DOW - Department Of Wonder ชุมชนนักสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยความสงสัย

Post on 22 December

ความสงสัยกับความคิดสร้างสรรค์ก็เหมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน อย่างน้อยก็ในความหมายของคำว่า “Wonder” ที่แปลได้ทั้งการสงสัยและความมหัศจรรย์ใจ เหมือนกับสไตล์การทำงานของ DOW-department of wonder การรวมตัวแบบ Creative Collective ของเหล่าคนช่างสงสัยในร่างนักสร้างสรรค์ ที่ไม่ว่าจะกวาดสายตาไปพบอะไรก็เห็นแต่คำถามตามมาเต็มไปหมด

และความสงสัยนี่แหละคือที่มาของโปรเจกต์แสนสะดุดตาอย่างรถเป่าลมสีซิ่ง (?) ในวันสงกรานต์ หรืองาน Lighting Installation ที่เปลี่ยนอาคารเก่าของสถานีหัวลำโพงให้มีสีสันสดใสจนใครเห็นก็ต้องถ่ายมาแชร์กันทั่วทั้งโซเชียลมีเดีย

‘ตั้งคำถามแปลก ๆ คิดวิธีตอบใหม่ ๆ’ อาจเป็นประโยคสั้น ๆ ที่ใช้ในการอธิบายงานของพวกเขา แต่จริง ๆ แล้วในกระบวนการทำงานออกแบบเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตคนเมืองให้ดีขึ้นตามความเชื่อของชาว DOW ยังมีรายละเอียดสนุก ๆ ซ่อนอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เทคนิคนวัตกรรม การทำความเข้าใจทุกองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ลอยอยู่รอบความสงสัยของพวกเขา และที่สำคัญคือการมีเพื่อน ที่พร้อมทำงานไปด้วยกันตามความถนัดของตัวเอง ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เอกชนผู้พัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ด้วยความที่เราเองก็ ‘สงสัย’ ในวิธีการทำงานเบื้องหลังโปรเจกต์สนุก ๆ ของเหล่าครีเอทีฟช่างสงสัยกลุ่มนี้ GroundControl เลยอยากชวนมาดูสไตล์การทำงานของ DOW ผ่านโปรเจกต์เด่น ๆ ของพวกเขากัน

รถสีซิ่ง จากความสงสัยในวันสงกรานต์

นอกจากเสื้อลายดอกและเพลงรีมิกซ์จังหวะชวนโยก อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่งานสงกรานต์ก็คือความปวดหัวในการหารถกลับบ้าน แน่นอนตอนเล่นน้ำเราสาดเต็มที่ เปียกเต็มที่ จะได้สนุกเต็มที่ แต่เชื่อว่าจะนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทย ก็ต้องเคยพบชะตากรรมการยืนโบกแท็กซี่คันแล้วคันเล่าแต่ก็ไม่มีใครรับ เพราะคนขับก็กลัวว่าจะไปทำรถเขาเปียก จะให้ขึ้นรถไฟฟ้าก็หนาวเหลือเกิน ทำได้แต่รอจนกว่าตัวจะแห้ง

DOW เองก็รักความสนุกของเทศกาลนี้ และเกิดข้อข้องใจกับปัญหาที่ว่าเช่นกัน จึงเป็นที่มาของโปรเจกต์การสร้างสรรค์รถเป่าลม ‘DOW DRYING HUB’ ที่พวกเขาทำงานร่วมกับทีม DuckUnit ลงมือประดิษฐ์งานดีไซน์ที่แก้ปัญหาคนเล่นสงกรานต์อย่างตรงจุด นั่นก็คือการผลิตเครื่องเป่าตัวให้แห้ง!

แต่เพราะเจ้ารถคันนี้ไม่ใช่แค่รถเป่าตัว แต่เป็นงานออกแบบที่คิดมาเพื่อเทศกาลสงกรานต์โดยเฉพาะ รถคันนี้จึงมาพร้อมกับเอกลักษณ์ประจำเทศกาลสงกรานต์อย่างครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น แสง สี เสียง เพื่อขอไปร่วมขบวนเฟี้ยวกับรถแห่คันอื่น ๆ ด้วย โดยหากใครเข้าไปดูใกล้ ๆ จะเห็นว่า สีสันรอบคันรถนั้นแท้จริงแล้วมาจากขันตักน้ำหลากสีสัน ซึ่งเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของสงกรานต์

รถเป่าแห้งที่ตอบโจทย์คนลุยสงกรานต์นี้เป็นหนึ่งในงานออกแบบที่น่าสนใจสุด ๆ เพราะสะท้อนสไตล์การทำงานของ DOW ออกมาได้ชัดเจน นั่นก็คือการหาคำตอบใหม่ ๆ มาใช้จัดการกับความสงสัยที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนเมือง

ศิลปะรูปแบบใหม่ กับความสงสัยในอาคารแลนด์มาร์กกรุงเทพฯ

สถานที่เดิม ๆ แม้จะเต็มไปด้วยความทรงจำ แต่ถ้าต้องเห็นกันทุกวัน ก็อาจกลายเป็นความเคยชินจนทำให้มองข้ามความสำคัญของสถานที่นั้น ๆ ไปได้

เช่นที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือ “หัวลำโพง” พื้นที่แห่งการจากลา การตามล่าความฝัน หรืออารมณ์อันหลายหลากที่ฝากมากับการเดินทางตลอดเวลานับร้อยปีที่สถานีนี้เปิดใช้งาน เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา DOW ก็ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) แปลงโฉมสถานีรถไฟเก่าแก่ประจำกรุงเทพฯ เพื่อแนะนำสถานที่คุ้นตาแห่งนี้ให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกันใหม่ โดย DOW และ CEA ได้ชวนเพื่อน ๆ นักทำแสงสีเสียงอย่าง Lighting Designers Thailand และ DecideKit มาตีความอาคารแลนด์มาร์กของเมืองกรุงแห่งนี้ ในโปรเจกต์ ‘UNFOLDING BANGKOK’ โดยมีจุดออกสตาร์ทความสร้างสรรค์เป็นการตั้งข้อสงสัยว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสไตล์ดั้งเดิมของตัวอาคารได้มาเจอกับศิลปะรูปแบบใหม่อย่าง Lighting Installation ศิลปะจากการออกแบบแสงไฟ ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาน่าสนใจสุด ๆ จนทำให้นักเที่ยวสายอาร์ตเดินทางมาร่วมแชร์ความทรงจำกันมากมาย

ศิลปะที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนชีวิตประจำวันของเรา

ในยุคที่ความหมายของศิลปะจะเป็นอะไรก็ได้ ทำไมเรายังต้องเดินทางไปแกลเลอรีหรือเทศกาลงานต่าง ๆ เพื่อจะเสพงานศิลป์กันอีก? สำหรับ DOW ศิลปะและงานสร้างสรรค์ ไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่ยังมีพลังพอจะเปลี่ยนชีวิตประจำวันของเราได้อีกด้วย

ในโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘THE NEW WAVE’ ชาว DOW จึงได้ร่วมกับ SOHO HOUSE คลับเฮ้าส์ระดับโลกของเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์ ตั้งคำถามเพื่อให้ศิลปินรุ่นใหม่มาช่วยกันตอบว่า “How creativity could enhance daily experiences for urban life?” หรือ “ความคิดสร้างสรรค์จะสามารถเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิตประจำวันของคนเมืองได้อย่างไร?” เพื่อเฟ้นหาผลงานจาก 14 ศิลปินที่ทั้งสวยงาม สดใหม่ และใช้งานได้จริง มาจัดแสดงร่วมกันที่ West Eden เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยแบ่งผลงานออกเป็นสามหมวดคือ Furniture & Product Design, Visual Art และ Fashion & Textile Design

เราเองที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ชมที่ได้ไปสำรวจงานศิลปะและงานออกแบบที่สุดจะตื่นตาตื่นใจในการจัดแสดงครั้งนั้น ก็ได้แต่หวังว่าผลงานทั้งหมดจะได้เข้าสู่กระบวนการผลิตมาให้เราได้ใช้จริงสักที ไม่ว่าจะเป็นชุดเดรสสเตทเมนต์แรง ๆ หรือเฟอร์นิเจอร์สำหรับนักดื่ม ที่มีช่องแช่ไวน์แอบซ่อนไว้ในโต๊ะ

เมืองที่ประกอบขึ้นจากภาพ

“ภาพประกอบ” เป็นงานศิลปะที่อาจพูดได้ว่าได้รับความนิยมสุด ๆ และอยู่ใกล้ตัวมาก ๆ ทั้งในหน้าจอมือถือ หรือของใช้ต่าง ๆ แต่หน้าที่ของ “ภาพ” ก็ยังเป็นแค่การ “ประกอบ” ให้สิ่งอื่นมีความหมายสมบูรณ์อยู่ดี ด้วยเหตุนี้ ในงานโชว์เคสที่รวบรวมนักวาดภาพประกอบมาร่วมตัวกันไว้มากที่สุดในประเทศไทยอย่าง Bangkok Illustration Fair (BKKIF) ทีม DOW จึงได้ชวนนักวาดมาสลับบทบาท เป็นตัวเอกผู้ประกอบร่างสร้างสิ่งอื่นแทน กับเวิร์กชอปในธีม “ภาพ-ประกอบ-เมือง” ที่พวกเขาคัดเลือกนักวาดมาแรง จำนวน 10 คนมาร่วมแลกเปลี่ยนและทดลองทางความสร้างสรรค์ร่วมกับ Practical School of Design ที่นำโดย อ.ติ๊ก – สันติ ลอรัชวี กราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดังที่ฝีมือเป็นที่ยอมรับ

ซึ่งผลลัพธ์ที่ถูกนำจัดแสดงใน BKKIF 2023 ปีนี้ต้องบอกเลยว่าน่าสนใจทุกงาน เช่นผลงานของ Buddhaandz ที่นำคอนเซปต์ “บัตรทำบุญ” มาเล่นกับพฤติกรรมความปรารถนาของคนเมือง หรืองานของ PHAYANCHANA ที่เล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างสายลมและแสงแดด ที่เหมือนจะมองไม่เห็น แต่ก็ส่งผลกับคนและเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ รวมถึงผลงานอีกมากที่ขยับความหมายของคำว่าภาพประกอบให้ไปไกลกว่าภาพสองมิติแล้ว แต่มาอยู่ในชีวิตของเราด้วย

ความสงสัยที่จะไม่มีวันจบ?

สังเกตดูจากโปรเจกต์ที่ผ่านมาของ DOW เราเห็นวิธีการตั้งคำถามของพวกเขาว่าจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มาจากอะไรยาก ๆ เลย แต่เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ในชีวิตประจำวันของคนเมืองที่เราเจอกันอยู่แล้ว แต่อาจจะเคยชินหรือมองข้ามไป ทั้ง ๆ ที่ความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยก็อาจเปลี่ยนตัวตนเราไปเลยก็ได้ เราเลยเชื่อว่า DOW คงยังมีความสงสัยอีกมากเก็บเอาไว้รอนำมาสร้างสรรค์ต่อไป แต่อีกเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์มาก ๆ ในสไตล์การทำงานของพวกเขาคือการเป็นคนเพื่อนเยอะ ชวนคนที่ถนัดด้านต่าง ๆ มาร่วมกันในงานที่เหมาะสมได้ตลอด ซึ่ง DOW เองก็ยังประกาศเปิดรับเครือข่ายนักสร้างสรรค์ทุกรูปแบบอยู่ ถ้าใครมีไอเดียหรือ “มีของ” อะไรเราก็อยากชวนให้ลองติดต่อพวกเขาไปได้เลย เผื่อจะมีงานดี ๆ มาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเราอีกในอนาคต

ช่องทางการติดต่อ
Website : https://www.dow-th.com/
Facebook : https://web.facebook.com/profile.php?id=100090848367253
Instagram : @dow_departmentofwonder
Email : departmentofwonder@dow-th.com

RELATED POSTS