cover_web Buttercry.jpg

Buttercry สนามเด็กเล่นที่เปิดให้มือสมัครเล่นผู้รักศิลปะมาทำซีนร่วมกัน

Post on 24 November

เมื่อพลังความคิดสร้างสรรค์มันล้นเหลือ จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของ Buttercry กลุ่มคนหลายเจนที่จับไอเดียมาทดลองสร้าง Zine ในรูปแบบต่าง ๆ ให้นักสะสมหนังสือศิลปะทั้งหลายตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่พวกเขากลับมาเปิดบูธในงาน Bangkok Art Book Fair 

Buttercry เริ่มต้นจากกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีเพียง 5 คน ก่อนจะขยับขยายจากการชวนคนใกล้ตัวทั้งพี่ น้อง และเพื่อน ที่ต่างก็เป็นมือใหม่ที่อยากเติบโต อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน การรวมตัวแต่ละครั้งจึงเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น แชร์ความรู้ และทำให้ Bangkok Art Book Fair กลายเป็นอีเวนต์สำคัญที่เหล่าเพื่อนฝูงได้มารวมตัวกัน

การไม่จำกัดขอบเขตนี้เองที่ทำให้การจำกัดความคำว่า ‘Zine’ ของ Buttercry นั้นอิสระ เมื่อซีนไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังสือศิลปะธรรมดา แต่ยังสามารถผสมผสานกับเทคนิคส่วนตัวของแต่ละคน จนทำให้ผู้อ่านและนักสะสมทั้งหลายสัมผัสได้ถึงคาแรกเตอร์ผ่านเนื้อหาและเนื้อกระดาษที่อัดแน่นอยู่ในผลงานแต่ละเล่ม

ในวันนี้หนึ่งในสมาชิกของ Buttercry ก็มานั่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟังแล้ว เรื่องราวการเริ่มต้นของกลุ่มจะเป็นอย่างไร ปีนี้จะมีผลงานชิ้นไหนน่าสนใจน่าสะสมบ้าง ไปฟังกันเลย

จุดเริ่มต้นของ Buttercry

“Buttercry เริ่มขึ้นที่งาน Bangkok Art Book Fair ปี 2019 ตอนนั้นมีกลุ่มเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่อยากเอาหนังสือมาลงขายและอยากตั้งกลุ่มทำซีนด้วยกัน เราอยากหาจุดร่วมให้กับกลุ่ม ก็กลายมาเป็น Buttercry ที่มาจากไอเดียว่า ก่อนที่จะเป็น Butterfly หรือก่อนที่จะเป็นผีเสื้อ มันเป็นอะไรได้บ้าง 

“สมาชิกของ Buttercry ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งคนที่เป็นนักปั้นเซรามิก คนที่ทำงาน Fine Art เป็นศิลปิน เป็นกราฟิกดีไซน์มือสมัครเล่น ทุกคนมีความเป็นดักแด้อยู่ในตัว เป็นมือสมัครเล่นที่อยากจะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ 

“อีกอย่างคือคำว่า Butter หรือเนย เป็นสิ่งที่ไปอยู่กับอะไรก็อร่อย จะไปอยู่กับของหวานหรืออาหารคาวก็ได้ ซึ่งก็กลายเป็นที่มาของเอกลักษณ์กลุ่มเรา ที่มีความอิสระมาก ๆ เพราะเราชวนเพื่อนชวนพี่น้องมาลองแชร์ไอเดีย นำความคิดสร้างสรรค์มาลงในรูปแบบงานสิ่งพิมพ์ ที่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นหนังสือเท่านั้น ให้ทุกคนได้ทดลอง คล้ายกับว่าเป็นการเอาเนยไปทดลองผสมกับอะไรหลาย ๆ อย่าง” 

มุมมองต่อวงการสิ่งพิมพ์

“ตอนแรกเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งไกลตัว แต่งาน Bangkok Art Book Fair ทำให้รู้อย่างหนึ่งว่า ความจริงแล้ว Art Book หรือ Zine สามารถเป็นสิ่งที่เล่นสนุกได้ งาน Bangkok Art Book Fair เหมือนเป็นสื่อกลางที่ทำให้กลุ่มคนที่ไม่กล้าทำ ได้กล้าที่จะมาลงมือทำ เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นงานศิลปะระดับ Masterpiece ก็มาร่วมงานนี้ได้ แล้วพอมารวมตัวกัน เราก็ได้เห็นภาพรวมผลงานของกลุ่มคนที่ต้องการจะเล่าเรื่องต่าง ๆ งานนี้จึงเป็นสื่อกลางที่ดีมาก ๆ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็แล้วแต่” 

ธีมและผลงานของ Butterycry ในปีนี้ 

“เราอยากจะพูดเรื่องใกล้ตัว ที่เปิดให้ทุกคนพูดในแนวทางที่แต่ละคนคิดได้ ก็เลยได้เป็นเรื่องของ ‘ธรรมชาติ’ เรื่องของ ‘คน’ เรื่องของ ‘การเป็นอยู่’ ในแบบที่แต่ละคนคิด ซึ่งมันสามารถไหลลื่นไปเป็นผลงานหลายอย่างได้ ทั้งงานเซรามิก งาน Fine Art งาน illustration ปีนี้เล่มใหม่รวม ๆ น่าจะมีประมาณ 5-6 เล่ม แล้วก็ผสมกับเล่มเก่า ๆ ที่มาขายด้วย”   

และต่อไปนี้คือซีนดีๆ จาก Buttercry ที่อยากแนะนำให้ไปลองหยิบจับกันที่งาน

“เราชอบเล่มนี้ Emptiness Thought เป็นของพี่ที่ทำงานกราฟฟิกที่เป็นคนขี้อายมาก ๆ ดูได้จากงานที่ขาวสะอาด คือเป็นหนังสือที่เราได้ Experiment ความคิดที่ไม่มีอะไรเลย ซึ่งเราสนุกที่ได้ Interact กับมันนะ เหมือนได้เข้าไปทำความรู้จักความคิดในตัวพี่เขา ผ่านกระดาษที่เขาเลือก ผ่านถ้อยคำปรัชญาของเขา มุมมองความเห็นของเขา วิธีการเล่าเรื่องของเขา เหมือนเราได้ดำดิ่งไปในความรู้สึกว่าเขาคิดอะไรอยู่” 

“ต่อมาที่เล่มนี้ miss mist ของพี่ที่ทำงานหลายแบบ ทั้ง Fine Art งานดีไซน์ งานเซรามิก เขาทำออกมาเป็นหนังสือ ที่เกิดจากการปั้นเซรามิกจิ๋ว ๆ แล้วเอามาวาดเป็นภาพอีกที กลายเป็นใบหน้าที่เลือนราง ไม่ชัดเจน เหมือนเป็นหมอก แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วของอารมณ์ในตอนนั้นที่เขาวาด ที่อาจจะมีความหมายลึก ๆ ซ่อนอยู่ ดูแยบยลดูสนุก”

“ชิ้นนี้เป็นงานของเราเอง ชื่อ How to check if you're idiot or not เป็นหนังสือการเมือง ที่พูดถึงวิธีการเช็กว่าตัวเองเป็น Idiot หรือเปล่า แต่เนื้อหาด้านใน เราก็จะไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองโดยตรง เป็นเชิงการตั้งคำถามถึงคนบางกลุ่มที่ว่าเขาเก่งจริงหรือเปล่า แล้วเล่มนี้ก็เคยไปวางขายในร้านหนังสือที่ประเทศอิตาลีอยู่ช่วงหนึ่งด้วย”    


 

“ส่วนเล่มนี้ก็คิดมาจากระหว่างที่เราไปเที่ยว แล้วเจอกับ Pocket book ที่ฝรั่งชอบเหน็บตามกระเป๋ากางเกง แล้วเปิดมาอ่านตอนไปเที่ยว คือเรารู้สึกว่า หนังสือเดินทางมีแต่ข้อมูลที่มีความ Informative มาก ๆ เราเลยอยากจะเล่าเรื่องวัฒนธรรมโดยที่ไม่ใช่ข้อมูลทั่วไปที่หาอ่านได้ตามวิกิพีเดีย และเลยตั้งคำถามขึ้นมาว่า อะไรคือสิ่งที่อยู่กับคนมานาน  

"เราก็นึกถึงพวกเครื่องแก้ว เซรามิก หรือสิ่งของ ถ้วย ชาม เลยออกมาเป็นหนังสือชื่อ glasriket เป็นหนังสือที่รวบรวมเครื่องแก้วต่าง ๆ จากทั่วโลก ที่มีเรื่องราว มีวัฒนธรรม และปรัชญาอยู่ในนั้น” 

“50 Design Terminologies เล่มนี้เป็นของเพื่อนในกลุ่มที่พิมพ์ไว้นานแล้ว แต่เราอยากให้กลับมาขายอีกรอบ เพราะเนื้อหาด้านในเข้าใจง่ายและสนุก เป็นหนังสือรวบรวมศาสตร์ดีไซน์ต่าง ๆ ที่มีความเบสิกมาก ๆ แต่ทำให้เห็นภาพชัดเจน เป็นซีนที่เหมาะกับกราฟิกมือใหม่”

ติดตาม Buttercry ที่ buttercry