Dubai Expo 2020 ส่องสถาปัตยกรรมสุดปัง ในมหกรรมงานออกแบบระดับโลก

Post on 24 January

กลับมาอีกครั้งกับ “World Expo 2020” มหกรรมระดับโลกอันเลื่องชื่อที่หลาย ๆ คนตั้งตารอคอยยลโฉมงานออกแบบจากนานาประเทศ ซึ่งขนเอาเอกลักษณ์และนวัตกรรมสุดล้ำกันมาอย่างจัดเต็ม แม้ว่ามหกรรมครั้งสำคัญนี้ จะเลื่อนออกมาเนื่องจากสถานการณ์อันยากลำบากที่ทั้งโลกต้องเผชิญ แต่ในที่สุด เจ้าภาพอย่าง ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ได้เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่พร้อมกับธีม ‘การเชื่อมโยงจิตใจผู้คน และการสร้างอนาคตอันยั่งยืน’ เพื่อสร้างความหวังและความรู้สึกที่ดีให้ผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง !

ขึ้นชื่อว่ามหกรรมระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ไม่เป็นสองรองใครแบบนี้ ประเทศผู้เข้าร่วม จึงได้ขนเอากลเม็ดเด็ด มาดึงดูดนักท่องเที่ยวกันชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร เกิดเป็นการประชันกันของอาคารสถาปัตยกรรมที่สวยงาม แถมยังดึงเอาความโดดเด่นป็นที่หนึ่งของประเทศนั้น ๆ มาประยุกต์ใช้อย่างครบถ้วน สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดอันแปลกใหม่ ที่สามารถบอกเราได้ถึงภาพรวมของระบบเศรฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักท่องเที่ยวที่มองจากภายนอก จนอยากจะจองตั๋วไปเยือนกันให้ได้สักครั้งเลยทีเดียว จะมีอาคารไหนน่าสนใจบ้าง วันนี้ GroundControl รวมเอาแนวคิดและรูปแบบการสร้างมาไว้ให้ชมกันแล้ว !

Dubai Expo 2020 มีกำหนดการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2021 - 31 มีนาคม 2022 สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

UAE Pavilion

จิตวิญญาณของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บนปีกเหยี่ยว

ปีกเหยี่ยวสีขาวกว่า 28 ข้าง ซึ่งออกแบบโดย Santiago Calatrava สถาปนิกชาวสเปน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจิตวิญญาณของชาวอาหรับในฐานะเจ้าภาพมหกรรม Dubai Expo 2020 ที่คอยต้อนรับผู้มาเยือนอย่างสง่างาม ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าภาพในงานสำคัญแบบนี้ แน่นอนว่าอาหรับเอมิเรตส์ ต้องขนเอาเอกลักษณ์ของตัวเองมาใส่อย่างจัดหนักจัดเต็ม ดังนั้น อาคาร 4 ชั้น จึงถูกออกแบบมาเพื่อตอบรับกับลักษณะของเหยี่ยวที่บินโฉบเฉี่ยวอยู่บนท้องฟ้า โดยจุดเด่นของอาคารอยู่ตรงที่หลังคาคล้ายปีกเหยี่ยว (ทำจากวัตถุดิบท้องถิ่น) ซึ่งสามารถกางเปิด-ปิดได้

สถาปัตยกรรมในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้สำรวจประวัติศาสตร์ตั้งแต่แรกเริ่มของประเทศ ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ซึมซับวิสัยทัศน์ในอนาคตที่ไร้ขอบเขตของอาหรับเอมิเรตส์ และเพื่อให้สอดคล้องกับธีม ‘ความยั่งยืน’ อาคารหลังนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน แม้ว่ามองภายนอก UAE Pavilion จะดูก้าวล้ำนำเทรนด์ แต่ภูมิทัศน์โดยรอบ กลับมีการปลูกพืชมากกว่า 5,600 ชนิด เลยทีเดียว !

Swiss Pavilion

ความหมายอยู่ในภาพสะท้อน

ภาพสะท้อนของสวิตเซอร์แลนด์ ภาพสะท้อนของพรมแดน และภาพสะท้อนของผู้มาเยือน

นี่คือคำพูดที่ OOS สตูดิโอผู้ออกแบบ Swiss Pavilion บอกเล่าถึงแนวคิดในการสร้างอาคารทรงลูกบาศก์ที่เรียบง่าย แต่โดดเด่นสะดุดตาด้วยกระจกเงารอบด้าน ภาพสะท้อนบนตัวอาคารแห่งนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสกันและกันในหลากหลายมิติ สอดคล้องกับธีมงานที่ว่าด้วย ‘การเชื่อมโยงจิตใจ และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน’ สถาปัตยกรรมของสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับการออกแบบเพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าชม หันกลับมามองตนเองและสิ่งรอบตัว เช่นเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์ ที่ใส่ใจต่อชีวิตผู้คนและความงดงามของธรรมชาติ

นอกจากนี้ ตัวอาคารกระจก ยังทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนความงามของภูมิทัศน์ในอาหรับเอมิเรตส์ โดยการออกแบบเหลี่ยมมุมตอบรับกับทิศทางที่อาทิตย์ขึ้นและตก ซึ่งเชื่อมโยงถึงภาพทิวทัศน์ที่สามารถมองได้แบบพาโนรามาในสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง

Japan Pavilion

รูปทรงเรขาคณิตจากการพับกระดาษ Origami

สำหรับ Dubai Expo 2020 ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นเจ้าภาพ World Expo ที่โอซาก้า ปี 2025 ได้ออกแบบตัวอาคารด้วยแนวคิด ‘Where Ideas Meet’ หรือ ‘ที่ซึ่งแรงบันดาลใจไหลมารวมกัน’ โดยใช้โครงข่ายทางเรขาคณิตเป็นจุดเชื่อมโยงเรื่องราว Yuko Nagayama และ Associates ผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้ เปิดเผยว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบทั่วไปที่พบได้ทั้งในญี่ปุ่นและอาหรับ แสดงให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นและตะวันออกกลาง ที่หากมองเพียงผิวเผินอาจดูห่างไกลกันลิบลับ

ตัวสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น เป็นเหมือนกับการตั้งคำถามว่า “แนวคิดอันแปลกใหม่และความหลากหลาย จะนำพาเราไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไรบ้าง” โดยนึกย้อนกลับไปถึงไอเดียตั้งต้นจากสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย อย่างการพับกระดาษ Origami จนเกิดเป็นภาพตัวอาคารที่เน้นให้เห็นถึงรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งเป็นรูปแบบคลาสสิคที่นำไปต่อยอดเป็นสิ่งต่าง ๆ มากมาย

ในอีกแง่หนึ่ง รูปทรงง่าย ๆ นี้ ยังสามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น การสำรวจจุดร่วมทางวัฒนธรรม จึงเกิดขึ้นจากการกลับไปหารากเหง้าของสิ่งต่าง ๆ เกิดเป็นอาคารโคร่งข่าย 3 มิติ ที่ผสมผสานอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน อีกทั้งตัวอาคารยังถูกออกแบบภายใต้กรอบความคิดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการเลือกสรรวัสดุในการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและผู้เยี่ยมชมงาน

UK Pavilion

สหราชอาณาจักร ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

อาคารทรงกรวยที่ตัดด้านหน้าเป็นภาพวงกลมสองมิติ เปิดพื้นที่ให้ผู้มาเยือนได้พิมพ์ทักทายกันผ่านบอร์ดตัวอักษร เป็นผลงานของ Es Devlin นักออกแบบชาวอังกฤษ ที่ต้องการสร้างเครื่องดนตรีขนาดยักษ์ซึ่งทำจากไม้ เพื่อเป็นตัวแทนพื้นที่ให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ผ่านคำสั้น ๆ บนแผง LED อันโดดเด่น ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา ราวกับตัวอาคารทำหน้าที่เป็นผู้เรียงร้อยบทกวีจากผู้คนที่แตกต่างกัน ตอบรับกับธีมความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ทางสหราชอาณาจักรต้องการจะสื่อถึงในงานครั้งนี้

สถาปัตยกรรมแห่งนี้ เป็นเหมือนการแสดงออกถึงอุดมคติของชาวสหราชอาณาจักร ดังนั้น Devlin จึงเน้นการออกแบบอาคารครั้งนี้โดยใช้อัลกอริธึมที่ผสานเอาวัฒนธรรม โลกยุคโลกาภิวัตน์ พฤติกรรมของผู้คนในทุกวันนี้ และภาพแทนจากอนาคต มาหลอมรวมไว้ในที่เดียว เกิดเป็นผลงานอันโดดเด่นที่ดึงดูดผู้พบเห็น จนกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล !

Saudi Arabia Pavilion

ขีดจำกัดคือเส้นขอบฟ้า

อาคารรูปทรงคล้ายกับหน้าต่างบานใหญ่ที่เปิดขึ้นจากพื้นดินทะยานสู่ท้องฟ้า ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของงาน ได้รับการออกแบบโดย Boris Micka Associates ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ขีดจำกัดคือเส้นขอบฟ้า’ โดดเด่นเป็นตัวแทนของการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ สะท้อนถึงมรดกอันมั่งคั่งที่อยู่มาอย่างยาวนาน และพร้อมจะขับเคลื่อนไปสู่วันข้างหน้าอย่างไม่มีขีดจำกัด

ภาพลักษณ์อันเต็มไปด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย ทำให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงของซาอุดิอาระเบีย ที่กำลังจะก้าวไปสู่สังคมแห่งความสมดุล เพรียบพร้อมด้วยทรัพยากรอันล้ำค่า ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ พลังงานเชื้อเพลิง และความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองในอนาคต นอกจากนี้ อาคารอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์นี้ ยังทำหน้าที่เสมือนตัวแทนของซาอุดิอาระเบียที่สร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกด้วยเช่นกัน

Netherlands Pavilion / Dutch Biotope

ความหวังกลางความแห้งแล้ง

ขึ้นชื่อว่าเนเธอร์แลนด์ ภาพที่หลายคนเห็นตรงกันคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากกังหันลมท่ามกลางทุ่งดอกทิวลิป สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของผู้คนโดยตรง ซึ่งนอกจากกังหันที่เราคุ้นตากันแล้ว เนเธอร์แลนด์ ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก นำมาสู่การออกแบบอาคารจัดแสดงในงาน Dubai Expo 2020 ที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในทุกตารางนิ้ว

อาคาร Dutch Biotope ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด ‘Leave No Trace’ หรือการไม่ทิ้งร่องรอยไว้ คือความพยายามของสตูดิโอ V8 ผู้ออกแบบ ที่ต้องการสร้างสรรค์อาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริง ดังนั้น ทุกส่วนประกอบในอาคารหลังนี้ จึงได้รับการคิดค้นอย่างพิถีพิถันเพื่อให้แน่ใจว่าทุกส่วนประกอบจะสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิม นำกลับมาใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ตอบรับกับจุดมุ่งหมายของเนเธอร์แลนด์ ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยือนได้หันกลับมาตระหนักถึงธรรมชาติ เพราะเมื่อสมดุลทางธรรมชาติเกิดขึ้น ผู้คนอย่างเราก็จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามไปด้วย

ด้วยความคิดตั้งต้นที่ว่า Dubai Expo 2020 เป็นงานจัดแสดงชั่วคราว เนเธอร์แลนด์จึงออกแบบอาคารด้วยแนวคิดที่ลึกซึ้งลงไปอีกหนึ่งขั้นด้วยการออกแบบอาคารที่มีหอคอยทรงกรวยอยู่กึ่งกลาง ความพิเศษก็คือ หอคอยแห่งนี้ได้กลายมาเป็นสวนขนาดย่อมที่สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์ได้จริง โดยน้ำที่นำมาหล่อเลี้ยงพืชในตัวอาคาร เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการสกัดน้ำจากอากาศ ที่มาพร้อมกับระบบการกักเก็บน้ำจากพลังงานโซลาร์เซลล์ นอกจากนี้ ระบบน้ำเย็นภายในกรวย ยังทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเห็ดร่วมกับแสงที่ส่องผ่านแผงโซลาร์เซลล์โปร่งแสง สีสันสดใส ช่วยให้พืชสามารถเจริญงอกงามและสังเคราะห์แสงได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น ในทุกดีเทลของการออกแบบ เกิดขึ้นโดยใช้วัสดุชีวภาพที่สามารถกลับคืนสู่ผืนดินได้ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหลังคาที่ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ แถมยังสามารถกรองรังสียูวีซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้, ม่านแบ่งโซนจัดแสดงที่ทำจากไบโอโพลีเมอร์ (ข้าวโพด) หรือ พื้น ผนังที่ทำจากวัสดุจากเส้นใยของเห็ด นอกจากนี้ ตัวอาคารสี่เหลี่ยมที่ครอบคลุมพื้นที่จัดแสดง Netherlands Pavilion ยังสร้างขึ้นด้วยเสาเข็มเหล็กจากท้องถิ่นของอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเมื่อจบงานครั้งนี้ เหล็กทั้งหมดจะถูกส่งคืนให้ผู้รับเหมาเพื่อนำไปต่อยอดเป็นงานชิ้นอื่นต่อไป ส่ิงนี้แสดงให้เห็นว่า แม้งาน Expo จะเป็นเหมือนการแสดงอัตลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ แต่ก็ใช่ว่าวัตถุดิบในการก่อสร้างต้องเป็นสินค้านำเข้า เนเธอร์แลนด์ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนบางสิ่ง ขณะยังคงแนวคิดที่เป็นตัวของตัวเอง จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าทึ่งและมีคุณค่าต่อโลกใบนี้

Singapore Pavilion

โอเอซิสกลางทะเลทรายในดูไบ

เมื่อพูดถึงสิงคโปร์ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน หนึ่งสิ่งที่มักจะผุดขึ้นมาเสมอคือการออกแบบเมืองที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม อาจเป็นเพราะว่าตัวสิงคโปร์ เป็นประเทศที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้น การสร้างสมดุลระหว่างผู้คนและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหนึ่งสิ่งที่เราจะเห็นได้บ่อยครั้งจากสถาปัตยกรรมในสิงคโปร์

สำหรับ Dubai Expo 2020 นี้ สิงคโปร์ยังคงยึดเอาแนวคิดหลักในการออกแบบสวนสามมิติสำหรับผู้คนทุกเพศทุกวัย ตอบรับกับแนวคิดด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และอนาคตที่ยั่งยืน ผ่าน ‘โอเอซิสกลางทะเลทราย’ ให้ผู้ชมได้หลีกหนีจากความคึกคักภายในงาน มาสัมผัสกับความสงบเงียบของธรรมชาติ Phua Hong Wei ผู้อำนวยการของสตูดิโอ WOHA ออกแบบ Singapore Pavilion ในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ตัวอาคารแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของสิงคโปร์ในการออกแบบเมืองท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย ซึ่งตอกย้ำถึงวิธีคิดของสิงคโปร์ ที่ต้องการจะสร้างอนาคตจากการหล่อเลี้ยงโดยธรรมชาติ นอกจากนี้ Singapore Pavilion ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถของสถาปนิกและนักออกแบบที่คิดการใหญ่ภายใต้พื้นที่เล็ก ๆ โดยเน้นไปที่การจัดการปัญหาสำคัญระดับโลกอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตของคนรุ่นหลัง

ไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์ของอาคารที่ดูเขียวชะอุ่มสะดุดตาเท่านั้น แต่สิงคโปร์ยังไปไกลถึงขั้นออกแบบวิธีการหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ในงาน โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน อาคารที่ทุกคนเห็นอยู่นี้ จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งไฟฟ้าและน้ำปะปาแม้แต่น้อย เพราะหลังคาของอาคาร มุงด้วยโซลาร์เซลล์กว่า 517 แผง แถมยังมีการใช้ระบบกลั่นน้ำทะเลหมุนเวียนมาใช้ในตัวอาคาร เพื่อคงความชุ่มชื่นให้กับต้นไม้ใบหญ้า

ไม่ว่าจะเป็นทางเดิน หรือจุดพักผ่อนสำหรับผู้เข้าชมงาน ทุกส่วนในอาคารต่างถูกออกแบบมาเพื่อให้สะดวกต่อสิ่งแวดล้อม แม้แต่ช่องว่างระหว่างชั้นเอง ก็ยังทำหน้าที่เป็นระบบระบายอากาศตามธรรมชาติ และช่องแสงสำหรับต้นไม้ ราวกับตัวอาคารสามารถสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเอง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของดูไบที่ไม่ต่างจากสิงคโปร์ การอยู่ร่วมกันของอาคารและธรรมชาติ จึงทำให้เกิดสภาพแวดล้อมอันยั่งยืน ที่ดึงดูดผู้ชมได้เป็นจำนวนมาก

Morocco Pavilion

ความทันสมัยที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน

‘โมร็อกโก’ ประเทศในฝันของใครหลายคน ที่งดงามด้วยอาคารบ้านเรือนซึ่งสร้างขึ้นจากดิน กลายมาเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับ Dubai Expo 2020 ในงานครั้งนี้ สถาปนิกจาก OUALALOU+CHOI ได้รวบรวมความร่วมสมัยอย่างทรงอาคารสี่เหลี่ยม มาไว้คู่กับเทคนิคการสร้างบ้านดินแบบดั้งเดิม ที่เน้นการจัดการพื้นที่ใช้สอยอย่างคุ้มค่า ภายใต้ข้อจำกัดทางวัสดุ เกิดเป็นความสดใหม่ที่ยังคงกลิ่นอายของโมร็อกโกไว้ได้อย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมของโมร็อกโก ยังแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงนวัตกรรมใหม่ ๆ เท่านั้นที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้ บ้านแบบดั้งเดิมซึ่งทำจากวัสดุธรรมชาติเช่นดิน ยังช่วยควบคุมสภาพอากาศให้คงความเย็นสบายแม้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ร้อนและแห้งแล้งด้วยเช่นกัน

Dubai Expo Sustainability Pavilion

ต้นไม้ยักษ์แห่งความยั่งยืน

‘Terra’ หรือ Dubai Expo Sustainability Pavilion อาคารที่ตั้งอยู่ด้านทางเข้าหลักของ Dubai Expo 2020 ได้รับการออกแบบโดย Grimshaw สตูดิโอออกแบบชื่อดังของอังกฤษ ภายใต้โจทย์ ‘สัญลักษณ์แห่งความยั่งยืน’ ที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการกว่า 6,000 ตารางเมตร ถูกปกคลุมด้วยหลังคาที่มีรูปทรงคล้ายกับต้นไม้ ซึ่งทำจากเหล็กรีไซเคิลที่รองรับแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 1,055 แผง เพื่อต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความเป็นมิตร สร้างความสบายใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เยี่ยมชมได้ไม่รู้ลืม

ตัวกิ่งก้านของต้นไม้ที่ถูกออกแบบให้เป็นรูปทรงคล้ายวงรี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกระบวนการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์โดยธรรมชาติ เช่น การสังเคราะห์แสง การหล่อเลี้ยงสารอาหาร เห็นได้จากรูปทรงอาคารที่เหมือนกับการกระเทาะเปลือกไม้ออกมาดูโครงร่างและพื้นผิวภายใน ไม่ใช่แค่เพียงรูปแบบภายนอกเท่านั้นที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แต่ระบบของอาคาร ยังเป็นไปเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหลังคาที่สามารถกักเก็บน้ำฝนและน้ำค้างไว้ใช้ได้ การรักษาความชื้นในอากาศด้วยระบบหมุนเวียนน้ำจืดที่มีความสามารถในการรีไซเคิลน้ำ รวมถึงมีการดึงเอาพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลมาใช้ในตัวอาคาร Grimshaw อธิบายเพิ่มเติมว่า กุญแจสำคัญในการออกแบบอาคารแห่งนี้ คือการพัฒนาหลักการทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ เพื่อออกแบบตัวอาคารที่สามารถสร้างพลังบวกกลับไปให้ผู้มาเยือนได้นั่นเอง

Thailand Pavilion

การอนุรักษ์ความเป็นไทยอย่างยั่งยืน

ศาลาทรงไทยกับแนวคิด ‘Mobility for the Future’ หรือ ‘การขับเคลื่อนสู่อนาคต’ โดดเด่นด้วยซุ้มประตูหน้าจั่วสีทองท่ามกลางอาคารสีขาวฉลุลายไทย สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่ยืนอยู่เหนือกาลเวลา

อ้างอิง : dezeen.com, Morocco Pavilion Expo 2020 Dubai / OUALALOU+CHOI, Details of Japan Pavilion exhibits announced one month ahead of Expo 2020 Dubai Inspiring action to pave the way to Expo 2025, Osaka, Kansai, Japan, Saudi Arabia’s Expo 2020 Pavilion Looks Like Something Out of The Future