GC_beingartist_André Masson.jpg

André Masson ศิลปินคนสำคัญแห่งลัทธิ Surrealism ผู้ถ่ายทอดโลกที่อยู่ภายในด้วยเส้นสายแห่งจิตใต้สำนึก

Post on 24 January

“ความมุ่งมั่นที่จะลองเสี่ยงคือพลังขับเคลื่อนที่พามนุษย์ไปเผชิญหน้ากับโลกที่ไม่คุ้นเคย และ อ็องเดร มัสซง (André Masson) ก็คือผู้ที่ครอบครองความมุ่งมั่นนั้นอย่างเต็มเปี่ยม” - André Masson

André Breton กวีและนักเขียนชาวฝรั่งเศส หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งขบวนการคิดลัทธิเหนือจริง (Surrealism) โดยคำกล่าวนั้นก็เป็นคำที่เบรต็องใช้ในการอธิบายตัวตนและผลงานของ อ็องเดร มัสซง ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้มีคุณูประการในการขับเคลื่อนลัทธิเหนือจริงในงานศิลปะ

เมื่อพูดถึงศิลปะเหนือจริง มัสซงอาจไม่ได้ ‘ป็อป’ เท่า ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) หรือ เรอเน มากริต (René Magritte) แต่ที่จริงแล้วมัสซงเป็นศิลปินเหนือจริงที่มีบทบาทสำคัญในการสำรวจพรมแดนของแขนงศิลปะที่มุ่งขุดค้นจิตใต้สำนึกของมนุษย์แขนงนี้ โดยผลงานที่โดดเด่นของมัสซงก็คือการสำรวจจิตใต้สำนึกผ่านการวาดลายเส้นที่เรียกว่า Automatic Drawing ซึ่งเป็นการปล่อยให้มือที่จับดินสอวาดลายเส้นอย่างอิสระ ไร้ขอบเขตทางสุนทรียะใด ๆ มาขวางกั้น ซึ่งเชื่อว่าการวาดด้วยวิถีดังกล่าวจะเป็นการสะท้อนภาพที่ซ่อนอยู่ใต้จิตสำนึกของมนุษย์ได้แจ้งชัดที่สุด โดยที่ในกาลต่อมา กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยวิธี Automatic Drawing ของมัสซงนี้ก็จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับแวดวงศิลปะอเมริกัน และพัฒนาการกลายเป็นศิลปะนามธรรม (Abstract Art) ที่มี แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) เป็นผู้รับมรดกทางความคิดคนสำคัญ

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 4 มกราคม เป็นวันเกิดของ อ็องเดร มัสซง ศิลปินลัทธิเหนือจริงผู้ที่ในปีนี้จะมีอายุครบ 125 ปีพอดี คอลัมน์ The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้จึงจะขอพาชาว GroundControl ทุกคนไปรู้จักแง่คิดและผลงานของศิลปินผู้นี้ด้วยกัน

André Masson, Pedestal Table in the Studio (1922)

André Masson, Pedestal Table in the Studio (1922)

ก่อน Surrealism

อ็องเดร มัสซง เกิดที่หมู่บ้าน Balagny-sur-Therain ที่อยู่ในเมือง Oise ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ก่อนที่พ่อของเขาจะพาครอบครัวย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศเบลเยียมเมื่อเขาอายุ 8 ปี และเมื่อเขาอายุได้ 11 ปี เขาก็เข้าศึกษาใน Royal Academy of Fine Arts สถาบันศิลปะที่ยิ่งใหญ่ของเบลเยียม โดยช่วงแรกเขาเน้นไปที่การฝึกวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่สไตล์และความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาได้ไปยืนตื่นตะลึงอยู่หน้าภาพวาดซึ่งเป็นผลงานของ เจมส์ เอ็นเซอร์ (James Ensor) ผู้เป็นหนึ่งในหัวหอกของกลุ่มศิลปินอาวองต์การ์ดแห่งเบลเยียมที่ชื่อว่า Les Vingt ซึ่งสิ่งที่ทำให้มัสซงสนใจก็คือการถ่ายทอดแคแร็กเตอร์ล้ำโลกในภาพวาดของเอ็นเซอร์

นอกจากเอ็นเซอร์แล้ว มัสซงยังหลงใหลหมกมุ่นในบทกวีที่ถ่ายทอดผ่านวิถีสัญลักษณ์นิยม (Symbolism) ของ เอมีล แวร์เฮอรอง กวีชาวเบลเยียมผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งลัทธิสัญลักษณ์นิยมในฝั่งกวีนิพนธ์ การพัฒนาทางความคิดที่ลึกซึ้งเกินไปกว่าแค่สุนทรียะทางศิลปะทำให้อาจารย์ของมัสซงแนะนำให้ครอบครัวส่งเขาไปศึกษาต่อที่สถาบันศิลปะในปารีส เพื่อที่เขาจะได้ลับคมความคิดและก้าวไปสู่หนทางการเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ และนั่นเองที่ทำให้มัสซงได้ย้ายกลับมายังประเทศบ้านเกิด และเข้าศึกษาต่อในสถาบันศิลปะ Beaux-Arts แห่งกรุงปารีส

แต่เพียงไม่นาน มัสซงก็ต้องประสบกับจุดหักเหครั้งสำคัญในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาถูกเกณฑ์ไปรับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออายุได้เพียง 19 ปี นี่คือช่วงเวลาที่มัสซงเข้าใกล้ความตายมากที่สุด เขาถูกพบบาดเจ็บสาหัสอยู่ในหลุมกระสุนปืนใหญ่ โดยมีอาการบาดเจ็บสาหัสที่หน้าอกที่ทำให้เขาต้องถูกย้ายตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายแห่ง ในช่วงระหว่างความเป็นกับความตายนี้เองที่มัสซงครุ่นคิดถึงชะตากรรมของมนุษย์และความยิ่งใหญ่ของจักรวาล ซึ่งคำถามนี้ก็ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต และกลายเป็นแก่นหลักในงานของเขาที่มักสำรวจประเด็นเรื่องความรุนแรง ความเจ็บปวด รวมไปถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเนื้อแท้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความใคร่ ไปจนถึงการตอบสนองต่อธรรมชาติอันไม่แน่นอนของมนุษย์

หลังจากพักรักษาตัวจนหายดี มัสซงจึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ตอนใต้ของฝรั่งเศส เพื่อตามรอยศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ล้วนแล้วแต่เคยมารับพลังงานและแรงบันดาลใจจากทิวทัศน์อันงดงามของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น อ็องรี มาติส (Henri Matisse), ปอล เซซาน (Paul Cézanne) และ ฟินเซนต์ ฟัน โคค (Vincent van Gogh)

Surrealist และ Automatic Drawing

หลังชาร์จพลังจากธรรมชาติอันงดงามมาเต็มเปี่ยม มัสซงก็เดินทางกลับสู่กรุงปารีสในปี 1920 โดยช่วงนี้เองที่เขาเช่าสตูดิโออยู่ร่วมกับ ฌูอัน มิโร (Joan Miró) ซึ่งทำให้สองศิลปินได้แลกเปลี่ยนความคิดและเริ่มสำรวจเส้นทางในการไปสู่ศิลปะเหนือจริงด้วยกัน

แต่ก่อนที่จะถูกดึงดูดเข้าสู่แนวคิดของลัทธิเหนือจริง มัสซงก็เริ่มสนใจการวาดภาพแบบบาศกนิยม (Cubism) โดยมีผลงานของ อังเดร เดอแร็ง (Andre Derain) เป็นต้นแบบ จนในที่สุดเขาก็ได้จัดแสดงผลงานครั้งแรกของตัวเองในปี 1923 โดยได้ ดาเนียล-อองรี กาห์นไวเลอร์ (Daniel-Henri Kahnweiler) ตัวแทนของเจ้าพ่อศิลปะบาศกนิยม ปาโบล ปิกาสโซ (Pablo Picasso) เป็นพ่องานในการจัดงานให้

การจัดแสดงผลงานครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งของมัสซง เพราะหนึ่งในผู้ที่เข้ามาชมผลงานก็คือ อ็องเดร เบรต็อง (Andre Breton) นักเขียนและกวีผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ตัวพ่อ’ แห่งแนวคิดเหนือจริงซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนคำประกาศลัทธิเหนือจริง หรือ Manifeste du surréalisme (Surrealist Manifesto ฉบับสำคัญมีอยู่ 2 ฉบับด้วยกัน คือฉบับที่เบรต็องเขียน และอีกฉบับที่เขียนโดย อีวาน กอลล์ (Yvan Goll) กวีชาวฝรั่งเศส-เยอรมัน ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มลัทธิเหนือจริงที่เป็นคู่แข่งกับกลุ่มของเบรต็อง)

เบรต็องดึงมัสซงเข้าสู่โลกของลัทธิเหนือจริงด้วยการจ้างมัสซงให้วาดภาพ Les Quatre éléments ในตอนนั้น เบรต็องเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนตัวพ่อที่นำแนวคิดเรื่องจิตใต้สำนึกของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มาใช้ทั้งในศิลปะภาพวาดและงานประพันธ์ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างสรรค์งานประพันธ์จากจิตใต้สำนึกที่เรียกว่า Automatic Writing ซึ่งเป็นการปลดปล่อยถ้อยคำออกมาบนหน้ากระดาษโดยปราศจากการฉุกคิดและพันธนาการของกรอบความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลที่ได้รับอิทธิพลมาจากสังคมรายล้อม โดยเชื่อว่าถ้อยคำที่ปราศจากการกลั่นกรองนั้นคือถ้อยคำที่มาจากจิตใต้สำนึก อันเป็นพื้นที่ที่สถิตย์ไว้ซึ่งแรงบันดาลใจและความสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะที่แท้จริงของมนุษย์ การเขียนอย่างอิสระไร้กรอบเกณฑ์ทางสุนทรียะและเหตุผลจึงเป็นเหมือนการจำลองการสร้างภาพฝันของจิตใต้สำนึก ที่กลุ่มเหนือจริงของเบรต็องเชื่อว่าเป็นสสารแห่งความคิดที่แท้จริงของมนุษย์

จากแนวคิดการเขียน Automatic Writing ของเบรต็อง มัสซงได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการนั้นออกมาเป็นกระบวนการในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เรียกว่า Automatic Drawing ซึ่งเหมือนกับการเขียนโดยไร้กรอบเหตุผล การวาดแบบอัตโนมัตินี้ก็คือการปล่อยให้มือที่จับดินสอวาดเส้นลงไปบนกระดาษแบบอิสระเสรีโดยปราศจากการยั้งคิดใด ๆ แล้วให้ลายเส้นที่ปรากฏนั้นทำหน้าที่สร้างรูปฟอร์มหรือรูปวาดออกมาเอง โดยในเวลาต่อมา มัสซงก็ได้ต่อยอดการวาดลายเส้น (Drawing) จากจิตใต้สำนึกไปสู่การสร้างภาพวาดสีน้ำมันแบบไร้สำนึก ซึ่งเป็นการย้อนกลับไปสำรวจช่วงบาศกนิยม ก่อนที่เขาจะก้าวเข้ามาในศิลปะลัทธิเหนือจริง โดยภาพสีน้ำมันที่สร้างสรรค์ด้วยวิธีการวาดแบบปราศจากพันธนาการทางความคิดของมัสซงก็เห็นได้จากการใช้สีที่ดูลื่นไหลและเบาเบางมากขึ้น

ในช่วงนี้ มัสซงยังผลักดันให้ตัวเองเข้าสู่สภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นเพื่อเลียนแบบช่วงเวลาที่สิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกปรากฏขึ้นมาเป็นภาพฝันยามหลับใหล มัสซงบังคับตัวเองให้ไม่นอนหลับเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน หรือไปจนถึงขั้นใช้สารเสพติด

Sand Paintings

นอกจากการวาดด้วยดินสอและพู่กัน ในเวลาต่อมา มัสซงยังได้เริ่มหันไปสู่การสร้างภาพวาดจากจิตใต้สำนึกด้วยสื่อชนิดอื่น คราวนี้เขาทดลองใช้สื่อที่ควบคุมได้ยากขึ้น นั่นก็คือ ทราย โดยเขาจะทากาวลงไปทั่วผืนผ้าใบ แล้วจึงหยิบทรายขึ้นมาแล้วสาดลงไปโดยปราศจากการพยายามควบคุม จากนั้นเขาจึงบีบสีลงไปถมทับ จนก่อเกิดเป็นภาพและเท็กซ์เจอร์ต่าง ๆ แบบแรนดอม

ภาพทรายของมัสซงเผยให้เห็นความคิดและจิตใจของเขาที่ยังคงติดอยู่กับประสบการณ์เลวร้ายในช่วงสงคราม การสาดทรายลงไปในช่วงแรก ๆ ทำให้ภาพที่ออกมาดูหยาบกร้านและรุนแรง กระทั่งเขาเติมลายเส้นลงไปจึงทำให้เห็นรูปรอยของอดีตที่ยังคงตามหลอกหลอน ภาพทรายของเขามักปรากฏเป็นรูปของสิ่งมีชีวิตที่มีเขี้ยวคมและกรงเล็บ บางรูปดูเป็นสัตว์ ในขณะที่บางรูปก็ดูเป็นคน หนึ่งในผลงานภาพทรายชิ้นสำคัญของเขาก็คือ Battle of Fishes (1926) ที่นำเสนอภาพของสัตว์ใต้ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยคมเขี้ยว นอกจากนี้ยังมีการบันทึกไว้ว่า ในยามที่มัสซงสร้างสรรค์ผลงาน เขาจะตะโกนร้องออกมาอย่างดุดัน หรือหากเขาไม่พอใจกับผลงาน เขาจะทำร้ายภาพวาดของเขาแบบไม่ยั้งมือ

วารสาร Acéphale ของบาทายที่มัสซงวาดภาพประกอบให้

วารสาร Acéphale ของบาทายที่มัสซงวาดภาพประกอบให้

หลัง Surrealism และเบรต็อง

ชีวิตศิลปินเหนือจริงของมัสซง (และมิโร) มาถึงจุดสูงสุดในช่วงปี 1929 แต่ในช่วงที่รุ่งเรืองสุด ๆ นี้ เขากลับตัดสินใจออกจากกลุ่มศิลปินเหนือจริงของเบรต็องด้วยเหตุผลว่าแนวทางของเบรต็องนั้นคับแคบเกินไป เขาได้ไปเข้าร่วมกลุ่มศิลปินเหนือจริงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักเท่ากลุ่มของเบรต็อง โดยกลุ่มนี้นำโดยนักปรัชญาและนักเขียน จอร์จส์ บาทาย (Georges Bataille) ที่มุ่งสำรวจจิตใต้สำนึกผ่านความอีโรติกและความรุนแรง ซึ่งทั้งบาทายและมัสซงต่างก็มีความสนใจในประเด็นนี้ร่วมกัน โดยตั้งแต่ยุคหลัง 30s เป็นต้นมา ผลงานของมัสซงก็มีความดุดันเกรี้ยวกราดน้อยลง

ในช่วงระหว่างปี 1930-37 มัสซงเดินทางไปมาระหว่างตอนใต้ของฝรั่งเศสและประเทศสเปน กระทั่งสงครามกลางเมืองในสเปนปะทุขึ้น เขาจึงพำนักอยู่ในฝรั่งเศส และใช้เวลาในช่วงนี้ไปกับการทดลองไอเดียที่ได้แรงบันดาลใจมาจากปกรณัมกรีก, วรรณกรรมสเปน และภาพของสงครามกลางเมืองสเปน หนึ่งในผลงานที่สำคัญของเขาในยุคนี้ก็คือ Don Quixote and the Chariot of Death (1935) ที่มัสซงตีความฉากหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกของนักประพันธ์ชาวสเปน มิเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes) ที่ตัวละคร ดอนกิโฆเต้ เกิดภาพหลอนและกำลังมุ่งจู่โจมคณะนักแสดงที่ผ่านทางมา โดยที่นักแสดงผู้นั้นยังอยู่ในคอสตูมที่แสดงสัญลักษณ์ของความตายและปีศาจ

André Masson, The Kill (1944)

André Masson, The Kill (1944)

มัสซงในอเมริกา และลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Abstract Expressionism)

ในช่วงยุค 1940s มัสซงหนีภัยสงครามและกองทัพนาซีที่บุกยึดกรุงปารีสไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา (ภรรยาคนที่สองของเขาเป็นคนยิว) มัสซงและครอบครัวพำนักอยู่ในนิวยอร์ก และที่นี่เองที่เขาและผู้ที่ชักนำเขาเข้าสู่โลกของจิตใต้สำนึกอย่างเบรต็องได้กลับมาคืนดีกัน ที่โลกใหม่แห่งนี้ มัสซงยังได้ทำความรู้จักกับ มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) เจ้าศิลปินแห่งคติดาดา (Dadaism) รวมไปถึงศิลปินเหนือจริงอย่าง อีฟส์ ทางไก (Yves Tanguy), ประติมากรเหนือจริงคนสำคัญแห่งอเมริกาอย่าง อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ (Alexander Calder) และ อาร์ไชล์ กอร์กี (Arshile Gorky) ศิลปินผู้มีบทบาทในการก่อตั้งศิลปะลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Abstract Expressionism) ในอเมริกา

ในช่วงที่อยู่อเมริกาและแวดล้อมด้วยศิลปินจากลัทธิเหนือจริง มัสซงจึงหวนกลับไปเยี่ยมเยียนกระบวนการทางศิลปะที่เคยรักอย่าง Automatic Drawing หรือการวาดลายเส้นจากจิตใต้สำนึกอีกครั้ง ผลงานของเขาในยุคนี้กระทบใจกอร์กีเป็นอย่างมาก จนทำให้กระบวนการทำงานศิลปะเพื่อสำรวจจิตใต้สำนึกนี้แพร่หลายไปในกลุ่มศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ในอเมริกา ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับมรดกทางความคิดของมัสซงก็คือ แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ที่ประทับใจในวิธีการวาดภาพแบบ Automatism ของมัสซง โดยเฉพาะวิธีการวาดภาพที่ต้องตีความจากลายเส้นและเน้นให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของลายเส้นอันเป็นอิสระ

อ้างอิง: https://www.barnebys.com/blog/andre-masson-risk-taker

https://www.widewalls.ch/.../automatic-drawing/andre-masson

http://www.visual-arts-cork.com/famou.../andre-masson.htm...