เมื่อแรงกดดันกลายเป็นสิ่งเสพติด ความยุ่งเหยิงจึงกลายเป็นสุนทรียะของศิลปิน Accident 2000

Post on 19 December

แค่เปิดข่าวสมัยนี้ดูสักหน่อย เราจะเห็นความเครียด ความอึดอัด แรงกดดัน ที่ผลักให้คนที่ดูปกติธรรมดาลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าคลั่งเสี่ยงอันตรายได้มากมาย และสิ่งที่ตามมาคือคำตัดสินจากสังคมว่าเขารับแรงกดดันไม่ได้เองบ้าง ว่าคนรอบตัวเขาผิดที่กดดันเขาบ้าง

แต่สิ่งที่เราเห็นร่วมกันได้คือมันเป็นปรากฏการณ์ที่ระบาดอยู่ในยุคสมัยนี้ ซึ่งในทางศิลปะก็มีผู้เฝ้าสังเกตการณ์ และครุ่นคิดถึง ‘ความกดดัน‘ ในตัวเอง แต่นอกเหนือไปจากการเฝ้ามองและตั้งข้อสงสัย เขายังเปลี่ยนสิ่งที่ได้เห็นและครุ่นคิด ให้กลายเป็นพลังในการทำงาน จนกลายมาเป็นชุดผลงานศิลปะที่เขาตั้งชื่อคอนเซปต์ฝนการทำงานว่า ‘Pressurenism’

“มันคือความสุขในการเสพความกดดันมากกว่า บวกกับการสะสม ความสับสน ความไม่รู้อะไรบางอย่าง ความกลัวในการใช้ชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความเร็วของยุคสมัยที่มีผลที่ต่อเราแบบแทบไม่รู้ตัวเลย” กี๋ – กานต์ กันเผือก หรือ Accident 2000 ศิลปินอดีตนักศึกษาสถาปัตย์จากจังหวัดขอนแก่น เล่าที่มาของคอนเซปต์ Pressurenism ให้เราฟัง ซึ่งตัวเลข 2000 ในชื่อของเขา ก็มาจากช่วงปีที่เขาเกิด และยุคสมัยที่ว่านี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการทำงานศิลปะของเขาด้วย

“มีครั้งหนึ่งแม่เกิดคำถามกับเราว่า ทำไมวาดอะไรดูน่ากลัวจัง มีเรื่องอะไรที่เครียดอยู่หรือเปล่า? ลายเส้นก็ดูเปลี่ยนไปจากที่เคยเห็นอย่างสิ้นเชิงเลยนะ เราก็ตอบด้วยความไม่รู้แน่ชัดในตอนนั้น แต่แม่พูดกับเราว่า หรือมันเป็นที่ความเร็วของยุคสมัย แล้วก็เริ่มพูดถึงความช้าและความเร็วที่เกิดขึ้นในตอนที่เราเกิด หรือว่าสิ่งนี้มีผลต่องานจนเกิดเป็นความบิดเบี้ยวของตัวเราเอง จนเรารู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการปรับความรู้สึกของตัวเองไม่ทันระหว่างปี 2000 - 2023 จากตัวเราที่พบเจอมาตั้งแต่อดีต จนเราเสพติดความรู้สึกแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน” กี๋อธิบายถึงเบื้องหลังการได้ชื่อในวงการ และแนวคิดที่ต่อยอดมาสู่ประเด็นหลักในผลงานของเขา

ถ้าให้เดาจากชื่อนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขา ‘𝐋𝐎𝐎𝐊 𝐌𝐎𝐌, 𝐍𝐎𝐖 𝐈’𝐌 𝐅𝐀𝐋𝐋𝐈𝐍𝐆’ ครอบครัวคงเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของเขามาก ซึ่งเขาก็ยืนยันว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ “เท่าที่จำความได้ เราเกิดในครอบครัวที่คลุกคลีกับศิลปะอยู่แล้ว เลยมีการซึมซับอะไรบางอย่างเข้ามาตั้งแต่เกิด (นี่ยังมีรูปตอนเด็กที่ถือแท่งสีกับกระดาษอยู่เลย ฮ่า ๆ)” แล้วก็เหมือนกับเด็กอีกหลายคน ที่หลงรักในการขีดเขียนตัวการ์ตูนหรือสร้างเกมของตัวเองขึ้นมาบนกระดาษ จนกระทั่งเติบโตขึ้นมาพบแรงกดดันว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี ระหว่างการรับราชการเหมือนคนในครอบครัวเพื่อความมั่นคงในวิชาชีพ หรือทำงานที่ใจรัก แต่อาจหนักในเรื่องของการใช้ชีวิตให้รอดในสังคมที่ไม่มีเงินก็อยู่ยากเช่นนี้

“ช่วงแรก ๆ ที่เราเพนต์งาน เป็นช่วงที่ไม่พูดคุยอะไรกันกับแม่เลย มันเป็นความเงียบที่ต่างคนต่างรู้ดี คือความกดดันผ่านความห่วงใยของเขา ด้วยความที่แม่เราเคยผ่านจุดที่อยากใช้ชีวิตเป็นศิลปินแต่ไม่สามารถทำได้ เราก็แอบรู้สึกว่าต้องแบกอะไรบางอย่างที่เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร” เขาตอบเมื่อเราถามถึงความสัมพันธ์ของเขากับแม่ “แต่ปัจจุบันเราก็คุยกับแม่ปกตินะ (ยิ้ม)”

ผลงานของเขาโดดเด่นด้วยสีสันที่ฉูดฉาด จนสะดุดตาตั้งแต่ช่วงขณะแรกที่เห็น และยิ่งมองเข้าไปก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงอารมณ์ที่อัดแน่นอยู่ในนั้น “เราชอบเล่นคู่สีตรงข้ามในงาน เพราะความรู้สึกและระยะเวลาในการเพนต์มันไม่ใช่เวลาสั้น ๆ เราไม่ได้วางกรอบว่าในงานจะออกมาในรูปแบบไหน แต่ภาพในหัวของเราจะมีการวางองค์ประกอบแบบราง ๆ เอาไว้ ก็จะเป็นโทนสีที่แสดงความรู้สึกในแบบของเรา แล้วพอวาดออกมาถ้ามีรูปแบบที่มันบรรจงเกินไปเราก็จะตบงานตัวเองไปเรื่อย ๆ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในงานก็มาจากบริบทที่เราเข้าไปสัมผัสสิ่งนั้นจริง ๆ” เขาเล่าถึงกระบวนการทำงาน โดยสัญลักษณ์ที่เขาว่าก็มีตั้งแต่เงินและบุหรี่ ที่มีความหมายถึงการทำงานแลกเงินและนิโคตินที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาพในหัว ไปจนถึง ‘ka’ แขนและมือกลมสีดำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์จากอียิปต์ ซึ่งเขาตีความว่าเป็นเหมือนจิตวิญญาณในการทำงานเพื่อสิ่งนี้ตลอดไป

“เราผลิตงานจากเรื่องราวความกดดันในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบเสพความกดดันไม่ว่าจะผ่านผู้คน บทสนทนา สังคม หรือสื่อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราก็จะนำบางส่วนของความรู้สึกมาใส่เข้าไปในองค์ประกอบของงาน รวมถึงมุมมองที่เรานำมาปรุงแต่ง ที่เราก็ใส่เข้าไปในงานนั้น เช่น ถ้าเกิดชุดความคิดนี้เป็นแบบนี้แล้วถ้าสมมุติมันเป็นแบบนี้ได้ไหม เหมือนเป็นการตั้งคำถามให้กับตัวเองผ่านงานศิลปะ”

Oogy II (PRESSURENISM) 2000

Oogy II (PRESSURENISM) 2000

สีสันที่ระเบิดออกมาในงานของเขาก็มาจากพื้นหลังของการเรียนสถาปัตยกรรมด้วย “ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มวาดเราถนัดดินสอ สีชอล์ค สีน้ำอยู่แล้ว บวกกับการเรียนสถาปัตยกรรมทำให้ได้รู้วิธีการยิงเส้นสายในงานสถาปัตยกรรม ก็เอามาใช้ตอบสนองความมันส์ของงาน ผสมกับสเปรย์ แอร์บรัช เข้ามาในงาน ส่วนใหญ่เป็นการลองผิดลองถูก ชอบลองหลายเทคนิคในงาน เช่นการหยดสีว่าจะไหลมาแบบไหน ผิวสัมผัสความขรุขระของสีควรอยู่ตรงไหนในงาน”

“เรามาเรียนรู้ตัวเองผ่านกระดาษที่เคยวาดเขียนช่วงเด็ก ๆ อย่างมนุษย์ก้างปลาที่ต่อสู้กันในกระดาษ บวกกับการเปิดโลกผ่านงานของสถาปนิกอย่างเลอกอร์บูซีเย ซึ่งเป็นเพื่อนกับปิกัสโซ แล้วก็เรียนรู้การทำงานในชีวประวัติของศิลปินที่แสดงความรู้สึกผ่านงานอย่างตรงไปตรงมาเช่น เอ็ดวัด มุงก์, อ็องรี มาติส หรือปิกัสโซ ทำให้ได้แรงบันดาลใจในการนำรูปวาดตอนเด็กกลับมาขยายความทรงจำนั้นอีกครั้ง แต่เป็นรูปแบบที่เข้มข้นทางทัศนคติและชีวิตมากขึ้น ”

“ตอนเด็ก ๆ เราเคยวาดภาพตามกรอบ ครั้งหนึ่งเราตั้งในวาดดอกไม้หนึ่งดอกตามสัดส่วนทุกอย่าง แต่ช่วงจะเก็บงานเราทำสีหกใส่งาน มันกลายเป็นอุบัติเหตุหรือ accident ที่เราพอใจ เหมือนกับอุบัติเหตุทางอารมณ์ของเราเช่นกัน เรามักจะตบความเนี๊ยบในงานให้ยุ่งเหยิงในระดับที่เราพอใจกับมัน จึงเป็นที่มาของชื่อ accident 2000 ที่รวมกับปีเกิดของเรา”

หลังได้มีโอกาสทำงานเบื้องหลังกับ The Parq ในนิทรรศการ Life is… และทำงานฟรีแลนซ์ต่าง ๆ ตอนนี้ Accident 2000 กำลังทำสตูดิโอ thua category อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และนิทรรศการเดี่ยวของเขา 𝐋𝐎𝐎𝐊 𝐌𝐎𝐌, 𝐍𝐎𝐖 𝐈’𝐌 𝐅𝐀𝐋𝐋𝐈𝐍𝐆 ก็กำลังจัดแสดงอยู่ที่ Alien artspace ในขอนแก่นเช่นเดียวกัน “งานนี้เราพูดถึงครอบครัวเป็นหลักผ่านตัวละครที่สนุกกับมันในช่วงยุค 2000 เรื่องความสับสนในช่วงวัยที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว ค่อนข้างเป็นเรื่องภายในล้วน ๆ ที่เราจะสื่อออกมา ก็ต้องขอบคุณพี่สินา วิทยวิโรจน์ CEO ของ Alien artspace ขอนแก่น ที่ทำให้นิทรรศการนี้เกิดขึ้นมาได้จริง ๆ งานยังจัดถึง 14 มกราคม 2567 นะ อย่าลืม!!!”

ติดตามผลงานของ Accident 2000 ได้ที่ https://facebook.com/ki2k.k/

Panic 2000

Panic 2000

รูปนี้เป็นความรู้สึกตอนช่วงที่เกิดอาการ กังวลกับชีวิตในช่วงที่ต้องเอาตัวรอดในโลกความเป็นจริงในช่วงกำลังจะเรียนจบ ในรูปจะมีบุคคลในครอบครัวเราทุกคน ทุกคนล้วนมีความมั่นคงในชีวิตในระดับหนึ่งแต่เรามองตัวเองว่าเรายังลังเลกับสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่ ฝั่งซ้ายคือ พ่อ แม่ ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาภายใน ระบบราชการนั้นแหละที่อยากจะออกจากมันแต่ก็ไม่สามารถออกได้ ฝั่งขวาคือเราแต่กำลังทำในสิ่งที่เชื่อแต่ภายในเรายังไม่มันใจเลยว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหนเหมือนกับสัญลักษณ์ ดัมเบลหักหนึ่งฝั่ง

Look! 2000

Look! 2000

ภาพนี้เราชอบเพราะมันคือภาพที่เปิดศักราชของตัวเราผ่านตัว นิทรรศการ 𝐋𝐎𝐎𝐊 𝐌𝐎𝐌, 𝐍𝐎𝐖 𝐈’𝐌 𝐅𝐀𝐋𝐋𝐈𝐍𝐆 เราให้รูปนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเปิดตัวของเราเองที่กล้าออกจาก safezone บางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงปูเรื่องราวความเข้มข้นที่จะเกิดขึ้นในโชว์ถัดๆไป (งานในนิทรรศการ 𝐋𝐎𝐎𝐊 𝐌𝐎𝐌, 𝐍𝐎𝐖 𝐈’𝐌 𝐅𝐀𝐋𝐋𝐈𝐍𝐆)

Stain will be born 2000

Stain will be born 2000

ภาพนี้คือหนึ่งในตัวละครจาก my hero academia ก็คือ stain เราชอบความแนวแน่ในการใช้ชีวิตของเขาและความเชื่อบางอย่าง ความอยากเปลี่ยนแปลงสังคม มันทำให้เราคิดถึงมุมมองที่มีมากกว่า 1 หรือ 2 ในชีวิตจริง เราเลยเลือกวาด stain เพื่อเตือนตัวเองที่กำลังใช้ชีวิตอย่างมองหลายๆมุม (งานในนิทรรศการ 𝐋𝐎𝐎𝐊 𝐌𝐎𝐌, 𝐍𝐎𝐖 𝐈’𝐌 𝐅𝐀𝐋𝐋𝐈𝐍𝐆)

Lil deku 2000

Lil deku 2000

ภาพนี้คือหนึ่งในตัวละครจาก my hero academia เช่นกัน ก็คือ deku เป็นตัวละครหลักในเรื่อง ซึ่งเป็นเด็กที่ไม่มีพลังอะไรเลยแต่พยายามดิ้นรนรับแรงกดดันต่างๆหาพลังเพื่อเอามาช่วยผู้คน แต่เรามองว่าถ้าเด็กคนนี้ไม่สามารถอดทนกับความรู้สึกนั้นได้ละ ถ้าความกดดันทำให้เขาได้รับพลังมาแล้วใช้ตอบสนองความต้องการของเด็กคนนี้เอง ไม่ว่าจะจับคนมาทำเฟอร์นิเจอร์ ขโมยของจากช็อปเครื่องประดับต่างๆ
หรือว่าเป็นความต้องการของเรากันนะฮ่าๆๆๆ(งานในนิทรรศการ 𝐋𝐎𝐎𝐊 𝐌𝐎𝐌, 𝐍𝐎𝐖 𝐈’𝐌 𝐅𝐀𝐋𝐋𝐈𝐍𝐆)

Separation 2000

Separation 2000

ภาพนี้คือเราใน 2 บทบาทกำลังต่อสู้กัน ก็คือช่วงที่ทั้งทำงาน painting บวกกับเรียนสถาปัต ควบคู่กันไป บวกกับช่วงที่กำลังเปลี่ยนถ่ายไปเจอช่วงการทำงาน ยอมรับว่ามีความคิดที่ตีกันขัดแย้งกับ 2 บทบาทนี้ในช่วงทำงานเลยเลือกวาดภาพนี้ออกมา ในภาพจะเป็นการผสมผสานตัวจบธีสิสเข้าไปด้วย ซึ่งมันอาจจะเป็นการตั้งคำถามของตัวเราเองด้วยว่า เราจะเลือกใช้บทบาทไหนดี หรือเราสามารถใช้ทั้ง 2 บทบาทในการทำงานได้อย่างลงตัวไหม

Oogy I (PRESSURENISM) 2000

Oogy I (PRESSURENISM) 2000

ภาพนี้คือหนึ่งในงาน 𝐋𝐎𝐎𝐊 𝐌𝐎𝐌, 𝐍𝐎𝐖 𝐈’𝐌 𝐅𝐀𝐋𝐋𝐈𝐍𝐆 เราจำได้ว่าเวลาช่วงวัยเด็กกับช่องการ์ตูน Boomerang ในทีวีเป็นอะไรที่ตั้งตารอดูการ์ตูน เรื่อง oogy ถึงจะเป็นแมลงสาบวิ่งว้าวุ่นกันทั้งเรื่องในบ้านหนึ่งหลังเรากับสนุกผ่านหน้าจอ ไม่มีใครคิดว่าตอนโตมาเราจะกลัวแมลงสาบได้ขนาดนี้ ซึ่งเราก็เป็นคนหนึ่งในนั้นที่กลัวเช่นกัน ภาพนี้เราเล่นกับสเกลของแมลงสาบกับความเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งอาจจะกำลังต่อสู้กับความกดดันผ่านคนทั้งโลกที่จ้องจะเหยียบมันก็ได้ เปรียบเหมือนกับตัวเราที่พยายามดิ้นรนในเมืองใหญ่แต่บางทีมันไม่ได้สวยงามอย่างที่เราวาดไว้ (งานในนิทรรศการ 𝐋𝐎𝐎𝐊 𝐌𝐎𝐌, 𝐍𝐎𝐖 𝐈’𝐌 𝐅𝐀𝐋𝐋𝐈𝐍𝐆)