GC_beingartist_Dario Argento.jpg

Dario Argento ก็อดฟาเธอร์แห่งหนังสยองขวัญแดนสปาเกตตี

Post on 24 January

“สรวงสวรรค์เป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบเกินไปสำหรับมนุษย์” - Dario Argento

ในตอนที่ผู้กำกับ ดาริโอ อาร์เจนโต ทำหนังสยองขวัญเปื้อนเลือดเรื่องแรกของตัวเองในปลายยุค 1960s ตระกูลหนังลึกลับระทึกขวัญสัญชาติอิตาเลียนที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘จัลโล’ (Giallo) ก็ได้สร้างรากฐานไว้แล้วโดยผู้กำกับชั้นครู มาริโอ บาวา (1914–1980) โดยจัลโลเป็นคำที่ใช้เรียกหนังลึกลับ สืบสวนสอบสวน และสยองขวัญ หรือหนังฟิล์มนัวร์ในสไตล์อิตาลีในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งที่มาที่ไปของการเรียกชื่อตระกูลหนังสยองขวัญอิตาเลียนว่าจัลโลก็มาจากการที่หนังเหล่านี้มักสร้างมาจากพล็อตนวนิยายสืบสวนสอบสวนราคาถูก ซึ่งหนังสือในหมวดนี้มักจะใช้หน้าปกสีเหลืองที่ในภาษาอิตาเลียนเรียกว่า ‘จัลโล’

แต่จนถึงยุคปัจจุบัน เมื่อถามว่าใครคือผู้มีคุณูปการสำคัญต่อวงการหนังสยองขวัญแดนสปาเกตตี หรือใครคือ Godfather of ‘Giallo’ ชื่อของอาร์เจนโตก็มักจะโผล่ขึ้นมาเป็นชื่อแรก ๆ นั่นก็เพราะว่า แม้อาร์เจนโตจะไม่ได้เป็นผู้กำกับคนแรกที่ทำหนังจัลโล แต่เขาคือผู้ที่ยกระดับให้หนังจัลโลได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะในรูปแบบภาพยนตร์แขนงหนึ่ง และหลังจากการมาถึงของอาร์เจนโต วงการหนังสยองขวัญอิตาเลียน รวมไปถึงของโลก ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถึงขนาดที่มีการเรียกเขาว่า ‘อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก แห่งวงการหนังอิตาเลียน’ ซึ่งก็มาจากการที่ทั้งสองต่างก็เป็นผู้กำกับออเตอร์ที่พยายามสร้างเอกลักษณ์และสไตล์ของตัวเอง ทั้งยังสร้างผลงานด้วยความละเมียดละไม จนทำให้ผลหนังของพวกเขาประหนึ่งเป็นงานคราฟต์ และที่สำคัญที่สุด ...ทั้งคู่ต่างก็เป็นผู้กำกับที่นำเสนอโลกอันมืดผ่านพล็อตสุดระทึกใจและชวรให้ผู้ชมในยุคนั้นอกสั่นขวัญแขวนเช่นเดียวกัน

ตั้งแต่ The Bird with the Crystal Plumage (1970) จนถึง Suspiria (1977) หนังสยองขวัญของอาร์เจนโตพาผู้ชมไปสำรวจโลกกรุ่นกลิ่นเลือดและความชั่วร้ายผ่านภาพสีสันจัดจ้านราวกับหลุดมาจากฝันร้าย การใช้เลือดสาดกระจายแบบไม่บันยะบันยัง การค่อย ๆ ชวนผู้ชมต่อจิ๊กซอว์เพื่อไขปริศนาที่เป็นหนทางไปสู่ความฉิบหายของตัวละคร เสียงดนตรีกล่อมเด็กชวนขวัญผวามากกว่าจะทำให้ฝันดี ไปจนถึงการใช้มุมกล้องอันแสนแปลกประหลาดและการนำเสนอฉากการตายที่งดงามราวกับศิลปะ องค์ประกอบอันแสนเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ผลงานของอาร์เจนโตกลายเป็นเหมือนตำราทำหนังสยองขวัญของผู้กำกับรุ่นใหม่ ตั้งแต่ จอห์น คาร์เพนเตอร์ (John Carpenter) ไล่ไปถึง นิโคลัส ไวดิง รีฟิน ( Nicolas Winding Refn และแม้กระทั่ง เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ต่างก็มีผู้กำกับชั้นครูคนนี้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ จนถึงขั้นที่ว่า เมื่อผู้กำกับดีเข้าชิงกรีออสการ์อย่าง ลูกา กวาดาญีโน (Luca Guadagnino) นำหนังแม่มดในตำนานอย่าง Susperia มาดัดแปลงขึ้นจอใหม่ในปี 2018 มันก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี แต่ทุกคนยังคงการันตีเป็นเสียงเดียวกันว่า เทียบไม่ได้กับเวอร์ชั่นต้นฉบับของอาร์เจนโตเลย!

เนื่องในโอกาสที่ในวันที่ 7 กันยายนที่จะถึงนี้ จะถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ปู่ดาริโอ อาร์เจนโต ได้อยู่เป็นมิ่งขวัญให้เหล่าคนรักหนังสยองขวัญมาได้ถึง 81 ปีแล้ว GroundControl จึงขอใช้คอลัมน์ The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ทริบิวต์ให้กับปู่อาร์เจนโตผ่านชีวิตและผลงานขึ้นหิ้งของปู่กัน!

The Young Argento

ดาริโอ อาร์เจนโต เกิดที่เมืองโรม ประเทศอิตาลี ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นโปรดิวเซอร์หนังชาวซิซิเลียนและมีแม่เป็นช่างภาพชาวบราซิล เมื่อเติบโตขึ้นมา อาร์เจนโตไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสอนทำหนังเหมือนผู้กำกับทั่วไป แต่ใช้ความรักและประสบการณ์ในการดูหนังมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกเป็นเชื้อไฟและพื้นฐานในการเขียนบทวิจารณ์หนังส่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นงานที่เขาเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย

ความรักในภาพยนตร์ของอาร์เจนโตถูกปลูกฝังมาตั้งแต่การที่เขามีพ่อแม่เป็นศิลปินและทำงานในวงการภาพยนตร์ การดูภาพยนตร์จึงเป็นกิจกรรมที่เขาคุ้นเคยมาาตั้งแต่เด็ก ๆ อาร์เจนโตเคยเล่าว่าเขาเป็นเด็กที่มีความชอบในการดูหนังสุดแปลกมาแต่ไหนแต่ไร โดยเริ่มต้นความชอบจากหนังดราม่าผจญภัย หนังอาชญากรรม และหนังคาวบอยตะวันตก ก่อนที่จะพบรักแท้ในหนังแนวสยองขวัญเลือดสาดขวัญผวา

“ครั้งแรกที่ผมได้ดูหนังสยองขวัญ มันก็ติดอยู่ในหัวผมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งภาพ ฉาก และนักแสดง โลกทั้งใบนั้นได้ประทับตราลงในความคิดของผมและติดแน่นอยู่อย่างนั้นราวกับรอยสัก”

แต่ด้วยความที่หนังสยองขวัญในยุคนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับในฐานะหนังที่นำเสนอสุนทรียะและศิลปะ การดูหนังสยองขวัญจึงเหมือนเป็นกับบาปแห่งความสุขหรือ Guilty Pleasure ของอาร์เจนโต ยิ่งเมื่อเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อแม่ต่างชื่นชมนิยมศิลปะด้วยกันทั้งคู่ รสนิยมการดูหนังของอาร์เจนโตจึงไม่ใคร่พึงใจพ่อแม่เสียเท่าไหร่

“ผมรักหนังสยองขวัญมาก และผมจำได้ว่ายุคนั้นทั้งครอบครัวและบรรดาอาจารย์ของผมต่างก็เหยียดหนังตระกูลนี้กันสุด ๆ ตอนที่หนังฮิตช์ค็อกออกมาใหม่ ๆ ผมก็รักหนังของเขามาก แต่พวกนักวิจารณ์กลับไม่แยแสหนังของเขาเลย และเรียกหนังของเขาว่าเป็น ‘หนังทำเพื่อการพาณิยช์’ ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกเศร้าแทนฮิตช์ค็อก และก็เศร้าแทนเหล่าคนรักหนังสยองขวัญที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแปลกแยก เป็นเอเลียนเหมือนกัน”

นอกจากหนังสยองขวัญแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ส่งแรงบันดาลใจให้อาร์เจนโตอย่างมากก็คือเรื่องสั้นสยองขวัญของ เอ็ดการ์ อัลลัน โป ซึ่งก็ทำให้ตัวละครเอกในหนังของอาร์เจนโตหลาย ๆ เรื่องทำอาชีพนักเขียนด้วย

“ เอ็ดการ์ อัลลัน โป คือแสงสว่างในความมืดมิดของผม เรื่องราวของเขาเปิดให้ผมได้พบเจอในสิ่งที่ไม่อาจพบได้ในชีวิตประจำวัน จนทำให้เขาเป็นทั้งต้นแบบแรงบันดาลใจและเป็นครูสอนการเขียนให้กับผม ซึ่งช่วงเวลาที่ผมเขียนเรื่องสั้นและบทความในนิตยสารนั่นเองที่ผลักดันให้ผมก้าวเข้าสู่โลกที่เป็นของผมอย่างแท้จริง นั่นก็คือภาพยนตร์”

ซึ่งในช่วงที่ยังเป็นนักเขียนอยู่นี่เองที่อาร์เจนโตได้รับงานฝิ่นช่วยเขียนบทให้กับผู้กำกับเบอร์ใหญ่ของวงการหนังอิตาลีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เบอร์นาโด แบร์โตลุคชี (Bernardo Bertolucci) หรือ เซร์คีโอ ลิโอน (Sergio Leone) ซึ่งนั่นก็เปิดโอกาสให้อาร์เจนโตได้เรียนรู้การทำหนังจากมือฉมังแห่งแวดวงหนังอิตาลีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้เขาพร้อมที่จะลงมือทำหนังเรื่องแรกของตัวเองในปี 1970

The Bird with the Crystal Plumage (1970)

“หนังตระกูลจัลโจโดนเส้นผมมาแต่ไหนแต่ไร เพราะความลึกลับ พลัง และเสน่ห์ของสิ่งต้องห้าม เรื่องราวความรักที่เป็นไปไม่ได้ พล็อตหักมุม และการดำเนินเรื่องแบบไม่ค่อยเป็นเส้นตรง เมื่อผมเริ่มทำงานในวงการภาพยนตร์ในช่วงยุค 1960s โดยเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนบทวิจารณ์แล้วกลายมาเป็นคนเขียนบทหนัง หนังตระกูลนี้ไม่เคยได้รับการเหลียวแลโดยเหล่าคนดูหนังปัญญาชนเลย ย่าของผมซึ่งเป็นหัวอนุรักษ์สุดโต่งถึงกับห้ามไม่ให้ผมอ่านนิยายปกเหลืองเหล่านี้ด้วยซ้ำ ผมเลยมักต้องแอบเอาขึ้นไปอ่านบนห้องใต้หลังคา”

ในปี 1970 อาร์เจนโตก็ได้ฤกษ์ตัดริบบิ้นในฐานะผู้กำกับด้วยหนังเรื่องแรกใน ‘ไตรภาคอมนุษย์’ อย่าง The Bird with the Crystal Plumage (Animal Trilogy - อีกสองเรื่องที่ตามมาคือ The Cat o' Nine Tails (1971) และ Four Flies on Grey Velvet (1972)) หนังสืบสวนสอบสวนลึกลับที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายลึกลับสยองขวัญหน้าปกเหลืองปี 1949 ของนักเขียนชาวอเมริกัน เฟดริก บราวน์ (Fredric Brown) ที่ใช้ชื่อว่า The Screaming Mimi ว่าด้วยเรื่องราวของนักเขียนอเมริกันที่เดินทางมาหาแรงบันดาลใจในกรุงโรม ก่อนที่จะกลายเป็นพยานคนสำคัญในเหตุการณ์การพยายามฆ่าภรรยาของเจ้าของแกลเลอรี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่กระทำการฆ่าหญิงสาวทั่วกรุงโรมมาแล้วมากมาย แซมที่ติดอยู่ระหว่างประตูแกลเลอรีและได้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงตรงหน้าโดยไม่อาจห้ามฆาตกรได้ กลับต้องเผชิญกับภาพหลอนจากเหตุการณ์นั้น จนทำให้เขาตัดสินใจที่จะช่วยนักสืบชาวอิตาเลียนตามหาตัวคนร้ายให้ได้

The Bird with the Crystal Plumage กลายเป็นหนังที่ได้รับการยกย่องในฐานะหนังที่พาความแปลกใหม่มาสู่ตระกูลหนังสยองขวัญแดนสปาเกตตี โดยเฉพาะการนำเสนอภาพ ‘ชายชุดดำ’ ในฐานะคนร้ายปริศนาที่ลงมือฆ่าเหยื่อโดยสวมถุงมือหนังสีดำ ซึ่งอาร์เจนโตได้ใส่สไตล์และกลิ่นอายความ ‘Fetish’ ลงไปจนทำให้ภาพของชายชุดดำในแกลเลอรีสีขาวที่แวดล้อมด้วยงานศิลปะมากมายกลายเป็นภาพที่ผู้ชมต้องจดจำ

กระทั่งในหนังเรื่องแรก อาร์เจนโตก็ได้นำเสนอลายเซ็นที่จะปรากฏชัดในผลงานเรื่องถัด ๆ ไป นั่นก็คือการนำเสนอฉากการตายอันแสนโหดร้ายทารุณ แต่กลับงดงามจนละสายตาไม่ได้ เลือดสีแดงฉานที่ตัดกับห้องแกลเลอรีสีขาวในฉากต้นเรื่อง รวมไปถึงการใช้สีสันจัดจ้านและคมมีดเงินวับที่ตัดกับสีดำและสีแดงขององค์ประกอบในฉาก ทำให้ฉากต่าง ๆ ใน The Bird with the Crystal Plumage เป็นดังงานศิลปะชั้นเลิศ นอกจากนี้อาร์เจนโตยังนำเสนอมุมกล้องที่แปลกประหลาดซึ่งนับว่าล้ำมากในสมัยนั้น เช่น การนำเสนอภาพเหตุการณ์จากมุมมองของคนร้าย ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเชือดฆ่ายุคต่อไปรับไปใช้กันต่ออีกมากมาย

แม้ว่า The Bird with the Crystal Plumage จะยังไม่ใช่หนังสยองขวัญสั่นประสาทสุดขีดคลั่งของอาร์เจนโต แต่มันก็เป็นหนังที่นำเสนอกลิ่นอายความฟิล์มนัวร์ในแบบฉบับหนังอิตาเลียน และเป็นการเปิดตัวอาร์เจนโตในฐานะผู้กำกับหนังตระกูลจัลโล ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่ที่อาร์เจนโตยึดเป็นถิ่นฐานที่เขาครอบครองในฐานะ ‘ก็อดฟาร์เธอร์’ จนถึงปัจจุบัน

“จัลโลมีธีมและแนวคิดที่มีความเป็นอิตาเลียนมาก ๆ ตัวอย่างเช่น ความดุดันของคนร้าย การนำเสนอภาพตัวละครหญิงซึ่งเป็นแก่นหลักของเรื่อง รวมไปถึงฉากที่ดูเหนือจริงและมีความเป็นศิลปะมาก ๆ ยิ่งไปกว่านั้น จัลโลยังสะท้อนจิตวิญญาณของการเป็นคนอิตาเลียนออกมาผ่านเรื่องราวและตัวละคร ...มันบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ของเรา ศาสนาของเรา และความเชื่อต่าง ๆ ที่เราคนอิตาเลียนยึดถือ”.

Deep Red (1975)

ในขณะที่ The Bird with the Crystal Plumage คือหนังที่เปิดตัวอาร์เจนโตในฐานะผู้กำกับหนังจัลโจ ผลงานเรื่องที่ห้าในอีกห้าปีถัดมาของเขาก็คือการประกาศว่าอาร์เจนโตในคือผู้กำกับหนังจัลโลที่มีสไตล์เป็นของตัวเองชัดเจน และจะเป็นสไตล์ที่ยกระดับแวดวงหนังจัลโลของอิตาลีไปอีกขั้น ทั้งในแง่ของสุนทรียะและที่ทางในวงการหนังนอกอิตาลี

Deep Red คือหนังที่อาร์เจนโตได้จับงานหนังสยองขวัญอย่างเต็มสูบ ว่ากันว่ามันคือผลงานที่เป็นจุดเริ่มต้นของเอกลักษณ์สำคัญในหนังของอาร์เจนโต นั่นก็คือการใช้เทคนิคทางภาพและมุมกล้องในการถ่ายโอนความเจ็บปวดจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในหนังไปสู่ผู้ชมได้อย่างเจนจัด หนังเปิดเรื่องด้วยฉากในโรงอุปรากรที่แน่นขนัดไปด้วยผู้ชมที่มารับฟังการบรรยายของนักปรจิตวิทยา ก่อนที่เธอจะคลุ้มคลั่งและประกาศว่าในหมู่ผู้ชมนั้นมีฆาตกรปะปนอยู่ และเขาคนนั้นจะลงมืออีกครั้งแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริงดังว่า เมื่อนักปรจิตวิทยาหญิงกลับกลายเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมสุดลึกลับ โดยที่พยานสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือนักดนตรีหนุ่มที่บังเอิญผ่านมาเห็น แล้วกลายเป็นว่าตัวเขาถูกดึงดูดเข้าสู่โลกแห่งการไขความลับและความชั่วร้ายที่จะตามมาอีกมากมาย

Deep Red คือหนังที่ผสานกลิ่นเลือดเข้ากับแง่มุมและสัญญะในเชิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ หนังนำเสนอสัญญะที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน แต่กลับสะท้อนถึงจิตใจอันบิดเบี้ยวของฆาตกรปริศนาได้อย่างน่าสยดสยอง ไม่ว่าจะเป็นของเล่นเด็ก ภาพวาดที่สะท้อนความรุนแรง ตุ๊กตาที่ถูกทารุณกรรมจนไม่เหลือชิ้นดี ฯลฯ นอกจากการนำเสนอสัญญะให้ผู้ชมค่อย ๆ เก็บเล็กผสมน้อยทดไว้ในใจ หนังยังถูกถ่ายทอดผ่านมุมกล้องอันแปลกใหม่ที่ทำให้ทุกตัวละครที่ปรากฏในเรื่องดู ‘น่าสงสัย’ อาร์เจนโตที่หนังอยู่หลังกล้องกลับสามารถชี้ชวนให้ผู้ชมสังเกตพฤติกรรมและการแสดงออกทางสีหน้าของแต่ละตัวละครได้ จนทำให้ Deep Red กลายเป็นหนังจัลโลที่ก้าวขึ้นไปอีกขั้นด้วยการชี้ชวนให้ผู้ชมตีความหนังและใช้แง่มุมทางจิตวิเคราะห์ในการร่วมสืบหาคนร้ายร่วมกับตัวเอกนักดนตรี

ความสำเร็จของ Deep Red ไม่ใช่แค่การสร้างความแปลกใหม่และยกระดับวงการหนังจัลโลและหนังเชือดสยองเท่านั้น แต่มันยังเป็นหนังตัวอย่างที่สะท้อนให้ผู้กำกับรุ่นถัดมาเห็นว่า ความอาว็องการ์ดทั้งในแง่ของเทคนิคและงานโปรดักชั่น และการนำแง่มุมทางสุนทรียะเข้ามาจับกับหนังสยองขวัญนั้นไม่ใช่อะไรที่เกินฝัน Deep Red กลายเป็นดังตำรา How to สำหรับคนทำหนังสยองขวัญที่ตอบคำถามว่า จะทำอย่างไรให้หนังสยองขวัญทั้งสวยและแตกต่าง ในขณะที่ จอห์น คาร์เพนเตอร์ นำการใช้มุมกล้องที่นำเสนอมุมมองของฆาตกรไปใช้ในหนัง Halloween (1978), เวส คราเวน ก็นำบรรยากาศความฟุ้งฝันราวกับอยู่ในฝันร้ายไปใส่ไว้ใน Nightmare on Elm Street (1984) ไม่ต้องพูดถึง ไบรอัน เดอ พัลมา ที่ยอมรับว่าหากไม่มี Deep Red ก็จะไม่มีหนังอีโรติกระทึกขวัญขึ้นชื่อของเขาอย่าง Dressed to Kill (1980)

Suspiria (1977)

ช่วงปลายยุค 1970s อาร์เจนโตก็ขยับจากหนังระทึกขวัญที่ตั้งอยู่บนโลกของตรรกะและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ไปสู่หนังที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องราวเหนือธรรมชาติและปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือกกระบวนการสืบสวนวิทยาในการทำความเข้าใจได้อีกต่อไป นั่นจึงทำให้การมาถึงของ Suspiria หนังเปิดไตรภาค ‘สามพระแม่’ (The Three Mothers - ซึ่งจะตามมาด้วย Inferno (1980) และ The Mother of Tears (2007)) กลายเป็นผลงานที่เรื่องแรกที่พาผู้ชมเข้าสู่โลกของอาร์เจนโตอย่างแท้จริง นั่นก็คือโลกแห่งความสยองขวัญที่ว่าด้วยเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ด้านมืดของศาสนา ความเชื่อ และแม่มด

Suspiria ว่าด้วยเรื่องราวของ ซูซี แบนเนียน นักเรียนการเต้นสาวชาวอเมริกันที่เดินทางมายังประเทศเยอรมนีเพื่อเข้าเรียนในสถาบันสอนเต้นอันแสนเลิศหรู ก่อนที่เธอจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ภายใต้ฉากหน้าของสถาบันการเต้นแห่งนี้ อาจจะเป็นที่ตั้งของ ‘รัง’ แม่มดที่กำลังรอการมาถึงของเด็กสาวเพื่อใช้เป็นเครื่องสังเวยให้กับบางสิ่งที่ถูกเก็บซ่อนไว้เป็นความลับในสถาบันแห่งนี้!

ผลงานเปิดไตรภาคแม่มดของอาร์เจนโตเรื่องนี้กลายเป็นหนังขึ้นหิ้งที่ได้รับการชื่นชมในแง่ของเทคนิคและวิชวลที่สะท้อนโลกและจินตนาการของอาร์เจนโตแบบสุดจัด ความโดดเด่นของ Suspiria ที่ยังคงเป็นที่พูดถึงจนถึงทุกวันนี้ก็คือการใช้พาเลตต์สีสุดขีดคลั่งที่นำเสนอทั้งความบ้าคลั่ง ความชั่วร้าย และโลกของอิสตรี ผ่านสีสันจัดจ้านที่ไล่ไปตั้งแต่ เขียว น้ำเงิน ยันแดง จนทำให้ Suspiria เป็นดังผลงานภาพวาดของศิลปินลัทธิสำแดงพลังอำนาจ (Expressionism) บนแผ่นฟิล์ม ซึ่งใครเลยจะคาดฝันว่า ที่มาที่ไปของแรงบันดาลใจสีสันสุดคลั่งในผลงานของอาร์เจนโตเรื่องนี้จะมาจากหนังแอนิเมชันเทพนิยายสุดจรรโลงใจของดิสนีย์อย่าง Snow White and the Seven Dwarfs (1937)! โดยหนังทั้งสองเรื่องที่อายุห่างกันกว่าสามทศวรรษต่างก็ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กสาวบริสุทธิ์ไร้เดียงสาที่ถูกแวดล้อมด้วยความชั่วร้ายเช่นเดียวกัน

ลูเชียโน โทโวลี (Luciano Tovoli) ตาอกล้องคู่ใจที่ทำงานร่วมกับอาร์เจนโตมาหลายต่อหลายเรื่อง ได้ให้คำนิยามต่อหนังเรื่องนี้ว่า ‘เทพนิยายสไตล์โกธิค’ โดยเขายอมรับว่าการทำงานร่วมกับโปรดักชันดีไซเนอร์ภายใต้การนำของอาร์เจนโตนั้นมีใจความสำคัญอยู่ที่การนำเสนอภาพแห่งฝันร้ายที่ทรมานผู้คนยามหลับไหล ซึ่งการมาถึงของ Suspiria ก็คือการ ‘ปลุกผี’ สไตล์ภาพชวนฝัน (ร้าย) ซึ่งเคยแพร่หลายในช่วงเวลาแห่งยุคทองของหนัง German Expressionism (1920s-1930s) ขึ้นมาใหม่ ทำให้มันกลายเป็นของแปลกใหม่แต่แสนเย้ายวนใจสำหรับคนดูหนังยุค 1970s

แม้ว่า Suspiria จะเป็นหนังที่อยู่ภายใต้ร่มของหนังจัลโล แต่มันกลับกลายเป็นหนังที่พาตระกูลหนังจัลโลขยันขึ้นไปอีกขึ้น สู่ยุคใหม่ของหนังจัลโลที่ฉาก วิชวล และโปรดักชันสุดอลังการได้กลายมามีส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องของหนัง ใน Suspiria ผู้ชมจะได้เห็นสีแดงอยู่ในทุกพื้นที่ของตึกสไตล์อาร์ตเดโคที่เป็นที่ตั้งของสถาบันชวนสยองแห่งนี้ ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่จะสื่อสารกับผู้ชมว่า ความชั่วร้ายแทรกซึมอยู่ในทุกตารางนิ้วของพื้นที่แห่งนี้ ฉากการตายอันสุดแสนโหดคลั่งและตระการตาในตอนต้นเรื่องยังเป็นการบอกใบ้ให้ผู้ชม ‘รู้สึก’ ถึงความหิวกระหายและความบ้าคลั่งของแม่มดผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ทำให้ Suspiria กลายเป็นหนังคัลต์เรื่องโปรดในแวดวงคนรักหนังสยองขวัญ ก่อนที่มันจะได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสุดอาว็องการ์ดที่เป็นผลงานศิลปะชั้นเลิซในเวลาต่อมา

The Horror Inspirator

หลังอยู่ใต้ไฟนีออนสีแดงฉานและมอบประสบการณ์ฝันร้ายให้กับผู้ชมมานานกว่าหกทศวรรษ เมื่อถูกถามว่า อะไรที่ขับเคลื่อนความกลัวในตัวพ่อทูนหัวของแวดวงหนังสยองขวัญ อาร์เจนโตก็ตอบว่า

“แทบไม่มีหนังสยองขวัญเรื่องไหนที่ทำให้ผมกลัวจับใจ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำให้ผมหวาดกลัวจับจิตกลับเป็นฝันร้าย ซึ่งทำให้ผมต้องตื่นมาพร้อมกับความอกสั่นขวัญแขวนและความวิตกกังวลอย่างหนัก แค่การเดินในบ้านตัวเองก็สามารถทำให้ผมกลัวจับจิตได้ ขึ้นอยู่กับว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่ในหัว ณ ขณะนั้น บางครั้งผมรู้สึกว่าตัวเองถูกรายล้อมด้วยสิ่งต่าง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามันเป็นแค่สิ่งที่อยู่ในหัวของผมหรือเปล่า”

และแม้ว่าผลงานของอาร์เจนโตจะได้กลายเป็นคู่มือพื้นฐานสำหรับคนทำหนังเชือดสไตล์อเมริกัน แต่อาร์เจนโตกลับคิดว่าหนังของเขากับหนังเชือดเลือดสาดของฮอลลีวูดนั้นหาได้มีสิ่งใดร่วมกันเลย “หนังของผมกับหนังล่าเชือดสไตล์อเมริกันนั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย หนังของผมจะมุ่งไปที่ความเป็นจิตวิทยาและการสำรวจสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ในหนังของผม ไม่งั้นมันก็จะไม่มีความสมเหตุสมผลอะไรเลย ในขณะที่หนังวัยรุ่นสยองขวัญของอเมริกาไม่ได้พูดถึงประเด็นพวกนี้เลย และบ่อยครั้งที่หนังพวกนี้ทั้งไร้ประเด็นและเหมือนหนังเด็ก ๆ”

ซึ่งแน่นอนว่าผลงานการรีเมค Suspiria ในอีก 40 ปีถัดมาโดยผู้กำกับลูกา กวาดาญีโน ที่แทบเป็นหนังคนละเรื่องเดียวกัน จึงสอบตกในฐานะหนังสยองขวัญ ตามความคิดเห็นของอาร์เจนโต

“Suspiria ฉบับรีเมคเป็นหนังที่เหมือนกับว่าคนทำไม่ได้เข้าใจโปรเจกต์ของตัวเองสักเท่าไหร่ มันขาดความน่ากลัว ดนตรี ความตึงเครียด และความสร้างสรรค์ในการนำเสนอฉากต่าง ๆ แต่กลายเป็นว่าหนังอย่าง Get Out และ Hereditary กลับทำให้ผมตื่นตะลึงไปเลย เพราะทั้งสองเป็นหนังที่นำเสนอภาพออกมาได้อย่างงดงาม ไปจนถึงพล็อต และการออกแบบฉากก็ทำได้ดี” และสำหรับคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่อาร์เจนโตได้เรียนรู้จากการทำหนังกว่าหกสิบปี และอยากที่จะส่งต่อให้ผู้กำกับรุ่นถัดไป ผู้กำกับผู้เป็นดังพระเจ้าแห่งวงการหนังสยองขวัญก็ตอบว่า

“ดูหนังให้เยอะ ดูหลาย ๆ รอบ มองหาแง่มุมและหนทางที่ตัวเองอยากไป แล้วไปตามทางนั้น”

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Dario_Argento#1970s
https://www.vox.com/.../suspiria-red-meaning-aesthetic...
https://hero-magazine.com/.../dario-argento-the-god-of...
https://ascmag.com/articles/suspiria-terror-in-technicolor
https://www.interviewmagazine.com/.../dario-argento...
https://bloody-disgusting.com/.../alpha-omega-dario.../
https://www.hysteria-lives.co.uk/.../bird_with_the...