“ฉันคืบหน้าไปได้ช้ามาก เพราะธรรมชาติเผยตัวต่อฉันในแบบที่ซับซ้อนเหลือเกิน และกระบวนการเผยตัวของเธอนั้นก็ราวกับจะไม่มีวันจบสิ้น” - Paul Cézanne
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โลกศิลปะได้ประจักษ์ต่อการถือกำเนิดเกิดขึ้นของขบวนการศิลปะสำคัญ ที่จะส่งอิทธิพลในการเปลี่ยนโลกทัศน์ของงานศิลปะนับตั้งแต่นั้นไป ขบวนการศิลปะนั้นก็คือ ลัทธิประทับใจยุคหลัง (Post-Impressionism) ที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในปี 1886 และกินเวลาไปถึงปี 1905 โดยมีศิลปินที่เป็นหัวขบวนสำคัญสองคนด้วยกัน นั่นก็คือ ฟินเซนต์ ฟัน โคค (Vincent van Gogh) และ ปอล เซซาน (Paul Cézanne) สองสหายศิลปินผู้พลิกวิธีการถ่ายทอดโลกธรรมชาติที่ตาเห็นในงานศิลปะ จากการมุ่งนำเสนอความสมจริงและแสงสีอันจริงแท้ที่อยู่ตรงหน้า ให้กลายภาพและแสงที่ถูกมองเห็นผ่านสายตาและจินตนาการของศิลปิน ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาด้วยฝีแปรง มุมมอง (Perspective) แลพาเลตสีที่สะท้อนโลกข้างในของศิลปิน
สำหรับ ปอล เซซาน เขาไม่เพียงถูกกล่าวขานในฐานะศิลปินผู้เป็นมาสเตอร์แห่งลัทธิประทับใจยุคหลัง นักประวัติศาสตร์ศิลปะยังปักหมุดให้เซซานเป็นศิลปินผู้เป็นหลักไมล์แรกของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ที่จะส่งอิทธิพลให้กับมาสเตอร์แห่งศิลปะยุคหลังอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปาโบล ปิกาโซ หรือ ฌอร์ฌ บรัก (Georges Braque)
เซซานคือผู้กรุยทางให้กับกระบวนท่าทางศิลปะแบบใหม่ที่เคลื่อนย้ายภูทิทัศน์ทางศิลปะจากการพยายามลอกเลียนแบบสีสันและรูปทรงให้เหมือนธรรมชาติ ไปสู่การใช้รูปทรงและสีสันที่สะท้อนถึงความนามธรรมหรือความสมมาตร หรือที่รู้จักกันในนาม คติโฟวิสต์ (Fauvism) และ บาศกนิยม (Cubism) จนทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะปักหมุดว่า ในการที่จะเข้าใจศิลปะสมัยใหม่นั้น เราต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจงานศิลปะของ ปอล เซซาน เสียก่อน
The Art of Being An Artist ในสัปดาห์นี้ GroundControl จึงจะขอพาผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจผลงานและตัวตนของ ปอล เซซาน ศิลปินหัวขบถผู้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ในงานศิลปะ และเป็นดังสะพานเชื่อมระหว่างศิลปะลัทธิประทับใจและศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะแห่งปลายศตวรรษที่ 19 กับต้นศตวรรษที่ 20
ถ้าพร้อมจะดำดิ่งไปสู่โลกของศิลปินผู้เปลี่ยนทัศนะของผู้คนในการรับรู้ธรรมชาติผู้นี้กันแล้ว ก็เลื่อนไปสำรวจเรื่องราวของเขาในแต่ละภาพกันเลย
Aix-en-Provence
ปอล เซซาน เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 1839 ที่จังหวัด Aix-en-Provence ที่อยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสถาบันการเงิน (Banque Cézanne et Cabassol) ซึ่งทำให้เซซานมีกินมีใช้และสามารถเดินตามเส้นทางศิลปินได้อย่างไม่ขัดสนไปจนตลอดชีวิต ส่วนแม่ของเซซานก็เป็นผู้หญิงที่มีอารมณ์อ่อนไหว และมองโลกด้วยสายตาที่โรแมนติก ซึ่งธรรมชาติของผู้เป็นแม่ก็ส่งอิทธิพลต่อการรับรู้และมองโลกด้วยสายตาที่อ่อนไหวของเซซานเป็นอย่างยิ่ง
ในปี 1852 เซซานเข้าเรียนในสถาบัน Collège Bourbon ในเมืองบ้านเกิด ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้ผูกมิตรกับเพื่อนที่ชื่อว่า เอมีล โซลา (Émile Zola) และ แบพติสแตง เบลลี (Baptistin Baille) ซึ่งในกาลต่อมา คนแรกจะเติบโตขึ้นไปเป็นนักเขียนแนวสัจนิยมผู้ทรงคุณูปการแห่งแวดวงวรรณกรรมโลก ส่วนคนหลังก็จะเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังของโลก และทั้งสามจะถูกเรียกขานในชื่อ "Les Trois Inséparables" (The Three Inseparables) หรือสามสหายที่แยกจากกันไม่ได้
ในปี 1857 เซซานเริ่มค้นพบโลกของศิลปะจากการเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนวาดภาพในละแวกบ้าน ที่ซึ่งเขาได้เรียนการวาดลายเส้นกับบาทหลวงชาวฝรั่งเศส แต่แล้วเขาก็ต้องวางดินสอเพื่อสอบเข้าเรียนในสถาบันกฎหมายที่ University of Aix ตามความประสงค์ของพ่อ แต่หลังจากเข้าเรียนที่นี่ได้แล้ว เซซานก็สานต่อความรักในการวาดภาพด้วยการไปลงเรียนในวิชาดรอว์อิง
เมื่อค้นพบว่าไม่อาจหลอกตัวเองและครอบครัวได้อีกต่อไป เซซานก็ขัดขืนความต้องการของพ่อที่อยากให้เขาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ในปี 1861 เขาก็เก็บกระเป๋าออกจากบ้านเพื่อเดินตามความฝันในการเป็นศิลปิน โดยมีเพื่ออย่างโซลาที่ออกจากบ้านมาอยู่เมืองกรุงคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ แต่สุดท้ายแล้วพ่อของเซซานก็ใจอ่อน และยอมสนับสนุนความฝันของลูกชายด้วยการส่งเสียค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพื่อให้เซซานได้ทดลองและแสวงหาศิลปะของตัวเอง
ในช่วงนี้ของชีวิต เซซานในวัยหนุ่มอายุช่วง 20 ได้ศึกษาศิลปะและทดลองความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการสร้างงานศิลปะของตัวเอง เมื่อไม่ต้องกังวลเรื่องการหาเลี้ยงชีพ เซซานจึงได้เริ่มทุ่มเทให้กับศิลปะแบบเต็มตัว และใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการตระเวณไปเยี่ยมชมงานศิลปะในแกลเลอรีต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนอย่างโซลา งานศิลปะของเซซานในช่วงนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงการที่เขาพยายามจะแสวงหาเอกลักษณ์ของตัวเอง และเริ่มเห็นความพยายามที่จะหลุดออกจากขนบทางศิลปะแบบดั้งเดิม
Dark period, 1861–1870
ผลงานที่สะท้อนชัดถึงร่องรอยของเซซานในการพยายามดิ้นออกจากกรอบศิลปะแบบดั้งเดิมก็คือ Portrait of a Man (1864) และ Portrait of Uncle Dominique (1866) ที่ภาพแรกเป็นภาพบุคคลซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเทคนิคศิลปะทั้งเรื่องของแสง โทนสี และองค์ประกอบของศิลปะจินตนิยม (Romantic Art) ของเซซานได้เป็นอย่างดี แต่ในอีกภาพที่เซซานวาดขึ้นในอีก 2 ปีถัดมา ผู้ชมจะเห็นได้ถึงพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงในสไตล์และสุนทรียะของเซซาน โดยเฉพาะการปัดแปรงสีที่รุนแรงและทำให้เห็นความหยาบของเท็กซ์เจอร์สีมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าของซับเจกต์ในภาพที่แสดงให้เห็นการพยายามไล่เฉดสีด้วยการใช้เกรียงจ้วงสีจากถาดสีแล้วปาดทาลงบนผืนผ้าใบ ซึ่งเขาเรียกผลงานช่วงนี้ของตัวเองว่า une couillarde
นอกจากการใช้เกรียงสีในการวาดภาพ จุดเด่นในผลงานช่วงนี้ของเซซานอีกประการหนึ่งก็คือการใช้สีดำ โดยในช่วงนี้เซซานได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) ศิลปินคนสำคัญแห่งลัทธิสัจนิยมเป็นอย่างมาก เซซานสนใจในการถ่ายทอดอารมณ์ที่รุนแรงด้วยสีโทนมืดที่ปรากฏในงานของกูร์แบ ซึ่งเขาก็นำมาปรับใช้ในงานของเขาด้วยการใช้เกรียงสีปาดสีแบบรุนแรงเพื่อสะท้อนอารมณ์ด้านมืด ซึ่งในภายหลัง นักประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยกให้ช่วง Dark Period ของเซซานนี้เป็นการปรากฏเค้าลางของศิลปะสำแดงพลังอารมณ์สมัยใหม่ที่จะแพร่หลายในเวลาต่อมา
ในช่วง Dark Period นี้เป็นช่วงที่เซซานปลดปล่อยอารมณ์ด้านมืดของตัวเองอย่างสุดขีด แม้ว่าผลงานของเขาจะได้รับการชื่นชมว่าแสดงให้เห็นแนวทางใหม่ ๆ แต่เขาก็ไม่สามารถเข้ากับกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่ร่วมสมัยกันได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่เห็นว่าเขามีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย และผลงานของเขาในช่วงนี้ก็นำเสนอประเด็นรุนแรงป่าเถื่อน ไม่ว่าจะเป็น Women Dressing (1867), The Abduction, (1867) หรือ The Murder (1867–68) ที่เป็นภาพผู้ชายกำลังจ้วงแทงผู้หญิงโดยมีผู้หญิงอีกคนจับร่างของเหยื่อตรึงไว้
Impressionist period, 1870–1878
ในช่วงที่สงครามฝรั่งเศส - ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) ปะทุขึ้นในปี 1870 เซซานและนางแบบประจำของเขา Marie-Hortense Fiquet (ซึ่งภายหลังจะแต่งงาน และจบลงด้วยการแยกทาง เพราะเซซานให้เหตุผลว่า ‘หมดรัก’ แล้ว) ก็หนีออกจากกรุงปารีส แล้วย้ายไปพำนักอยู่ที่เมืองท่าเรืออันสวยงามอย่าง L'Estaque ที่อยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส การเปลี่ยนทัศนียภาพจากความวุ่นวายในเมืองกรุง มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม ก็ทำให้เซซานผันมาวาดภาพแลนด์สเคป แม้หลังภัยสงครามสิ้นสุดลง และเซซานกับคู่รักของเขาได้ย้ายกลับมาอยู่ปารีส แต่เซซานก็ยังคงออกเดินทางไปยังชนบทเป็นพัก ๆ เพื่อวาดภาพแลนด์สเคป โดยในช่วงนี้เขาได้ผูกมิตรกับ กามีย์ ปีซาโร (Camille Pissarro) ศิลปินสำคัญแห่งลัทธิประทับใจ ซึ่งเชื้อชวนให้เซซานไปวาดภาพที่บ้านของเขาใน Pontoise หรือไม่ก็ออกเดินทางไปยัง Auvers เพื่อเปลี่ยนทัศนียภาพในการวาดภาพด้วยกัน
เซซานยกย่องบูชาปีซาโรเป็นอย่างมาก เขาถึงกับฝากตัวเป็นศิษย์ของปีซาโร และไปถึงขั้นเรียกปีซาโรว่า "God the Father" ซึ่งด้วยคำแนะนำและอิทธิพลจากปีซาโรนี้เองที่ทำให้เซซานห่างไกลออกจากใช้สีโทนมืดบนผ้าใบ และขยับเข้าสู่ด้านสว่างของโลกแห่งสีสันมากขึ้น แต่กระนั้นสุนทรียะของเซซานก็ยังถือว่า ‘ดาร์ก’ และกว่ารสนิยมของผู้ชมในยุคนั้น ในการจัดแสดงผลงานของกลุ่ม Impressionist ครั้งที่ 1 และ 3 (ปี 1874 และ 1877) เซซานก็ได้นำผลงานของเขาไปร่วมจัดแสดงด้วย แต่ก็ได้รับคำวิจารณ์สุดเจ็บแสบจากนักวิจารณ์ที่บอกว่าผลงานภาพ Portrait of Chocquet (1877) ของเขานำเสนอภาพ “หัวผู้ชายที่ดูแปลกพิกล สีดำที่เขาใช้ก็ดูเหมือนสีของรองเท้าบูทเก่า ๆ ที่คงจะทำให้ผู้ชมที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ช็อกตาตั้ง และทำให้ลูกของเธอเป็นไข้เหลืองเสียก่อนที่จะลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ”
ในช่วงนี้ เซซานยังคงย้ายไปมาระหว่างปารีสและ Provence กระทั่งพ่อของเขาได้สร้างสตูดิโอให้เซซานใช้อาศัยและทำงานที่บ้าน Bastide du Jas de Bouffan โดยสตูดิโอของเซซานจะอยู่บนชั้นสองของบ้าน และมีหน้าต่างที่ทำให้แสงส่องสว่างเข้ามาในห้อง ให้เขาได้เก็บแรงบันดาลใจจากสีสันได้อย่างรื่นรมย์ นอกจากนี้เซซานยังเดินทางไปเยี่ยมเยือนและพำนักเพื่อวาดภาพร่วมกับเพื่อนศิลปินชาว Impressionists อย่าง ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) และ โคลด มอแน (Claude Monet) อยู่เนืองนิจ
เอกลักษณ์โดดเด่นในผลงานยุคนี้ของเซซานก็คือการใช้สีที่สดใสสว่างขึ้น เช่นเดียวกับฝีแปรงที่เคยสะบัดบนผืนผ้าใบแบบรุนแรงก็ค่อย ๆ ผ่อนน้ำหนักลง และให้ความสำคัญกับการให้น้ำหนักของแสงมากขึ้น สีสันที่เซซานเลือกใช้ในการถ่ายทอดภาพวิวทิวทัศน์ธรรมชาติในช่วงนี้ยังเน้นใช้สีโทนอุ่นเป็นหลัก สีส้มที่อยู่คู่กับสีแดง สีน้ำเงินกับสีเหลือง สีเขียวกับสีชมพู
นอกจากการใช้สีสันที่สว่างและอบอุ่นขึ้น ผลงานของเซซานช่วงนี้ยังโดดเด่นในแง่ของการลดทอนรูปฟอร์มของสิ่งต่าง ๆ ให้มีความนามธรรมมากขึ้น จนกระทั่งรูปทรงทั้งหลายแทบจะสลายหายไป เหลือไว้เพียงบล็อกที่ประกอบขึ้นจากหลากหลายสีสัน จนทำให้ดูมีมิติลึกตื้น ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ในการนำเสนอโลกธรรมชาติในแบบของเซซาน ที่พาวัตถุห่างไกลจากความจริง แต่เข้าใกล้จินตนาการและความรู้สึกของเขามากขึ้น
“ฉันรู้สึกอิ่มใจกับตัวเองเมื่อได้ค้นพบว่า เราไม่มีทางสร้างแสงอาทิตย์ใหม่ขึ้นมาได้” คือคำกล่าวของเซซานที่เคยกล่าวไว้กับเพื่อนเรอนัวร์
Skewed Perspective
การค้นพบความรักในทิวทิศน์ธรรมชาติและทัศนียภาพของชนบททำให้เซซานค้นพบสไตล์ที่แท้จริงของตัวเอง นั่นก็คือการนำเสนอธรรมชาติในแบบที่เขา ‘รู้สึก’ ไม่ใช่การลอกเลียนธรรมชาติอย่างซื่อตรงตามที่ตาเห็น ซึ่งนอกจากภาพแลนด์สเคปแล้ว ภาพวาดศิลปะอีกตระกูลหนึ่งที่เปิดเปลือยเทคนิคและสุนทรียะส่วนตัวของเซซานก็คือ ภาพวาดหุ่นนิ่ง (Still Life) ที่เซซานล้อกับที่มาของตระกูลภาพนี้ที่เป็นการเก็บรายละเอียดของฉากภาพตรงหน้าให้เหมือนจริงที่สุด แต่เขากลับนำเสนอภาพหุ่นนิ่งในแบบของเขาที่ห่างไกลจากความจริง แต่ใกล้กับการรับรู้ในจินตนาการของเขามากที่สุด
ภาพหุ่นนิ่งของเซซานจะเล่นกับมุมมองของภาพและมิติแบนราบของภาพบนผืนผ้าใบ โดยเขาจะเล่นกับการนำเสนอวัตถุนั้น ๆ จากหลากหลายมุมในภาพภาพเดียว เพื่อให้ความสำคัญกับวัตถุแต่ละชิ้นในภาพ หาใช่แค่นำเสนอองค์รวมของภาพเท่านั้น ซึ่งในกาลต่อมา เทคนิคการเล่นกับมุมมองของวัตถุเพื่อนำเสนอมิติของวัตถุจากหลากหลายมุมนี้ก็จะถูกพัฒนาต่อไปเป็นหัวใจหลักของศิลปะบาศกนิยม ที่มุ่งค้นหาวิถีทางในการนำเสนอวัตถุจากหลากหลายมุมมองภายใต้ข้อจำกัดของความแบนราบของกระดาษหรือผืนผ้าใบ
จากการให้ปากคำของผู้อยู่ใกล้ชิดกับเซซานในช่วงเวลานั้น ในแต่ละครั้งที่เซซานจะวาดภาพหุ่นนิ่ง เขาจะค่อย ๆ ละเมียดจัดองค์ประกอบของภาพอย่างพิถีพิถัน โดยเขาจะเลือกผลไม้ที่มีสีตัดคอนทราสต์กับองค์ประกอบแวดล้อม เขาจะพับผ้าปูโต๊ะอย่างบรรจงเพื่อให้ได้ฟอร์มที่ชอบ และจะใช้เหรียญมาวางหนุนรับน้ำหนักใต้ผลไม้เพื่อให้ได้มุมหรือองศาที่เขาต้องการ ซึ่งก็เป็นสุนทรียะส่วนตัวของเซซานในการทั้งควบคุมและออกแบบองค์ประกอบของภาพอย่างที่เขาต้องการ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความเป็นไปโดยรอบ โดยเฉพาะแสงธรรมชาติที่สาดเข้ามายังวัตถุที่เขาเป็นผู้จัดเรียงนั้น
แม้หลังจากเสียชีวิต แต่ศิลปะของการนำเสนอธรรมชาติจากหลากหลายมุมของเซซานยังส่งอิทธิพลมาถึงศิลปินในยุคต่อมา ในวัย 26 ปี ศิลปินหนุ่มที่ชื่อว่า ปาโบล ปิกาโซ อาศัยอยู่ในกรุงปารีส เขาอาศัยอยู่ในตึกเดียวกับเพื่อนศิลปินคนอีกคนที่ชื่อว่า ฌอร์ฌ บรัก ซึ่งทั้งสองได้แชร์ไอเดียเกี่ยวกับศิลปะร่วมกัน หนึ่งในประเด็นที่ทั้งคู่มักยกมาพูดคุยกันก็คือ วิสัยทัศน์อันก้าวล้ำที่สะท้อนอยู่ในผลงานของเซซาน ซึ่งทั้งสองก็ได้รับเอามรดกทางศิลปะที่เซซานทิ้งไว้มาพัฒนาต่อจนกลายเป็นรากของศิลปะบาศกนิยมในเวลาต่อมา ซึ่งหลังจากเป็นที่ยอมรับในฐานะหัวขบวนของศิลปะสมัยใหม่แล้ว ปิกาโซก็เคยกล่าวถึงเซซาน โดยเรียกเขาว่า
‘บิดาแห่งเราทั้งปวง’ (The Father of Us All)
อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Paul_C%C3%A9zanne
https://en.wikipedia.org/wiki/Post-Impressionism
https://medium.com/.../great-artists-paul-c%C3%A9zanne...
https://www.paul-cezanne.org/
Rewald, John. Cézanne: A Biography. New York: Abrams, 1986.