
ต้นไม้แห่งชีวิต
2023
สีน้ำมันและสีอะคริลิคบนผ้าลินิน, 190 x 190 ซม.
ภาพประกาศผลรางวัลรองชนะเลิศศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 ที่ปรากฏขึ้นบนหน้าไทม์ไลน์เมื่อไม่นานมานี้ ได้นำพาเราไปรู้จักกับภาพ ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ ของ ‘มาร์ค-อนันต์ยศ จันทร์นวล’ ศิลปินหน้าใหม่ผู้รักการทำงานจิตรกรรม และชอบหยิบภาพคน สัตว์ สิ่งของ มาผสมเข้ากับความเชื่อและความงมงายอันแปลกประหลาดของมนุษย์ จนกลายเป็นโลกใบใหม่ที่ถ่ายทอดความพิลึกพิลั่นออกมาได้อย่างเหนือจริง
เหมือนกับที่ภาพ ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ กำลังถ่ายทอดฉากในอุดมคติ ที่ทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสงบสุข อ่อนโยน และเป็นระเบียบเรียบร้อย ทว่าด้วยสีสันที่ศิลปินเลือกใช้ กลับแต่งแต้มให้ภาพดูงดงามหลอกตา จนกระตุ้นให้เรานึกถึงภาพความจริงตัดสลับกับฉากจินตนาการตรงหน้าได้อย่างทันควัน เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ได้ประนีประนอมกับต้นไม้ ธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วยความรักมานานแล้ว รูปต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางภาพ เลยเป็นเหมือนเครื่องย้ำเตือนถึงความกระจ้อยร่อยของมนุษย์ผู้โง่เขลา ที่เหลือคนทำดีเพียงน้อยนิด แต่คนบ่อนทำลายถิ่นที่อยู่ของตัวเองกลับมีมากจนนับไม่ถ้วน
อนันต์ยศได้บอกกับเราว่า “ความจริงแล้ว ผมสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาด้วยการยึดคอนเซปต์ ‘รักโลก -Cherish the World’ ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของการประกวดศิลปกรรมช้างเผือกครั้งที่ 12 โดยผมได้นำเสนอภาพต้นไม้ (ต้นโพธิ์) ที่มีขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพ และรายล้อมไปด้วยบุคคลที่เราสนใจในตัวตนของเขาเป็นพิเศษ รวมถึงพวกสัตว์สงวนหรือสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย เพราะผมต้องการบันทึกเรื่องราวกับวิถีชีวิตที่บุคคลเหล่านี้เชื่อ เพื่อแสดงภาพของการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ออกมา”

Blind Socialism
2019
“ผมมองว่าต้นไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ เป็นแหล่งปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย หากไม่มีต้นไม้ ชีวิตทุกชีวิตจะอยู่อย่างยากลำบาก เพราะสิ่งนี้ เราทุกคนจึงต้องช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติ และไม่ว่าจะมองยังไงมนุษย์ก็เป็นแค่สิ่งเล็ก ๆ ถ้าเทียบกับโลกใบนี้”
นอกเหนือจากภาพ ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศมาได้แล้ว เรายังสังเกตเห็นอีกว่าผลงานอื่น ๆ ของอนันต์ยศ ก็ยังคงเอกลักษณ์ของการสร้างงานจิตรกรรมแบบผสมผสานที่มีความเสมือนจริงและความเหนือจริงเข้าด้วยกัน พร้อมกับใช้วัตถุขนาดใหญ่มาเป็นจุดเด่นของภาพ โดยมีสิ่งมีชีวิตหรือองค์ประกอบเล็ก ๆ อื่น ๆ มารายล้อมรอบ เพื่อเล่าเรื่องราวออกมา

Power of Hope
2022
อย่างภาพ ‘The Power of Sunflowers’ ที่วาดขึ้นในปี 2023 อนันต์ยศก็เลือกใช้ภาพดอกทานตะวันขนาดใหญ่เข้ามาเป็นศูนย์กลางของภาพเช่นกัน เขาให้ความเห็นว่า “ในภาพนี้ผมคิดว่ามนุษย์เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง เราก็จะข้ามผ่านมันไปได้ด้วยความเชื่อ ดังนั้นผมเลยเปรียบสติและปัญญาเป็นดั่งดอกทานตะวันที่มีสีสันสดใสสวยงาม มีลำต้นที่ตั้งตรงแข็งแรง และจะหันหน้าไปหาแสงสว่างเสมอ ดังนั้นความหวังจึงทำให้เรานั้นเป็นมนุษย์”

The Power Of Sunflowers
2022
(** The White Elephant Prize )**
ศิลปกรรมช้างเผือกครั้งที่ 11 โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)
ส่วนดอกทานตะวันและผ้าสีแดงในภาพ ‘The Power of Sunflowers’ ที่เขาวาดขึ้นในปี 2022 จะมีความหมายต่างกันออกไป เพราะในภาพนี้ศิลปินต้องการสื่อถึงความรัก ความหวัง ความสดใสร่าเริง ความมีชีวิตชีวา ความสง่างาม และความแข็งแกร่ง ที่แทนถึงการยืนหยัดอย่างทระนงและทรงพลัง เพื่อส่งเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุก ๆ คน ได้ข้ามผ่านช่วงเวลาและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไปด้วยกัน ผ่านพลังของดอกทานตะวัน

black hole
2021
อีกภาพหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อีกทั้งศิลปินยังเป็นคนเลือกที่จะเล่าให้เราฟังเป็นภาพแรก ๆ ด้วย นั่นก็คือภาพ ‘Black Hole’
อนันต์ยศกล่าว “บอกตามตรง ผมค่อนข้างชอบภาพนี้เป็นพิเศษ เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงภาพความเป็นจริงของโลก ณ ปัจจุบัน โลกที่ประกอบไปด้วยการตีกรอบความเชื่อของสังคม การตัดทอน ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เปรียบดั่งหลุมดำที่เกิดขึ้นที่ใด ก็จะกลืนกินสรรพชีวิตในที่นั้นจนหมด”

creator
2021
หลังจากได้ชมผลงานและพูดคุยกันถึงคอนเซปต์ต่าง ๆ อีกหลายชิ้น เราก็รู้สึกสงสัยว่ากว่าศิลปินจะสร้างเอกลักษณ์และแนวทางการทำงานให้กับตัวเองได้ขนาดนี้ ต้องฝึกฝนมานานขนาดไหนกัน หรือเขาตั้งใจและมุ่งมั่นมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลยหรือเปล่า ซึ่งศิลปินก็รีบบอกทันทีว่า “ผมก็เป็นเด็กที่ชื่นชอบและสนุกกับการวาดรูปเหมือนคนอื่น ๆ นี่แหละครับ”
“ถ้าจะให้พูดถึงตอนเด็ก ผมก็คงเหมือนเด็ก ๆ ทั่วไปที่ชื่นชอบและสนุกกับการวาดรูป เพราะตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่าการวาดรูปจะนำพามาสู่การเป็นศิลปินอาชีพได้จนถึงทุกวันนี้” ศิลปินเริ่มเท้าความให้เราฟัง
“เอาจริง ๆ พบเพิ่งมาพบจุดเปลี่ยนสำคัญช่วงมัธยมต้นนี่เอง ตอนนั้นมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำให้ผมลองสมัครเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราชดู ผมเลยรู้จักและได้เรียนรู้ศิลปะหลากหลายรูปแบบ และนั่นก็ทำให้ตัวผมมีความคิดที่อยากจะเป็นศิลปิน แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจหรอกว่าอาชีพนี้มันเป็นกันได้ยังไง”
“จากนั้นผมก็สอบติดมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เปิดโลกเกี่ยวกับศิลปะของผมเป็นอย่างมาก โดยตัวผมเลือกเรียนและจบปริญญาตรีจากภาควิชาศิลปไทย และตั้งแต่เรียนจบมาตัวผมก็มีภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิมว่า การวาดรูปหรือการทำงานศิลปะมันเหมาะกับตัวผมมากที่สุด”

Onlookers
2018
(First Prize, The Contemporary Painting)
นิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 40
พอได้ฟังความตั้งใจที่จะเป็นศิลปินอาชีพแบบนี้แล้ว ก็มั่นใจได้เลยว่าในอนาคตเราจะต้องเห็นผลงานของอนันต์ยศโลดแล่นอยู่ในโลกศิลปะต่อไปอีกหลายชิ้นแน่นอน ซึ่งเจ้าของรางวัลรองชนะเลิศงานศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 คนนี้ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง พร้อมยืนยันกับเรากลับมาว่า
“แน่นอนครับ เพราะงานนี้เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด แถมเป็นงานที่ไม่ต้องออกไปเจอกับผู้คนมากมาย เป็นอิสระทั้งความคิดและการแสดงออก มีเวลาเป็นของตัวเอง นั่งทำงานในสตูดิโอเล็ก ๆ เท่ดี นั่นแหละที่ทำให้ผมมุ่งมั่นทำงานศิลปะมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ ดังนั้นความตั้งใจของผมก็คือการเป็นศิลปินอาชีพ ที่สามารถสร้างรายได้จากการทำงานศิลปะได้ในรูปแบบเฉพาะตน และนำเสนอความคิดของตนผ่านผลงานศิลปะ ก็เท่านั้นเอง”

The Power Of Sunflowers
2023
“มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง เราก็จะข้ามผ่านมันไปได้ด้วยความเชื่อ สติและปัญญาเปรียบดั่งดอกทานตะวันที่มีสีสันที่สดใสสวยงาม มีลำต้นที่ตั้งตรงแข็งแรงและจะเอนอ่อนตัวเองเพื่อหาแสงสว่างได้เสมอ ดังนั้นความหวังจึงทำให้เรานั้นเป็น ‘มนุษย์’”

The Power Of Sunflowers
2022
(The White Elephant Prize)
ศิลปกรรมช้างเผือกครั้งที่ 11 โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)
“ดอกทานตะวันและผ้าสีแดง แสดงถึงความรัก ความหวัง ความสดใสร่าเริง ความมีชีวิตชีวา ความสง่างาม ความแข็งแกร่ง ยืนหยัดอย่างทระนงและทรงพลัง ผลงานชิ้นนี้ต้องการส่งเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุก ๆ คน ได้ข้ามผ่านช่วงเวลาและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันไปด้วยกัน ด้วยพลังดอกทานตะวัน”

Meat Delicacy No.2
2016
(Silpa Bhirasri Gold Medal Award)
การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่33
คลังสะสมศิลปกรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร ดูแลโดยหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ผลงาน 2 ชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ของการเริ่มต้นทำผลงานสไตล์นี้ และช่วยต่อยอดความคิดมาจนถึงผลงานชุด ณ ปัจจุบันเลยก็ว่าได้ จิตรกรรมชุดนี้ต้องการเสียดสีสังคมปัจจุบัน ที่ยิ่งนับวันยิ่งเห็นความเสื่อมถอยของมนุษย์ ทั้งความคิดและการกระทำที่น่าเกลียดน่าขยะแขยง ล้วนเกิดจากความโลภและกิเลสทั้งสิ้น”

ต้นไม้แห่งชีวิต
2023
สีน้ำมันและสีอะคริลิคบนผ้าลินิน, 190 x 190 ซม.
ผมได้นำเสนอภาพต้นไม้ (ต้นโพธิ์) ที่มีขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพ และรายล้อมไปด้วยบุคคลที่เราสนใจในตัวตนของเขาเป็นพิเศษ รวมถึงพวกสัตว์สงวนหรือสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย เพราะผมต้องการบันทึกเรื่องราวกับวิถีชีวิตที่บุคคลเหล่านี้เชื่อ เพื่อแสดงภาพของการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ออกมา”
“ผมมองว่าต้นไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ เป็นแหล่งปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย หากไม่มีต้นไม้ ชีวิตทุกชีวิตจะอยู่อย่างยากลำบาก เพราะสิ่งนี้ เราทุกคนจึงต้องช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติ และไม่ว่าจะมองยังไงมนุษย์ก็เป็นแค่สิ่งเล็ก ๆ ถ้าเทียบกับโลกใบนี้”

onlookers
2018
(Gold Award UOB Painting of the Year 2018)
“ผลงานชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติส่วนตน ที่มีมุมมองต่อผู้คนในสังคม เพื่อเสียดสีความเชื่อ ความงมงาย ความตลกขบขัน ความไม่สมเหตุสมผลต่อวัตถุ ความเชื่อบางอย่าง เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์”

black hole
2021
“จิตรกรรมชุดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของโลก ณ ปัจจุบัน โลกที่ประกอบไปด้วยการตีกรอบความเชื่อ ของสังคม การตัดทอน ลดคุณค่า ความเป็นมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เปรียบดั่งหลุมดำที่เกิดขึ้นที่ใด ก็จะกลืนกินสรรพชีวิตในที่นั้นจนหมด”

Dying Elephant
2017

New world
2021
(Excellent Prize)
ศิลปกรรมช้างเผือกครั้งที่ 10 โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

Onlookers
2018

Chicken
2017

horse head
2019

Crocodile
2017
(Second Prize, The Contemporary Painting)
นิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 39

Canis major
2021

Onlookers
2017