หากนั่งทามแมชชีนย้อนไปวัยเด็ก เชื่อว่าการเล่นเกมปริศนา หาของที่แอบซ่อนอยู่ในส่วนไหนสักแห่งของหนังสือ คงเป็นความสนุกที่ท้าทายเราไม่น้อย ของเล่นหลายสิบชิ้นซึ่งกระจายเต็มพื้นที่ รอการค้นหาของเด็ก ๆ นี้ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างงานของ วอลเตอร์ วิค (Walter Wick) ศิลปินและช่างภาพชาวอเมริกัน จนเกิดเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กเล็ก I Spy และ Can You See What I See? ที่ใครหลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีจากเกมหาชิ้นส่วนของเล่นในหนังสือ
เมื่อมองเผิน ๆ เราอาจคิดว่าการถ่ายทำภาพของเล่นสะเปะสะปะกองโตนี้ อาจจะเป็นการวางของอย่างไร้ทิศทางไปตามอารมณ์ผู้สร้าง แต่ความจริงแล้ว เคล็ดลับที่ทำให้ผลงานของวิคดังไกลไปทั่วโลก ก็เพราะ “ความคราฟท์” ที่เขาตั้งใจแปะชิ้นส่วนเหล่านั้นลงบนแผ่นกระจกใสทีละชิ้นอย่างบรรจง
วอลเตอร์ วิค เกิดและเติบโตในรัฐคอนเนตทิคัตของอเมริกา ความสนใจในการถ่ายภาพเกิดขึ้นจากพี่ชายของเขา และด้วยแรงสนับสนุนหลักจากแม่ ทำให้วิคตัดสินใจเข้าเรียนด้านการถ่ายภาพโดยตรงในสาขา Photojournalism ที่ Paier College of Art หลังจากนั้น เขาก็ได้พัฒนาทักษะเพิ่มเติมจนก้าวเข้าสู่วงการถ่ายภาพในฐานะช่างภาพเชิงพาณิชย์ ก่อนจะเบนเข็มมาออกแบบภาพประกอบสำหรับหนังสือและนิตยสารให้แก่ซีรี่ส์ Let's Find Out และ Super Science โดยสำนักพิมพ์ Scholastic ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาในเวลาต่อมา
ภาพของเล่นบนหน้าปกหนังสือ หยุดนิ่งกลางอากาศในตำแหน่งที่เหมาะสมได้อย่างไร และคุณมีวิธีการจับภาพอันรวดเร็วนี้ได้จริงหรือ?
คำถามเหล่านี้ เกิดขึ้นกับผู้คนที่ได้เห็นผลงานของวิคอยู่เสมอ เขาเปิดเผยวิธีการทำงานว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ภาพส่วนใหญ่มักใช้เทคนิค “ในกล้อง” (คำที่ใช้เรียกภาพถ่ายฟิล์มโดยไม่มีการรีทัช) ภาพต้นฉบับของ Yikes ! หนึ่งในซีรีส์จากหนังสือ I Spy ซึ่งผลิตขึ้นในปี 1990 ถ่ายทำด้วยกล้องฟิล์มขนาดใหญ่ เขาเริ่มต้นความคิดในการสร้างภาพของเล่นที่กำลังท้าทายต่อแรงโน้มถ่วง โดยใช้พื้นผิวด้านล่างเป็นลายกระดานหมากรุกเพื่อสร้างความลึก ลวงตาผู้ชม จากนั้นจึงทดลองจัดเรียงบล็อกของเล่นบนโต๊ะและบันทึกด้วยโพลารอยด์ ก่อนจะเริ่มยึดโยงของเล่นเหล่านั้นเข้ากับแผ่นกระจกใสแนวตั้งด้วยลวดอะลูมิเนียมและกาวร้อน โดยมีฉากขาวเป็นพื้นหลังเพื่อตัดแสงสะท้อนในกระจก จนทำให้ภาพของเขาสามารถสร้างพื้นที่ 3 มิติได้อย่างเหนือชั้น ความยากในการทำงานก็คือ วิคต้องพยายามซ่อนขดลวดที่รองรับวัตถุเหล่านั้นไว้ในจุดมืดบอดที่สุด นั่นหมายความว่า หากเลื่อนกล้องเพียงนิดเดียว ทุกสิ่งที่วางแผนไว้ก็อาจจะพังลงในทันที เขาจึงต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการทำงาน เมื่อผ่านกระบวนการถ่ายทำ รูปทั้งหมดก็จะถูกส่งไปล้างและตีพิมพ์โดยไม่มีการรีทัชใด ๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีอันรุดหน้าตามกาลเวลา ทำให้ในปี 2004 วิคเริ่มหันมาใช้ระบบดิจิทัลในการทำงานเพื่อลดข้อจำกัด ค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพให้งานของเขามากขึ้น เนื่องจากการถ่ายด้วยฟิล์มนั้น ใช้เวลานานพอสมควร ขณะที่การถ่ายด้วยระบบดิจิทัลทำให้เขาสามารถดูภาพจากกล้อง และเลือกโฟกัสส่วนต่าง ๆ ของภาพได้อย่างแม่นยำในทันที วิคยังเปิดเผยว่าเขานำโปรแกรมตัดต่อ Photoshop มาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเช่นกัน แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าวิคจะละทิ้งวิธีการแบบเดิมซะทีเดียว เพราะฉากทั้งหมดในงาน ต่างได้รับการประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมืออย่างประณีตทั้งสิ้น เทคนิคทางดิจิทัลมักถูกใช้ในขั้นตอนสุดท้ายเสมอ สำหรับวิคแล้ว ภาพฟิล์ม และ ภาพดิจิทัล ต่างไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว เขาเพียงหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อปลดล็อกจินตนาการให้ได้โลดแล่นอย่างเสรี โดยมีเป้าหมายหลักคือผลงานที่สมบูรณ์แบบนั่นเอง
แม้ว่าอายุที่เพิ่มขึ้นในทุกปีจะทำให้เราหลงลืมความสนุกสนานในวัยเด็กไปบ้าง แต่ส่ิงหนึ่งท่ีเป็นจริงเสมอคืออดีตอันสวยงามที่เกิดจากของเล่นมากมายซึ่งรายล้อมอยู่รอบตัว วิคยังคงย้ำให้เราเห็นถึงคุณค่าของหนังสือภาพโดยพิสูจน์จากความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต หนังสือของเขา พาเราเดินทางไปโลดแล่นในโลกแห่งจินตนาการไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม และเชื่อว่าเมื่อถึงวัยที่เริ่มมีครอบครัว เราก็คงหยิบหนังสือของวิคขึ้นมาเล่นอีกครั้งอย่างแน่นอน
ติดตามผลงานของ Walter Wick ได้ใน walterwick