เชื่อว่าถ้าพูดถึงมังงะญี่ปุ่นสักเรื่อง หนึ่งในดวงใจของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น One Piece มหากาพย์โจรสลัดโดยอาจารย์ ‘เออิจิโระ โอดะ’ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1997 และยังคงมีเรื่องราวให้เราเติบโตและติดตามเรื่อยมากว่า 24 ปีในปัจจุบัน
เนื่องในโอกาสที่ One Piece มียอดขายใกล้ทะลุครึ่งพันล้านเล่มอีกไม่นานและเนื่องในโอกาสที่อาจารย์โอดะมีอายุครบ 47 ปีเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา GroundControl จึงขอชวนทุกคนลงลึกถึงเส้นทางการเป็นศิลปินของอาจารย์ว่ากว่าจะมีทุกวันนี้ได้ อาจารย์เติบโตและใช้ชีวิตยังไงบ้าง
ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่สนุกสนานเท่านั้น แต่ด้วยองค์ประกอบหลายอย่างในเรื่องและความมุมานะของอาจารย์โอดะ One Piece จึงครองใจผู้คนมาได้ยาวนานขนาดนี้

Dragon Ball และ Vicky the Viking คือแรงบันดาลใจสำคัญ
เออิจิโระ โอดะ หรืออาจารย์โอดะของเหล่าแฟนคลับเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1975 ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น อาจารย์เริ่มอ่านมังงะตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โดยมังงะเรื่องแรกที่พอจะนึกออกคือ ‘ไคบูซึ ผีน้อยจอมกวน (Kaibutsu-kun, The Monster Kid)’ ของ ‘ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ’
มังงะเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานของอาจารย์มากที่สุดคือ ‘Dragon Ball’ ของ ‘อากิระ โทริยายามะ’ เพราะตั้งแต่อ่านบทที่ 2 อาจารย์ก็หลงใหลเรื่องราว ลายเส้น และโครงสร้างตัวละครที่มีกล้ามเนื้อชัดเจนจนมีผลต่อการสร้างงานต่อ ๆ มาอย่างมาก แต่นอกจากงานการ์ตูนของญี่ปุ่นเองแล้ว Vicky the Viking การ์ตูนลายเส้นยุโรปที่ฉายทางโทรทัศน์ซึ่งเล่าเรื่องราวของโจรสลัดก็ประทับใจอาจารย์ตลอดมา
ด้วยแรงบันดาลใจเหล่านี้ บวกกับการที่พ่อของอาจารย์ก็ชอบวาดภาพสีน้ำมัน และอาจารย์ก็คิดว่าการเป็นนักเขียนการ์ตูนนั้นเสมือนเป็นอาชีพสานฝันมากกว่าอาชีพจริง ๆ จัง ๆ ชวนเครียด อาจารย์โอดะจึงฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่ยังเด็ก เริ่มวาดการ์ตูนตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเป็นการ์ตูนที่จะถูกนำไปพัฒนาเป็น One Piece ในอนาคต และยังวาดอย่างจริงจังถึงขั้นลาออกจากชมรมฟุตบอลตอนอยู่ชั้นมัธยมปลาย

Wanted! ประตูสู่โลกมังงะ
ในปี 1992 ขณะที่อายุได้เพียง 17 ปี อาจารย์ได้ใช้เวลากว่า 4 เดือนเขียนการ์ตูนสั้นเรื่องแรกอย่าง 'Wanted!' เพื่อส่งเข้าประกวดใน Tezuka Awards เวทีประกวดมังงะซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์ Shueisha
ในการส่งประกวดครั้งนั้น อาจารย์กลัวว่าพ่อแม่จะไม่ให้ส่งผลงานเข้าร่วม อาจารย์จึงส่ง Wanted! เข้าแข่งขันในนามปากกาว่า
'Tsuki Himizu Kikondo' แต่สักพัก อาจารย์ก็ได้กลับมาใช้ชื่อจริงอย่างเต็มภาคภูมิในอุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะ Wanted! ได้รับรางวัล Second Class (準 入選) ในเวที Tezuka ครั้งที่ 44

ของขวัญในอนาคตของพระเจ้า (God's Gift for the Future)

ปีศาจราตรี (Ikki Yako)
ไม่นานหลังจากนั้น มังงะอีกเรื่องของอาจารย์อย่าง ‘ของขวัญในอนาคตของพระเจ้า (God's Gift for the Future)’ ยังได้รับรางวัล Hop☆Step Awards สำหรับศิลปินหน้าใหม่และได้ตีพิมพ์ใน Shonen Jump Original ในเดือนตุลาคม 1993 และในปีต่อมา ‘ปีศาจราตรี (Ikki Yako)’ ซึ่งตีพิมพ์ใน Shonen Jump Spring Special ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในเวทีเดียวกัน

ทาร์จังจ้าวป่า (Jungle King Tar-chan)

กัปปะ โหด ๆ ฮา ๆ (Mizu no Tomodachi Kappaman)
เส้นทางการเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ
ด้วยความมุมานะและความจริงจังที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนให้ได้ ในช่วงปี 1994-1997 อาจารย์โอดะจึงลาออกจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Kyushu Tokai เพื่อมาเป็นผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูน
งานแรกที่ช่วยให้อาจารย์ได้ฉายแววความเก่งกาจคือการเป็นผู้ช่วยเขียนการ์ตูนเรื่อง 'Midoriyama Police Gang' ของ ‘ชิโนบุ ไคตานิ’ ซึ่งแม้จะได้ช่วยอยู่ไม่กี่ตอนแต่ก็ทำให้อาจารย์ได้เข้าใจกระบวนการการทำมังงะเรื่องหนึ่ง ๆ ได้อย่างดี
หลังจากนั้น อาจารย์จึงได้เป็นผู้ช่วยในเรื่อง ‘ทาร์จังจ้าวป่า (Jungle King Tar-chan)’ และ ‘กัปปะ โหด ๆ ฮา ๆ (Mizu no Tomodachi Kappaman)’ ของ ‘มาซายะ โทคุฮิโระ’ ซึ่งถือเป็น 2 เรื่องที่อาจารย์ได้ร่วมพัฒนามากและยาวนานที่สุด

ตัวละคร Honjō Kamatari ที่อาจารย์มีส่วนร่วม
ในเวลาเดียวกันนี้เองที่อาจารย์ได้เขียนโครงร่างมังงะของตัวเองขึ้นหลายฉบับแต่ก็ถูกปฏิเสธไปหลายรอบ แต่เพราะความไม่ยอมแพ้ที่สั่งสมในตัวอาจารย์ตั้งแต่เด็กนี่แหละที่ทำให้ในที่สุด 'Monsters' ก็ได้ตีพิมพ์ในปี 1994 ใน Shonen Jump Autumn Special
หลังจากเป็นผู้ช่วยของอาจารย์โทคุฮิโระ ใน 'กัปปะ โหด ๆ ฮา ๆ' อยู่นาน กลางปี 1996 อาจารย์ก็ได้เป็นผู้ช่วยของ ‘โนบุฮิโระ วาสึกิ’ เพื่อเขียน ‘ซามูไรพเนจร (Rurouni Kenshin)’ ขึ้น เพราะอาจารย์วาสึกิเปิดให้ผู้ช่วยได้ช่วยสร้างสรรค์และพัฒนามังงะแต่ละเรื่องมากกว่านักเขียนการ์ตูนคนไหน ๆ อาจารย์โอดะจึงมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ตัวละคร 'Honjō Kamatari' อย่างมาก แต่ถึงจะได้รับคำชมและได้ร่วมทำงานใกล้ชิด โครงร่างมังงะของอาจารย์โอดะก็ยังไม่เคยได้รับการยอมรับจากอาจารย์วาสึกิเลยสักครั้ง

จาก Romance Dawn สู่มหากาพย์ One Piece ที่มียอดขายมากกว่า 500 ล้านเล่ม
ช่วงที่อาจารย์โอดะเป็นผู้ช่วยให้อาจารย์วาสึกิ อาจารย์โอดะได้หยิบเรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัดที่คิดขึ้นตั้งแต่ชั้นมัธยมมาพัฒนาเป็นมังงะเรื่อง 'Romance Dawn' จนได้ตีพิมพ์ใน Akamaru Jump ซึ่งตัวเอกสำคัญคือ 'Monkey D. Luffy' ที่จะพัฒนามาเป็นตัวเอกในมหากาพย์มังงะอย่าง One Piece ที่เราหลงรักในไม่กี่ปีต่อมา
แม้ Romance Dawn ตอนแรกจะได้รับผลตอบรับที่ดีจนอาจารย์โอดะมีโอกาสได้ตีพิมพ์ Romance Dawn ตอนที่ 2 ใน Shonen Jump Summer Special สำนักพิมพ์ก็ยังไม่มั่นใจว่าเรื่องราวโจรสลัดจะได้รับผลตอบรับที่ดีหากพัฒนาไปเป็นซีรีส์ขนาดยาว แต่ด้วยความช่วยเหลือจากบรรณาธิการคนใหม่อย่าง ‘ทากาโนริ อะซาดะ’ ในเดือนพฤษภาคม 1997 อาจารย์โอดะจึงลาออกจากการเป็นผู้ช่วยของอาจารย์วาสึกิเพื่อมาทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัว และ One Piece ตอนแรกอย่าง ‘รุ่งสางของการผจญภัย’ ก็ได้ตีพิมพ์ลง Shonen Jump รายสัปดาห์ในวันที่ 22 กรกฎาคม 1997 ในที่สุด

อาจจะเรียกว่าเกินความคาดหมายด้วยซ้ำไป เพราะหลังจากตีพิมพ์ได้เพียง 2 ปี บริษัท Toei Animation ก็นำ One Piece ไปพัฒนาเป็นแอนิเมชั่นที่เรานั่งดูกันตอนเด็ก ๆ ทั้ง One Piece แต่ละเล่มยังทำลายสถิติการตีพิมพ์ในญี่ปุ่นเสมอ เช่น ในเล่มที่ 56 นั้นมียอดตีพิมพ์สูงถึง 2.85 ล้านเล่ม ทั้งภายใน 8 ปีที่ One Piece ออกสู่สายตานักอ่านก็มียอดขาย 100 ล้านเล่มไปซะแล้ว แผนดั้งเดิมที่อาจารย์โอดะตั้งใจให้มังงะเรื่องนี้จบภายใน 5 ปี จึงต้องเปลี่ยนไป
ปัจจุบัน One Piece จึงเดินทางและเติบโตไปพร้อมกับผู้อ่านมานานกว่า 24 ปี และมียอดขายเกือบทะลุ 500 ล้านเล่มซึ่งกำลังจะทำลายสถิติของแบตแมนและแฮร์รี่ พอตเตอร์ไปได้ด้วยนะ (แฟน One Piece กรี๊ดสลบ)
ความสำเร็จที่แลกมาด้วย Work Life Balance อย่างอาจารย์โอดะ
ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าอาจารย์โอดะมีรายได้จากการเขียน One Piece กว่า 200 ล้านดอลลาร์หรือ 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดนี้ก็ควรค่ากับการพลีกายถวายชีวิตให้มหากาพย์เรื่องนี้ของอาจารย์จริง ๆ เพราะอาจารย์มักจะเตรียมเรื่องล่วงหน้า 5 บท ซึ่งแต่ละบทนั้นใช้เวลา 3 วันสำหรับการเขียนบทและอีก 3 วันสำหรับงานภาพ
ในแต่ละวัน อาจารย์จะได้นอนเพียงสามชั่วโมงเท่านั้น เพราะอาจารย์นั้นเริ่มทำงานตั้งแต่ตี 5 จนถึงตี 2 ของอีกวัน ด้วยตารางงานแบบนี้เองที่ทำให้อาจารย์มีปัญหาสุขภาพรุมเร้า แต่ถึงอย่างนั้น ในปี 2013 ที่อาจารย์ล้มป่วยจนเข้าโรงพยาบาล อาจารย์ก็ยังหยุดพักเพียงแค่ 2 สัปดาห์เพราะไม่อยากให้แฟน ๆ ต้องรอ



นอกจาก One Piece จะประสบความสำเร็จเพราะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจารย์โอดะใส่ใจ อีกสิ่งสำคัญที่หลายคนคงเห็นด้วยสุด ๆ คือการที่อาจารย์ออกแบบเรื่องราวให้ตัวละครได้เจอเหตุการณ์สุดประหลาด ทั้งหลายครั้งก็รุนแรงเข้มข้น แต่ก็จะแทรกอารมณ์ขันให้แฟนคลับได้หัวเราะและผูกพันกับตัวละครได้เสมอ ทั้งยังออกแบบให้ตัวละครแต่ละตัวมีเสียงหัวเราะที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ชนิดที่ถ้าเพียงได้ยินแต่ไม่ได้มองก็ยังนึกออกว่านี่คือเสียงหัวเราะของใคร
ตัวละครของอาจารย์ยังออกจะแปลกแหวกแนวและสุ่งโต่งในยุคแรกเริ่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป สไตล์ของอาจารย์ก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่นในช่วงแรก อาจารย์โอดะมักใช้เส้นหนา ๆ หลายเส้น แต่ต่อมาก็วาดตัวละครต่าง ๆ ด้วยเส้นที่บางลง ทั้งยังเพิ่มการแรเงาตัดขวางเข้ามาเสริม บางครั้งลูฟี่ก็ดูโตเป็นหนุ่มใหญ่ แต่บางครั้งก็ดูกลายเป็นเด็กชายคนหนึ่งไป บางครั้งช็อปเปอร์ดูน่ารักน่าชัง แต่บางครั้งก็ดูน่าเกรงขาม
ทั้งหมดนี้ค่อย ๆ พัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับเรื่องราวที่เข้มข้นขึ้นตามช่วงวัยของเหล่าโจรสลัดอันเป็นที่รักของอาจารย์โอดะเองและแฟน One Piece ทั่วโลก

อ้างอิง :
looper
cbr
onepiece.fandom
wikipedia
peoplepill
comicbook
cbr