ratteera ศิลปินผู้ซ่อนอารมณ์ขันไว้ในภาพวาดสีป่วน

Post on 10 July 2025

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หากใครติดตามนักแสดงและนักร้องสาวเสียงเท่อย่าง Marina Balenciaga ก็น่าจะเห็นภาพปกอัลบั้มจากผลงานชุด Casa Mari ที่นอกจากจะมีลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ภาพเหล่านั้นยังเชื่อมโยงกับบทเพลงของมาริน่าได้อย่างน่ารัก จนเราต้องสืบหาตัวอย่างด่วนว่าคนที่วาดภาพประกอบเหล่านี้คือใคร

หลังจากแสกนเรดาร์อย่างตั้งใจ เราก็พบว่าเธอคือ ‘ratteera’ หรือ ‘พลอย - รัฐธีรา ดิสสะมาน’ ลูกเรือประจำฟูลไทม์ที่ทำงานอดิเรกเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบไปพร้อมกัน เธอเคยทำทั้งงานวาดภาพ วาดปกหนังสือ และยังเคยร่วมออกแบบคอลเลกชันใหม่ให้กับแบรนด์แฟชัน Gentlewoman ในคอลเลคชัน Fur-ever Friends ด้วย พอสืบข้อมูลได้ครบแบบนี้เราก็ไม่รอช้าและรีบชวนพลอยมาเล่าเรื่องราวการทำงานศิลปะ และความเป็นมาเป็นไปให้เราฟังอย่างละเอียดทันที ซึ่งสิ่งแรกที่เราถามเธอเมื่อได้พูดคุยกัน ก็คือการขอให้ช่วยอธิบายการเป็นลูกเรือพร้อมทำงานศิลปะที่ดูเหมือนจะต่างกันสุดขั้วเลยทีเดียว

พลอยเริ่มเล่า “ตอนนี้พลอยทำงานประจำเป็นลูกเรือค่ะ ซึ่งสมัยเรียนพลอยก็ไม่ได้จบด้านศิลปะมาโดยตรง แต่จบจากสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พอมีเวลาว่าง พลอยก็จะทำงานวาดควบคู่ไปด้วย จะเน้นไปที่งานวาดภาพประกอบที่เล่นกับเรื่องเล่า อารมณ์ขัน ผ่านคาแรกเตอร์ขี้เล่นและดีเทลเล็ก ๆ ที่ไม่บอกตรง ๆ อย่างในผลงานชิ้นล่าสุดที่พลอยวาดภาพปกอัลบั้มให้กับมาริน่า ในชุด Casa Mari พลอยก็จะแอบใส่น้องหมาดัชชุนลงไปหลายรูปเลย เพราะมาริน่าเลี้ยงดัชชุนค่ะ”

เมื่อเราถามเธอต่อว่าจากเด็กสายวิทย์ ที่เลือกทำงานเป็นลูกเรือ มันมีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้เธอเริ่มหันมาทำงานศิลปะไปด้วย ซึ่งเธอก็อธิบายให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า “ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากช่วงโควิดค่ะ” (หัวเราะ)

“พูดแบบตรง ๆ เลย จุดเริ่มต้นการทำานศิลปะมันเริ่มมาจากช่วงโควิด ตอนนั้นพลอยว่างงานค่ะ แต่ถึงจะเรียนสายวิทย์ แต่จริง ๆ พลอยเป็นคนชอบวาดรูปอยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ทำมันอย่างจริงจัง จนกระทั่งช่วงโควิดนี่แหละ ที่เราลองทำอย่างตั้งใจเลย ลงมือทำเต็มที่ คือตอนนั้นคิดไว้เลยว่า ฉันจะหารายได้จากแกให้ได้ เพราะฉันไส้ดิ่วแล้ว! แบบนี้่เลยค่ะ (หัวเราะ)”

“จำได้ว่าช่วงนั้นเรามองไปเห็นแมวตัวเองนอนอยู่ เลยหยิบดินสอมาวาด ระบายด้วยสีไม้ แล้วสกรีนลายลงเสื้อใส่เอง พอโพสต์ลงโซเชียลก็มีคนสนใจเยอะ ช่วงแรก ๆ เลยเริ่มจากการวาดเสื้อยืดขาย ก่อนจะค่อย ๆ ขยับมาทำงานศิลปะในแขนงอื่น ๆ อย่างจริงจัง”

“แรงบันดาลใจของเราเลยหนีไม่พ้นหมาแมวค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่รักและอยู่ด้วยทุกวัน เลยกลายเป็นสิ่งที่อยากวาดถึงบ่อย ๆ รวมถึงบรรยากาศสบาย ๆ เวลาได้อยู่บ้าน คือสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นที่มาของสไตล์งานที่ดูอบอุ่น ขี้เล่น และเต็มไปด้วยความ Whimsical & Playful”

สำหรับเรื่องเทคนิคที่เธอเลือกใช้ พลอยสรุปให้ฟังว่า “จริง ๆ ตอนเริ่มต้นทำงานชิ้นแรก ๆ พลอยจะวาดลงกระดาษและใช้สีอะคริลิกเป็นหลักค่ะ แต่ช่วงหลังพลอยไม่ค่อยมีเวลา เลยหันมาใช้ iPad แทน เพราะพกพาง่าย วาดได้ทุกที่ และยังได้ลองเทคนิคใหม่ ๆ ที่สะดวกขึ้นด้วย ซึ่งพลอยคิดว่าเรื่องการพัฒนามันก็ค่อย ๆ เติบโตไปตามเวลานะ เวลากลับไปดูงานเก่า ๆ ของตัวเองทีไรก็แอบภูมิใจว่าทำได้ดีขึ้น คงเป็นเพราะระหว่างทางเราได้ลองผิดลองถูก เรียนรู้ ปรับใช้ในแบบของตัวเอง”

“แต่ถ้าถามถึงครูฝึกที่แท้จริง ก็คงต้องบอกว่าเป็นลูกค้าค่ะ (หัวเราะ) คือพลอยชอบเวลาแก้งานนะ โดยเฉพาะเวลาที่ลูกค้าเขามีภาพในหัวชัดอยู่แล้ว แล้วเราต้องหาทางสื่อสารออกมาให้ตรงใจ มันเหมือนพลอยได้ออกจากกรอบเดิมของตัวเอง ลองเทคนิคใหม่ ๆ และพอได้มุมมองจากคนอื่นเข้ามาเติม มันก็พาเราไปเห็นอะไรที่ตัวเองไม่เคยนึกถึงมาก่อนเหมือนกันค่ะ” เธอเล่าแบบติดตลก

พอพูดถึงการทำงานกับลูกค้า เราเลยถือโอกาสถามเธอต่อถึงโปรเจกต์ล่าสุดที่ทำร่วมกับมาริน่า ในอัลบั้มชุด Casa Mari ว่ามีความยากง่ายอย่างไร และเธอบาลานซ์ความเป็นตัวเองกับศิลปินมาริน่าอย่างไรให้กลายเป็นภาพวาดชุดนี้ ซึ่งพลอยก็แชร์เบื้องหลังให้ฟังว่า “เราคิดว่ามันเป็นงานที่ทุกคนช่วยกันเล่าเรื่องเดียวกันคนละมุม”

**This must be the place**

This must be the place

**S.H.I.T (Sugar Honey Iced Tea)**

S.H.I.T (Sugar Honey Iced Tea)

“โจทย์ที่พลอยได้รับคือการเล่าเรื่องของ EP Casa Mari ผ่าน ‘อาหาร เครื่องดื่ม และบ้าน’ ค่ะ พลอยเลยตีความว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ความสบายใจ และพื้นที่สบายใจที่เราใช้เวลาอยู่กับตัวเองหรือกับคนที่รัก และพอได้ฟังเพลง ก็ยิ่งรู้สึกว่าอยากแปลความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นภาพมากขึ้นไปอีก ซึ่งพอได้ลงมือทำพลอบก็รู้สึกดีใจมากกกกที่ได้ร่วมงานนี้ เพราะตอนคุยกับทีมงานครั้งแรก รู้เลยว่า vibe ตรงกัน ทุกคนเปิดรับไอเดีย แล้วก็มีพลังในการเล่าเรื่องเหมือนกัน ทำให้รู้สึกอยากทำให้ดีที่สุด”

“มู้ดของอัลบั้มนี้จะให้ความรู้สึกสดชื่น สดใส อบอุ่น ซึ่งจริง ๆ ก็ไปในทิศทางเดียวกับงานของพลอยอยู่แล้ว เลยอยากแปลงภาพออกมาในโทน Whimsical, Warm & Playful ที่ให้ความรู้สึกเหมือนซึมซับเพลงผ่านบรรยากาศในบ้านหนึ่งหลัง พลอยเลยจัดภาพของแต่ละเพลงให้เป็นเหมือน ‘ห้องหนึ่งในบ้าน’ โดยเพลง This must be the place แทนสวนหลังบ้าน เพลง S.H.I.T (Sugar Honey Iced Tea) คือห้องครัว ส่วน Casa Mari คือห้องนั่งเล่น เพลง Breakfast Burrito จะสื่อถึงโต๊ะกินข้าว และสุดท้าย Jealous of the Moon ที่เชื่อมกับห้องนอน”

“คือเราอยากให้แต่ละภาพเชื่อมต่อกัน เหมือนการเดินเล่นอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ที่ทุกห้องเต็มไปด้วยความรู้สึกเฉพาะตัวตามเพลงนั้น ๆ องค์ประกอบในภาพหลายจุดก็มีการวางไว้เพื่อสื่อถึงอารมณ์หรือเนื้อหาของเพลง เช่น ใน Jealous of the Moon ที่เป็นฉากกลางคืน ตามบรีฟจะมีถ้วยซีเรียลเป็นไอเท็มหลัก พลอยเลยเลือกวางบนเตียงยับ ๆ ข้างหน้าต่าง เพื่อให้รู้สึกถึงความเหงาและความเป็นส่วนตัวที่ยังมีความอบอุ่นอยู่”

ในภาพนี้จะมีหมาดัชชุนอยู่ด้วย ซึ่งตั้งใจให้ปรากฏอยู่ในหลายๆ ภาพของชุดนี้ แม้จะเล็กมาก แต่เป็นเหมือนตัวแทนของใครบางคนในบ้าน ที่คอยเดินผ่านฉากต่าง ๆ ช่วยเติมชีวิตให้บ้านที่วาด แม้ภาพจะไม่มีคนอยู่เลยก็ตาม เพราะพลอยตั้งใจให้ทุกองค์ประกอบมีบทบาทในการเล่าเรื่อง แม้จะดูเหมือนเป็นดีเทลเล็ก ๆ แต่ก็เชื่อว่ามันช่วยเติมความรู้สึกของ ‘การมีตัวตน’ และ ‘การอยู่อาศัย’ ลงไปในแต่ละภาพค่ะ”

**Jealous of the Moon**

Jealous of the Moon

**Breakfast Burrito**

Breakfast Burrito

“สำหรับเพลง Casa Mari ตอนฟังครั้งแรกพลอยรู้สึกได้ถึงบรรยากาศสนุก ๆ คล้ายงานปาร์ตี้ที่อบอุ่น มีจังหวะโยกเบา ๆ และบรีฟที่ได้ก็น่ารักมาก คือทีมเขาขอให้มีแก้วมาร์ตินี่หลากหลายทรง และหมาดัชชุนเป็นองค์ประกอบหลัก พอฟังไปวาดไป เลยกลายเป็นภาพหมาดัชชุนอยู่ในปาร์ตี้ที่เต็มไปด้วยแก้วมาร์ตินี่ที่วางเรียงบนตัว (ด้วยความตัวยาวของเค้า! 🤣) สีสันสดใส สนุกสนาน และแอบเล่นกับฟอร์มของหมาและแก้วให้ดู whimsical”

“ส่วนเพลง This must be the place พลอยรู้สึกถึงความอบอุ่นแบบธรรมชาติ เหมือนสายลมเบาๆ ที่พัดผ่านตอนเย็นในสวนหลังบ้าน บรีฟของทีมคือ ‘ตะกร้าผลไม้’ และพอฟังท่อนที่ร้องว่า ‘Can I take you out? In my hometown’ ก็เหมือนชวนเราออกมาใช้เวลาสบายๆ กับคนที่เรารู้สึกดีด้วย เลยตีความเป็นฉากปิกนิกใต้ร่มไม้ ปูผ้ารับลมในสวนหลังบ้าน เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความสบายใจ และเรียบง่ายแต่พิเศษค่ะ”

เธอยังเสริมอีกว่า “จริง ๆ ต้องให้เครดิตกับทีม Universal Music Thailand ด้วย เพราะเขาช่วยส่ง moodboard อธิบายคอนเซปต์อย่างละเอียด โทรมาคุยด้วยตัวเอง จนพลอยเห็นภาพในหัวชัดมาก แล้วยังส่งเดโมเพลงมาให้เปิดฟังตอนทำงาน เพื่อสร้างอารมณ์ไปพร้อมกันด้วย มันเลยกลายเป็นงานที่รู้สึกว่าทุกคนช่วยกันเล่าเรื่องเดียวกันคนละมุม และนี่คือสิ่งที่ทำให้งานนี้พิเศษมากสำหรับพลอย”

เมื่อเข้าใจอดีต ปัจจุบัน แน่นอนว่าคำถามสุดท้ายของเราย่อมเป็นเรื่องของอนาคต และขอให้พลอยช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเธอมองอนาคตในฐานะศิลปินไว้อย่างไร หลังจากคิดอยู่ครู่หนึ่ง เธอก็พูดว่า “พลอยมองไว้ในหลายแง่เลย ถ้าเป็นเรื่องการพัฒนาตัวเอง ตอนนี้พลอยกำลังฝึกเรื่องแสงและเงาอยู่ค่ะ เป็นเทคนิคที่ยังไม่ถนัดมาก เพราะต้องใช้จินตนาการเรื่องทิศทางของแสง การตกกระทบ และตำแหน่งเงาให้สมจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็สนุกมาก และรู้สึกว่าเป็นจุดที่อยากพัฒนาให้ดีขึ้น”

“ในแง่ของโปรเจกต์ หลังจากได้ร่วมแสดงงาน Design for a Sustainable World 2025 กับ Qualy พลอยก็ได้เริ่มพูดคุยกับเพื่อน ๆ เรื่องการทำ นิทรรศการกลุ่มที่เชื่อมโยงระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ (Art & Science) ค่ะ ซึ่งน่าจะเริ่มต้นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปีหน้า”

“และอีกโปรเจกต์ที่อยากทำมาก ๆ คือหนังสือแนวสารานุกรมภาพ (illustrated encyclopedia) สำหรับเด็กหรือคนทั่วไป พลอยอยากทำหัวข้อเกี่ยวกับทะเลไทย เพราะเป็นเรื่องที่สนใจมาตั้งแต่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลอยู่แล้ว และรู้สึกว่ายังมีวิธีอีกมากที่เราจะเล่าเรื่องธรรมชาติผ่านภาพให้เข้าถึงใจคนได้ค่ะ”

Casa Mari (ผลงานล่าสุด)

รู้สึกเหมือนได้ถอดเนื้อหาในเพลงออกมาเป็นภาพ ซึ่งท้าทายมาก และสนุกมากเช่นกัน เป็นงานที่ได้ลองเรื่องแสง เงา อารมณ์ของภาพแบบที่เมื่อก่อนไม่กล้าทำ พลอยแอบรู้สึกกับตัวเองว่า “อัพเลเวล” ขึ้นมานิดนึงค่ะ

คอลเลคชัน ‘Fur-ever Friends’ กับ Gentlewoman

เป็นงานชิ้นใหญ่ชิ้นแรกที่ได้ร่วมกับแบรนด์แฟชั่นเลยค่ะ ทีม Gentlewoman ให้ธีมมาเป็น ปาร์ตี้ของสัตว์เลี้ยง แต่ให้อิสระในการตีความเต็มที่ ซึ่งพลอยก็ใส่หมาแมวของตัวเองลงไปด้วย วันสุดท้ายที่ส่งงาน น้องหมาพลอยเพิ่งจากไปพอดี เลยรู้สึกเหมือนเค้ายังอยู่ในงานนี้เสมอ เป็นความทรงจำที่มีความหมายกับเราทั้งเรื่องของผลงานและความรู้สึกส่วนตัว

งานนี้มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้ว่า “การรับบรีฟ” ไม่จำเป็นต้องตีกรอบ แต่สามารถเป็นพื้นที่ให้สร้างสรรค์ได้เต็มที่ และทุกครั้งที่ได้โจทย์ใหม่ ๆ ก็เหมือนเป็นเกมสนุกที่ท้าทายให้เราคิดนอกกรอบอยู่เสมอค่ะ

ปกหนังสือจดหมายจากดาวแมว สำนักพิมพ์ P.S. Publishing

ตั้งแต่เด็กพลอยชอบพลิกดูชื่อคนวาดปกหลังอ่านหนังสือเสร็จเสมอ เลยเป็นเหมือนความฝันที่ได้ทำปกหนังสือจริง ๆ สักครั้ง และงานชิ้นนี้ก็เป็นหนึ่งในงานที่ได้ลองอะไรใหม่ๆ เยอะมาก ทั้งดีเทล รายละเอียดที่ซับซ้อนกว่าที่เคยทำ และผ่านการแก้หลายรอบจนกว่าจะลงตัว แต่พองานออกมาสำเร็จ ก็กลายเป็นหนึ่งในชิ้นที่ภูมิใจที่สุดค่ะ

**‘ratteera’ หรือ ‘พลอย - รัฐธีรา ดิสสะมาน’**

‘ratteera’ หรือ ‘พลอย - รัฐธีรา ดิสสะมาน’

ติดตาม ‘ratteera’ หรือ ‘พลอย - รัฐธีรา ดิสสะมาน’ กันต่อได้ที่ https://www.instagram.com/ratteeras/