1000 Years of Joys and Sorrows: The story of two lives, one nation, and a century of art under tyranny คือชื่อหนังสืออัตชีวประวัติความยาว 400 หน้าของ อ้าย เว่ยเว่ย ศิลปินนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ศัตรูตัวฉกาจ’ ของประเทศจีน ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเอง เนื้อหาภายในหนังสือที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาในต้นเดือน นี้คือการบอกเล่าเส้นทางชีวิตและผลงานของอ้าย เว่ยเว่ย ที่ไม่ได้นำเสนอแค่ชีวิตของศิลปินคนหนึ่ง แต่ยังสะท้อนถึงการต่อสู้ดิ้นรนอย่างไม่ยอมจำนนของมนุษย์คนหนึ่งที่ขัดขืนต่ออำนาจที่ใหญ่กว่าตัวเอง แต่ไม่ใหญ่ไปกว่าปณิธานของมนุษย์ผู้เป็นทั้ง ‘พ่อ’ และ ‘ลูกชาย’
อ้ายเผยว่า แรงบันดาลใจในการย้อนกลับไปสำรวจชีวิตของตัวเองผ่านงานเขียนอัตชีวประวัติเล่มนี้เกิดขึ้นขณะที่เขากำลังถูกจองจำโดยรัฐบาลจีนในช่วงปี 2011 โดยเขาต้องการที่จะให้เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกส่งต่อให้ อ้าย เหลา ลูกชายคนเดียวของเขา เพื่อให้เขาได้ทำความเข้าใจตัวตนของผู้เป็นพ่อ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เขาได้เข้าใจตัวเองด้วย เหมือนกับที่อ้าย เว่ยเว่ย ก็ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นจากการทำความเข้าใจชีวิตของ อ้าย ฉิง พ่อผู้ล่วงลับของเขานั่นเอง
“ในฐานะพ่อ ผมรู้สึกถึงความรับผิดชอบในการที่จะต้องส่งประสบการณ์ของพ่อและของผมเพื่อเป็นมรดกตกทอดให้ลูกชายของผมต่อไป ผมคิดว่า เรื่องราวของคนคนหนึ่งไม่ควรถูกตัดขาดจากความเข้าใจในที่มาที่ไปของตนเอง การทำความเข้าใจเรื่องราวในอดีตคือสิ่งที่กอปรเป็นตัวเราในวันนี้ ผมใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นอะไรที่หนักหนาสาหัสมาก ๆ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา”
1000 Years of Joys and Sorrows จึงเป็นบันทึกที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของอ้ายซึ่งจะทำให้ทั้งลูกชายของเขาและผู้อ่านทั่วไปได้ส่องเข้าไปสำรวจทุกสิ่งในชีวิตของอ้ายที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนของเขาในวันนี้ ตั้งแต่ชีวิตยากแค้นในวัยเด็กจากการเติบโตขึ้นมาในค่ายใช้แรงงานในช่วงการปกครองของ ผู้นำ เหมา เจ๋อตง เนื่องจากพ่อของเขาเป็นกวีหัวหอกของขบวนการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเนื้อหาในหนังสือก็จะให้น้ำหนักกับเรื่องราวของ อ้าย ฉิง และชีวิต 16 ปีในค่ายแรงงานของครอบครัวอ้ายถึง 150 หน้า จนทำให้ 1000 Years of Joys and Sorrows แทบจะเป็นหนังสือที่เล่าอัตชีวประวัติของอ้าย เว่ยเว่ย ควบคู่ไปกับชีวประวัติของ อ้าย ฉิง ซึ่งอ้าย เว่ยเว่ย ก็นำถ่ายทอดรายละเอียดความทรงจำในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายแรงงานอย่างชัดแจ้ง ตั้งแต่การเล่าถึงกระท่อมที่สี่คนพ่อแม่ลูกอาศัยหลับนอน เตียงที่เป็นเพียงพื้นดินสกปรกยกสูงแล้วคลุมด้วยฟาง หลังคาที่ต้องเจาะรูเพื่อเป็นช่องให้แสงลอดเข้ามา ตะเกียงน้ำมันก๊าดที่ทำให้รูจมูกของสี่คนพ่อแม่ลูกเป็นสีดำอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงการใช้ชีวิตร่วมกับหนูและเห็บหมัดจนเป็นเรื่องเคยชิน
การนำเสนอความทรงจำอันแร้นแค้นในวัยเด็กอย่างเห็นภาพและละเอียดลออนี้ก็เพื่อทำให้คนอ่านเห็นภาพว่า ความยากลำบากเหล่านี้คือเสี้ยวส่วนตัวตนที่ทำให้เขาเป็นเขาอย่างในทุกวันนี้ อ้ายเล่าว่าเขาไม่เคยลืมเลือนช่วงชีวิตอันยากลำบากนั้น และยังคงเก็บภาพกระท่อมมอซอนั้นไว้ในความทรงจำ รวมถึงตั้งเป็นภาพหน้าจอมือถือเพื่อเตือนให้ตัวเองระลึกถึงช่วงเวลาอันยากลำบากที่เขาเคยประสบมา หากแต่ว่าการจดจำนั้นหาใช่การจำเพื่อที่จะรื่นรมย์ไปกับชีวิตสุขสบายในวันนี้ แต่สำหรับอ้าย การจดจำความยากลำบากในวัยเด็กนั้นทำให้เขากลายเป็นศิลปินที่ไม่มีอัตตา และทำให้เขามุ่งมั่นสร้างสรรค์งานศิลปะที่เป็นการโต้กลับการกดขี่ของมนุษย์ที่คิดว่าตนมีอำนาจและอยู่เหนือกว่ามนุษย์ผู้อื่น
“การมีชีวิตที่แร้นแค้นยากจนและแสนว่างเปล่าในวัยเด็กส่งอิทธิพลต่อตัวผมเป็นอย่างมาก เพราะมันได้ทำให้ผมเข้าใจว่ามนุษย์เรานั้นเปราะบางเพียงใด”
และอ้ายยังเสริมอีกว่า ภัยที่เป็นอันตรายต่อมวลมนุษยชาติที่สุดนั้นหาใช้สิ่งใดอื่น นอกจากอำนาจของ ‘ทุน’
“ผมเคยคิดว่า ภัยอันตรายนั้นมาจากเหล่าผู้มีอำนาจ แต่ตอนนี้ผมรู้สึกได้ว่า ระบบทุนนิยมนั้นเป็นภัยอันตรายต่อมนุษย์ทั้งมวล มันจะทำลายสังคมของเราด้วยการกระตุ้นความปรารถนาที่จะมีให้ ‘มากขึ้น’
“ผมเกลียดมุมมองของคอมมิวนิสต์ ผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่เป็นอดีตไปไปแล้ว เราต้องย้อนกลับไปที่ความเป็นมนุษย์นิยม (humanism) ซึ่งหมายถึงการเคารพในชีวิต และสิทธิ์ของปัจเจกชนที่จะเป็นตัวเองและสามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดได้”
ภาพ: อ้าย เว่ยเว่ย นอนคว่ำหน้าบนชายหาดเพื่อเตือนให้ผู้คนระลึกถึง Aylan Kurdi เด็กชายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 3 ขวบที่จมน้ำเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เรือโดยสารของผู้ลี้ภัยที่พยายามข้ามมายังเกาะกรีกล่มกลางทะเล
อ้างอิง: Ai Weiwei: ‘It is so positive to be poor as a child. You understand how vulnerable our humanity can be’, Ai Weiwei Is Trying to Find His Way Home