GC_MultiCover_color.jpg

‘สีนี้พี่หวง’ สำรวจบรรดาสีที่มีเจ้าของ และคำถามว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นเจ้าของสีได้หรือไม่?

Art
Post on 20 April

‘สีนี้พี่หวง’ สำรวจบรรดาสีที่มีเจ้าของ และคำถามว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นเจ้าของสีได้หรือไม่?

เมื่อวานนี้หลายคนน่าจะได้ผ่านตาประเด็นดราม่าในโลกศิลปะ เมื่อนักวาดคนหนึ่งออกมาโพสต์แสดงความไม่พอใจผ่านหน้าเพจของตนเอง เรื่องการพบคน #ดูดสี หรือนำคู่สีที่เจ้าตัวใช้เป็นประจำในงานของตัวเอง พร้อมประกาศว่าห้ามผู้อื่นนำสีที่ใช้ในงานของตนจนกลายเป็นลายเซ็นไปใช้ โดยอ้างว่าตนเป็นผู้ผสมสีเอง

“คืออยากออกมาพูดนานแล้ว เนื่องจากพบเจอคนดูดสีเซ็ทนี้และนำไปปรับให้อ่อนลงโดยไม่ได้รับอนุญาต อยากจะบอกว่า อยากดูดไป ไปหาเอาเอง สองสีบน เราดูดมาจากของตกแต่ง ใครใช้สองสีนี้ก็ได้นะ แต่ไม่อนุญาตให้นำสองสีข้างล่าง หรือสีใดสีหนึ่งข้างล่างไปใช้นะคะ ทำไมรู้ไหม เพราะเราผสมสี ปรับเองแบบโง่ ๆ แล้วกว่าจะมาเจอสองสีนี้ เสียเวลาไปตั้งกี่วันกี่เดือน เป็นใครมาขโมยสีไปเอ่ย ชอบก็ไปหาปรับ ไปดูดจากของตกแต่ง ไม่ใช่มาดูดสีจากงานคนอื่น ขอบคุณค่ะ นี่มันเซ็ทสีประจำร้านเลยนะ ใครเห็นจะได้จำได้ง่ายหน่อย”

แม้ว่าชาวเน็ตจะออกมาแสดงความคิดเห็นว่าดราม่าครั้งนี้เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการและการขาดวุฒิภาวะของผู้โพสต์ที่ยังเป็นเด็กอยู่ จึงนำมาสู่ดราม่าที่ไม่น่าเกิดขึ้นนี้ และขอให้ทุกคนให้โอกาสเจ้าของเพจได้เรียนรู้ และอย่าถือสาเอาความ อย่างไรก็ตาม การเคลมความเป็นเจ้าของสีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ในโลกของศิลปะและการออกแบบนั้น มีการเคลมความเป็นเจ้าของสีและมีการตบตีกันมานักต่อนักแล้ว ประโยชน์ใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากดราม่าครั้งนี้ ก็คงจะเป็นการนำมาสู่การตั้งคำถามว่า เราสามารถเป็น ‘เจ้าของ’ สี หรือครอบครองสีใดสีหนึ่งไว้เพียงผู้เดียวได้จริง ๆ หรือ?

วันนี้ GroundControl จะชวนทุกคนไปสำรวจ 7 สีที่มีเจ้าของ รวมถึงสงครามการตบตีแย่งสีที่เกิดขึ้นเบื้องหลังสีสันอันสดใสเหล่านั้นด้วยกัน

แต่ก่อนที่จะไปสำรวจดราม่าในโลกของสี เรามาลองสำรวจคำถามที่ค้างคาใจของใครหลายคนว่า เราสามารถเป็นเจ้าของสีได้จริงหรือ?

ศิลปินผู้เป็นเจ้าของสี

เราอาจเคยได้ยินเรื่องศิลปินที่ครอบครองสีกันมาบ้าง อย่างเช่น สีน้ำเงิน IKB 79 ที่ศิลปินเจ้าพ่อมินิมอลอาร์ตอย่าง อีฟ แกล็ง ร่วมกับนักเคมีในการประดิษฐ์ค้นสีน้ำเงินที่ใกล้เคียงกับสีของจักรวาลมากที่สุด หรือถ้าใกล้กับยุคสมัยของเรามากขึ้นมาอีกนิด ก็คือการประกาศการเป็นเจ้าของสีดำที่ดำสนิทที่สุดในโลกอย่าง Vantablack ของเจ้าพ่อศิลปะคอนเซปชวล อานิช กาปูร์ ซึ่งตอนนั้นก็ตามมาด้วยดราม่าและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเป็น ‘เผด็จการ’ ในโลกศิลปะของกาปูร์ผู้พยายามครอบครองสีนี้ไว้เพียงคนเดียว

หากแกล็งและกาปูร์สามารถครอบครองสีได้ นั่นหมายความว่าใคร ๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของสีได้จริง ๆ ใช่ไหม? ในกรณีของแกล็งนั้น เขาเป็นเจ้าของสีฟ้า IKB 79 อย่างถูกต้องตามกฎหมายในแง่ที่ว่าเขาเป็นผู้ร่วมคิดประดิษฐ์สูตรเคมีในการสร้างสรรค์สีน้ำเงิน ทำให้เขาสามารถจดทะเบียนครอบครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ แต่ในกรณีของกาปูร์นั้นอาจจะซับซ้อนขึ้นมาหน่อย เนื่องจากเขาไม่ได้เป็นผู้คิดค้นสูตรเคมีในการสร้างสีดำสนิทนี้ แต่เขานำสีนี้มาใช้ในงานบ่อย จนในที่สุดเขาก็ทำการซื้อลิขสิทธิ์ในการผลิตสีนี้ต่อมาจากนักเคมีผู้เป็นเจ้าของสีตัวจริง และประกาศตัวเป็นศิลปินเพียงคนเดียวที่จะใช้สีนี้ในงานศิลปะได้ นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการผูกขาดทางความสร้างสรรค์นั่นเอง

การเป็นเจ้าของสีผ่าน Trademark ทางการค้า

แล้วถ้าเราไม่ได้เป็นคนเล่นแร่แปรธาตุ สกัดสีใหม่ขึ้นมาเอง เราจะสามารถครอบครองสีที่มีอยู่แล้วในตลาด หรือสีที่อยู่ใน Pantone ได้หรือไม่? คำตอบคือ ทั้งได้ และไม่ได้

ตามกฎหมายแล้ว องค์กรหรือแบรนด์สามารถอ้างความเป็นเจ้าของสีได้ผ่านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือ Trademark อย่างไรก็ตาม เราจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยการใช้สีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเครื่องหมายการค้านั้นประกอบไปด้วยชื่อตัวอักษร รูปภาพ และสี การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่คุ้มครองเฉพาะสิทธิ์ในการใช้สี แต่คุ้มครองการใช้สีในรูปภาพหรือชุดตัวอักษรนั้น ๆ เช่น สีแดงที่ Coca-Cola ใช้ ไม่ได้หมายความว่า Coca-Cola เป็นเจ้าของ แต่ Coca-Cola เป็นเจ้าของตราสัญลักษณ์ที่ใช้สีแดงเฉดนี้ นั่นหมายความว่าเราสามารถใช้สีแดงเฉดเดียวกับ Coca-Cola ในการทำงานหรือในเชิงพาณิชย์ก็ย่อมได้ แต่เราจะไม่สามารถยกโลโก้และพื้นหลังสีแดงของ Coca-Cola มาใช้ได้

ที่ผ่านมา มีหลายแบรนด์ที่พยายามจะจด Trademark อ้างสิทธิ์ในการใช้สีประจำแบรนด์ แต่ลองคิดดูว่า ถ้าใคร ๆ ก็สามารถจดทะเบียนอ้างสิทธิ์ในการใช้สีใดสีหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว เราก็คงไม่มีสีที่สามารถใช้ได้เลย เพราะหากอ้างอิงตาม Pantone จะพบว่าในโลกของเรามีสีที่ถูกค้นพบและเข้ารหัสสีเพียงแค่ 1,867 สีเท่านั้น ซึ่งนับเป็นจำนวนอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนของแบรนด์สินค้า บริการ และองค์กรที่มีอยู่ในโลก

แล้วสีฟ้า Facebook หรือสีม่วงของ Prince ล่ะ?

อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องทางสำหรับแบรนด์ที่ต้องการจะครอบครองสิทธิ์ในการใช้สีนั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียวอยู่บ้าง แต่จะทำได้เพียงห้ามไม่ให้คู่แข่งทางการค้าที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันใช้สีเดียวกับแบรนด์ของเราเท่านั้น เช่น สีฟ้าของเฟซบุ๊ค ที่ผู้ผลิตแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ จะไม่สามารถใช้สีนี้ได้ หรืออย่างสีม่วงที่เป็นสีประจำตัวของศิลปินในตำนานอย่าง Prince ก็เป็นสีที่นักร้องหรือผู้ประกอบการธุรกิจทางดนตรีอื่น ๆ จะไม่สามารถนำไปจดทะเบียนเป็นของตัวเองได้ โดยในปี 2018 Paisley Park Enterprises ที่เป็นบริษัทผู้ดูแลผลงานของ Prince ได้ร่วมมือกับ Pantone ในการคิดสีม่วงที่มีชื่อว่า Love Symbol #2 ขึ้นมาสำหรับเป็นสีม่วงประจำตัว Prince อย่างเป็นทางการ

แล้วเราจะอ้างสิทธิ์ในการใช้สีใด ๆ แต่เพียงผู้เดียวได้อย่างไร? ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการจดทะเบียนสีประจำแบรนด์อยู่ โดยสิ่งที่แบรนด์ต้องทำก็คือ 1) พิสูจน์ให้ได้ว่าสีนั้น ๆ มี ‘ความหมายรอง’ (secondary meaning) หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นสีที่แยกแบรนด์ของเราออกจากคู่แข่งอย่างชัดเจน เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปว่าสีนี้คือแบรนด์ของเรา หรือถ้าคนทั่วไปเห็นสีนี้ จะสามารถเชื่อมโยงถึงแบรนด์ของเราได้ทันที 2) ต้องไม่ส่งผลกระทบหรือขัดผลประโยชน์ของคู่แข่ง เช่น ทำให้ต้นทุนการผลิตของคู่แข่งสูงขึ้น วัตถุดิบขาดแคลน หรือทำให้ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ และ 3) สีสีนั้นต้องไม่ส่งผลในด้านฟังก์ชันการใช้งาน คือต้องใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น

ว่าแล้วก็ไปสำรวจกันว่าสีที่มีเจ้าของแล้ว (โดยผ่านการจดเครื่องหมายการค้า) มีสีอะไรบ้าง?

International Klein Blue

ในฤดูร้อนปี 1947 อีฟว์ แกล็ง วัย 19 ปี นั่งทอดสายตาไปยังท้องมหาสมุทรกว้างไกลกับเพื่อนอีกสองคนคือ คล็อด ปาสคาล (ซึ่งต่อมาจะเป็นกวีชื่อดัง) และ อาร์เม็ด เฟอร์นานเดซ (ต่อมาจะกลายเป็นศิลปินชื่อดัง) ทั้งสามคุยกันเล่น ๆ ว่า หากจะแบ่งโลกทั้งใบเพื่อเราสามคน จะแบ่งกันอย่างไรดี? บทสนทนาในวันนั้นจบลงที่ข้อสรุปว่า เฟอร์นานเดซจะเป็นผู้ครอบครองผืนแผ่นดิน, ปาสคาลขอครอบครองอากาศ ส่วนแกล็งขอครอบครองผืนฟ้า

ในกาลต่อมา แกล็งก็ได้เป็นผู้ครอบครองผืนฟ้าในแบบของเขาเอง ด้วยการมุ่งสร้างผลงานศิลปะที่ใช้สีน้ำเงินเป็นหลัก และก้าวไปอีกขั้นด้วยการประดิษฐ์สีน้ำเงินของตัวเอง ซึ่งเป็นสีอัลตรามารีนหรือสีน้ำเงินแท้ในแบบที่สะท้อนแสงน้อยลง มีความแมตมากขึ้น และได้ตั้งชื่อให้สีนี้อย่างเป็นทางการว่า International Klein Blue หรือ IKB

Vantablack

ในปี 2014 บริษัท Surrey NanoSystems ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ได้ทำการซุ่มพัฒนา Vantablack พิกเมนต์สีดำที่มีคุณสมบัติในการดูดแสงที่อยู่รอบตัวมันได้ถึง 99.965% และมีค่าความสะท้อนต่ำกว่า 1.5% ทำให้มันเป็นพิกเมนต์สีดำที่ ‘ดำสนิทที่สุดในโลก’ ขนาดที่ว่ามันสามารถดูดแสงที่อยู่รอบตัวเองเข้าไปได้

แม้ว่าสีดำสนิทนี้จะถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในประโยชน์ทางด้านวิศวกรรม แต่เมื่อศิลปินผู้คลั่งไคล้ในสีสันอย่าง อานิช กาปูร์ ได้ยินข่าว เขาจึงไม่รอช้า รีบกระโจนเข้าไปขอมีส่วนร่วมในการพัฒนาพิกเมนต์สีดำที่สุดในโลกนี้ ซึ่งบริษัทผู้พัฒนาก็ยิ่งกว่ายินดีที่ได้ผู้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับสีมาช่วยพัฒนาให้ผลงานสำเร็จ

ท้ายที่สุด ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนา กาปูร์ก็ได้ทำการตกลงกับบริษัทในการครอบครองสิทธิ์ในการใช้พิกเมนต์สีดำสนิทนี้ในงานศิลปะ จนทำให้เขาเป็นศิลปินเพียงคนเดียวที่จะสามารถใช้สีดำนี้ได้ (แต่ในแวดวงอื่น เช่น วิศวกรรม หรืออวกาศ ก็ยังใช้ได้อยู่) หนึ่งในผลงานเลื่องชื่อที่กาปูร์นำสีดำนี้ไปใช้ก็คือ Descent Into Limbo (1992) ผลงานศิลปะจัดวางที่เกิดจากการขุดหลุมกลางพื้นที่แกลเลอรี แล้วใช้สีดำนี้ทาลงไปในหลุม จนเกิดเป็นภาพลวงตาของหลุมลึกไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสร้างประสบการณ์รับรู้ด้านพื้นที่แบบใหม่ให้กับผู้ชม

Stuart Semple’s Pink

ต่อเนื่องจากเรื่องดราม่าสีดำในโลกศิลปะ (แต่แสนบันเทิงสำหรับผู้ชมอย่างเรา) การประกาศตัวเป็นผู้ครอบครองพิกเมนต์สีดำสนิท Vantablack แต่เพียงผู้เดียว ก็ได้นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจต่อการผูกขาดของกาปูร์ หนึ่งในนั้นก็คือ สจ๊วร์จ เซมเพิล ที่ในเวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นศิลปินหนุ่มหัวร้อนที่ทำงานสะท้อนการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยม และเป็นปากเป็นเสียงให้คนรุ่นใหม่หัวใจประชาธิปไตย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่เซมเพิลจะเป็นตัวแทนศิลปินที่ลุกขึ้นมาฉะกับตัวพ่ออย่างกาปูร์

เซมเพิลเก็บความแค้นสุมใจไปซุ่มพัฒนาและคิดค้นพิกเมนต์สีชมพูสุดจี๊ดกระแทกตาหาใครเปรียบ  ซึ่งความมันของดราม่านี้ก็คือการที่เซมเพิลประกาศว่า ไม่ว่าใครก๋สามารถนำสีที่เขาคิดค้นขึ้นมาไปใช้ได้… ยกเว้นมนุษย์คนเดียวในโลกที่ชื่อว่า อนิช กาปูร์ เท่านั้นที่ไม่มีสิทธิ์ใช้สีของเขา! ซึ่งในการจะซื้อสีชมพูของเซมเพิลไปใช้ ผู้ซื้อจะต้องแสดงลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวว่า “ไม่ใช่อนิช กาปูร์ ไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับอนิช กาปูร์ ไม่ได้ซื้อในนามของอนิช กาปูร์ และต้องมั่นใจว่าสีนี้จะไม่ตกไปอยู่ในมือของอนิช กาปูร์!”

“เราต่างก็เคยมีเพื่อนสมัยอนุบาลที่ไม่ยอมแบ่งสีไม้ให้เราเล่น จนสุดท้ายไอ้เด็กคนนั้นก็กลายเป็นคนไม่มีเพื่อน เอาเลย อนิชจะใช้สีดำแค่คนเดียวก็ทำไป แต่พวกเราที่เหลือจะไปเล่นกับสีรุ้งแทน!” คือคำประกาศอันหาญกล้าของเซมเพิล

แต่ในภายหลัง กาปูร์ก็ได้ออกมาแชร์ภาพผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว เป็นภาพที่เขาโชว์นิ้วกลางที่เปื้อนพิกเมนต์สีชมพูจี๊พของเซมเพิล พร้อมด้วยแคปชัน ‘Up yours #pink.’ หรือ ‘เอาสีชมพูไปยัดก้นซะ’ ซึ่งเซมเพิลก็ได้แต่ออกมาแสดงความเห็นว่า ‘ลุงนี่แก่กะโหลกกะลาเหลือเกิน’

Tiffany Blue

เมื่อเอ่ยชื่อแบรนด์จิลเวลรีในฝันของใครหลาย ๆ คนอย่าง Tiffany & Co. ก็ย่อมต้องนึกถึงสีเขียวไข่กาอันเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ใช่มั้ยล่ะ? ที่จริงแล้วสีเขียวไข่กานี้กลายเป็นสีประจำแบรนด์ที่รู้จักกันในชื่อว่า Tiffany Blue ตั้งแต่ปี 1845 เมื่อผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง ชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี เลือกสีเขียวไข่กานี้เป็นสีหน้าปกแค็ตตาล็อก ‘Blue Book’ ของแบรนด์ โดยเหตุผลที่เลือกสีนี้ก็เพราะว่า นี่คือสีอัญมณีที่เป็นที่นิยมมากในหมู่สาว ๆ ยุคนั้น

สีฟ้าทิฟฟานีไม่เพียงได้รับการจดทะเบียนเป็นสีประจำแบรนด์ Tiffany & Co. แต่มันยังถูกบรรจุอยู่ใน Pantone ด้วยรหัส 1837 ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งแบรนด์นั่นเอง

3M Canary Yellow

แม้กระทั่งสีเหลืองของโพสต์อิทยี่ห้อ 3M ที่เราใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็ถูกจดทะเบียนเป็นสีประจำแบรนด์ที่มีแต่ 3M เท่านั้นที่สามารถนำไปใช้เป็นสีสำหรับโพสต์อิทได้ (แม้ว่าปัจจุบันเราจะเห็นโพสต์อิสสีเหลืองอยู่ทั่วไป ไม่เฉพาะแค่ของ 3M ก็ตาม)

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ 3M เลือกสีเหลืองเฉดนี้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่เพราะในตอนที่พวกเขาคิดค้นกระดาษโน้ตติดหนึบนี้ กระดาษเหลือใช้ใกล้ตัวที่พวกเขาหยิบมาใช้ได้มีแต่สีเหลืองก็เท่านั้นเอง

Fiskars Orange 

รู้หมือไร่ว่า กรรไกรสีส้มที่มีทุกบ้านที่เราเห็นกันจนชินตานั้น ก็ถูกจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เป็นสีเฉพาะของกรรไกรจากแบรนด์ Fiskars เท่านั้น! โดยที่มาที่ไปของกรรไกรสีส้มนี้ก็เริ่มมาตั้งแต่ยุค 1960s เมื่อ โอลอฟ แบ็กสตรอม ดีไซเนอร์ชาวฟินแลนด์ได้รับมอบหมายจากแบรนด์ของใช้ในบ้านสัญชาติฟินนิชอย่าง Fiskars ให้มาออกแบบกรรไกรที่มีด้ามจับทำจากพลาสติกอันแรกของโลก ซึ่งตอนแรกทางแบรนด์ก็ตั้งใจจะใช้ด้ามจับสีดำนั่นแหละ แต่เพราะตอนนั้นทางแบรนด์ดันมีพลาสติกสีส้มที่เหลือใช้จากไลน์การผลิตเครื่องคั้นน้ำส้มแบบล้นคลัง พลาสติกสีส้มจึงถูกนำมาใช้แทน จนกลายเป็นกรรไกรสีส้มที่เราคุ้นตากันนั่นเอง

อ้างอิง

Sewellnylaw

Thehustle