เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์นี้ พอลองสังเกตสิ่งของข้างทาง ตามท้องถนนในย่านชุมชน ก็มักสะดุดตาเข้ากับสิ่งประดิษฐ์แปลกหน้า ที่เกิดจากการดัดแปลงสิ่งของหลายสิ่งเข้าด้วยกัน หรือแม้กระทั่งสิ่งของเดิม ๆ แต่กลับถูกนำมาใช้งานในอีกหน้าที่หนึ่ง
การพบเจอสิ่งธรรมดาที่รวมตัวกันเป็นสิ่งใหม่นี่เอง ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจสู่ผลงานของธีสิสของ ‘ชิตวัน เพชรรัตน์’ หรือ ‘ฟ้าใส’ นักศึกษาสาขานิเทศศิลป์ ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ฟ้าใสเล่าถึงกระบวนการทำงานในธีสิสชิ้นนี้ให้เราฟังว่า ขั้นตอนแรกก็คือการสำรวจพฤติกรรมและให้คำจำกัดความต่อความสนใจของตัวเอง เช่น ‘การสังเกตและอธิบายสิ่งธรรมดาของรอบตัว’ อันเป็นพฤติกรรมที่เจ้าตัวมักจะทำอยู่เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งกลางปี 2022 ได้ร่วมคลาสเรียนเกี่ยวกับสัญศาสตร์ (semiotics) ทำให้เข้าใจในพฤติกรรมลักษณะนี้ และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการเรียนรู้โลกของฟ้าใสเอง
“ในชั้นเรียนของเรามีการตั้งคำถามว่า อะไรคือ ‘aesthetic’ เฉพาะของไทยบ้าง? ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เกิดการคิดหรือใช้ที่ชัดเจนมาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือการ ‘reposition’ หรือการแทนที่ เช่น การเอาผ้าใบมาบังแดด ทำให้เรานึกไปถึงงานสไตล์สตรีทอาร์ต เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่เกิดจากการนำของอย่างอื่นมาประกอบเข้าด้วยกัน หรือภาพถ่ายสิ่งที่ดูผิดที่ผิดทางแบบตลกๆ ที่ดูแล้วมีความไทย สอดคล้องกับแนวคิดของผลงานของงานของกลุ่มสถาปนิกไทย all (zone) ‘Mixed-Used: Bangkok Collage City’ ซึ่งเป็นงานวิดีโอที่เขานำพื้นที่รกๆ ในกรุงเทพฯ มาคอลลาจตัดสลับกัน จนแยกไม่ออกว่ารูปไหนคืองานคอลลาจ รูปไหนเป็นภาพจริง แสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนหรือ ‘โมดิฟาย’ ตามใจชอบไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับสิ่งของ แต่เป็นการใช้พื้นที่ด้วยซ้ำ
“ของประเภทนี้จึงน่าสนใจขึ้นมา และเมื่อได้ออกไปสำรวจจริง ๆ ก็พบว่าบางอย่างไม่ใช่แค่การคงรูปไว้แล้วเปลี่ยนหน้าที่เท่านั้น แต่เกิดจากการดัดแปลงเอาหลายสิ่งมาประกอบกัน บางอย่างกลายเป็นของที่วางขายปกติ และมีของที่ผลิตมาเพื่อจุดประสงค์หนึ่ง แต่ถูกซื้อไปใช้เพื่ออีกจุดประสงค์หนึ่ง
“บวกกับได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘The Beauty of Everyday Things’ ของ ยานางิ โซเอสึ นักวิจารณ์ศิลปะและนักปรัชญาชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้กล่าวถึง ‘รากฐาน’ ของการชงชา (chabi) ไว้ว่า"
“แนวคิดสุทรีย์ศาสตร์แบบ วะบิ ซาบิ (wabi sabi) หาใช่แนวคิดเชิงตรรกะเหตุและผล แต่กลับว่าด้วยวัตถุที่เป็นรูปธรรมซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเสียมากกว่า” จากแนวคิดนี้ทำให้เราคิดต่อว่า เมื่อเราจัดหมวดหมู่ของสิ่งของจากการมองเห็นเรียบร้อยแล้ว เราจะอธิบายรูปแบบหรือสไตล์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง? และผลลัพธ์ของการดัดแปลงนั้นจะย้อนพาเรากลับไปสำรวจต้นตอของวัตถุนั้น ๆ ได้อย่างไรบ้าง?”
“เวลาเดินผ่านสิ่งของเหล่านั้น จึงเริ่มเกิดคำถามที่ว่า ของพวกนี้จะดัดแปลงไปได้ถึงขั้นไหน? เราแปลงของแบบนี้กันมาตั้งแต่เมื่อไหร่? นอกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ทำไมเราถึงทำแบบนั้น? ที่อื่นเขาทำกันไหม? เป็นที่คนหรือสิ่งแวดล้อม? ถ้าที่อื่นทำจะยังรู้สึกว่าดูไทยมั้ย? ฯลฯ ด้วยความอยากรู้คำตอบเหล่านี้จึงกลายเป็นหัวข้อธีสิส ‘ความสร้างสรรค์ของคนไทยในการดัดแปลงของใช้’ โดยมีเป้าหมายไว้ในใจว่า หลังจากเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้ว เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ ผู้คน และวัฒนธรรม
“หลังจากได้ลงพื้นที่และเข้าไปพูดคุยกับผู้คนในละแวกนั้น ก็ได้ข้อสรุปว่าสิ่งประดิษฐ์หรือของดัดแปลงเหล่านี้ มีเหตุผลในการเกิดขึ้น นอกเหนือไปจากแค่อยากประหยัด หรือรู้สึกเสียดายของและไม่กล้าทิ้ง สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ยังมีประโยชน์อื่นมากกว่าจุดประสงค์พื้นฐานของตัวมันเอง ที่เน้นเพิ่มความสะดวกและเข้าใจง่ายในการใช้งาน ส่วนการเลือกว่าจะใช้อะไรขึ้นอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ เวลานั้น เช่น พี่วินที่ใช้ยางในล้อรถมาบุกระดานหมากฮอส (แน่นอนว่าฝาขวดน้ำทำหน้าที่ตัวหมาก) เมื่อเป็นของที่สร้างมาเพื่อใช้ เน้นฟังก์ชันอย่างเดียว ผู้ที่สร้างมันขึ้นมาจึงไม่ได้ยึดติดกับความสุนทรีย์ทางสายตา จึงยิ่งนำไปสู่การขยายความเป็นไปได้ของวัสดุที่จะเอามาใช้ อาจกล่าวได้ว่าผู้สร้างมันขึ้นมาไม่ได้มองว่ามันเป็นสไตล์ แต่ถูกคนอื่นที่มองเข้าไปจัดหมวดเป็นสไตล์
สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในธีสิสของฟ้าใสเท่านั้น เราเองก็สามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป หากใครพบเจอด้วยตัวเองแล้วอยากแชร์ก็สามารถแปะภาพไว้ในคอมเมนต์แบ่งปันกันได้นะ
ติดตามผลงานของศิลปินได้ที่ : https://www.instagram.com/marmalade_teatea/
เรื่อง: จุฑารัตน์ ศรีอุทัย
กราฟิก: วทันยา แซ่ตัน