You're my downfall, you're my muse, my worst distraction, my rhythm and blues…
หนึ่งท่อนของบทเพลง ‘All of me’ ของจอห์น เลเจนด์ ช่างเหมาะเจาะกับการบรรยายถึง ‘ความรัก’ ห้วงอารมณ์อันทรงพลังที่ขับเคลื่อนให้ศิลปินหลายคนสร้างงานศิลปะขึ้นมา โดยพวกเขาต่างเก็บเรื่องราวของ ‘เธอ’ ผู้เป็นทั้งคนรักและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานเอาไว้อย่างดี ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือแง่ร้าย หรือต่อให้คนคนนั้นจะทำให้คลั่งรัก แค้นใจ หรือโศกเศร้าขนาดไหนก็ตาม
ในเมื่อฤดูกาลแห่งความรักมาเยือนทั้งที GroundControl เลยอยากชวนทุกคนไปสำรวจการถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘เธอ’ คนนั้นในผลงานของศิลปิน ไม่แน่ว่าความรักที่ว่านั้น อาจจะทำให้คุณหวนนึกถึง ‘เจ้าความรัก’ ของคุณบ้างก็เป็นได้
Monet and Camille
เชื่อว่าคอศิลปะหลายคน คงไม่มีใครไม่รู้จักเรื่องราวความรักของโกลด์ โมเนต์ และ คามิลล์ โมเนต์ ที่เริ่มต้นด้วยการพบรักกันในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ก่อนจะต้องเผชิญกับการกีดกันความรักจากครอบครัว และจบลงด้วยการพลัดพรากจากกันไปตลอดกาลด้วยความตายของคามิลล์ แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน คามิลล์ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปในภาพวาดของโมเนต์ และเราก็ได้รู้จักเธอผ่านสายตาของเขาเช่นกัน ซึ่งวันนี้เราจะชวนทุกคนมาพูดคุยถึงมุมมองความรักของโมเนต์ที่มีต่อคามิลล์ ผ่านภาพวาดชื่อดังอย่าง Woman with a Parasol – Madame Monet and Her Son (1875) กัน
ภาพ Woman with a Parasol – Madame Monet and Her Son (1875) คือภาพที่มีบรรยากาศสบาย ๆ ของครอบครัวโมเนต์ที่กำลังเดินเล่นอยู่ในแถบชานเมืองอาร์ฌ็องเตย (Argenteuil) ประเทศฝรั่งเศส และในจังหวะที่กำลังเดินไปเรื่อย ๆ เหมือนว่าเด็กชายตัวเล็ก กับหญิงสาวตรงหน้าจะถูกขัดจังหวะด้วยอะไรบางอย่างให้หันกลับมามองด้านหลัง และสบตาเข้ากับศิลปินส่วนตัวที่เก็บภาพช่วงเวลานั้นให้คงอยู่ไปตลอดกาล
อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกราวกับโลกหยุดหมุนเมื่อได้จับจ้องสายลม แสงแดด หมู่เมฆ ดอกไม้ ลูกชายวัยเจ็ดขวบ และคามิลล์ผู้กำลังถือร่มในภาพนี้ก็เป็นได้ ที่ทำให้เราเลือกภาพนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงความรักอันล้นอกที่โมเนต์ได้แรงบันดาลใจมาจากคามิลล์ แต่นอกเหนือจากองค์ประกอบภาพโดยรวมแล้ว ยังมีอีกหลายสัญญะในภาพนี้ที่เรามองว่าเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความรัก การปกป้อง และการให้เกียรติภรรยาของเขาด้วย
สัญลักษณ์แรกที่เราอยากพูดถึงคือ ‘เครื่องแต่งกาย’ ของคามิลล์ ไม่ว่าจะเป็น ‘ร่ม’, ‘ผ้าคลุมหน้า’ และ ‘ชุด’ ที่สวมใส่ ล้วนเป็นเครื่องแต่งกายของสตรีชั้นสูง หรือคนที่มีฐานะในช่วงศตวรรษที่ 19 สวมใส่กัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นครอบครัวโมเนต์ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่การที่คามิลล์มีเครื่องแต่งกายเหล่านี้ ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติภรรยาของเขาเอง
นอกจากนี้ ‘ร่ม’ ที่คามิลล์ถือเพื่อบังแสงแดด ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แทนถึงการปกป้อง และการดูแลเอาใจใส่ได้ด้วย โดยอาจจะตีความได้สองแง่ว่า ‘ร่ม’ คือสัญลักษณ์แทนการปกป้องคามิลล์ของโมเนต์ หรืออาจจะเป็นตัวคามิลล์ผู้เป็นคนถือร่มนั่นแหละ ที่เป็นคนปกป้องและดูแลครอบครัวมาโดยตลอดก็เป็นได้อีกทั้งยังมีในเรื่องของโทนสีชุดและสีของภาพที่มีความสว่างสดใส สื่อให้เห็นถึงความสุข ความงดงาม และความบริสุทธิ์ของมาดามคามิลล์ในสายตาของโมเนต์ได้เป็นอย่างดี
เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดของภาพนี้ ก็จะพบว่าในสายตาของโมเนต์ คามิลล์คือหญิงสาวผู้อ่อนโยน เป็นคนที่ดูแลครอบครัวได้เป็นอย่างดี และเป็นแสงสว่างในชีวิตของเขา การได้มองภาพนี้จึงทำให้เราได้รู้จักคามิลล์แบบเดียวกับที่โมเนต์รู้จัก เป็นมุมมองความรักที่โมเนต์ถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่าย แต่ก็ให้ความรู้สึกว่าหอมหวานและนุ่มฟู เหมือนกินขนมสายไหม ที่ยิ่งกินความหวานก็ยิ่งเคลือบไปทั่วปาก และติดตรึงอย่างยาวนานจนยากจะจางหาย เช่นเดียวกับโมเนต์ที่ไม่เคยลืมคามิลล์เลย
อ้างอิง
Dali and Gala
หากจะพูดถึงศิลปินสุดคลั่งรักขึ้นมาสักคนหนึ่ง เชื่อว่าซัลวาดอร์ ดาลี จะต้องเป็นหนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่เรานึกถึง โดยเฉพาะภาพ Galatea of the Spheres (1952) ที่แสดงถึงการบอกรักอย่างลึกซึ้งกินใจถึงกาล่า ดาลี ภรรยาและมิวส์ผู้เป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญของเขา
ถึงแม้ว่าชีวิตรักของทั้งคู่จะไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม แต่ในยามที่รักยังหวานชื่น ดาลีถือว่าเป็นศิลปินที่รักภรรยามาก ๆ และยังให้เกียรติภรรยามากด้วย เพราะเขาได้เซ็นชื่อในผลงานของตัวเองพร้อมกับชื่อของกาล่าเอาไว้ด้วยกันเสมอ โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า “ภาพเกือบทั้งหมดที่ผมวาดขึ้นมาล้วนมาจากเลือดของคุณทั้งนั้นกาล่า” ซึ่งเป็นคำพูดเปรียบเปรยเพื่อยกย่องภรรยา ผู้เป็นนางแบบและแรงบันดาลใจให้เขาวาดภาพต่าง ๆ ขึ้นมาได้นั่นเอง
โดยภาพที่เราหยิบยกขึ้นมาเพื่อพูดถึงมุมมองความรักที่ดาลีมีต่อกาล่า ก็คือภาพ Galatea of the Spheres (1952) ซึ่งเป็นภาพที่วาดขึ้นมาหลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งแรกที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในภาพนี้เขาได้ผสมผสานความหลงใหลในเรื่องฟิสิกส์นิวเครียร์ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของดีเอ็นเอ เข้ากับใบหน้าของภรรยาที่เขาหลงรัก
นอกจากการนำสองความชอบมาไว้ในภาพเดียวกัน คำว่า ‘Galatea’ หรือ ‘กาลาเทอา’ ที่ตั้งเป็นชื่อภาพวาดยังตั้งตามชื่อของกาล่าอีกด้วย โดยดาลีได้เปรียบกาล่าเป็น ‘กาลาเทอา’ ตัวละครในเทพนิยายกรีกจากเรื่อง ‘พิกเมเลียนและกาลาเทอา’ ที่ว่าด้วยพิกเมเลียน ประติมากรหนุ่มผู้หลงรักในรูปปั้นที่ตนแกะสลักขึ้นมาเองกับมือ รูปปั้นนั้นมีชื่อว่ากาลาเทอา วันหนึ่งเขาได้ไปขอพรกับเทพีอะโฟร์ไดรท์ให้ประทานภรรยาที่เหมือนกับกาลาเทอาให้กับเขา ซึ่งเทพีก็ได้ตอบรับคำขอนั้นและมอบดวงไฟให้เขาสามดวง เมื่อกลับมาถึงบ้าน เขาก็สวมกอดและจุมพิตรูปปั้นกาลาเทอาเหมือนทุก ๆ วัน แต่ครั้งนี้อ้อมกอดและริมฝีปากของกาลาเทอากลับมีผิวสัมผัสเหมือนกับมนุษย์ และเมื่อเขาจับไปที่เส้นเลือดของเธอ กาลาเทอาก็มีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ จากนั้นพวกเขาก็ได้ครองรักกันอย่างมีความสุข
แค่ฟังเรื่องราวก็รู้แล้วว่า ดาลีเปรียบตัวเองเป็นพิกเมเลียน ผู้รังสรรค์และทะนุถนอมมิวส์ของเขาอย่างกาล่า ผู้เปรียบดั่งนางกาลาเทอา เรียกว่าเป็นการบอกรักผ่านภาพวาดที่หวานหยดย้อย และแสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจแห่งรัก ที่ขับเคลื่อนออกมาเป็นงานศิลปะได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว
อ้างอิง
- https://www.dailyartmagazine.com/dali-gala-great-love-story/
- https://www.thedaliuniverse.com/.../news-dalis...
- https://www.thepeople.co/read/31381
Frieda and Diego: The Two Fridas (1939)
“ในชีวิตของฉันได้เผชิญกับอุบัติเหตุครั้งใหญ่ถึงสองหน หนแรกคือตอนที่โดนรถชน และหนที่สองคือตอนที่พบกับดิเอโก้ ผู้ซึ่งแย่กว่าอุบัติเหตุอื่นใดหลายขุม”
เพียงคำพูดเดียวของฟรีดา คาห์โล ที่เอ่ยถึงดิเอโก้ เรวิราผู้เป็นอดีตสามี ก็สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดใจ ที่บาดลึกอยู่ในใจของเธออย่างเห็นได้ชัด และสิ่งที่ทำให้ความเจ็บปวดนี้หนักหนามากขึ้นไปกว่าเดิม ก็คงจะเป็นเพราะเธอยังคงคะนึงถึงเขาอยู่ ไม่ว่าจะเจอกับความบอบช้ำแค่ไหนก็ตาม
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเรื่องราวความรักที่จะมอบพลังบวกให้กับศิลปินเสมอไป เพราะหนึ่งในภาพชื่อดังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตรักแสนขมของฟรีดา ก็คือ The Two Fridas (1939) ภาพเหมือนของฟรีดาสองคนกำลังนั่งจับมืออยู่เคียงข้างกัน ภายใต้ฉากหลังที่เป็นเมฆครึ้ม ภาพนี้ถูกวาดขึ้นหลังจากที่เธอตัดสินใจหย่าขาดกับดิเอโก้ ผู้นอกใจเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนมาถึงคนล่าสุด ก็คือน้องสาวของเธอเอง
หากเรามองภาพ จะเห็นว่าฟรีดาคนด้านซ้าย ได้สวมชุดมิดชิดที่ปิดบังจนถึงคอ ตามแบบเครื่องแต่งกายของสตรีชาวตะวันตก ทว่าเสื้อบริเวณหน้าอกกลับถูกฉีกทึ้งจนขาด และเผยให้เห็นหัวใจอันเว้าแหว่ง ในมือของเธอยังถือกรรไกรที่ตัดเส้นเลือดจนขาดเอาไว้ด้วย บาดแผลที่เกิดจากรอยตัดนั้นยังคงสดใหม่ จนมีเลือดไหลหยดลงมาจนเปรอะเปื้อนชุดสีขาว
เส้นเลือดเส้นนั้นยังเชื่อมหัวใจฟรีดาคนซ้าย เข้ากับหัวใจของฟรีดาคนขวา ที่สวมชุดเตฮัวน่า (Tehuana costume) ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองสำหรับผู้หญิงชาวซาโปเทค (Zapotec) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก หากเทียบกันดูจะเห็นว่าหัวใจของฟรีดาด้านซ้ายยังคงมีสุขภาพดี และเมื่อมองตามเส้นเลือดลงไปจนถึงมือของเธอ ก็จะพบแผ่นวงรีที่มีรูปภาพของดิเอโก้ในวัยเด็กติดอยู่
ถ้าเราลองถอดรหัสและวิเคราะห์สัญลักษณ์ในภาพนี้กันไปทีละส่วน เราจะสามารถเข้าใจถึงความเจ็บปวดของฟรีดาได้อย่างแจ่มชัดมากขึ้น เริ่มต้นกันที่จุดแรก คือเครื่องแต่งกาย ฟรีดาคนซ้ายได้สวมชุดแบบตะวันตก ซึ่งชุดสไตล์นี้เป็นสไตล์ที่ดิเอโก้ไม่ชอบให้ฟรีดาใส่เอามาก ๆ ส่วนฟรีดาคนขวาได้สวมชุดเตฮัวน่า ซึ่งเป็นชุดที่ดิเอโก้ชอบมากเมื่อฟรีดาใส่ จากข้อมูลนี้สามารถตีความได้ว่า ฟรีดาทางซ้ายมือ ก็คือฟรีดาเวอร์ชันหลังหย่ากับดิเอโก้ ส่วนด้านขวาคือฟรีดาในอดีตที่เคยรักกับดิเอโก้นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าหัวใจของฟรีดาหลังจากหย่าขาดกับดิเอโก้นั้น เป็นแผลบาดลึก และจุดที่เคยเป็นรูปภาพดิเอโก้วัยเด็กที่ฟรีดาคนด้านขวาถือไว้ ก็เหลือเพียงกรรไกร และรอยเลือดที่ยังคงหยดอยู่ตลอดเวลา ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงการตัดขาดกับดิเอโก้ที่ยังคงสดใหม่ และสร้างความเจ็บปวดทางใจจนถึงตายให้กับเธอ เพราะเลือดจากหัวใจของเธอยังคงไหลต่อเนื่องไม่หยุด
อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกต คือเมื่อเราลองเทียบภาพ The Two Fridas (1939) ที่วาดขึ้นหลังหย่ากับดิเอโก้ เข้ากับภาพ Frieda and Diego Rivera (1931) ที่วาดขึ้นหลังแต่งงาน เราจะเห็นว่ามีสองอย่างของดิเอโก้ที่แตกต่างกัน อย่างแรกคือขนาดร่างกายของดิเอโก้ ในภาพที่วาดขึ้นหลังวันแต่งงาน ฟรีดาได้วาดให้ดิเอโก้มีขนาดตัวที่ใหญ่มาก ๆ ส่วนเธอจะตัวเล็กกว่าเขาอยู่หลายเท่า แต่พอเป็นภาพที่วาดขึ้นหลังหย่า ฟรีดากลับวาดให้ดิเอโก้เป็นเพียงเด็กคนหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับคำที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ดิเอโก้ไม่เคยเป็นสามีของใคร และเขาไม่มีวันเป็นได้ด้วย” และฟรีดาก็คงจะรู้แล้วว่าคนที่เธอแต่งงานด้วยไม่ใช่ศิลปินชื่อดังที่พึ่งพาได้ แต่เป็นเพียงเด็กไม่รู้จักโตและรักเพียงตัวเองเท่านั้น
จุดต่อมาคือมือของฟรีดา จะเห็นว่าในภาพ The Two Fridas (1939) ฟรีดาทั้งสองคนได้จับมือกันเอาไว้อย่างแนบแน่นมั่นคง มากกว่าตอนที่ฟรีดาวาดตัวเองให้จับมือกับดิเอโก้ในวันแต่งงานที่ปรากฏอยู่ในภาพ Frieda and Diego Rivera (1931) เสียอีก สิ่งนี้ทำให้เราสัมผัสได้เลยว่า ถึงแม้ฟรีดาในภาพนี้จะมีหัวใจเหวอะหวะ และยังคงเจ็บปวดจากแผลความรักที่ยังคงสดใหม่ แต่เธอก็เข้มแข็งขึ้น และเหมือนว่าโชคชะตาเองก็เป็นใจให้เธอเช่นกัน เพราะภาพ The Two Fridas (1939) ได้ทำให้ชื่อเสียงของฟรีดาพุ่งทะยานและก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงด้วยตัวเอง ตอนนี้ผู้คนไม่ได้รู้จักเธอในฐานะภรรยาของดิเอโก้ ที่ติดสอยห้อยตามเขาไปยังอเมริกา แต่เป็นฟรีดาที่เป็นฟรีดา
แม้จะน่าเสียดาย แต่ในท้ายที่สุดฟรีดาก็ไม่อาจตัดใจจากดิเอโก้ได้ เพราะหลังจากหย่าขาดกันไปแล้ว ทั้งสองก็ยังคงกลับมาคืนดีกัน และแต่งงานกันใหม่อีกครั้ง แน่นอนว่าดิเอโก้ก็ยังคงเป็นดิเอโก้คนเดิม เขาเคยนอกใจภรรยาอย่างไร ก็ยังคงนอกใจต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้หลังจากนั้นเขาก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจอันแสนทุกข์ระทมของฟรีดาไปอีกหลายภาพ ที่เยอะเกินกว่าจะเล่าวันเดียวได้หมด
อ้างอิง
- https://minimore.com/b/jH94B/3
- https://commons.gc.cuny.edu/.../iconographic-analysis.../
- https://www.fridakahlo.org/the-two-fridas.jsp
- https://artincontext.org/the-two-fridas-by-frida-kahlo/
Spike jonze and Sofia coppola: Lost in Translation & Her
จะเป็นอย่างไรถ้าจดหมายจากคนรักเก่าใช้เวลานานถึงสิบปีในการเดินทางมาถึงมือเรา?
ว่ากันว่าอดีตคู่รักอย่าง สไปก์ จอนซ์ และ โซเฟีย คอปโปลาต่างมีกันและกันเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน โดยพวกเขาได้ใช้ภาพยนตร์เป็นจดหมาย เพื่อสื่อสารถึงอีกฝ่าย และบอกเล่าความรู้สึกในมุมมองของตัวเองให้อีกคนรับรู้ ซึ่งภาพยนตร์สองเรื่องที่ว่านั้นก็คือ Lost in Translation (2003 ) ที่กำกับโดยโซเฟีย คอปโปลา และ Her (2013) ที่กำกับโดย สไปก์ จอนซ์
เนื้อเรื่องของ Lost in Translation (2003) ได้พูดถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่มีชื่อว่าชาร์ล็อต เธอได้ติดตามแฟนหนุ่มที่เป็นช่างภาพมายังเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อมาถึงแฟนของเธอก็เอาแต่ทำงานอย่างจริงจัง จนปล่อยให้เธอต้องอยู่กับความเหงาและใช้ชีวิตอยู่ต่างถิ่นเพียงลำพัง ก่อนจะได้มาพบกับ บ๊อบ ดารารุ่นเก๋าจากประเทศอเมริกา ที่พาเธอไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วกรุงโตเกียว และทำให้เธอกลับมามีความสุขอีกครั้ง
ในขณะที่ผลงานของจอนซ์อย่าง Her (2013) จะว่าด้วยเรื่องของหนุ่มวัยกลางคนผู้โดดเดี่ยว เขาทำงานเป็นคนเขียนจดหมายตอบกลับทางอีเมล มีกิจวัตรประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย และอมทุกข์จากการหย่าร้างกับภรรยา จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ตกหลุมรักกับซาแมนธา เอไออัจฉริยะที่มีน้ำเสียงหวานนุ่มนวล เธอพูดคุยกับเขาได้อย่างลื่นไหล และเข้าใจเขามาก จนเขาสามารถตัดสินใจหย่าร้างกับภรรยาได้ และมีซาแมนธาเป็นเพื่อนแทน
นอกจากเรื่องความเหงาและมีสการ์เลตต์ โจแฮนส์สันเป็นนางเอกเหมือนกันแล้ว ถ้าดูจากเรื่องย่อก็เหมือนว่าทั้งสองเรื่องจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย แล้วทั้งสองเรื่องจะมีแรงบันดาลใจมาจากผู้กำกับทั้งสองคนจริงหรือ?
หากเราเทียบไทม์ไลน์และเรื่องราวของทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกัน ก็จะเห็นถึงความเชื่อมโยงกันอยู่ โดยในช่วงปี 2003 ที่ Lost in Translation ออกฉาย เป็นช่วงที่ทั้งคู่หย่าร้างกันพอดี เมื่อเราเทียบเนื้อเรื่องกัน เราก็จะมองเห็นว่า ครั้งหนึ่งสไปก์เคยไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Virgin Suicides ที่โตเกียวเช่นกัน และโซเฟียก็ได้ติดตามเขาไปที่นั่นด้วย
ดังนั้นตัวละครชาร์ล็อตเลยเทียบได้กับตัวโซเฟียเอง ที่ถูกปล่อยปละละเลยให้รู้สึกเหงา และนั่นก็สามารถตีความได้ถึงสาเหตุที่ทำให้ความรักของทั้งคู่เจือจางลง เพราะในท้ายที่สุดแล้วโซเฟียอาจจะอยากให้สไปก์เป็นเหมือนกับบ๊อบ ผู้ชายธรรมดาที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ หรือมีอะไรพิเศษ แต่เป็นคนที่สามารถอยู่กับเธอ สามารถพาเธอไปทำเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ และมีความสุขไปพร้อม ๆ กับเธอได้ และสารนั้นก็ได้สื่อไปถึงสไปก์ อดีตคนรักผู้โด่งดังและประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีวันเป็นบ๊อบสำหรับเธอ
ส่วน Her ถูกสร้างขึ้นในปี 2013 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเรื่อง Lost in Translation ถึงสิบปี ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ความรู้สึกหลังการหย่าร้างได้ตกตะกอนมากพอ จนเกิดเป็นความโหยหา และความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้ ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่ธีโอดอร์ พระเอกของเรื่องประสบอยู่ นอกเหนือจากตัวพระเอกที่คล้ายกับสไปก์แล้ว ตัวภรรยาของพระเอกเอง ก็ละม้ายคล้ายกับโซเฟียไม่น้อย เพราะเธอมีอาชีพเป็นนักเขียนผู้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับโซฟีที่เป็นผู้กำกับและนักเขียนบทที่ใคร ๆ ต่างก็ยอมรับ
นอกจากนี้ในเรื่องยังมีเอไอ ที่ทำให้ธีโอดอร์สนุกสนานและตกหลุมรักด้วย ทว่าความจริงแล้วหากเราลองมองดี ๆ เราจะสังเกตเห็นว่า ซาแมนธาจะพูดแต่สิ่งที่ตรงกับความชอบของธีโอดอร์ และมีรสนิยมเหมือนกันมากจนธีโอดอร์เหมือนคุยกับตัวเองมากกว่า ส่วนนี้เลยเทียบได้กับตัวสไปก์ที่ใช้เวลาอยู่เพียงในโลกของตัวเอง ที่มีตัวเขาเป็นศูนย์กลาง และเข้าใจแค่ตัวเองเท่านั้น
ในตอนท้ายของเรื่องเอไอยังสามารถพัฒนาตัวเองได้ จนสามารถออกไปจากชีวิตมนุษย์ และพากันเดินทางเข้าสู่โลกที่มีแต่เอไอเท่านั้นที่เข้าถึงได้ หลังจากเหตุการณ์นั้น ธีโอดอร์ก็ได้กลับมาอยู่คนเดียว และได้ทบทวนกับสิ่งที่ผ่านมาในชีวิต และมองเห็นถึงความจริงที่ทำให้เขาต้องเลิกรากับภรรยา เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาไม่เคยใส่ใจภรรยาของเขาเลย ฉากนี้เลยเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า การที่เอไอจากไป เท่ากับการที่สไปก์ได้ออกมาจากห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ของตัวเอง และได้หันมามองในมุมของคนอื่นบ้าง และนั่นก็ทำให้เขาได้เข้าใจมุมมองของภรรยาบ้างเช่นกัน
ภาพยนตร์เรื่อง Her ได้ปิดท้ายเรื่องราวทั้งหมดด้วยจดหมายที่ธีโอดอร์เขียนถึงแคทเทอรีน หรือจะบอกว่าเป็นจดหมายจากสไปก์ถึงโซฟีก็คงไม่เกินจริงนัก โดยเนื้อความในจดหมายได้เขียนไว้ว่า
ถึงแคทเธอรีน ผมนั่งอยู่ตรงนี้และเฝ้าคิดถึงแต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมอยากขอโทษคุณ ผมอยากขอโทษสำหรับทุกความเจ็บปวดที่เราต่างมอบให้กันและกัน ผมขอโทษที่เอาทุกอย่างมาลงที่คุณ และเอาแต่เจ้ากี้เจ้าการอยากให้คุณพูดแบบนั้น อยากให้คุณเป็นแบบนี้ ผมขอโทษสำหรับเรื่องทั้งหมดนี้ด้วย ผมจะรักคุณเสมอ เพราะเราเติบโตมาด้วยกัน และคุณคือคนที่ช่วยทำให้ผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้ได้ ผมอยากให้คุณรู้เอาไว้ว่า ยังคงมีเศษเสี้ยวของคุณหลงเหลืออยู่ในตัวตนของผมเสมอ และผมขอบคุณสำหรับสิ่งนั้นมากจริง ๆ ไม่ว่าคุณจะกลายเป็นใคร หรือไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ผมขอส่งความรักไปถึงคุณ และคุณจะเป็นเพื่อนของผมไปตลอดกาล
เห็นได้ชัดเลยว่า Lost in Translation กับ Her เป็นภาพยนตร์ที่มีแรงบันดาลใจมาจากรักครั้งเก่าของสองผู้กำกับ ที่ต่างฝ่ายต่างบอกกันและกันถึงเหตุผลที่ทำให้อะไร ๆ ในความสัมพันธ์แย่ลง ผ่านมุมมองของตัวเอง
ลองชมฉากสุดท้ายกันได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=j9qrKCbB1KY
Marina and Ulay: Breathing In/Breathing Out (1977)
เมื่อพูดถึงมารินา อบราโมวิช ศิลปินแนวเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตชาวเซอร์เบียน เรามักจะนึกถึงศิลปะการแสดงสดที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจความเป็นมนุษย์ อย่าง ‘Rythm 0’ นอกจากนี้หลาย ๆ ผลงานของเธอยังพูดถึงความเจ็บปวดทางกาย การกดขี่ทางใจ ประเด็นทางเพศ รวมไปถึงเนื้อหาของงานที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลและความทรมาณด้วย ทว่าหากเราย้อนกลับไปในบางช่วงบางตอนของชีวิตเธอ สมัยที่ยังทำงานอยู่กับอูเลย์ ‘ความรัก’ ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่พวกเขาแสดงร่วมกันอยู่บ่อย ๆ
หนึ่งในผลงานที่ขอพูดถึง คือ Breathing In/Breathing Out (1977) ที่มองแบบผิวเผินอาจเหมือนฉากคู่รักจุมพิตกันอย่างดูดดื่ม แต่ความจริงแล้วจุมพิตนั้นคือการมอบอากาศให้อีกฝ่ายต่างหาก กล่าวคือทั้งสองคนได้อุดจมูกเอาไว้ด้วยฟิลเตอร์ของบุหรี่ และใช้เพียงปากในการหายใจเข้าและออกเท่านั้น โดยอูเลย์จะหายใจออกทางปาก เข้าสู่ปากของมารินา ส่งผลให้เธอได้รับคาร์บอนไดออกไซด์เต็ม ๆ จากนั้นเธอก็ส่งมันกลับไปทางปากของอูไลย์อีกครั้ง ทั้งสองส่งต่อลมหายใจกันไปมาอย่างนี้ จนถึงจุดที่เกือบจะหมดสติจากการขาดออกซิเจน และหยุดการแสดงลง
“ผมกำลังหายใจเข้าเอาออกซิเจนเข้าไป ผมกำลังหายใจออกเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป” อูเลย์เอ่ย “ฉันกำลังหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ฉันกำลังหายใจออกเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป” มารินากล่าวต่อ หลังจากนั้นอูเลย์ก็พูดซ้ำตามเธออีกครั้งว่า “ผมกำลังหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ผมกำลังหายใจออกเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป”
ทั้งสองคนใช้ท่าทางการแสดงความรักอย่างการจุมพิต กับเครื่องหมายของการมีชีวิตอย่างลมหายใจเข้ามาผนวกรวมกันในการแสดงครั้งนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตร่วมกันของคนรัก ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่าทั้งสองคนกำลังหายใจอยู่เพื่อมีชีวิตต่อไป แต่การมอบสิ่งที่ไร้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตให้แก่กันและกันอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลับไม่สามารถทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้อย่างยั่งยืน และในท้ายที่สุดก็ต้องผละออกจากกันเพื่อสูดลมหายใจ และกลับมาหายใจด้วยตัวเองอีกครั้ง การแสดงสดของทั้งคู่จึงไม่ได้เป็นเพียงแรงบันดาลใจที่ต่างคนต่างมอบให้กันและกัน แต่เขายังส่งต่อแรงบันดาลใจและมุมมองความรักมาสู่ผู้ชมอย่างเรา ๆ ด้วย
อ้างอิง
ชมวิดิโอการแสดงสด Breathing In/Breathing Out (1977) ได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=rWixdA2xTSs