197576693_335989531377761_3057930169529705660_n.jpg

LGBTQ in Art - ย้อนสำรวจ 6 ภาพวาดสำคัญในประวัติศาสตร์ LGBTQ

Art
Post on 26 May

อเล็กซ์ พิลเชอร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้เขียนหนังสือ In A Queer Little History of Art ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวศิลปินผู้ใช้งานศิลปะในการขับเคลื่อนเพื่อยืนยันการมีตัวตนของ LGBTQ+ ในโลกศิลปะตั้งแต่ปี 1900 เคยอธิบายว่า ในช่วงแรกของประวัติศาสตร์ศิลปะของชาวเควียร์ ศิลปินต่างต้องปิดบังอำพรางตัวตนที่แท้จริงไว้ภายใต้ฉากหน้าของการเป็นคนรักต่างเพศ (Heterosexuality) คู่รักเพศเดียวกันต้องใช้สถานะอำพรางว่า ‘เพื่อนสนิท’ งานศิลปะใด ๆ ที่ศิลปิน LGBTQ+ ตั้งใจจะใช้เพื่อสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของตนต้องถูกนำเสนอผ่านสัญญะหรือการเข้ารหัส (Code) ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์ของงานศิลปะ LGBTQ+ จึงเป็นประวัติศาสตร์ของการปกปิด แอบซ่อน และการหากลยุทธเพื่อถ่ายทอดความเป็นตัวตนของศิลปินออกมาผ่านผลงานของตัวเอง

แม้ในแง่หนึ่ง ประวัติศาสตร์ศิลปะของชาว LGBTQ+ จะเป็นประวัติศาสตร์ของการถูกกดทับจากค่านิยมอันคับแคบ แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง การอำพรางและการหาหนทางเพื่อถ่ายทอดการมีอยู่ของ LGBTQ+ ในโลกศิลปะในแต่ละยุคสมัยก็สะท้อนถึงการมีตัวตนและการไม่ยอมจำนนต่อกรอบเกณฑ์ของสังคม และยังสะท้อนถึงไหวพริบ ความกล้าหาญ และความสร้างสรรค์ของศิลปินผู้นำเสนอภาพของรสนิยมและตัวตนทางเพศอันเคยเป็นสิ่งต้องห้าม เพื่อสะท้อนสะเทือนมุมมองของสังคม สั่นคลอนให้ผู้ชมได้ ‘เห็น’ ได้ตั้งคำถาม นำมาซึ่งการปลดแอกสังคมออกจากกรอบค่านิยมและความคิดอันแสนคับแคบ กดขี่ และปิดกั้นไม่ให้คนในสังคมได้ชื่นชมและเฉลิมฉลอง ‘ความหลากหลาย’ อันเป็นความงดงามที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘มนุษย์’

เนื่องในโอกาสการเวียนมาถึงของเดือนมิถุนายนที่เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง Pride Month ของ LGBTQ+ และพันธมิตรผู้สนับสนุนความงดงามของความหลากหลายทั่วโลก GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนไปย้อนสำรวจ 6 ภาพวาดสำคัญที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของ LGBTQ+ ในโลกศิลปะด้วยกัน

<p>The Sorcerer of Hiva Oa (1902)<br>Paul Gauguin</p>

The Sorcerer of Hiva Oa (1902)
Paul Gauguin

ไม่ว่าใครจะรักหรือชังศิลปินที่ชื่อว่า ปอล โกแกง อย่างไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของเขามีความสำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะภาพสะท้อนของชาวตะวันตกที่มีต่อชาวพื้นเมืองในยุคล่าอาณานิคม และภาพแม่มดแห่ง Hiva Oa ของหมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซียนี้ก็มีความสำคัญในแง่ของการเป็นภาพบันทึกวัฒนธรรมนอกกรอบคิดของฝั่งตะวันตก ที่เรื่องของ ‘เพศ’ นั้นมีความลื่นไหลกว่ามาเนิ่นนานแล้ว

ในภาพนี้ โกแกงถ่ายทอดภาพของ māhū สมาชิกของชนเผ่าพื้นเมืองที่นิยามตนเองเป็นผู้ที่เป็นได้ทั้งชายและหญิง ซึ่งสถานะของ māhū ในชนเผ่าบนเกาะ Hiva Oa ก็มีความใกล้เคียงกับผู้นำทางจิตวิญญาณหรือหมอผี

นอกจากจะนำเสนอภาพของ māhū แล้ว โกแกงยังได้ใส่สัญลักษณ์เพื่อเน้นย้ำความลื่นไหลระหว่างกรอบเพศซึ่งเป็นความเชื่อของคนในชนเผ่าพื้นเมืองนี้ด้วย โดยสัญลักษณ์ที่ว่าก็คือสุนัขจิ้งจอกและนกที่ปรากฏอยู่ตรงมุมภาพ โดยเป็นที่รู้กันว่า ในธรรมชาตินั้น จิ้งจอกกับนกนั้นเป็นศัตรูกัน แต่การที่โกแกงนำเสนอว่าสัตว์สองสายพันธุ์นี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ ก็เป็นความตั้งใจของโกแกงที่จะสะท้อนนัยยะการอยู่ร่วมกันของสองเพศในตัว māhū นั่นเอง

<p>Medallion (YouWe), 1936<br>Gluck</p>

Medallion (YouWe), 1936
Gluck

กลัค คือ กลัค กลัคคือคนผู้ปลดเปลื้องตัวเองออกจากคำนิยามหรือกฎเกณฑ์ใดทั้งปวง ในวัยเด็ก เธอเลือกที่จะเรียกชื่อของตัวเองว่า กลัค แทนชื่อ ฮานนาห์ กลัคสไตน์ ที่พ่อแม่ของเธอตั้งให้ เธอเลือกที่จะสวมกางเกงแทนกระโปรงอย่างเด็กหญิงทั่วไปในสมัยนั้น เธอคัดค้านเสียงทัดทานของพ่อแม่ที่ไม่ต้องการให้เธอเป็นศิลปิน และเธอก็ปฏิเสธที่จะทำงานศิลปะตามกระแสนิยม เพียงแต่วาดภาพที่เธอพอใจอย่างภาพ self-portrait หรือดอกไม้ เธอไม่ลงนามในผลงานด้วยคำนำหน้าหรือคำลงท้ายใด ๆ เธอเป็นแค่ ‘กลัค’ ไม่ใช่ทั้งผู้หญิงหรือผู้ชายที่ชื่อ ‘กลัค’

ผลงานชิ้นสำคัญของกลัคคือภาพ Medallion หรือที่กลัคเรียกว่า YouWe ในภาพนี้กลัคนำเสนอภาพของเธอกับ เนสตา โอเบอร์เมอร์ หญิงผู้เป็นความรักอันยิ่งใหญ่แห่งชีวิตของเธอ ในองค์ประกอบที่ทำให้ดูราวกับว่าภาพของทั้งสองทาบทับเป็นหนึ่งเดียวกัน และสายตาของกลัคก็จ้องมองไปข้างหน้า...สู่อนาคตที่เธอวาดฝันว่าจะได้ใช้ร่วมกันกับหญิงคนรัก

ในตอนที่กลัคกับโอเบอร์เมอร์พบกัน ทั้งคู่ต่างก็มีคนรักเป็นตัวเป็นตนแล้ว โดยตอนนั้นกลัคกำลังคบหาดูใจกับสาวสังคม คอนสแตนซ์ สปราย สาวสังคมนักจัดดอกไม้ ในขณะที่โอเบอร์เมอร์ก็แต่งงานแล้วกับนักธุรกิจชาวอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ก็ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤษภาคม 1936 เป็นวันแต่งงานทางใจของทั้งคู่ และภาพ Medallion นี้ก็คือผลงานที่เกิดจากค่ำคืนหนึ่งที่ทั้งคู่ออกไปชมอุปรากรโมซาร์ตด้วยกัน โดย ไดอานา โซฮามี ผู้ศึกษาประวัติชีวิตของกลัคก็ได้บรรยายถึงค่ำคืนนั้นไว้ว่า

“พวกเขานั่งแถวที่สาม และเธอก็รู้สึกได้ถึงความกระตุ้นเร้าของดนตรีที่หลอมรวมพวกเขาให้กลายเป็นคนคนเดียวกัน”

ภาพ Medallion (YouWe) กลายเป็นหนึ่งในภาพเลสเบียนที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ นี่คือการประกาศความรักของกลัคต่อคนทั้งโลกโดยไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด เช่นเดียวกับถ้อยคำที่เธอแนบไปกับภาพนี้… กลัคเขียนถึงถึงโอเบอร์เมอร์ว่า “ในวาระที่ผลงานชิ้นนี้ได้ถูกนำเสนอออกไปแล้ว ขอเตือนให้ทั้งจักรวาลจงรับฟัง จงระวัง! จงระวัง! เราหาใช่คนที่พวกคุณจะมาทำเป็นเล่นด้วยได้!”

<p>Two Figures (1953)<br>Two Figures in the Grass (1954)<br>Francis Bacon&nbsp;</p>

Two Figures (1953)
Two Figures in the Grass (1954)
Francis Bacon 

‘ฉันชอบผู้ชาย ชอบสมองของพวกเขา ชอบสัมผัสบนผิวหนังของพวกเขา’ คือคำประกาศอย่างเริงร่าของ ฟรานซิส เบคอน ศิลปินเอ็กเพรสชั่นนิสม์ตัวพ่อผู้ไม่เคยปกปิดตัวตนของการเป็นคนรักเพศเดียวกัน

Two Figures (1953) คือผลงานที่เบคอนกระตุกเตือนให้ผู้ชมตระหนักถึง ‘การมีอยู่’ และ ‘การดำรงอยู่’ ของคนรักเพศเดียวกันในสังคม ไม่ว่าค่านิยมในยุคนั้นจะพยายามกดทับหรือปฏิเสธตัวตนของชาว LGBTQ+ แค่ไหนก็ตาม ภาพร่างสองร่างอันพร่าเลือนที่กำลังฉุดรั้งปล้ำกันอยู่นั้นคือการดึงความสนใจของผู้ชมให้ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังดำเนินไปต่อหน้าต่อตาของผู้ชม แม้จะพร่าเลือน แต่ก็ไม่ได้ยากที่จะมองเห็น ซึ่งนั่นก็คือสถานะของชาว LGBTQ+ ที่แม้จะมีตัวตน แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคม

ย้อนกลับไปในปีที่เบคอนวาดภาพนี้ขึ้นมา มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วิศวกรคอมพิวเตอร์ชื่อก้องของโลก อลัน ทัวริง ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง หลังจากที่เขาต้องทุกข์ทรมานจากการเข้ารับการบำบัดอาการรักเพศเดียวกันด้วยการใช้ยาตามคำสั่งของศาล เพื่อแลกกับการไม่ต้องติดคุกในข้อหารักเพศเดียวกัน อันนับว่าเป็นอาชญากรรมในสมัยนั้น และเมื่อผลงานอีกชิ้นหนึ่งภายใต้ธีมเดียวกันอย่าง Two Figures in the Grass ได้รับการจัดแสดงต่อสาธารณชนในปี 1955 ภาพวาดที่นำเสนอการปล้ำโรมรันพันตูของชายสองคนที่ดูทั้งดิบเถื่อนและรุนแรงราวกับสัตว์นี้ก็ช็อกคนดูอย่างแรง จนเป็นเรื่องเป็นราวถึงขั้นมีการแจ้งความเพื่อให้ตำรวจมาตรวจสอบ ซึ่งปฏิกิริยาอันรุนแรงที่ผู้ชมในยุคนั้นมีต่อผลงานของเบคอนชิ้นนี้กลับยิ่งสนับสนุนแก่นในตัวผลงานเอง ...สิ่งใดกันแน่ที่ทำให้ผู้ชมตกใจกลัว? อารมณ์อันรุนแรงดิบเถื่อน? ภาพเนื้อแนบเนื้อระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย? หรือทั้งสองอย่างนั้นคือภาพความจริงในสังคมที่เราทำเป็นมองไม่เห็น จนเมื่อถูกชี้ชวนให้มองดู เราจึงตกใจกับความจริงที่เราไม่อยากเห็นหรือรับรู้ว่ามีอยู่?

<p>Sappho and Erinna in a Garden at Mytilene (1864)&nbsp;<br>Simeon Solomon&nbsp;</p>

Sappho and Erinna in a Garden at Mytilene (1864) 
Simeon Solomon 

ภาพ แซพโฟ กับ อีรินนา ที่กำลังตระกองกอดกันในสวน Mytilene นี้คือผลงานที่ ไซเมียน โซโลมอน ศิลปินคนสำคัญแห่งยุค Pre-Raphaelites ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 4 โดยหญิงสาวนาม แซพโฟ ผู้ร่ายลำนำนี้เพื่ออ้อนวอนให้ อะโฟรไดตี เทพีแห่งความรัก ช่วยดลบันดาลให้ความรักระหว่างเธอกับเพื่อนสาว อิรินา สุขสมหวัง ซึ่งในกาลต่อมา บ้านเกิดของแซพโฟที่เป็นเกาะในประเทศกรีกที่มีชื่อว่า เลสโบ (Lesbos) ก็จะกลายเป็นคำนิยามของกลุ่มหญิงรักหญิง หรือ เลสเบียน นั่นเอง

ว่ากันว่าเหตุผลที่โซโลมอนประทับใจในบทกวีของแซพโฟจนพรรณนามันออกมาเป็นภาพวาด ก็เพราะชะตากรรมของแซพโฟนั้นก็ไม่ต่างกับโซโลมอนที่เป็นคนรักเพศเดียวกันเช่นกัน โดยโซโลมอนวาดภาพของหญิงสาวที่กำลังจุมพิตแก้มของหญิงสาวคู่รักเพื่อเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจ ด้วยเหตุผลว่าการนำเสนอภาพของหญิงสาวที่กำลังใกล้ชิดกันนั้นไม่ดูเป็นเรื่องแปลกหรือต้องห้ามเท่ากับภาพการแสดงความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย 

ภาพของแซพโฟกับอิรินาจึงเป็นดังการวาดภาพฉากแห่งความสุขที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงของศิลปิน ในภายหลัง โซโลมอนถูกจับคุมขังในข้อหารักเพศเดียวกัน และเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา เขาก็ถูกตัดขาดจากเพื่อนและแวดวงศิลปิน จนสุดท้ายแล้วบั้นปลายชีวิตของโซโลมอนก็จบลงที่ข้างถนน ผลงานและชีวิตอันแสนเศร้าของเขาจึงกลายเป็นเครื่องเตือนใจว่า กว่าครึ่งทางของประวัติศาสตร์มนุษย์ เราโหดร้ายต่อกันและกันมากเพียงใด

<p>In Bed: The Kiss (1892)<br>Henri de Toulouse-Lautrec</p>

In Bed: The Kiss (1892)
Henri de Toulouse-Lautrec

ในช่วงปี 1892 อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ค พาตัวเองไปใช้ชีวิตอยู่ในสำนักโคมแดงกรุงปารีส เพื่อเฝ้าสังเกตชีวิตของหญิงสาวผู้ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในสถานเริงรมย์แห่งนี้ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นซีรีส์ภาพวาด 16 ภาพที่ล้วนแล้วแต่นำเสนอภาพของหญิงขายบริการ อันเป็นซับเจกต์ที่แหกกรอบจารีตของสถาบันศิลปะชั้นสูงของฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง

ด้วยความเป็นชายร่างเล็กมนุษยสัมพันธ์ดี ตูลูซ-โลแทร็คจึงได้รับการต้อนรับจากบรรดาหญิงสาวแห่งสถานเริงรมย์ด้วยความเป็นมิตรและเอ็นดู ซึ่งก็ทำให้ตูลูซ-โลแทร็คได้เข้าไปสำรวจชีวิตของพวกเธออย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง จนในที่สุดเขาก็วาดภาพชีวิตในสถานเริงรมย์แห่งนี้ออกมาได้นับร้อย ๆ ภาพ 

ภาพที่โด่งดังที่สุดในซีรีส์ผู้คนแห่งสถานเริงรมย์นี้ก็คือภาพ In Bed: The Kiss ที่นำเสนอภาพของหญิงสาวสองคนที่กำลังจุมพิตและกอดกันอย่างแนบชิดบนเตียง อบอวลด้วยบรรยากาศของความสัมพันธ์อันชิดใกล้ระหว่างหญิงโสเภณีทั้งสองที่ผูกพันกันด้วยโชคชะตาอันคล้ายคลึงกันที่ทำให้เธอทั้งคู่ต้องมาอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ร่วมกัน

แม้ว่าภาพที่นำเสนอความสัมพันธ์อีโรติกระหว่างหญิงสาวภาพนี้จะถูกนำเสนอผ่านสายตาของศิลปินเพศชาย ซึ่งมักจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการนำเสนอภาพของเลสเบียนในฐานะวัตถุทางเพศหรืออาหารทางสายตาของเพศชาย แต่ผลงาน In Bed: The Kiss ของตูลูซ-โลแทร็คก็ได้รับคำชื่นชมจากผู้ชมในยุคสมัยปัจจุบันในแง่ที่ไม่ได้นำเสนอภาพของเลสเบียนผ่านแว่นแฟนตาซีทางเพศของผู้ชาย หากแต่เป็นการถ่ายทอดชั่วขณะของความอบอุ่นนุ่มนวลที่ผู้หญิงสองคนกำลังแบ่งปันร่วมกัน นอกจากนี้ภาพชุด Bed Series นี้ยังได้รับการชื่นชมในแง่ของการนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวด้วยมุมมองที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ ...ในพื้นที่ของสำนักนางโลมที่เป็นโลกแห่งความปรารถนาทางเพศและการปลดเปลื้องสัญชาตญาณดิบ ตูลูซ-โลแทร็คกลับนำเสนอภาพของมนุษย์สองคนที่กำลังปลอบประโลมและแบ่งปันความอบอุ่นปลอดภัยให้กันและกัน