GC_artterm_abject art.jpg

Abject Art ศิลปะแห่งความโสโครก อาจม และความน่ารังเกียจ

Art
Post on 15 April

ครั้งหนึ่ง ตัวแม่เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต มารีนา อับราโมวิช เคยกล่าววลีในตำนานว่า “ศิลปะต้องงดงาม ศิลปินก็ต้องงดงามเช่นกัน” (“Art must be beautiful, the artist must be beautiful”)

ใครที่ติดตามผลงานของอับราโมวิชก็อาจตะขิดตะขวงใจว่า นิยามศิลปะในความหมายของอับราโมวิชนั้นช่างขัดกับผลงานการแสดงหลายชิ้นของเธอที่ชวนขนลุกและเบือนหน้าหนี เสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น Rhythm 0 (1974) ที่เธอสำรวจความรุนแรงในสังคมด้วยการเชื้อเชิญให้คนดูหยิบอุปกรณ์ที่เธอจัดเตรียมไว้มาทำอะไรกับร่างกายของเธอก็ได้ หรือใน Balkan Baroque (1997) ที่เธอใช้เวลา 6 วันไปกับการขัดเลือดออกจากกระดูกวัว 2,500 ชิ้น อันเป็นการสะท้อนความสิ้นหวังต่อภาพโลกที่ปราศจากการเข่นฆ่าและสงคราม

‘ความงาม’ ในความหมายของอับราโมวิชผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันน่าพรั่นสะพรึงคืออะไร? เลือดที่รินไหลออกมาจากบาดแผลที่เกิดจากคมมีดและหนามกุหลาบใน Rhythm 0 จะเป็นความงามได้อย่างไร? แล้วเราในฐานะผู้ชมจะมองภูเขากระดูกวัวเปื้อนเลือดให้เป็นความงามได้อย่างไร?

‘ความงามขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ชม’ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่เราสามารถมองเห็นความงดงามในเลือด กระดูก ซากศพ ความเน่าเปื่อย ความสกปรก อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ และสารพันสิ่งชวนสำรอกที่มักถูกหยิบมาใช้เป็นซับเจกต์หลักในงานศิลปะร่วมสมัยได้ แค่เพียงลองเปิดใจมองสิ่งน่าขยะแขยงเหล่านั้นผ่านสายตาของ ‘Abject Art’ ศัพท์ศิลปะคำแรกในซีรีส์ Artเทอม อันว่าด้วยศิลปะแห่งความงดงามในความน่ารังเกียจ ที่ชวนผู้ชมเบิกตากว้างด้วยความพรั่นพรึง เพื่อไปสำรวจสิ่งที่ชวนเบือนหน้าหนี

Abjection คืออะไร

Abjection มีความหมายตรงตัวตามพจนานุกรมว่า ความต่ำช้าน่าสงสาร น่าปลงอนิจจัง น่าสังเวช กระทั่งในปี 1980 จูเลีย คริสเตวา นักปรัชญาและนักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้ใช้คำว่า Abjection ในการนำเสนอแนวคิดทางจิตวิทยาและภาษาศาสตร์ ซึ่งสำรวจลึกลงไปยังต้นตอที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์และขยะแขยง อันเป็นปฏิกิริยาที่คนทั่วไปมีต่อสิ่งสกปรกอันน่ารังเกียจต่าง ๆ แม้ว่าสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นจะมีที่มาจากร่างกายของตัวเราเอง เช่น เลือด อ้วก อสุจิ น้ำเหลือง บาดแผล เลือดประจำเดือน อุจจาระ ปัสสาวะ รวมไปถึงซากศพ ไวรัส หรือแบคทีเรียด้วย

ในขณะที่ Abjection เป็นคำที่อธิบายถึงปรากฏการณ์ ‘ความรู้สึก’ สังเวชและเดียดฉันท์ คริสเตวาได้นำเสนอคำว่า The Abject (ดิ แอ็บเจกต์) เพื่อใช้เรียกวัตถุที่นำมาและกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกขยะแขยงน่ารังเกียจ ซึ่งในที่นี้ก็คือบรรดาสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น คริสเตวาอธิบายลักษณะของ ดิ แอ็บเจกต์ ไว้ในงานเขียนที่ชื่อว่า Powers of Horror: An Essay on Abjection เธอกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ ดิ แอ็บเจกต์ เหล่านี้กระตุ้นความรู้สึกสยดสยองและขยะแขยงในตัวเรา ก็เพราะวัตถุหรือสสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ ‘ก้ำกึ่ง’ ระหว่างภายนอกกับภายในตัวของเรา และลักษณะของตัวมันเองก็ยังก้ำกึ่งระหว่างความมีรูปร่างกับไร้รูปร่าง (Form และ Formless) 

<p><i>จูเลีย คริสเตวา</i></p>

จูเลีย คริสเตวา

สถานะความก้ำกึ่งของ ดิ แอ็บเจกต์ ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในรูปหรือตำแหน่งใดได้อย่างชัดเจนนี้ ผลักให้ตัวเราที่ดำรงอยู่ในโลกแห่งสัญญะและความหมายกลับเข้าไปเผชิญกับโลกก่อนสัญญะและความหมาย อันเป็นสภาวะที่เราเคยเผชิญเมื่อยังเป็นเด็กทารกซึ่งยังไม่รู้ภาษา ซึ่งความรู้สึกตื่นตระหนกเมื่อเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ ก็มาจากความพรั่นพรึงเมื่อเราถูกผลักออกจากโลกที่คุ้นเคยและสามารถทำความเข้าใจได้อย่างเป็นระบบ ไปสู่โลกแห่งความไร้ระเบียบที่มีแต่สัญชาตญาณความต้องการอันดิบเถื่อนของมนุษย์ เช่น หิว ง่วง รำคาญ ฯลฯ ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นขั้นตอนของพัฒนาการเมื่อเรายังเป็นทารกที่ยังไม่เข้าสู่ระบบสังคม และยังไม่ได้พัฒนา ‘ตัวตน’ (Identity) นั่นเอง

<p><i>Nicolas Deshayes, Cramps, 2015</i></p>

Nicolas Deshayes, Cramps, 2015

ด้วยเหตุนี้ คริสเตวาจึงสรุปว่า ความรู้สึกรังเกียจหรือพรั่นพรึงเมื่อเราเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ นั้น หาได้มาจากความสกปรกหรือเหตุผลด้านสุขภาพอนามัย แต่เพราะ ดิ แอ็บเจกต์ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ ‘รบกวน’ ระบบและความหมายต่าง ๆ รวมไปถึงความหมายของตัวตนของเราด้วย ‘ศพ’ จึงเป็นตัวอย่างของ ดิ แอ็บเจกต์ ที่สมบูรณ์ที่สุดตามทัศนะของคริสเตวา เพราะเมื่อเราเผชิญหน้ากับศพ เส้นแบ่งระหว่างความเป็นตัวเรากับศพจะมลายหายไป ทำให้ภาพของตัวเรากับศพซ้อนทับกัน ส่งผลให้ตัวเราตระหนักถึงสภาวะการเป็นเพียงแค่ ‘สสาร’ (Materiality) ของตัวเอง (จะเรียกว่า ‘ปลงสังขาร’ ก็อาจจะได้)

คริสเตวาอธิบายว่า ในเชิงจิตสำนึกเรื่องตัวตน การเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ นับเป็นประสบการณ์บาดแผล (Trauma) เพราะเมื่อเราเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ เรากำลังเผชิญหน้ากับการสูญสลายของความหมายเรื่องตัวตน เพราะเส้นแบ่งระหว่างการเป็นผู้กระทำ (Subject) และผู้ถูกกระทำ (Object) หรือ ตัวเรา (Self) กับผู้อื่น (Other) ได้สูญสลายหายไป

<p>ผลงานภาพถ่ายของ Joel-Peter Witkin ที่มักใช้ ‘ศพ’ จริง ๆ มาเป็นองค์ประกอบหลัก</p>

ผลงานภาพถ่ายของ Joel-Peter Witkin ที่มักใช้ ‘ศพ’ จริง ๆ มาเป็นองค์ประกอบหลัก

Abject ในโลกศิลปะ

ด้วยความที่เป้าหมายของแนวคิดเรื่อง Abjection คือการมุ่งสำรวจ ‘ความเป็นอื่น’ ที่ลื่นไหลอยู่นอกเหนือไปจากความหมาย สถานะ นิยาม รวมไปถึงเส้นแบ่งต่าง ๆ แนวคิดนี้จึงถูกนำไปใช้ในการศึกษาเรื่องคนชายขอบ ชนกลุ่มน้อย ไปจนถึงการศึกษาเรื่องสตรีนิยมและขบวนการ LGBTQ+ หรือความเป็นเควียร์ (ที่ลื่นไหลอยู่ระหว่างกรอบเรื่องเพศสภาพขั้วตรงข้าม ไม่เป็นทั้งชายและหญิง หรือเป็นทั้งชายและหญิง)

“ความหมายของ Abjection ไม่ได้มาจากความสกปรกของตัวมัน แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่รบกวนอัตลักษณ์ ระบบ และการจัดลำดับ มันไม่สนใจเรื่องขอบเขต สถานะ หรือกฎ เและพราะตัวมันเองนั้นเป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลาง ก้ำกึ่ง คลุมเครือ และประกอบขึ้นจากหลายสิ่งรวมกัน”

เมื่อนำแนวคิดเรื่อง Abjection ไปจับกับภาพสังคมขนาดใหญ่ ดิ แอ็บเจกต์ จึงไม่ใช่แค่อ้วก อุจจาระ เลือด หรือบาดแผล แต่เป็นสิ่งที่อยู่นอกกรอบสังคมและศีลธรรม ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สบายใจของคนในสังคม (รวมถึงทำให้อยากขจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป) ตั้งแต่คนไร้บ้านซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รบกวนภาพสังคมในอุดมคติ กลุ่มคนผิวสีต่าง ๆ ผู้หญิง ไปจนถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงท้าทายต่อกรอบเรื่องค่านิยมทางเพศของสังคมรักเพศตรงข้าม (Heteronormativity - มุมมองที่ว่าความรักและการครองคู่ระหว่างคนต่างเพศป็นเรื่องปกติ นอกเหนือไปจากนั้นถือเป็นสิ่งที่แปลก) แต่ยังท้าทายต่อมุมมองด้านเพศที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ในตัวเราด้วย

<p><i>Kiki Smith, Tale, 1992</i></p>

Kiki Smith, Tale, 1992

ในโลกของศิลปะ Abject Art หรืองานศิลปะที่เล่นกับความขยะแขยงถูกศิลปินนำมาใช้เป็นหนทางในการท้าทายกรอบทางสังคมและศีลธรรม นำเสนอการพร่าเลือนของเส้นแบ่งต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมองเห็นได้ เพื่อเปิดให้ผู้ชมเข้าไปสำรวจสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับและอยากขจัดออกไป Abject Art จึงมักเป็นงานที่เห็นได้ในศิลปินผู้เคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเฟมินิสต์ ศิลปินกลุ่ม LGBTQ+ ไปจนถึงศิลปินกลุ่มผิวสีและคนกลุ่มน้อย

<p><i>Cindy Sherman, Untitled #172 , 1987</i></p>

Cindy Sherman, Untitled #172 , 1987

Abject Art ยังท้าทายต่อคำนิยามเรื่องความงามและสุนทรียะในแวดวงศิลปะด้วย ในปี 1993 พิพิธภัณฑ์ Whitney Museum of American Art ได้จัดนิทรรศการ ‘Abject Art’ นอกจากจะท้าทายกรอบทางศีลธรรมและค่านิยมในสังคมแล้ว จุดประสงค์ของนิทรรศการในครั้งนั้นยังเป็นไปเพื่อดึงศิลปะให้กลับมาอยู่ที่ ‘ร่างกาย’ ของมนุษย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ขบวนการเคลื่อนไหวในโลกศิลปะกระแสหลักล้วนเป็นเรื่องของการสำรวจ ‘ความคิด’ ไม่ว่าจะเป็น Minimalism, Conceptual art หรือ Postmodernism และแม้ว่าจะเป็นการสำรวจร่างกาย แต่การกลับมาสำรวจร่างกายในครั้งนี้ก็หาใช่การสำรวจร่างกายตามอุดมคติความงามจากยุคเรอเนซองส์ แต่เป็นการสำรวจร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ น่ารังเกียจ มีบาดแผล หรือ ร่างกายที่เป็น ดิ แอ็บเจกต์ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมอเมริกันในยุคนั้นที่มีกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันผิวดำออกมาเคลื่อนไหวใหรัฐบาลแก้ปัญหาความยากจนในคนผิวดำ รวมไปถึงปัญหาคนผิวดำล้นคุกที่ในช่วง 1970 - 2005 มีนักโทษคนผิวดำเพิ่มขึ้นถึง 700 เปอร์เซ็นต์

มองความงดงามในความน่ารังเกียจ

แล้วเราจะมองซากศพ อุจจาระ อ้วก หรือเลือดประจำเดือนให้งดงามได้อย่างไร? จริงอยู่ว่า Abject Art ไม่ได้มีคุณค่าความงดงามในแง่ของการให้ภาพจรรโลงใจหรือทำให้เกิดความรุ่มรวยทางสายตา แต่ความงดงามของ Abject Art นั้นอยู่ใน ‘ประสบการณ์’ ที่ผู้ชมได้ถูก ‘กระตุ้น’ ให้ตื่นรู้และฉุกคิด ดังที่ ฮัล ฟอสเตอร์ นักวิจารณ์ศิลปะคนดังเคยให้ความเห็นไว้ในงานเขียนของเขาที่ชื่อว่า Obscene, Abject, Traumatic (1996) โดยเขากล่าวว่า กระบวนการทำงานศิลปะในยุคของศิลปะร่วมสมัยนั้นหาใช่การสร้างความงดงามจรรโลงใจเพื่อ ‘ปลอบประโลม’ แต่เพื่อ ‘กระตุ้นเร้า’ และทำให้เกิดความรู้สึกอาบเอิบด้วยความตระหนักรู้ ประหนึ่งความรู้สึก ‘Sublime’ นั่นเอง (อ่านเรื่อง Sublime เพิ่มเติมได้ที่ https://groundcontrolth.com/blogs/438) 

<p><i>Judy Chicago, Red Flag, 1971</i></p>

Judy Chicago, Red Flag, 1971

ความเฟื่องฟูของแนวคิดเรื่อง Abjection ในโลกศิลปะยุคปัจจุบัน ยังเป็นผลมาจากการที่ศิลปินเลือกใช้ความไม่น่าโสภาเหล่านี้เพื่อดึงผู้ชมให้ ‘หลุดพ้น’ จากกรอบค่านิยม รวมไปถึงการหลุดพ้นจากเขตปลอดภัยในโลกสมัยใหม่ที่มีรากฐานอยู่บนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ในโลกของ Abject Art ผู้ชมถูกกระตุ้นให้เผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก ความเหลื่อมล้ำ ความเจ็บปวด โรคภัย และความตาย อันนำมาซึ่งความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเราในอีกมุมมองหนึ่งที่ความเอิบอาบจากการจ้องมองสิ่งสวยงามไม่สามารถมอบให้เราได้ และอาจฉุดกระชากเราให้กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม

ต่อไปนี้คือตัวอย่างของ Abject Art งานศิลปะที่ชวนเรามองหาความงดงามในความน่าขย้อน

The Class (2005)
อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

งานของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข มักเป็นการสำรวจสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันของเส้นแบ่งที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็น ชีวิต/ความตาย, มนุษย์/สัตว์, ความจริง/เรื่องแต่ง ฯลฯ ซึ่งงานที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะโลกมากที่สุดคงหนีไม่พ้นซีรีส์วิดีโออาร์ตในช่วงระหว่าง 1990s-2000s ที่เธอทำงานกับร่างไร้ชีวิตหรือ ‘ศพ’ ทั้งการอ่านหนังสือให้ศพฟัง ไปจนถึงสอนหนังสือให้ศพ

ใน The Class (2005) อาจารย์อารยาเปิดคลาสสอนวิชาเรื่อง ‘ความตาย’ ต่อหน้าร่างไร้ชีวิต 6 ศพ ภาพของคนเป็นที่กำลังสอนคนตายเรื่องความตายในห้องดับจิตนั้นทั้งชวนขบขันในความตลกร้าย และในขณะเดียวกันก็ชวนให้คนดูรู้สึกกระอักกระอ่วนและพรั่นพรึง

คลาสสอนวิชาความตายให้กับคนตายนี้คือการเชื้อเชิญให้คนดูเข้ามาทำความเข้าใจความหมายของ การสูญเสียและความตาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเชื้อชาติหรืออยู่ในสถานะทางสังคมใดล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญร่วมกัน ขณะที่ผู้ชมกำลังจ้องมองและฟังเลคเชอร์คลาสวิชาความตายที่มีนักเรียนเป็นคนที่ตายไปแล้ว พวกเขาก็ถูกผลักให้ไปยืนอยู่ตรงสุดแดนของเส้นแบ่งระหว่างความเป็นกับความตาย ตัวเรากับร่างไร้ชีวิต และครุ่นคิดถึงสถานะที่แทบไม่ต่างกันระหว่างกายเนื้อของเรา กับกายเนื้อที่กำลังเน่าเปื่อยอยู่ตรงหน้า

Menstruation Bathroom (1972)
Judy Chicago

ในปี 1972 ศิลปินเฟมินิสต์ตัวแม่ จูดี ชิคาโก ได้ร่วมมือกับศิลปินหญิงอีกหลายคน สร้างผลงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า Womanhouse ที่ในเวลาต่อมาจะได้ชื่อว่าเป็นการจัดแสดงศิลปะสาธารณะ (Public Art) ที่มีแก่นว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงเป็นครั้งแรก ภายใน Womanhouse เต็มไปด้วยผลงานศิลปะจัดวาง งานประติมากรรม การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต และงานศิลปะโดยศิลปินหญิงมากมาย โดยผลงานทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกันคือการประกาศการต่อต้านต่ออุดมการณ์ปิตาธิปไตยในยุคนั้นที่เข้มแข็งและทรงอำนาจสุด ๆ รวมไปถึงการสะท้อนภาพจำของผู้หญิงที่ถูกผูกติดกับความคาดหวังให้พวกเธอเป็นแค่แม่และเมีย ซึ่งเป็นการยึดโยงผู้หญิงเข้ากับพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องซักรีด เป็นต้น

หนึ่งในงานที่ทรงพลังที่สุดในบ้านของสตรีก็คือผลงานของจูดี ชิคาโก ที่มีบริบทเบื้องหลังเป็นการวิพากษ์โลกศิลปะอันเป็นพื้นที่ที่ชายเป็นใหญ่ ชิคาโกได้สร้าง Menstruation Bathroom หรือ ‘ห้องประจำเดือน’ ที่เป็นห้องน้ำซึ่งเต็มไปด้วยผ้าอนามัยเปื้อนเลือดส่งกลิ่นคละคลุ้ง ชิคาโกสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อล้อเลียนและท้าทายกลุ่มศิลปินที่ถูกยกย่องว่าเป็นกลุ่มศิลปินก้าวหน้าจากการนำ ‘ขยะ’ หรือสิ่งของอื่น ๆ มาแปลงเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น มาร์เซล ดูชอมป์ ไปจนถึง อาร์มาน ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่นำขยะมายัดใส่ไว้ในที่ครอบแก้ว แล้วนำไปตั้งไว้บนแท่นหรูหราประหนึ่งงานศิลปะล้ำค่า กลายเป็นผลงานศิลปะที่ชื่อว่า La Condition de la femme n°1 หรือ The Condition of the Woman ซึ่งสั่นสะเทือนแวดวงศิลปะในยุคนั้นด้วยการท้าทายคุณค่าของศิลปะด้วยความน่ารังเกียจและต่ำต้อย

แต่ที่จริงแล้ว การนำขยะหรือของเหลือใช้มาทำงานศิลปะก็เป็นสิ่งที่ศิลปินหญิงเคยทำกันมานานแล้ว แต่กลับไม่เคยได้รับการยกย่อง ด้วยเหตุนี้เอง ชิคาโกจึงตอกกลับแวดวงศิลปะที่ไม่เคยให้ค่าในงานของผู้หญิงด้วยการสร้างห้องประจำเดือนขึ้นมา และในขณะที่งาน La Condition de la femme n°1 ของอาร์มานมีการนำผ้าอนามัยมาใช้ประกอบ แต่เป็นผ้าอนามัยสะอาดเอี่ยมไม่เคยได้ใช้ ชิคาโกกลับนำผ้าอนามัยใช้แล้วที่ส่งกลิ่นจริง ๆ มาแขวนไว้เต็มห้อง เพื่อนำเสนอสถานะความเป็นผู้หญิงที่มักถูกละเลยจากโลกศิลปะอันเป็นพื้นที่ของผู้ชาย รวมไปถึงการเปิดโปงกระบวนการสร้างมลทินให้ผู้หญิงผ่านราคีของการมีประจำเดือน ซึ่งผลักให้ผู้หญิงกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ถูกกีดกันออกจากพื้นที่สังคม เช่น ในยุคสมัยหนึ่งที่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือในบางวัฒนธรรมที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงมีประจำเดือนเข้าไปใช้พื้นที่ทางศาสนา เป็นต้น

Cleaning Event (aka Be Clean! aka Campaign to Promote Cleanliness and Order in the Metropolitan Area) (1964)

Hi-Red Center คือกลุ่มศิลปินนักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นที่แอคทีฟในช่วงยุค 1970s โดยพวกเขาเป็นที่รู้จักจากการทำการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตในที่สาธารณะ โดยทุกงานล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนภาพของสังคมญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะสภาวะที่สังคมญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลก และการเปิดรับค่านิยมที่มีต้นแบบมาจากสภาพสังคมทุนนิยมอเมริกัน อันเป็นความพยายามในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจหลังแพ้สงคราม และเพื่อสร้างการยอมรับจากนานาประเทศซึ่งมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ในเวลานั้น

หนึ่งในผลงานในตำนานของกลุ่ม Hi-Red Center ก็คือผลงานที่ชื่อว่า Cleaning Event (Be Clean! & Campaign to Promote Cleanliness and Order in the Metropolitan Area) ที่เกิดขึ้นในเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 1964 โดยกลุ่ม Hi-Red Center ได้มารวมตัวกันในชุดเครื่องแบบเสื้อกราวน์แล็บสีขาวสะอาด เพื่อทำการ ‘บิ๊กคลีนนิง’ ในพื้นที่ย่านกินซาของกรุงโตเกียว

จุดมุ่งหมายของการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตชิ้นนี้คือการประชดเสียดสีนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการจะนำเสนอภาพกรุงโตเกียวอันงดงาม สะอาด เรียบร้อย เพื่อต้อนรับการได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนั้น เพื่อนำเสนอสภาพบ้านเมืองญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวสยายปีกจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเบื้องหลังการทำบ้านเมืองให้สะอาดงามตา ก็คือการที่รัฐบาลไล่ฆ่าสุนัขจรจัด และขับไล่คนไร้บ้านออกจากพื้นที่สาธารณะ

ผลงานชิ้นนี้อาจจะไม่ใช่การนำของสกปรกมาเล่น แต่มันคือการสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในฐานะร่างกายขนาดใหญ่ที่มีคนไร้บ้านเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งปฏิกูลที่ต้องกำจัดออกไป หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า คนไร้บ้านในที่นี้มีสถานะเป็น ดิ แอ็บเจกต์ ที่สร้างความรู้สึกขยะแขยงให้กับคนในสังคม จนต้องดำเนินการกำจัดออกไปให้พ้นสายตา

Cleaning Event จึงเปิดให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หาได้เสมอเท่ากันทุกชนชั้น และหากลองคิดดูดี ๆ ในบ้านเราที่เคยมีการจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิงเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ก็อาจเป็นการสะท้อนภาพปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ …เมื่อคนในสังคมกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอีกกลุ่ม จนสามารถกำหนดให้คุณค่าของคนอีกกลุ่มเป็นเพียงสิ่งน่าขยะแขยงที่ต้องกำจัดขัดล้างออกไป เพื่อไม่ให้อยู่รกหูรกตา… หรืออยู่เป็นเสี้ยนหนามคอยย้ำเตือนให้อภิสิทธิ์ชนกลุ่มนั้นตระหนักถึงปัญหาสังคมที่พวกเขาไม่อยากจะมอง

อ้างอิง

https://olh.openlibhums.org/article/id/4666/
http://momus.ca/the-suffering-body-of-1993-whatever-happened-to-the-abject/
http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/64905
Tan, C. A. L. (2013). The Kristevan aesthetic of the sublime: Lapses of meaning from the meaningless abject. In 6th DLSU Arts Congress, held at the De La Salle University, Manila, Philippines, February.