‘ร่างกายของคุณคือสนามอารมณ์’ อาจไม่ใช่ความหมายที่ บาบารา ครูเกอร์ ต้องการจะสื่อสาร ในตอนที่เธอทำผลงานปรินต์สกรีนสุดไอคอนิกอย่าง Your Body Is A Battle Ground เพื่อใช้ในการเดินขบวนของกลุ่มเฟมินิสต์ที่กรุงวอชิงตันดีซีเมื่อปี 1989 โดยมีจุดหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายเพื่อทำให้การทำแท้งเป็น ‘สิทธิ’ ที่เจ้าของมดลูกทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
แต่เมื่อเวลา 3 ทศวรรษผ่านไป โดยที่เจ้าของมดลูกทุกคนยังคงต้องมานั่งตอบคำถามและขุดทุกเหตุผลมาพูดเพื่อโน้มน้าวให้คนที่ไม่ใช่เจ้าของมดลูก และไม่เคยมีมดลูก เข้าใจถึงความจำเป็นในการทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย มันก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ แต่การต่อสู้ที่มีพื้นที่บนร่างกายของผู้หญิงเป็นสมรภูมิรบ และมีรางวัลของชัยชนะเป็น ‘สิทธิ์’ ในการตัดสินใจและเป็นเจ้าของร่างกายของตัวเอง (ซึ่งไม่ใช่สิทธิ์ที่เราทุกคนควรมีอยู่แล้วหรือ?) ไม่ได้ก้าวหน้าหรือขยับไปไหน
โดยไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ในประเทศไทยของเราที่จนถึงทุกวันนี้การทำแท้งยังคงผูกติดอยู่กับเรื่องบุญบาป และเรื่องเล่าผีเด็กที่มาตามทวงแค้นแม่ใจยักษ์ (ทำไมไม่ไปตามพ่อบ้าง?) การที่รัฐสภาของประเทศโลกที่ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา ที่กำลังมีการหารือเพื่อยกเลิกการทำแท้งถูกกฎหมาย ก็เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นแล้วว่า โลกก้าวไกล แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เคยก้าวตาม เพราะหากเราเคารพในสิทธิ์และการเป็นเจ้าของร่างกายของกันและกันจริง ๆ เหตุใดยังมีกลุ่มคนที่สนับสนุนหรือ ‘อนุญาต’ ให้มีการก้าวก่ายร่างกายของคนอื่น มดลูกของคนอื่น กันอยู่อีก?
เพื่อรับกับประเด็นที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ ณ ขณะนี้ GroundControl จึงขอชวนทุกคนไปย้อนดูแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำแท้งที่ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานของศิลปินสุดเยี่ยว ผู้ใช้งานศิลปะช่วยด่า…เอ๊ย! ช่วยเป็นกระบอกเสียงที่พาทุกคน ทุกเพศ กลับมาสำรวจและตั้งคำถามกับมุมมองที่ตัวเองมีต่อการทำแท้งในมุมต่าง ๆ กัน
Abortion Series, Paula Rego, 1998
ภาพของหญิงสาวที่จ้องตรงมายังผู้ชม ความเครียดปรากฏได้ชัดผ่านสายตาแข็งกระด้างและสันกรามขบเน้น มือของเธอสอดอยู่ใต้เข่า ดันขาให้แยกออกกว้าง โดยมีกระป๋องพลาสติกวางอยู่ด้านล่าง… คอยรองรับสิ่งที่เธอกำลังจะขับออกมาจากหว่างขาของเธอ
Abortion Series คือหนึ่งในผลงานที่ทรงพลังที่สุดในขบวนการศิลปะสตรี ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำกิจกรรมลับ ๆ ที่อยู่ระหว่างความเป็นกับความตายนี้ออกมาตีแผ่ต่อสายตาผู้ชมก็คือ ปอลลา เรโก ศิลปินหญิงชาวโปรตุเกสผู้เพิ่งล่วงลับไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผลที่นำเสนอประเด็นเรื่องการทำแท้งด้วยการสั่นสะเทือนอารมณ์ของผู้ชมชุดนี้ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ในช่วงที่รัฐสภาของสหรัฐอเมริกากำลังหารือเพื่อคว่ำกฎหมายการทำแท้งอีกครั้ง
ย้อนกลับไปในช่วงปลายยุค 90s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรโกสร้างผลงานชุดนี้ขึ้นมา ตัวเลขการทำแท้งเถื่อนในโปรตุเกสมีตัวเลขพุ่งสูงถึง 50,000 เคสต่อปี เรโกมองว่าตัวเลขชุดนี้ที่หมายถึง 50,000 ครั้งที่ผู้หญิงต้องเสี่ยงชีวิต ล้วนมีสาเหตุที่แท้จริงมาจากการปิดหูปิดตาและการไม่ยอมรับความจริงของสังคม เธอจึงตั้งใจนำเสนอภาพที่พาผู้ชมไปเบิ่งตามองใบหน้าและความกลัวของเหล่าผู้หญิงที่กำลังเอาชีวิตไปเสี่ยงที่ปากเหว เพียงเพื่อสนองความใคร่ทางศีลธรรมของคนกลุ่มเดียว และเพื่อให้พวกเขามองเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการยึดเอาทางเลือกทุกอย่างไปจากเหล่าผู้หญิงเหล่านี้
Abortion, Lee Bul, 1989
ลี บัล เป็นหนึ่งในศิลปินเฟมินิสต์ที่ผลงานของเธอได้ชื่อว่า ‘สั่นสะเทือน’ และ ‘แรง’ ในแง่ของการกระทุ้งให้สังคมหันมาทบทวนแง่มุมเกี่ยวกับผู้หญิง ในยุคที่งานเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตยังไม่เป็นที่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน ลีมักใช้ร่างกายของเธอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงาน และท้าทายบททดสอบทางศีลธรรมในจิตใจของผู้ชม
หนึ่งในผลงานเลื่องชื่อของเธอคือ Abortion (1989) ที่เธอใช้เชือกมัดโยงร่างเปลือยเปล่าขึ้นลอยในอากาศในสภาพกลับหัวกลับหาง แล้วทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านบทกวีเกี่ยวกับผู้หญิง หรือชวนผู้ชมถกประเด็นเรื่องการทำแท้ง (เกาหลีใต้เพิ่งมีการทำแท้งถูกกฎหมายในปี 2021) เธอใช้การทรมานร่างกายเพื่อสื่อสารถึงความเจ็บปวดของการเกิดเป็นผู้หญิง และการที่ร่างกายของผู้หญิงถูกยึดโยงไว้กับความหมายต่าง ๆ ที่เป็นดังเชือกพันธนาการร่างกายของพวกเธอ
ในบางช่วงของการแสดง เธอยังใช้ร่างกายเปลือยเปล่าที่ถูกผู้ชมจับจ้องในการนำการเสียดสีภาพอุดมคติของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ ที่มักเป็นภาพผู้หญิงอ่อนแอต้องพึ่งพาการปกป้องจากผู้ชาย โดยเธอมักกล่าวกับผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมาว่า “ร่างกายของฉัน ‘หนัก’ เหลือเกิน ช่วยเอาฉันลงไปหน่อยสิคะ”
เนื่องจากในช่วงเวลาที่ลีทำการแสดงนี้ ศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ผู้ชมหลายคนจึงมักทนไม่ไหวแล้วต่างพากันเข้ามาช่วยแก้มัดพันธนาการให้เธอ ซึ่งการใช้ความทรมานของร่างกายเพื่อทดสอบจิตใจของผู้ชมนี้ ก็เป็นความตั้งใจของลีที่จะพาผู้ชมมาเผชิญหน้ากับ ‘ร่างกายจริง’ และ ‘ความทรมานจริง’ ของผู้หญิงจริง ๆ
On Abortion, Laia Abril, 2016
เมื่อ ไลอา เอบริล ได้ค้นพบว่า ตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ ผู้คนล้วนหาหนทางต่าง ๆ ในการยุติการตั้งครรภ์ ทั้งการใช้ยาสมุนไพร การทำกิจกรรมที่ทำให้มดลูกได้รับการกระทบกระเทือน ไปจนถึงการใช้อุปกรณ์ แต่จนกระทั่งถึงวันนี้ที่การแพทย์ก้าวหน้าจนมีการคิดค้นวิธีการทำแท้งอย่างปลอดภัยแล้ว แต่ในทุก ๆ ปี ผู้หญิง กว่า 47,000 คนจากทั่วโลกยังต้องมาเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เธอจึงเกิดคำถามสุดฉงนว่า เพราะเหตุใด โลกสมัยใหม่ยังคงยอมให้ผู้หญิงเอาชีวิตไปเสี่ยงมากกว่าจะ ‘อนุญาต’ ให้พวกเธอมีทางเลือกที่จะตัดสินใจและจัดการกับร่างกายของตนเอง
นั่นจึงเป็นที่มาของโปรเจกต์ภาพถ่ายเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถูกตั้งใจทำให้หล่นหายไปจากสังคม นั่นก็คือประวัติศาสตร์ว่าด้วยการทำแท้ง ที่ถูกบันทึกไว้ใน ‘On Abortion’ บทแรกในหนังสือ ‘A History of Misogyny’ (‘ประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ผู้หญิง’) ที่เอบริลได้รวบรวมและนำเสนอภาพของความพยายามและการดิ้นรนเพื่อยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิง เช่น ภาพไม้แขวนเสื้อซึ่งเป็นอุปกรณ์การทำแท้งที่หาได้ง่ายที่สุด ไปจนถึงเตียงทำแท้งที่มีกุญแจมือคล้องไว้ ซึ่งทำให้ผู้ชมนึกจินตนาการถึงความเจ็บปวดแสนสาหัสที่เกิดขึ้นบนเตียงนี้
เอบริลยังได้บันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2016 ที่โป๊ปฟรานซิสได้อนุญาตให้ผู้หญิงที่ผ่านการทำแท้งมาแล้วได้สารภาพบาปต่อพระเจ้า แม้จะดูเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความเปิดกว้างของคริสต์จักรยุคใหม่ แต่คำถามของเอบริลก็คือ ผู้หญิงมีบาปอะไรให้สารภาพ? และการที่เธอเลือกที่จะตัดสินใจทำการใด ๆ กับร่างกายของเธอ มันกลายเป็นบาปที่ต้องให้ผู้ชายผิวขาวมาให้อภัยได้อย่างไร?
Deep Inside My Heart, Louise Bourgeois and Tracey Emin, 2009-10
ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิต หลุยส์ บูชัวร์ ศิลปินเฟมินิสต์รุ่นแรก ได้อุทิศเวลาของเธอไปกับการทำงานร่วมกับ เทรซี เอมิน ศิลปินเฟมินิสต์รุ่นถัดมา การทำงานร่วมกันของศิลปินต่างวัยผู้ถ่ายทอดแง่มุมของความเป็นหญิงที่ต่างกันไปนั้นได้เกิดผลลัพธ์เป็น DO NOT ABANDON ME ซีรีส์ภาพวาดและเท็กซ์อาร์ตที่บูชัวร์วาด แล้วเอมินเขียน
DO NOT ABANDON ME เป็นผลงานที่เต็มไปด้วยความหมายในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การร่วมมือกันของสองศิลปินหญิงต่างวัยที่ก็นำมาซึ่งประเด็นสำคัญของผลงานชุดนี้ เพราะแม้ว่าจะเป็นศิลปินที่ถ่ายทอดความเจ็บปวดของการเป็นผู้หญิงด้วยกันทั้งคู่ แต่คนหนึ่งทำงานเพื่อสำรวจความเป็นแม่ และความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว ในขณะที่ศิลปินรุ่นน้องมุ่งสำรวจประเด็นเรื่องการทำแท้ง ทั้งในแง่ของตราบาปและผลกระทบต่อตัวตนของผู้หญิง ผ่านการตีแผ่ประสบการณ์ส่วนตัวของเธอผู้เคยผ่านการทำแท้งมาแล้ว 2 ครั้งในชีวิต
ในการทำผลงานชุดนี้ บูชัวร์จะวาดภาพครรภ์ของผู้หญิงลงบนผ้า ซึ่งเป็นสื่อที่เธอใช้มาโดยตลอด เพราะการทำงานผ้านั้นยึดโยงกับความเป็นหญิงและความเป็นแม่ จากนั้นเธอจะส่งให้เอเมินนำไปเขียนข้อความ หรือวาดภาพของเธอเสริมเติมลงไป
หนึ่งในผลงานที่ถ่ายทอดอารมณ์และประสบการณ์ของการทำแท้งได้จับใจผู้ชมก็คือผลงานที่ชื่อว่า Deep Inside My Heart ที่บูชัวร์วาดภาพครรภ์อันว่างเปล่า โดยที่ตรงกลางเป็นรอยแต้มของสีน้ำเงินขนาดใหญ่ที่สะท้อนถึงความเศร้า เอมินเขียนข้อความ Deep Inside My Heart ลงไปเพื่อสื่อสารให้ผู้ชมรับรู้ถึง ‘ประสบการณ์’ ของผู้หญิงที่ผ่านการทำแท้ง …หลังการกำจัดสิ่งนั้นออกไป สิ่งที่หลงเหลือไว้หาใช่แต่ความว่างเปล่าในครรภ์ แต่ยังเป็นโพรงโหวงลึกของความว่างเปล่าในตัวตนที่ไม่อาจมีสิ่งใดมาเติมเต็มได้
Untitled (Senior Thesis), Aliza Shvarts, 2008
ผลงานไร้ชื่อนี้ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับการทำแท้ง แต่ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงของเขตของสิ่งที่เรียกว่า ‘ศิลปะ’ ด้วย
ย้อนกลับไปในปี 2008 ชื่อของ อลิซา ชวาร์ตส์ กลายเป็นชื่อที่สร้างความหวาดผวาให้กับสังคมวงกว้าง เมื่อเธอทำการส่งผลงานธีสิสระดับปริญญาเอกในสาขาการแสดงศึกษาของมหาวิทยาลัยเยล ด้วยการนำเสนอโปรเจกต์ 9 เดือนที่เธอบันทึกภาพตัวเองขณะพยายามยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่าง ๆ โดยการตั้งครรภ์ของเธอนั้นมาจากการที่เธอ ‘รับ’ เอาอสุจิของเพื่อนชายเข้าไปในแต่ละเดือน และทุกครั้งที่เธอตั้งครรภ์ เธอก็จะทำการทำแท้งด้วยตัวเอง!
โปรเจกต์ชื่อกระฉ่อนของชวาร์ตซ์ทำให้มหาวิทยาลัยเยลต้องออกมาแบนผลงานดังกล่าว และแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะออกมาแถลงว่าชาร์ตซ์ไม่ได้ตั้งครรภ์และทำแท้งจริง ภาพทั้งหมดที่เห็นเป็นเพียงแค่การแสดงเท่านั้น แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่ไม่เชื่อและมองว่ามหาวิทยาลัยพยายามกลบเกลื่อนความจริง
อย่างที่บอกว่าผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำแท้งในฐานะ ‘ทางเลือก’ และ ‘การตัดสินใจ’ ของปัจเจกบุคคล แต่มันยังทำให้โลกศิลปะต้องหันมาถกเถียงกันว่า งานศิลปะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของศิลปินเช่นนี้ ยังนับเป็นงานศิลปะหรือไม่? ไปจนถึงว่า อะไรคือศิลปะ?
อ้างอิง