ไมเคิล เจ. ยัง ประธานสถาบันภาพยนตร์ The New York Film Academy กับการเปิดสาขาแรกในอาเซียนที่ Cloud 11

Post on 16 July 2025

ภาพยนตร์เปรียบเสมือนเวทมนตร์ที่ทำให้เรื่องเล่าสามารถสะกดผู้คนได้ มันคือภาษาที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ เป็นวัฒนธรรมและความคิดที่มนุษย์ถ่ายทอดถึงกัน และเป็นศาสตร์ที่ใครหลายคนใฝ่ฝันอยากฝึกฝน การก้าวเข้าไปค้นคว้าในจักรวาลอันกว้างใหญ่ของภาพยนตร์ด้วยตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเต็มไปด้วยไอเดียแหวกแนวและทักษะในการควบคุมเครื่องมือทางภาพยนตร์เพื่อถ่ายทอดไอเดียเหล่านั้นออกมา วันนี้เราตื่นเต้นมากที่จะได้พูดคุยกับหนึ่งในผู้รู้ของวงการภาพยนตร์โลก ที่กำลังจะนำสถาบันการศึกษาด้านภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา ที่เขาดำรงตำแหน่งประธาน มาเผยแพร่ความรู้ในเมืองไทย

The New York Film Academy (NYFA) คือสถาบันสอนการผลิตภาพยนตร์และคอนเทนต์ชั้นนำระดับโลก ที่มีศิษย์เก่าอย่าง Aubrey Plaza (Parks and Recreation, The White Lotus) และ Bill Hader (Saturday Night Live) ดำเนินการภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ” โดยเปิดสอนในสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่การทำหนัง การแสดง การเขียนบท การอำนวยการสร้าง อนิเมชัน และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดง หลักสูตรของสถาบันเน้นให้ผู้เรียนได้สร้างผลงานจริง เตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยได้รับการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ

ไมเคิล เจ ยัง (Michael J Young) ประธานสถาบัน เดินทางมาที่เมืองไทยและเตรียมเปิดสถาบันแห่งนี้ในพื้นที่มิกซ์ยูสสำหรับนักสร้างสรรค์อย่าง Cloud 11 ซึ่งปักหมุดเป็น Creative Destination แห่งใหม่ในเอเชีย

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างเล็ก ๆ ของแนวคิดการสร้าง “Creative Ecosystem” หรือระบบนิเวศสร้างสรรค์ ซึ่ง Cloud 11 มุ่งหวังจะพัฒนาพื้นที่ สตูดิโอ สิ่งอำนวยความสะดวก หลักสูตร และโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อรองรับนักสร้างสรรค์ ด้วยความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ สถาบันภาพยนตร์แห่งนี้จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการสร้างบุคลากรต้นน้ำ ที่อาจต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ผลงานและสร้างมูลค่าให้กับผลงานนั้นได้ครบจบในระบบนิเวศเดียวกัน โดยมีกำหนดเปิดทำการในช่วงปลายปี 2568

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อวงการภาพยนตร์ไทยได้สถาบันชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อน? คนทำหนังและนักเรียนภาพยนตร์กำลังเติบโตในอุตสาหกรรมแบบไหน? GroundControl ชวนคุณมาหาคำตอบจากบทสัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้

GroundControl: นักเรียนหนังและผู้กำกับหน้าใหม่ในยุคนี้มีอะไรที่ท้าทายอยู่บ้าง

Michael Young: เรื่องเงินทุนน่าจะเป็นอันดับหนึ่งเลยครับ ว่าจะหาเงินมาสร้างหนังได้อย่างไร แต่ถึงอย่างนั้นตอนนี้ก็มีทางเลือกมากมายในการทำหนังที่ช่วยลดต้นทุนได้มาก เช่นในด้านอุปกรณ์หรือในขั้นตอนหลังถ่ายทำ (Post-production) และในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) มันสามารถช่วยให้ผู้กำกับหน้าใหม่ทำอะไรที่เมื่อก่อนต้องใช้งบมากได้ง่ายขึ้นแน่นอน

เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน แต่ก็มีอีกอย่างที่สำคัญด้วยคือการหาทีมงานที่ใช่ ที่อยากสร้างหนังไปกับเรา ตอนที่ สองแดเนียล (ผู้กำกับ Everything Everywhere All At Once) ขึ้นรับรางวัลออสการ์ Daniel Kwan กล่าวไว้ว่า มันไม่ใช่เรื่องของแค่ผู้กำกับอีกต่อไปแล้ว เราเคยคิดว่าหนังขึ้นอยู่กับผู้กำกับคนเดียว แต่จริง ๆ แล้วมันคือทั้งทีม คุณจะเป็นคนเก่งไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคนอื่นคอยช่วยหลักดัน
ผมคิดว่าผู้กำกับรุ่นใหม่ต้องเข้าใจว่า พวกเขาไม่ได้อยู่ลำพัง พวกเขาควรหาเพื่อนร่วมงาน มาทำหนังด้วยกัน สนับสนุนกัน และทำมันต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็เหมือนการสร้างสตูดิโอหนังในแง่หนึ่ง

GroundControl: ก้าวต่อไปสำหรับเอไอคืออะไร

Michael Young: เป้าหมายของเราคือการหาวิธีที่เอไอจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้กับนักสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด

สิ่งสำคัญคือ นักศึกษาจะต้องผ่านกระบวนการทำงานแบบดั้งเดิมทั้งหมดก่อน เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่

จากนั้น เมื่อพวกเขาใช้เอไอพวกเขาก็จะสามารถมีเป้าหมายใช้มันได้ ถ้าคุณไม่หนักแน่นในเรื่องพื้นฐาน คุณก็อาจรู้สึกเสียการควบคุมในการทำงานไปได้ แล้วนั่นอาจทำให้คุณไม่มั่นใจไปเลย ถึงคุณจะใช้เอไอก็ตาม

ดังนั้น อย่างแรกเลยคือคุณควรเข้าใจพื้นฐานของการทำหนังและการเล่าเรื่องก่อน แล้วจึงใช้เอไอเพื่อช่วยให้คุณสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

GroundControl: หมายถึงการใช้เอไอเป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายจินตนาการใช่ไหมคะ

Michael Young: ใช่เลย ขอบคุณครับ ผมน่าจะพูดแบบนั้นตั้งแต่แรก มันคือเครื่องมือที่ช่วยต่อยอดจินตนาการ

แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามันกำลังกลายเป็นอะไรที่มากกว่าแค่เครื่องมือ เรากำลังพัฒนาไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะว่ามันน่ากลัว แต่สำหรับอีกกลุ่มก็มองว่ามันน่าตื่นเต้น ผมเชื่อว่ามันจะเปิดโอกาสมากมายเลย

GroundControl: NYFA ได้มีการปรับหลักสูตรเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไรบ้างคะ

Michael Young: เราเคยร่วมมือกับ Netflix จัดการฝึกอบรมในกรุงเทพฯ จาการ์ตา และที่อื่น ๆ ในภูมิภาคมาแล้ว ดังนั้นเราจึงมีประสบการณ์ที่นี่อยู่แล้ว และเราก็มีนักศึกษาหลายร้อยคนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเรียนกับสถาบันเราที่นิวยอร์กและลอสแอนเจลิส ดังนั้นเราจึงมีพื้นฐานที่แข็งแรง
วันนี้ผมก็เพิ่งได้เจอกับศิษย์เก่าคนหนึ่งที่มาร่วมงานของเรา และศิษย์เก่าอีกคนก็ทำโปรเจกต์ชั้นนำอย่าง SOTUS ด้วย ดังนั้นเราจึงมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับที่นี่อยู่แล้ว

ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ NYFA จะต้องมีบทบาทอย่างแท้จริงในภูมิภาคนี้ และเริ่มจัดการเรียนการสอนในท้องถิ่น

Michael Young: ในแง่หลักสูตรการสอน ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนทำหนังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำความเข้าใจความต้องการต่าง ๆ ของพวกเขา แต่โดยแก่นของมันแล้ว การทำหนังเป็นสิ่งสากล

เรื่องราวอาจมีความเป็นท้องถิ่น แต่เครื่องมืออย่างการวาดภาพ ดนตรี ภาพยนตร์ เป็นภาษากลางที่เราใช้ร่วมกัน พื้นฐานของการเล่าเรื่องมีรากฐานมาจากประสบการณ์ของมนุษย์ และนั่นเป็นสิ่งที่พบได้เหมือนกันข้ามพรมแดนต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เราจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ผู้คนที่นี่สนใจกันแน่นอน ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องยากที่จะพูดให้นักศึกษาเชื่อว่าการทำมิวสิกวิดีโอเป็นบันไดก้าวสำคัญ แต่ที่นี่ผมรู้สึกว่าผู้คนตื่นเต้นในเรื่องนี้มากกว่ามาก

ดังนั้น ใช่ครับ บางอย่างก็จะปรับไปตามสิ่งที่ผู้คนที่นี่พร้อมและตื่นเต้นที่จะทำ

GroundControl: ภาพยนตร์ไทยและอเมริกันมีประวัติศาสตร์และสไตล์ที่แตกต่างกันมาก ถึงจะมีจุดร่วมกันอยู่บ้าง ในฐานะชาวต่างชาติ คุณคิดว่าจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์ไทยคืออะไรคะ

Michael Young: ตอบตามตรงก็คือ ผมยังไม่ได้ดูหนังไทยมากพอ เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ และนั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผมอยากมาที่นี่และพา NYFA มาด้วย เราต้องการช่วยให้ผู้คนสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีศักยภาพในระดับโลกได้

เหมือนกับอาหารไทย ที่อยู่ทุกที่ ดีเยี่ยม และใคร ๆ ก็รักมัน ผมเชื่อว่าผู้คนก็คงอยากลองชิมวัฒนธรรมไทยในหนังเหมือนกัน

อีกแง่มุมที่เป็นเอกลักษณ์คือมรดกทางวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่ไม่เคยหายไปจากเมืองไทย ซึ่งโลกทัศน์และสัมผัสแห่งความเป็นมนุษย์ในนั้นคงปรากฏออกมาในเรื่องเล่าของคุณโดยธรรมชาติ และผมคิดว่านั่นมันทรงพลังมาก

GroundControl: โดยปกติแล้วนักศึกษาจะเดินทางไปเรียนที่ NYFA ในสหรัฐฯ คิดว่าเมื่อคุณมาเปิดสถาบันที่กรุงเทพฯ นี้จะดึงดูดนักศึกษาต่างชาติด้วยไหมคะ

Michael Young: แน่นอนครับ ทุกที่ที่เราเปิดโปรแกรม นักศึกษาต่างชาติก็ตามมา และกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองนานาชาติอยู่แล้ว ผมเห็นคนอเมริกันและผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกมาที่นี่ เป็นเมืองที่ผู้คนอยากมาเที่ยว เป็นที่ที่ผู้คนอยากมาถ่ายทำภาพยนตร์

ดูอย่างเรื่อง The White Lotus และโปรดักชันอื่น ๆ อีกมากมาย ที่นี่มีแวดวงโปรดักชันระดับนานาชาติที่สร้างรายได้และเติบโตอยู่แล้ว ดังนั้นจุดที่สำคัญตอนนี้คือการทำให้โปรดักชันในท้องถิ่นเติบโตและส่งออกผลงานเหล่านั้นออกไป

ผมอยากเห็น NYFA ที่ Cloud 11 กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ที่ต้อนรับนักศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกครับ

GroundControl: Cloud 11 ต้องการเป็นระบบนิเวศสำหรับนักสร้างสรรค์แบบครบวงจร NYFA จะมีบทบาทอย่างไรในระบบนิเวศนั้นคะ

Michael Young: เราจะช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศนั้นครับ ถ้าคุณดูอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น สปีลเบิร์ก, สกอร์เซซี, เจมส์ คาเมรอน พวกเขาทั้งหมดล้วนจบมาจากสถาบันสอนภาพยนตร์ พวกเขาได้พบกับเพื่อนร่วมงานที่ยังทำงานด้วยกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่นั่น ตัวอย่างเช่น คนตัดต่อหนังของสกอร์เซซีก็ตัดต่อหนังของเขาเกือบทุกเรื่อง นั่นคือสิ่งที่เราต้องการสร้างขึ้นที่นี่ คือชุมชนของศิลปินภาพเคลืิ่อนไหวที่เรียนรู้ด้วยกัน ทำงานร่วมกัน และทำงานด้วยกันต่อไปอีก
การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำเป็นกุญแจสำคัญ คุณควรเริ่มสร้างผลงานจริง ๆ ตั้งแต่ในตอนยังเรียน แล้วใช้มันเป็นแรงผลักดันต่อไปสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์

GroundControl: สำหรับคำถามสุดท้าย คุณช่วยบอกใบ้พวกเราหน่อยได้ไหม ว่าเราจะได้เห็น NYFA เปิดตัวในกรุงเทพฯ เมื่อไหร่คะ

Michael Young: เมื่อ Cloud 11 เปิด พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมด คุณจะได้พบเราแน่นอน