231338084_385817883061592_1310347315632516005_n.jpg

Japanese Aesthetics สำรวจ 5 ปรัชญาความงามที่อยู่ในศิลปะและชีวิตของชาวญี่ปุ่น

Post on 27 May

‘ความญี่ปุ่นนี่มันญี่ปุ่นจริง ๆ’ เป็นคำพูดติดตลกที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ เมื่อได้พบกับความคิดความสร้างสรรค์ของเหล่านักสร้างสรรค์แห่งแดนอาทิตย์อุทัย ยิ่งในช่วงมหกรรมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวที่เพิ่งผ่านพ้นไป ชาวโลกและชาวไทยก็ได้ซึมซับกับ ‘ความญี่ปุ่น’ กันแบบเต็ม ๆ ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

แล้ว ‘ความญี่ปุ่น’ ที่เราพูดถึงกันบ่อย ๆ นี้มันคืออะไรกันล่ะ?

ถ้าจะให้สาธยายที่มาที่ไปของดีเอ็นเอความสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่นนั้นก็เห็นทีจะไม่มีวันจบสิ้น เพราะความญี่ปุ่นที่เราซึมซับกันผ่านวัฒนธรรม สื่อ และศิลปะของญี่ปุ่นนั้นล้วนถูกประกอบร่างผ่านประวัติศาสตร์ความคิดของชาวลูกพระอาทิตย์มาอย่างยาวนาน แต่หากจะให้พูดถึงวิถีแห่งการมองความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น เราก็อาจดูได้ผ่านปรัชญาความงามญี่ปุ่นที่ไม่เพียงถูกนำไปสะท้อนในงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังผสานเข้าไปอยู่ในวิถีการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น ด้วย

‘ปรัชญาความงามฉบับญี่ปุ่น’ หาใช่กฏความงามในแง่มุมทางศิลปะที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบ แต่เป็น ‘วิถีทาง’ ที่สามารถนำไปใช้ในการสร้างสรรค์และชื่นชมสิ่งต่าง ๆ ทั้งในชีวิตและศิลปะ

แล้วปรัชญาความงาของชาวญี่ปุ่นนั้นมีอะไรบ้าง ไปดูกัน…

Wabi-sabi
ความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ

ในบรรดาสุนทรียะความงามแบบญี่ปุ่นทั้งหมด Wabi-sabi น่าจะเป็นคติที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด ที่จริงแล้ว Wabi และ Sabi หมายถึงการชื่นชมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตอย่างมีสติ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งสองคำก็รวมมาอยู่ในคำเดียวกัน กลายเป็น Wabi-sabi ที่หมายถึงการมองเห็นความงามในสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ถาวร หรือยังไม่เสร็จสิ้น ตัวอย่างเช่น การชื่นชมดอกไม้ที่ยังเป็นเพียงดอกตูม ยังไม่เบ่งบาน หรือแม้กระทั่งชื่นชมดอกไม้ที่ร่วงโรยแล้ว ซึ่งการชื่นชมสิ่งที่ยังไม่ถึงขั้นสุดของความงาม หรือแม้กระทั่งสิ่งที่โรยรา ก็คือการที่เราได้ชื่นชมสภาวะชั่วคราวของสรรพสิ่ง การตั้งอยู่และดับไป อันเป็นวงจรของชีวิต หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าการชื่นชมสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบก็คือการชื่นชมวิถีของสรรพสิ่งในโลกนี้นั่นเอง

Wabi-sabi ยังหมายถึงการชื่นชมความงามของสรรพสิ่งด้วยจิตที่เปิดกว้างและมั่นคง ในแง่มุมของ Wabi-sabi สิ่งที่งดงามที่สุดดำรงอยู่ในธรรมชาติ และมนุษย์เราต้องใช้สติและปัญญาเพื่อที่จะเข้าถึงความงามอันยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ได้ วิถีการมองความงามนี้ได้รับอิทธิพลมาจากคติความเชื่อในนิกายเซน ซึ่งตามคำสอนของเซนนั้น ความงามในธรรมชาติประกอบด้วย 1.Fukinsei (不均斉) ความไม่สมมาตร, Kanso (簡素) ความเรียบง่าย, Koko (考古) ความสามัญ, Shizen (自然) ความเป็นธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่ง, Yūgen (幽玄) ความงามที่ไม่โจ่งแจ้ง, Datsuzoku (脱俗) ความอิสระไร้พันธะ และ 
Seijaku (静寂) ความเงียบสงบ

คติความงามในธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้พบเห็นได้แค่ในธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังปรากฏในลักษณะของมนุษย์เราด้วย มนุษย์จึงต้องปฏิบัติตัวทั้งกายและใจ เพื่อให้สามารถเข้าถึงความงามอันยิ่งใหญ่เหล่านี้

Miyabi
ความงามที่เกิดจากการขัดเกลา

Miyabi คือหนึ่งในสุนทรียะความงามที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นสุนทรียะที่ทำให้เราได้เห็นประเพณีหรือธรรมเนียมของญี่ปุ่นอันขึงขังสง่างามที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน

ตรงข้ามกับ Wabi-sabi สุนทรียะของ Miyabi คือการเชิดชูความงามในอุดมคติของชาวญี่ปุ่น ในที่นี่ พฤติกรรมหรือสิ่งใด ๆ ก็ตามที่ดูหยาบช้า หยาบโลน โจ๋งครึ่ม หรือแม้กระทั่งแสดงออกซึ่งอารมณ์ที่ท่วมท้น จะต้องถูกกำจัดออกไปให้หมดสิ้น เหลือไว้เพียงมารยาทท่าทางอันงามสง่า ประหนึ่งได้รับการขัดเกลาและฝึกฝนมาอย่างดี โดยสรุปแล้ว Miyabi จึงเกี่ยวข้องกับความงามแบบราชสำนักหรือประเพณีนิยมของชนชั้นสูงนั่นเอง

สุนทรียะของ Miyabi ยังเกี่ยวข้องกับการชื่นชมวงจรของชีวิตที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยความเศร้า แต่ก็ซาบซึ้งในความงดงามของความไม่ยั่งยืน ซึ่งการชื่นชมความไม่ยั่งยืนถาวรนี้ก็เกี่ยวข้องกับ Mono no aware อันเป็นคำศัพท์ญี่ปุ่นที่ว่ากันว่าไม่สามารถแปลเป็นภาษาอื่นให้เข้าใจได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ ตัวอย่างของการแสดงออกถึงความเศร้าแต่ซาบซึ้งในแบบ Mono no aware เช่น เทศกาลชมดอกซากุระที่ผู้คนจะออกมาชื่นชมความงามของซากุระในช่วงเวลาสองอาทิตย์ที่ซากุระบานเต็มที่ในแต่ละปี ก่อนที่จะร่วงโรยลงจากต้น อันเป็นสัญลักษณ์ที่เตือนให้ผู้คนนึกถึงการผ่านเลยของเวลา ...ฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังเข้ามาแทนที่ฤดูใบไม้ผลิ 

นอกจากนี้ Mono no aware อันเป็นวิถีการชื่นชมชีวิตในแบบของ Miyabi นั้นยังกลายเป็นวรรณศิลป์ที่นักเขียนญี่ปุ่นใช้กันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ในนวนิยาย Never Let Me Go ของ Kazuo Ishiguro ที่ใช้การบรรยายของฤดูกาลที่ผันผ่านเป็นฉากหลังบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวละครวัยรุ่นที่กำลังเดินทางเข้าใกล้ความตาย เป็นต้น 

Iki
ความงามอันซื่อตรง

เชื่อกันว่าสุนทรียะความงามแบบ Iki นั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการถือกำเนิดของชนชั้นกลางและพ่อค้าในสมัยเอโดะ อันเป็นช่วงเวลาที่เอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สภาพสังคมแบบเมืองใหญ่

Iki คือความงามแบบซื่อตรง และเป็นความงามอันจริงแท้ที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งเสริมเพิ่มเติม แม้ว่าจะดูคล้ายกับความงามแบบ Wabi-sabi แต่ Iki กลับถูกใช้ในการอธิบายถึงมารยาทและลักษณะอันสง่างามของมนุษย์ และแม้ว่าจะชื่นชมในความงามอันไม่สมบูรณ์แบบเหมือนกัน แต่ Iki จะยกย่องธรรมชาติความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้รับการปรุงแต่ง ไม่มีจริต โดยส่วนใหญ่แล้ว Iki จะใช้ในการอธิบายความงามที่ไม่โจ๋งครึ่ม ความงานอันปราณีต ความเรียบร้อย ความเนี้ยบ เป็นต้น 

 

Yūgen
ความงามที่เกินเอื้อนเอ่ย

Yūgen เป็นหนึ่งในสุนทรียะความงามที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมของคนญี่ปุ่น ความหมายของ Yūgen นั้นแตกต่างไปตามบริบท ตัวอย่างเช่น Yūgen ในตำราปรัชญาจีนโบราณจะมีความหมายว่า ‘ความลึกลับ’ หรือหากเป็นในบริบทของกวีนิพนธ์ญี่ปุ่น Yūgen จะมีความหมายประมาณว่า ‘ความนัยน์’ หรือความหมายอันคลุมเครือที่ซ่อนอยู่ในบทกวี

โดยทั่วไปแล้ว Yūgen หมายความถึงสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ แต่ไม่ได้หมายถึงในเชิงภูติปีศาจหรือสิ่งลึกลับ Yūgen คือประสบการณ์การซาบซึ้งกับความงามที่เราสามารถประสบได้ในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ แต่บางทีอาจจะงดงามจนเกินเอื้อนเอ่ย ไม่สามารถอธิบายได้ว่างดงามขนาดไหน หรือทำไมจึงงดงาม ตัวอย่างเช่น แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ที่ลับตาไปหลังยอดเขาซึ่งปกคลุมด้วยดอกไม้, เงาของต้นไผ่ที่ทอดลงบนต้นไผ่ข้างเคียง เป็นต้น

Yūgen ยังใช้อธิบายความงามของบางสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องผสานกับสภาวะรายล้อมของสิ่งนั้น สอดประสานรับกันกลายเป็นความงามหนึ่งเดียว เช่น เงาของปลาในน้ำที่ดูงดงามเพราะผิวน้ำที่พลิ้วไหวจากแรงสั่นสะเทือนของใบไม้ที่ตกลงมาต้องผิวน้ำ เป็นต้น 

Ensō
วงกลมแห่งสรรพสิ่ง

ในภาษาญี่ปุ่น Ensō มีความหมายตรงตัวว่า ‘วงกลม’ ซึ่งวงกลมก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญในเชิงพุทธศาสนา สื่อถึงการตรัสรู้ ความเข้มแข็ง ความสง่างาม ไปจนถึงจักรวาล และความว่างเปล่า

วงกลมหรือ Ensō คือความงามอันเป็นที่สุดในสุนทรียะความงามของญี่ปุ่น พระในนิกายเซนใช้การเขียนพู่กันเป็นหนึ่งในวิถีทางแห่งการทำสมาธิ ในขณะที่ศิลปินญี่ปุ่นบางคนจะเริ่มต้นกิจวัตรในตอนเช้าด้วยการฝึกวาดวงกลม โดยถือเป็นการฝึกจิตวิญญาณของตนให้เข้าถึงสรรพสิ่ง 

วงกลมยังคือถือเป็นตัวอักษรที่สำคัญที่สุดในการฝึกเขียนพู่กันญี่ปุ่น โดยเชื่อกันว่า การวาดวงกลมนั้นจะเผยตัวตนของผู้ที่วาดออกมา และมีเพียงผู้ที่จิตมั่นคงและมีปัญญาที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถวาดวงกลมได้อย่างสมบูรณ์ 

เหนือสิ่งอื่นใด ชาวญี่ปุ่นยังเชื่อว่าในวงกลม Ensō นั้นก็คือบรรดาสุนทรียะความงามแบบต่าง ๆ กล่าวคือ Ensō เป็นสุนทรียะที่รวมทุกสุนทรียะไว้ในคราวเดียว เพราะในกระบวนการฝึกฝนกาย จิต และปัญญาเพื่อที่จะเข้าถึงความงามของสุนทรียะใด ๆ นั้น จุดหมายปลายของการฝึกฝนล้วนแล้วแต่เป็น Ensō หรือการตรัสรู้หรือการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณนั่นเอง