Félix González-Torres ศิลปินร่วมสมัย? ศิลปินมินิมัล? ศิลปินคอนเซปชวล? หรือศิลปินเกย์?

Art
Post on 5 June

ศิลปินคนหนึ่งเป็นเกย์อย่างเปิดเผย ตั้งแต่ตอนที่การเป็นเกย์มาคู่กับการรับคำรุมประณามเรื่องโรคเอดส์ ศิลปินคนเดียวกันนี้เคยถูกศิลปินอีกคนหยิบผลงานจากที่จัดแสดงไปทิ้งถังขยะ ศิลปินที่เป็นเควียร์ เป็นชาวคิวบา และเป็นเอดส์ แต่เราแทบจะไม่เห็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอะไรที่บ่งบอกอัตลักษณ์เหล่านั้นในงานของเขาเลย อย่างผลงานที่เรียกได้ว่าดังที่สุดของเขา ก็ยังเป็นเพียงกองลูกกวาดที่วางอยู่มุมห้องเท่านั้น

เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) เป็นศิลปินที่มักถูกรวมไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะมินิมัล ไปจนถึงศิลปะเชิงความคิด (Conceptual Art) ผู้ซึ่งผลงานของเขาเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” มาก ๆ แต่ก็เป็นเรื่องสาธารณะมาก ๆ เหมือนกัน หลายคนอาจจะเคยเสียน้ำตาให้กับผลงานของเขามาแล้วตั้งแต่ Untitled (Portrait of Ross in L.A.) ที่เขาเชื่อมโยงความตายของคนรักที่กำลังเดินทางมาถึงช้า ๆ เข้ากับประสบการณ์ของเราทุกคน ผ่านกองลูกอมน้ำหนักเท่าตัวคนรักก่อนเสียชีวิต ซึ่งผู้ชมสามารถหยิบกลับบ้านไปทีละเม็ดได้ หรือ Untitled (Perfect Lovers) ที่เขาใช้เพียงนาฬิกาสองเรือนวางคู่กัน ชวนให้คิดถึงคู่รักที่แม้จะตั้งเวลาให้ตรงกันอย่างไร เวลาของทั้งสองก็อาจคลาดกันได้สักวัน

เนื่องในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายในปีนี้ เราอยากชวนมาย้อนดูแนวคิดและผลงานตลอดชีวิตของเขา ว่ากว่าจะมาเป็นสุนทรียศาสตร์แห่งความเรียบง่ายที่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวชีวิตแสนหนักหนา เขาผ่านอะไรมาบ้าง และรากความคิดอย่างไร ใน The Art of Being An Artist: เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) ศิลปินมินิมัล ศิลปินคอนเซปชวล หรือศิลปินเกย์?

เด็กโฟโต้นักทฤษฎี

ท่ามกลางไฟปฏิวัติที่ปะทุมาก่อนหน้าเกือบสิบปี เฟลิกซ์ กอนซาเลซ-ตอร์เรส (Félix González-Torres) เกิดขึ้นในประเทศคิวบา ก่อนจะถูกส่งตัวไปใช้ชีวิตวัยรุ่นที่สเปนในปี 1971 และย้ายที่อยู่อีกครั้งในปีเดียวกันไปยังปวยร์โตรีโก ที่ซึ่งเขาเริ่มเรียนรู้การทำงานศิลปะ ก่อนจะลงเอยที่มหานครนิวยอร์กในที่สุดเมื่อปี 1979 เพื่อศึกษาต่อที่ Pratt Institute

ปี 1983 เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาภาพถ่าย ก่อนที่จะได้รับปริญญาโทสาขาเดียวกันในอีกสี่ปีต่อมา โดยเขาเข้าร่วมกับกลุ่มศิลปินและสเปซศิลปะแนวคอนเซปชวล ‘Group Material’ ที่ทำงานวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ทุนนิยม บริโภคนิยม รวมไปถึงแนวคิดเรื่องศิลปะและสถาบันทางศิลปะ ร่วมกับสมาชิกอย่าง เจนนี โฮลเซอร์ และ บาร์บารา ครูเกอร์

พร้อม ๆ กัน เขายังใกล้ชิดอยู่กับแวดวงวิชาการ โดยเป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กจนถึงปี 1989 ซึ่งถึงจะดูเป็นคนละเรื่องกับผลงานต่าง ๆ ของเขาที่เราคุ้นเคยกันมาก แต่ประสบการณ์ช่วงนี้ของเขาก็คงเป็นหน่ออ่อนหนึ่ง ที่ส่งผลต่อวิธีทำงานของเขาในอนาคต เหมือนที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Tim Rollins เกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างทฤษฎีกับปฏิบัติการทางศิลปะของเขาไว้ว่า

ถ้าผมไม่ได้อ่านวอลเตอร์ เบนยามิน, ฟานง, อัลธูแซร์, บาร์ธส์, ฟูโกต์, บอร์เฆส, มาทแลร์ และคนอื่น ๆ บางทีผมอาจจะสร้างงานบางชิ้นขึ้นมาเป็นอย่างที่มันเป็นไม่ได้เลยด้วยซ้ำ งานเขียนหรือแนวคิดของพวกเขาบางอย่างให้เสรีภาพในการมองกับผม แนวคิดพวกนี้พาผมไปสู่ที่แห่งความรื่นรมย์ผ่านความรู้ และความเข้าใจว่าความเป็นจริงมันถูกประกอบสร้างขึ้นอย่างไร เข้าใจการก่อตัวขึ้นของตัวตนในวัฒนธรรม การวางกับดักของภาษา และรอยแตกต่าง ๆ ในโครงเรื่องหลัก

Untitled (Madrid 1971) เป็นผลงานตั้งแต่ปี 1988 ที่เขาสำรวจประเด็นเรื่องตัวตน การย้ายถิ่น ไปจนถึงการเดินทาง ในแบบภาพถ่ายของเด็กชายและอนุสาวรีย์จากมุมต่ำ ที่แตกกระจายออกจากกันในแบบตัวต่อจิ๊กซอว์ ด้วยเทคนิกแบบนี้ เขาได้เชื่อมโยงความทรงจำส่วนตัวเข้ากับประวัติศาสตร์ของสังคม และก็ด้วยเทคนิกนี้เองที่เขาเรียกร้อง “คนดู” ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากว่าดู แต่ช่วยประกอบภาพถ่ายของเขาขึ้นมาด้วย และช่วยตั้งชื่อให้ผลงานชิ้นนี้เอง

ผมว่าถ้าให้ผมเริ่มลิสต์คนที่ส่งอิทธิผลกับผมใหม่ ผมอยากเริ่มที่เบรคชท์ ผมคิดว่านี่สำคัญมาก เพราะในฐานะศิลปินฮิสปานิก (ที่มาจากวัฒนธรรมพูดภาษาสเปน) พวกเราจะถูกคาดหวังให้ทำตัวบ้า ๆ มีสีสันสดใส โคตรจะสดใส เราถูกคาดหวังให้ ‘รู้สึก’ แทนที่จะคิด [แต่] เบรคชท์บอกว่าการเว้นระยะห่างเพื่อปล่อยเวลาให้ผู้ชมหรือสาธารณชนสะท้อนย้อนคิด

"Untitled" (Madrid 1971)

"Untitled" (Madrid 1971)

สุนทรียศาสตร์เกย์

ผมไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการเป็นเกย์

ย้อนไปเมื่อปี 1983 นักศึกษาหนุ่ม รอส เลย์ค็อก (Ross Laycock) บอกรูมเมตของเขาว่าเขาเพิ่งเจอชายหนุ่มแสนดีคนหนึ่งที่บอยบาร์ เกย์บาร์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ชายหนุ่มคนนั้นคือเฟลิกซ์ พวกเขาตกหลุมรักกันและกัน และพัฒนาความสัมพันธ์อันลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งรอสตรวจพบว่าเขาเป็นโรคเอดส์ในปี 1988

“[ผมแค่ทำงานเกี่ยวกับ] การตกหลุมรักกับชายคนหนึ่ง” เฟลิกซ์ตอบในบทสัมภาษณ์ของเขากับรอส เบลกเนอร์

‘Untitled’ (Perfect Lovers)

‘Untitled’ (Perfect Lovers)

‘Untitled’ (Perfect Lovers) (1987-1990) เป็นหนึ่งในผลงานจากช่วงเวลาของเขากับรอสที่โด่งดังที่สุด ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านาฬิกาบ้าน ๆ สองเรือนที่หน้าตาเหมือนกัน แขวนอยู่ชิดติดกัน และตั้งเวลาให้ตรงกันในตอนติดตั้งผลงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ นาฬิกาทั้งสองก็จะค่อย ๆ เดินไม่ตรงกันไปเอง ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

มันเป็นหนึ่งในงานที่ดูยากที่สุดของเขา ไม่ใช่เพราะมันเข้าใจยาก แต่เพราะมวลอารมณ์ที่อัดแน่นอยู่เต็มไปหมดเมื่อเราเอาตัวเองเข้าไปปะทะกับงานนี้ต่างหาก

มันเล่าเรื่องสิ่ง ‘สากล’ อย่างเวลา ที่ค่อย ๆ ผ่านไปช้า ๆ พร้อมกับทุกคน แต่คนแต่ละคนหรือแม้แต่วัตถุแต่ละอย่าง ก็อาจจะไม่ได้รับรู้และมีประสบการณ์กับเวลาในแบบที่เดียวกัน แม้จะอยู่ดำรงอยู่เคียงข้างด้วยกันก็ตาม อาจเป็นแรงโน้มถ่วง อาจเป็นแบตเตอรี่ข้างในนาฬิกา อาจเป็นกลไกภายใน ที่ทำให้ ‘สิ่ง’ ทั้งสองรับรู้เวลาได้ต่างกัน หรืออาจจะเป็นโรคเอดส์ ที่ทำให้นาฬิกาของคนคนหนึ่งหยุดเดินลง ไม่สามารถรับรู้เวลาได้อีกต่อไป ในขณะที่อีกคนยังคงเดินทางต่อไปกับเวลาที่ก็ยังคงไม่หยุด

การนำวัสดุที่พบได้ทั่วไปมาใช้ทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่ ดูชองป์นำโถฉี่มาเป็นศิลปะตั้งหลายสิบปีก่อนหน้าเขาแล้ว แต่ผลงานของเขาผลักนิยามของศิลปะที่เป็นแค่แนวความคิดให้ยิ่งล้ำขึ้นไปอีก เพราะมันไม่ได้เป็นวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งโดยเฉพาะเลย แต่มันอาจจะเป็นนาฬิกาเรือนไหนก็ได้ สร้างขึ้นเมื่อไรก็ได้ แค่เพียงนำมาติดตั้งไว้ด้วยกัน มันก็เป็น ‘Untitled’ (Perfect Lovers) แล้ว นั่นอาจจะเว้นช่องว่างระหว่างอัตลักษณ์ของศิลปินกับผลงานศิลปะของเขาไว้มากมาย ทำให้มันเป็นเรื่องของภววิทยาหรือการรับรู้โลกของแต่ละคน แทนที่จะเป็นการเมืองอัตลักษณ์แบบชูธงสัญลักษณ์อะไร แต่นั่นก็อาจเป็นสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อถึง ในตอนที่เขาบอกว่า การตกหลุมรักกับผู้ชาย “ไม่ใช่อารมณ์อ่อนไหวอะไรเลย มันเป็นเรื่องการเมืองมาก ๆ เพราะคุณกำลังย้อนเกล็ดอะไรก็ตามที่คุณสมควรทำอยู่ คุณไม่ควรจะตกหลุมรักผู้ชายอีกคน มีเซ็กส์กับผู้ชายอีกคน”

สุนทรียศาสตร์ที่เขาใช้เล่าเรื่องความปรารถนาแบบเกย์ เป็นแบบที่จะถูกบรรจุไว้ในประวัติศาสตร์ของศิลปะเชิงความคิด ศิลปะมินิมอล ไปจนถึงศิลปะที่มุ่งวิพากษ์สถาบัน (ศิลปะ) (Institutional Critique) ได้อย่างไม่ผิดแปลกอะไร ในแง่หนึ่งเราจะไม่เห็น “สุนทรียศาสตร์แบบเกย์” จากเฟลิกซ์เลย ทั้งในเชิงสัญลักษณ์หรือสไตล์อะไรที่จะบ่งบอกความเป็นเกย์ได้ชัดเจน แต่เขาได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ได้น่าคิดมาก ๆ ว่า

สิ่งที่ผมอยากทำบางทีกับงานบางชิ้นที่เกี่ยวกับความปรารถนาต่อเพศเดียวกันคือการทำให้มันถูกครอบคลุม (inclusive) มากยิ่งขึ้น ทุก ๆ ครั้งที่พวกเขา [ผู้ชม] เห็นนาฬิกาหรือกองกระดาษหรือผ้าม่าน ผมอยากให้เขาคิดถึงมันซ้ำอีกครั้ง

Felix Gonzalez Torres และ Ross Laycock ที่ Jones Beach, NY - Photo by Carl George, 1986, Carl George

Felix Gonzalez Torres และ Ross Laycock ที่ Jones Beach, NY - Photo by Carl George, 1986, Carl George

นาฬิกาชีวิตของรอสหยุดเดินลงในปี 191 — เฟลิกซ์ทำงานศิลปะเพื่อสาธารณชนของเขาต่อไป สาธารณชนที่เขาหมายถึงแค่รอสนั่นแหละ

ผมไม่เคยหยุดรักรอส เพียงแค่เขาเสียชีวิต ไม่ได้หมายความว่าผมจะหยุดรักเขา

เรื่องบนเตียงบนถนน

ผู้คนอาจจะซื้อบิลบอร์ดพวกนี้ไปก็ได้ แต่พวกเขาก็ต้องเอามันไปไว้ในที่สาธารณะ พวกเขาต้องเช่าพื้นที่สาธารณะ

ถ้า "Untitled" (Perfect Lovers) คืองานที่เขาพาเราไปสัมผัสความโหดร้ายของเวลาที่เดินผ่านไปช้า ๆ งานชุดกองกระดาษ (Paper Stack) ของเขาก็คือการบีบเราให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับความโหดร้ายนั้นโดยตรง

"Untitled" (Paper Stack)

"Untitled" (Paper Stack)

ในงานชุดนี้ เขาจะกำหนดขนาดและความสูงของกองกระดาษขึ้นมา และมันจะค่อย ๆ ลดขนาดลงเรื่อย ๆ ทีละแผ่น ทีละแผ่น เหตุผลไม่ใช่เพราะเวลาผ่านไป แต่เพราะผู้ชมสามารถหยิบกระดาษแต่ละใบกลับไปด้วยได้ต่างหาก แม้ในท้ายที่สุด มันจะถูกเติมให้เต็มใหม่ทุกครั้งที่ขนาดมันลดลงไปก็ตาม

เฟลิกซ์ไม่ได้ต้องการแค่ให้เรารู้จักความรู้สึกแบบที่เขารู้เท่านั้น เขาต้องการให้เราคิดกับมันและรับรู้ถึงบทบาทของตัวเราเองด้วย เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องการละครของเบรคชท์ นักคิดที่เขาอ้างถึงบ่อยครั้งในบทสัมภาษณ์ ซึ่งเรียกร้องผู้ชม “ออกแรง” มีส่วนร่วม (คิด) และร่วมรับรู้บทบาทของตัวเองในฐานะคนดูด้วย ในแง่หนึ่ง ผลงาน “ประติมากรรม” ของเขาจึงเป็นเหมือนพร๊อบประกอบการแสดง ให้เราไปใช้ “เล่น” บทของตนในฉากต่างหาก ซึ่งแน่นอน ว่านี่เป็นการเข้าไปปะทะอย่างรุนแรงกับกฎเกณฑ์ของโลกศิลปะตอนนั้น (หรือจริง ๆ แล้วก็ตอนนี้ด้วย)

"Untitled" (Paper Stack)

"Untitled" (Paper Stack)

มันเรียกว่าจลาจลได้เลยตอนที่ผมโชว์งานนี้ในพิพิธภัณฑ์ เพราะว่าคนเราไม่ควรจะแตะงานศิลปะอะ อย่าเพิ่งพูดถึงว่าจะเอาศิลปะกลับบ้านได้เลย ตอนงาน Whitney Biennial ปี 1991 คนจะชอบไปถามพนักงานพิพิธภัณฑ์ว่า จริง ๆ หรอ พวกเขาหยิบเอาแผ่นกระดาษจากงานกองกระดาษของผมไปได้จริง ๆ หรอ ซึ่งพนักงานก็ให้ความร่วมมือนะ แต่ผมเคยโชว์งานครั้งหนึ่งใน New York gallery แล้วศิลปินจาก East Village คนหนึ่งเกิดฉุนอะไรกับงานนั้นมากเลย เธอรับไม่ได้อะ ผมเห็นเธอหยิบกระดาษไป 20 - 25 แผ่นจากกองนั้น แล้วก็โยนลงถังขยะ แล้วนั่นแม่งโคตรทำให้ผมโมโหเลย

ความตายของรอสอาจจะมีแค่รอสเองที่สัมผัสมันโดยตรง และความสัมพันธ์ระหว่างเฟลิกซ์กับรอสก็อาจมีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่เข้าใจ แต่เฟลิกซ์ยืนยัน ผ่านผลงานเหล่านี้ ว่าชีวิตของพวกเขาไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะพวกเราทุกคนมีส่วนรู้เห็นกันทั้งนั้นกับวัฒนธรรมและค่านิยมต่าง ๆ ที่ไปส่งผลต่อชีวิตของเกย์ รวมไปถึงเรื่องสำคัญ ๆ อย่างนโยบายและกฎหมายด้วย ในผลงานชุดบิลบอร์ดของเขา เฟลิกซ์ใช้สื่อสาธารณะอย่างป้ายประกาศขนาดใหญ่ ประกาศเรื่องบนเตียงให้ทุกคนเป็นประจักษ์พยานร่วมกัน มันเป็นป้ายที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าภาพเตียงคู่สำหรับสองคน ที่มีรอยยับย่น แสดงให้เห็นถึงการหายไป ของคนสองคนบนเตียง

มันเป็นสไตล์แบบที่เราคุ้นตาจากเจนนี โฮลเซอร์และบาร์บารา ครูเกอร์ เพื่อนจากกลุ่ม ‘Group Material’ ของเขา ที่ผูกความเป็นศิลปะไว้กับความเป็นสาธารณะ — ถ้ามันมีใครซื้องานชิ้นนี้ไป แล้วไปติดตั้งนั่งดูคนเดียวในห้อง มันก็ไม่ใช่งานชิ้นนี้แล้ว เพราะนิยามของงานชิ้นนี้คือการเผยแพร่อยู่ในที่สาธารณะ

เช่นเดียวกับงานชุดลูกกวาดของเขา ที่ไม่มีใครสามารถเอาไปติดตั้งนั่งดูคนเดียวได้ ในงาน “Untitled” (Portrait of Ross in L.A.) ที่ดังสุด ๆ และชวนซึมสุด ๆ ของเขา เขาสร้าง “ภาพเหมือน” ของรอสขึ้น จากลูกกวาดหลากสี ที่วางกองไว้มุมห้อง น้ำหนักรวมกันเท่ากับน้ำหนักของรอสก่อนเสียชีวิต ใครจะหยิบเอาลูกกวาดไปก็ได้ มันจะลดน้ำหนักลงเสมอ แต่ก็จะกลับมาเติมเต็มเสมอเช่นเดียวกัน

“Untitled” (Portrait of Ross in L.A.)

“Untitled” (Portrait of Ross in L.A.)

“Untitled” (Portrait of Ross in L.A.)

“Untitled” (Portrait of Ross in L.A.)

เฟลิกซ์เสียชีวิตในปี 1996 ด้วยอายุ 38 ปี แต่ผลงานของเขายังคงใช้ชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ ในปี 2007 เขาเป็นศิลปินอเมริกันคนที่สองที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสหรัฐอเมริกาไปแสดงงานที่เวนิสเบียนนาเล่หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว และยังคงทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ ว่าสังคมการเมืองส่งผลต่อเรื่องส่วนตัวของเราและทุก ๆ คนอย่างไร

อ้างอิง
https://www.felixgonzalez-torresfoundation.org/exhibitions/felix-gonzalez-torres-and-joseph-kosuth
https://bombmagazine.org/articles/1995/04/01/felix-gonzalez-torres/
https://flash---art.com/article/felix-gonzalez-torres/
https://www.artnews.com/feature/who-was-felix-gonzalez-torres-why-was-he-important-1234592006/
https://visualaids.org/blog/carl-george-fgt-ross-laycock
https://scholarworks.sjsu.edu/etd_theses/5116/
https://www.felixgonzalez-torresfoundation.org/attachment/en/5b844b306aa72cea5f8b4567/DownloadableItem/639385f3fa829db6a90469fb
https://bombmagazine.org/articles/1995/04/01/felix-gonzalez-torres/
https://visualaids.org/blog/carl-george-fgt-ross-laycock