ความรุ่มรวยที่ฉันเก็บไว้ในภาพล้วนมาจากธรรมชาติ ...ต้นกำเนิดแห่งแรงบันดาลใจของฉัน
ในปี 1874 นักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งยืนอยู่ต่อหน้าภาพวาดทิวทัศน์ท้องทะเลขนาดใหญ่ ในเวลาต่อมา เขาให้ความเห็นกับภาพนี้ว่า
‘ประทับใจ’ (impress) คือความรู้สึกที่ข้าพเจ้ามีต่อภาพนี้ ข้าพเจ้าพร่ำบอกตัวเองเช่นนั้น เพราะข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจในภาพนั้นจริง ๆ นั่นหมายความว่ามันมีความประทับใจสถิตย์อยู่ในภาพนี้ แต่มันช่างไร้ระเบียบ ช่างเป็นงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ชุ่ยเสียเหลือเกิน! ข้าพเจ้าเชื่อว่า แบบร่างของลายวอลเปเปอร์ยังดูประณีตกว่าภาพทิวทัศน์ทะเลชิ้นนี้เสียอีก!
นักวิจารณ์ศิลปะผู้นั้นคือ หลุยส์ เลอรอย (Louis Leroy) และภาพวาดทิวทัศน์ทะเลภาพนั้นก็มีชื่อว่า ‘Impression, Sunrise’ (1872) ผลงานของศิลปินชาวฝรั่งเศสนาม โคลด โมเนต์ (Claude Monet) ที่ในกาลต่อมา ทั้งคู่จะกลายเป็นผู้สร้างคุณูปการสำคัญต่อขบวนการศิลปะที่ชื่อว่า ลัทธิประทับใจ (Impressionism) โดยโมเนต์จะกลายเป็นศิลปินผู้นำของกลุ่มลัทธิประทับใจ ...ในขณะที่ลีรอยผู้สับแหลกผลงานของโมเนต์จะกลายเป็นผู้ตั้งชื่อให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 19 นี้ จากการที่เขาใช้คำว่า ‘ประทับใจ’ ซ้ำ ๆ ในบทวิจารณ์ภาพวาด Impression, Sunrise ของเขา จนทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานให้กับสไตล์ศิลปะที่เขาแสนชังนี้ไปโดยปริยาย…
ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก มีศิลปินเพียงไม่กี่คนที่พลิกรูปแบบหรือสไตล์ของศิลปะจนก่อให้เกิดเป็นกระแสธารใหม่ในโลกศิลปะได้ และหนึ่งในนั้นก็คือ โคลด โมเนต์ ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การสิ้นสุดของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เขาได้ชื่อว่าเป็นศิลปินเจ้าแห่งการใช้สี ภาพวาด 2,500 ภาพที่เขาทิ้งเอาไว้คือหลักฐานการศึกษาผลกระทบของแสงที่มีต่อวัตถุต่าง ๆ อันสะท้อนถึงความสนใจและความพยายามของมนุษย์คนหนึ่งที่เฝ้าศึกษาธรรมชาติและความเป็นไปของสรรพสิ่ง
คอลัมน์ The Art of Being An Artist ขอพาทุกคนวาร์บไปยังบรรยากาศชนบทของฝรั่งเศสเพื่อซึมซับความงามของแสงและสีแห่งธรรมชาติที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของหนึ่งในศิลปินที่มีแฟนด้อมเหนียวแน่นที่สุดในประเทศไทย โคลด โมเนต์ และเพื่อต้อนรับการมาถึงของ Self-Quarantour ที่มีคนเรียกร้องมามากที่สุด นั่นก็คือ EP. Giverny ที่เราจะพาทุกคนไปบุกสวนแห่งแรงบันดาลใจของโมเนต์
ลูกชายของแม่ผู้เป็นศิลปิน
โคลด โมเนต์ เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1840 ในครอบครัวชาวปาริเซียงแท้ดั้งเดิม ก่อนที่จะพากันย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้าน Le Havre แคว้นนอร์มังดี ในตอนที่โมเนต์อายุได้ 5 ปี พ่อของเขาเป็นนักธุรกิจที่ทำกิจการขายอุปกรณ์สำหรับเรือเดินสมุทรและกิจการเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งนั่นก็ทำให้พ่อของโมเนต์ตั้งความหวังว่าลูกชายจะเข้ามารับช่วงต่อกิจการ แต่โมเนต์กลับเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความหลงใหลในศิลปะ ซึ่งแม่ของโมเนต์ผู้เป็นนักร้องก็สนับสนุนเส้นทางศิลปะของลูกชายเต็มที่
เมื่อายุย่างเข้าวัยเข้าโรงเรียน โมเนต์ก็เข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะ Le Havre ที่อยู่ในละแวกบ้านของเขา และชาวเมือง Le Havre ก็คุ้นเคยโมเนต์เป็นอย่างดีจากภาพของเด็กชายที่นั่งขายภาพวาดการ์ตูนริมถนนในราคาภาพละ 10-20 ฟรังก์
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของโมเนต์เกิดขึ้นในปี 1856 ที่เด็กหนุ่มโมเนต์ได้พบกับ ยูจีน โบแด็ง ( Eugène Boudin) ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินภาพวาดภูมิทัศน์ (Landscape) คนแรกที่หิ้วขาตั้งและผ้าใบไปนั่งวาดภาพข้างนอกสตูดิโอ โดยการพบกันของทั้งคู่เกิดขึ้นบนชายหาดนอร์มังดี และโบแด็งกกลายเป็นครูคนแรกที่แนะนำให้โมเนต์ได้รู้จักกับ "en plein air" หรือการวาดภาพกลางแจ้ง ซึ่งในกาลต่อมาจะเป็นวิถีทางในการวาดภาพที่โมเนต์ใช้ไปตลอดจนวันสุดท้ายของชีวิตการเป็นศิลปิน
การเดินทางไปเยี่ยมชมงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์รหลังจากนั้นก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่พลิกชีวิตของโมเนต์ เมื่อได้อยู่ท่ามกลางงานศิลปะล้ำค่าของบรรดามาสเตอร์ยุคก่อน มันก็กระตุ้นให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะ เขากลับไปบ้านพร้อมกับสีและอุปกรณ์วาดรูปมากมาย และแทนที่จะวาดภาพจากแบบในสตูดิโอ โมเนต์จะนั่งอยู่ริมหน้าต่าง และวาดภาพของทิวทัศน์ที่อยู่นอกกรอบหน้าต่างซึ่งปรากฏต่อสายตาของเขา
อัลจีเรีย
ในปี 1861 โมเนต์ถูกเกณฑไปเป็นทหารในกองพันที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศแอลจีเรีย ทวีปแอฟริกา ซึ่งมีระยะเวลาประจำการยาวนานถึง 6 ปี ซึ่งที่จริงแล้วพ่อของเขาจะซื้อใบอนุญาตละเว้นการเกณฑ์ทหารให้โมเนต์ก็ได้ แต่เพราะโมเนต์ยังคงยืนกรานว่าจะไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นศิลปิน พ่อของเขาจึงปล่อยให้ลูกชายออกไปเผชิญชะตากรรมในดินแดนอันห่างไกล
แม้ว่าในช่วงที่ประจำการอยู่แอลจีเรีย โมเนต์จะมีโอกาสได้สร้างสรรค์ผลงานเพียงไม่กี่ชิ้น (ส่วนใหญ่เป็นภาพสเก็ตช์ ภาพวาดทิวทัศน์ และภาพบุคคลของเหล่าทหาร ซึ่งปัจจุบันผลงานเหล่านี้ได้หายสาบสูญไปหมดแล้ว) แต่ในเวลาต่อมาเมื่อเขาได้เป็นศิลปินมีชื่อแล้ว โมเนต์ก็ได้เผยว่าทัศนียภาพของธรรมชาติในแอฟริกานั้นส่งแรงบันดาลใจในการศึกษาแสงในธรรมชาติของเขาเป็นอย่างยิ่ง
แต่หลังจากผ่านไปเพียงปีเดียว โมเนต์ก็เป็นไข้ไทฟอยด์อาการหนักจนต้องถูกส่งตัวกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ในตอนนี้เองที่ป้าผู้เลี้ยงดูโมเนต์มาแทนแม่ผู้ล่วงลับรู้สึกทนไม่ได้ จึงได้เสนอที่จะช่วยให้หลานชายได้ปลดประจำการจากกองทัพ โดยมีข้อแม้ว่าเขาจะต้องไปเข้าเรียนในสถาบันสอนศิลปะอย่างจริงจัง และต้องเรียนจบให้ได้ ซึ่งโมเนต์ก็ตอบตกลง
แต่การเข้าเรียนในสถาบันศิลปะก็เป็นประสบการณ์ที่แสนกล้ำกลืนฝืนทนสำหรับโมเนต์ เพราะในยุคนั้นสถาบันศิลปะยังมุ่งสอนศิลปะตามขนบที่เน้นเทคนิคและกระบวนการทำงานศิลปะแบบเดิม ๆ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะชั้นสูง โมเนต์ที่ไม่พบแรงบันดาลใจในห้องเรียนจึงชวนเพื่อนร่วมชั้นอย่าง ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir), เฟรเดริก บาซีย์ (Frédéric Bazille) และ อัลเฟรด ซิสลีย์ (Alfred Sisley) ออกไปวาดภาพกลางแจ้งข้างนอก และภายใต้แสงอาทิตย์อันอบอุ่นของฝรั่งเศส กลุ่มเพื่อนหัวขบถนี้ก็ได้ช่วยกันศึกษาผลกระทบของแสงที่ตกกระทบพื้นผิวต่าง ๆ และยังช่วยกันคิดค้นวิธีการที่จะเก็บสีของแสงที่พวกเขาเห็น ณ ขณะนั้นลงไปในภาพวาด ...ซึ่งในกาลต่อมา เทคนิคที่พวกเขาช่วยกันคิดนั้นถูกเรียกว่า Impressionism
Argenteuil
ชีวิตช่วงต้นในฐานะศิลปินของโมเนต์ก็เหมือนกับศิลปินคนอื่น ๆ ทั่วไปที่หาได้สวยหรู! ณ ตอนนั้นเขาเพิ่งแต่งงานกับภรรยาสุดที่รัก กามีย์ ดงซีเยอ (Camille Doncieux) ซึ่งส่งผลให้คู่ข้าวใหม่ปลามันต้องใช้ชีวิตด้วยความขัดสน กระทั่งโมเนต์ได้พบกับ กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) ศิลปินชาวฝรั่งเศสเจ้าลัทธิสัจนิยม (Realism) ที่ไม่เพียงช่วยโมเนต์ในด้านการเงิน แต่ยังแนะนำให้โมเนต์เปลี่ยนสไตล์การวาดภาพมาจับเทคนิคดั้งเดิม รวมถึงเปลี่ยนผลงานที่จะส่งไปให้ Salon พิจารณา จากเดิมที่โมเนต์ตั้งใจจะส่งภาพ Le déjeuner sur l'herbe ที่เขาวาดเพื่อเป็นการคารวะผลงานสุดฉาวของ เอดัวร์ มาแนต์ (Édouard Manet) แต่เป็นเวอร์ชั่นที่วาดนอกสตูดิโอ เขาก็ตัดสินใจส่งภาพ The Woman in the Green Dress ที่เขาวาดภรรยาด้วยเทคนิคตามขนบศิลปะที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ Salon พิจารณา จนสุดท้ายภาพนี้ก็ได้รับการตอบรับและถูกจัดแสดงที่ Salon ซึ่งส่งผลให้โมเนต์เริ่มเป็นที่รู้จัก และทำให้ผลงานภาพวาดภูมิทัศน์ที่เขาวาดโดยยึดเทคนิคดั้งเดิมเริ่มขายได้
แม้ว่าจะเริ่มมีกินมีใช้ แต่โมเนต์ก็รู้สึกอึดอัดกับการต้องวาดตามสไตล์ที่ขายได้ในยุคนั้น แต่โชคชะตาก็หาหนทางให้เขาได้เสมอ เมื่อเกิดมีสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียปะทุขึ้น เขาจึงชักชวนกามีย์เดินทางออกจากกรุงปารีสไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กันที่อาร์ฌ็องเตย ณ เมืองชนบทนอกบรรยากาศความวุ่นวายของกรุงปารีสและสายตาของผู้คนในแวดวงศิลปะที่บังคับให้เขาต้องวาดภาพตามขนบ โมเนต์ก็ได้กลับมาเฝ้าสังเกตและซึมซับแสงสีในธรรมชาติ และเขาก็ได้วาดรูปตามที่ตัวเองปรารถนาอีกครั้ง
ณ เมืองอาร์ฌ็องเตยแห่งนี้ เหล่าผองเพื่อนศิลปินผู้มีใจรักในการเก็บแสงแห่งธรรมชาติทั้งเรอนัวร์ บาซีย์ และซิสลีย์ ก็ได้มารวมตัวกันเป็นครั้งคราวเพื่อปล่อยใจไปกับการวาดภาพที่พวกเขาหลงรัก และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแง่มุมทางศิลปะด้วยกัน กระทั่งอาร์ฌ็องเตยได้กลายเป็นสถานที่ซ่องสุมขุมกองทัพของศิลปินหัวขบถที่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับการต้องทำงานตามขนบศิลปะดั้งเดิมเพื่อที่จะได้รับการยอมรับและได้จัดแสดงผลงานที่ Salon อันเป็นบันไดขั้นสูงสุดของศิลปินในยุคนั้น
ที่อาร์ฌ็องเตย ...พวกเขาจึงได้คิดแผนการที่จะตอบโต้สถาบันศิลปะชั้นสูง
Impressionism
ในปี 1873 โมเนต์, เรอนัวร์, กามีย์ ปีซาโร (Camille Pissarro) และซิสลีย์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคม Société anonyme des artistes peintres, sculpteurs et graveurs (Anonymous Society of Painters, Sculptors, and Engravers) โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดนิทรรศการศิลปะที่แสดงผลงานภาพวาดของเหล่าศิลปินนอกขนบผู้ถูกปฏิเสธจาก Salon และเพื่อจะนำเสนอสไตล์ศิลปะแบบใหม่ต่อสาธารณชน ซึ่งที่นิทรรศการนี้เองที่โมเนต์ได้นำผลงาน Impression, Sunrise มาจัดแสดง จนเกิดบทวิจารณ์จากหลุยส์ ลีรอย อันจะนำมาสู่ชื่อของขบวนการศิลปะนอกขนบที่พวกเขาศรัทธา
นอกจากผลงาน Impression, Sunrise แล้ว โมเนต์ยังได้นำผลงานภาพวาดสีน้ำมันอีก 4 ชิ้น และภาพวาดสีชอล์คอีก 7 ชิ้นมาจัดแสดงที่งานนี้ หนึ่งในนั้นคือภาพ The Luncheon (1868) ที่เขาวาดกามีย์กับลูกชาย ฌอง โมเนต์ (Jean Monet) และถูกปฏิเสธจาก Salon
นิทรรศการที่จัดแสดงผลงาน 165 ชิ้นของศิลปินนอกคอกอันประกอบด้วย บาร์ธ มอริซอร์, เรอนัวร์, แอดการ์ เดอกา, ปีซาโร และ ปอล เซซาน นี้ได้รับการตอบรับจากสาธารชนอย่างท่วมท้น ผู้คนกว่า 3,500 คนจ่ายเงิน 60 ฟรังก์เพื่อเข้าไปชมผลงานของศิลปินที่ถูกปฏิเสธจาก Salon อันทรงเกียรติ
ในภายหลัง นิทรรศการที่จัดแสดงผลงานสอบตกจาก Salon ครั้งนี้ก็ได้ถูกปักหมุดจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะให้เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า Impressionism
ความตายของกามีย์
หลังจากให้กำเนิดลูกชายคนที่สองได้เพียงหนึ่งปี กามีย์ ภรรยาสุดที่รักผู้ปรากฏตัวในผลงานของโมเนต์หลายชิ้นก็ได้เสียชีวิตลงในปี 1879 ด้วยโรคมะเร็งในมดลูก ตอนนั้นกามีย์มีอายุได้เพียง 32 ปี
โมเนต์เศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของภรรยาผู้เป็นที่รักมาก แต่เขายังมีเธอเป็นแรงบันดาลใจเสมอ แม้กระทั่งเมื่อได้เห็นใบหน้าของภรรยาผู้หมดลมหายใจแล้ว โมเนต์ก็ยังสังเกตสีหน้าที่ไร้ชีวิตของภรรยาและซึมซับสีที่ปรากฏบนใบหน้าของเธอ “วันหนึ่ง ฉันมองไปที่ใบหน้าของภรรยาผู้เป็นที่รัก และสังเกตเห็นโดยฉับพลันถึงสีที่ปรากฎบนใบหน้านั้น!” และการสังเกตใบหน้าไร้ชีวิตนั้นก็กลายมาเป็นผลงานที่ชื่อว่า Camille Monet on her deathbed (1879) ที่นำเสนอภาพกามีย์ผู้จากไปแล้วด้วยโทนสีขาวกับเทาที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงความเย็นยะเยือกของความตาย และความเศร้าโศกอันลึกซึ้งของโมเนต์
หลังการจากไปของกามีย์ โมเนต์ได้ทุ่มเทพัฒนาเทคนิคภาพวาดกลางแจ้งของเขาอย่างสุดตัว จนทำให้ในช่วงนี้ เขาได้สร้างผลงานมากมายที่ได้รับการยอมรับในภายหลังว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขา ในช่วงนี้ โมเนต์มุ่งมั่นที่จะเก็บบันทึกภาพชนบทของฝรั่งเศสด้วยการจับการเปลี่ยนแปลงของแสงและสีที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวันมาและการเปลี่ยนผันของฤดูกาลมาไว้ในภาพวาดของเขา
Giverny
โมเนต์มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่คอยให้การช่วยเหลือในด้านการเงินแก่เขา นั่นก็คือ เอเมสต์ โฮชด์ (Ernest Hoschedé) นักธุรกิจครอบครัวใหญ่ อันประกอบด้วยภรรยา เอลิซ โฮชด์ (Alice Hoschedé) และลูก ๆ อีกหกคน ซึ่งในช่วงหลังจากที่กามีย์เสียชีวิต เอลิซก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ช่วยเลี้ยงดูลูกชายทั้งสองคนของโมเนต์ ทำให้ทั้งสองครอบครัวสนิทสนมจนแทบจะกลายเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยทั้งหมดอาศัยอยู่ใต้หลังคาเดียวกันที่บ้านของโมเนต์ในชนบทของฝรั่งเศส กระทั่งเมื่อเอเมสต์เสียชีวิตลง เอลิซจึงได้แต่งงานกับโมเนต์ และครอบครัวของพวกเขาก็ได้กลายเป็นครอบครัวเดียวกันอย่างแท้จริง
วันหนึ่งในเดือนเมษายน ปี 1883 ขณะที่โมเนต์กำลังโดยสารรถไฟจากเมืองเวอร์นองไปยังเมืองกาสนีย์ เขาก็ได้มองออกไปยังนอกหน้าต่างและได้เห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองจีแวร์นีย์ แห่งแคว้นนอร์มังดี จนในที่สุด โมเนต์ก็ตัดสินใจว่าที่จีแวร์นีย์นี่ล่ะที่จะเป็นที่พำนักสุดท้ายของครอบครัวที่ระหกระเหินเพื่อหาที่ลงหลักปักฐานของเขา เพียงหนึ่งเดือนต่อมา โมเนต์ก็ได้เช่าบ้านสวนขนาดใหญ่ในเมืองแห่งนี้ และย้ายครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิบคนเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านสวนที่จะกลายมาเป็นสถานที่แห่งแรงบันดาลใจของเขา
บ้านในสวนแห่งเมืองจีแวร์นีย์ของโมเนต์ประกอบด้วยตัวบ้านขนาดใหญ่ โรงนาที่โมเนต์เปลี่ยนให้กลายเป็นสตูดิโอสำหรับทำงาน และสวนขนาดย่อม ๆ และเมื่อผลงานของโมเนต์เริ่มขายได้เป็นเทน้ำเทท่า ในปีต่อมา โมเนต์จึงซื้อบ้านหลังนี้ และขยายสวนย่อม ๆ ให้กลายเป็นสวนขนาดใหญ่ พร้อมกับเรือนหลังคากระจกซึ่งเอื้อให้แสงอาทิตย์ส่องมาได้จากทางหลังคา และเป็นที่ที่เขาใช้เป็นสตูดิโอลำดับที่สอง
สวนจีแวร์นีย์แห่งนี้กลายเป็นดั่งผลงานศิลปะอีกชิ้นของโมเนต์ - เขาจะเขียนโน้ตถึงคนสวนทุกวัน เพื่อให้คนสวนปลูกต้นไม้และหาพืชพันธุ์ที่เขาต้องการมาไว้ในสวน สวนจีแวร์นีย์ของเขาขยับขยายไปพร้อมกับฐานะของเขาที่เริ่มมั่งมีขึ้นจากการขายภาพวาด จนในที่สุดเขาก็เริ่มดำเนินการโปรเจกต์ใหญ่ นั่นก็คือการขุดสระบัวขนาดใหญ่ที่จะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในผลงานชุด Water Lilies ของเขา โดยโมเนต์เริ่มศึกษาวาดภาพดอกบัวในปี 1899 เขานำเสนอดอกไม้น้ำหลากหลายสีสันชนิดนี้ในมุมมองต่าง ๆ ทั้งภาพแนวตั้งที่มีสะพานญี่ปุ่นเป็นจุดกึ่งกลางของภาพ ไปจนถึงผลงานภาพวาดขนาดใหญ่ที่เขาจะใช้เวลาในอีก 20 ปีต่อมาแต่งเติมไปเรื่อย ๆ
โลกอันพร่าเลือน
หลังจากที่ภรรยาคนที่สองเสียชีวิตในปี 1911 โมเนต์ก็เริ่มแสดงอาการถดถอยทางด้านการมองเห็น ซึ่งทำให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ถึงสองครั้ง และแม้ว่าจะรักษาการมองเห็นไว้ได้ แต่สายตาของเขากลับพร่าเลือน โลกของโมเนต์เปลี่ยนเป็นโทนสีม่วงและสีแดง ซึ่งสะท้อนออกมาในภาพวาดดอกบัวของเขาในช่วงนี้ที่ดูมีโทนสีออกแดงอมม่วง และแม้ว่าจะสูญเสียประสิทธิภาพในการเฝ้าสังเกตแสงที่เขาเคยทำมาตลอดชีวิต แต่โมเนต์ก็ยังคงวาดภาพดอกบัวและสะพานญี่ปุ่นในแบบที่เขามองเห็น ณ ขณะนั้น อันทำให้ผลงานช่วงสุดท้ายของเขาเริ่มไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนนักวิจารณ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคหลังกล่าวว่า ผลงานในช่วงสุดท้ายของโมเนต์อาจจะเป็นเค้าลางการมาถึงของศิลปะนามธรรม (Abstract) ในยุคแรก ๆ
อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Claude_Monet
http://www.visual-arts-cork.com/famous-artists/monet.htm...
https://kevinshau.medium.com/master-of-color-considering...