‘Liminal Space’ นิทรรศการโดยสนิทัศน์​ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่ชวนเราหยุดพักเพื่อรับรู้สิ่งที่อยู่ข้างนอกและข้างในตัวเราเอง

Post on 31 January

เทศกาล Bangkok Design Week 2024 ปีนี้มีพิกัดน่าสนใจให้เราปักหมุดไปชมไอเดียสร้างสรรค์เพียบ และหากให้เราลองเลือกหนึ่งโลเคชันที่เหมาะทั้งกับคนรักงานศิลปะและงานดีไซน์แน่นอนว่าแกลเลอรีใจกลางเมืองอย่าง noble PLAY เพลินจิต ก็เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่อยู่ในใจพวกเรา

สำหรับคนที่กำลังมองหานิทรรศการที่ช่วยให้เราได้เจอความสงบ หลีกหนีจากความวุ่นวายของเมืองด้วยแล้ว เราเชื่อว่า ‘Liminal Space’ นิทรรศการรวมผลงานศิลปะของสนิทัศน์​ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่จัดแสดงที่ noble PLAY ตลอดช่วงเทศกาลงานออกแบบนี้ จะเป็นพื้นที่ที่ให้คุณได้หยุดพัก ใช้เวลาไปกับการชม 7 ผลงานศิลปะจัดวางและประติมากรรมที่อยากชวนให้ผู้เข้าชมได้ลองอยู่กับตัวเอง คลายความว้าวุ่นในหัวใจ และลองสังเกตสิ่งรอบตัวทั้งมุมที่คุ้นเคยและมุมใหม่ที่กลับด้านจากเดิม

สนิทัศน์คือศิลปินที่หลงใหลการสร้างงานศิลปะร่วมสมัยด้วยแนวคิดของภูมิสถาปัตย์ อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Sanitas Studio ที่สร้างสรรค์ทั้งงานศิลปะ ศิลปะจัดวาง และงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ แรงบันดาลใจของสนิทัศน์ยังมาจากความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์และความเชื่อของมนุษย์ที่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภูมิสถาปัตยกรรม เมือง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สำหรับเธอแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง และขณะเดียวกันก็มีจุดที่เชื่อมโยงกันแบบไม่รู้จบ

งานศิลปะที่เป็นลูกผสมระหว่างวิจิตรศิลป์และภูมิสถาปัตย์ของสนิทัศน์จึงมีจุดเด่นในการเชื้อเชิญให้เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเดินเข้าไปสำรวจสิ่งที่อยู่ในสเปซ การสังเกตรายละเอียดของพื้นผิว หรือกระทั่งตัวตนของวัสดุ ซึ่งหลาย ๆ ชิ้นงานจุดประกายมาจากคำถามที่ว่าด้วยความหมายของชีวิต ตัวตนของความเชื่อและความสุขที่เธอตั้งขึ้นมาถามกับตัวเอง และชวนให้ผู้ชมแบบเราค่อย ๆ เดินทางไปค้นพบปลายทางของคำถามเหล่านั้นไปกับเธอ

เริ่มต้นที่ ‘เขามอ, 2023 Mythical Escapism’ ภูเขาแห่งความเชื่อที่ในสมัยก่อนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของแดนสวรรค์ ผลงานชิ้นนี้สนิทัศน์ตั้งใจลดทอนองค์ประกอบเขามอให้เหลือเพียงแก่นความเชื่อ เขามอร่วมสมัยของเธอก่อขึ้นมาจากกล่องที่ปิดผิวด้วยกระจกสะท้อนเงา เพื่อให้ผู้ชมได้อยู่กับตัวเอง สื่อว่าเขามอลูกใหม่ลูกนี้เป็นเขามอสำหรับประชาชน

ด้านในเขามอมีเจดีย์ดินที่พูดถึงจุดเริ่มต้นและจุดจบและความว่างเปล่า เป็นผลงานส่วนหนึ่งของชุดประติมากรรม ‘Form of Belief I-V’ ที่สนิทัศน์สร้างสรรค์เจดีย์จากหลากหลายวัสดุ เพื่อตั้งคำถามกับความเชื่อของมนุษย์ ที่มักจะเชื่อหรือพยายามจับต้องสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ โดยเจดีย์แต่ละอันต่างก็มีดีไซน์และประเด็นที่อยากชวนเราลองจินตนาการแตกต่างกันออกไป อย่างเจดีย์ที่ทำจากหนังสือวิทยาศาสตร์และหนังสือธรรมะ มีพื้นที่ภายในว่างเปล่า ก็เป็นการตั้งคำถามว่าหากเราเข้าใจทฤษฎีจากหน้ากระดาษ แต่ไม่ได้ลงมือทำจริงๆ แล้วสุดท้ายเราจะสามารถเข้าถึงปรัชญาของศาสนานั้นได้หรือไม่

เจดีย์ที่ทำจากเยลลี่สื่อความหมายถึงภายนอกที่ดูสดใส ทว่าภายในกลับอ่อนไหว เห็นถึงความไม่เที่ยง ส่วนเจดีย์ที่ทำจากฝุ่นและน้ำแข็งก็สื่อความหายถึงชีวิตที่มั่นคงแข็งแรง แต่เมื่อเดินไปถึงวัฏจักรชีวิตสุดท้าย เราต่างก็เหลือเพียงแค่ของแข็งและของเหลวเท่านั้น

‘Or we are all just stardust…’ ศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยกองขี้เถ้าเบื้องล่างและเครื่องห้อยจากเพดานที่ทำจากกระจกสะท้อนเงากันไป-มา สื่อถึงสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นความจริง-สิ่งสมมติ สิ่งที่เห็น-สิ่งที่เป็น โลกข้างนอก-โลกข้างใน ชวนตั้งคำถามว่าสิ่งที่ตัวเรายึดถือคืออะไร หรือว่าแท้จริงแล้วเราเป็นฝุ่นละออง (หรือขี้เถ้า) ของจักรวาลกันแน่

ต่อด้วย ‘ห้วงพินิจ: Moment of Contemplation’ งานจัดวางที่ประกอบไปด้วยผ้าผืนยาวที่ดูดซับน้ำจากดินเหนียวที่เธอหอบหิ้วมาจากอำเภอเชียงดาว งานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากช่วงชีวิตที่สนิทัศน์ได้อยู่กับคุณแม่ที่นั่น ความสงบที่ได้เจอนำไปสู่ความสงสัยในการมีอยู่-การไม่มีอยู่ ความทรงจำ-การหลงลืม จนท้ายที่สุดก็ได้ค้นพบว่าความสุขที่แท้จริงคือการอยู่กับห้วงเวลาปัจจุบัน ไม่กังวลสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและอนาคต

เมื่อเดินออกมาด้านนอกเราก็จะเจอกับ ‘เรือนแห่งความเงียบ: House of Silence’ ห้องสงบที่เดินเข้าไปแล้วจะรู้สึกถึงบรรยากาศสบายๆ ของสถานที่ปฏิบัติธรรม ผนังที่โปร่งสบาย ไม่ทึบที่ห้อมล้อมเราไว้ตั้งใจให้เราได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบตัว เหมาะสำหรับการหลีกหนีจากเมืองที่แสนวุ่นวาย เป็นจุดหยุดพักชั่วคราวของอารมณ์และความคิด หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอนัตตานั่นเอง

‘Another side of the Star / Return to emptiness’ งานประติมากรรมคล้ายต้นคริสต์มาสขนาดใหญ่ที่ปิดผิวด้วยกระจกสะท้อนเงา โดยตั้งใจเรียงจากชิ้นใหญ่ด้านบนที่เห็นภาพสะท้อนชัดเจน ไล่ลงมาด้านล่างที่แผ่นกระจกจะมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนเราไม่สามารถปะติดปะต่อภาพสะท้อนเหล่านั้นได้ พื้นที่ด้านนอกเป็นเหมือนตัวตนที่ชัดเจน แต่ถ้าเราเดินไปที่พื้นที่ด้านในที่นิยามไว้ว่าเป็นวิหารแห่งความว่างเปล่ากลับให้ความรู้สึกอีกแบบ และช่องด้านบนตั้งใจเปิดโล่งให้เห็นท้องฟ้ายามกลางวันรวมถึงดาวยามค่ำคืน สื่อความว่าตัวเราคือละอองของจักรวาล

ปิดท้ายด้วย ‘ปริภูมิเวลา: Space & Time’ ที่เป็นการจำลองจักรวาลของสนิทัศน์ให้เราได้ลองสำรวจ มีการจัดวางชิ้นงานหลากหลายชิ้นอยู่บนโต๊ะ พร้อมแนบด้วยข้อมูลของช่วงเวลาต่าง ๆ เป็นไกด์พาเราท่องไปยังห้วงเวลาแห่งการเรียนรู้และแรงบันดาลใจของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานคนนี้

แม้ว่าผลงานใน Liminal Space จะมีต้นทางมาจากคำถามที่ค่อนข้างส่วนตัวของศิลปิน แต่วิธีการนำเสนอทั้ง 7 ผลงานกลับทำให้ผู้ชมอย่างเรารู้สึกเชื่อมโยงไปกับคำถามและคำตอบที่ได้ และยังจุดประกายให้เราอยากลองสำรวจสิ่งที่อยู่ข้างในลึก ๆ ของจิตใจเราด้วย

สำหรับใครที่อยากชมความสวยงามของศิลปะจัดวางที่มีกลิ่นอายของภูมิสถาปัตย์ และเก็บประสบการณ์เดินทางที่น่าสนใจแบบเดียวกันนี้ ตลาดสัปดาห์เทศกาล Bangkok Design Week 2024 อย่าลืมปักหมุดมาชมนิทรรศการ Liminal Space โดยสนิทัศน์​ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่ noble PLAY ชั้น G อาคารโนเบิล เพลินจิต (ฺBTS เพลินจิต Exit 5) เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่ 10.00 - 17.00 น. (ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม)