ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้ผ่านตา #LetTheEarthBreathe บนหน้าฟีดและไทม์ไลน์ของโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งการระเบิดของแฮชแท็กที่ติดเทรนดิงไปทั่วโลกนี้ก็มีจุดปะทุมาจากเหตุการณ์ประท้วงหน้าอาคารสำนักงานเจพีมอร์แกนเชส (JPMorgan Chase) ในกรุงลอสแอนเจลิส โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ซึ่งนำโดย ปีเตอร์ คาลมุส นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากนาซา ที่ได้ใช้กุญแจมือคล้องตัวเองไว้กับประตูของสำนักงาน เพื่อยืนหยัดประกาศจุดยืนต่อต้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีเจพีมอร์แกนเชสเป็นหัวหอกซึ่งสามารถระดมทุนได้ถึง 382 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 12,800 ล้านบาท
ในคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก คาลมุสอธิบายถึงความรุนแรงของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และมีแนวโน้มเลวร้ายลงไปอีกเมื่อรัฐบาลอังกฤษเพิ่งอนุมัติให้มีการจัดสร้างโรงงานการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศ โดยคาลมุสยังเป็นตัวแทนของทีมนักวิทยสศาสตร์ในการประกาศต่อชาวโลกผ่านสื่อว่า สถานการณ์โลกร้อนที่เราคิดว่าแย่แล้ว กำลังจะแย่ลงไปอีก โดยเราจะเหลือเวลาในการรับมือกับหายนะเพียงแค่ 3-5 ปีเท่านั้น
‘3-5 ปี’ คือนาฬิกานับถอยหลังสู่วิกฤติโลก อันหมายถึงหายนะของมนุษยชาติ ที่คาลมุสได้เร่งไขลานให้ใกล้เข้ามามากยิ่งขึ้น การนับถอยหลังสู่ความหายนะที่ถูกเร่งให้เร็วเข้าใกล้ตัวเรายิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความร้ายแรงของปัญหาที่มนุษย์ทุกคนกำลังเผชิญหน้า และความจำเป็นเร่งด่วนของการสร้างบทสนทนาเรื่องปัญหาระหว่างมนุษย์กับโลก ที่ต้องพูดคุยกันให้จริงจังและนำไปสู่การแก้ปัญหาให้เร็วขึ้นด้วย
หากพันธกิจของการมีอยู่ของศิลปะคือการสำรวจตำแหน่งแห่งที่ของ ‘ตัวเรา’ (มนุษย์) ในโลกใบนี้ สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ก็คือหัวข้อหนึ่งที่ศิลปินในแต่ละยุคสมัยมุ่งสำรวจและตั้งคำถาม เพราะจะมีสายสัมพันธ์ใดที่ย้อนกลับมาสะท้อนภาพของมนุษยชาติได้ชัดเจนไปกว่าสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับดิน น้ำ อากาศ หรือสิ่งแวดล้อมที่ก่อกำเนิด ‘ชีวิต’ ของมนุษย์ขึ้นมา?
คอลัมน์ Artเทอม ในสัปดาห์นี้ ซึ่งตรงกับวัน Earth Day พอดี เราขอพาทุกคนไปสำรวจศิลปะแห่งยุคสมัยของเรา ที่กำลังพูดเรื่องใกล้ตัวของเราที่สุด และเป็นประเด็นศิลปะที่เรากำลังพบเห็นได้ในแทบทุกแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์สมัยนี้ นั่นก็คือ Eco Art ศิลปะที่สำรวจสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม หรือศิลปะที่พยายามชักชวนให้เราทบทวนความสัมพันธ์อันตัดไม่ขาดระหว่างตัวเรากับโลก เพื่อให้เราช่วยกันรักษาโลกนี้ไว้… ก่อนที่ทั้งตัวเราและโลกจะหายไป
ก่อนทำความรู้จัก Eco Art ต้องรู้จัก Anthropocene
เราทุกตนต่างได้ยินคำว่า ‘โลกร้อน’, ‘อากาศเปลี่ยนแปลง’, ‘วิกฤติสิ่งแวดล้อม’ หรือคำที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกกันมาตลอดชีวิต ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อคิดว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ ‘โลก’ กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งผู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ใช่ใคร หากแต่เป็น ‘มนุษย์’ อย่างเรานี่เอง
การพูดว่าโลกเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำมือของมนุษย์นั้นดูเป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่ในทางวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยาแล้ว นี่คือยุคสมัยแรกในประวัติศาสตร์กว่า 4,600 ล้านปีของดาวโลกที่การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยามีผลกระทบมาจากการกระทำของมวลมนุษย์ ลองนึกภาพดูว่า ในยุคธรณีกาลก่อนหน้า ตั้งแต่บรมยุคฮาเดียนที่โลกเพิ่งเริ่มเย็นตัวลงจากแรงระเบิดที่นำมาสู่การกำเนิดโลก จนถึงยุคสมัยที่น่าจะใกล้ตัวเรามากขึ้นอย่างไพลสโตซีน หรือที่เรียกว่า ยุคน้ำแข็ง (Ice Age) และโฮโลซีน การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาในโลกของเราล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ แต่ในปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในยุคที่ทุกการกระทำของมนุษย์ได้ทิ้งความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ให้โลก ในระดับเดียวกันกับที่ความร้อนจากแกนโลกหรืออุกกาบาตเคยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกมาแล้ว
‘แอนโธรพอซีน’ (Anthropocene) ที่มาจากคำว่า anthropo- (แปลว่า มนุษย์) และ -cene (แปลว่า ใหม่) จึงถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นคำเรียกชื่อยุคสมัยใหม่ล่าสุดของโลก อันเป็นยุคสมัยที่กิจกรรมของมนุษย์รบกวนสภาวะตามธรรมชาติของโลก ทิ้งร่องรอยไว้ในอากาศ น้ำ และตะกอนดินทับถม สั่งสมมาตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นของระเบิดนิวเคลียร์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การทำเกษตรกรรม ประชากรที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ ความสำคัญของยุคนี้จึงอยู่ที่ ‘บทบาทของมนุษย์’ ในฐานะศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและนิเวศวิทยาที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม
ในปี 2000 พอล ครูตเซน นักเคมีชาวดัตช์เจ้าของรางวัลโนเบล ที่ลุกขึ้นประกาศว่า “We are in Anthropocene” กลางงานประชุมเสวนาทางวิทยาศาสตร์ในปี 2000 แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีการบัญญัติให้คำคำนี้เป็นคำเรียกยุคสมัยของโลกอย่างเป็นทางการ แต่ในปี 2016 ก็ได้มีการจัดตั้ง Anthropocene Working Group (AWG) ที่รวมเหล่านักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกมาช่วยกันค้นคว้าหาหลักฐานทางธรณีกาลเพื่อยืนยันการมาถึงของยุคสมัยแอนโธรพอซีนอย่างเป็นทางการ
แม้ว่าจะยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่แนวคิดเรื่องมนุษย์ในฐานะผู้ก่อกวนโลกนี้ก็ส่งผลต่อมโนทัศน์ทางความคิดในยุคปัจจุบัน ที่ไม่ได้แพร่หลายแค่ในแวดวงวิทยาศาสตร์หรือธรณีวิทยาเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาปรับใช้ในการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ปรัชญา และแน่นอนว่าในด้านของศิลปะด้วย เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ชวนให้ศึกษาและตั้งคำถามถึงการมองมนุษย์ในฐานะศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นมุมมองที่เรา ‘เชื่อ’ และ ‘ยอมรับ’ กันมาตลอด
Eco Art ใต้ร่ม Environmental Art
ในโลกของศิลปะ งานศิลปะที่พูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมเริ่มมีเค้าลางให้เห็นชัดเจนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปรากฏตัวขึ้นในฐานะหนึ่งในขบวนการศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมบริโภคนิยม ทุนนิยม และการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) แต่ในขณะที่ Pop Art เป็นตัวตั้งท้าต่อยท้าตีกับกระแสบริโภคนิยมด้วยการตีแผ่ ท้าทาย และล้อเลียนสังคมที่ถูกกระตุ้นให้บริโภคและจับจ่ายอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งรวมถึงแวดวงการซื้อขายงานศิลปะด้วย ศิลปะร่วมขบวนอื่น ๆ กลับใช้วิธีการ (Aproach) ที่แตกต่างออกไป เช่น Minimalism ที่ใช้ปรัชญาและวิชวลของความ ‘น้อย’ ต่อสู้กับความรุงรังของวัตถุนิยม หรือ Environmental Art ที่นำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงาน และใช้ศิลปะที่มีธรรมชาติเป็นองค์ประกอบในการเคลื่อนไหวรณรงค์ด้วย
โดยรูปแบบศิลปะใต้ร่ม Environmental Art ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดีก็คือ Land Art ศิลปะภูมิทัศน์ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์ผลงาน ใช้พื้นโลกเป็นผืนผ้าใบ และใช้สภาพแวดล้อมเป็นพื้นที่จัดแสดงงาน ซึ่งสถานะอันไม่ถาวรของงานศิลปะ Land Art ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ ก็คือแมสเสจหลักที่ศิลปินกระแสนี้ต้องการจะชูเพื่อต่อต้านและท้าทายลัทธิบริโภคนิยม ทุนนิยม และการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อท้าทายแวดวงศิลปะที่การซื้อขายศิลปะได้กลายเป็นกระบวนการผลิตและครอบครองสินค้ารูปแบบหนึ่ง
แต่ในขณะที่ Land Art ท้าชนกับกระแสบริโภคนิยมอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความถดถอยของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำงานศิลปะออกไปสู่พื้นที่ธรรมชาติข้างนอกเพื่อตั้งคำถามกับสถานะความเป็น ‘วัตถุ’ และ ‘สินค้า’ ของงานศิลปะ ศิลปะใต้ร่มเดียวกันอย่าง Eco Art กลับดึงผู้ชมให้เข้ามาสำรวจสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสิ่งแวดล้อม และเตือนให้ผู้ชมระลึกถึงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในฐานะ ‘ส่วนหนึ่ง’ ของระบบนิเวศวิทยา หาใช่ผู้อยู่เหนือระบบแห่งธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้ ศิลปะ Eco Art จึงมักเป็นการจำลอง นำเสนอ หรือยกโครงสร้างของระบบนิเวศในธรรมชาติมาไว้ในพื้นที่แกลเลอรี เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ชม ‘ก้าวเข้าไป’ มีประสบการณ์ร่วมกับการดำรงอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก้าวเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศ โดยระบบนิเวศที่มักถูกยกมาจำลองไว้ในพื้นที่แกลเลอรีก็มีตั้งแต่ ระบบธรณีภาคหรือนิเวศของผืนดิน (lithosphere), นิเวศทางอากาศหรือชั้นบรรยากาศ (atmosphere), ชีวมณฑลหรือโลกของสิ่งมีชีวิต (biosphere) ฯลฯ
ตัวอย่างศิลปิน Eco Art ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดีก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล นอกจาก โอลาเฟอร์ เอเลียสสัน ศิลปินชาวเดนนิชผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นการจำลองสภาวะในธรรมชาติมาให้ผู้ชมได้ประจันหน้า เช่น The Weather Project ที่เปลี่ยนพื้นที่พิพิธภัณฑ์ Tate Modern แห่งกรุงลอนดอนให้กลายเป็นพื้นที่รับประสบการณ์การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ด้วยการสร้างเมฆหมอกจำลองและอาบไล้ทั่วทั้งบริเวณด้วยสีเหลืองส้มของหลอดไฟถนนกว่าร้อยดวง จนทำให้สีที่มองเห็นในพื้นที่แห่งนี้มีเพียงสีส้มและสีดำจากเงาซิลลูเอตต์ของผู้ชมเท่านั้น และเมื่อเงยหน้าขึ้นมองด้านบน ผู้ชมก็จะพบกับภาพสะท้อนของตัวเองจากกระจกที่ถูกนำไปติดตั้งแทนเพดาน จนทำให้เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปในพื้นที่ใต้ดวงอาทิตย์จำลองแห่งนี้ สิ่งที่จะปรากฏในความรับรู้ก็มีแค่ตัวเราและสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินเท่านั้น
Eco Art & Anthropocene สุนทรียะแห่งการหลุดจาก ‘เจ้าโลก’ มาเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของโลก
เมื่อ นิลส์-อูโด ประติมากรชาวเยอรมันเริ่มสร้างประติมากรรมจากต้นไม้ในช่วงยุค 1970s เขาเคยประกาศไว้ในคำอธิบายผลงานของเขาว่า การนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะนั้นหาใช่การดึงธรรมชาติเข้ามาอยู่ใต้การควบคุมของมนุษย์ แต่เป็นการ ‘โน้มนำ’ มนุษย์ออกจากสภาพแวดล้อมของระบบทุนนิยม แล้วกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ “การนำธรรมชาติมาจัดวางใหม่ หรือการนำเสนอธรรมชาติในรูปแบบที่ซับซ้อนและต่างออกไป คือการนำศิลปะเข้าไปอยู่ในธรรมชาติ ในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาติ งานชิ้นนั้นได้มีชีวิต หายใจ และโรยราไปพร้อมกับจังหวะของฤดูกาล”
คำประกาศของนิลส์-อูโดสะท้อนแก่นของ Eco Art ที่เป็นการใคร่ครวญถึงตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของมนุษย์ในมุมมองใหม่ ที่ไม่ใช่เจ้าโลกผู้ควบคุมและเป็นเจ้าของธรรมชาติ แต่เป็นมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางธรรมชาติ
หากเรากำลังมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยแห่งแอนโธรพอซีน ที่บทบาทของมนุษย์ในฐานะศูนย์กลางของโลกผู้ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง กำลังย้อนกลับมาทำร้ายเรา การหลุดออกจากฐานะเจ้าโลก แล้วเข้าไปสำรวจที่ทางของมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายสายใยอันยุ่งเหยิง ที่ศิลปิน โตมาส์ ซาราเซโน จำลองและนำเสนอไว้ในประติมากรรมเครือข่ายใยแมงมุมอันมหึมาของเขา นั่นก็อาจเป็นวิถีที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกับสรรพสิ่งต่อไปได้
Life, 2021
Olafur Eliasson
งานที่ โอลาเฟอร์ เอเลียสสัน พาธรรมชาติบุกรุกรานเข้าไปในพื้นที่ศิลปะพาผู้ชมหลุดจากประสบการณ์การรับรู้ของตนเอง เพื่อเข้าไปสำรวจโลกผ่านประสาทการรับรู้ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกับเราในระบบนิเวศของโลก
เอเลยสสันพลิกพื้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย Fondation Beyeler แห่งกรุงบาเซิล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ให้กลายเป็นบ่อน้ำสีเขียวขนาดใหญ่ที่มีพืชน้ำมากมายอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเฟิร์น ดอกบัว จอกแดง กระจับเขาควาย ฯลฯ โดยถอดเอากระจกที่ติดตั้งอยู่รอบ ๆ พิพิธภัณฑ์ทั้งหมดออกไป เพื่อทำลายเส้นแบ่งระหว่างข้างนอก/ข้างใน พื้นที่ของมนุษย์/พื้นที่ของธรรมชาติ
ผู้ชมสามารถเดินเข้ามาในสภาพแวดล้อมของหนองบึงที่ศิลปินจัดไว้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืน โดยในเวลากลางวัน ผู้ชมก็จะได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติที่กระตุ้นประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นอากาศ แสงอาทิตย์ ความชื้น กลิ่น ไปจนถึงเสียงต่าง ๆ ส่วนตอนกลางคืน บ่อน้ำสีเขียวก็จะเรืองแสงขึ้นมาจากระบบแสง UV ที่ศิลปินติดตั้งไว้ ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสีย้อมฟลูออเรสเซนซ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม อันเป็นการนำเสนอประสบการณ์ด้านผัสสะจากมุมมองของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
Particular Matter(s), 2022
Tomás Saraceno
โตมาส์ ซาราเซโน คือศิลปินชาวอาร์เจนตินาผู้มีชื่อเสียงจากการผสานงานศิลปะเข้ากับศาสตร์แห่งวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ผลงานของเขามักคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นศิลปะกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยมีผลงานการสร้างบอลลูนทำมือจากวัสดุเหลือใช้ในบ้าน หรือการสร้างโครงข่ายใยแมงมุมขนาดยักษ์ลอยคว้างกลางอากาศที่ให้ผู้ชมขึ้นไปเดินสำรวจได้
Particular Matter(s) คืองานประติมากรรมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ซาราเซโนเคยทำมา ในผลงานชิ้นนี้ เขาได้สร้างโครงข่ายใยแมงมุมขนาดยักษ์ที่ลอยอยู่กลางอากาศ เพื่อผู้ชมเข้าไปปีนป่ายและ ‘ฟังเสียงของจักรวาล’ บนเครือข่ายโยงใยที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 อาคารของแกลเลอรี The Shed แห่งกรุงนิวยอร์ก
Particular Matter(s) คือความพยายามของซาราเซโนในการที่จะนำเสนอมุมมองที่เขามีต่อ ‘โครงสร้างของสิ่งมีชีวิต’ ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่พาดทับและเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ในธรรมชาติ เมื่อผู้ชมขึ้นไปเดินและปีนป่ายอยู่บนโครงสร้างใยแมงมุมขนาดยักษ์ที่ลอยอยู่กลางอากาศ พวกเขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตจนสมบูรณ์ แม้กระทั่งสิ่งที่ดูจะไม่เข้าพรรคเข้าพวกกันอย่างมนุษย์ (คนดู), แมงมุม และอากาศ ก็กลับมีส่วนที่เชื่อมโยงและอยู่ในโครงข่ายชีวิตเดียวกัน
7000 Oak Trees, 1982
Joseph Beuys
ในปี 1982 ศิลปินและนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง โจเซฟ บอยส์ ได้นำแท่งหิน 7,000 ต้นไปกองไว้ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ Fridericianum ใจกลางกรุงแคสเซล ประเทศเยอรมนี สำหรับประชาชนชาวเมืองที่เพิ่งผ่านพ้นจากความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพกองแท่งหินเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความรำคาญทางสายตา แต่ยังเตือนให้พวกเขาระลึกถึงช่วงเวลาแห่งสงครามที่ทั้งเมืองเต็มไปด้วยยุทโธปกรณ์และสิ่งก่อสร้างทางทหาร ทำให้ชาวเมืองแคสเซลไม่พอใจและเรียกร้องให้ทางการนำแท่งหินเหล่านี้ออกไปให้พ้นสายตา
แต่บอยส์ไม่ได้ต้องการที่จะกวนจิตกวนใจชาวเมืองเท่านั้น ในยุคหลังสงครามที่อุตสาหกรรมการผลิตกำลังเบ่งบานจนทำให้ผู้คนละเลยสิ่งแวดล้อม บอยส์ได้ยื่นข้อเสนอว่า หากเมืองแคสเซลปลูกต้นโอ๊คขึ้นมา 1 ต้น เขาจะกำจัดแท่งหินนี้ออกไป 1 ชิ้น และนั่นจึงเป็นที่มาของการร่วมมือร่วมใจระหว่างชาวเมือง ภาครัฐ และนักสิ่งแวดล้อม ในการช่วยกันค้นหาและจัดเตรียมพื้นที่รอบเมืองสำหรับการปลูกต้นโอ๊ค 7,000 ต้น ที่ยังคงยืนเด่นเติมสีเขียวให้กับเมืองที่เคยผ่านสงครามแห่งนี้
“ต้นไม้คือสัญลักษณ์แห่งเวลาและการเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นโอ๊คที่เติบโตช้า และค่อย ๆ สร้างเปลือกหนาห่อหุ้มตนเอง ต้นไม้จึงเป็นสัญลักษณ์ของโลกใบนี้”
ใจความสำคัญของการปลูกต้นไม้ 7,000 ต้น แทนแท่งหินรูปร่างหน้าตาเหมือนระเบิดนี้ ก็คือความพยายามของบอยส์ในการที่จะแทนที่ร่องรอยของสงคราม …กิจกรรมอันเลวร้ายที่มนุษย์ได้ลงมือก่อการเอาไว้กับโลก ด้วยการมาถึงของธรรมชาติ 7000 Oak Trees จึงเป็นงานศิลปะที่เปิดพื้นที่ให้ธรรมชาติได้รุกรานพื้นที่ของมนุษย์ และทำให้มนุษย์กับธรรมชาติได้อยู่ร่วมกันอีกครั้ง
Not Red But Green, 2014
Per Kristian Nygård
ผลงานประติมากรรมธรรมชาติรุกคืบโดยศิลปินชาวนอร์เวย์ที่ยกเนินดินจริง ๆ มาไว้ในพื้นที่ของ No Place Gallery ในกรุงออสโล แล้วลงมือปลูกหญ้าจริง ๆ พร้อมปรับสภาพแวดล้อมภายในแกลเลอรีให้มีความชื้นและแสงแดดที่พอเพียงต่อการเติบโตของหญ้า
จุดมุ่งหมายของ Not Red But Green คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ชวนสับสน งุนงง และไร้ความหมาย เพื่อท้าทายต่อสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นตึกสูง บ้าน หรืออนุสาวรีย์ ที่ต้องมีความหมายหรือฟังก์ชั่นในตัวเอง ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นความพยายามในการพร่าเลื่อนความหมายเรื่องเส้นแบ่งพื้นที่ ทั้งพื้นที่ภายนอก/ภายใน พื้นที่ของมนุษย์/ธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้ามารับประสบการณ์อันแปลกแยกและไม่เคยคุ้น หรือประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับระบบนิเวศที่มนุษย์อย่างเราต้องทำความเข้าใจใหม่นั่นเอง
The Antechambre (Thai Crane)
ห้องรอ (กระเรียนไทย), 2021
Bianca Bondi
หนึ่งในผลงานที่ร่วมจัดแสดงในเทศกาล Thailand Korat Biennale 2021 ที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เบียนก้า บอนดิ เป็นศิลปินชาวแอฟริกาใต้ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะที่เกิดจากการนำวัสดุธรรมชาติมาทดลองสร้างสภาพแวดล้อมเฉพาะ ซึ่งในผลงานศิลปะจัดวางที่ใช้พื้นที่ใกล้กรงนกกระเรียนในสวนสัตว์โคราชแห่งนี้ บอนดีได้สร้างพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในระนาบเดียวกัน นั่นคือการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์ที่หาได้มีสถานะเหนือกว่าในพื้นที่แห่งนี้
บอนดีถมพื้นที่ทั้งหมดด้วย ‘เกลือ’ อันเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของทั้งมนุษย์และสัตว์ และยังเป็นสสารที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิด ไม่เว้นกระทั่งมนุษย์ เกลือในห้องแห่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นสสารที่ละลายชนชั้นทางชีววิทยา ทำให้มนุษย์ที่เดินเข้ามามีตำแหน่งแห่งที่เท่าเทียมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
ในการสร้างห้องรอกระเรียนนี้ บอนดีดีงแรงบันดาลใจมาจาก ‘Tundra Swan’ ผลงานของกวีชาวเกาหลีที่พูดถึงหงส์และความตาย ห้องรอกระเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรงนกกระเรียนไทยที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่ของสวนสัตว์โคราช บอนดิได้สร้างสระน้ำที่มีพืชพันธุ์ไว้บนเตียงที่ตั้งอยู่กลางห้อง ราวกับเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ในฝันที่เฝ้ารอนกกระเรียนกลับมาเกิดใหม่
ห่างออกไปไม่กี่ก้าวปรากฏกระจกเงาตั้งไว้ ทำหน้าที่เป็นทั้งประตูคั่นกลางระหว่างโลกความเป็นกับโลกความตาย เปิดอ้ารอการกลับมาของนกกระเรียน และในขณะเดียวกันก็ให้ผู้ชมได้จ้องมองเงาสะท้อนของตัวเอง เพื่อพินิจตัวเราในฐานะมนุษย์ที่ยืนอยู่ในสภาพแวดล้อมกึ่งฝันกึ่งความตายแห่งนี้
อ้างอิง
Weintraub, L. (2012). To life!: Eco art in pursuit of a sustainable planet.
Sac.or.th
Wikipedia
Tate
Artland