ณ วินาทีนี้ต่อให้ใครไม่เคยอกหัก แต่ถ้าได้ฟังเพลง All Too Well เวอร์ชัน 10 นาทีของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อต้นสัปดาห์นี้ เชื่อว่าต่อให้ใจแข็งแค่ไหน ใครได้ฟังก็พร้อมจะลงไปนอนกอดตัวเอง เพราะทุกคำทุกท่อนในเพลงที่กลั่นจากประสบการณ์รักที่ผิดหวังนี้มันช่างเสียดแทงลึก เจ็บไปหมดทั้งหัวใจคนฟัง
สิ่งที่ตามมาพร้อมกับเสียงแซ่ซ้องของ All Too Well ที่มาพร้อมกับหนังสั้น 10 นาทีให้เหล่าสวิฟตีได้ไปตามหา Easter Eggs ที่ซ่อนอยู่นั้นก็คือการตามล่าหาตัวตนของ ‘คนคนนั้น’ ที่โยนกุญแจใส่เทย์เลอร์ เก็บผ้าพันคอสีแดงเอาไว้ และไม่ยอมมาปรากฏตัวในวันเกิดปีที่ 21 ของเทย์เลอร์ ซึ่งเหล่าสวิฟตีก็ทำหน้าที่เชื่อมโยงทุกอย่างในจักรวาล All Too Well จนก็รู้กันแล้วล่ะว่า ‘คนนั้น’ ใน ‘เพลงนี้’ คือใคร (ที่จริงก็รู้กันตั้งแต่เพลงเวอร์ชันแรกแล้ว) ซึ่งก็ต่อเนื่องมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์นักร้องสาวในเรื่องการนำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาแต่งเพลงซึ่งนอกจากจะแสดงความไม่มูฟอรแล้ว ยังทำให้แฟนคลับของตัวเองไประรานคนในเพลงอีกด้วย
เราจะไม่พูดถึงเรื่องความ ‘อินเกิน’ ของแฟน ๆ ที่เข้าไปถล่มคนในเพลง เพราะเราก็ไม่เห็นด้วยกับความอินเกินนี้เหมือนกัน แต่ในข้อกล่าวหาที่เทย์เลอร์เผชิญมาตลอด นั่นก็คือการนำเรื่องส่วนตัวของตัวเองมาถ่ายทอดนั้น เราอยากจะขอแก้ต่างแทนว่า ที่จริงแล้วเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ไปจนถึงประสบการณ์ส่วนตัวต่าง ๆ นี่ล่ะคือวัตถุดิบชั้นดีของเหล่าศิลปิน อารมณ์ว่ายิ่งเจ็บลึก งานยิ่งแซ่บ ยิ่งดำดิ่ง เนื้อเพลงยิ่งเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์
และก็ไม่ใช่มีแค่เฉพาะในแวดวงคนนักดนตรีเท่านั้นที่ใช้ประสบการณ์ความรักมาถ่ายทอดเป็นผลงาน ที่จริงแล้วในประวัติศาสตร์ศิลปะเองก็มีศิลปินอีกมากมายที่นำแง่มุมเรื่องความรัก โดยเฉพาะความรักที่ขื่นขม มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง
ว่าแล้วเราก็เลยขอยกตัวอย่างผลงานของศิลปินที่นำ ‘รักขื่นขม’ มาสร้างเป็นผลงานของตัวเอง และเพื่อให้เจ็บจี๊ดไปอีกขั้น เราเลยขอคัดผลงานที่มีความหมายสอดคล้องกับเนื้อเพลง All Too Well ด้วยซะเลย เพื่อให้เห็นกันไปเลยว่า อะไรที่อยู่ในเพลงของเทย์เลอร์ สวิฟต์ มีศิลปินที่เคยเจอและก็เอาสิ่งที่เคยเจอนั้นมาสร้างสรรค์ผลงานเหมือนกัน!
ถ้าพร้อมเจ็บไปด้วยกัน ก็เลื่อนไปดูกันเลย
‘เธอบอกว่าถ้าเราอายุใกล้กันมากกว่านี้ เราก็อาจไปกันได้
และนั่นแหละที่ทำให้ฉันอยากตาย’ - Camille Claude
คามิลล์ คลอเด็ล อายุเพียง 19 ปีตอนที่เธอได้พบกับ ออกุสต์ โรแด็ง วัย 43 ปี ชายผู้ที่จะกลายมาเป็นอาจารย์ก่อนที่จะกลายมาเป็นคนรักของเธอนานถึง 10 ปี ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน โดยเฉพาะฝ่ายโรแด็งที่ได้อุทิศผลงานหลายชิ้นให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งความรักระหว่างเขาและคู่รักผู้อ่อนวัยกว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้น Camille Claudel with Short Hair หรือ Mask of Camille Claudel หรือแม้กระทั่งประติมากรรมที่นำเสนอร่างของชายหญิงที่กอดกระหวัดรัดกันอย่าง I Am Beautiful and Eternal Springtime ก็เป็นงานที่โรแด็งได้แรงบันดาลใจมาจากความปรารถนารุนแรงที่เขามีต่อคลอเด็ล
แต่แม้ว่าความรู้สึกที่โรแด็งมีต่อคู่รักสาวของเขาจะซาบซึ้งดื่มด่ำเช่นใด แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้เขากล้าตัดสัมพันธ์กว่า 20 ปีที่เขามีร่วมกับคนรักผู้มาก่อนอย่าง โรส โบเรต์ ความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์แบบลับ ๆ ทำให้คลอเด็ลต้องขอหลบไปพักใจให้ห่างไกลจากโรแด็งหลายครั้ง แต่ทุกครั้งเธอก็มีอันใจอ่อนและกลับมาสานสัมพันธ์กับโรแด็งอยู่ร่ำไป
แต่ความสัมพันธ์ฉันคู่รักของทั้งสองก็มาถึงจุดสิ้นสุดในปี 1892 หลังจากที่ครอบครัวของคลอเด็ลสั่งให้เธอไปทำแท้งลูกในท้องของเธอกับโรแด็ง แต่ทั้งคู่ก็ยังคงพบปะกันในฐานะเพื่อนร่วมงานจนถึงปี 1889
จุดสะบั้นของมิตรภาพของทั้งคู่มาถึงในปี 1902 เมื่อคลอเด็ลเปิดตัวผลงานที่ชื่อว่า The Mature Age ซึ่งนำเสนอภาพร่างสามร่าง โดยที่ตรงกลางคือร่างของผู้ชายวัยกลางคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างหญิงชราที่กำลังเกาะไหล่เขา กับหญิงสาวที่เหมือนกับกำลังพยายามรั้งผู้ชายเอาไว้
แม้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้จะสามารถตีความในแง่ของการเป็นภาพสะท้อนชีวิตของมนุษย์ที่ต้องทิ้งไว้เยาว์ไว้ข้างหลังเพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ แต่ในมุมมองของโรแด็ง งานชิ้นนี้ไม่อาจมีความหมายอื่นไปได้นอกจากการสะท้อนภาพความสัมพันธ์รักสามเส้าระหว่างเขา โรส และคลอเด็ล ซึ่งหลังจากที่ได้เห็นผลงานชิ้นนี้ โรแด็งก็ได้ตัดสัมพันธ์กับคลอเด็ลอย่างสิ้นเชิง
หลังปี 1905 เป็นต้นมา คลอเด็ลเริ่มแสดงสัญญาณของอาการทางจิตหลังจากที่เธอทำลายผลงานประติมากรรมที่ทำมากับมือหลายต่อหลายชิ้น รวมทั้งกล่าวหาว่าโรแด็งขโมยไอเดียและยังวางแผนที่จะฆ่าเธอด้วย เธอถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ครอบครัวของเธอได้สั่งขังเธอในโรงพยาบาลจิตเวชนานกว่า 30 ปี และแม้ว่าจะมีช่วงที่หมอลงความเห็นว่าคลอเด็ลสามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้แล้ว แต่แม่และพี่ชายของเธอก็ยังคงยืนกรานให้ขังเธอไว้ในโรงพยาบาลจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
“อยากกลับไปเป็นคนเดิมอีกครั้ง
แต่ยังคงตามหาว่าคนคนนั้นไปอยู่ที่ไหน” - Frida Kahlo
ฟรีดา คาห์โล วาดภาพนี้ในปีเดียวกับที่เธอหย่าขาดจาก ดิเอโก ริเวรา สามีผู้เป็นศิลปินใหญ่แห่งดินแดนอเมริกาใต้ ผู้ที่ส่งแรงบันดาลใจและอิทธิพลต่อผลงานและตัวตนของคาห์โล และเป็นคนที่คาห์โลให้คำนิยามว่า “เป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ครั้งที่สองในชีวิต” โดยที่ครั้งแรกคืออุบัติเหตุที่เธอถูกรถบัสชนจนทำให้เธอต้องทุกข์ทรมานทางร่างกายไปตลอดชีวิต
The Two Fridas ได้รับการตีความในหลายมิติ แต่ด้วยความที่มันถูกวาดในปีเดียวกับที่คาห์โลหย่าขาดจากริเวรา คำอธิบายส่วนใหญ่จึงเอนน้ำหนักไปทางการตีความภาพนี้ในฐานะภาพสะท้อนรักที่ล่มสลายของคาห์โล เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะส่วนใหญ่ตีความเช่นนั้น ก็เพราะภาพวาดที่นำเสนอคาห์โลในสองลักษณะที่แตกต่างกันนี้ สามารถเชื่อมโยงกับการที่ริเวราเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คาห์โลหันมาสวมใส่เสื้อผ้าเม็กซิกันพื้นเมืองจนกลายมาเป็นภาพจำของเธอ (คาห์โลด้านขวามือ) จากเดิมที่เธอเคยแต่งตัวตามวิถีของผู้หญิงยูโรเปียน (ดังคาห์โลด้านซ้ายมือ) เนื่องจากเติบโตขึ้นมาในบ้านที่พ่อเป็นคนเยอรมัน
คาห์โลในชุดพื้นเมืองเม็กซิกันถือภาพพอร์เทรตของริเวราเอาไว้บนตัก ราวกับจะเป็นการสื่อนัยถึงตัวตนใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากริเวรา ในขณะที่คาห์โลเวอร์ชันยูโรเปียนถือคีมผ่าตัดไว้ในมือ เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจและทำหน้าที่เชื่อมโยงกับคาห์โลเวอร์ชันเม็กซิกันถูกตัดขาด เส้นเลือดที่ถูกตัดขาดนี้สะท้อนถึงการตัดสายสัมพันธ์กับตัวตนเดิมหลังจากที่เธอได้พบกับริเวรา คาห์โลกลายเป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งตามที่ริเวราอยากให้เธอเป็น
แม้ว่าการนำเสนอภาพคาห์โลทั้งสองเวอร์ชันจะทำให้ดูราวกับว่าเธอมีสองตัวตน แต่เส้นเลือดที่เชื่อมโยงทั้งสองเข้าไว้ด้วยกันก็คล้ายกับจะบอกเป็นนัยว่า ตัวตนของคาห์โลประกอบขึ้นจากตัวตนทั้งสองแบบนี้ และไม่แม้จะเจ็บปวดขื่นขม แต่เรื่องราวความเจ็บปวดในชีวิตก็คือเสี้ยวส่วนหนึ่งของตัวเธอเช่นกัน
‘แล้วคุณก็ได้ครอบครองชีวิตอันว่างเปล่าของฉัน’ - Gustave Courbet
ดูเผิน ๆ ผลงานชิ้นนี้ก็อาจเป็นเพียงภาพวาด Self-Portrait ของ กุสตัฟ โคแบต์ ศิลปินคนดังแห่งศิลปะยุคสัจนิยม หาได้มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่ที่จริงแล้วเรื่องราวเบื้องหลังของภาพนี้กลับเป็นเรื่องรักหัวใจสลายของชายหนุ่มที่ถูกความรักทำร้ายจนทำให้กลายเป็นคน ‘ไร้หัวใจ’
ร่างแรกขอผลงานชิ้นนี้คือภาพวาดด้วยดินสอถ่านหินที่วาดเป็นภาพของโคแบต์เอนกายท่ามกลางแมกไม้ ในวงแขนของเขาตระกองกอดหญิงสาวคนรักเอาไว้
แต่เมื่อความสัมพันธ์ของโคแบต์กับหญิงคนรักเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดในอีก 10 ปีต่อมา โคแบต์ก็กลับมามองผลงานชิ้นนี้ที่เป็นดังประจักษ์พยานความรักที่เคยมี วันคืนและความทรงจำอันหวานชื่นนั้นกลับกลายเป็นดังมีดกรีดลึกลงในใจของคนที่ยังจำ เพื่อจะลบภาพของเธอคนนั้นออกไปจากใจ โคแบต์จึงตัดสินใจแก้ภาพนี้ใหม่ เขาลบภาพหญิงสาวออก แล้วเพิ่มบาดแผลที่เหมือนโดนมีดแทงไว้ตรงตำแหน่งที่เคยเป็นเธอนอนทอดร่างในอ้อมกอดของเขา พร้อมทั้งแต้มสีแดงแทนรอยเลือดลงไปที่อกเสื้อ ราวกับจะเป็นการบอกเป็นนัยว่า เมื่อเธอจากไป เธอก็เอาหัวใจของเขาไปด้วย และสิ่งที่เหลือไว้ก็เป็นเพียงบาดแผลฉกรรจ์บาดเจ็บเจียนตาย
“ดังคำศักดิ์สิทธิ์ที่เราร่วมสาบาน ว่าจะจดจำมันไว้ไม่ลืม” - Marina Abramović & Ulay
วันที่ 30 มีนาคม 1988 Marina Abramović และ Ulay ได้เริ่มออกเดินทางจากจุดสตาร์ทของตัวเองจากคนละฝั่งของกำแพงเมืองจีน เพื่อเริ่มต้นงานศิลปะแสดงสดอีกชิ้นหนึ่งของพวกเขาที่จะเป็นดังบทสรุปเรื่องราวความรักอันงดงามของทั้งคู่ ซึ่งถึงกับเคยเปรียบว่าพวกเขาเป็นดัง ‘ร่างที่มีสองหัว’ (Two-headed body) อันมาจากการที่ทั้งคู่เป็นทั้งคู่รักและคู่คิดในการสร้างผลงานต่าง ๆ ด้วยกัน
บนกำแพงเมืองจีนที่เปรียบกันว่าเป็นดัง ‘สันหลังของมังกรที่กำลังหลับใหล’ ซึ่งมีความยาวกว่า 20,000 กิโลเมตร (คิดภาพว่าระยะทางจากเชียงใหม่ถึงเบตงคือประมาณ 1,900 กิโลเมตร)
Abramović เริ่มเดินจากฝั่งหัวของมังกรที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก โดยเส้นนี้จะพาดผ่านพื้นที่ชายฝั่งของอ่าวปั๋วไห่ซึ่งติดต่อกับทะเลเหลืองที่อยู่ระหว่างจีนกับเกาหลี ถัดออกไป 5,000 กิโลเมตรจาก Abramović นั่นคือส่วนหางของมังกร ซึ่งเป็นจุดสตาร์ทของ Ulay ที่อยู่ในทะเลทรายโกบี
ตลอด 90 วันของการเดินทางเพื่อมาพบกันที่จุดกึ่งกลางของสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้ง Abramović และ Ulay ออกเดินวันละ 20 นาที และต้องผ่านบางจุดที่แทบจะต้องตะเกียกตะกายเกาะหน้าผาโดยที่อีกฝั่งคือหุบเหวลึก
ทั้งคู่มาพบกัน ณ จุดกึ่งกลางของกำแพงที่อยู่ในมณฑลส่านซี ท่ามกลางสิ่งรายล้อมที่เป็นวัดจีนโบราณซึ่งสร้างขึ้นในราชวงศ์หมิง ทั้งคู่โผเข้ากอดกัน Abramović ร้องไห้ออกมา ในขณะที่ Ulay บอกกับเธอว่าเขาต้องการที่จะเดินคู่ไปกับเธอตลอดไป
แต่ไม่มีงานแต่งงานเกิดขึ้น ณ จุดกึ่งกลางของกำแพงเมืองจีนนั้น หลังจากงานแถลงข่าวที่ปักกิ่งจบลง ทั้งคู่ก็แยกกันกลับสู่อัมสเตอร์ดัม และไม่ได้เจอหน้าพูดคุยกันอีกเลยตลอด 22 ปีถัดมา
ที่จริงแล้วในตอนที่ทั้งสองเริ่มทำโปรเจกต์นี้ พวกเขาตั้งใจที่จะแต่งงานกันจริง ๆ บนกำแพงเมืองจีนนั้น หากแต่ว่าในระหว่างการรอการตอบรับจากทางการจีนที่กินเวลายืดยาวถึง 5 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นทั้งคู่ก็เริ่มมองเห็นเป้าหมายในการทำงานที่ต่างกัน จนทำให้ความรู้สึกเริ่มจืดจางลงในที่สุด
สุดท้ายแล้ว บทสรุปของการมาพบกันที่จุดกึ่งกลางของกำแพงเมืองจีนจึงเปลี่ยนไป จากเดิมที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ จึงเปลี่ยนมาเป็นจุดสิ้นสุดและการบอกลากัน
“คุณเก็บฉันไว้เป็นความลับ
แต่ฉันรักษาคุณไว้เหมือนคำปฏิญาณ” - Edvard Munch
สำหรับศิลปินคนดังแห่งลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) อย่าง เอ็ดวาร์ด มุงก์ ‘ความเศร้า’ คือแรงบันดาลใจชั้นดีในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
ในช่วงต้นอายุ 20 มุงก์ในวัยหนุ่มได้พบกับ มิลลี โธโลว์ หญิงสาวอายุมากกว่าผู้เกี่ยวดองกับเขาในฐานะภรรยาของลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง จากการพบกันผ่านสายสัมพันธ์ทางครอบครัว ทั้งคู่เริ่มแอบลักลอบพบกันอย่างลับ ๆ และโธโลว์ก็คือผู้สอนประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกให้กับมุงก์ด้วย
มุงก์หลงใหลคลั่งไคล้ในตัวโธโลว์อย่างมาก นั่นทำให้เมื่อโธโลว์ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์เร้นรักครั้งนี้ มุงก์จึงถึงขั้น ‘แหลกสลาย’ ดังที่เขาเขียนพรรณนาความรู้สึกถึงเพื่อนของเขาว่า
“มันเหมือนกับถูกเผาทั้งเป็น ฉันตกเป็นทาสของความรักอันหายนะ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฉันเกือบจะเป็นบ้าเพราะมัน”
ในภาพ Ashes มุงก์นำเสนอฉากหลังเป็นป่าซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขามักลักลอบมาพบกัน หญิงสาวตรงกลางภาพยืนเด่นเป็นสง่าพร้อมเอามือไขว้ไว้ที่หลังศีรษะด้วยท่าทางสบาย ๆ บ่งบอกถึงการที่เธอไม่ได้แยแสต่อโศกนาฏกรรมแห่งความรักในครั้งนี้ ในขณะที่ชายหนุ่มในภาพนอนคุดคู้อย่างสิ้นแรงและโศกเศร้า
ที่จริงแล้วภาพนี้จะเชื่อมโยงกับผลงานที่มุงก์วาดขึ้นในช่วงปีเดียวกันคือ In Love and Pain (1893–94) ซึ่งนำเสนอภาพแวมไพร์สาวที่กำลังดื่มเลือดจากคอของชาวหนุ่ม เมื่อนำมาเชื่อมโยงกัน ภาพ Ashes จึงเป็นเหมือนฉากหลังการล่มสลายของความรักที่หญิงสาวคนรักลับ ๆ ได้ดูดพลังชีวิตจากมุงก์ไปจนหมดสิ้น เธอจึงดูมีเรี่ยวแรงและชีวิตชีวา ในขณะที่มุงก์ต้องนอนพังพาบอย่างไร้เรี่ยวแรงเพราะพลังชีวิตที่แห้งเหือดไปพร้อมกับความรักที่จบลงในครั้งนี้
และสำหรับเหตุผลที่ทำให้ภาพของโศกนาฏกรรมความรักในป่าภาพนี้ถูกเรียกว่า Ashes มุงก์ก็ได้ให้เหตุผลไว้เป็นข้อความที่อยู่ข้างหลังภาพ “ความรักของเราแหลกสลายกลายเป็นเถ้าถ่านกองอยู่บนผืนดิน” ในยามรัก เขารู้สึกราวกับถูกสุมด้วยไฟ แต่เมื่อเธอจากไป สิ่งที่เหลือไว้ก็เป็นเพียงเศษซากของความรักที่แทบไม่มีใครรู้ว่าเคยมีอยู่จริง
อ้างอิง: 8 Famous Artists Who Turned Heartbreak into Art, The Two Fridas, Edvard Munch: Beyond The Scream