GC_beingartist_Norman.jpg

Norman Rockwell นักวาดภาพประกอบผู้นำเสนอความเป็นอเมริกันจนเป็นที่รักยิ่งของชาวอเมริกัน

Post on 17 March

ผมจะนำเสนอให้ผู้คนที่ไม่ได้สนใจได้เห็นถึงอเมริกาที่ผมรู้จักและสังเกต

นอร์แมน ร็อกเวลล์ คือศิลปินและนักวาดภาพประกอบชาวอเมริกันผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวอเมริกัน เพราะแม้เขาจะเกิดและเติบโตในเมืองอย่างมหานครนิวยอร์ก แต่เขากลับนำเสนอให้เห็นชนบท วัฒนธรรม และฝันอันใหญ่ยิ่งของชาวอเมริกันได้อย่าอบอุ่น งดงาม และแฝงความขบขันผ่านภาพวาด 4,000 กว่าชิ้นตลอดอายุการทำงาน

ผลงานของร็อกเวลอันเลื่องชื่อนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งภาพประกอบปกนิตยสาร โฆษณา ผลงานที่นำเสนอเรื่องการเมือง รวมถึงอีกชุดผลงานสำคัญนั่นคือภาพวาดในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ที่ชวนให้เรารู้สึกได้ถึงความอบอุ่นของคำว่าบ้านและครอบครัวในฝันทุกครั้งไป

เข้าใกล้คริสมาสต์เข้าไปทุกที ชาว Groundcontrol จึงขอส่งท้ายปีกับเรื่องราวชีวิตของนักวาดภาพประกอบชื่อดังคนนี้ให้ทุกคนได้ยิ้มไปพร้อม ๆ กัน
 

บรรณาธิการศิลปกรรม Boys’ Life ในวัย 18 หยก ๆ 19 หย่อน ๆ

นอร์แมน ร็อกเวลล์ เกิดเมื่อปี 1894 ณ เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ช่วงเวลาที่เขาเกิดและเติบโตนี้เองถือเป็นยุคทองของงานภาพประกอบ ตั้งแต่เด็กแต่เล็ก เขาจึงฝันอยากเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบมาโดยตลอด เมื่ออายุได้ 14 ปี ร็อกเวลล์เข้าเรียนศิลปะใน The New York School of Art ก่อนเข้าศึกษาต่อที่ The National Academy of Design ใน 2 ปีให้หลัง และจบการศึกษาที่ The Art Students League ณ ที่แห่งนี้เองที่เขาได้ร่ำเรียนกับ Thomas Fogarty ผู้สอนให้เขาเข้าใจการวาดภาพประกอบสำหรับงานโฆษณา และ George Bridgman ที่สอนให้เขาได้ฝึกทักษะการวาดภาพที่ร็อกเวลล์จะได้ปรับใช้ตลอดชีวิตการทำงาน

เมื่อเทียบกับศิลปินคนอื่น ๆ อาจเรียกได้ว่าร็อกเวลล์ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นด้วยซ้ำ เพราะเขาได้รับว่าจ้างให้วาดการ์ดวันคริสมาสต์ตั้งแต่อายุ 15 ปี และยังเป็นนักวาดภาดพประกอบอิสระให้กับนิตยสาร Boys’ Life แห่งสำนักพิมพ์ Boy Scouts of America นิตยสารและสำนักพิมพ์สำหรับเยาวชนอีกหลายแห่ง และวาดภาพปกหนังสือ Tell Me Why: Stories about Mother Nature ให้นักเขียนชื่อดังอย่าง Carl H. Claudy'

หลังฝากผลงานในฐานะนักวาดภาพประกอบอิสระให้กับ Boy Scouts of America มาสักพัก เมื่ออายุ 19 ปี เขาจึงได้รับตำแหน่งบรรณาธิการศิลปกรรมให้ Boys’ Life ซึ่งผลงานภาพปกเล่มแรกในฐานะบรรณาธิการศิลปกรรมครั้งนี้คือ Scout at Ship's Wheel ประจำเดือนกันยายน 1913

เพราะ Boys’ Life เป็นนิตยสารหน้าใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 1911 หลายๆ คนจึงกล่าวว่าที่ Boys’ Life ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วก็เพราะได้ภาพประกอบและภาพปกของร็อกเวลล์มานำทางทีเดียว

The Saturday Evening Post นิตยสารที่ร็อกเวลทำงานด้วยมากที่สุด

เมื่ออายุได้ 21 ปี ครอบครัวของเขาย้ายไปอาศัยที่ New Rochelle อันเป็นเมืองที่อุดมด้วยนักวาดภาพประกอบชื่อดังอย่าง J.C. and Frank Leyendecker และ Howard Chandler Christy ร็อกเวลล์จึงได้เปิดสตูดิโอร่วมกับนักวาดการ์ตูนอย่าง Clyde Forsythe ซึ่งประจำที่ The Saturday Evening Post อันเป็นนิตยสารที่ร็อกเวลล์เองยกให้เป็น “The greatest show window in America”

ด้วยความช่วยเหลือของ Forsythe ร็อกเวลล์จึงมีโอกาสได้วาดปกให้ The Saturday Evening Post จำนวน 8 ปกภายใน 1 ปี และวาดไปกว่า 321 ปกในระยะเวลา 47 ปีซึ่งถือเป็นนิตยสารที่เขาทำงานด้วยมากที่สุด ภาพแรกที่เขาวาดให้ The Saturday Evening Post คือภาพ Boy with Baby Carriage

หลังจากมีโอกาสได้ทำงานให้ The Saturday Evening Post และโด่งดังเป็นพลุแตก งานของเขาจึงได้ประทับอยู่บนหน้าปกของนิตยสารชื่อดังอีกหลากหลายฉบับ เช่น นิตยสาร Life นิตยสาร The Literary Digest และนิตยสาร Country Gentleman เมื่ออายุได้เพียง 22 ปี

เสรีภาพและสิทธิพลเมือง 4 ภาพวาดตัวแทนจิตวิญญาณในความเป็นโลกเสรีอย่างอเมริกัน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจเป็นช่วงเวลาที่หลายคนกำลังยากลำบาก แต่สำหรับเรื่องหน้าที่การงานแล้ว ช่วงนี้ถือเป็นยุคทองของร็อกเวลล์สุด ๆ ด้วยเขาต้องการเรียกขวัญกำลังใจกลับคืนให้ชาวอเมริกันหลังสงครามโลก ภาพที่เขาวาดออกมาซึ่งทั้งขบขันและน่าเกรงขามจึงได้รับการตอบรับที่ดี

ผลงานสำคัญในปี 1943 คือเซ็ตภาพ Four Freedoms ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี Franklin Roosevelt ที่ได้กล่าวต่อหน้าสภาคองเกรสแห่งอเมริกาถึงสิทธิพลเมือง 4 อย่างหลังสงครามที่พลเมืองทุกคนควรได้รับ ได้เแก่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในความต้องการ และเสรีภาพในการหวาดกลัว ซึ่งร็อกเวลได้นำองค์ประกอบของสิทธิพลเมืองทั้ง 4 มาสร้างเป็นภาพ 4 ภาพเพื่อแสดงถึงสิทธิมนุษยชนที่พลเมืองคนหนึ่ง ๆ ควรได้รับซึ่งภาพเหล่านี้กลายเป็นจิตวิญญาณในความเป็นโลกเสรีอย่างอเมริกันไปเลย

หนึ่งในภาพชุดที่ว่าเกิดขึ้นขณะที่ร็อกเวลล์ได้ไปร่วมประชุมแถวบ้านของเขาใน Arlington ใน Vermont ที่ซึ่งเขาย้ายไปอาศัยในช่วงวัยหนุ่ม เขาได้เห็นชายคนหนึ่งลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงความคิดเห็นค้านกับเพื่อนบ้าน ซึ่งภาพนี้แหละที่เขาเชื่อว่าแสดงถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่สุดแล้ว เขาจึงร่างภาพนั้นขึ้นและนำไปเสนอต่อกรมสรรพาวุธของสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน แต่ถูกปฏิเสธ ระหว่างทางกลับบ้าน ร็อกเวลล์จึงเข้าไปพบบรรณาธิการของ The Saturday Evening Post ภาพทั้ง 4 จึงได้ออกสู่สาธารณชน แถมเมื่อได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน รัฐบาลสหรัฐจึงร่วมจัดนิทรรศการทั่วประเทศเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันซื้อพันธบัตรสงครามด้วย

นอกจากนั้น ในปี 1961 หลังร็อกเวลหยุดทำงานให้กับ The Saturday Evening Post เขาก็หันมาทำงานให้กับนิตยสาร Look กว่า 10 ปี ซึ่งในช่วงนี้เองที่เขาได้สร้างแรงกระเพื่อมเรื่องสิทธิพลเมือง ความยากจนจากสงครามของอมเริกา และการสำรวจอวกาศ

หนึ่งในภาพอันโด่งดังคือภาพ The Problem We All Live With ในปี 1964 ที่นำเสนอภาพเด็กหญิงแอฟริกัน-อเมริกันนาม Ruby Bridges ซึ่งกำลังเดินไปโรงเรียนพร้อมกับตำรวจ 4 นายที่คอยคุ้มกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นกับเธอ กระนั้นก็ยังมีมะเขือเทศที่ติดแหมะกับกำแพงด้านหลังเพราะใครบางคนที่แบ่งแยกเชื้อชาติโยนมันเข้าใส่เธอ

ด้วยคุณูปการมากมายของเขาต่อชาวอเมริกันนี้เอง ในปี 1977 ร็อกเวลจึงได้รับเหรียญแแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดีซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของสหรัฐอเมริกาซึ่งประธานาธิบดีจะมอบแก่ผู้ทรงเกียรติในด้านต่าง ๆ

ศิลปินผู้รังสรรค์คริสมาสต์แบบอเมริกันสมัยใหม่

นอกจากผลงานทั้งหมดทั้งมวลที่ร่ายมาแล้วนั้น อีกหนึ่งชุดผลงานสำคัญที่ลายเส้นของเขามีผลต่อสังคมอเมริกันไม่น้อยคือภาพวาดในเทศกาลคริสมาสต์ ซึ่งศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและอเมริกันศึกษาอย่าง Karan Ann Msrling ได้กล่าวไว้ว่าร็อกเวลล์ได้สร้างสรรค์ภาพคริสมาสต์แบบอเมริกันสมัยใหม่ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับศาสนามากนักแต่ค่อนข้างเป็นคริสมาสต์ที่สัมพันธ์กับความเป็นทุนนิยมซึ่งภาพเหล่านี้เองมีส่วนทำให้วัฒนธรรมการฉลองคริสมาสต์ของชาวอเมริกันเปลี่ยนไป
 

ปกนิตยสาร Boy’s Life ในเดือนธันวาคม 1913 ในชื่อ Santa and Scouts in Snow ถือเป็นภาพปกอันเกี่ยวเนื่องกับซานตาคลอสและคริสมาสต์ปกแรกของเขาก่อนที่เขาจะผลิตภาพวาดในธีมคริสมาสต์ออกมาทุกปี ๆ ผ่านปกนิตยสารบ้าง ผ่านโฆษณาชิ้นดัง ๆ อย่าง โคคา-โคล่า และแบรนด์อื่น ๆ อีกมาก

แต่ภาพจำของซานต้าที่ติดตาทุกคนมากที่สุดคือภาพคุณลุงซานต้าที่ดูใจดีที่รอกเวลล์วาดขึ้นในปี 1920 ในชุดแดงพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้มที่ดูร่าเริงกว่าซานต้าในอดีตซึ่งเหมาะแก่การให้เด็กนำไปจินตนาการต่อว่าถ้าใครทำนิสัยไม่น่ารัก ซานต้าจะไม่เอาของมาให้พวกเขานะ

นอกจากตัวละครซานต้าที่ทำให้ภาพคริสมาสต์ของร็อกเวลล์สำคัญกับวัฒนธรรมอเมริกา องค์ประกอบต่าง ๆ ที่เขาบรรจงใส่ในภาพวาดก็ทำให้ภาพคริสมาสต์ของเขาอัดแน่นด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น ความอบอุ่นจากเหล่าเพื่อนฝูง ครอบครัว และตึกรามบ้านช่อง

นอกจากนั้น ในภาพ Tired Sales Girl on Christmas Eve ที่เขาวาดขึ้นปก The Post ประจำเดือนธันวาคม 1947 ยังแฝงความตลกร้ายจากทุนนิยมด้วย ซึ่งภาพนี้ถือเป็นภาพคริสมาสต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดภาพหนึ่งของร็อกเวลล์เพราะเขาสามารถเล่าเรื่องราวของพนักงานสาวที่เหนื่อยหน่ายจากการทำงานในช่วงวันคริสมาสต์อีฟได้อย่างเฉียบขาดผ่านเรือนรางที่โรยแรงในกองของขวัญกระจัดกระจาย ดวงตาที่อ่อนล้า และนาฬิกาบอกเวลาเลย 17.05 น. ทั้งที่มีป้ายติดหราอยู่ด้านบนว่าร้านจะปิดในวันคริสมาสต์อีฟเมื่อเวลา 17.00 น.

รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และอารมณ์ขันที่แฝงในภาพของศิลปินผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวอเมริกัน

หลายคนอาจคิดว่าร็อกเวลล์เพนต์ภาพซึ่งดูสมจริงสุด ๆ นี้จากจินตนาการของเขาล้วน ๆ แต่แท้จริงแล้วนั้น กระบวนการวาดภาพช่วงหลังจากปี 1937 นั้นเป็นการวาดภาพขึ้นจากภาพถ่ายที่เขาเซ็ตขึ้นมาอีกทีหนึ่ง โดยคำแนะนำของศิลปินรุ่นน้อง 2 คนอย่าง Steven Dohanos และ John Falter เพราะร็อกเวลล์นั้นเป็นเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์ที่ต้องการให้ภาพของเขาดูสมจริงและเนี้ยบที่สุด

อย่างภาพ Tired Sales Girl on Christmas Eve เขาก็ลงทุนบินไปถึงห้างสรรพสินค้า Marshall Field ที่ชิคาโก หยิบจับสินค้าในห้างที่เขาต้องการเพื่อสร้างฉากตามจินตนาการขึ้น ก่อนที่จะออดิชั่นแบบเพื่อถ่ายภาพแต่ในที่สุดก็ได้พนักงานเสิร์ฟสาวสาวน้อยวัย 17 ปี ในร้านอาหารข้าง ๆ มาโพสต์ท่าทางให้เขาได้ภาพต้นฉบับมา

จากภาพทั้งหมดที่เห็น ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้เราจะไม่ใช่ชาวอเมริกันที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมคริสมาสต์เท่าไหร่ และแม้เราอาจไม่ได้รู้จักร็อกเวลล์เท่าเพื่อนร่วมชาติของเขา แต่ภาพทั้งหมดที่ร็อกเวลล์รังสรรค์ขึ้นก็เอาชนะใจเราได้ไม่ยาก เพราะแต่ะละภาพนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยเล่าเรื่องราวให้เราได้รู้สึกผูกพันกับภาพนั้น ทั้งยังแฝงอารมณ์ขันที่ใครได้เห็นก็ต้องยิ้ม และเข้าใจว่าทำไมร็อกเวลล์จึงเป็นศิลปินที่คนอเมริกันรักยิ่ง

อ้างอิง :
illustration history
best-norman-rockwell-art
art and object
christies
joe latimer
learnodo-newtonic