สำรวจบุปผาภาษาดอกไม้ ที่ซ่อนนัยแห่งคติธรรมไทยและตำนานของ Donruedi​ Bunkaeo

Post on 17 August

‘ภาษาดอกไม้’ เป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยวิคตอเรียของอังกฤษ ยุคที่ผู้คนยังต้องสงวนกิริยาท่าทางและความคิดให้เป็นไปตามขนบ จนต้องใช้ดอกไม้มาเป็นเครื่องมือสื่อความนัยกันอย่างจริงจัง และถึงแม้ว่าจะผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว ศาสตร์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการตีความภาษาดอกไม้ก็ยังไม่จางหายไป แถมยังแพร่กระจายไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งหนึ่งในศิลปินที่นำมนต์เสน่ห์ของการพูดจาภาษาดอกไม้ มาแปรเปลี่ยนเป็นงานศิลปะสุดน่าค้นหาได้อย่างลงตัว ก็คือ เย่ — ดลฤดี บุญแก้ว ศิลปินอิสระ ฟรีแลนซ์ และอาจารย์พิเศษประจำมหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้หลงใหลในลวดลายไทย ดอกไม้ และสีฝุ่น แถมยังรักการนำเอาองค์ประกอบเหล่านี้มาผูกเข้ากับคติธรรมในศาสนาพุทธและตำนานต่าง ๆ อีกมากมาย ทำให้งานของเธอเป็นทั้งงานศิลปะที่เต็มไปด้วยปริศนาอันน่าสนใจและภาพวาดที่ชวนสบายใจยามจ้องมอง

ดลฤดีได้บอกกับเราถึงที่มาในการสร้างผลงานเหล่านี้ว่า “ต้องเล่าย้อนไปในช่วงที่เรากำลังเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ตอนปริญญาตรีเลย ตอนนั้นเราได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงธรรมชาติเยอะมาก ก็เลยชอบสร้างจิตรกรรมนามธรรม คล้ายลวดลายและแพทเทิร์นจากดอกไม้ และใช้สีที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น ดิน หิน กระดูกสัตว์”

“จนกระทั่งสมัยปริญญาโท เราก็เริ่มสร้างงานแนวใหม่ด้วยการนำภาวะทางใจมาใช้เป็นสื่อหลัก เพื่อสร้างงานศิลปะบำบัดขึ้น แต่เราก็ยังรักษาเนื้อหาที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ควบคู่กับศึกษาการทำสีเอาไว้ด้วย และยังเริ่มนำความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทำสีฝุ่นไทยซึ่งเป็นเทคนิคโบราณมาใช้กับงานของตัวเอง”

“จุดเปลี่ยนจริง ๆ ที่เทำให้เราหาสไตล์ของตัวเองเจอ คือช่วงที่ได้ไปเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เป็นเวลาเกือบสองปี (ตรงกับช่วงโควิด-19 ระบาด) ช่วงนั้นเราเลยได้กลับไปสนใจงานรูปแบบจิตรกรรมไทยประเพณีอีกครั้ง และเพราะงานนี้แหละที่ทำให้เราได้อ่านภาพงานโบราณ พร้อมกับหาข้อมูลทำงานจากที่นั่นด้วย”

“บวกกับเหล่าอาจารย์ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคนที่เราทำงานด้วย เขามีประสบการณ์กันหมด และยังมีรางวัลในสายงานจิตรกรรมไทยประเพณีกันเพียบ พวกเขาก็เลยคอยสอนงานเราอย่างดี จนเราอยากทำความเข้าใจงานประเภทนี้ให้มากขึ้น” ศิลปินอธิบายถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอเริ่มคลุกคลีกับเรื่องไทย ๆ มากขึ้น

“สำหรับสีฝุ่นที่เราใช้ เราจะสกัดมาจากธรรมชาติ และมีการเตรียมพื้นด้วยกาวดินสอพอง ซึ่งเป็นเทคนิคของช่างทำสีในสมัยโบราณ การที่เรานำองค์ความรู้ภูมิปัญญาของครูช่างมาใช้ในงานสร้างสรรค์ของตัวเองนอกจากเพื่ออนุรักษ์องค์ความรู้นี้ไว้ในเชิงคุณค่าทางภูมิปัญญา ยังส่งผลต่อคุณค่าทางความรู้สึกมากกว่าด้วย รวมถึงผลลัพธ์ทางสายตา เพราะแต่ละสีจะมีลักษณะและผลึกที่แตกต่างกัน แถมเวลาโดนแสงมันยังสวยมาก ๆ ด้วย รู้ตัวอีกทีเราก็ใช้เวลาทำงานเกี่ยวกับเทคนิคในด้านนี้มาเกือบแปดปีแล้ว”

ด้วยความที่ดอกไม้สามารถตีความได้อย่างหลากหลาย เมื่อเราทราบจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่ศิลปินเลือกทำงานสไตล์นี้แล้ว เราก็ยังอยากทราบต่อไปอีกว่า ในมุมมองของศิลปิน เธอเลือกใช้ดอกไม้เพื่อสื่อถึงสิ่งใดบ้างในผลงานของเธอ

ดลฤดีก็เลยเล่าให้เราฟังว่า “ในภาพจำส่วนใหญ่ เวลานึกถึงดอกไม้ก็คงจะนึกถึงความสวยงามของรูปทรง สี และกลิ่นของพวกมัน ที่เชื้อเชิญให้เราอยากสัมผัส ดอมดม และครอบครอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมดอกไม้ถึงไม่เคยห่างหายไปจากชีวิตประจำวัน แต่ดอกไม้ดอกเดียวกัน ก็อาจจะให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปเวลาอยู่กับคนอื่นก็ได้นะ เพราะมันสามารถตีความหมายได้หลายอย่างมาก ทั้งจากตัววัฒนธรรม บริบทแวดล้อม และประสบการณ์ของแต่ละคนเอง”

“สำหรับในมุมมองของเรา เราจะเขียนภาพดอกไม้ตามความเชื่อทางศาสนา อิทธิพลจากตำนาน วรรณกรรม และความหมายทั่วไปตามสากลด้วย โดยจะใช้ในเชิงสัญลักษณ์ เช่น คติไตรภูมิ สวรรค์ ตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นไทย เราก็จะเอาโครงย่อยมาจากคติทางพุทธศาสนา”

“หรืออย่างดอกกุหลาบที่ปรากฏในผลงานบางชิ้น เราก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทประพันธ์หลายเรื่อง ทั้งเรื่อง ‘มัทนะพาธา’ ของรัชกาลที่ 6 และ ‘เจ้าชายน้อย’ ที่ล้วนสื่อถึงความทุกข์ที่เกิดจากความรักได้เหมือนกัน” ศิลปินเล่าพลางชี้จุดให้เรามองดอกกุหลาบในภาพหาพาธา ที่เธอวาดเกี่ยวกับมัทนะพาธาเอาไว้

“ยังมีดอกลิลลี่สีดำ ดอกไม้ที่แสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ แต่พอเปลี่ยนเป็นสีขาว มันกลับสื่อถึงความบริสุทธิ์และกลายเป็นดอกไม้ประจำตัวของพระแม่มารีย์ไป รวมถึงดอกพีโอนีหรือโบตั๋น ก็ถือว่าเป็นราชาของดอกไม้ หมายถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย ความซื่อสัตย์ ความมีโชคลาภ เป็นดอกไม้มงคลของประเทศจีน อีกทั้งยังสื่อถึงความสวยงามของผู้หญิงและความรักได้ด้วย”

“ดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่เรามักนำมาใช้บ่อย ๆ ในผลงานของเรา ก็คือดอกไฮเดรนเยีย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเล่นเรา เพราะคำว่า เย่ (ye) มาจากคำท้ายที่เพี้ยนเสียงของชื่อดอกไฮเดรนเยีย ดังนั้นถ้าเห็นดอกไม้ชนิดนี้ปรากฏในงานเมื่อไร ก็แสดงว่าเรากำลังใส่ความปรารถนาของตัวเองเข้าไปในผลงานชิ้นนั้นด้วย ถ้าใครเห็นก็ลองเดาดูได้นะว่าความปรารถนานั้นคืออะไร”

บอกได้เลยว่า นอกเหนือจากความสวยของลวดลายดอกไม้ที่ผสมกับความเป็นไทย การชมงานของดลฤดียังท้าทายให้เราลองแกะรอยความหมายและเรื่องราวในภาพด้วย เหมาะกับคนที่ชอบตีความสัญลักษณ์และไขปริศนาในภาพสุด ๆ

แอบรัก
60 X 80 cm
สีฝุ่นจากธรรมชาติ เทคนิคปิดทองคำเปลว บนพื้นกาวดินสอพอง

ภาพตัวพระนางพลอดรักกันท่ามกลางหมู่ดอกไม้หลากสีต่าง ๆ ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมต้นแบบในฉากตอน ‘เนมีราช’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานเขียนฝีมือของครูทองอยู่ ณ พระอุโบสถวัดสุวรรณารามฝั่งธนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 3 - 4

ภาพคู่พระนางนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานครู ซึ่งได้นำมาดัดแปลงจัดวางและตีความใหม่ ผลงาน ‘แอบรัก’ จึงทำขึ้นมาเพื่อเเสดงพื้นที่แบบสุขนิยมของตัวเอง ความประทับใจของผลงานชิ้นนี้คือการกล้าเลือกใช้องค์ประกอบและสีที่มีความสดต่างจากงานก่อนหน้าที่เคยทำ อีกทั้งความพิเศษของงานชิ้นนี้ยังอยู่ที่สีม่วงอมน้ำเงินที่สกัดได้จากสีแมลงด้วย

ราชินีหน้าฝน
30 X 40 cm
สีฝุ่นจากธรรมชาติ เทคนิคปิดทองคำเปลว บนพื้นกาวดินสอพอง

ดอกไม้ในผลงาน ‘ราชินีหน้าฝน’ ที่เราเลือกนำมาใช้มีชื่อว่า ‘ไฮเดรนเยีย’ ดอกไม้นี้แสดงนัยถึงการ ‘ขอบคุณ’ ใช้แสดงความยินดีในงานแต่งงานของคู่บ่าวสาว เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่กล้าที่จะแสดงออกจึงใช้ดอกไม้ในการสื่อความหมายแทน

การที่เลือกนำดอกไม้ชนิดนี้มาใช้ในผลงาน มาจากเดือนเกิดของเราอยู่ในช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกไม้ชนิดนี้เติบโตได้ดี และทุกครั้งที่อุณหภูมิหรือแร่ธาตุในดินเปลี่ยน สีของพวกมันก็จะเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน ความอ่อนไหวเช่นนี้ เหมือนกับนิสัยส่วนตัวของเรา ในส่วนเทวดาที่ปรากฏอยู่ในภาพ เป็นตัวแทนของแรงปรารถนา ซึ่งมีนัยสื่อถึงเรื่องของความรัก

หาพาธา
15 X 20 cm
สีฝุ่นจากธรรมชาติบนพื้นกาวดินสอพอง

สำหรับผลงานชิ้นนี้ มีชื่อว่า ‘พาธา’ เราได้แรงบันดาลใจมาจากบทประพันธ์ของรัชกาลที่ 6 ในเรื่อง ‘มัทนะพาธา’ เนื้อหาคร่าว ๆ กล่าวถึงความรักที่ไม่สมหวังของนางมัทนา ซึ่งถูกสุเทษณ์เทพบุตรสาปให้กลายเป็นดอกกุหลาบ เพียงเพราะนางไม่รับรักตอบ บทสรุปของบทประพันธ์เรื่องนี้จบลงอย่างแสนเจ็บปวด

สถิต
25 x 40 cm
สีฝุ่นจากธรรมชาติบนพื้นกาวดินสอพอง

ผลงานชิ้นนี้ได้เเรงบันดาลใจมาจากความเชื่อที่ว่าสิ่งต่าง ๆ มีเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ เพราะเราศึกษาเรื่องราวตำนานบ่อย เวลาตัวละครสำคัญตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตหมดหนทาง เทวดาหรือเทพเจ้ามักจะแปลงกายมาอยู่ในรูปของอะไรสักอย่างเพื่อคอยช่วยปกปักคุ้มครองเรา เรื่องราวแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปแม้กระทั่งในชีวิตของเราเอง (เป็นความเชื่อส่วนตัว)

ปกปักรักษา
30 x 40 cm
สีฝุ่นจากธรรมชาติบนพื้นกาวดินสอพอง

ผลงานชิ้นนี้ได้เเรงบันดาลใจมาจากความเชื่อที่ว่าสิ่งต่าง ๆ มีเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ เพราะเราศึกษาเรื่องราวตำนานบ่อย เวลาตัวละครสำคัญตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตหมดหนทาง เทวดาหรือเทพเจ้ามักจะแปลงกายมาอยู่ในรูปของอะไรสักอย่างเพื่อคอยช่วยปกปักคุ้มครองเรา เรื่องราวแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปแม้กระทั่งในชีวิตของเราเอง (เป็นความเชื่อส่วนตัว)

ประจักษ์
75 x 160 cm
สีฝุ่นจากธรรมชาติบนพื้นกาวดินสอพอง

‘ประจักษ์’ เป็นผลงานดอกบัวที่เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานภาพปริศนาธรรมของอาจารย์ขรัวอินโข่ง ศิลปินและช่างเขียนในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 โดยจำลองสถานที่ของธรรมชาติรายล้อมไปด้วยเหล่าผีเสื้อ ดอกไม้ ที่เฝ้ามองความเป็นไปของดอกบัวน้อยใหญ่ ท่ามกลางกระแสน้ำและลมฝน ในทางศาสนาดอกบัวมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า และในคำสอน ดอกบัวยังหมายถึงคน 4 ประเภท ที่สามารถเข้าถึงธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้

ถ้าใครชื่นชอบสไตล์งานของ ดลฤดี บุญแก้ว ก็สามารถตามไปติดตามผลงานอื่น ๆ ของเธอได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/profile.php?id=100051930490937&mibextid=ZbWKwL&_rdc=2&_rdr
Instragram: https://www.instagram.com/donruedi_bunkaeo/