GC_Artterm Biennele.jpg

​​Biennale อุบัติการณ์งานศิลปะ ‘ทุก 2 ปี’ ที่ใหญ่ที่สุดและ ‘ดราม่า’ ที่สุดในโลกศิลปะ

Art
Post on 30 April

“พีซีเวอร์ (ออกเสียง ‘เวอร์’ แบบไบรอัน ตัน)” “โวค (Woke) สุด ๆ” “พยายามเท่าเทียมจนตลก” ฯลฯ คือเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่อื้ออึงไปทั่วโลกศิลปะ ทันทีที่ เซลิเลีย อเลอมานี ภัณฑารักษ์ชาวอิตาเลียนผู้เป็นแม่งาน Venice Biennale ครั้งที่ 59 ประกาศรายชื่อศิลปินที่จะได้เข้าร่วมแสดงผลงาน ซึ่งประมาณ 90 เปอร์เซนต์ …เป็นศิลปินหญิง

แม้ว่าเทศกาลศิลปะนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกประจำปีนี้จะก่อดราม่าตั้งแต่ยังไม่เริ่มเปิดม่าน แต่ที่จริงแล้ว ‘ดราม่า’ และการตบตีกันในโลกศิลปะคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำใน Venice Biennale และหากว่ากันจริง ๆ แล้ว ปีไหนไม่ดราม่า ไม่มีคนทะเลาะ หรือไม่มีใครออกมาประท้วง ก็อาจเรียกได้ว่างานในปีนั้น ‘ล้มเหลว’ นั่นก็เพราะจุดประสงค์หลักของการที่ศิลปินจากต่างมุมโลกต่างวัฒนธรรมกว่า 200 คนมาชุมนุมกัน (โดยนัดหมาย) ทุก ๆ 2 ปี ก็เพื่อที่คนในโลกศิลปะจะได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด โลกทัศน์ วัฒนธรรม จนนำไปสู่การปะทะสังสรรค์เพื่อก่อกำเนิดเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ให้ชาวโลกได้ไปขบคิดกันต่อ (หรือหากจะมุ่งดูคนตีกันอย่างเดียว ก็ยังได้ผลลัพธ์เป็นความบันเทิงอยู่ดี)

‘Milk of Dreams’ คือธีมงานประจำ Venice Biennale 2022 ซึ่งอเลอมานีหยิบยืมมาจากชื่อหนังสือของศิลปินเชื้อสายเม็กซิกัน เลโอโนรา แคร์ริงตัน อันว่าด้วยเรื่องราวในโลกจินตนาการที่ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกใบนั้นแสนจะเซอร์เรียล ราวกับถูกส่องมองผ่านแท่นปริซึมอันบิดเบี้ยว ที่ซึ่งผู้คนสามารถเปลี่ยนรูปร่างของร่างกาย เปลี่ยนหูเป็นปีก หรือจะเปลี่ยนร่างเป็นคนอื่นไปเลยก็ได้

การดึงธีมจากเรื่องราวของโลกในจินตนาการที่ทุกสิ่งอย่างกลับหัวกลับหาง และสามารถ ‘เป็นอะไรก็ได้’ จึงสะท้อนสถานะของพื้นที่จัดแสดงงาน Venice Biennale ในปีนี้ที่ทำหน้าที่เป็นดัง ‘สนามอารมณ์’ ที่ทุกความเชื่อและทุกกรอบความคิด ไม่ว่าจะเป็นกรอบเรื่องเพศ กรอบความเป็นมนุษย์ กรอบข้อจำกัดทางร่างกาย กรอบทางการเมือง ฯลฯ ทุกอย่างถูกเทลงมาปะทะ แล้วชวนผู้ชม ‘ฝัน’ ถึงโลกในอนาคตที่ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้

เพื่อเป็นการต้อนรับการมาถึงของเทศกาลศิลปะนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกศิลปะ ซึ่งมีจำนวนคนที่ตั้งตารอพอ ๆ กับคนยี้ที่ขอไม่บายคอนเซปต์เวทีศิลปะชั้นเลิศของพวกชนชั้นสูงคอเต่าชุดดำกันอีกต่อไป คอลัมน์ Artเทอม ประจำสัปดาห์นี้ เราจึงขอชวนทุกคนกลับไปทำสำรวจที่มาที่ไปและคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับ Biennale …ทำไม Venice Biennale ถึงใหญ่ที่สุด? ทำไมต้องจัดแค่ทุก 2 ปี? ทำไมคนยังให้ความสำคัญกับ Biennale และในขณะเดียว ทำไมคนถึงขยัน ‘แบน’ งานนี้กันจังเลย?

Biennale คืออะไรกันแน่?

คำว่า Biennale ในภาษาอิตาเลียน เป็นคำเรียกงานเทศกาล หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุก ๆ 2 ปี หรือเกิดขึ้นทุกปีเว้นปี (every other year) โดยไม่จำเป็นต้องหมายถึงแค่งานหรือเทศกาลที่จัดขึ้นโดยคนเท่านั้น แม้กระทั่งพืชที่ใช้เวลา 2 กว่าจะเติบโตและเก็บเกี่ยวได้ ก็เรียกว่าเป็น Biennale Plant เช่นกัน (ต้องระวังให้ไม่สับสันกับคำว่า Biennual ซึ่งหมายถึง 2 ครั้งต่อปี)

Biennale กลายเป็นคำศัพท์เฉพาะในวงการศิลปะ โดยมักหมายถึงงานเทศกาลศิลปะนานาชาติที่จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี และแม้ว่าในปัจจุบันเราจะคุ้นเคยกับเทศกาลศิลปะนานาชาติเบียนนาเล่ที่จัดขึ้นในหลากหลายประเทศ (Bangkok Art Biennale (BAB), Berlin Biennale, Moscow Biennale ฯลฯ) แต่เมื่อพูดคำว่า Biennale ขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้กันว่าหมายถึง Venice Biennale งานเบียนนาเล่ที่เวนิซ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลอาร์ตเบียนนาเล่ และยังคงยืนหยัดเป็นเวทีศิลปะโลกที่ ‘ขลัง’ และใหญ่ที่สุด จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘มหกรรมโอลิมปิกแห่งโลกศิลปะ!’

ทำไมต้อง Venice Biennale?

แม้กระแสโลกาภิวัตน์และท้องถิ่นนิยมที่แพร่สะพัดจะทำให้ประเทศและเมืองต่าง ๆ ลุกขึ้นมาจัดเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ของตนเอง แต่ต้นตำรับแม่ช้อยนางรำที่ขลังและอร่อยเหาะที่สุดก็ยังคงเป็น Venice Biennale ที่กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี อันเป็นต้นกำเนิดของการจัดงานเบียนนาเล่ และยังคงเป็นเวทีศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ว่ากันว่าแม่แบบอันเป็นที่มาของไอเดียการจัดงานเทศกาลศิลปะนานาชาติที่เวนิสนั้น มาจาก Great Exhibition ในปี 1851 งานแฟร์ที่จัดขึ้นที่คริสตัลพาเลซ ณ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของงาน World Expo โดยจุดประสงค์หลักของการชวนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาเปิดพาวิลเลียนเพื่อนำเสนอของดีของประเทศตนเองนั้น ก็เพื่อแสดงแสนยานุภาพของอังกฤษในฐานะประเทศมหาอำนาจผู้เป็นศูนย์กลางของโลก นับตั้งแต่นั้นมา ไอเดียเรื่องการจัดงานแฟร์ที่ชวนประเทศต่าง ๆ มาร่วมโชว์เคสก็เริ่มแพร่กระจายไปในวงการต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งในแวดวงศิลปะ

เวนิสในยุคศตวรรษที่ 19 นั้นหาใช้ภาพเมืองสวยงามแสนจรรโลงใจอย่างที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้ ด้วยปัญหาการเมืองภายในประเทศ กวีเอกแห่งยุคอย่างลอร์ดไบรอนถึงกับกล่าวว่า ‘เมืองที่เคยเป็นสรวงสวรรค์แห่งทะเลเอเดรียติกเหลือเพียงแต่เถ้าถ่านและรอยน้ำตา’

ด้วยความพยายามที่จะฟื้นฟูเมืองให้กลับมาเป็นหมุดหมายโลกทางด้านทางวัฒนธรรม และที่สำคัญคือการทำให้อิตาลีกลับมาผงาดในฐานะผู้นำด้านศิลปะของโลกตะวันตกอีกครั้ง รัฐบาลอิตาลีจึงได้ประกาศจัดงานเวิลด์แฟร์แห่งโลกศิลปะในปี 1894 ซึ่งเป็นปีครบรอบการอภิเษกสมรสของกษัตริย์อิตาลีในยุคนั้นด้วย

แต่กว่าที่งานจะได้จัดจริง ๆ ก็ในอีก 1 ปีต่อมา ‘I Esposizione Internazionale d'Arte della Città di Venezia หรือ 1st International Art Exhibition of the City of Venice เปิดประตูต้อนรับผู้ชมเป็นครั้งแรกในวันที่ 30 เม.ย. 1895 โดยมีผู้ชมเข้าร่วมงานถึง 224,000 คน

ใน Biennale มีอะไรให้ดูบ้าง?

ปกติแล้วองค์ประกอบของงานเบียนนาเล่จะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1) Central Exhibition หรือนิทรรศการกลางที่ถือเป็นศูนย์กลางของงานทั้งหมด ผลงานทั้งหมดที่จัดในนิทรรศการกลางล้วนได้รับการคัดเลือกหรือคิวเรทจากภัณฑารักษ์ผู้เป็นพ่องานแม่งานของปีนั้น ๆ โดยจะจัดอยู่ภายในอาคารที่เรียกว่า Central Pavillion หรือ พาวิลเลียนกลาง ซึ่งตั้งอยู่ในสวนจิอาร์ดินี สวนเก่าแก่ที่ก่อตั้งโดยนโปเลียน โบนาปาร์ต และถูกใช้เป็นบริเวณที่จัดงานมาตั้งแต่ Venice Biennale ครั้งแรกเมื่อปี 1895 โดยนอกจากอาคารพาวิลเลียนกลางแล้ว ในพื้นที่สวนจิอาร์ดินียังมีพาวิลเลียนถาวรของประเทศขาประจำที่เข้าร่วมจัดแสดงงานอีก 30 อาคารด้วย 

<p>Ukraine Pavillion 2022</p>

Ukraine Pavillion 2022

ซึ่งทำให้ 2) พาวิลเลียนประจำชาติ คืออีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของ Venice Biennale ที่แต่ละชาติต่างนำผลงานศิลปะจากศิลปินในชาติของตน หรือผลงานที่ถ่ายทอดเรื่องราวและอัตลักษณ์ประจำชาติ มาจัดแสดงแข่งกัน โดยตั้งแต่ปี 1907 เป็นต้นมา ก็มีประเทศที่มาสร้างพาวิลเลียนถาวรในพื้นที่สวนจิอาร์ดินีแห่งนี้ โดยมีเบลเยียมเป็นเจ้านำร่อง ส่วนประเทศที่ไม่ได้สร้างพาวิลเลียนถาวรไว้ ก็มักจะไปจัดในพื้นที่ของ Arsenale อาคารโบราณขนาดใหญ่ที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง ตั้งอยู่ริมน้ำในบริเวณท่าเรือตอนเหนือของเวนิซ

<p><i>Collateral Events At Venice Biennale 2022</i></p>

Collateral Events At Venice Biennale 2022

และองค์ประกอบสุดท้ายภายในงาน Venice Biennale ก็คือ 3) Collateral Events หรือนิทรรศการจากองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับเชิญโดยคณะกรรมการเบียนนาเล่ เช่นในปีนี้ก็มี ‘Surrealism and Magic: Enchanted Modernity’ นิทรรศการจาก Peggy Guggenheim Museum ที่สำรวจความเชื่อของศิลปินเซอร์เรียลในเรื่องของวิญญาณและเวทมนตร์ หรือที่พิพิธภัณฑ์ Gallerie dell’Accademia ก็มีงานปืนใหญ่ของ อนิช กาปูร์ มาจัดแสดง

ทำไม Biennale จึงสำคัญ?

แม้ว่าเบียนนาเล่จะวางตัวมันเองเป็นศูนย์รวมเครือข่ายแห่งโลกศิลปะที่ศิลปะท้องถิ่น (ของประเทศที่จัดงาน) และศิลปะจากนอกประเทศ ได้มารวมตัวกันในงานนี้ แต่เราแอบชอบคำจำกัดความของ เทอร์รี สมิธ นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้มีตำแหน่งใน Biennial Foundation คณะกรรมการจัดงานเบียนนาเล่ ซึ่งเคยให้คำนิยามว่า งานเบียนนาเล่คือ “หน้าต่างที่ชวนเราเยี่ยมหน้าเข้าไปส่องดูความเป็นไปของโลกศิลปะร่วมสมัย ที่ซึ่งศิลปะทั้งสนุก บันเทิง ให้ความรู้ และในขณะเดียวกันก็แข่งขันห้ำหั่นกันเอง”

แต่ในความสำคัญของเบียนนาเล่นอกจากจะเป็นพื้นที่โชว์เคสความก้าวหน้าทางศิลปะทั้งในแง่ของกระบวนการคิดของศิลปินและวิธีการนำเสนอ และการเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชมและคนในแวดวงศิลปะได้มาอัพเดตเทรนด์ในโลกศิลปะให้ไม่ตกเทรนด์ไลน์กลุ่ม ในอีกแง่หนึ่ง เบียนนาเล่คือโอกาสสำคัญสำหรับศิลปิน ทั้งในแง่ความก้าวหน้าทางอาชีพ และการขายผลงานของตัวเอง (อารมณ์เดียวกับผู้มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์)

จริงอยู่ว่าหนึ่งในจุดประสงค์ของการจัดงานเบียนนาเล่ตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตคือการพยายามแยกงานศิลปะออกจากการพานิชย์ โดยที่ผลงานศิลปะที่จัดแสดงในงานจะไม่มีการซื้อขายเหมือนในแกลเลอรีหรือเทศกาลศิลปะอื่น ๆ แต่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีชื่อติดโผเป็นศิลปินที่ได้นำงานไปจัดแสดงในเบียนนาเล่ ถือเป็นการเรียกแสงสปอตไลท์ให้บรรดาแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจ และเพิ่มโอกาสในการถูกเก็บเข้าชอปปิงลิสต์ของบรรดาแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น 

และแน่นอนว่า เมื่อมีการคัดเลือก ก็ย่อมหมายถึง ‘อภิสิทธิ์’ จากการถูกเลือก และยังรวมถึงอภิสิทธิ์ของผู้เลือกด้วย ‘ชนชั้นในโลกศิลปะ’ คือข้อครหาที่เบียนนาเล่ประสบมาโดยตลอด เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้วที่เบียนนาเล่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นมาเฟียแห่งโลกศิลปะ (โดยเฉพาะงานโอลิมปิกแห่งโลกศิลปะอย่าง Venice Biennale) ศิลปินและคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะส่วนหนึ่งมองว่า คณะกรรมการเบียนนาเล่ซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ได้ตั้งตัวเป็นผู้ตัดสินทิศทางความเป็นไปในโลกศิลปะ ตั้งแต่การคัดเลือกศิลปิน ไปจนถึงการมอบรางวัลให้ศิลปิน ซึ่งนอกจากการคัดเลือกที่อาจสะท้อนถึงการเลือกที่รักมักที่ชังของตัวเองแล้ว บางทีคณะกรรมการเบียนนาเล่ก็ทำตัวเป็นกองเซนเซอร์ ตัดสินว่าสิ่งใดควรถูกนำเสนอ สิ่งใดไม่ควรให้พื้นที่ฉายแสง จนทำให้เบียนนาเล่ โดยเฉพาะ Venice Biebnale ถูกมองว่าเป็น Salon ยุคใหม่ หรือสถาบันศิลปะแห่งฝรั่งเศสที่เคยมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางในแวดวงศิลปะ ที่เคยตราหน้าผลงานของศิลปินลัทธิประทับใจอย่าง โคลด โมเนต์ หรือ เอดัวร์ มาเนต์ ว่าเป็นผลงานชั้นต่ำที่ไม่ควรค่าแก่การถูกแขวนไว้ใน Salon

มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์ของ Venice Biennale

ไม่ว่าจะรักหรือเกลียดงานนี้อย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คืออิเวนต์ที่สร้างบทใหม่ในประวัติศาสตร์ศิลปะโลกอยู่เสมอ ทั้งการเป็นที่แจ้งเกิดศิลปินดัง ไปจนถึงดราม่ามากมายที่ทิ้งประเด็นให้คนในแวดวงศิลปะได้เก็บไปขบคิดกันต่ออยู่เสมอ

มีเหตุการณ์น่าจดจำอะไรเกิดขึ้นใน Venice Biennale บ้าง เราไปย้อนดูกันเลย

ฉายแสงและแจ้งเกิดศิลปิน

<p><i>Gustav Klimt At 1910 Venice Biennale</i></p>

Gustav Klimt At 1910 Venice Biennale

Venice Biennale ที่จัดขึ้นในปี 1910 ได้กลายเป็นที่ยกย่องเหล่าศิลปินโมเดิร์นผู้เคยถูกเมินจากสถาบันศิลปะชั้นสูงอย่างเป็นทางการ ด้วยการอุทิศพื้นที่จัดแสดงผลงานเดี่ยวให้กับศิลปินโมเดิร์นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กุสตัฟต์ คลิมท์, ปีแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ หรือ กุสตัฟ โคแบรต์

ภาพนี้ต้องโดนแบน

‘เริ่มเลอ!’ แค่ปีแรกของการจัดงานก็เกิดเรื่องดราม่าแล้ว เมื่อคณะผู้จัดงานเปิดหีบห่อที่บรรจุผลงานของศิลปินอิตาเลียนชั้นครู จาโกโม กรอสโซ ออกมา แล้วต้องตกตะลึงกับภาพวาดสุดฉาว (ในยุคนั้น) ที่เป็นภาพวาดหญิงสาวเปลือย 5 นางเอนกายบนโลงศพแบบเปิดหน้า จนผู้จัดถึงกับต้องถามเจ้าตัวว่า ‘เอาจริงเหรอ’ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมันถูกเผยต่อหน้าสาธารณชน ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง ถึงขนาดที่คณะสงฆ์ของอิตาเลียนขู่ว่าจะเอาเรื่อง จนสุดท้ายทางผู้จัดต้องทำการย้ายผลงานไปจัดแสดงเดี่ยว ๆ ในห้องหับลึกลับมิดชิด ซึ่งกลายเป็นว่ามีผู้ชมมาต่อแถวรอเข้าชมแบบถล่มทลาย และกลายเป็นงานป็อปปูลาร์โหวตประจำปีนั้น

อีกหนึ่งดราม่าคือในปี 1910 เมื่อภาพ Family of Saltimbanques ของ ปาโบล ปิกัสโซ ถูกถอดออกจากพาวิลเลียนของสเปน เพราะผู้จัดเกรงว่าภาพที่สะท้อนความโหดร้ายเศร้าสร้อยเบื้องหลังรอยยิ้มสดใสของชาวคณะละครสัตว์จะทำให้คนดูรับไม่ได้

ป้าจุดที่ Venice Biennale

ในปี 1966 ยาโยอิ คุซามะ ได้นำลูกบอลแวววับ 1,500 ลูกไปจัดแสดงที่ Venice Biennale ครั้งที่ 33 แต่การไปของคุซามะในครั้งนั้นไม่ได้มาจากคำเชิญอย่างเป็นทางการของเทศกาล แต่เป็นการไปแบบกองโจรและได้รับการสนับสนุนจาก ลูซิฌอ ฟอนตานา ศิลปินคอนเซปชวลเจ้าของผลงานมีดกรีดผ้าใบอันโด่งดัง

คุซามะไม่ได้จัดแสดงผลงานในพาวิลเลียนใด เธอนำลูกบอลทั้ง 1,500 ลูกของเธอไปวางไว้ในสวน แล้วสวมบทบาทเป็นแม่ค้าหาบเร่ เรียกผู้คนที่ผ่านไปมาให้เข้ามาซื้อลูกบอลของเธอในราคาแสนถูก 

เอดส์ในนามของพระผู้เป็นเจ้า

นอกจากวิธีการนำเสนอผลงานที่เรียกความสนใจจากผู้ชมได้อย่างล้นหลาม ตัวลูกบอลของคุซามะก็ทำงานในฐานะวัตถุที่พร่าเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปิน ผู้ชม และพื้นที่ศิลปะ ภาพที่สะท้อนอยู่บนพื้นผิวของลูกบอลทั้งดูบิดเบี้ยว ห่างไกล หรือไม่ก็ใกล้เกินจริง จนราวกับว่าภาพสะท้อนนั้นเป็นภาพสะท้อนห้วงเวลาอื่น ตัวเราและศิลปินในห้วงเวลาอื่น

คุซามะได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม จนคณะกรรมการ Venice Biennale ในปีนั้นต้องออกมาปรบมือให้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของคุซามะในเวทีศิลปะระดับโลก

แกรน ฟิวรี ศิลปินและนักรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องเอดส์ ไม่เพียงตบหน้าสังคมในยุคนั้นที่กีดกันและรังเกียจผู้ป่วยโรคเอดส์ แต่ยังลากเหล่าคนมือถือสากปากถือไม้กางเขนที่ต่อต้านคนรักเพศเดียวกันออกไปตบหน้ากลางสี่แยก ด้วยการนำเสนอโปสเตอร์ขนาดใหญ่ที่เป็นรูปของพระสันตปาปายอห์น ปอลที่ 2 พาดด้วยถ้อยความที่ถอดมาจากการเทศนาของพระองค์ในเรื่องของบาปจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน พร้อมด้วยข้อความใหญ่เบิ้มจากศิลปินที่แปะอยู่เคียงข้างกันว่า “AIDS is caused by a virus and a virus has no morals.” “เอดส์มาจากเชื้อไวรัส และไวรัสไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘ศีลธรรม’ (โว้ย)”

ศิลปะ VS. ศาสนา

เมื่อ เกรเกอร์ ชไนเดอร์ กลับมายัง Venice Biennale ในปี 2005 หลังจากที่เขาได้รางวัลสิงโตทองคำประจำเทศกาลกลับบ้านไปในปี 2001 เขาก็สร้างความสั่นสะเทือนด้วยการประกาศว่าจะนำลูกบาศก์ขนาดมหึมาสูง 50 ฟุต ที่ถูกห่อไว้ในผ้าสีดำ จนดูเหมือนกะอ์บะฮ์ที่เป็นที่เคารพของชาวมุสลิม มาตั้งไว้กลางจัตุรัสเซนต์มาร์กที่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยว แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเซนเซอร์งานศิลปะ แต่คณะกรรมการก็ยังคงยืนกรานไม่ให้ผลงานชิ้นนี้ได้จัดแสดงในงาน (แต่สุดท้ายชไนเดอร์ก็นำไปจัดแสดงที่เยอรมนีในปี 2007)

ในขณะที่ปี 2015 ศิลปินชาวสวิส คริสตอฟ บูเชล ได้ท้าทายและกระตุกหนวดชาวคริสต์และมุสลิมอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการเปลี่ยนภายในโบสถ์คริสต์ของกรุงเวนิสให้กลายเป็นมัสยิด! ซึ่งงานของบูเชลก็ทำให้ผู้คนสับสนงุนงงว่า นี่คือผลงานที่สะท้อนความเหนือกว่าของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง? หรือผู้ชมอย่างเราควรจะต้องมองให้เป็นการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของสองศาสนากันแน่? แต่สุดท้ายผลงานมัสยิดในโบสถ์ก็ถูกปิดตัวลงหลังจัดแสดงได้เพียงสัปดาห์เดียว เพราะทางผู้จัดงานเกรงว่าจะไปกระตุ้นความโกรธเคืองของผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ในขณะเดียวกันตัวแทนจากคณะสงฆ์ฝั่งคริสต์ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจต่องานชิ้นนี้

อ้างอิง

Frieze

Wikipedia.orgi/Biennale

Labiennale.org

Artcollection.io

Wikipedia.org/Venice_Biennale