สเชล สังเกตว่าสีน้ำเงินปรัสเซียนมีความไวต่อแสงเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถนำมาทำกระดาษสำหรับคัดลอกภาพวาดได้ จนในที่สุด สีน้ำเงินปรัสเซียนก็ถูกนำมาใช้ในกระดาษเขียนแบบ หรือที่เราเรียกกันว่า Blueprint นั่นเอง
International Klein Blue
ในฤดูร้อนปี 1947 อีฟว์ แกล็ง วัย 19 ปี นั่งทอดสายตาไปยังท้องมหาสมุทรกว้างไกลกับเพื่อนอีกสองคนคือ คล็อด ปาสคาล (ซึ่งต่อมาจะเป็นกวีชื่อดัง) และ อาร์เม็ด เฟอร์นานเดซ (ต่อมาจะกลายเป็นศิลปินชื่อดัง) ทั้งสามคุยกันเล่น ๆ ว่า หากจะแบ่งโลกทั้งใบเพื่อเราสามคน จะแบ่งกันอย่างไรดี? บทสนทนาในวันนั้นจบลงที่จ้อสรุปว่า เฟอร์นานเดซจะเป็นผู้ครอบครองผืนแผ่นดิน, ปาสคาลขอครอบครองอากาศ ส่วนแกล็งขอครอบครองผืนฟ้า
ในกาลต่อมา แกล็งก็ได้เป็นผู้ครอบครองผืนฟ้าในแบบของเขาเอง ด้วยการมุ่งสร้างผลงานศิลปะที่ใช้สีน้ำเงินเป็นหลัก และก้าวไปอีกขั้นด้วยการประดิษฐ์สีน้ำเงินของตัวเอง ซึ่งเป็นสีอัลตร้ามารีนหรือสีน้ำเงินแท้ในแบบที่สะท้อนแสงน้อยลง มีความแมทมากขึ้น และได้ตั้งชื่อสีนี้ว่า International Klein Blue หรือ IKB ในปี 1960
A New Discovery: YInMn
ตอนนี้สีน้ำเงินปรัสเซียนไม่ใช่สีน้ำเงินเฉดเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการค้นพบโดยบังเอิญอีกแล้วนะ เพราะเมื่อปี 2009 ศาสตราจารย์ด้านเคมีชาวอินเดีย มาส ซูบรามาเนียน และทีมนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน ได้ค้นพบสสารชนิดใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยนักศึกษาคนหนึ่งในทีมได้สังเกตเห็นว่า ตัวอย่างของสสารชนิดหนึ่งของพวกเขาเปลี่ยนเป็นสีนำ้เงินเมื่อถูกความร้อน พวกเขาจึงได้ทำการตั้งชื่อสีน้ำเงินล่าสุดของโลกที่เพิ่งค้นพบโดยบังเอิญนี้ว่า YInMn (ออกเสียงว่า ยินมิน) ซึ่งย่อมาจากชื่อตามตารางธาตุของสารที่พวกเขานำมาผสม นั่นก็คือ อิตเทรียม, อินเดียม และแมงกานีส ซึ่งได้ออกวางขายให้หาซื้อได้กันทั่วไปในปี 2016 ที่ผ่านมานี้เอง