“เขาจะต้องเป็นคนทำหนังที่สุดยอดมากแน่ ๆ ไม่ต้องสงสัยเลย”
คือความเห็นของ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่มีต่อ การาวัจโจ มาสเตอร์ศิลปินผู้มีชีวิตอยู่เมื่อ 500 ปีก่อน แต่กลับส่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้กับหนึ่งในผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ผู้นี้
ชื่อของการาวัจโจเป็นที่รู้จักส่วนใหญ่ในฐานะมาสเตอร์ศิลปินแห่งยุคบาโรกสุดอื้อฉาวที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนทั้งในแง่ของผลงานและชีวิตส่วนตัว เขาเป็นคนหัวร้อน เสพติดสุราพอ ๆ กับความรุนแรง และในชีวิตอันแสนสั้นของเขานั้นมีเรื่องให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลถึง 11 ครั้ง ด้วยข้อหาที่ไล่ไปตั้งแต่การมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ เขียนกลอนเสียดสีด่าศิลปินคู่แข่ง ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายคนอื่นที่ไล่ระดับไปตั้งแต่การเขวี้ยงจานอาร์ติโชคใส่หน้าเด็กเสิร์ฟ ถึงการแทงคนตาย!
ความเป็นคนหัวร้อนของการาวัจโจทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นดัง ‘ร็อกสตาร์’ แห่งยุคบาโรก แต่นอกเหนือไปจากไลฟ์สไตล์สุดอื้อฉาวและอารมณ์อันรุนแรงของเขาแล้ว ความเป็นร็อกสตาร์ของการาวัจโจยังรวมถึงความกล้าบ้าบิ่นในการที่จะแหกขนบศิลปะอันสูงส่งที่ศิลปินรุ่นก่อนหน้ายึดถือตามกันมา เมื่อเรามองงานของการาวัจโจ เราอาจสะดุดตากับการถ่ายทอดแสงและเงารวมไปถึงการแสดงออกทางสีหน้าอันเปี่ยมด้วยอารมณ์ ซึ่งก็หาได้แปลกแตกต่างจากภาพวาดคลาสสิกทั่วไป แต่หากเรามององค์ประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏบนภาพของการาวัจโจโดยระลึกไว้ในใจว่า สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาเราทั้งหมดนี้หาได้เคยมีศิลปินก่อนหน้าเขาคนไหนเคยทำมาก่อน ทั้งการดึงผู้คนจากข้างถนนตั้งแต่คนเร่ร่อนถึงโสเภณีมาเป็นแบบในการวาดภาพ โดยที่ให้แบบโพสท่าแล้วลอกเลียนท่วงท่ารวมไปถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นมาไว้บนผืนผ้าใบ ต่างจากขนบการวาดดั้งเดิมที่มักใช้คนเป็นต้นแบบในการวาดคร่าว ๆ แล้วศิลปินจึงค่อยวาดท่วงท่าออกมาตามหลักกายวิภาคที่ร่ำเรียนกันมา
“ในอดีต ศิลปินมักใช้แบบในการวาดภาพอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีใครใช้แบบมาโพสท่าแล้ววาดสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าลงไปบนผ้าใบทันทีแบบการาวัจโจ” เลทิเซีย เตรเวส์ ให้ภัณฑารักษ์แห่ง National Gallery ของกรุงลอนดอนให้ความเห็น “การาวัยโจไม่สนใจขั้นตอนการศึกษาการวาดรูปตามขนบในสมัยนั้น เขาข้ามการเรียนขั้นตอนนี้ไปเลยเพราะเขาเชื่อในการลอกเลียนแบบจากธรรมชาติมากกว่า”
การโยนตำรากระบวนท่าศิลปะตามขนบทิ้งไป แล้วสนใจแต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า จึงทำให้ผลงานของการาวัจโจโดดเด่นและแตกต่างไปจากงานศิลปะยุคก่อนหน้า โดยเฉพาะการถ่ายทอดความสมจริงที่ทำให้งานของการาวัจโจกลายเป็นรากฐานของงานศิลปะสัจนิยม (Realism) ที่ไม่เพียงแค่ถ่ายทอดความสมจริงผ่านรายละเอียดต่าง ๆ เช่น เล็บมืออันสกปรกของแบบเท่านั้น แต่เขายังทำให้ภาพมีชีวิต ซึ่งไม่จำกัดแค่การวาดคนเท่านั้น แม้กระทั่งดอกไม้ การาวัจโจก็ยังเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนอื่นอาจมองข้ามไป จนทำให้ดอกไม้ในภาพวาดของเขาราวกับกำลังเบ่งบานและสามารถเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าความจริงแล้วมันจะถูกบันทึกไว้ในสภาพนั้นตลอดกาลบนผืนผ้าใบของการาวัจโจ
และในการมอบชีวิตให้กับภาพวาดนั้น การาวัจโจทำได้ด้วยการคิดประดิษฐ์เทคนิคการถ่ายทอดแสงและเงาในภาพวาดที่ไม่เคยมีศิลปินคนไหนทำมาก่อน การใช้แสงที่ตัดกันอย่างรุนแรงกับเงามืด จนก่อให้เกิดความดรามาติกแบบซีเนมาติกที่สามารถพลิกฉากในชีวิตประจำวันให้ดูยิ่งใหญ่เร้าอารมณ์ได้เทียบเคียงกับฉากจากพระคัมภีร์ ซึ่งในกาลต่อมา เทคนิคการใช้แสงและเงาเช่นนี้จะถูกเรียกว่า ‘Chiaroscuro’ ที่ก่อให้เกิดกระแส ‘Caravaggio Mania’ (อารมณ์เดียวกับ Beatlemania หรือกระแสความคลั่ง The Beatles) ที่ลุกลามไปทั่วยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 จนก่อให้เกิดคำเรียกกลุ่มศิลปินที่เดินตามสุนทรียะของการาวัจโจว่า ‘The Caravaggists’
แม้ว่ากระแสความบ้าคลั่งการาวัจโจจะค่อย ๆ เสื่อมลงเมื่อถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 17 เมื่อศิลปินในยุโรปหันกลับไปโอบรับกระแสสุนทรียะแบบคลาสสิก แต่อิทธิพลของร็อกสตาร์แห่งยุคบาโรกไผู้นี้ไม่ได้จบลงแค่นั้น ผลงานของการาวัจโจยังจับใจและส่งอิทธิพลต่อกลุ่มศิลปินลัทธิประทับใจ (Impressionists) เรื่อยไปจนถึงผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี!
เนื่องในโอกาสที่วันที่ 29 กันยายนคือวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 450 ปีของการาวัจโจ GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้ชวนทุกคนย้อนกลับไปสำรวจอิทธิพลและแรงบันดาลใจในผลงานของการาวัจโจที่ส่งผลต่อเหล่า Caravaggists หรือศิลปินสาวกลัทธิการาวัจโจ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมชื่อของการาวัจโจยังไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา และยังคงเป็นหนึ่งศิลปินที่มีบทบาทที่สุดในโลกศิลปะจนถึงปัจจุบัน
แล้วมีใครบ้างที่ได้ชื่อว่าเป็น Caravaggists… กดเลื่อนไปดูกันเลย!
Artemisia Gentileschi
ในช่วงปลายยุค 1590s จนถึงต้นยุค 1600s คือช่วงเวลาที่อิทธิพลศิลปะจากการาวัจโจพุ่งทะยานถึงจุดพีคสุด โลกศิลปะโรมันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นโลกศิลปะแห่งการาวัจโจ มีศิลปินมากมายที่เดินตามจารีตการใช้แสงและเงาสุดดรามาติกของการาวัจโจ รวมไปถึงวิถีในการถ่ายทอดภาพที่สะท้อนอารมณ์รุนแรงเร้าใจ แม้จะมีศิลปินอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่มากมายที่ถูกพูดถึงเป็นชื่อต้น ๆ เมื่อกล่าวถึงกลุ่มสาวกของการาวัจโจในอิตาลี ไม่ว่าจะเป็น Mario Minniti, Giovanni Baglione แม้ว่า(ยุคการาวัจโจของเขาจะสั้นมากก็ตาม), Leonello Spada และ Orazio Gentileschi แต่ศิลปินกลุ่มการาวัจจิสต์ที่เราอยากพูดถึงก็คือ อาร์เตมีเซีย เจนตีเลสกี (Artemisia Gentileschi) ศิลปินหญิงเพียงคนเดียวในกลุ่มการาวัจจิสต์
เจนตีเลสกีคือศิลปินหญิงที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 17 อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงยังถูกกีดกันจากพื้นที่ศิลปะ แต่ด้วยฝีมือฉกาจฉกรรจ์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งที่แหล่งวิชาความรู้ด้านศิลปะของเธอหาได้มาจากสถาบันศิลปะที่ไหน แต่เป็นการเรียนรู้จากพ่อผู้เป็นศิลปิน ในที่สุดเธอก็กลายเป็นศิลปินที่ยากจะมองข้ามได้ และได้กลายเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกของสถาบัน Academy of Painting แห่งฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
เอกลักษณ์ในงานของเจนตีเลสกีคือการเน้นการตัดกันของแสงและเงาอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความ Dramatic ให้กับภาพ รวมถึงการใช้องค์ประกอบภาพที่ดูแปลกตา แตกต่างไปจากผลงานร่วมยุค โดยเธอเรียนรู้ลักษณะองค์ประกอบภาพแบบนี้มาจากพ่อของเธอผู้ซึ่งมีการาวัจโจเป็นต้นแบบทางสุนทรียะ
ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ผลงานของเจนตีเลสกีไม่ได้รับความสนใจเท่ากับการที่เธอถูกข่มขืนโดย แอโกสทิโน ทัสซี (Agostino Tassi) ศิลปินใหญ่ผู้เป็นเพื่อนกับพ่อของเธอ ในเวลาต่อมา นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้ยกย่องเจนตีเลสกีให้เป็นศิลปินหญิงผู้กล้าหาญที่มาก่อนกาล จากการที่เธอลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจของเพศชายในวันเวลาที่โลกยังห่างไกลจากการตระหนักถึงสิทธิ์และเสียงของผู้หญิง แม้ว่าจะเป็นผู้ถูกกระทำ แต่เจนตีเลสกีกลับต้องขึ้นให้ปากคำในศาลนับครั้งไม่ถ้วน โดยข้อหาที่เธอต้องแก้ต่างนั้นหาใช่ว่าเธอถูกข่มขืนจริงหรือไม่ แต่เป็นการพิสูจน์ว่าในตอนที่เธอถูกข่มขืนนั้น เธอยังเป็นสาวพรหมจรรย์อยู่รึเปล่า เพราะย้อนกลับไปในยุคสมัยนั้น แม้ว่าผู้หญิงจะตกเป็นเหยื่อการข่มขืน แต่หากพวกเธอไม่ใช่สาวบริสุทธิ์ก็จะไม่มีการเอาความกับผู้กระทำผิด และกว่าที่ศาลจะเชื่อ เจนตีเลสกีกลับต้องถูกทรมานด้วยเครื่องบีบนิ้วเพื่อเค้นเอาความจริงว่าเธอเป็นสาวบริสุทธิ์ในช่วงเวลาที่ถูกขืนใจจริง ๆ
ประสบการณ์เลวร้ายที่เธอต้องประสบส่งผลให้เจนตีเลสกีมักถ่ายทอดภาพของตัวละครเพศหญิงในปกรณัมหรือตำนานโบราณ เช่น จูดิธ, ซูซานนา, คลีโอพัตรา หรือ ดาเน โดยผู้หญิงในภาพวาดของเธอมักถูกนำเสนอในฐานะวีรสตรีผู้เก่งกล้าเผชิญหน้ากับเพศชาย ผลงานของเจนตีเลสกีจึงไม่เพียงสะท้อนสุนทรียะของการาวัจโจในแง่ขององค์ประกอบหรือเทคนิคการนำเสนอแสงและเงาเท่านั้น แต่เธอยังสะท้อนจิตวิญญาณการนำเสนอภาพความรุนแรงและฉากบาดเลือดซึ่งเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ในงานของการาวัจโจ ผลงานที่สะท้อนความกราดเกรี้ยวของสตรีผู้ลงทัณฑ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของเจนตีเลสกีจึงหนีไม่พ้น Judith Slaying Holofernes (1620 - 1621) ที่แม้ว่าจะเป็นการนำเสนอหนึ่งในฉากตำนานชื่อดังของโลกตะวันตกของวีรสตรีหญิงนาม จูดิธ ที่ใช้ความงามของเธอใล่อลวงแม่ทัพชาวอาซีเรียนมาตัดหัว จนสามารถป้องกันอิสราเอลจากการถูกรุกรานได้ แต่ว่ากันว่าที่จริงแล้วภาพนี้คือภาพ Self-portrait ของเจนตีเลสกีที่กำลังตัดหัวชายที่ขืนใจเธอ ตามคำให้การของเจนตีเลสกีในศาลที่เล่าว่า
“เมื่อเขาเสร็จธุระแล้ว เขาก็ปล่อยตัวฉัน เมื่อฉันเป็นอิสระได้ในที่สุด ฉันจึงตรงไปที่โต๊ะเครื่องแป้งแล้วหยิบมีดออกมา ฉันชี้มีดไปที่แอโกสทิโนแล้วพูดว่า ‘ฉันอยากจะฆ่าแกด้วยมีดเล่มนี้ เพราะแกได้ลบหลู่เกียรติของฉัน’”
กว่าที่ชื่อของเจนตีเลสกีจะได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ก็เมื่อนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้ศึกษาเรื่องราวชีวิตและผลงานของเธอในช่วงศตวรรษที่ 20 และนับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ อาร์เตมีเซีย เจนตีเลสกี จึงไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในฐานะ ‘ศิลปินหญิง’ แต่เป็นหนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่และเก่งกาจที่สุดแห่งศตวรรษที่ 17
Johannes Vermeer
ในตอนที่ โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ เริ่มต้นการเป็นศิลปิน ผลงานของเขามีความคล้ายคลึงของงานของการาวัจโจเป็นอย่างมาก จนไม่ต้องสงสัยเลยว่าเฟอร์เมร์ก็เป็นศิลปินชาวยุโรปอีกคนหนึ่งที่โดนเส้นกระแสการาวัจโจฟีเวอร์ในยุคนั้น โดยก่อนที่จะหันไปมุ่งเน้นการถ่ายทอดภาพชีวิตประจำวันในบ้านของคนสามัญธรรมดา เฟอร์เมร์เคยฝึกมือด้วยการวาดภาพที่นำเสนอเรื่องราวในตำนานและฉากทางศาสนามากมาย ซึ่งผลงานในยุคนี้ของเขาก็สะท้อนอิทธิพลการใช้แสงเงาของการาวัจโจหรือ ‘Chiaroscuro’ เป็นอย่างมาก
แม้กระทั่งเมื่อเฟอร์เมร์หันมาวาดภาพฉากชีวิตในพื้นที่บ้านของคนดัตช์ชนชั้นสามัญ อิทธิพลด้านการใช้แสงและเงาของการาวัจโจก็ยังคงเห็นได้ชัดในผลงานของเขาช่วงนี้ โดยเฉพาะการใช้แสงตัดกับพื้นหลังที่เป็นเงาสีเข้ม ในภาพ Young Woman with a Water Jug (1660 - 1662) จะเห็นได้ชัดว่าเฟอร์เมร์ใช้แสงและเงาที่ปกติแล้วสงวนไว้ใช้ในภาพจิตรกรรมทางศาสนามาใช้กับภาพของคนสามัญธรรมดา ซึ่งนอกจากจะสะท้อนเทคนิคที่ได้รับอิทธิพลจากการาวัจโจแล้ว ยังสะท้อนการตัดสินใจเลือกนำเสนอภาพชีวิตคนธรรมดาแทนที่จะเป็นฉากทางศาสนา ซึ่งก็เป็นสปิริตที่ชัดเจนของการาวัจโจ
เฟอร์เมร์ยังใช้เทคนิคการถ่ายทอดแสงเงาของการาวัจโจในการทำให้ภาพวาดของเขาดูมีมิติสมจริงมากขึ้น หากสังเกตภาพ Young Woman with a Water Jug ดี ๆ จะเห็นว่า แม้ในภาพจะมีจุดที่ใช้สีน้ำเงินเหมือนกัน คือที่ชุดของหญิงสาว กับผ้าที่พาดอยู่บนเก้าอี้ แต่เฟอร์เมร์ก็เลือกที่จะใช้สีน้ำเงินเข้มกับชุดกระโปรงของหญิงสาว เพื่อสะท้อนมิติของแสงและเงาที่กระทบต่อวัตถุต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน การที่เฟอร์เมร์เลือกใช้สีน้ำเงินที่ต่างกันในภาพเดียวกันนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า เฟอร์เมร์เข้าใจเป็นอย่างดีว่าแสงและเงานั้นสามารถสร้างความแตกต่างให้กับสิ่งที่ปรากฏในภาพเดียวกันได้ และยังสะท้อนความพยายามของเฟอร์เมร์ในการนำเสนอทุกรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ซึ่งก็เป็นแนวคิดในการลอกเลียนภาพตรงหน้าให้สมจริงที่สุดตามวิถีของการาวัจโจ โดยในเวลาต่อมา เทคนิคการนำเสนอภาพด้วยแสงเงาและความแตกต่างของแสงที่ตกกระทบสีซึ่งเฟอร์เมร์ได้รับอิทธิพลมาจากการาวัจโจนี้่จะส่งผลสำคัญต่อวิธีการนำเสนอภาพในศิลปะภาพถ่ายเป็นอย่างมาก
The Impressionists
โรแบร์โต ลองชี (Roberto Longhi) คือนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะผู้อุทิศชีวิตให้กับการศึกษาผลงานของการาวัจโจ และเป็นผู้ที่ทำให้ชื่อของการาวัจโจได้รับการยกย่องให้อยู่ในระดับเดียวกับ มิเกลันเจโล เคยตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานของการาวัจโจส่งอิทธิพลต่อศิลปินยุโรปเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดว่า นอกจากมิเกลันเจโลแล้ว ไม่มีศิลปินอิตาเลียนคนไหนที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปะยุโรปได้เท่าการาวัจโจอีก
สิ่งที่ทำให้ลองชียืนยันในข้อสันนิษฐานนี้ก็คือความจริงที่ว่า นอกจากบรรดาศิลปินร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกันแล้ว การาวัจโจยังส่งอิทธิพลต่อศิลปินยุโรปในศตวรรษต่อ ๆ มา โดยเฉพาะในบรรดาเหล่าศิลปินผู้มุ่งศึกษาวิธีการเก็บบันทึกแสงในธรรมชาติมาไว้บนผืนผ้าใบอย่างเหล่าศิลปินลัทธิประทับใจ (The Impressionists) ไม่ว่าจะเป็น กุสตัฟ โคร์แบต์, เอดัวร์ มาแนต์ หรือ ปอล เซซาน
โดยเฉพาะมาเนต์ที่ไม่เพียงหลงใหลในการนำเสนอแสงเงาในภาพของการาวัจโจ แต่ยังได้รับอิทธิพลด้านแนวคิดการแหกขนบสังคมจากศิลปินผู้มีชีวิตอยู่เมื่อสามศตวรรษที่แล้วเป็นอย่างมาก ภาพ Olympia (1865) สุดอื้อฉาวที่มาแนต์เขย่าสังคมด้วยการนำเสนอภาพของโสเภณีเปลือยเปล่าก็มีชะตากรรมคล้ายคลึงกับภาพ Death of the Virgin (1601 - 1606) ของการาวัจโจทที่ใช้โสเภณีมาเป็นแบบในการวาดพระแม่มารี โดยภาพทั้งสองล้วนเผชิญกับคำวิจารณ์มาดร้ายจากสังคมเคร่งศีลธรรมเช่นเดียวกัน แม้จะต่างช่วงเวลากันก็ตาม
ที่สำคัญที่สุด การสั่นสะเทือนสังคมด้วยการนำเสนอความอื้อฉาวและเรื่องกามารมณ์นี้ต่างก็ล้วนเป็นความตั้งใจของศิลปินต่างยุคทั้งสองคนเฉกเช่นเดียวกัน
Martin Scorsese
หลังจากที่ โรแบร์โต ลองชี จัดนิทรรศการเพื่ออุทิศให้กับการาวัจโจที่มิลานในปี 1951 ชื่อของการาวัจโจกก็กลายเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และแน่นอนว่าผลงานของการาวัจโจได้กลับมามีชีวิตและส่งอิทธิพลต่อศิลปินแห่งศตวรรษที่ 20 อีกมากมาย
และหนึ่งในนั้นก็คือผู้กำกับที่ชื่อว่า มาร์ติน สกอร์เซซี ที่เคยอธิบายว่า “ผมรู้สึกได้รับพลังทันทีที่ได้เห็นผลงานของการาวัจโจ แม้คุณแค่เดินผ่านผลงานชิ้นนั้น แต่ภาพนั้นกลับมีแรงดึงดูดให้คุณหลงวนเข้าไปในโลกของมัน… ภาพของการาวัจโจมีองค์ประกอบที่เหมือนกับการจัดฉากในการทำหนัง มันทั้งทรงพลังและซื่อตรงมาก ๆ ถ้าเขามีชีวิตอยู่ในยุคนี้ เขาจะเป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่มากแน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย”
สกอร์เซซียังยกเครดิตของฉากหนึ่งในหนังของเขาให้กับมาสเตอร์ผู้ล่วงลับไปกว่า 500 ปี และฉากนั้นก็คือฉากบาร์ในหนังเรื่อง Mean Streets (1973) ที่ทั้งฉากถูกอาบไล้ด้วยแสงสีอุ่นซึ่งตัดชัดกับเงามืด
“ฉากนั้นเป็นฉากธรรมดา ๆ ที่ผู้คนนั่งดื่มกันที่บาร์ ที่โต๊ะ หรือบางคนก็ลุกขึ้นเต้น แต่มันคือฉากที่เป็นการคารวะให้กับภาพ The Calling of St Matthew (1599 - 1600 ผลงานที่การาวัจโจวาดให้กับโบสถ์ซันลุยจีเดย์ฟรันเชซีในกรุงโรม ซึ่งทำให้เขากลายเป็นศิลปินมีชื่อเสียงในชั่วข้ามคืน) ซึ่งเรายกภาพนั้นมาไว้ในฉากที่นิวยอร์ก! หนังของผมคือการถ่ายทอดภาพของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ริมถนน และการาวัจโจก็วาดภาพคนเหล่านี้ในยุคสมัยของเขาเช่นกัน”
อ้างอิง: Caravaggio, Caravaggio (1571-1610)