หลายคนอาจคิดว่าสงครามเย็นเป็นเพียงหน้าหนึ่งในหนังสือประวัติศาสตร์ที่จบลงไปเหลือแต่เศษซากที่ไร้วิญญาณแล้วเช่นเดียวกับกำแพงเบอร์ลินที่ทุกวันนี้กั้นเขตอะไรไม่ได้ แถมยังกลายเป็นเศษปูนที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวซื้อกลับ แต่ถ้าเกิดว่าจริง ๆ แล้ว ‘ผี’ ของมันยังคงวนเวียนอยู่รอบตัวเราอยู่ และได้กลายร่างเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจ กฎหมาย และแม้กระทั่งความคิดเรื่องกับ ‘ความเป็นไทย’ ที่เราเชื่อว่ารู้จักกันดีอยู่แล้ว?
ในเสวนา “สงครามเย็นและหลังสงครามเย็นของไทย” ชุดกิจกรรมสาธารณะในหัวข้อ “โลกที่ร้าวร่วม” (Shared the Shattered Worlds) ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “โลกร้าว: เรื่องเล่าขนาดย่อมจากเส้นทางโฮจิมินห์ถึงทุ่งหญ้าสเต็ปป์" (The Shattered Worlds: Micro Narratives from the Ho Chi Minh Trail to the Great Steppe) ที่หอศิลปกรุงเทพฯ และหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ได้ย้อนรอยและชี้ให้เห็นมรดก(?) ที่มองไม่เห็นเหล่านี้อย่างแหลมคม เริ่มจากฉากการฉายหนังกลางแปลงในชนบทที่ผู้กำกับดังบรรยายไว้ มาสู่คำพิพากษาของศาลในยุคปัจจุบัน ซึ่งหลังจากฟังเสวนาของเขาแล้ว GroundControl ได้นั่งคุยกับเขาต่ออีกหน่อย เกี่ยวกับ “ภาคปฏิบัติ” ของประวัติศาสตร์ช่วงนี้
บทความนี้จะถอดรหัสและลองสรุปความคิดอันทรงพลังของเขา เพื่อเผยให้เห็นว่ามรดกที่ซ่อนเร้นนี้ได้ก่อร่างสร้างสังคมการเมืองที่เราเผชิญอยู่อย่างไร และเราจะเริ่มมองเห็นมันได้อย่างไร แล้วเราอาจจะเริ่มจินตนาการถึงสังคมที่อยู่ร่วมกันนี้ได้กว้างไกลกว่าเดิม

หนังอเมริกันในชนบทไทย
ศ ดร ธงชัย เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์ในบทความของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เล่าถึง ‘อีเวนต์’ สำคัญของคนในชนบทไทยช่วงต้นยุคสงครามเย็น (ราว พ ศ 2500-2510) คืองานฉายหนังโดยหน่วยฉายหนังกลางแปลงของสำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) ซึ่งสำหรับชาวบ้านในยุคนั้นที่ยังห่างไกลจากโรงภาพยนตร์ การได้เห็นภาพเคลื่อนไหวบนจอผ้าใบถือเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจและเป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มันจึงกลายเป็นกิจกรรมพิเศษที่ทุกคนเฝ้ารอและให้ความสำคัญ
เขาตั้งคำถามว่า การฉายหนัง (ซึ่งมักสอดแทรกโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้น) เป็นเหตุการณ์ของอเมริกัน (American Event) ที่ดำเนินไปเพื่อตอบสนองวาระทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา หรือมันคือเหตุการณ์ท้องถิ่น (Local Event) ที่มีความหมายในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทย
ซึ่งคำถามนี้เองที่จะพาเราไปสู่การสืบค้นความหมายของสงครามเย็นว่าคืออะไรกันแน่ และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างไรบ้าง

ช้อนกินไก่และความ “แปลได้” ของสิ่งต่าง ๆ
“ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) มีคำกล่าวหนึ่งอยู่ในวงวิชาการ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะยังใช้ได้กับเรื่องนี้ คืออะไรก็ตามที่จะเป็นระดับโลก (Global) ได้ ก็เพราะมันสามารถถูกทำให้เป็นท้องถิ่น (Localize) ได้” หมายความว่า หากปรากฏการณ์หรือวัฒนธรรมจากภายนอกไม่สามารถถูก ‘แปล’ ให้เข้ากับภาษา ความเข้าใจ ความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นได้ สิ่งนั้นก็จะถูกปฏิเสธและไม่สามารถแพร่กระจายไปวงกว้างทั่วโลกได้ในที่สุด
“ผมจำได้หลายสิบปีมาแล้ว ร้านไก่ทอด KFC เข้ามาเปิดกิจการ ผมเห็นคนไทยพยายามใช้ช้อนส้อมหั่นไก่ ทั้งที่วัฒนธรรมตะวันตกนั้นใช้มือกิน แต่คนไทยถูกสั่งสอนมาว่าการใช้มือทานอาหารในที่สาธารณะเป็นเรื่องไม่สุภาพ จึงพยายามใช้ช้อนส้อมกัน”
นี่คือตัวอย่างกระบวนการ ‘Localize’ ที่เกิดขึ้นกับทุกสิ่ง รวมถึงอิทธิพลของสงครามเย็นที่ถูกนำมา ‘แปล’ และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยด้วย
ในบริบทของการศึกษาสงครามเย็น เดิมทีเราอาจมองยุคนั้นว่าเป็นเรื่องการเมืองระหว่างมหาอำนาจ (อเมริกา vs โซเวียต) งานศึกษาตั้งแต่หลังปี 2000 เป็นต้นมาก็หันมาสนใจเรื่องสงครามเย็นในแบบท้องถิ่น ว่าเป็นอย่างไรและส่งผลกระทบอย่างไรบ้างในแต่ละชาติ หรือการศึกษาเชิงวัฒนธรรม อย่างวิถีชีวิต ความเชื่อ หรือศิลปะแขนงต่าง ๆ ในช่วงนั้น โดยเฉพาะภาพยนตร์ ทำให้เห็นว่าสงครามเย็นไม่ได้เป็นเรื่องของนโยบายระหว่างอเมริกาและโซเวียตเท่านั้น แต่อาจเป็นเรื่องของชนบทในประเทศไทยได้ด้วยเหมือนกัน
เราสอบถามเขาเรื่องตัวอย่างของอิทธิพลจากสงครามเย็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเขายกถนนและตำรวจขึ้นมาอธิบาย “อเมริกันเป็นสังคมที่เดินทางด้วยถนน ต่างกับยุโรปที่เดินทางด้วยราง ถ้าเกิดยุโรปหรือญี่ปุ่นมีอิทธิพลกับการสร้างชาติไทยมากกว่านี้เราอาจมีรางที่ใช้เดินทางมากกว่านี้ นี่คือตัวอย่างของอิทธิพลในช่วงสงครามเย็นที่เรารับมาจากอเมริกันโดยอ้อม ผ่านเรื่องงบประมาณ หรือเรื่องอำนาจ ว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจตอนนั้น, ทำไมเราถึงมีวิธีคิดว่าควรพัฒนาถนนไฮย์เวย์แบบอเมริกัน และสหรัฐอเมริกาเองก็มีประวัติศาสตร์ของเขาในช่วงสงครามโลกที่ทำให้เขาเลือกสร้างถนนมากกว่าสร้างระบบการเดินทางด้วยราง”
“หรือเรื่องตำรวจไทย ก็มีการปรับรูปโฉมไปมากในช่วงสงครามเย็น เพราะอิทธิพลการจัดการตำรวจแบบสหรัฐอเมริกา แต่ของไทยยังเป็นตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่ตำรวจอเมริกันอยู่ภายใต้การปกครองท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยเองก็รับอิทธิพลจากต่างชาติมาแล้วก็แปลงให้เข้ากับท้องถิ่น (Localize)”


กำเนิดชาติไทยในยุคสงครามเย็น
“หลายประเทศในโลกนี้ อย่างน้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตกเป็นอาณานิคม พ้นจากระบอบอาณานิคมประมาช่วง 1950 ซึ่งเป็นช่วงพอดีกับการก่อร่างสร้างชาติ (Nation-Building) (ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้เอกราชก่อนถึงเกิดขึ้น) ซึ่งเป็นการสร้างชาติภายใต้บริบทสงครามเย็น” เขาเสนอ
“ผมไม่เคยเชื่อว่าประเทศไทยเป็นรัฐประชาชาติ – ตอนนี้ก็ยังไม่เป็น — แต่เป็นชาติ คือเป็นชุมชนที่เราสังกัดร่วมกัน” ซึ่งเขาได้วิเคราะห์ “สาแหรกของชาติไทย” ว่ามีรากเหง้าสำคัญอย่างน้อย 2 ทางที่ดำเนินคู่ขนานกันมา คือ มรดกจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ มรดกจากยุคสงครามเย็น
เขายกตัวอย่างเช่นสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นมรดกจากทั้งยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยุคสงครามเย็น และสถาบันทหารซึ่งเป็นมรดกจากยุคสงครามเย็นเป็นหลัก และทั้งสองสถาบันนี้ก็ยังเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในสังคมไทย อย่างที่กรศ ดร ประจักษ์ ก้องกีรติอธิบายไว้ด้วยคำว่า “สายสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และทหาร” (Military-Monarchy Nexus) ซึ่งสายสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นด้วยอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น และเมื่อสงครามเย็นจบลง สหรัฐฯ ถอนตัวออกไป "ธุรกิจขนาดใหญ่" (Big Business) ก็เข้ามาแทนที่
“ชาติไม่ได้สร้างขึ้นจากแค่เรื่องทหาร หรืออำนาจทางการเมือง แต่สร้างในชีวิตปกติหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงงานศิลปะหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศิลปะด้วย ศิลปะแต่ละพื้นที่มันก็เป็นการตอบสนองต่อยุคสมัยและสภาพแวดล้อม” เขาตอบ เมื่อเราถามถึงบทบาทของศิลปะในช่วงนั้น

“ไม่เป็นเมืองขึ้นใคร ไม่เป็นคอมมิวนิสต์” ???
มรดกอย่างหนึ่งที่มาจากช่วงสงครามเย็น คือความคิดในแวดวงไทยศึกษาที่ว่า “ประเทศไทยนี้มีลักษณะพิเศษมาก ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร และไม่เคยตกเป็นคอมมิวนิสต์” ซึ่งอาจมีที่มาจากทั้งต่างชาติและในไทยในลักษณะเอื้ออำนวยกันและกัน
แต่ตอนนี้สาขาไทยศึกษาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแนวหลังอาณานิคม (Post-colonial Studies) ได้ เพราะไทยไม่ได้มีคุณสมบัติพิเศษต่างไปจากกรณีอื่นขนาดนั้น
“ทุกสังคมมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่ประวัติศาสตร์ของตัวเองนั้นเป็นความแตกต่างจากลักษณะร่วมบางอย่าง ซึ่งไม่ได้ทำให้เราพิเศษเสียจนไปเทียบกับใครไม่ได้”
“คำว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีมาก่อนหน้าสงครามเย็น แต่สงครามเย็นทำให้คำคำนี้มีความหมายเฉพาะ ในปัจจุบันปัญญาชนฝ่ายนิยมเจ้าอาจพอบอกได้ด้วยว่าประเทศไทยไม่ใช่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เป็นราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ”
“สิ่งเหล่านี้คือภาวะหลังสงครามเย็น (Post-coldwar) ซึ่งไม่ใช่ยุคสมัย แต่คือผลกระทบที่สืบเนื่องมา และได้สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา เช่นสถาบันกษัตริย์มีบทบาทอย่างต่อเนื่อง แต่สถานะและอำนาจทางการเมืองของสถาบันฯ มีมากขึ้นในช่วงหลังสงครามเย็น แต่ในขณะเดียวกันความเป็นรัฐความมั่นคง (Security State) กลับเป็นมาอย่างต่อเนื่อง”

ประวัติศาสตร์กับความยุติธรรม
พลังของประวัติศาสตร์ คือบางครั้งมันก็กลายเป็นกฎหมาย
ความคิดที่ว่าประเทศไทยมีคุณลักษณะพิเศษ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมือนใครในประวัติศาสตร์ เราจะพบได้ในคำตัดสินหลายครั้ง เช่นคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งอ้างไปถึงประวัติศาสตร์ไทยที่พิเศษและไม่เหมือนใคร
“ผู้ตัดสินเหล่านั้นในทางนิติศาสตร์เป็นมรดกของการสร้างชาติไทยยุคสงครามเย็น โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องรู้ตัวว่าความคิดนี้มาจากไหน” เขากล่าว
“มนุษย์ต้องการกฎหมาย สังคมต้องการกฎหมาย และเราก็มองหาที่มองของกฎหมาย” เราขอให้เขาอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์กับกฎหมาย
“เช่นในยุโรป กฎหมายก็มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ซึ่งการถกเถียงเพื่อพัฒนากฎหมายเหล่านั้นก็คือการตีความประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง ถ้าความเชื่อชุดหนึ่งเปลี่ยนไปก็มีความเชื่อชุดใหม่ออกมา ทุกวันนี้ความเชื่อทางประวัติศาสตร์ก็มีหลายแนวทาง แนวคิดทางกฎหมายก็มีหลายทาง สังคมประชาธิปไตยจึงสร้างหลักกลางที่ยอมรับร่วมกันมาเป็นกฎหมายได้ ซึ่งก็ยังมีการถกเถียงกันได้อยู่”
“แต่ประเทศอาณานิคมกลับถูกตัดตอน คือต้องรับกฎหมายจากประเทศเจ้าอาณานิคมเข้ามาเลย แต่ก็ตามมาด้วยประวัติศาสตร์การรับกฎหมายนั้นเข้ามาเช่นกัน เช่นอินเดียเองก็ไม่สามารถใช้กฎหมายอังกฤษเลยได้ คืออังกฤษเป็นประเทศที่ไม่ต้องมีกฎหมายเป็นตัวบท แต่ในอินเดียต้องมีการร่างตัวบท และตัวบทที่เขียนขึ้นก็ต้องปรับจากอังกฤษให้เข้ากับสังคมอินเดีย”
“อย่างกรณีที่มาของกฎหมายไทย ก็ไม่ได้ถูกโยนมาจากกฎหมายแบบฝรั่งเศสหรือญี่ปุ่นอะไรมาตรง ๆ แต่ก็ดูจากกฎหมายที่เรามีอยู่แล้ว แล้วก็ปรับให้เป็นสมัยใหม่ (modern) แต่ก็มีนักกฎหมายที่บอกว่าเราไม่ได้ปรับกฎหมายให้เป็นสมัยใหม่เลย เพราะกฎหมายเก่ามีความเป็นสมัยใหม่อยู่แล้ว เพียงแต่มีการทำให้เป็นระเบียบเท่านั้น หรือก็มีผู้ตีความว่ากฎหมายไทยปัจจุบันคือการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลจากกฎหมายโบราณ”
“กฎหมาย โดยลึก ๆ แล้ว ไม่ว่าจะประกาศออกมาหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นไปอย่างรู้ตัวหรือไม่ ล้วนตั้งอยู่บนความเข้าใจสังคมเป็นพื้นฐาน คือความเชื่อหรือความเข้าใจเกี่ยวกับอดีตของตัวเองรูปแบบต่าง ๆ ว่าสังคมเราอยู่มาได้อย่างไร”
“มันไม่ได้มีสูตรอะไรอยู่ว่ากฎหมายจะต้องไปอิงกับประวัติศาสตร์ แต่เมื่อคุณจะสร้างกฎเกณฑ์ในทางสังคม คุณก็บอกว่าสังคมนี้อยู่มาได้อย่างไร หรืออย่างน้อยที่สุดถ้าคุณอยากให้เป็นแบบต่างชาติ คุณก็ต้องอธิบายว่าสังคมต่างชาติเขาอยู่มาได้อย่างไร และการเป็นอยู่แบบต่างชาตินั้นเหมาะกับสังคมไทยไหม”
“ในประเทศตะวันตกก็มีการถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์หลายสำนัก และเถียงกันไม่จบสิ้น แต่เถียงกันแบบประชาธิปไตย ทำให้สามารถหาจุดร่วมระหว่างกลางได้ แล้วสร้างเป็นประเพณีร่วมกัน และเป็นหลักกฎหมายร่วมกัน ซึ่งกฎหมายนั้นก็อาจจะไม่ได้สร้างความยุติธรรมเสมอไป แต่มันสร้างกฎเกณฑ์ที่พร้อมสำหรับการถกเถียง เรียนรู้ และซ่อมแซมไปเรื่อย ๆ ได้
“อย่างน้อยเราควรยอมให้เกิดการถกเถียงได้ ให้มีประวัติศาสตร์หลายสำนักได้ ไม่ใช่ไปห้ามคิดห้ามถกเถียงกันเรื่องประวัติศาสตร์”
ซึ่งในนิทรรศการที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เช่นงานนี้ ก็ดูเหมือนจะยังต้องมีโครงเรื่องอย่างหนึ่งเพื่อร้อยเรียงงานศิลปะแต่ละชิ้นเข้ามาสร้างความหมายร่วมกันอยู่ ภัณฑารักษ์หรือคนทำงานศิลปะควรทำงานกับประวัติศาสตร์อย่างไรดี เราถาม
“เป็นอย่างไรก็ได้ แค่อย่าไปห้ามคนอื่นที่จะจัดงานรูปแบบอื่น ๆ ก็พอ ไม่จำเป็นว่าทุกชิ้นต้องเป็นกลางด้วยซ้ำ” เขาตอบ “สังคมควรมีสิทธิที่จะรับและสื่อสารความคิดออกไป ประวัติศาสตร์สงครามเย็นอาจมีผู้ตีความต่างกันสิบแบบ งานงานหนึ่งอาจไม่จำเป็นต้องพยายามนำเสนอให้ครบทุกแบบ และอาจไม่มีทางนำเสนอได้ครบด้วยซ้ำ ทำอย่างที่คุณเป็นก็พอแล้ว”
“ในยุคหนึ่งเราอาจเสนอชุดความคิดว่าสังคมต้องเป็นแบบนี้ถึงจะถูก ฟ้าจะเป็นสีทองผ่องอำไพ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมกับเพื่อนหลาย ๆ คนเราก็ไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว — สิ่งที่เราเรียกร้องหลายครั้งจึงเป็นเรื่องกระบวนการว่าอย่าปิดกั้นกันก็พอ แล้วสิ่งที่ผมเสนอมันอาจจะถูกหรือบางครึ่งก็ไม่ถูก แต่มันควรปลอดภัยที่จะถกเถียงกันได้ เพื่อให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้าได้
“คนบอกว่าสังคมไทยมีคนรักสถาบันกษัตริย์มากมาย เพราะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทย ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ปัญหาคือการไปลงโทษคนที่คิดไม่เหมือนกัน
“ศิลปินเองก็ไม่มีความจำเป็นต้องทิ้งตัวแบบ “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” ทิ้งความเชื่อทุกอย่างไป แต่อาจจะเผื่อใจไว้เปิดกว้างบ้างเช่นกัน ว่ามนุษย์ปกติก็เปลี่ยนแปลงความคิดไปตามกาลเวลา และมีความหลากหลายในตัวเองด้วย
“เท่าที่ผมรู้จักศิลปะผ่านการอ่านจากโลกตะวันตก ศิลปะหลายแห่งไม่ได้เป็นหัวหอกในแง่การทำให้คนลุกฮือขึ้นมาเปลี่ยนแปลง แต่มันทำให้คนกล้าคิด ผมอาจไม่มีความรู้จะเข้าใจศิลปะอะไร แต่อย่างน้อยคนที่กล้าคิดเขาต้องมีสิทธิคิดไม่เหมือนกับคนอื่นได้โดยไม่เป็นการทำความผิด แล้วเปิดให้สังคมกล้าแสดงความคิดเห็นที่ก่อประโยชน์ตามมา”
